วันนี้ในอดีต/เดือนธันวาคม

1 ธันวาคม พ.ศ.2486 : วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นราชสกุล "โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามและพระพร ประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลีซึ่งมีคำแปลดังต่อไปนี้ "สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ผู้บิดาตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้นว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไป เทอญ" พระองค์ยังทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล
1 ธันวาคม พ.ศ.2387 : วันประสูติ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา
 
วันประสูติ เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ซึ่งภายหลังคือ สมเด็จพระบรมราชินีแห่งสหราชอาณาจักร (อเล็กซานดรา แคโรไลนา มารี ชาร์ล็อต หลุยส์ จูเลีย) ทรงเป็นพระมเหสีใน สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2406 - พ.ศ. 2444 (ยาวนานกว่าผู้ใดที่เคยดำรงพระอิสริยยศนี้) หลังการเสด็จสวรรคตของพระสวามีในปี พ.ศ. 2453 ตราบจนถึงการเสด็จสวรรคตของพระองค์เอง ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงเป็นทั้งพระราชินีและพระราชชนนีของกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ คือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร แต่ไม่โปรดใช้พระอิสริยยศเช่นนี้ จึงได้ทรงมีพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา" (Her Majesty Queen Alexandra) ตลอดการเป็นม่ายของพระองค์
2 ธันวาคม พ.ศ.2518 : พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย
 
2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (คอมมิวนิสต์ลาว) โดย ไกสอน พมวิหาน เคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา และจักรพรรดิล่าเมืองขึ้นสำเร็จแล้วสถาปนาเป็นประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยพรรคการเมืองเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีอำนาจสูงสุด วันนี้ของทุกปีจึงถือเป็น วันชาติลาว
2 ธันวาคม พ.ศ.2431 : ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย
 
2 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ธนาคารของชาวอังกฤษ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันธนาคารแห่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น HSBC สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 4 เขตสีลม กรุงเทพฯ
2 ธันวาคม พ.ศ.2347 : นโปเลียน โบนาปาร์ต สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส
 
2 ธันวาคม พ.ศ. 2347 นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส    ภายใต้พระนามว่า “นโปเลียนที่ 1” โดยประกอบพิธีในมหาวิหารนอร์ตเตอร์ดาม (Notre Dame) กรุงปารีส ฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นนโปเลียนเคยเป็นนายพลในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส เคยดำรงตำแหน่งผู้ปกครองประเทศฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปลายปี 2342 ก่อนจะได้เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ในช่วงปี 2347-2357 ในสมัยนั้นจักพรรรดินโปเลียนได้ทำสงครามกับดินแดนต่างๆ จนสามารถเข้าปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรป แล้วแต่งตั้งให้แม่ทัพและญาติพี่น้องขึ้นครองบัลลังก์ในราชอาณาจักรยุโรปหลายแห่ง แต่ก็เกิดสงครามอยู่ตลอดรัชสมัยเช่นกัน ส่งผลให้จักรวรรษนโปเลียนเรืองอำนาจอยู่เพียงไม่นานก็ล่มสลาย ในสงครามกับรัสเซียปี 2355
3 ธันวาคม พ.ศ.2510 : ดร. คริสเตียน บาร์นาร์ด ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ของมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก
 
3 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ดร. คริสเตียน บาร์นาร์ด (Dr.Christiaan Barnard) ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ของมนุษย์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก ที่เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ โดยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับคนไข้วัย 53 ปี ซึ่งหัวใจที่ได้นั้นมาจากหญิงสาววัย 25 ปีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจกลับเสียชีวิตในอีก 18 วันต่อมา จากโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อในปอด
4 ธันวาคม พ.ศ.2461 : ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อร่วมประชุมสันติภาพสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 1
 
4 ธันวาคม พ.ศ. 2461 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกาทางเรือไปยังเมืองแวร์ซายด์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมประชุมสันติภาพสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 1 และเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางไปยุโรปอย่างเป็นทางการ
5 ธันวาคม พ.ศ.2334 : โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ต คีตกวีเอกของโลกชาวออสเตรีย เสียชีวิต
 
5 ธันวาคม พ.ศ. 2334 โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) คีตกวีเอกของโลกชาวออสเตรีย เสียชีวิตขณะกำลังประพันธ์เพลง "Requiem mass in D minor" เขาเกิดที่เมืองซัลสบูร์ก (Salzbourg) ประเทศออสเตรีย ในครอบครัวนักดนตรี โมซาร์ตมีประสาทหูที่ยอดเยี่ยม และมีความจำที่แม่นยำ เขาเริ่มฉายแววอัจฉริยะทางดนตรีตั้งแต่วัยเพียง 3 ขวบ เริ่มเรียนไวโอลินและออร์แกนตอน 5 ขวบ ในวัย 6 ขวบเขาสามารถแต่งเพลงชิ้นแรกได้แล้ว จากนั้นเขาได้ออกเดินทางตระเวนเล่นดนตรีกับบิดาไปทั่วยุโรป ทำให้เขาได้พบกับนักดนตรีเก่งๆ หลายคนเช่น ชูเบิร์ต บาค ตลอดชีวิตเขาประพันธ์เพลงคลาสสิคไว้กว่า 700 เพลง ทั้งเพลงสวด โอเปร่า ซิมโฟนี่ คอนแชร์โต้ และแชมเบอร์มิวสิค
5 ธันวาคม พ.ศ.2470 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพ
 
5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ถึงปัจจุบัน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ เป็นเวลายาวนานที่สุดในโลก (70 ปี ในพ.ศ. 2559) ในปี 2530 ได้มีการถวายพระราชสมัญญาใหม่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีถือว่าเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” โดยการริเริ่มของ นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา คุณหญิงเนื้อพิทย์ เสมรสุต ในปี 2523 สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อได้แก่ ดอกพุทธรักษา
6 ธันวาคม พ.ศ.2460 : เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนนาดา
 
6 ธันวาคม พ.ศ. 2460 เวลาประมาณ 09.04 น. เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ ที่ ท่าเรือ ฮาลิแฟกซ์ (Halifax) เมืองโนวา สโกเชีย ประเทศแคนนาดา เนื่องจากเรือ มงต์-บลังต์ (Mont-Blanc) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเศส ซึ่งบรรทุกวัตถุระเบิดหนัก 2,400 ตัน กำลังออกเดินทางไปทวีปยุโรปเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ได้ชนกับเรืออีกลำหนึ่งจนระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 9,000 คน ตาบอดอีกกว่า 200 คน บ้านเรือนพังทลายกว่า 1,600 หลัง เกิดคลื่นยักษ์ แรงอัดอากาศพุ่งไปทำลายกระจกที่อยู่ห่างไกลกว่า 80 กิโลเมตร และเสียงระเบิดได้ยินไปไกลกว่า 150 กิโลเมตร
6 ธันวาคม พ.ศ.2443 : รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
 
6 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์จำนวน 33 รูป ซึ่งโปรดให้คัดเลือกไว้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มาจำวัดที่วัดเบญจมบพิตร และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า "ดุสิตวนาราม" เรียกรวมกันว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" เดิมวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดโบราณชื่อ "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2442 และเริ่มบูรณะจนแล้วเสร็จในปี 2443
7 ธันวาคม พ.ศ.2538 : ยานกาลิเลโอ เดินทางถึงดาวพฤหัสบดี
 
7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ยานกาลิเลโอ (Galileo Space Probe) ขององค์การนาซา เดินทางถึงดาวพฤหัสบดี หลังจากใช้เวลาเดินทางในอวกาศนานกว่า 6 ปี คือส่งจากผิวโลกตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2532 ยานกาลิเลโอมีภารกิจในการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ยานกาลิเลโอเป็นยานสำรวจอวกาศขนาดใหญ่ หนัก 2,222 กิโลกรัม โดยครึ่งหนึ่งของน้ำหนักเป็นเชื้อเพลิง การเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดีของยานกาลิเลโอเป็นการเดินทางตามเส้นทางอ้อม และใช้เวลามาก เพราะยานกาลิเลโอไม่มีเชื้อเพลิงมากพอที่จะเดินทางจากโลกสู่ดาวพฤหัสบดีโดยตรง ยานกาลิเลโอจึงต้องอาศัย แรงดึงดูดของดาวศุกร์และของดาวเคราะห์โลกเป็นทั้งตัวดึงและส่งให้ยานกาลิเลโอเดินทางไปจนกระทั่งให้ถึงดาวพฤหัสบดีได้นับจากวันที่ยานกาลิเลโอออกเดินทางจากกระสวยอวกาศจนดำดิ่งสู่บรรยากาศดาวพฤหัสบดีคิดเป็นระยะทาง 4,800 ล้านกิโลเมตร องค์การนาซาได้วางแผนภารกิจของกาลิเลโอไว้เพียงสองปี แต่ยานกาลิเลโอสามารถทนรับรังสีที่ปะทุจากดาวพฤหัสบดีได้มากกว่าที่ออกแบบไว้ถึงสี่เท่า ก่อนจะยุติการทำงานโดยการพุ่งเข้าสู่ดาวพฤหัสบดีเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2546
7 ธันวาคม พ.ศ.2506 : รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
 
7 ธันวาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหามาลาประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (กระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางบก) ตามโบราณราชประเพณีเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ นับเป็นการฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่จัดครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2475)
7 ธันวาคม พ.ศ.2484 : ฝูงบินรบกามิกาเซ่ของญี่ปุ่นลอบโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ฐานทัพของสหรัฐฯ
 
7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝูงบินรบ "กามิกาเซ่" (kamikaze) ของกองทัพอากาศญี่ปุ่นลอบโจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ซึ่งเป็นฐานทัพที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในภาคพื้นแปซิฟิก ตั้งอยู่ในหมู่เกาะฮาวาย ทำให้กองเรือรบและฝูงบินได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้อเมริกาประกาศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ทหารเสียชีวิต 2,335 นาย ทหารอากาศ 55 นาย ทหารเรือดำน้ำ 9 นาย พลเรือน 68 คน ทหารบาดเจ็บ 1,143 นาย พลเรือน 35 คน เรือรบจม 4 ลำ และเสียหายอีก 4 ลำ เครื่องบินถูกทำลาย 29 ลำ และเรือดำน้ำเสียหายอีก 4 ลำ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต 185 คน จากนั้นอีก 44 เดือน กองเรือสหรัฐ ได้จมเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือประจัญบานและเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นในกองกำลังที่โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้ทุกลำ ส่วนนางาซากิซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตตอร์ปิโดชนิดพิเศษ ซึ่งใช้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก็ถูกสหรัฐทิ้งปรมาณูถล่มราบคาบ ญี่ปุ่นจึงยกธงขาวและลงนามในเอกสารยอมแพ้สงคราม
8 ธันวาคม พ.ศ.2484 : ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
 
8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เช้าตรู่วันนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่น “ยกพลขึ้นบก” โดยเดินทัพเข้าไทยทั้งทางบกและทางทะเลด้านอ่าวไทย 7 จังหวัดภาคใต้คือ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี เพื่อขอผ่านไปตีพม่าและมลายูของอังกฤษ จนเกิดปะทะกับทหาร ตำรวจและยุวชนทหารไทย ซึ่งได้ต่อสู้อย่างดุเดือด ในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศได้

9 ธันวาคม พ.ศ.2476 : พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์
 
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ เจ้าดารารัศมีทรงเป็นพระธิดาองค์สุดท้ายของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนาที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด มีส่วนสำคัญในการประสานอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรทางใต้ให้เป็นหนึ่งเดียว และทรงเป็นตัวอย่างในการรักษาประเพณีอันดีงามของล้านนาไว้อย่างเคร่งครัด
9 ธันวาคม พ.ศ.2396 : วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
 
9 ธันวาคม พ.ศ. 2396 วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าชายวาสุกรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงประสูติในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร ประทับ ณ พระตำหนักท่าวาสุกรี วัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ สรรพสิทธ์คำฉันท์ กฤษณา สอนน้องคำฉันท์ ตำราฉันท์มาตราพฤติและวรรณพฤติ ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ ฯลฯ
10 ธันวาคม พ.ศ.2485 : ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการ
 
10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการในฐานะธนาคารกลางของประเทศไทย โดยมี ม.จ. วิวัฒนไชย ไชยยันต์ เป็นผู้ว่าการองค์แรก โดยมีทุนเริ่มแรก 20 ล้านบาทจากรัฐบาล โดยในขณะแรกนั้นใช้อาคารของธนาคารฮ่องกงเซียงไฮ้ จำกัด ถ. สีพระยาเป็นที่ทำการ ต่อมาจึงย้ายเข้าสู่วังบางขุนพรหรม เมื่อ พ.ศ. 2488
10 ธันวาคม พ.ศ.2482 : รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้ เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน
 
10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลไทย ได้ประกาศใช้เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน โดยใช้ทำนองเพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ. 2475 มาเปลี่ยนคำร้องใหม่ เนื่องจากเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" โดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปานิณพยัคฆ์) เป็นผู้ประพันธ์คำร้องใหม่ และใชัทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
10 ธันวาคม พ.ศ.2475 : นวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เริ่มลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ
 
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ของ ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) เริ่มลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ผู้เขียนเรียกว่านวนิยายปลอมพงศาวดาร โดยอาศัยเค้าเรื่องจากพงศาวดารพม่าเพียง 8 บรรทัด ใช้เวลาเขียนถึง 8 ปี เริ่มลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สุริยา เมื่อหนังสือปิดตัวลง นวนิยายเรื่องนี้จึงย้ายไปลงที่ประชาชาติแทน โดยมาลัย ชูพินิจเปลี่ยนชื่อจาก“ยอดขุนพล” เป็นผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์นักรบของพม่า และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ตั้งชื่อยาขอบให้ โดยเลียนแบบจากนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ เจ. ดับบลิว. ยาค็อบ (J. W. Jacob) แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเขียนไม่จบเพราะยาขอบเสียชีวิตไปก่อน แต่ก็ถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ของเขา และได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย และสร้างชื่อเสียงให้ยาขอบมากที่สุด ถูกนำมาสร้างเป็นละครเวที ละครทีวี และภาพยนตร์หลายครั้ง
10 ธันวาคม พ.ศ.2445 : อัลเฟรด โนเบล ผู้ริเริ่มการมอบรางวัลโนเบลเสียชีวิต
 
10 ธันวาคม พ.ศ. 2445 อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) เสียชีวิต เขาเป็นนักเคมีชาวสวีเดน นอกจากนั้นยังเป็นวิศวกร นักประดิษฐ์ เจ้าของโรงงานผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์ ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งถูกใช้ในการสงครามทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก ภายหลังเขารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก ก่อนตายจึงมอบ 94 % ของทรัพย์สินทั้งหมด (4,223,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ก่อตั้งเป็นมูลนิธิโนเบลเพื่อมอบรางวัลโนเบล โดยมี 5 สาขา ได้แก่ เคมี, การแพทย์, วรรณกรรม, สันติภาพ และฟิสิกส์ ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วยในปี 2512 เนื่องจากรางวัลนี้ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจของ อัลเฟรด โนเบล จึงไม่ได้รับเงินรางวัลจากมูลนิธิโนเบล แต่ได้รับเงินจากธนาคารกลางสวีเดน แต่ก็ยังคงมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับรางวัลโนเบลสาขาอื่นๆ โดยมีกษัตริย์สวีเดนเป็นผู้มอบ ได้รับเหรียญตรา และจำนวนเงินเท่าเทียมกัน ถึงวันนี้มีผู้ได้รับรางวัลโนเบล 763 คน เป็นผู้หญิงเพียง 33 คน
10 ธันวาคม พ.ศ.2475 : รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475)ให้แก่ปวงชนชาวไทย
 
10 ธันวาคม พ.ศ.2475 วันรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475) ให้แก่ปวงชนชาวไทย หลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน ภายหลังจาก คณะราษฎร ทำการอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย ต่อมาได้ถือให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นรัฐธรรมนูญ
11 ธันวาคม พ.ศ.2489 : สมัชชาสามัญแห่งสหประชาชาติก่อตั้ง กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ
 
11 ธันวาคม พ.ศ. 2489 สมัชชาสามัญแห่งสหประชาชาติก่อตั้ง กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (The United Nations Internationals Children’s Emergency Fund--UNICEF) เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, พัฒนาการ, สุขภาพรวมถึงความเป็นอยู่ของเด็กและแม่ในประเทศกำลังพัฒนา

11 ธันวาคม พ.ศ.2228 : สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ เมืองลพบุรี
 
11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตร จันทรุปราคา เต็มดวง ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี พร้อมด้วยคณะทูต นักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาด้านดาราศาสตร์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สมเด็จพระนารายน์ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ นับเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูตโดยเฉพาะการส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

12 ธันวาคม พ.ศ.2520 : สนามหลวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
 
12 ธันวาคม พ.ศ. 2520 สนามหลวง หรือ ท้องสนามหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีเนื้อที่ 75 ไร่ 63 ตารางวา เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ต่อมาปี 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุเจ้านายระดับสูง เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
12 ธันวาคม พ.ศ.2502 : การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งแรกในประเทศไทย
 
12 ธันวาคม พ.ศ.2502 การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games--SEA Games) ครั้งแรกในประเทศไทย ในสมัยนั้นชื่อว่า กีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games) หรือ เซียปเกมส์ (SEAP Games) ในระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2502 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่และนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 527 คนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ลาว, มลายู, สิงคโปร์, เวียตนาม, ไทย รวมการแข่งขันทั้งสิ้น 6 วัน โดยมีกีฬาทั้งหมด 12 ชนิด ไทยได้เป็นเจ้าเหรียญทองได้เหรียญทอง 35 เหรียญ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์ในปี 2520
12 ธันวาคม พ.ศ.2477 : กันยา เทียนสว่าง คว้าตำแหน่ง นางสาวสยาม คนแรกของไทย
 
12 ธันวาคม พ.ศ. 2477 กันยา เทียนสว่าง วัย 20 ปี คว้าตำแหน่ง “นางสาวสยาม” คนแรกของไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ การประกวดครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสีสันสำคัญในงานฉลองฯ
13 ธันวาคม พ.ศ.2546 : ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีแห่งอีรักถูกจับกุมโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา
 
13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ซัดดัม ฮุสเซน (Suddam Hussain) อดีตประธานาธิบดีแห่งอีรักถูกจับกุมโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในหลุมขนาดเล็ก ในฟาร์มแห่งหนึ่งชานเมืองตีกรีต หลังจากที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศทำสงครามกับอีรักด้วยข้อกล่าวหาว่า ซัดดำมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยม แต่หลังจากจับตัวซัดดัมได้แล้วก็ไม่พบอาวุธดังที่บุชกล่าวหาแต่อย่างใด หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วสงครามครั้งนี้อเมริกาต้องการน้ำมันในตะวันออกกลาง ต้องการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร และต้องการโฆษณาอาวุธรุ่นใหม่ แม้อเมริกาได้พยายามเข้าไปจัดการเลือกตั้งและยัดเยียดประชาธิปไตยให้อีรัก แต่ในทุกวันนี้ก็ยังเกิดเหตุระเบิดและลอบฆ่าอยู่ทุกวัน
13 ธันวาคม พ.ศ.2534 : ยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ของไทย 3 แห่ง เป็นมรดกโลก
 
13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และในวันเดียวกันนี้ในปีต่อมายูเนสโกก็ได้มีมติให้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มอีกแห่ง
13 ธันวาคม พ.ศ.2120 : เซอร์ ฟรานซิส เดรก นักเดินเรือชาวอังกฤษออกเดินทางรอบโลก
 
13 ธันวาคม พ.ศ. 2120 เซอร์ ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) นักเดินเรือชาวอังกฤษ ออกเดินเรือจากอังกฤษด้วยเรือ โกลเด้นไฮน์ (Goldenhinde) เพื่อเดินทางรอบโลก เขาต้องใช้เวลาถึง 3 ปีจึงกลับอังกฤษผ่านแหลมกู้ดโฮป เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2123 และได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เดินทางรอบโลกสำเร็จ
14 ธันวาคม พ.ศ.2431 : วันเกิด พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ)
 
14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 วันเกิด พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ผู้เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของประเทศ เรียนจบชั้นมัธยม 5 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ เริ่มทำงานเป็นเสมียนที่กรมศุลกากร การงานก้าวหน้ามาโดยตลอด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่ออายุได้ 36 ปี แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีเหตุให้ต้องลาออก ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการก็ชวนมาทำงานที่กรมศิลปากร ด้วยความที่เป็นผู้มีความสามารถจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับ จนได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรในที่สุด แม้จะเกษียณอายุแล้วก็ยังคงเขียนหนังสือและตำราออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานเขียนร่วมกับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ซึ่งทำงานคู่กันโดยใช้นามปากกาคู่แฝดว่า เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ผลิตหนังสือ ตำรา และวรรณกรรมออกมาจำนวนมาก ภายหลังท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช 2531
14 ธันวาคม พ.ศ.2342 : จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาถึงแก่อสัญกรรม
 
14 ธันวาคม พ.ศ. 2342 จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิปดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ถึงแก่อสัญกรรม จอร์จ วอชิงตัน เกิดเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2275 ที่รัฐเวอร์จิเนียประเทศสหรัฐอเมริกา ในวัยเด็กเรียนหนังสือที่บ้าน ตอนอายุ 20 ปีเข้าเป็นทหาร แต่ภายหลังได้ลาออก ในปี 2302 แต่งงานกับมาร์ธา คัสติส จากนั้นก็ทำไร่กับครอบครัวอยู่ในชนบทของอเมริกา ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างอาณานิคมอเมริกันกับประเทศอังกฤษเพราะอาณานิคมไม่พอใจที่ถูกเรียกเก็บภาษี และปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาเขาได้รับเลือกให้เป็นแม่ทัพ ของกองทัพบกอเมริกา และสามารถรบชนะประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2332 จอร์จ วอชิงตันก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา และได้เป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัย
15 ธันวาคม พ.ศ.2434 : เจมส์ ไนสมิธ คิดค้นกีฬาบาสเก็ตบอลได้สำเร็จ
 
15 ธันวาคม พ.ศ. 2434 เจมส์ ไนสมิธ (James Naismith) นายแพทย์ชาวคานาดา สามารถคิดค้นกีฬาบาสเก็ตบอล ได้สำเร็จ กีฬาชนิดนี้สามารถเล่นได้ภายในอาคาร ในช่วงฤดูหนาวซึ่งไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งอื่นๆ ได้ เขาคิดค้นกีฬานี้ขณะเป็นครูสอนพละใน The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมืองสปริงฟิลด์ (Springfield) รัฐแมสซาชูเซต (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา โดยเขาได้นำเกมที่เคยเล่นตอนเด็กที่ชื่อ ดั๊กออนอะร็อค (Duck-on-a-Rock) มาดัดแปลงเป็นกีฬาบาสเกตบอลในปัจจุบัน ในขณะนั้นมีกติกา 13 ข้อ ซึ่ง 12 ข้อยังคงใช้ถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ริเริ่มการใช้หมวกกันน็อคในกีฬาอเมริกันฟุตบอลด้วย
15 ธันวาคม พ.ศ.2375 : วันเกิด กุสตาฟ ไอเฟล ผู้ออกแบบหอไอเฟล
 
15 ธันวาคม พ.ศ. 2375 วันเกิด กุสตาฟ ไอเฟล (Alexandre Gustave Eiffel) วิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ผู้ออกแบบหอไอเฟล (Eiffel Tower) เขาเป็นปรมาจารย์ในด้านการก่อสร้างด้วยเหล็ก สิ่งก่อสร้างที่เขาสร้างและคนจดจำได้มากที่สุดนอกจากหอไอเฟลแล้วยังมี Three-Hinged Arch นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้สร้าง สะพานข้ามแม่น้ำดูโร (Douro) ในตอนเหนือของโปรตุเกส ซึ่งถือว่าเป็นสะพานที่มีช่วงกว้างที่สุดในเวลานั้น
15 ธันวาคม พ.ศ.2043 : วันเกิด นอสตราดามุส นักพยากรณ์ชื่อดัง
 
15 ธันวาคม พ.ศ. 2043 วันเกิด นอสตราดามุส (Nostradamus) หรือ มิเคล เดอ นอสตราดาม (Michel De Nostradame) แพทย์และนักพยากรณ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เชื้อสายยิว เขาเกิดที่เมืองแซงต์ เรมี นอสตราดามุสจบการศึกษาด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมงต์เปลลีเยต์ ในสมัยที่โรคกาฬโรคกำลังระบาด โดยที่ยังไม่รู้สาเหตุ นอสตราดามุสจึงศึกษาและพัฒนายาจนในที่สุดต้องเสียภรรยาและลูกไป จากนั้นเขาจึงออกเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสและอิตาลี ค้นคว้าเรื่องยาจนตั้งหลักอีกครั้งที่เมือง ซาลอง (Salon) แต่งงานใหม่และเริ่มการทำนายอนาคต โดยใช้ทั้งวิธีทำนายจากการคำนวณทางโหราศาสตร์และทำนายจากนิมิต แล้วเขาได้บันทึกไว้เป็นโคลงเรียกว่า Centuries ผลงานเล่มอื่นได้แก่ Almanac, Prophecies คำทำนายของนอสตราดามุสมักจะมีความคลุมเครือและยากที่จะตีความหมาย เพราะเขานิยมใช้ชื่อย่อและรหัสแทนชื่อคนและสถานที่จริง ตัวอย่างคำทำนายของนอสตราดามุสเช่น ฮิตเลอร์จะแพ้สงคราม เหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ สงครามโลกครั้งที่ 3 ฯลฯ เขาเสียชีวิตในปี 2109 ด้วยโรคเกาต์
16 ธันวาคม พ.ศ.2510 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค
 
16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ณ สนามศุภชลาศัย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทางราชการได้กำหนดให้ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันกีฬาแห่งชาติ
16 ธันวาคม พ.ศ.2489 : ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
 
16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nation-UN) ฐานะสมาชิกใหม่เป็นลำดับที่ 55 โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ทรงเป็นผู้แทนของไทยคนแรกประจำองค์การนี้
17 ธันวาคม พ.ศ.2446 : สองพี่น้อง ออร์วิลและวิลเบอร์ ไรต์ นำเครื่องบินคิตตี้ ฮอว์ก ขึ้นบิน
 
17 ธันวาคม พ.ศ.2446 สองพี่น้อง ออร์วิลและวิลเบอร์ ไรต์ (Orville & Wilbur Wright) นักบุกเบิกการบินของอเมริกัน นำเครื่องบินชื่อ คิตตี้ ฮอว์ก (Kitty Hawk) บินขึ้นได้นาน 12 วินาที ขึ้นสูง 120 ฟุต ที่เนินเขาคิลล์ ดีวิล รัฐนอร์ทแคโรไลนา อเมริกา นับเป็นการบินโดยใช้เครื่องยนตร์โดยมีนักบินบังคับเป็นครั้งแรกของโลก ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของยุคอากาศยาน และทำให้ความฝันในการบินของมนุษย์ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ
17 ธันวาคม พ.ศ.2498 : วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
 
17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 วันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก ลำดับที่ 60 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ทรงเป็นพระมารดาของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สวรรคตขณะพระชนมายุได้ 93 ปี และได้มีการถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2499
18 ธันวาคม พ.ศ.2536 : ดาวเทียมไทยคมดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร
 
18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานชื่อ “ไทยคม” เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 โดยมาจากคำว่า ไทยคม (นาคม) สร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ (Hughes Aircraff) สหรัฐอเมริกา สามารถถ่ายทอดได้ทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล ต่อมาได้ชื่อใหม่เป็น “ดาวเทียมไทยคม 1A” ปัจจุบันได้มีดาวเทียมไทยคมทั้งหมด 3 ดวงคือมี ดาวเทียมไทยคม 2 และไทยคม 3 เจ้าของคือกลุ่มชินคอร์ป ซึ่งต่อมาได้ขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเสก ของสิงค์โปร์ ดังนั้นเจ้าของเครือข่ายดาวเทียมไทยคมก็คือนายทุนจากสิงคโปร์
18 ธันวาคม พ.ศ.2515 : ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน สั่งให้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-52 ไปทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามเหนือ
 
18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้สั่งให้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-52 ไปทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามเหนือในวันนี้ ที่ กรุงฮานอย (Hanoi) เมืองหลวงของเวียดนาม และให้วางทุ่นระเบิดปิดอ่าวเมืองท่าไฮฟอง (Haiphong) หลังจากการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสในช่วงเดือนธันวาคม 2515 เพื่อยุติสงครามเวียดนาม ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ถึงสถานะของเวียดนามเหนือหลังการหยุดยิง เวียดนามใต้ไม่ยอมรับเงื่อนไขของเวียดนามเหนือ เมื่อการเจรจาชะงักลง ปฏิบัติการครั้งนี้ถูกเรียกว่า Operation Linebacker II การโจมตีครั้งนี้ของสหรัฐนับว่ารุนแรงที่สุดในสงครามเวียดนาม โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 กว่า 500 ลำ ผลัดเปลี่ยนไปทิ้งระเบิดในช่วงวันที่ 18-30 ธันวาคม ระเบิดที่ทิ้งในเวียดนามมีน้ำหนักรวมมากกว่า 15,000 ตันต่อมาเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "การทิ้งระเบิดปูพรมวันคริสต์มาส” (Christmas Bombing)
19 ธันวาคม พ.ศ.2461 : โรเบิร์ต ริปลีย์ เริ่มต้นคอลัมน์ Believe It or Not ! ในหนังสือพิมพ์ New York Globe
 
19 ธันวาคม พ.ศ. 2461 โรเบิร์ต ริปลีย์ (Robert Ripley) เริ่มต้นคอลัมน์ Believe It or Not ! ในหนังสือพิมพ์ New York Globe ต่อมาได้มีการแปลเรื่องราวเหลือเชื่อเหล่านี้ไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นหลายแห่ง รวมถึงในประเทศไทยด้วย
19 ธันวาคม พ.ศ.2423 : วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
 
19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 วันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาโหมด ต้นราชสกุล "อาภากร" ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ทรงเริ่มวางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ และฐานทัพเรือ ที่สัตหีบ จนกระทั่งทรงได้รับการเชิดชูให้เป็น "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ภายหลังจากที่ทรงลาออกจากราชการ พระองค์ได้ทุ่มเทเวลาศึกษาตำรายา เพื่อรักษาผู้ป่วยประชาชนทั่วไป โดยไม่เปิดเผยพระองค์ แต่คนทั่วไปจะรู้จักในนาม “หมอพร” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์กลับมารับราชการต่อ ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ได้ลาออกเพื่อจะไปทำสวนที่ชุมพร แต่ทรงประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ สิ้นพระชนม์ที่ ต.ทรายรี อ.เมืองชุมพร ขณะพระชนมายุได้ 44 พรรษา ปัจจุบันนี้ประชาชนทั่วไปต่างเรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย"
19 ธันวาคม พ.ศ.2395 : วันเกิด อัลเบิร์ต ไมเคิลสัน นักวิทยาศาสตร์คนแรกของอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบล
 
19 ธันวาคม พ.ศ. 2395 วันเกิดอัลเบิร์ต ไมเคิลสัน (Albert Abraham Michelson) นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบล จากผลการศึกษาค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของโลก ได้ให้แนวทางหลักที่สำคัญอันนำไปสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (relativity) ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
20 ธันวาคม พ.ศ.2510 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างเป็นทางการ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีการก่อสร้างในรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปี 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเปิดสอน 17 คณะ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โท และเอก สีประจำมหาวิทยาลัยคือสีดินแดง ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือดอกกัลปพฤกษ์
21 ธันวาคม พ.ศ.2525 : พิธีสมโภช พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
 
21 ธันวาคม 2525 พิธีสมโภช “พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พระประธานพุทธมณฑล ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “พระใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ออกแบบและสร้างโดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในโอกาสเฉลิมฉลองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ เริ่มสร้างเมื่อปี 2523 แล้วเสร็จในปี 2525 สูง 15.875 เมตร น้ำหนัก 17,543 กิโลกรัม หล่อด้วยโลหะสำริด ประดิษฐานเป็นพระประธานพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนาม
21 ธันวาคม พ.ศ.2484 : พิธีลงนามในสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ ระหว่าง ไทย กับ ญี่ปุ่น
 
21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 พิธีลงนามในสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหลังจากรัฐบาลไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ 2484 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามในนามรัฐบาลไทย และ นายทสุโย กามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ลงนามในนามรัฐบาลญี่ปุ่น
21 ธันวาคม พ.ศ.2443 : รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย
 
21 ธันวาคม พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟจาก พระมหานคร - นครราชสีมา ถือเป็นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย จากนั้นได้เสด็จโดยขบวนรถไฟประพาส จ.นครราชสีมาด้วย
22 ธันวาคม พ.ศ.2532 : ประตูเบรนเดนเบิร์ก ในกรุงเบอร์ลิน ได้เปิดขึ้นอีกครั้งหลังจากปิดมาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ
 
22 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ประตูเบรนเดนเบิร์ก (The Brandenburg Gate) ในกรุงเบอร์ลิน ได้เปิดขึ้นอีกครั้งหลังจากปิดมาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ ประตูนี้กั้นระหว่างเยอรมันตะวันออกและตะวันตก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทำลายกำแพงเบอร์ลินไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน และเปิดขึ้นหลังจากมีการเจรจาเพื่อรวมประเทศเยอรมันทั้งสองในเวลาต่อมา
22 ธันวาคม พ.ศ.2472 : นักบินไทยนำเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ 2 บริพัตร บินออกจากประเทศไทยไปเยือนประเทศอินเดีย
 
22 ธันวาคม พ.ศ. 2472 คณะนักบินไทยนำ “เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ 2 บริพัตร” (บ.ท. 2 –Boripatra) จำนวน 3 เครื่องขึ้นบินออกจากประเทศไทยไปเยือนประเทศอินเดีย ไปถึงวันที่ 30 ธันวาคมปีเดียวกัน เครื่องบินรุ่นนี้ออกแบบและสร้างขึ้นโดย น.ท. หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ ในปี พ.ศ.2470 นับเป็นการสร้างเครื่องบินในราชการเป็นครั้งแรกของคนไทยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “บริพัตร” ซึ่งมาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรางกลาโหม นอกจากนี้เครื่องบินบริพัตร ยังได้บินไปกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 2473 ด้วย เครื่องบินรุ่นนี้เคยประจำการในกองทัพอากาศในช่วงปี 2470-2483 ปัจจุบันมีเครื่องจำลองขนาดเท่าจริงอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ
23 ธันวาคม พ.ศ.2529 : เครื่องบิน Rutan Voyager Aircraft สามารถบินรอบโลกโดยไม่มีการหยุดพัก
 
23 ธันวาคม พ.ศ. 2529 เครื่องบิน Rutan Voyager Aircraft สามารถบินรอบโลกโดยไม่มีการหยุดพัก ใช้เวลาบิน 9 วัน 3 ชั่วโมง 44 นาที ปัจจุบันเครื่องบินลำนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อากาศยานและอวกาศยานแห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา
24 ธันวาคม พ.ศ.2522 : Ariane 1 จรวดลำแรกของกลุ่มประเทศยุโรป ทะยานขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ
 
24 ธันวาคม พ.ศ. 2522 Ariane 1 จรวดลำแรกของกลุ่มประเทศยุโรป ทะยานขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ
24 ธันวาคม พ.ศ.2449 : รายการวิทยุรายการแรกออกอากาศ โดยศาสตราจารย์ เรจิเนลด์ เฟสเซสเดนท์
 
24 ธันวาคม พ.ศ. 2449 วันนี้รายการวิทยุรายการแรกออกอากาศ โดยศาสตราจารย์ เรจิเนลด์ เฟสเซสเดนท์ จากรัฐแมสซาชูเสจ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกอากาศเกี่ยวกับบทกวี การสีไวโอลิน และสุนทรพจน์ ใช้คลื่น 429 แรงขับเคลื่อนจากพลังไอน้ำ ใช้สายอากาศสูง 429 ฟุต และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ
25 ธันวาคม พ.ศ.2185 : วันเกิด เซอร์ ไอเแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ
 
25 ธันวาคม พ.ศ. 2185 วันเกิด เซอร์ ไอเแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบ กฎแรงโน้มถ่วง นิวตันเกิดที่เมืองวูลสธอร์ป ลิงคอนไชร์ ประเทศอังกฤษ เป็นผู้คิดค้นระบบแคลคูลัส และพิสูจน์ว่าแสงสีขาวประกอบด้วย 7 สี โดยใช้แท่งแก้วปริซึม นอกจากนั้นผลงานการค้นพบเรื่องกฏแรงโน้มถ่วงของเขายังได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ "หลักการคณิตศาสตร์ว่าด้วยปรัชญาธรรมชาติ" (Philosophiae naturalist principia mathematica หรือ The Mathematical Principles of Natural Philosophy)
26 ธันวาคม พ.ศ.2547 : เกิดปรากฏการณ์ คลื่นยักษ์สึนามิ ซัดเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่างๆ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย
 
26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เมื่อเวลาประมาณ 07:58:50 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีขนาดความแรง 9.0 ริกเตอร์ เป็นแผ่นดินไหวที่มีความแรงสูงสุดในโลกนับตั้งแต่แผ่นดินไหวในอะแลสกาเมื่อปี 2507 ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ คลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) ซัดเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่างๆ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่อินโดนีเซีย ไทย พม่า ศรีลังกา อินเดีย จนถึงแอฟริกา ส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณกว่า 3 แสนคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะจังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง กระบี่
26 ธันวาคม พ.ศ.2533 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทยว่า ไทยคม
 
26 ธันวาคม พ.ศ.2533 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (ในสมัยนั้น) แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทยว่า "ไทยคม" (Thaicom) ซึ่งมาจากคำว่า "ไทยคมนาคม" ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นดาวเทียมไทยคมดวงล่าสุดได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในชั้นบรรยากาศสำเร็จ ปัจจุบันดาวเทียมไทยคมได้เป็นทรัพย์สินของบริษัทชินแซนเทิลไลท์ บริษัทลูกของกลุ่มชินคอร์ป ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเสกของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ดังนั้นดาวเทียมไทยคมทุกดวงจึงกลายเป็นทรัพย์สินของสิงคโปร์
26 ธันวาคม พ.ศ.2503 : สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงลงนามตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
 
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงลงนามในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535) ซึ่งนับเป็นการปักธงชัยแห่งการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทยขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 50-60 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์สัตว์ป่าของไทยได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ สัตว์บางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้วหรืออยู่ในสถานภาพที่ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ สมันหรือเนื้อสมัน แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง ทรายหรือเนื้อทราย เลียงผา กวางผา ฯลฯ วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีจึงถือเป็น วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
27 ธันวาคม พ.ศ.2447 : ละครเรื่อง ปีเตอร์ แพน เปิดแสดงครั้งแรกที่ ดู๊คออฟยอร์คเธียเตอร์
 
27 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ละครเรื่อง ปีเตอร์ แพน (Peter Pan) ผลงานของ เจมส์ แบรรี (James M. Barrie) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษ เปิดแสดงครั้งแรกที่ ดู๊คออฟยอร์คเธียเตอร์ (Duke of York’s Theartre) เป็นเรื่องของเด็กชายผู้ไม่ยอมโตที่ออกไปผจญภัยในเกาะ Neverland กับเวนดี้ ทิงเกอร์เบลล์ และกัปตันฮุค ต่อมาละครเรื่องนี้ได้ถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูน ภาพยนตร์ อนิเมชั่นอีกหลายครั้ง และยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้
28 ธันวาคม พ.ศ.2438 : วันกำเนิดภาพยนตร์โลก
 
28 ธันวาคม พ.ศ. 2438 วันกำเนิดภาพยนตร์โลก เมื่อ หลุยส์ และ ออกุส ลูมิแยร์ (Louise and Auguste Lumiere) พี่น้องชาวฝรั่งเศส คิดค้นกล้องถ่ายและฉายภาพยนตร์ที่เรียกว่า Cinematopraph ทำให้ภาพยนตร์ถือกำเนิดอย่างสมบูรณ์เป็นทางการครั้งแรก โดยจัดฉายภาพยนตร์ให้สาธารณชนได้ชมครั้งแรกในห้องใต้ถุนของร้านกาแฟ Grand cafe ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส โดยใช้เครื่อง ซีเนมาโตกราฟ (Cinematopraph) ซึ่งเป็นทั้งเครื่องถ่ายและฉายภาพยนตร์ในเครื่องเดียวกัน
28 ธันวาคม พ.ศ.2311 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรี
 
28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรี พร้อมทั้งสถาปนากรุงธนบุรีให้เป็นราชธานี ขณะพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ พระบรมราชา ที่ 4 จากนั้นทรงยกทัพไปปราบก๊กต่างๆ และรวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี จึงสามารถรวบรวมให้เป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันอีกครั้ง พระองค์ทรงครองราชย์ได้เพียง 15 ปีก็สวรรคตขณะพระชนมายุ 48 พรรษา ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้ วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี เป็น วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทางราชการจึงจัดให้มีพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี
29 ธันวาคม พ.ศ.2456 : มีการเริ่มการทดลอง กิจการบิน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 
29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 มีการเริ่มการทดลองกิจการบิน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ บริเวณสนามม้าสระปทุม (สนามราชกรีฑาสโมสร) ซึ่งถือเป็นสนามบินแห่งแรกของไทย โดยเครื่องบินจำนวน 8 เครื่องที่รัฐบาลไทยได้สั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่เครื่องบินเบรเกต์ (breguet) ปีก 2 ชั้น 3 เครื่อง เครื่องบินนิเออปอร์ต (nieuport) ปีกชั้นเดียว 4 เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ซื้อเบรเกต์ให้อีก 1 เครื่อง แต่ปรากฏว่าสนามม้าสระปทุมไม่สะดวกเพราะแคบไปและเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมในฤดูฝน ทางรัฐบาลจึงได้เสาะหาสนามบินแห่งใหม่คือดอนเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลนักและน้ำไม่ท่วม ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ได้มีการย้ายกิจการบินจากดอนเมืองไปที่บริเวณหนองงูเห่า หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ
30 ธันวาคม พ.ศ.2498 : จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่ จ.ระยอง
 
30 ธันวาคม พ.ศ. 2498 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและปั้นหล่อรูปสุนทรภู่ รวมทั้งตัวละครเอกสามตัวจากวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี คือ พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร และนางเงือก นับเป็นอนุสาวรีย์สามัญชนแห่งแรกของไทย
31 ธันวาคม พ.ศ.2492 : วันเกิด สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากร
 
31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 วันเกิด สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย เดิมชื่อสืบยศ เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้เข้ารับราชการที่กรมป่าไม้ครั้งแรก ประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี สืบได้เริ่มปราบปรามจับกุมผู้บุกรุกทำลายป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา สองปีต่อมากลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มสร้างผลงานวิจัยด้านสัตว์ป่าออกมาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงภาพถ่าย วิดีโอของสัตว์ป่าหายากจำนวนมากที่เขาถ่ายเอง ในปี 2529 ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการย้ายสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน สุราษฎร์ธานี จากนั้นปี 2532 มาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เริ่มเขียนเอกสาร โครงงานเพื่อจัดการให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก และเช้าตรู่วันที่ 1 กันยายน 2533 สืบยิงตัวตาย ส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าในเมืองไทยขึ้นจนถึงบัดนี้