แรกจัดทัพไทยแบบยุโรป

 
ตั้งแต่มีชาวโปรตุเกสถือปืนไฟเข้ามาเป็นทหารอาสา ในสงครามครั้งแรกของไทย-พม่า ใน พ.ศ.๒๐๘๑ แล้ว กองทัพไทยก็พยายามจะฝึกทหารอย่างฝรั่งที่ใช้ปืนไฟตลอดมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่มีชาวตะวันตกเข้ามามาก ปรากฏชื่อกรมทหารหนึ่งว่า “กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง” แต่ก็หมดบทบาทไปเมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จอห์น ครอฟอร์ด เป็นราชทูตเข้ามา และมี  “ทหารซีปอย”  (Sepoy) หรือที่อินเดียเรียกว่า “สิปาหิ”  ติดเรือรบเข้ามาด้วยทหารกองนี้เป็นทหารอินเดียที่อังกฤษฝึกขึ้น มีชื่อเสียงมาก ไทยก็พลอยตื่นเต้นทหารซีปอยไปด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้จัดตั้งกองทหารอย่างฝรั่งขึ้นบ้าง เรียกว่า “ทหารซีป่าย” มีเครื่องแบบแตกต่างจากทหารทั่วไป มีหน้าที่รักษาพระองค์
 
กองทัพไทยในยุคแรก
 
ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)  ทรงฝึกคนญวนเข้ารีตที่อพยพเข้ามาเป็นทหารปืนใหญ่ประจำป้อมที่ปากน้ำ และนำเครื่องแบบซีป่ายมาใช้ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ปลายรัชกาล ได้มีร้อยเอก อิมเป นายทหารอังกฤษจากอินเดีย เดินทางเข้ามาขอเป็นครูฝึกทหาร ทรงรับไว้และเกณฑ์ไพร่หลวงเข้ารับการฝึกหัดทหารแบบฝรั่ง ตั้งเป็นกรมทหารราบขึ้น เรียกว่า  “ทหารหน้า” สำหรับนำขบวนเสด็จ
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ครูฝึกทหารรุ่นเก่าออกไปหมด ร้อยเอกโทมัส ยอร์ช น็อกช์  เพื่อนทหารจากอินเดียที่ตามเข้ามาเป็นครูฝึกทหารหน้า ก็ไป ทำงานสถานทูตอังกฤษ ครูฝึกทหารยุโรปคนใหม่เป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อลามาช ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น หลวงอุปเทศทวยหาญ
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๕  กรมทหารอย่างยุโรปเจริญขึ้นตามลำดับ เรียกว่า “กรมทหารหน้า” รับไพร่หลวงจากกระทรวงต่างๆ เข้ามาเป็นทหาร มีกำหนด ๕ ปีพ้นประจำการ มีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก และสร้างกองบัญชาการเป็นตึกใหญ่ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๒๔เรียกกว่า “ศาลายุทธนาธิการ” ซึ่ง ก็คือตึกกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ครูฝึกกรมทหารหน้าในรัชกาลนี้ เป็นอดีตนายทหารอิตาเลียน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการล่าอาณานิคม มี ร.อ.ฟารันโด และ ร.อ.เยรินี เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย
 
สงครามที่มี  “กองทหารอย่างยุโรป”  เข้าร่วมนั้น  ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๙๕  สมัยต้นรัชกาลที่ ๔  ฝึกได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องไปตีเมืองเชียงตุง โดยมี ร.อ.น็อกช์ ครูฝึก ไปควบคุมด้วยตนเอง
 
ครั้งสำคัญคือใน พ.ศ. ๒๔๑๗  สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อจีนฮ่อเข้ายึดทุ่งเชียงคำ กองทัพหลวงพระบางส่งกำลังไปขับไล่ก็แตกพ่ายมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดให้ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่ทัพ จัดกำลังรบแบบยุโรป   มีกองทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารพลาธิการ ทหารเกียกกาย รวมทั้งกองโรงเรียนนายร้อยที่มีอาจารย์ชาวอิตาเลียนคุมไป รวมกำลังพล ๑,๑๓๖ คน  นายทหารทุกคนจ่ายปืนสั้นปร ะจำตัว นักเรียนนายร้อย  นายสิบ  และพลทหาร    จ่ายปืนยาวชไนเดอร์กระสุนคนละ ๖๐ นัด พร้อมปืนใหญ่ ปืนครก ปืนมอร์ต้า เฮาวิตเซอร์และอาร์มสตรอง
 
การจัดทัพของกองทัพไทยในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดทัพแบบฝรั่งอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากฝึกทหารอย่างฝรั่งมาหลายปี นับเป็นโฉมหน้าของกองทัพไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.