อาจารย์หญิงคนแรกของไทย

 
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิรภา เทวกุล ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นอาจารย์หญิงองค์แรกของเมืองไทย แม้ว่าจะทรงศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จเพียงมัธยม ๕ แต่ก็ทรงใช้เวลาฝึกฝนค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ จนได้รับสมญานามว่า ท่านอาจารย์หญิงองค์แรกของเมืองไทย
 
สำหรับพระประวัติของพระองค์นั้น เป็นที่น่าสนใจยิ่ง สมควรที่กุลสตรีไทยจะถือเป็นแบบอย่างที่ดีได้
 
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิรภา เทวกุล เป็นพระธิดาองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระยาเทวะวงศวโรปการ อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดพระราชทานนามว่า “พิจิตรจิรภา” อันเป็นนามที่แผลงมาจากพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ไปนั้น
 
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิรภา จึงเสด็จเข้าประทับในพระราชสำนักของสมเด็จพระนางเจ้าฯ แต่ยังทรงพระเยาว์ และตรัสเรียกสมเด็จฯว่า สมเด็จแม่ และสมเด็จฯ ก็ทรงรับสั่งกับท่านหญิงโดยใช้คำว่าแม่อย่างนั้นลูกอย่างนี้ ตลอดมาจนทรงเจริญวัย
 
เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยกับพระองค์เจ้าหญิงประภัสสร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ประทับในพระบรมมหาราชวัง
 
ครั้นท่านหญิงพิจิตรฯ มีพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงขอท่านหญิงจากสมเด็จฯ มาทรงเลี้ยงอีกต่อหนึ่ง แต่ไม่นานท่านหญิงพิจิตรฯ ก็เสด็จออกไปประทับกับพระบิดาที่วังใกล้สะพานถ่าน
 
ต่อมา ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยขึ้น พระบิดาจึงได้ทรงส่งไปเป็นนักเรียน ขณะพระชันษาได้ ๑๒ ปี กล่าวกันว่า ท่านหญิงทรงเป็นนักเรียนที่ดีเลิศ มีความประพฤติเรียบร้อย ขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนความรู้อยู่เสมอ
 
 
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิรภา เทวกุล
 
ครั้นสำเร็จมัธยม ๕ ยังมิทันจบหลักสูตรมัธยมครั้งนั้นก็ทรงลาออกเสีย เพราะในสมัยนั้นความนิยมในการศึกษาของสตรียังไม่เผยแพร่ โดยเฉพาะยังถือกันว่า การศึกษาของลูกผู้หญิงไม่สำคัญอะไร พอเริ่มเป็นสาวใหญ่ผู้ใหญ่มักให้ออกจากโรงเรียน จะเรียนจบหรือไม่จบไม่เป็นการสำคัญอะไร
 
แต่ท่านผู้หญิงพิจิตรฯ ทรงปราดเปรื่อง มีความรู้ดีกว่าบางคนที่จบมัธยม ๖ เสียอีก
โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแล้ว ทรงรู้ดีมาก เพราะเมื่อลาออกจากโรงเรียนแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็โปรดฯให้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชสำนักของพระองค์อย่างเดิม เพื่อถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแก่บรรดาพระเจ้าลูกเธอ อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นต้น ชีวิตการเป็นครูของท่านหญิงจึงได้เริ่มต้นขณะเมื่อพระชันษาได้ ๑๘ ปี
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราชินีขึ้น โดยชั้นต้นสั่งครูญี่ปุ่นเข้ามา ๓ คน ให้สอนวิชาวาดเขียน เย็บปักถักร้อย และทำดอกไม้ด้วยผ้าและกระดาษให้เหมือนของจริง โรงเรียนนั้นเดิมตั้งอยู่ตึกมุมถนนอัษฎางค์และถนนจักรเพชร แล้วย้ายไปตั้งที่ถนนพระอาทิตย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือสถานที่เรียกว่า ทำเนียบท่าช้าง ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่โรงเรียนสุนันทาลัย ปากคลองตลาด
 
เมื่อย้ายเข้ามาแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ได้โปรดให้ท่านหญิงพิจิตรฯ เสด็จไปช่วยสอนเป็นพิเศษ โดยไม่รับเงินเดือน จนปลายปีครูญี่ปุ่นครบกำหนดเวลากลับไปบ้านเมือง ท่านหญิงจึงรับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ตอนนั้นมีนักเรียนเพียง ๖๖ คน เท่านั้น ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติที่ออกใหม่
 
นับตั้งแต่รับหน้าที่อาจารย์ใหญ่ ท่านหญิงพิจิตรฯก็ทรงสละเวลาทั้งหมดของท่านเพื่อการศึกษาตลอดมา ทรงทำกิจการแทบทุกอย่างก็ว่าได้ นับตั้งแต่เป็นอาจารย์ เป็นครูประจำชั้น ทำหน้าที่เก็บเงิน ทำบัญชี
 
พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านหญิงพิจิตรฯ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนการช่างขึ้น เป็นสาขาในโรงเรียนราชินี มีการสอนหนังสือไทยและเลขวันละ ๒ ชั่วโมง นอกนั้นหัดทำการช่างตลอดวัน มีนักเรียนที่จบหลักสูตรการช่างของโรงเรียน ออกไปเป็นครูการช่างในโรงเรียนต่างๆหลายคน
 
ท่านหญิงได้เปิดสอนวิชาการช่างมาได้ราว ๖ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ผู้ทรงอุปการะโรงเรียนราชิ นีได้โปรดให้ยุบเลิก เพราะรายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ท่านหญิงพิจิตรฯ ผู้ทรงรักการถ่ายทอดวิชาการช่างให้แก่ลูกผู้หญิง ไม่ยอมให้วิชานี้ถูกทอดทิ้งไป จึงโปรดให้ตั้งสอนกันที่วังเทเวศร์ด้วยทุนทรัพย์ของท่านหญิงเอง
 
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านหญิงก็ทรงฟื้นโรงเรียนการช่างขึ้นอีก โดยทรงจัดแผนการเรือนขึ้นในโรงเรียนราชินี รับนักเรียนที่จบประโยค มัธยมแล้วและเป็นผู้มีอุปนิสัยในทางการช่างการเรือน หรือเป็นผู้ไม่สามารถจะเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษาได้ ให้เข้าเรียนและฝึกฝนในวิชาการช่างต่างๆ และการครองเรือน เรียนกฎหมายเกี่ยวกับแม่บ้าน แต่ก็ต้องเลิกไป เพราะความจำเป็นอย่างอื่น
 
ดังนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ท่านหญิงพิจิตรฯ เป็นผู้ทรงเห็นการณ์ไกลด้านวิชาการช่างและการเรือน ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินการเปิดสอน
 
นอกจากนี้ ท่านหญิงพิจิตรฯ ยังเป็นผู้ทรงริเริ่มการอนุบาลทารกขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากท่านหญิงได้เคยทรงได้ยินเสด็จพ่อขณะยังมีพระชนม์อยู่รับสั่งว่าอยากจะตั้งโรงเรียนสอนเด็กเล็กๆ ให้เปล่าๆ แต่ก็ทรงล้มเลิกพระดำริเสีย เพราะทรงเกรงจะตัดอาชีพของชาวบ้านที่หากินทางครู
 
ครั้นเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านหญิงพิจิตรฯจึงทรงดำริขึ้นอีก โดยจะทรงทำเป็นการส่วนพระองค์และไม่ประสงค์จะเก็บค่าเล่าเรียนเลย เพราะจะทรงทำเป็นการกุศลถวายเสด็จพ่อ
 
 
เมื่อโรงเรียนราชินีเปิดแผนกอนุบาลทารกขึ้น ปรากฏว่าเก็บค่าเล่าเรียนถูกมาก เพียงเดือนละ ๒ บาท ค่าอาหารไม่เก็บ จนมีผู้ปรารภกับท่านหญิงว่า คือเขาว่าโรงเรียนราชินีเก็บค่าเล่าเรียนถูกไป ลูกเจ๊กขายก๋วยเตี๋ยวก็เข้าเรียนได้ เขาไม่อยากให้ลูกมาเรียนปนกับลูกเจ๊กขายก๋วยเตี๋ยว ควรเก็บค่าเล่าเรียนให้สูงขึ้น เพื่อกันคนรังเกียจในเรื่องนั้น
 
ท่านหญิงได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งแผนกอนุบาลทารกให้ผู้ที่ปรารภฟังว่า
 
“การที่มีผู้คิดเช่นนี้ ก็ช่วยบอกเขาไปสิว่า ถ้ากลัวลูกจะต้องมาเรียนปนกับลูกเจ๊กขายก๋วยเตี๋ยวหรือลูกคนขายขนมแล้ว ก็ควรไปฝากโรงเรียนอื่น หรือที่เรียนอยู่แล้ว ถ้าไม่พอใจ ก็น่าจะมาลาออกไปอยู่ที่โรงเรียนอื่นที่เขาเก็บค่าเล่าเรียนสูงๆ โรงเรียนนี้จะกระทำการที่ผิดไปจากหลักพระประสงค์ของท่านเจ้าของโรงเรียนและแบ่งชั้นวรรณะไปไม่ได้”
 
“พระประสงค์ของท่านให้เก็บคนหนึ่ง เดือนละ ๒ บาท พอคุ้มค่าอาหารและค่าใช้จ่ายของโรงเรียนในแผนกนี้ ยกกำไรให้แก่การกุศล ถ้าขึ้นราคาเล่าเรียน เด็กแผนกนี้คงจะขาดเรียนไปหลายคน โดยผู้ปกครองที่ขัดสนไม่มีจะเสีย”
 
“เด็กพวกนี้ก็จะต้องเป็นพลเมืองของชาติเหมือนกัน และการที่มาเกิดเป็นลูกคนขายขนมนั้น จะนับว่าเป็นความผิดของเด็กก็ไม่ได้ จะมาคิดว่าคนชั้นต่ำช่างเป็นไร จะเป็นโจรหรืออย่างไรก็ตามทีนั้นไม่เหมาะ”
 
ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรี ทรงปรารภที่จะจัดตั้งโรงเรียนราชินีบนขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ท่านหญิงพิจิตรฯ ก็ทรงเป็นพระธุระจัดการ ตลอดจนได้เปิดทำการสอน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เมื่อเปิดแล้วท่านหญิงก็ต้องทรงรับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้จัดการอีกโรงเรียนหนึ่ง
 
จนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ออกใหม่ห้ามมิให้บุคคลคนเดียวเป็นอาจารย์ใหญ่ ๒ โรงเรียน ท่านหญิงจึงได้โปรดให้หม่อมเจ้าหญิงวงศทิพยสุดา เทวกุล เป็นอาจารย์ใหญ่แทน ส่วนท่านหญิงคงทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการตำแหน่งเดียว
 
กิจการที่ท่านหญิงได้ทรงกระทำอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าราชินีขึ้น เนื่องจากมีพระประสงค์ให้สมาคมช่วยเป็นกำลังค้ำจุนมูลนิธิช่วยคนตาบอดในประเทศไทย เมื่อทรงดำริแล้ว จึงเรียก ม.ร.ว.เสริมศรี เกษมศรี ธ.บ. เลขานุการมูลนิธิช่วยคนตาบอด ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าราชินีไปปรึกษา
 
ในที่สุด สมาคมนักเรียนเก่าราชินี ก็อุบัติขึ้นตามพระดำริเห็นชอบของท่านหญิงพิจิตรฯ และต่อมาก็ได้จัดตั้งราชินีมูลนิธิขึ้นอีก โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นองค์การสำหรับควบคุมการเงินของโรงเรียนให้เป็นระเบียบและเป็นปึกแผ่น เพราะแต่เดิมมาท่านหญิงต้องรับภาระหน้าที่จ่ายเงินด้วยพระองค์เอง อันเป็นหน้าที่หนัก
 
นอกจากความรู้ความสามารถในการสั่งสอนอบรมศิษย์แล้ว ท่านหญิงพิจิตรฯ ยังทรงอบรมพระองค์เองให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทรงฝึกฝนภาษ าอังกฤษจนแตกฉานใช้ได้เป็นอย่างดี เมื่อพระบิดายังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอยู่นั้น ท่านหญิงได้เคยทรงเป็นผู้ช่วยพระบิดาต้อนรับแขกเมืองอยู่เสมอ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นต้นมา
 
และที่สำคัญ ท่านหญิงพิจิตรฯ ยังมีพระอุปนิสัยเชี่ยวชาญในทางการกวีอีกด้วย  ได้เคยทรงประพันธ์เรื่องทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง ลงหนังสือประเภทต่างๆ เริ่มแต่หนังสือราชินีบำรุง ซึ่งทรงใช้นามปากกาต่างกัน เช่น พ.จ. และคนครึ
 
เรื่องอ่านเล่นที่เรียกกันว่า “เล่มละสิบสตางค์” ก็ทรงเขียนได้ แต่ทรงวางเรื่องให้เป็นไปในแง่ของศีลธรรม นอกจากนั้นยังทรงแปลเรื่องภาษาอังกฤษ เป็นบทกลอนภาษาไทยดีๆไว้หลายเรื่อง
 
บทความสำคัญที่ทรงนิพนธ์ก็คือ “การศึกษาของโรงเรียนผู้หญิง” ลงในหนังสือดุสิตสมิตฉบับพิเศษ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นบทความที่เตือนใจสตรีในกรณีที่จะมีคู่เคียง ซึ่งยังใช้ได้ดีแม้ในสมัยนี้
 
ท่านหญิงพิจิตรฯ ทรงเป็นกุลสตรีพิเศษ ซึ่งเห็นการศึกษาของสตรีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และตลอดพระชนม์ชีพของท่านอยู่ที่การศึกษา คือ ทร งเรียนและทรงสอน ทรงอบรมโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ไม่ย่อท้อ
 
ด้วยคุณงามความดีของท่าน จึงมีผู้เรียกท่านหญิงว่า “ท่านอาจารย์” แต่ก่อนเราเรียกว่าครู เมื่อศิษย์ทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า “ท่านอาจารย์” และเป็นที่ทราบกันว่า “ท่านอาจารย์” หมายถึง หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรฯ หรือท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีนี่เอง
 
มาในปัจจุบันเราเรียกครูชั้นปริญญากันว่า “อาจารย์” เรียกครูใหญ่โรงเรียนใหญ่ๆ ว่าอาจารย์ใหญ่ หรือท่านอาจารย์จึงเป็นนามเรียกกันทั่วๆ ไปแต่ท่านอาจารย์องค์แรกของเมืองไทย คือ หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิรภา เทวกุล
 
ท่านหญิงพิจิตรฯ อาจารย์หญิงคนแรกของเมืองไทย ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สิริพระชนมายุได้ ๖๑ ปีเศษ
 
ถึงแม้ว่าท่านหญิงจะจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ แต่สั่งสอนของท่านยังมิได้สูญตามไปด้วย กลับประทับใจลูกศิษย์ยิ่งขึ้นไปอีก ม.ร.ว.เสริมศรี เกษมศรี ธ.บ. ผู้เป็นศิษย์ได้เขียนคารวะเมื่อครั้งยังเป็นศิษย์ของท่านหญิงพิจิตร ไว้ว่า
 
“ในเวลา ๓ ปี ที่ฉันเป็นนักเรียนราชินีอยู่นั้น ฉันได้ฟังการอบรมของหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรฯ ท่านอาจารย์ของเราในวันพฤหัสต้นเดือนเสมอๆ และวันพฤหัสต้นเดือนนั้น เป็นวันที่ฉันชอบมากกว่าวันใดๆ เพราะได้นึกทายได้ว่าวันนี้ใครจะมาอบรมเราหนอ”
 
“ถ้าเป็นครูอื่นก็จะได้วิจารณ์ครูสนุกดี แต่ถ้าเป็นท่านอาจารย์ก็จะดีใจ เพราะจะได้เห็นท่านอาจารย์ทรงถือกระเป๋าใหญ่ๆ เต็มไปด้วยหนังสือและเอกสารต่างๆ ทรงดำเนินมาด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มแจ่มใส รับสั่งทักทายเด็กคนนั้น คนนี้ ทรงแวะห้องพักครู รับสั่งอย่างไรก็สุดรู้ เพราะกำลังเดินแถวเข้าห้องประชุม”
 
“เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ทรงดำเนินเข้าไปกล่าวอบรมนักเรียนในเรื่องศีลธรรมจรรยาและเรื่องชีวิตจิตใจของนักเรียนในแง่ต่างๆโดยไม่ซ้ำกันเลย รับสั่งแสดงเหตุผลด้วยพระวาจาอันอ่อนหวาน อ่อนโยน บางคราวถึงตอนซาบซึ้ง น่าจะเป็นเพราะทรงปฏิบัติเอง จึงปลื้มพระทัย ตื้นตัน พระทัยที่จะรับสั่งออกมา เช่น ในเรื่องความกตัญญูกตเวที เป็นต้น ก็ทรงอึ้งน้ำพระเนตรคลอ ขยับฉลองพระเนตร และทรงพยายามรับสั่งต่อไป แต่พระสุรเสียงก็ไม่วายสั่นเครือ จนพวกเราจับได้ จับใจและฝังใจจริงๆ”
 
ทั้งหมดนี่คือ พระประวัติแห่งชีวิตของท่านอาจารย์หญิงคนแรกของเมืองไทย...
                                                                                                                         
ข้อมูลจากหนังสือบันทึกสยาม หน้า ๓๗-๔๓