ประวัติความเป็นมาหอจดหมายเหตุ

สืบค้นเอกสารหอจดหมายเหตุ

ห้องหนังสือ


วันนี้ในอดีต


25 เมษายน พ.ศ.2496 : เจมส์ วัตสัน และ ฟรานซิส คริก ประกาศค้นพบ โครงสร้างดีเอ็นเอ
นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และ ฟรานซิส คริก (Francis Harry Compton Crick) นักอณูชีววิทยาชาวอังกฤษ ประกาศการค้นพบ โครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA) ว่าเป็นสายคู่ที่บิดพับเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน แบบที่เรียกว่า “ดับเบิล เฮลิกซ์” (double helix) ในวารสาร Natute วารสารเก่าแก่และมีชื่อเสียงฉบับหนึ่ง แม้บทความดังกล่าวจะมีความยาวเพียงหน้าเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในยุคสมัยนั้นหันมาสนใจจนยอมรับในที่สุดว่า ดีเอ็นเอน่าจะเป็นสารพันธุกรรมมากกว่าโปรตีน การค้นพบดีเอ็นเอครั้งนี้ส่งผลให้วัตสันและคริกได้รับรางวัล โนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2505 ร่วมกับ มอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins)
25 เมษายน พ.ศ.2449 : วันเกิด มาลัย ชูพินิจ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย
นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย เกิดที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร เข้าไปเรียนมัธยมที่กรุงเทพจนจบ ม.8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นเป็นครูที่โรงเรียนวัดสระเกศ ไม่นาก็ลาออกมาทำงานหนังสือพิมพ์ โดยเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ไทยใต้ ที่ จ.สงขลา ก่อนจะกลับกรุงเทพฯ มาร่วมงานกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ นอกจากนั้นก็เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ผู้นำ ประชาชาติ และประชาชาติรายสัปดาห์ ก่อนจะหยุดงานหนังสือพิมพ์ไปทำสวนมะพร้าวที่ จ.ชุมพร อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานก็ทนคิดถึงกลิ่นน้ำหมึกไม่ได้ ตัดสินใจกลับมากรุงเทพฯ รวมกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์ ประชามิตรรายวัน อีกครั้ง ตลอดชีวิตได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งด้านสารคดี บทความ กีฬา ปรัชญา นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร คาดกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจมีประมาณ 3,000 เรื่อง นับว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งของไทย นามปากกาหลายชื่ออาทิ น้อย อินทนนท์, แม่อนงค์, พลับพลึง, ม.ชูพินิจ, เรไร, เรียมเอง, ลูกป่า, วิชนี ฯลฯ เมื่อปี 2505 ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น นวนิยายชุด ล่องไพร, ทุ่งมหาราช, รวมเรื่องสั้นของ เรียมเอง, ทุ่งโล่งและดงทับ ฯลฯ มาลัย ชูพินิจ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2506
25 เมษายน พ.ศ.2417 : วันเกิด กูลิเอลโม มาร์โกนี ผู้คิดค้นวิทยุโทรเลข
วิศวกรไฟฟ้าและนักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน เกิดที่เมืองโบโลญญา (Bologna) ตอนแรกเขาสนใจวิทยาศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2431 เขาประดิษฐ์และตรวจจับคลื่นวิทยุ ซึ่งต่อมาเขาได้พัฒนาเป็นระบบ โทรเลขไร้สาย (wireless telegraph) หรือ วิทยุโทรเลข (radiotelegraph) ซึ่งช่วยในการส่งโทรเลขผ่านทางคลื่นวิทยุแทนสายไฟฟ้าอย่างเดิม เขาทดลองต่อหน้าสาธารณเมื่อปี 2438 อีกสองปีต่อมาวิทยุโทรเลขของเขาก็มีรัศมีการใช้งาน 19 กิโลเมตร จากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัท จีอีซี-มาร์โกนี อิเล็กทรอนิกส์ (GEC-Marconi Electronics Ltd.)ในปี 2444 เขาสามารถส่งสัญญาณคลื่นวิทยุข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากเมืองโพลดู (Poldhu) ประเทศอังกฤษถึงเมืองเซนต์จอห์นส์ (Saint John’s) บนเกาะนิวฟาวด์แลนด์ แม้ระบบโทรเลขไร้สายจะมีการพัฒนามาแล้วกว่า 50 ปี แต่มาร์โกนีเป็นผู้ที่พัฒนาและพิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถใช้งานได้จริงและยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจอีกด้วย ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 2452 มาร์โกนีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2480
25 เมษายน พ.ศ.2402 : เริ่มขุด คลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์
เริ่มขุด คลองสุเอซ (The Suez Canal) ในประเทศอียิปต์ เชื่อมต่อระหว่างเมืองพอร์ทเซด (Port Said) ฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนกับเมืองสุเอซ ที่ฝั่งทะเลแดง มีความยาว 162 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60-300 เมตร ใช้เวลาขุด 10 ปี เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2412 คลองสุเอซออกแบบโดย แฟร์ดินองด์ เดอ เลซเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) นักการทูตชาวฝรั่งเศส ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอียิปต์และต่อมารัฐบาลอังกฤษเข้าซื้อหุ้นกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ คลองสุเอซช่วยย่นระยะทางการเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชียให้สั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องแล่นเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่ทวีปแอฟริกา คลองสุเอซแบ่งเป็นส่วนเหนือและใต้ โดยมีทะเลสาบเกรทบิทเทอร์ (Great Bitter) อยู่ตรงกลาง ในตอนแรกๆ ต้องมีที่กั้นน้ำ (The canal lock) ให้เรือแล่นผ่านเข้าไปที่ละช่วงๆ เนื่องจากน้ำทะเลทั้งสองฝั่งมีระดับไม่เท่ากัน แต่ปัจจุบันถูกถอดออกไปแล้วเพราะระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีเรือเดินสมุทรแล่นผ่านปีละกว่า 20,000 ลำ คลองสุเอซนับเป็นคลองขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
25 เมษายน พ.ศ.2262 : โรบินสัน ครูโซ นิยายของ เดเนียล ดีโฟ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
นิยายของ เดเนียล ดีโฟ (Daniel Defoe) ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก นักวิชาการด้านวรรณกรรมส่วนหนึ่งเชื่อว่าโรบินสัน ครูโซเป็นนิยายภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ นิยายเล่มนี้เล่าเรื่อง โรบินสัน ครูโซ ซึ่งออกเดินเรือออกผจญภัยในท้องทะเล เมื่อเรืออับปางเขาไปติดอยู่ที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่งถึง 28 ปี เขาต้องพยายามหาทางดำรงชีวิตรอดอยู่ในเกาะดงดิบ เผชิญกับคนป่า ต้องต่อสู้กับสัตว์ร้าย ภยันตรายต่างๆ รอบตัวและความโดดเดี่ยวของตัวเอง นิยายเรื่องนี้ดีโฟได้แรงบันดาลใจมากจากชีวิตจริงของ อเล็กซานเดอร์ เซลเคิร์ค (Alexander Selkirk) ชาวสก็อตที่เคยติดเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ 4 ปี รวมกับที่ผู้แต่งเคยเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่มาให้เขานำมาคิดและจินตนาการเขียนหนังสือประเภทต่างๆ ประมาณ 400 เล่มหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของนักเดินทางหลายคนจนปัจจุบันนี้