แลเหลียวหลัง สมเด็จพระปิยมหาราชกับการเสด็จประพาสยุโรป

ในสมัยปัจจุบัน การเดินทางท่องเที่ยวข้ามทวีปแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่แสนจะง่ายดาย เพราะมีหลากหลายรูปแบบการเดินทางเพื่อที่จะไปถึงทั้งทางบก ทางน้ำ หรือแม้แต่ทางอากาศ แต่หากท่านลองนึกย้อนเวลากลับไปในสมัยร้อยกว่าปีก่อน “การเดินทางไปยุโรป” เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับชาวสยามในเวลานั้น 
 
 
เนื่องจากการเดินทางไปในดินแดนอันห่างไกลเช่นนั้น มีเพียงสองวิธีที่จะสามารถไปถึงได้ นั่นก็คือทางบกและทางน้ำ แต่วิธีการที่จะไปได้ถึงเร็วที่สุดและสะดวกสบายมากที่สุดนั้นคือ ทางน้ำ ซึ่งถึงแม้จะสะดวกกว่าการเดินทางโดยเรือข้ามทวีปก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกแต่อย่างใด  เพราะต้องรอนแรมใช้ชีวิตอยู่เป็นเดือนๆ ในเรือ สมัยก่อนที่ไม่ได้มีห้องพักที่สะดวกสบาย มีเครื่องเล่น หรือคาสิโนหรูหราไว้ให้พักผ่อนหย่อนใจเหมือนดังเรือสำราญในปัจจุบันนี้    แต่กลับมีเจ้าชีวิตผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยามต้องเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือไปยุโรป มิใช่เพื่อทรงไปเที่ยวเตร่ จับจ่ายสุรุ่ยสุร่ายดื่มด่ำกับความสวยงามหรือความโรแมนติกดังเช่นความนิยมของคนในสมัยนี้ แต่ทรงไปเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองโดยเฉพาะ นั่นก็คือ การเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้งของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ด้วยพระราชวิเทโศบายในการทำให้สยามประเทศเป็นที่รู้จัก มีที่ยืนบนเวทีโลก ทั้งยังทรงนำวิทยาการความรู้ต่างๆ ของประเทศยุโรปกลับมาเพื่อพัฒนาสยาม ดังเช่น การรับเอาศิลปิน วิศวกร สถาปนิก และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงจากยุโรปเข้ามารับราชการเพื่อนำความรู้ทางด้านศิลปะ วิทยาการอันทันสมัยและสถาปัตยกรรมการออกแบบที่ก้าวหน้าเข้ามาพัฒนาสยาม อาทิ นายตามาญโญ (M.Tamagno) สถาปนิกผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายแห่งที่ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอนันตสมาคม และสถานีรถไฟหัวลำโพง ฯลฯ นายริโกติ (A.Rigotti) สถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม นายกอลโล (E.G.Gallo) วิศวกรในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมคู่กับนายอัลเลกรี (G.Allegri) โดยเฉพาะนายอัลเลกรี ได้รับราชการจนเป็นวิศวกรใหญ่ประจำกรมโยธาเลยทีเดียว และที่สำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้น นายคอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) หรือที่ชาวไทยเรารู้จักในนาม ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ได้การยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย
 
 
นอกจากพระราชวิเทโศบายในการต่างประเทศ และการนำวิทยาการใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาบ้านเมืองของพระองค์  ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนแล้ว  แม้กระทั่งเส้นทางที่ใช้ในการเสด็จฯ  นั้นก็แฝงไปด้วยกุศโลบายที่แยบคายในการเลือกลำดับสถานที่เสด็จฯ ก่อน-หลัง กล่าวคือ เสด็จฯ ขึ้นแผ่นดินยุโรป ณ อิตาลี มหาอำนาจยุโรปที่วางตัวเป็นกลาง เพื่อแสดงจุดยืนในการเสด็จฯ “ฉันมิตร” จากนั้นเสด็จฯ เยือน รัสเซียก่อนฝรั่งเศส เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย อันจะส่งผลต่อท่าทีของฝรั่งเศสในการเจรจาทำสนธิสัญญาต่อมา รวมทั้งเส้นทางที่เสด็จฯ ผ่านก็ “ต้อง” เลือกเส้นทางที่พระองค์จะได้ทรง “ดูงาน” มาเพื่อพัฒนาประเทศของพระองค์ ดังเช่น การเลือกเสด็จฯ ทอดพระเนตรคลองสุเอช เพื่อศึกษางานวิศวกรรมการก่อสร้างคลองและการขนถ่ายสินค้างบริเวณคลองขุดเชื่อมทวีปแห่งนี้
 
ทำไมสมเด็จพระปิยมหาราชจึงต้องเสด็จประพาสยุโรป
เมื่อเอ่ยถึง “การเสด็จประพาสยุโรป” คนไทยทุกคนก็เข้าใจตรงกันได้ว่า เรากำลังพูดถึงการเสด็จประพาสยุโรปของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ นั่นหมายความว่า การเสด็จฯ ในครั้งนั้น เป็นการเสด็จฯ ครั้งสำคัญที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชาติสยามจนได้รับการจารึกไว้ในใจคนไทยมาจนปัจจุบัน การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวิเทโศบายในการรักษาเอกราชของชาติ เพราะในขณะนั้นบ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะคับขันอันเนื่องมาจากแรงกดดันของอิทธิพลลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส การเสด็จฯ ครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเผยแพร่ความเป็นไทยให้นานาประเทศได้รู้จัก เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป ในฐานะพระประมุขของประเทศที่มีสถานะเท่าเทียมกันอันเป็นหนทางไปสู่การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา และข้อตกลงต่างๆ อย่างมีความเสมอภาค ไม่ถูกดูหมิ่นว่าชาวสยามเป็นชนชาติที่ล้าหลังดังข้ออ้างในการเข้ายึดครองอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะช่วยรักษาเอกราชของชาติไว้ได้
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นไปเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ได้เสด็จฯ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันกับชาติที่คุกคามไทย ดังการเจรจาโดยตรงกับผู้นำฝรั่งเศสเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในกรณีวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ซึ่งนำมาสู่ข้อตกลงในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) รวมทั้งเพื่อแสวงหาชาติพันธมิตร มาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศไปในตัวด้วย
 
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง  จึงมีความสนิมสนมคุ้นเคยกับสมเด็จพระปิยมหาราชมาแต่ครั้งนั้น   พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงได้จัดการรับเสด็จฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างสมพระเกียรติ ดังที่สยามเคยจัดการรับรองพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ทั้งที่กรุงเทพฯ และบางปะอิน ทรงถือว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ นั้นเป็นดั่งผู้คนในครอบครัว ดังปรากฏพระราชหัตถเลขา พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๖ เล่าถึงความสนิมชิดเชื้อของทั้งสองราชวงศ์ ถึงขนาดที่ “เอมเปรสส์” หรือสมเด็จพระราชชนนีของพระเจ้าซาร์ รับพระองค์เป็นลูก ดังได้คัดมาตอนหนึ่งนี้ว่า
 
“เอมเปรสส์เกือบจะทรงกรรแสง สั่งแล้วสั่งเล่า รับปวารณากันว่าจะคิดว่าฉนเปนลูก ฉันก็จะคิดว่าเปนแม่ตั้งแต่นี้ไป ทุกวันเป็นแต่จูบฉัน วันนี้ตกเปนแม่ลูกกันแล้ว เอียงพระปรางให้ฉันจูบ บรรดาลูกทั้งผู้หญิงผู้ชายนับว่าเปนพี่น้องกัน ต่างคนต่างจูบกันกัปฉันทุกคน...”
 
ความสนิทชิดเชื้อกันของทั้งสองพระราชวงศ์นี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนทิศทางความสัมพันธ์ต่อไทย (รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ รัสเซีย ก่อนฝรั่งเศส) เพราะนอกจากบทบาทของรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจยุโรปแล้ว ฝรั่งเศสกับรัสเซียยังมีสนธิสัญญาพันธมิตรต่อกัน ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้มีความสำคัญต่อฝรั่งเศสมาก หลังจากเยอรมนีปล่อยให้ฝรั่งเศสโดดเดี่ยวอยู่หลายปี และด้วยท่าทีของรัสเซียที่ได้ถือเอาเอกราชของสยามเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังความปรากฏในพระราชโทรเลข ส่งจากเมืองปีเอตร์ฮอฟ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศความว่า
 
“ฉันได้พูดกับเอมเปรอ แลภายหลังกับเคาน์มูราวิฟ ในเรื่องที่เรามีความลำบากกับฝรั่งเศส ไม่เฉพาะแต่เรื่องคนโทษทั้ง ๒ ได้พูดตลอดถึงเรื่องริยิศเตรชั่นด้วย ท่านทั้งสอง เหนความลำบากของเราเหมือนกับที่เราเหนทุกประการ รับจะช่วยโดยทางไมตรี เพื่อจะชี้แจงให้ฝรั่งเศสเห็นทางปรโยชแลใช้ปรโยชโดยกว้าง คือการที่ฝรั่งเศสทำอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ใช่ว่าเปนประโยชน์ต่อฝรั่งเศสเลย เปนแต่ทำให้กับอังกฤษทั้งสิ้น แต่จะรับเปนแน่ว่าฝรั่งเศสจะทำตามฤาไม่ยังไม่ได้ จะเรียกทูตฝรั่งเสศมาพูด แลให้ร่างหนังสือ ถึงมองซิเออ ฮาโนโตมาให้ดูจะให้เราทราบเมื่อกลับจากมอสโก การที่รัสเซียรับแขงแรงนี้เพราะฮาโนโตให้ทูตมาพูดกับเสนาบดีว่าการต่างประเทศ เพื่อจะให้ช่วยจัดการให้ตกลงกันสำหรับเราจะได้ไปปาริศ  แต่มีโกหกในนั้นเปนอันมาก ที่นี่เขาเตรียมอยู่ก่อนแล้ว ที่จะจัดการให้เราดีกับฝรั่งเสศ ก่อนเวลาที่เรามาถึง เข้าใจว่าคงจะเป็นผลดีมาก แต่เราไม่ได้ขอให้รัสเซียช่วยตัดสินเลย เราไว้ท่า เปนแต่เพื่อนคนหนึ่ง จะช่วยชี้แจงให้เพื่อน ๒ คนดีกันเท่านั้น”
 
การรับรองให้ความช่วยเหลือของรัสเซียในครั้งนี้ นับว่าได้ปลดเปลื้องความขุ่นข้องหมองพระทัยอันเกิดจากภาวะสุ่มเสี่ยงในเอกราชของสยาม ดังพระราชโทรเลขถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  จากเมืองบาเดน-บาเดน ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๖ ซึ่งทรงได้พบกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ อีกครั้งหลังจากทรงเจรจาความกับฝรั่งเศสที่ปารีสแล้ว ความตอนหนึ่งว่า
 
“...เอมเปอเรอทรงรับที่จะช่วยโดยแขงแรง แกรนด์ดุกก็อุดหนุนรับรองฉันเหมือนกัน บัดนี้ฉันเหนได้แล้วว่า การที่ฉันมานี้ เปนประโยชน์แก่กรุงสยามโดยแท้จริง...”
 
การแสดงออกเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือของรัสเซียโดย  พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ อีกประการหนึ่งก็คือ การส่งพระบรมฉายาลักษณ์ประวัติศาสตร์ของทั้งสองกษัตริย์ ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอล์ฟ ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปและที่สำคัญคือการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ L’Illustration ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงในฝรั่งเศสเป็นอย่างมากเป็นการตอกย้ำจุดยืนของรัสเซีย และมีผลให้ฝรั่งเศสมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงต่อไทย
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๕๐ ซึ่งถึงแม้จะระบุว่า เป็นการเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ เพื่อรักษาพระวรกายแบบสปาบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ชาวต่างชาติที่เมืองบาเดน-บาเดน และบาด-ฮอมบูร์ก ประเทศเยอรมนี แต่พระองค์ก็ยังทรงงานเพื่อประเทศชาติมิได้ขาด ดังที่ได้เสด็จฯ ทรงลงพระนามในสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ.๒๔๕๐ กับฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๐ ที่เคยได้มีการเจรจากันไว้ตั้งแต่การเสด็จประพาสในครั้งที่ ๑ มีเนื้อหาสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนใกล้เคียง ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งคืนเมืองจันทบุรี และการทำความตกลงยกมณฑลบูรพา คือ เมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ เพื่อแลกกับตราด อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญพร้อมทั้งสิทธิภาพนอกอาณาเขต (ให้ศาลไทยมีอำนาจตัดสินคดีความของคนในบังคับฝรั่งเศส)
 
หลังจากการลงพระนามและประทับเพื่อเป็นแบบให้โรงหล่อ ซุส แฟร์ หล่อพระบรมรูปทรงม้า ณ กรุงปารีสแล้ว ได้เสด็จฯ อังกฤษเพื่อเจรจากู้เงินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟจากประจวบคีรีขันธ์ไปยังหัวเมืองมลายู จากนั้นได้เสด็จประพาสเพื่อเยี่ยมชมความเป็นอยู่ของชาวยุโรปและทอดพระเนตรสถานที่สำคัญ ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนการเกษตรในแต่ละที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาบ้านเมือง ให้ก้าวหน้าและเจริญทัดเทียมนานาประเทศ ในทุกๆ ด้าน อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสวนกุหลาบของชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์บรอยเออ ที่เมืองซานเรโม เขตมณฑลปอโตมอริโซ แถบริเวียร่า เขตต่อแดนประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ทรงบรรยายถึงกรรมวิธีการผสมพันธุ์และเพาะพันธุ์กุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ จนพัฒนาให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ และที่นี่ก็คือจุดกำเนิดของดอกกุหลาบ “King of Siam” เนื่องจากมิสเตอร์บรอยเออ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อดอกกุหลาบที่ผสมได้ใหม่ในปีนั้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเสด็จฯ ของพระองค์ ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๔ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ซึ่งทรงส่งมาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี (พระยศในขณะนั้น) หรือกระทั่งการเสด็จฯ มาทอดพระเนตรฟาร์มเลี้ยงหอยนางรมของมองซิเออสตรัคเก (Stracke) ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไทยยังไม่มีในสมัยนั้น ดังความปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้น
 
นอกจากนี้การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปแต่ละครั้งนั้นได้ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อ ณ ประเทศยุโรปด้วยเสมอ เพื่อที่จะได้นำความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าของประเทศเหล่านั้นกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับนานาประเทศโดยการส่งพระราชโอรสไปเรียนต่อต่างประเทศในแต่ละครั้งนั้น เปรียบเสมือนทรงนำพาสยามไปเรียนต่อด้วยนั่นเอง อนึ่ง ก่อนการเสด็จประพาสยุโรปในแต่ละครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงออกเสด็จประพาสต้นตามหัวเมืองต่างๆ ของประเทศก่อนเสมอ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมืองและเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ บางครั้งไม่มีหมายกำหนดการเสด็จฯ มาก่อน จึงเป็นที่มาของ “การเสด็จประพาสต้น” นั่นเอง
 
วิถีทางการเสด็จประพาสยุโรป
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ จากท่าราชวรดิษฐ์ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ ๑) ซึ่งได้มีการเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นการชั่วคราวอยู่บ้าง เนื่องจากเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเสียและส่งซ่อมอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ดังความปรากฏในพระราชโทรเลข จากเมืองปีเตอร์ฮอฟ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๖ ว่า สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ได้พระราชทานเรือยอชต์พระที่นั่งในพระองค์ชื่อ โกลด์ตา (ดาวทอง) ให้ทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปเมืองสตอกโฮล์ม เป็นการเสด็จฯอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พระองค์แรกที่เสด็จประพาสยุโรป ซึ่งในการเสด็จประพาสยุโรปในรอบแรกนี้พระองค์ได้ทรงมี พระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (พระยศในขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ ๑) และไปเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือนอทเยอรมันลอยด์ ชื่อ “ซักเซน” ที่ปีนัง เพื่อเสด็จฯ ต่อไปยุโรป และได้มีการเปลี่ยนเรือพระที่นั่งชื่อ “พม่า” ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ด้วย  ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ นี้ พระองค์ได้ทรงมี พระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี (พระยศในขณะนั้น) ราชเลขานุการิณีในพระองค์ อันเป็นต้นกำเนิดของพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านอีกด้วย
 
อิตาลี ... แผ่นดินยุโรปผืนแรกที่เสด็จฯ เยือน
การที่ทรงเลือกประเทศอิตาลีในการเสด็จพระราชดำเนินขึ้นแผ่นดินยุโรปครั้งนี้มิใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่มีการเมืองแฝงอยู่อย่างแยบยล  
 
 
ดังเช่นที่ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวไว้ว่า การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกที่จะเสด็จฯ ยุโรปที่ประเทศอิตาลีเป็นประเทศแรกนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการเสด็จฯไปโดยความตั้งพระทัยของพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ในทวีปยุโรปนั้นมีหลายเท่า และการเทียบท่าเรือนั้นแสนจะสะดวกสบายกว่าท่าเทียบเรือที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เป็นไหนๆ แต่การที่พระองค์ทรงเลือกที่จะขึ้นที่อิตาลีนั้นเนื่องจากนโยบายทางการเมืองของประเทศอิตาลีประเทศมหาอำนาจขนาดกลางในสมัยนั้นที่เป็นกลาง ในทางกลับกันประเทศอิตาลีก็อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศสซึ่งกำลังรุกรานและกดดันไทยอยู่ในตอนนั้น การที่ไทยเลือกประเทศอิตาลีเป็นประเทศแรก ทำให้พระองค์เป็นที่ถูกจับตามองจากราชวงศ์ประเทศมหาอำนาจยุโรปไปในทางที่ดีว่าสยามเราไปในฐานะมิตรประเทศมิใช่ฝักใฝ่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปในครั้งที่ ๒ นั้น เสด็จฯไปเพื่อการรักษาพระองค์เป็นหลัก และทรงเลือกที่จะเสด็จไปประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่พระองค์เคยเสด็จฯ แล้ว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมายุโรปครั้งแรก เพราะประเทศนี้อากาศดีเหมาะต่อการพักฟื้นพระอาการประชวรของพระองค์ ประกอบกับคำแนะนำของนายแพทย์ประจำพระองค์ที่ให้ทรงรักษาพระวรกายด้วยการแช่น้ำแร่จากบ่อน้ำพุร้อนในเมืองบาดฮอมบูร์ก จึงเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จฯ มาเพื่อประทับรักษาพระอาการประชวรในประเทศนี้
  
“เรือพระที่นั่งมหาจักรี” เรือสำคัญที่ใช้ในการเสด็จประพาสยุโรป
ในการเสด็จยุโรปทั้งสองครั้งนี้เสด็จฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีทั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งที่ขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นแบบเรือลาดตระเวน ในการสร้างเรือลำนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้ติดต่อกับบริษัท Ramage and Fer-guson ต่อที่เมืองลีซ สกอตแลนด์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ใช้เวลา ๑๐ เดือน จึงสร้างเสร็จออกเดินทางจากเมืองลีซเมื่อ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เรือพระที่นั่งมหาจักรีลำแรกปลดระวางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ทางราชการขายเรือลำนี้ยกเว้นเครื่องจักรให้บริษัท กาวาซากิ โกเบ ซึ่งทางบริษัทมารับเรือลำนี้ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เครื่องจักรของเรือลำนี้ บริษัทกาวาซากิโกเบ ได้นำไปต่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำที่สอง ซึ่งขึ้นระวางในสมัยรัชกาลที่ ๗ (ต่อมาคือ เรือหลวงอ่างทอง ลำที่ ๑) และถูกระเบิดทำลายในสงครามโลกครั้งที่ ๒
 
 
เรือที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงใช้ในการเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้งนั้นคือ เรือพระที่นั่งมหาจักรีลำหนึ่ง
และเรือซักเซน Sachsen อีกลำหนึ่ง โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีนี้ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินทั้งสองครั้ง
แต่เรือซักเซนนั้นเพิ่งมาใช้ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง

สยามเกือบจะใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีเข้าพุ่งชนเรือรบของทางฝรั่งเศสเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒
โดยหวังว่าจะจมเรือรบของทางฝรั่งเศส แต่โครงการนี้ก็ถูกล้มเลิกไปด้วยเหตุผลบางประการ
 
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากไทย ไปจนถึงประเทศอิตาลี ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในครั้งแรก และเสด็จฯโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากไทยไปเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือของบริษัทนอทเยอรมันลอยด์ ชื่อ “ซักเซน” ที่ปีนัง ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในครั้งที่ ๒ นี้
 

เหรียญที่ระลึกการเสด็จกลับจากยุโรป

พระราชกิจบนลำเรือ
การที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงดำเนินพระราชกิจประจำวันอยู่บนเรือเป็นเวลาแรมเดือนนั้นก็เพราะว่าต้องทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง เสด็จฯไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรป ดังเช่นพระราชโทรเลขที่มีถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า
 
เรือมหาจักรี
วันที่ ๗ เมษายน ร.ศ. ๑๑๖
    ถึงแม่เล็ก
        “...กินข้าวเย็นนี้บนดาดฟ้า แต่งอิฟวนิงแย๊กเก๊ตซ้อมโก้หร่าน แต่กัปตันไม่ได้มากินด้วยทีแกจะหิวเพราะกินดึก คิดกันจะตั้งข้อบังคับสำหรับให้พูดอังกฤษ จะได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป วันนี้เป็นแต่ระกันพูดพลางๆ...” หรือในฉบับเดียวกันที่ว่า “...ได้ลงมือเอาถ่านถูฟัน มันเค็มๆ คลื่นไส้ต้องเอาทั้งดุ้นเข้าถูพอบางๆ ออกไปได้ แลเห็นขาวซึกเดียว...”
 
การที่ประทับอยู่ในเรือเป็นเวลานานนั้นพระองค์มิได้ประทับอยู่เฉยๆ หากแต่ทรงมีกิจกรรมทำบนเรือและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ ถึงแม้จะตอนที่ทรงประทับอยู่บนเรือก็ตาม ดังที่เห็นได้จากพระราชโทรเลข ที่ทรงมีถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ ๑ จะเห็นได้ว่าถึงพระองค์จะอยู่ไกลแต่ก็ยังทรงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองอยู่เสมอ รวมไปถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวของพระองค์ในฐานะบุรุษเพศผู้ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทรงทำบนเรือ อาทิเช่น การทดลองทำอาหารต่างๆ การเล่นกีฬา รวมไปถึงการเตรียมพระองค์เพื่อในการที่จะเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติยุโรปอีกด้วย ดังพระราชโทรเลขที่คัดมาตอนหนึ่งว่า
 
วันที่ ๘ เมษายน ร.ศ. ๑๑๖
      “...บรรดาคนที่มารื่นเริงสบายหมด เว้นแต่มีต้องเย็บปากหลายคน เพราะตั้งข้อบังคับว่าถ้าอยู่ที่ไหนๆ ต้องพูดอังกฤษหมด...”
 
บทสรุป
การเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้งของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ยังประโยชน์สุขแก่ชาวสยามไม่เพียงแต่ในยุคสมัยของพระองค์ที่ได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ของบ้านเมือง แต่ยังผลให้ชาวไทยเราได้อยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยอย่างสงบสุข มีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาไม่น้อยกว่านานาประเทศใด มานานนับเนื่องแต่วันนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะได้รับพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงเปลี่ยนโฉมหน้าสยามมาสู่ความเจริญดังเช่นทุกวันนี้
 
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 66-74