โรมา : นครอมตะ

 โดย พ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
บทนำ
 

โรมา:นครอมตะ


น้ำพุเทวี


น้ำพุเทวี:ส่วนหนึ่งของฉายา”นครอมตะ”

โรมา หรือ กรุงโรม ได้รับฉายาว่า อมตะนคร หรือนครที่ไม่มีวันตาย เป็นศูนย์ กลางแห่งอารยธรรม ศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม ศูนย์กลางการปกครองและอำนาจของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาคริสต์ นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาอีกด้วย ผู้ที่มาเยี่ยมชมกรุงโรมจึงมีจุดประสงค์แตกต่างกัน บางคนมากรุงโรมเพราะศิลปะ บางคนมาเพราะโบราณคดี บางคนก็มาเพราะประวัติศาสตร์ และบางคนก็มาด้วยเหตุผลทางศาสนา ทุกอย่างเหล่านี้ กรุงโรมร่ำรวยด้วยศิลปะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศาสนาคริสต์ กรุงโรมจึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ มิใช่จากสิ่งของวัตถุแต่อย่างเดียว แม้กับผู้คนและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน ผู้คนสนใจจะมากรุงโรม สมกับคำโบราณของโรมที่ว่า : “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” ใครก็ตามที่รู้เกี่ยวกับศาสตร์แขนงต่าง ๆ เหล่านี้ ยิ่งมีความรู้มากเท่าใด ก็เที่ยวกรุงโรมด้วยความสนุกมากเท่านั้น กรุงโรมมีอะไร ๆ ให้ค้นหาไม่รู้สิ้นสุดจริง ๆ หากจะถามว่าเที่ยวกรุงโรมกี่วันจึงจะพอ ตอบได้เลยว่าไม่มีวันพอ  ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้คนที่ต้องการหวนกลับมากรุงโรมอยู่เสมอ  แต่จะทำอย่างไรล่ะ จึงจะได้กลับมาที่โรมอีก  และนี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งของฉายาของกรุงโรม “อมตะนคร”
 
เพื่อจะได้พบกับคำตอบ “ทำอย่างไรล่ะ จึงจะได้กลับมาที่โรมอีก” ขอนำท่านมาให้รู้จักกับ “น้ำพุเทรวี” (Fontana di Trevi) เพราะที่นี่มีคำตอบ เป็นปรัมปราที่เล่าขานสืบต่อกันมา แต่ก็เล่าขานไม่เหมือนกันนัก แม้จะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีสิ่งเหมือนกันก็คือ ทุกตำนานจะพูดถึงการกลับมากรุงโรมอีกครั้งหนึ่ง
 
ตำนานเรื่องแรก เล่าว่า ผู้ที่โยนเหรียญ 1 เหรียญลงไปในน้ำพุเทรวี จะได้กลับมา กรุงโรมอีกครั้ง แต่หากโยน 2 เหรียญจะพบคู่ครองและได้แต่งงาน แต่ถ้าใครอยากจะหย่าร้างกับคู่ครอง ให้โยน 3 เหรียญ พูดง่าย ๆ ก็คือ ใครอยากจะหย่าร้างกับคู่ครอง ก็ต้องลงทุนมากหน่อย ใครจะไปรู้ อาจจะมีผู้คนอธิษฐานเรื่องนี้ไว้มากก็ได้นะ
 
ตำนานเรื่องที่สอง เล่าว่า ผู้ที่โยนเหรียญ 1 เหรียญลงไปในน้ำพุเทรวี จะได้กลับ มากรุงโรมอีกครั้ง แต่ใครที่ปรารถนาจะได้โชคลาภ ก็ต้องโยนเหรียญ 3 เหรียญด้วยมือขวา โดยโยนผ่านไหล่ซ้ายของตน วิธีเดียวที่ทำเช่นนี้ได้ จึงต้องหันหลังให้กับ “น้ำพุเทรวี” เพราะเหตุนี้ ปัจจุบัน ใคร ๆ ที่โยนเหรียญก็มักจะหันหลังให้กับน้ำพุ ที่จริงก็ไม่จำเป็นนัก แต่ก็สนุกดีเหมือนกัน เพราะเวลาที่เราหันหลังโยนเหรียญ จะทำให้เราถ่ายรูปได้สวย และสามารถมองเห็นทั้งหน้าเราและก็น้ำพุด้วย และก็มีหลักฐานว่า เราได้ไปโยนเหรียญที่น้ำพุแห่งนี้มาแล้วด้วย
 
ตำนานเรื่องที่สาม เป็นตำนานที่เล่าอยู่ในหลักสูตรและในตำราเรียนของอิตาเลียน เล่าว่า ผู้ใดปรารถนาจะพบกับรักแท้ รักเดียวใจเดียว ให้โยนเหรียญ 1 เหรียญ
 
ผู้ใดปรารถนาจะได้โชคลาภ ให้โยนเหรียญ 2 เหรียญ เลข 2 มีความหมายเท่ากับทวีคูณ
 
ผู้ใดปรารถนาจะกลับมาที่กรุงโรมอีกครั้ง ก็ให้โยนเหรียญ 3 เหรียญ เลข 3 มีความหมายถึงนิรันดรกาล ความหมายนี้อาจจะมาจากความหมายในความเชื่อทางศาสนาคริสต์ด้วย
 
ใครอยากจะเชื่อตำนานใดก็เชื่อได้ เพราะทั้งหมดนี้ เป็นตำนาน (Legend) แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ มีการประมาณกันว่า แต่ละวันมีผู้โยนเหรียญลงในน้ำพุเฉลี่ยแล้ววันละ 3,000 ยูโร เหรียญเหล่านี้จะถูกเก็บไปโดยเจ้าหน้าที่ของกรุงโรม บางครั้งก็อาจจะหลายๆ วันติดกัน ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาก ๆ แต่บางครั้งก็เว้นระยะด้วย กรุงโรมนำเงินทั้งหมดนี้ไปสมทบกองทุนช่วยเหลือคนยากจนของกรุงโรม อย่างไรก็ตาม ก็มีคนบางคนที่หาทางขโมยเงินเหล่านี้ด้วยวิธีต่าง ๆ อยู่เสมอ ขโมยมีอยู่ทั่วไปจริงๆ
 
เสน่ห์ของ “น้ำพุเทรวี” ทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องพากันมาถ่ายทำที่นี่ เรื่องที่มีชื่อเสียงมากหน่อย เห็นจะเป็นเรื่อง “Three coins in the fountain” และก็เรื่อง “La Dolce Vita”  บางคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกอยากว่ายน้ำหรืออาบน้ำที่มีน้ำพุแห่งนี้เสียเลย ที่จริง เขาไม่มีอนุญาตให้อาบน้ำที่น้ำพุนี้นะครับ แต่บางคนก็อดใจไม่ได้เหมือนกัน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2007 นักท่องเที่ยวชาวมิลานผู้หนึ่ง ชื่อ Roberta ลงไปอาบน้ำที่ “น้ำพุเทรวี” อ้างว่า “อากาศร้อนมาก และน้ำก็ควรจะเป็นของทุกคน” เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เธอดังขึ้นมาในชั่วพริบตา เพราะรูปของเธอถูกนำไปลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ ทั่วโลก นี่แหละครับ ที่เราเรียกว่า “เสน่ห์” ใครอยากดังแบบนี้บ้างก็ลองดูนะครับ เพราะข่าวก็ไม่ได้บอกว่าเธอผู้นี้โดนข้อหาอะไรไปบ้าง
 
ข้อมูลบางอย่างที่ควรรู้เกี่ยวกับ “น้ำพุเทรวี” ก็มีประโยชน์ อย่างน้อยก็รู้อะไรไว้บ้าง เวลาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง จะได้มีเสน่ห์เช่นเดียวกับ “น้ำพุเทรวี”
 
1. ชื่อ Trevi : เทรวี มาจากคำภาษาอิตาเลียน Tre vie หมายความถึง ถนน 3 สาย น้ำพุแห่งนี้สร้างตรงจุดเชื่อมต่อของถนน 3 สาย และเป็นจุดปลายทางของท่อส่งน้ำ (Aqueduct) ที่มีชื่อว่า “Aqua Virgo” ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำที่เก่าแก่ที่สุดอันหนึ่งของกรุงโรม จากจุดนี้ น้ำได้ถูกส่งไปหล่อเลี้ยงกรุงโรมไกลถึง 13 กิโลเมตร ไปถึงบ่ออาบน้ำของอากริปป้า ซึ่งเป็นญาติของจักรพรรดิ Ottaviano ท่อส่งน้ำนี้ใช้งานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง จนกระทั่งถูกพวกโกธ (Goth) ที่เข้าปล้นกรุงโรม ได้ทำลายไปในปี ค.ศ. 537-538 ตามปกติแล้ว ชาวโรมันจะสร้างน้ำพุไว้บริเวณปลาย ทางของท่อส่งน้ำ
 
2. “น้ำพุเทรวี” เป็นน้ำพุที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม โดยใช้ศิลปะแบบบารอค (Baroque) ศิลปะแบบนี้เป็นความสง่างามและความยิ่งใหญ่
 
3. - พระสันตะปาปา นิโคลาส ที่ 5 ซ่อมแซมท่อส่งน้ำ “Aqua Virgo” ขึ้นมาใช้การใหม่ในปี ค.ศ. 1453 และได้สร้างน้ำพุขึ้นมา
 
- พระสันตะปาปา อูร์บาโน ที่ 8 ให้ศิลปินผู้มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ Bernini ออกแบบบูรณะน้ำพุแห่งนี้ให้ดูตระการตามากขึ้น ในปี ค.ศ. 1629 Bernini ได้ขยายน้ำพุแห่งนี้ และให้หันหน้าน้ำพุแห่งนี้ไปยังพระราชวัง Quirinale อันเป็นพระราชวังที่ประทับของพระสันตะปาปา ทั้งนี้ เพื่อให้พระองค์สามารถชมความงามของน้ำพุแห่งนี้ได้ (พระราชวัง Quirinale ปัจจุบัน เป็นวังของประธานาธิบดีแห่งประเทศอิตาลี)
 
- ต่อมา ในปี ค.ศ. 1730 พระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 12 มอบหมายให้ Nicola Salvi ออกแบบและเสริมสร้างน้ำพุนี้ให้เป็นศิลปะแบบบารอค งานนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1732 และสำเร็จบริบูรณ์ในปี ค.ศ. 1762 Nicola Salvi เสียชีวิตก่อนงานเสร็จ ผู้ที่ทำจนงานนี้สำเร็จ ได้แก่ Giuseppe Pannini
 
4. ปราสาทด้านหลังของน้ำพุ ชื่อเต็มว่า Palazzo Conti Duca di Poli เป็นปราสาทประจำตระกูล Conti มีตำแหน่งเป็นท่านดยุ๊ค (Duke)
 
5. ชื่อท่อส่งน้ำ “Aqua Virgo” มาจากเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า ทหารโรมันได้รับคำ สั่งให้มาหาแหล่งน้ำ เด็กหญิงคนหนึ่งได้ชี้ให้มาพบแหล่งน้ำนี้ และปรากฏว่า เป็นน้ำบริสุทธิ์ มีคุณภาพดีมาก จึงตั้งชื่อน้ำนี้ว่า “น้ำแห่งผู้บริสุทธิ์” หรือ Aqua Virgo เท่ากับ Virgin Water
 
เรื่องสุดท้ายสำหรับคำนำนี้ ก็คือ กรุงโรมมีเสน่ห์มากขึ้นมาก โดยเฉพาะสำหรับบรรดาคริสตชน เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และวัดวาอาราม มีเรื่องราวของพระสันตะปาปา บรรดานักบุญที่มีชื่อเสียงมากมาย โรมเป็นจุดศูนย์รวมของวิทยาการความรู้ด้านต่าง ๆ และทางด้านศาสนาด้วย
 
1.  มหาวิหาร (Basilica)
ก่อนจะพาชมมหาวิหาร ขออธิบายสักเล็กน้อยถึงความหมายของมหาวิหาร แต่ก่อนจะอธิบายถึงเรื่องนี้ ก็ต้องบอกกันก่อนว่า ทางศาสนาคริสต์เขามีชื่อเรียก “วัด” หลายชื่อ และแต่ละชื่อนั้นก็มีความหมายไม่เหมือนกัน ขอเริ่มตั้งแต่
 
- Cathedral ภาษาไทยเราเรียกว่า “อาสนวิหาร” ภาษาอิตาเลียนเขาใช้คำว่า Cattedrale (คัทเทดราเล) หรือคำว่า Duomo (ดูโอโม) โดยทั่ว ๆ ไป เราหมายถึงวัดประจำตำแหน่งของพระสังฆราชปกครอง ตามปกติแล้ว อาสนวิหารจะเป็นวัดที่ได้รับเกียรติสูง การก่อ สร้าง การตกแต่งต่าง ๆ จึงได้รับการดูแลเอาใจใส่ และเป็นวัดที่มีความสวยงาม เด่นสง่า เป็นพิเศษ
 
- Church ภาษาไทยเราเรียกว่า วัดหรือโบสถ์ ภาษาอิตาเลียนเขาใช้คำว่า Chiesa (คิ-เอ-ซา) วัดหรือโบสถ์นี้จะต้องได้รับการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ มีพระสงฆ์เจ้าอาวาสปกครองดูแล อภิบาลสัตบุรุษของตน ขึ้นโดยตรงต่อพระสังฆราชของตนเอง
 
- Chapel ภาษาไทยเราใช้คำว่า “วัดน้อย” ภาษาอิตาเลียนใช้คำว่า Cappella (คับ-แปล-ลา) เป็นวัดที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ตามจุดประสงค์ของคณะนักบวชหรือหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ โดยทั่ว ๆ ไป ไม่มีเจ้าอาวาสหรือการปกครองดูแลอภิบาลสัตบุรุษเต็มรูปแบบของ “วัด”
 
ส่วน Basilica ซึ่งผมใช้คำว่า “มหาวิหาร” นั้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวัด ผมก็ขออธิบายมากหน่อย เวลาที่เราเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในยุโรป เราก็จะได้มีความเข้าใจความสำคัญของสถานที่ได้มากขึ้น
 
การใช้คำว่า "มหาวิหาร" เพื่อใช้แทนความหมายของคำว่า “Basilica” อาจจะเป็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงมากนัก แต่ก็ไม่ผิดไปจากความหมายแบบ คริสตชนจนเกินไป ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า เราจำเป็นจะต้องแยกแยะความหมายของคำ ๆ นี้เป็น 2 ความหมาย คือ ความหมายดั้งเดิม และความหมายแบบคริสตชน
 
ความหมายดั้งเดิม
คำว่า Basilica เป็นคำภาษากรีก ภาษาลาตินใช้คำว่า “Basilica” หมายถึงรูปแบบของสิ่งก่อสร้างสาธารณะแบบโบราณ เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบผสมผสานกันระหว่างกรีกและโรมัน เพราะเหตุว่า ในสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจนั้น อิทธิพลของกรีกได้เข้ามาอยู่ในอารยธรรมของชาวโรมัน และในทางตรงกันข้าม อิทธิพลของโรมันก็ได้เข้าไปอยู่ในอารยธรรมของกรีกด้วย ศิลปะการก่อสร้างแบบนี้เริ่มต้นที่เมืองเอเธนส์ (Athens) ในประเทศกรีก แต่ในสมัยอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ มหาวิหารแห่งแรกที่เราสามารถพบได้ คือ มหาวิหารที่เมืองปอมเปอี (Pompei) ซึ่งตามหลักฐานที่ได้มาจากการศึกษาที่เมืองปอมเปอีนี้ ปรากฏว่า มีมหาวิหารที่นี่ในปี 78 ก่อนคริสตศักราช แต่หากพิจารณาจากศิลปะ การเขียนตัวอักษร การตกแต่ง ฯลฯ แล้ว ก็ทำให้สรุปได้ว่า มหาวิหารแห่งนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตศักราช และถือว่าได้เลียนแบบมาจากมหาวิหารที่เมืองเอเธนส์ ตามความสำคัญของมหาวิหารที่เมืองปอมเปอีนี้ ยังได้แก่ การเป็นแม่แบบของมหาวิหารอื่น ๆ ทั้งในโลกตะวันออกและในโลกตะวันตกด้วย ปี 47 ก่อนคริสตศักราช จักรพรรดิซีซาร์ (Caesar C.) ได้สร้างมหาวิหารที่เมืองอันทิโอก (Anthioch) ในโลกตะวัน ออก เพราะต้องการให้อารยธรรมโรมันเข้ามามีอิทธิพลอย่างเต็มที่ในโลกของชาวกรีก
 
1. จุดมุ่งหมายของการสร้างมหาวิหารตามความหมายดั้งเดิม
ชาวโรมันสมัยโบราณใช้ชื่อมหาวิหาร “Basilica” เพื่อหมายถึงสิ่งก่อสร้างสาธารณะเพื่อใช้เป็น Corpus Iuris หรือ Law Court ทำการตัดสินความต่าง ๆ และเนื่องจาก ชาวโรมันกุมอำนาจทั้งหมดในด้านการค้าเอาไว้ การตัดสินความต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการค้า นอกจากนี้ ยังเป็นที่รวมของการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เพราะตามโครงสร้าง มหาวิหารจะมีส่วนหนึ่งใช้สำหรับค้าขาย (Commercial Exchange)
 
2. โครงสร้างของมหาวิหารตามความหมายดั้งเดิม
ตามกฎเกณฑ์แล้ว มหาวิหารจะต้องถูกสร้างขึ้นโดยมีช่องทางเดินตรงกลางใหญ่ มีกำแพงสูงประกอบอยู่ทั้ง 2 ข้าง และช่องทางเล็ก โดยมีกำแพงที่ต่ำกว่าขนานอยู่ทั้ง 2 ข้างของช่องทางเดินใหญ่นั้น ช่องทางเดินเหล่านี้จะถูกแบ่งออกโดยเสาหิน และโดยส่วนใหญ่ (แม้ว่าจะไม่เสมอไป) ตอนปลายสุดของช่องทางเดินกลางใหญ่ จะมีที่ทำการบริหารด้านความยุติธรรมหรือศาล โดยมีบัลลังก์ผู้ตัดสินความตั้งอยู่ นอก จากนี้ ยังมีส่วนที่แยกออกจากช่องทางเดินตรงนี้ เพื่อใช้ด้านการค้าขาย หรือเป็นที่สาธารณะด้านต่าง ๆ เรียกรวม ๆ ว่า “ฟอรุม” (Forum) หลายครั้งจึงถูกเรียกพร้อม ๆ กันว่า Forum et Basilica เช่น ที่ Forum Romanum มี Basilica Giulia, Basilica di Costantino เป็นต้น
 
ความหมายแบบคริสตชน
เราไม่พบความหมายของมหาวิหารแบบคริสตชนนี้ ก่อนสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ความหมายของมหาวิหารแบบคริสตชนนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 โดยใช้ศิลปะกรีก-โรมัน นักเขียนต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 6 ใช้คำว่า “มหาวิหาร” ในลักษณะต่าง ๆ กันไป เช่น ใช้ในความหมายของบ้าน ความหมายของวัด ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา แต่ยังหมายถึงที่อยู่ของพระสังฆราชด้วย ความหมายของมหาวิหารจึงแตกต่างจากซีนาโก๊ก (Sinagoque) ของชาวยิว เพราะซีนา โก๊กหมายถึงที่ชุมนุมของหมู่คณะเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา แต่มหาวิหารหมายถึงการสถิตอยู่อย่างลึกลับของพระ โดยมีพระสังฆราชเป็นประธาน และควบคุมดูแลหมู่คริสตชน
 
จุดมุ่งหมายของการสร้างมหาวิหารตามความหมายแบบคริสตชน จึงเป็นการสร้างเพื่อเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้า
 
โครงสร้างของการสร้าง
พวกคริสตชนได้ใช้ลักษณะของการก่อสร้างแบบกรีก-โรมันนี้ ผสมผสานกับลักษณะบางอย่างของวัดน้อย (Chapels) ที่พวกคริสตชนสมัยถูกเบียดเบียนได้สร้างไว้ในกาตาคอมบ์ (Catacomb) และตั้งแต่หลังการเบียดเบียน คือตั้งแต่หลังการกลับใจของจักรพรรดิคอน สแตนติน พวกคริสตชนก็ได้ใช้เพื่อเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้า โดยมีลักษณะการสร้างโดยทั่ว ๆ ไปดังต่อไปนี้ :
 
1. มีช่องทางเดินกลางและข้าง ๆ โดยมีแนวเสาหินแบ่งออก มีประตูที่จะนำไปสู่มหาวิหารและช่องทางเดินเหล่านี้อย่างน้อย 3 ประตู นอกจากนี้ ยังมีลานกว้างภายนอกเพื่อใช้เป็นที่สาธารณะต่าง ๆ (forum)
 
2. มีแท่นที่แยกออกจากกำแพง สร้างอยู่ภายในมหาวิหาร โดยมีปะรำคลุมแท่นไว้ ภาย ใต้แท่นจะเป็น Confessio ซึ่งมักจะใช้เป็นที่เก็บร่างกายหรือพระธาตุขององค์อุปถัมภ์ หรือเป็นตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น Confessio ของมหาวิหารนักบุญ เปโตร เป็นที่ฝังศพของท่านนักบุญเปโตร เป็นต้น
 
3. ที่นั่งหรือบัลลังก์ของพระสังฆราชจะตั้งอยู่ที่กำแพงด้านหลังที่เป็นมุขยื่นออกไป โดยมีที่นั่งของพวกนักบวชอยู่ 2 ข้าง เป็นรูปครึ่งวงกลม และพระสังฆราชหันหน้าเข้าหาสัตบุรุษ เราสามารถสังเกตได้ว่า ที่นั่งของพระสังฆราชนี้ ก็คือที่นั่งของผู้พิพากษาในความหมายแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ เพื่อควบคุมประชากรของพระ อีกประการหนึ่ง พิธี กรรมที่พระสังฆราชจะทำ ก็กระทำต่อหน้าสัตบุรุษ มิใช่หันหลังให้
 
การตกแต่งอื่นๆ ภายในมหาวิหารก็มีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการสร้าง และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ แนวทางด้านสถาปนิกก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการสร้างด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างมหาวิหารถูกเรียกว่า เป็นรูปแบบแรกของโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการนมัสการพระของคริสตชน เป็นชื่อที่ถูกมอบให้กับวัดต่าง ๆ ที่มีความเก่าแก่ มีศักดิ์ศรี มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือทางเทววิทยา หรือมีความหมายในฐานะเป็นศูนย์กลางพิเศษของการนมัสการพระเจ้า
 
ชนิดของมหาวิหาร
ในสมัยปัจจุบันนี้ มหาวิหารมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ Major และ Minor Major Basilica มีพระแท่นของพระสันตะปาปา และอาจจะมีประตูศักดิ์สิทธิ์ด้วย เพื่อจะเปิดรับปีศักดิ์สิทธิ์ ในบรรดามหาวิหารแบบนี้ที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ Patriarchal Basilicas หรือจะแปลเป็นภาษาไทยคงแปลได้ว่า “Basilica แห่งอัยกาของพระศาสนจักร”
 
1. มหาวิหารนักบุญยวง ลาเตรัน (St. John Lateran) เป็นมหาวิหารเอก เป็นมารดาของพระศาสนจักร ได้รับเกียรติสูงสุดในพระศาสนจักร เป็นมหาวิหารของสังฆอัยกา (Patriarch) แห่งพระศาสนจักรตะวันตก หรือพระสันตะปาปา
 
2. มหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter) เป็นมหาวิหารสำหรับสังฆอัยกา (Patriarch) แห่งคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)
 
3. มหาวิหารนักบุญเปาโล (St. Paul) นอกกำแพง สำหรับสังฆอัยกา (Patriarch) แห่ง อเล็กซานเดรีย (Alexandria)
 
4. มหาวิหารแม่พระ (Santa Maria Maggiore) สำหรับสังฆอัยกา (Patriarch) แห่งอันทิโอก (Anthioch)
พระแท่นของพระสันตะปาปาที่กล่าวถึงนี้ มีแต่พระสันตะปาปาและผู้รับมอบอำนาจโดยตรงเท่านั้นที่จะประกอบพิธีบนพระแท่นนี้ได้
 
Minor Basilica ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดพิธีหลาย ๆ อย่างในมหาวิหาร มีจำนวนมากมาย ทั้งที่กรุงโรมและที่อื่น ๆ ทั่วโลก เป็นที่น่าสังเกตว่า วัด St. Francis และ St. Mary of the Angels ที่เมืองอัสซีซี (Assisi) ถูกจัดเป็น Major Basilica อีกประการหนึ่ง สังคายนาสากลที่เมือง Ferrara-Firenze-Rome ปี ค.ศ. 1439 ได้รวมพระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน ดังนั้น มหาวิหารที่ถูกมอบให้กับ สังฆอัยกา (Patriarch) ต่าง ๆ จึงเป็นเพียงเกียรติและศักดิ์ศรีที่มอบให้เท่านั้น
 
2.  มหาวิหารนักบุญเปโตร (Basilica S. Pietro)
มหาวิหารนักบุญเปโตร มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระศาสนจักรคาทอลิก เพราะเหตุว่า :
 
1. เป็นสถานที่นักบุญเปโตร (St.Peter) ได้พลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยการตรึงบนไม้กางเขน โดยศีรษะลงดิน ในระหว่างการเบียดเบียนศาสนา ในสมัยของจักรพรรดิเนโร ราว ค.ศ. 64 นักบุญเปโตรเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระศาสนาจักรคาทอลิก เพราะท่านเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก เป็นผู้แทนของพระเยซูเจ้าบนแผ่นดินนี้
 
2. เป็นผู้แทนและศูนย์กลางของพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้งทางด้านพิธีกรรม ข้อความเชื่อและการบริหาร  อีกทั้งที่ประทับขององค์พระสันตะปาปาก็อยู่บริเวณเดียวกัน
 
3. เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการแสวงบุญของบรรดาคริสตชน
 
1) อนุสาวรีย์รูปเสาแหลม (Obelisk)
- บริเวณปัจจุบันที่เป็นจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ แต่เดิมเป็นสนามกีฬาของชาวโรมัน มีชื่อว่า สนามกีฬาคาลิโกลา ซึ่งจักรพรรดิคาลิโกลา (Caligola) ได้ทรงสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 33 และต้องการตั้งเสาหินที่เรียกว่า Obelisco นี้ที่กลางสนาม เพื่อเป็นศูนย์กลางของสนามกีฬา เสาหินนี้ได้ถูกสร้างขึ้นที่ Eliopoli ในประเทศอียิปต์ โดย Pharaoh Pheros และถูกย้ายมาที่เมืองอเล็กซานเดรีย จักรพรรดิคาลิโกลาทรงมีรับสั่งให้ย้ายจากเมืองอเล็กซานเดรีย มาที่กรุงโรม
 
ในสมัยกลาง ที่กรุงโรมมีตำนานเรื่องหนึ่งเล่าว่า เสาหินนี้ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ซาโลมอน และฝุ่นขี้เถ้าของกษัตริย์ซาโลมอนถูกเก็บรักษาไว้ในกล่องทองแดง ซึ่งอยู่บนยอดเสาหินนี้ ต่อมา จูลีอุส ซีซาร์ มาที่กรุงเยรูซาแลม ได้สั่งให้ย้ายเสาหินนี้มาที่กรุงโรม และได้เอาขี้เถ้าของกษัตริย์ซาโลมอนออกไป เมื่อซีซาร์สิ้นพระชนม์แล้วได้มีรับสั่งให้นำกระดูกของพระองค์มาใส่แทนที่ ถึงแม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นตำนานที่เล่าสืบกันมา แต่บนเสาหินนี้มีอักษรลาตินจารึกไว้ว่า : “ซีซาร์เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับโลก และเวลานี้ ถูกเก็บอยู่ในกล่องข้างบนนี้”
 
ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อมีการสร้างมหาวิหารใหม่ และต้องทำการย้ายเสาหินนี้โดย Domenico Fontana เขาพบว่ากล่องข้างบนนี้เป็นกล่องที่ไม่สามารถบรรจุสิ่งใดไว้ภายในได้เลย
 
พระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 ได้นำเอาพระธาตุไม้กางเขนของพระเยซูเจ้ามาบรรจุไว้ภายในกางเขนบรอนซ์ที่อยู่บนยอดของเสาหินนี้
 
- สนามกีฬาที่จักรพรรดิคาลโกลาได้สร้างขึ้นนี้ ต่อมา ได้ชื่อว่าสนามกีฬาของจักรพรรดิ เนโร เพราะที่นี่เอง ในสมัยที่มีการเบียดเบียนพวกคริสตัง สาเหตุมาจากจักรพรรดิ เนโรเผากรุงโรม และป้ายความผิดให้กับพวกคริสตัง ได้มีการทรมานและฆ่าพวกคริสตังอย่างทารุณมากมาย และในสนามกีฬาแห่งนี้เองที่เป็นสถานที่ใช้ตรึงกางเขนนักบุญเปโตร เล่ากันว่า มีมรณสักขีที่สนามกีฬาแห่งนี้หลายร้อยคน แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ใช้ฝังศพของนักบุญเปโตร ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณที่ถูกตรึงกางเขนด้วย
 
2. หลุมฝังศพของนักบุญเปโตร
- สมัยเบียดเบียนโดยจักรพรรดิวาเลรีอาโน (Valeriano) ปี ค.ศ. 258 พวกคริสตังได้ย้ายศพของนักบุญเปโตรมาอยู่ที่กาตาคอมบ์เซบาสเตียน  และอีก 60 ปีต่อมาพระสันตะปาปา ซิลเวสโตร ที่ 1 (Silvestro I) ได้ย้ายศพมาอยู่ที่วาติกันอย่างเดิมมีเรื่องเล่าว่า ความศรัทธาต่อนักบุญเปโตรมีมากในสมัยนั้น จนถึงกับมีการแย่งชิงพระธาตุกันจากพระศาสนจักรตะวันออก รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในยุโรปสมัยนั้น เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ
 
- อย่างไรก็ดี ความเชื่อที่ว่าศพของนักบุญเปโตรถูกฝังที่นั่น ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา แต่การค้นหาหลุมศพของท่านนักบุญอย่างจริงจัง เริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ. 1939, 1950 และในปี ค.ศ. 1953 ก็ค้นพบหลุมศพนี้ ในปี ค.ศ. 1962 ได้มีการนำเอากระดูกออกมาเพื่อพิสูจน์ และมีการถกเถียงกันต่าง ๆ นานา ในที่สุด พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ให้การรับรองอย่างไม่เป็นทางการว่า พระธาตุเหล่านี้คือพระธาตุของนักบุญเปโตร
ปัจจุบัน ก็ยังคงมีการทำงานนี้ ศึกษา ค้นคว้ากันอยู่ต่อไป
 
3. มหาวิหารแรกเริ่ม
สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนติน ตามความปรารถนาของพระมารดา คือ พระนางเฮเลนา และของพระสันตะปาปา ซิลเวสโตร ที่ 1 ในปี ค.ศ. 326 และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 349 (23 ปี) โดยสร้างคลุมหลุมฝังศพของนักบุญเปโตร ดังนั้น จึงต้องรื้อสนามกีฬาของจักรพรรดิเนโรออกไป ด้านหน้าของมหาวิหารสร้างเป็นวังที่ประทับของพระสันตะปาปา
 
ปี ค.ศ. 848 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่วังของพระสันตะปาปานี้ แต่มหาวิหารรอดพ้นจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ ชาวโรมันเชื่อกันว่า นี่เป็นเพราะพระสันตะปาปา เลโอเน ที่ 4 ได้หยุดเพลิงไหม้ครั้งนี้ด้วยการทำเครื่องหมายกางเขน
 
4. การสร้างมหาวิหารในปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 1451 พระสันตะปาปา Niccolus V (ค.ศ. 1447-1455) ได้มอบหมายให้ Leon Battista Alberti สำรวจสภาพของมหาวิหาร พบว่า สภาพของตัวอาคารทรุดโทรมมากจนไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้ สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือ การสร้างมหาวิหารหลังใหม่ มิฉะนั้น มหาวิหารเก่านี้อาจจะล้มพังลงมาได้ พระสันตะปาปาจึงมอบให้ Bernardo Rossellino เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง พระองค์ต้องการให้สร้างมหาวิหารหลังใหม่โดยใช้โครงสร้างเดิม อย่างไรก็ดี พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ก่อน เรื่องนี้จึงหยุดพักไป
 
พระสันตะปาปา จูลีอุส ที่ 2 (ค.ศ. 1503-1513) เป็นพระสันตะปาปาที่รักงานก่อสร้างและงานศิลปะ พระองค์ได้รวบรวมนักศิลปะชื่อดังหลายท่าน มาร่วมทำงานกับพระองค์ เช่น ไมเคิลแองเจลโล ราฟาแอลโล และบรามันเต ได้มอบหมายให้บรามันเต วางแผนสร้างมหาวิหารนักบุญเปโตรหลังใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1506 และเตรียมหาเงินสำหรับการก่อสร้างด้วยการขายพระคุณการุณย์ ซึ่งต่อมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยพวกโปรเตสแตนท์ลูเธอรัน
 
การออกแบบมหาวิหารหลังใหม่นี้ กำหนดให้เป็น 4 ส่วน คล้ายกับรูปทรงของไม้กางเขน หมายถึง 4 มุมของโลก และโดม (Cupola) ที่อยู่ตรงกลางนั้น หมายถึง สวรรค์
 
บรามันเตเป็นผู้ออกแบบ Cupolo หรือโดมยักษ์ที่เราเห็นในปัจจุบัน ผู้รับงานต่อมาได้แก่ Antonio da Sangallo ปี ค.ศ. 1546 ไมเคิล แองเจลโล ได้รับมอบหมาย และรับงานอย่างไม่เต็มใจจากพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 3 (ค.ศ. 1534-1549) เขาทำงานชิ้นนี้โดยไม่รับเงินและรางวัลตอบแทน แต่ทำเพราะความนบนอบต่อพระสันตะปาปา และ "เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้า เพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญเปโตร และเพื่อความรอดของวิญญาณ" 
 
หลังจากไมเคิล แองเจลโล แล้ว งานนี้ถูกมอบต่อมาโดย Giacomo della Porta ในสมัยพระสันตะปาปา ซีสตุส ที่ 5 (ค.ศ. 1585-1590) งานสร้างโดมมหาวิหารนี้สำเร็จเรียบร้อยในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1590 (ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 84 ปี)
 
การเคลื่อนย้ายเสาหิน (Obelisco) จากด้านซ้ายของมหาวิหาร มาไว้ที่กลาง จตุรัส ทำโดย Domenico Fontana ในปี ค.ศ.1585 ตามดำริของพระสันตะปาปา ซิสโต ที่ 5 ใช้คนถึง 800 คน และม้า 140 ตัว โดยใช้กลองตีเป็นจังหวะเพื่อให้สัญญาณ ในระหว่างที่ทำการเคลื่อนย้านเสาหินนี้ ผู้ทำการเคลื่อนย้ายต้องมีสมาธิ ต้องไม่ถูกรบกวนโดยเสียงจากภายนอกเลย พระสันตะปาปาออกคำสั่งและคาดโทษถึงตาย หากผู้หนึ่งผู้ใดเข้ามารบกวนการเคลื่อนย้ายนี้ หรือก่อให้เกิดเสียงรบกวนก็ตาม
 
งานก่อสร้างตัวมหาวิหารก็เริ่มต่อไป ที่สุดในปี ค.ศ. 1614 Carlo Maderno ก็ทำการสร้างด้านหน้า (Facciata) ของมหาวิหารเสร็จ Gian Lorenzo Bernini ได้สร้างแขนของมหาวิหารด้วยเสาหิน ระหว่างปี ค.ศ. 1656-1667 แบรนินี เป็นผู้ สร้างแนวเสาหินที่เราเรียกกันว่า “อ้อมแขนของพระศาสนจักร” ในระหว่างปี 1656 ถึง 1667 ทำให้มหาวิหารเป็นดังมารดาของพระศาสนจักร และอ้าแขนต้อนรับทุกคนเข้ามาในพระศาสนจักรนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาคริสตชน พวกเฮเรติ๊ก (ผู้ยึดถือความเชื่อคาทอลิกแบบไม่ถูกต้อง) หรือผู้ที่ไม่มีความเชื่อเลย หรือมีความเชื่อต่างศาสนา เป็นแนว คิดที่แบรนินี เป็นผู้แสดงออกมาให้ทราบด้วยตนอง อันที่จริง แบร์นินีมีโครงการที่จะทำแนวเสาหิน แนวที่ 3 คือ เพื่อเป็นแนวปิด Piazza หรือลานหน้ามหาวิหารด้วย แต่แบร์นินีก็เสียชีวิตก่อนที่จะเริ่มต้น และโครงการนี้เป็นโครงการเดียวซึ่งยังไม่มีใครทำให้สำเร็จเลย
 
บริเวณกลางลานมหาวิหาร มีจุดให้ชมแนวเสาหินของทั้ง 2 ด้าน แนวเสาหินทั้ง 2 ด้านนี้ ประกอบไปด้วย แนวเสาหิน 4 ต้น แต่จากจุดชมแนวเสาหินนี้ จะเห็นเสาหินเพียงต้นเดียวเท่านั้น นับว่า ทั้งการออกแบบและการก่อสร้างจะต้องเป็นไปด้วยความถูกต้อง แม่นยำ และน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ความสมบูรณ์ของโครงสร้างมหาวิหารนี้มาเสร็จเอาจริง ๆ ในปี ค.ศ. 1784 โดย Carlo Marchionni เมื่อเขาสร้างห้องซาคริสเตีย (Sagrestia) เสร็จลง (รวมเวลา 278 ปี)
 
งานทั้งหมดนี้สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 46,800,488 scudi (มาตราเงินสมัยโบราณ) แต่พระศาสนจักรได้จ่ายสำหรับงานนี้คือการแยกตัวออกไปของโปรเตสตันท์ลูเธอรัน นับว่า เป็นการสูญเสียความเป็นสากล (Universality) Bernini สร้างและออกแบบวงแขนโดยใช้เสาหิน เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการเปิดแขนรับมนุษยชาติเข้ามาสู่ความรอด โดมนั้นเปรียบเหมือนกับศีรษะ (แต่ดูเหมือนว่าโครงสร้างนี้ก่อให้เกิดผลตรงข้ามแล้ว) เรื่องการแยกตัวของพวกโปรเตสตันท์นี้เป็นเรื่องยาวและซับซ้อนมาก ผู้ที่สนใจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม
 
มหาวิหารได้รับการเสกโดยพระสันตะปาปา อูร์บัน ที่ 8 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1626 นับตั้งแต่การวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี 1506 จนถึงได้รับการเสกในปี 1626 รวมเวลาการก่อสร้างทั้งสิ้น 120 ปี เฉพาะการสร้างโดม (Cupola) ใช้เวลาทั้งสิ้น 84 ปี หากนับตั้งแต่การวางศิลาฤกษ์จนถึงการสร้างอ้อมแขนเสาหินเสร็จ ใช้เวลาทั้งสิ้น 161 ปี และหากนับการสร้างทั้งสิ้นจบสิ้นลงโดยสมบูรณ์ในปี 1784 แล้ว มหาวิหารนี้ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 278 ปี มหาวิหารนี้บรรจุคนได้ 20,000 คน มีความยาว 190 เมตร กว้าง 58 เมตร ความสูงจนถึงกางเขนยอดโดม รวม 136 เมตร
 
5. สถานที่สำคัญๆ ในมหาวิหาร
- ศิลปะที่อยู่เหนือแท่นพระจิตนั้นมีชื่อว่า Gloria ผลงานของ Bernini เป็นแท่นที่อยู่ด้านลึกสุดของมหาวิหาร เป็นที่ตั้งบัลลังก์ของนักบุญเปโตรที่เรียกว่า Cattedra di S. Pietro แต่ผลการศึกษาในปี ค.ศ. 1969 บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ที่จักรพรรดิ Carlo il Calvo มอบให้แก่พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 8 ในโอกาสที่พระสันตะ ปาปาทรงอภิเษกพระองค์เป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 875 ปะรำที่อยู่เหนือพระแท่นกลาง และ Confessio สร้างโดย Bernini ทำด้วยทองบรอนซ์ทั้งหมด
 
- Confessio เป็นสถานที่แสดงเหตุการณ์พิเศษ หรือบุคคล หรือวัตถุ ที่มีความ หมายพิเศษ อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิหารเอง ในที่นี้ หมายถึงเป็นที่ฝังศพของนักบุญเปโตร พระสันตะปาปาองค์แรกของพระศาสนจักรคาทอลิก ในการสร้างปะรำที่อยู่เหนือพระแท่นกลางนี้ ต้องใช้ทองบรอนซ์จำนวนมาก พระสันตะปาปาจึงได้สั่งให้วัดต่าง ๆ ในกรุงโรม ยอมสละทองบรอนซ์ในวัดของตน เพื่อนำมาใช้ในการสร้างครั้งนี้ เรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสมัยนั้นด้วย หากเราไปเยี่ยมโบสถ์ต่าง ๆ ในกรุงโรม บางแห่งจะลงประวัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ด้วยว่า ในรูปนักบุญบางรูป แท่นบางแท่น เคยมีทองบรอนซ์ แต่ถูกนำไปสร้างแท่นทองบรอนซ์ในมหาวิหารนักบุญเปโตร
 
- ผลงานของ ไมเคิล แองเจลโล (ค.ศ. 1475-1564) มีดังต่อไปนี้ :
 
1. Pietà เป็นรูปที่แกะสลักจากหินอ่อนทั้งแท่ง ใช้เวลาในการทำถึง 7 ปี ใบหน้าของแม่พระ เป็นใบหน้าของหญิงสาวชาวตะวันออก เป็นใบหน้าที่อ่อนวัยกว่าใบ หน้าของพระเยซูเจ้า เพื่อแสดงว่า แม่พระได้รับรู้ชะตากรรมของพระนางล่วง หน้า และรำพึงอยู่นานแล้ว เป็นรูปแกะสลักที่มีชื่อเสียง มีความกลมกลืน และให้ความรู้สึกที่ดีมาก
 
เป็นรูปพระแม่มารีอารับพระศพของพระเยซูเจ้าลงจากกางเขน ความทุกข์ของแม่คนหนึ่งที่มีลูกชายของตนนอนตายอยู่ที่ตักของตน เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ สึกที่บรรดาคริสตชนมีต่อพระแม่มารีอา จนเรียกพระนางว่า “แม่พระมหาทุกข์” (Mother of Sorows) รูปแม่พระมหาทุกข์นี้ของไมเคิ้ล แอนเจโล เป็นรูปแม่พระมหาทุกข์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ไมเคิ้ล แอนเจโล สลักรูปนี้เสร็จเมื่อมีอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1499 และเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวของท่านที่ได้สลักชื่อของท่านไว้ด้วย โดยมีเหตุผลอยู่ 2 ประการ ได้แก่ :
1) เพราะท่านพอใจในผลงานชิ้นนี้มาก
2) เพราะมีศิลปินบางคนในยุคของท่านไปแอบอ้างว่าเป็นผู้สลัก และประชา ชนไม่เชื่อว่า ศิลปินหนุ่มอายุ 24 ปีจะสามารถแกะสลักรูปจากหินแท่งเดียวได้สวยงามถึงขนาดนี้
 
ชื่อของท่านถูกสลักไว้ที่แถบผ้าที่พาดอยู่บริเวณอกของแม่พระ โดยสลักเป็นภาษาลาตินไว้ว่า “ไมเกิ้ล บัวนารอตติ ชาวฟลอเรนซ์ เป็นผู้ทำ” ต่อมา ท่านก็รู้สึกเสียใจที่ได้สลักชื่อไว้
 
เอกลักษณ์ประการหนึ่งของรูปนี้ ก็คือ ใบหน้าของแม่พระและพระเยซูเจ้าจะเป็นวัยใกล้เคียงกัน หรือวัยเดียวกัน เรื่องนี้ ไมเคิล แองเจลโล อธิบายไว้ว่า เพื่อให้ความหมายว่า พระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ และพระนางมารีอาเป็นราชินีแห่งสากลจักรวาล อีกทั้งความสาวของพระนางมารีอายังเป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์ของพระนางอีกด้วย
 
ในปี ค.ศ. 1972 ชายคนหนึ่งชื่อ Laszlo Toth ได้ใช้ฆ้อนอันหนึ่ง เข้าไปทุบบริเวณนิ้วมือของพระนางมารีอาจนเสียหาย ต่อมา ชายคนนี้ได้ถูกจับ แต่ก็พบ ว่าเป็นคนเสียสติคนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มหาวิหารนักบุญเปโตรจึงได้สร้างห้องกระจก และไม่ยอมให้ใครเข้าไปถึงรูปสลักนี้อีกเลย นอกจากแขกพิเศษของมหาวิหารเท่านั้น
 
2. แท่นที่มุมมหาวิหาร คือ 4 ด้านของแท่นกลาง
 
3. โดมทั้งหมด
 
4. ช่องทางเดินด้านข้างทั้ง 2 ด้าน
- สถานที่ฝังพระศพของพระสันตะปาปา มีพระศพของพระสันตะปาปาในสถานที่แห่งนี้ประมาณ 130 องค์ ที่ฝังพระศพของพระสันตะปาปาที่มีชื่อเสียง และมีผู้นิยมมาเยี่ยมชมและสวดภาวนามากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่ หลุมศพของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 และหลุมศพของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เพราะทั้ง 2 พระองค์นี้ บรรดาคริสตชนให้ความเคารพยกย่องอย่างสูง และวันข้างหน้า อาจจะได้เป็นนักบุญด้วย
 
- รูปนักบุญเปโตรนั่งบัลลังก์ (ธรรมาสน์นักบุญเปโตร) ทำด้วยทองบรอนซ์ทั้งหมด เป็นผลงานในศตวรรษที่ 5 แต่นักศึกษาคนหนึ่งชื่อ Wickhoff ได้ยืนยันว่าเป็นผลงานในศตวรรษที่ 13 ความจริงหากพิจารณาเปรียบเทียบกับศิลปะในสมัยจักรวรรดิโรมัน งานชิ้นนี้ต้องเป็นผลงานในสมัยศตวรรษที่ 5 เป็นรูปที่ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้แก่พระสันตะปาปา การยอมรับอำนาจนี้ถูกแสดงออกโดยการจูบเท้าของท่านนักบุญเปโตรนี้ รูปนี้ถูกรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน และยังมีอีกหลายมหาวิหารที่ได้สร้างเลียนแบบรูปนี้ ไปตั้งแสดงความจงรักภักดีต่อพระสันตะปาปาด้วย
 
นอกจากนี้ ในมหาวิหารยังมีผลงานของนักศิลปะต่าง ๆ มากมาย เฉพาะผู้ที่สนใจศิลปะเท่านั้นจะค้นพบถึงความสามารถและความละเอียดอ่อนของศิลปะเหล่านั้น
 
สิ่งที่น่าชมเป็นบุญตา และความชื่นใจของนักท่องเที่ยวไทย ถ้าหากมีโอกาสและมีกำลัง ก็คือ แผ่นศิลาจารึกการเสด็จเยี่ยมมหาวิหารของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี ค.ศ. 1897 ซึ่งติดตั้งไว้บนกำแพงของทางบันไดขึ้นไปยังโดมข้างบน (Cupola) เขียนเป็นภาษาอิตาเลียน ลองสังเกตดู คำว่า Siam ก็ได้ แต่การขึ้นบันไดจนถึงยอดโดมเพื่อดูทิวทัศน์กรุงโรมนั้นก็เหนื่อยเอาการอยู่นะครับ
 
ปัจจุบัน การเข้าชมมหาวิหารจะต้องผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเยี่ยมชมก็แบ่งช่องการเดินไว้อย่างชัดเจน คือ ช่อง ทางสำหรับเยี่ยมชมมหาวิหาร ช่องทางเดินสำหรับเยี่ยมชมสุสาน ซึ่งอยู่ใต้ดินของมหาวิหาร สุสานนี้เป็นที่ฝังพระศพของพระสันตะปาปา ราชินี พระคาร์ดินัลผู้มีชื่อเสียง และช่องทางเดินเพื่อไปขึ้นชมโดม เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นเพียงมหาวิหารแห่งเดียว แต่รวมการเดินชมทั้งหมดแล้ว ก็คงต้องเหนื่อยกันหน่อย
 
3.  มหาวิหารแม่พระ (Sancta Maria Maggiore)
มหาวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนิน Esquiline ก่อสร้างโดยพระสันตะปาปา ลิแบรีโอ (Liberio) ในปี ค.ศ. 352 พระสันตะปาปาองค์นี้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 352-366 ในฐานะที่พระสันตะปาปาเป็นผู้สร้าง มหาวิหารแห่งนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Basilica Liberiana ในปี ค.ศ. 366 หลังจากที่พระสันตะปาปา ลิแบรีโอ สิ้นพระชนม์ ปรากฏว่ามีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาขึ้นมา 2 องค์ คือ พระสันตะปาปา ดามาซุส (Damasus) และพระสันตะปาปา อูร์ซีนุส (Antipope Ursinus) ความจริงในสมัยของพระสันตะปาปา ลิแบริโอ ก็มีพระสันตะปาปา 2 องค์เช่นกัน คือมี พระสันตะปาปา เฟลิกซ์ (Antipope Felix II ค.ศ. 355-365) และเพราะเหตุนี้เอง เมื่อพระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ ผู้ที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายต่างก็เลือกพระสันตะปาปาของตนขึ้นมา ฝ่ายพระสันตะ ปาปา ลิแบรีโอ ได้เลือกอูร์ซีนุส (ค.ศ. 366-367) ฝ่ายพระสันตะปาปา เฟริก ได้เลือกดามาซุส แต่เนื่องจากอูร์ซีนุสทำการอภิเษกตนเองเป็นพระสังฆราชก่อนกำหนด การอภิเษกนี้จึงเป็นไม่ถูกต้อง (illegal) ประชาชนต้องการให้อูร์ซีนุสออกจากกรุงโรมไป และให้ดามาซุสเป็นพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว พระสันตะปาปา อูร์ซีนุส ได้เข้ายึดครองมหาวิหารแห่งนี้ไว้ ฝ่ายพระสันตะปาปา ดามาซุส ได้วางแผนโจมตีมหาวิหาร โดยลงมาจากหลังคามหาวิหาร และได้เกิดการสังหารหมู่ในที่นี้ ฝ่ายพระสันตะปาปา อูร์ซีนุส เสียชีวิตไป 137 คน จักรพรรดิวาเลนตีเนียน (ค.ศ. 364-375) อนุญาตให้พระสันตะปาปา อูร์ซีนุส กลับมาที่กรุงโรมได้ และพวกนี้จึงเข้ามาตั้งหลักที่มหาวิหาร โดยถือเป็นที่ประทับ (Sede) ของพระสันตะปาปาองค์นี้ในปี ค.ศ. 367 แต่ในปีเดียวกันนี้เอง พวกเขาก็ถูกเนรเทศอีก เพราะเป็นตัวการยึดครองบัลลังก์ของพระสันตะปาปา ดามาซุส มหาวิหารแห่งนี้บางครั้งถูกเรียกชื่อว่ามหาวิหารอูร์ซีนีอานาด้วย
 
โครงสร้างของมหาวิหารปัจจุบันนี้ มาจากการสร้างขึ้นใหม่ของพระสันตะปาปา ซีกตุส ที่ 3 (ค.ศ. 432-440) และยกถวายให้แด่แม่พระ ในฐานะที่เป็นมารดาของพระเจ้า หลังจากสังคายนาที่ Efeso ปี ค.ศ. 431 ที่ยืนยันข้อความเชื่อนี้ต่อต้านพวกเนสตอเรียนที่สอนว่าพระนางมารีอาเป็นมารดาของพระเยซู ไม่ใช่เป็นมารดาของพระเจ้า และนับ ตั้งแต่ในปีนั้นเป็นต้นมา มหาวิหารได้รับการซ่อมแซม ตกแต่งให้สวยงามขึ้นมาหลายสมัย มุขที่ยื่นออกไปด้านหลังพระแท่นกลางนั้นได้รับการตกแต่งโดยพระสันตะปาปา Niccolo IV (ค.ศ. 1288-1292) ส่วนด้านหน้าของมหาวิหารได้รับการซ่อมแซมตกแต่งโดยพระสันตะ ปาปา เคลเมนต์ ที่ 10 (ค.ศ. 1670-1676)
 
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1400 เป็นต้นมา มหาวิหารแห่งนี้ได้รับสิทธิ์ให้เป็นหนึ่งในสี่ของมหาวิหารที่จำเป็น เพื่อรับพระคุณการุณย์ในปีศักดิ์สิทธิ์
 
ตามประเพณีนิยมในสมัยกลาง (ศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 14) ได้มีตำนานเล่าว่า แม่พระต้องการให้สร้างวัดถวายแด่พระนางบนเนินแห่งนี้ โดยให้เครื่องหมายคือรอยเท้าของพระนางบนหิมะที่ตกมาในฤดูร้อนบนเนินแห่งนี้ ตำนานเรื่องนี้ทำให้เกิดมีวันฉลอง The Feast of Our Lady of Snows (แม่พระแห่งภูเขาหิมะ) ทุกวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี และยังถือเป็นวันฉลองมหาวิหารแห่งนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
มหาวิหารแห่งนี้ แม้ว่าจะเป็นมหาวิหารที่เล็กกว่ามหาวิหารอีก 3 แห่งก็ตาม แต่ก็เป็นวัดที่ยกถวายแด่แม่พระที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม ในกรุงโรมมีวัดที่ถวายแด่แม่พระอยู่ทั้งหมด 80 วัดด้วยกัน
 
สมบัติที่ล้ำค่าของมหาวิหารแห่งนี้ มีอยู่ 2 ชิ้นคือ :
1. ส่วนหนึ่งของรางหญ้าที่พระกุมารประทับ ภายหลังที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้
2. รูปวาดแม่พระ ที่เชื่อกันว่าเป็นของนักบุญลูกา
 
รางหญ้าพระกุมาร
รางหญ้าพระกุมารนี้ถูกนำมาจากเบธเลเฮมในปี ค.ศ. 642 ในสมัยพระสันตะปาปา เทโอโดโร ที่ 1 (Teodoro I) มหาวิหารนี้จึงถูกเรียกว่า Ad praesepe และรางหญ้านี้ได้รับการประดับประดาอย่างสวยงาม นับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดมีธรรมเนียมที่กำหนดว่า พระสันตะปาปาจะมาถวายมิสซาเที่ยงคืนในโอกาสพระคริสตสมภพที่มหาวิหารนี้ แต่ในปัจจุบันธรรมเนียมนี้ได้ถูกยกเลิกไป ตามธรรมเนียมนี้ มิสซาพระคริสตสมภพมี 3 มิสซาคือ :
 
1. มิสซาเที่ยงคืน จะทำที่มหาวิหารแม่พระ
2. มิสซารุ่งอรุณ จะทำที่มหาวิหารนักบุญอานาสตาซีโอ (Basilica di S. Anastasio)
3. มิสซาเช้า จะทำที่มหาวิหารนักบุญเปโตร หรือมหาวิหารแม่พระ
 
ปัจจุบัน มิสซาทั้งหมดได้ทำที่มหาวิหารนักบุญเปโตร
 
รูปวาดแม่พระ
เชื่อกันว่าวาดโดยนักบุญลูกาผู้เป็นทั้งแพทย์และนักวาดภาพ พระสันตะปาปา ซีส โต ที่ 3 ได้นำรูปนี้มาทำพิธีแห่ที่กรุงเยรูซาแลมในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 590 พระสันตะปาปา เกรโกรี (Pope Gregory, the Great) ได้ทรงจัดให้มีการแห่รูปนี้จากมหาวิหารแม่พระมาที่มหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อป้องกันโรคระบาด (กาฬโรค) ที่กำลังคุกคามกรุงโรมอยู่ในเวลานั้น รูปนี้เป็นศิลปะไบแซนทีน และศิลปะนี้มีอยู่จนถึงศตวรรษที่ 12 ซึ่งเชื่อกันว่านักบุญลูกาเป็นผู้วาด และเป็นรูปเดียวกับที่พระสันตะปาปา เกรโกรี ทรงใช้ ต่อ มา วันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1835 พระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 16 ได้ทรงใช้รูปนี้อีกครั้งหนึ่งในการแห่จากมหาวิหารแม่พระมาจนถึงมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อป้องกันอหิวาต์ตกโรคที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานั้น
 
4.  มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงกรุงโรม (St. Paul's outside the walls)
ตามหนังสือ Liber Pontificalis ปี ค.ศ. 251-253 สตรีใจศรัทธาชาวโรมันผู้หนึ่งชื่อลูซีนา (Lucina) ได้ย้ายศพของนักบุญเปาโล (รวมทั้งของนักบุญเปโตรด้วย) จากกาตาคอมบ์ (Catacomba) และได้นำศพของนักบุญเปาโลมาตั้งไว้ในที่ดินของตน ที่ถนน Ostian Way (Via Ostiense) แต่ศพของเธอถูกฝังที่ Appian Way ใน Crypt of Lucina
 
จักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างอาคารหลังแรกเหนือพระธาตุของนักบุญเปาโลในปีค.ศ. 324 และจักรพรรดิโฮโนรีอุส (Honorius) ได้สร้างให้เป็นมหาวิหารใหญ่โตสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 395 ได้รับการประดับประดาด้วย เงิน ทอง และเพชรพลอยมากมาย ให้เป็นเกียรติแด่ท่านนักบุญเปาโล
 
พวกแขกซาราเซ็น (Saracen) พยายามบุกเข้ามาปล้นมหาวิหารแห่งนี้ในหลายศตวรรษ จนในที่สุด พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 8 (ค.ศ. 872-882) ได้มีพระประสงค์ที่จะสร้างกำแพงล้อมรอบมหาวิหารแห่งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน สาเหตุนี้เอง มหาวิหารแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า St. Paul's outside the walls เพราะกำแพงที่สร้างขึ้นได้ทำให้มหาวิหารแห่งนี้อยู่นอกกรุงวาติกันไป อันเนื่องมาจากการบุกปล้นและการทำลายของพวกแขกซาราเซ็นหลายครั้ง ทำให้ต้องทำการซ่อมแซมหลายครั้ง ในการซ่อมแซมแต่ละครั้งได้มีการนำเอาศิลปะที่ล้ำค่าต่าง ๆ มากมายเข้ามาด้วย เช่น โคมระย้าสำหรับเทียนปาสกา (ฐานตั้งเทียนปาสกา) ของศตวรรษที่ 12 ศิลปะโมซาอิค ผลงานของ Cavallini และ Ciborio ที่มีชื่อเสียงในปี ค.ศ. 1285 ออกแบบโดย Arnolfo di Cambio
 
มหาวิหารแห่งนี้ นับตั้งแต่ปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1300 (สมัยพระสันตะปาปา บอนิฟาส ที่ 8) ได้รับเกียรติเทียบเท่ากับมหาวิหารนักบุญเปโตร พวกจาริกแสวงบุญที่ต้อง การรับพระคุณการุณย์ จะต้องมาเยี่ยมมหาวิหารและสวดภาวนา
 
ทางเข้าไปสู่ห้องซาคริสเตีย มีห้องเก็บพระธาตุที่มีชื่อเสียงมาก เช่น พระคัมภีร์โบราณที่เขียนด้วยลายมือของนักบุญเยโรม (ค.ศ. 342-420) นอกจากนี้ ยังมีห้องเก็บพระธาตุของนักบุญสเตฟาโน (St. Stefano) และนักบุญอันนา (St. Anna) ด้วย ในห้องเก็บพระธาตุยังมีกางเขนเล็ก ๆ ที่มาจากกางเขนแท้ของพระเยซูเจ้า ฝุ่นกระดูกของบรรดาอัครสาวก โซ่เหล็กที่ใช้ล่ามนักบุญเปาโล (St. Paolo) ส่วนหนึ่งของไม้เท้าของนักบุญเปาโล และพระธาตุของนักบุญองค์อื่นๆ ด้วย
 
นอกจากนี้ มหาวิหารนี้ยังได้รับการซ่อมแซมอีกหลายครั้งในสมัยของพระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 และพระสันตะปาปา เบเนดิกโต ที่ 13 พระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 ทรงซ่อม แซมเพดานของมหาวิหารใหม่ ส่วนพระสันตะปาปา เบเนดิกโต ที่ 13 ทรงซ่อมแซมเสาหินทั้งสองด้านภายในมหาวิหาร
 
วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1823 ได้เกิดเพลิงไหม้นานถึง 5 ชั่วโมง เพลิงได้เผาผลาญทำลายมหาวิหารเกือบหมด เหลือเพียงอาคารครึ่งหนึ่ง ประตูชัย และโมซาอิคเท่านั้นที่เป็นของเก่าดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า มุขที่ยื่นออกไปหลังแท่นนั้น ที่ตั้งเทียนปาสกา Ciborio และ Chiostro (อาราม) ที่หลงเหลือจนทุกวันนี้
 
พระสันตะปาปา ลโอเน ที่ 12 ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากกษัตริย์แห่ง Sadegna ผู้ปกครองประเทศ Paesi Bassi ฝรั่งเศส Sicily และ Zar แห่งรัสเซีย การสร้างนี้ได้ใช้โครงสร้างที่ใกล้เคียงกับโครงสร้างเดิมมากที่สุด
 
มหาวิหารนักบุญเปาโลได้รับการเสกอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1854 นั่นคือสองวันหลังจากการประกาศข้อความเชื่อ Immaculate Conception ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854 โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9
 
ปัจจุบัน มหาวิหารแห่งนี้ได้รับการดูแลโดยนักบวชคณะเบเนดิกติน มหาวิหารแห่งนี้มีความกว้างใหญ่ถึง 132×65 เมตร สองข้างระหว่างเสาหินภายในมหาวิหารนี้ มีรูปโมซาอิคของพระสันตะปาปาต่าง ๆ จนถึงองค์ปัจจุบัน เล่าขานกันสืบต่อมาว่า เมื่อใดก็ตาม เมื่อรูปโมซาอิคของพระสันตะปาปาต่าง ๆ ในมหาวิหารนี้เต็มจนไม่สามารถมีรูปโมซาอิคได้อีก เมื่อนั้นจะเป็นวันสิ้นโลก โดยที่เข้าไปชมมหาวิหารนี้ ก็มักจะชอบไปนั่งดูว่ายังเหลืออีกกี่ช่อง และจะเหลืออีกกี่ปี ผมไปนับมาครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2007 นับได้ 13 ช่อง ก็ยังไม่รู้ว่าจะเหลืออีกกี่ปี
 
บนกำแพงใหญ่ข้างพระท่านกลาง จะมีรูปวาดของศิลปินผู้หนึ่ง เป็นรูปโลงศพของพระนางมารีอา โดยมีบรรดาอัครสาวกของพระเยซูเจ้าอยู่ข้างๆ โลงศพนี้ เป็นเครื่อง หมายว่า พระนางมารีอาได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หากเราอยู่ด้านริมสุดของรูป โลงศพก็หันมาทางเรา และหากเราเดินไปอีกด้านหนึ่งของรูป โลงศพก็จะหันตามเราไปเสมอ เพื่อเตือนใจเราว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราล้วนต้องตาย” หากไปเยี่ยมมหาวิหารนักบุญเปาโล ก็อย่าลืมไปชมภาพนี้เป็นขวัญตา
 
พระสันตะปาปา เบเนดิ๊กต์ ที่ 16 ได้ประกาศเพื่อเฉลิมฉลอง 2,000 ปีของนักบุญเปาโล จึงประกาศให้ปีนักบุญเปาโลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2008 จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2009 ดังนั้น ตลอดปีนักบุญเปาโล จะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดทั้งปีที่มหาวิหารนักบุญเปาโล
 
สำหรับสถานที่ที่ท่านนักบุญเปาโลถูกตัดศีรษะนั้น อยู่ห่างออกไปจากมหาวิหาร เรียกบริเวณนั้นว่า “Tre Fontane” อันเป็นชื่อที่มาจากการตัดศีรษะของท่านนักบุญเปาโล ศีรษะของท่านได้ตกลงมาบนทางเนิน และก่อให้เกิดน้ำพุขึ้น 3 แห่ง จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “Tre Fontane” นอกจากนี้ ตรงข้ามกับสถานที่นี้ ยังเป็นบริเวณสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีวัดน้อย ตั้งเป็นพยานถึงการประจักษ์มาของพระแม่มารีอา โดยประจักษ์ให้แก่ชายคนหนึ่ง ชื่อ บรูโน เป็นที่รู้จักกันในนามของแม่พระแห่งการเปิดเผย (Mother of Revelation) วันที่ 12 เมษายนของทุกปีเป็นวันฉลองของแม่พระแห่งการเปิดเผยนี้ มีผู้ที่เชื่อและเห็นด้วยว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ จะมีปรากฏการณ์พระอาทิตย์หมุนในระหว่างมิสซาฉลองด้วย ใครบังเอิญมาช่วงวันนี้ ก็ลองมาดูด้วยตาตนเองก็ได้
 
5.  มหาวิหารนักบุญยวง ลาเตรัน (Basilica St. John Lateran)
เมื่อพูดถึงมหาวิหารแห่งนี้ จำเป็นต้องพูดถึง Palazzo ที่ถูกเรียกชื่อว่า Domus Faustae ควบคู่กันไป Fausta นามสกุล Laterani ลูกสาวของ Massenzio และเป็นภรรยาคนที่สองของคอนสแตนติโน Fausta ได้มอบปราสาทนี้ให้เป็นที่จัดสังคายนาเพื่อตัดสิน Donatism และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 313 พระสันตะปาปาก็เริ่มมาพักที่นี่ โดยถือเป็นที่อยู่ถาวรของพระสันตะปาปาและคูเรียด้วย จึงต้องนับว่าเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาถาวร และสืบมาจนหมดสมัยกลาง (Medioeval) แต่จะให้ถูกก็คือจนถึงปี ค.ศ. 1309 เมื่อพระสันตะปาปาย้ายไปพำนักที่อาวียอง
 
ส่วนสถานที่ปัจจุบัน เป็นบ้านเณรใหญ่และมหาวิทยาลัย Lateranense เป็นส่วนหนึ่งที่จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ยกถวายแด่พระสันตะปาปา และจักรพรรดิองค์นี้เองได้เริ่มต้นสร้างมหาวิหารแห่งนี้ขึ้นมาโดยตั้งชื่อว่า S. Salvatore เพื่อให้ยึดถือเป็นเหมือน “หัวหน้า และสุดยอด (vertice) ของวัดทั้งหลายในโลกจักรวาลนี้” อาจกล่าวได้ว่าให้เป็นวัดเอก (Primato) เหนือวัดทั้งหลายในกรุงโรม ให้ถือเป็นมารดาของพระศาสนจักร (Mater Ecclesiae) ของพระศาสนจักรโรมัน สำหรับพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก มหาวิหารนี้ถูกทำลายลงเพราะแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 896 พระสันตะปาปา Sergius III (ค.ศ. 904-911) ได้สร้างขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนชื่อจาก S. Salvatore มามอบให้แก่นักบุญยอห์น บัปติสต์ (St. John Baptist) และนักบุญยอห์นอัครสาวก (John the Apostle) เวลาเดียวกัน ก็ได้สร้างตึกบริหารงาน อารามนักบวช โรงพยาบาล และที่พักสำหรับพวกแสวงบุญ ขึ้นมาด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1192 มีหลักฐานแน่ชัดว่า ที่นี่เป็นสถานที่เลือกตั้งพระสันตะปาปา และดังนี้เอง กลางศตวรรษที่ 12 จึงมีตัวอักษรตัวใหญ่เขียนอยู่เหนือทางเดิน 2 ข้างในวัดว่า “โดยผ่านทางคำสอน Dogma ของพระสันตะปาปาและของจักรพรรดิ ถูกกำหนดว่า ข้าพเจ้าเป็นมารดาและหัวหน้าของวัดทั้งหลาย”
 
ปี ค.ศ. 1308 มหาวิหารถูกไฟเผาเกือบหมด (ช่วงสมัยที่พระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 5 ย้ายจากกรุงโรมไปประทับที่อาวียอง) หลังจากซ่อมแซมแบบขอไปทีได้ไม่นาน ก็ถูกไฟไหม้อีก ในปี ค.ศ. 1361 มหาวิหารถูกซ่อมแซม แต่ตัวพระราชวัง (Palazzo) ไม่สามารถใช้การได้อีกเพื่อเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา เพราะช่วงนี้กำลังมีข่าวว่าพระสันตะปาปาจากอาวียองจะกลับมาที่กรุงโรม วาติกัน และมหาวิหารนักบุญเปโตร ในฐานะที่มีเกียรติของนักบุญเปโตร จึงได้รับเกียรติเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา จึงมีการถกเถียงกันว่าที่ใดสำคัญกว่ากัน ระหว่างลาเตรันและเซนต์ปีเตอร์
 
พระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 11 จากอาวียอง ได้ออกกฤษฎีกา (Bull) และประกาศอย่างเป็นทางการว่า Laterano ยังคงเป็นสำนักเอก (Principal see) และเป็นที่หนึ่งเหนือวัดทุกแห่งของกรุงโรมและของจักรวาล และเป็นที่หนึ่งเหนือมหาวิหารทั้งหลาย รวม ทั้งเหนือเซนต์ปีเตอร์ด้วย พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1569 ได้ออก Bull ยืน ยันเช่นเดียวกับพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 11 เพราะสมัยในของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 5 นี้ ก็เริ่มมีการถกเถียงกันอีก ต่อมา ในสมัยพระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 (Sisto V) ได้ทำการสร้างใหม่ทั้งหมด เพราะโครงสร้างเก่านั้นใช้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ที่เป็นของเก่าแท้ ๆ ที่เราพอจะเห็นได้ก็คือ Private Chapel ของพระสันตะปาปาที่เรียกชื่อว่า Sancta Sanctorum ที่บรรจุพระธาตุนักบุญต่าง ๆ มากมาย และบันได 28 ขั้นที่เรียกว่า Scala Santa ทั้งหมดนี้คือ Sancta Sanctorum และ Scala Santa ถูกย้ายมาอยู่ที่ตึกเล็ก ๆ ที่สร้างและออกแบบโดย Domenico Fontana สถาปนิกและนักศิลปะที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ในการออกแบบนี้ได้มีแบบที่จะสร้างพระราชวังใหม่ขึ้นมาระหว่างปี ค.ศ. 1585-1589 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อนของพระสันตะปาปา แต่พระสันตะปาปาไม่ได้ประทับที่นี่ เพราะเปลี่ยนมาเป็น Quirinale
 
มาถึงตรงนี้ก็น่าจะพูดถึง “บันไดศักดิ์สิทธิ์” (Scala Santa) สักเล็กน้อย
 
บันไดศักดิ์สิทธิ์นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Scala Pilati หรือบันไดของ Pilato เป็นบันไดที่ทำด้วยหินอ่อน มีทั้งหมด 28 ขั้น ปัจจุบันถูกคลุมด้วยไม้ ตามความนิยมดั้งเดิม (Tradition) ได้บอกและยืนยันว่า พระเยซูเจ้าหลังจากได้ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว ได้เดินลงมาทางบันไดนี้ และนักบุญเฮเลนา (ค.ศ. 255-330) พระมารดาของจักรพรรดิคอน สแตนติน (ปี ค.ศ. 326 จาริกแสวงบุญไปที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้ค้นพบไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูเจ้าด้วย) ได้เป็นผู้นำบันไดนี้มาที่กรุงโรม ดังนั้น สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ ผู้จาริกแสวงบุญจะเดินขึ้นไปบนบันไดนี้โดยใช้เข่าเดินขึ้นไป และบนยอดของบันไดนี้เป็นที่ตั้งของ Sancta Sanctorum ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1278 ดังที่กล่าวมาแล้ว
 
มหาวิหารปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมตั้งแต่สมัยพระสันตะปาปา อูร์บัน ที่ 5 ปี ค.ศ. 1362-1370 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1737 โดยใช้สถาปนิกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายคนด้วยกันเป็นผู้ออกแบบ เช่น D. Fontana (ค.ศ. 1543-1604) F. Borromini (ค.ศ. 1599-1667) และ Alessandro Galilei (ค.ศ. 1691-1737)
 
ปัจจุบัน ยังต้องถือว่าวัดนี้เป็น Omnium urbis et orbis ecclesiarum mater et caput ดังนั้น หลังจากที่พระสันตะปาปาถูกเลือกตั้งขึ้นมา จำเป็นจะต้องมาทำพิธีรับเป็นเจ้าของมหาวิหารในฐานะที่เป็น Sede ของตน (เรียกเป็นภาษาอิตาเลียนว่า presa di possesso)
 
พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 วางแผนที่จะให้มหาวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่ทำงานของสังฆมณฑลโรม แต่ต้องทำการบูรณะเสียใหม่
 
พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารแห่งนี้ โดยมีพระประสงค์จะใช้เป็น Vicariate of Rome หมายถึงศูนย์กลางการบริหารงานสังฆมณฑลโรม
 
พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ทำตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปาทั้งสององค์ที่กล่าวมาแล้ว โดยจัดให้มหาวิหารแห่งนี้เป็น Vicariats of Rome ตามเกียรติที่มหาวิหารแห่งนี้ควรจะได้รับ เรื่องน่ารู้อีกประการหนึ่งก็คือ ตำแหน่งของพระสันตะปาปา ที่จริงแล้วก็คือ สังฆราชแห่งสังฆมณฑลโรม ใครก็ตามที่มีตำแหน่งพระสันตะปาปาก็เป็นสังฆราชแห่งโรมนั่นเอง
 
มหาวิหารลาเตรัน (Laterano) ตามธรรมเนียมเก่า พระสันตะปาปาจะต้องล้างเท้าอัครสาวก 12 องค์ ในพิธีวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1834 เป็นต้นมา พระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 16 ได้ย้ายมาทำพิธีดังกล่าวที่มหาวิหารนักบุญเปโตร แต่ตามธรรมเนียมเก่านั้น พระสันตะปาปาจะล้างเท้าอัครสาวก 12 องค์ ณ มหาวิหารแห่งนี้
 
รูปนักบุญเปโตร ปกติจะต้องมีกุญแจอันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอำนาจหน้าที่ (Autorità) แต่หลาย ๆ รูปก็แตกต่างกัน บางรูปนักบุญเปโตรถือกุญแจดอกเดียว บางรูปถือ 2 ดอก และบางรูปถือ 3 ดอกก็มี
 
กุญแจ 1 ดอก หมายถึงพระศาสนจักรที่เป็น una, santa, catholica e apostolica ซึ่งหมายถึงพระศาสนจักรที่เป็นหนึ่งเดียว มีฝูงแกะฝูงเดียว และนายชุมพาบาลเพียงผู้เดียว
 
กุญแจ 2 ดอก ดอกหนึ่งจะเป็นสีทอง และอีกดอกหนึ่งจะเป็นสีเงิน
 
ดอกสีทอง หมายถึงอำนาจด้านวิญญาณที่จะผูกหรือแก้ ที่จะเปิดหรือปิดประตูสวรรค์ นอกจากนี้ ยังหมายความถึง Potenza หรือการมีอำนาจ บางคนให้ความหมายว่า หมายถึงความสามารถ (Potestà) ที่จะตัดสินในเรื่องการใช้โทษบาป (Penitenza)
 
ดอกสีเงิน หมายถึงอำนาจในการปกครองพระศาสนจักรและยังหมาย ถึงความรู้ (scienza) บางคนให้ความหมายว่า หมายถึงอำนาจที่จะกำหนดถึงการตัดสินเฮเรติ๊ก (Anatema) และขับไล่ออกจากพระศาสนจักร (ex-communication) ก็ได้
 
ในพระราชวังลาเตราโน ในส่วนที่เรียกว่า Triclinium มีรูปนักบุญเปโตรที่ถือกุญแจ 3 ดอก เป็นกุญแจที่หมายถึง ความรู้ (scienza) อำนาจปกครอง (potenza) และอำนาจการตัดสิน (Giurisdizione) ของพระสันตะปาปา หากจะตีความหมายว่าหมาย ถึงกุญแจที่เปิดและปิดประตูสวรรค์ด้วย การใช้โทษบาป (penitenza) พระคุณการุณ (indulgenza) และการขับไล่ (scomunica) ก็ถูกต้องเหมือนกัน
 
ในระหว่างพิธีเข้ารับตำแหน่ง (presa di possesso) ที่ลาเตราโนของพระสันตะ ปาปา พระสันตะปาปาจะคาดเข็มขัดที่ประกอบไปด้วยกุญแจ 7 ดอก และตราประทับ (Sigilli) 7 ดวง เป็นเครื่องหมายถึงพระคุณของพระจิต 7 ประการ และศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ศีล ซึ่งพระสันตะปาปาจะต้องเป็นผู้โปรดให้แก่ประชากร
 
6.  Colosseo หรือ Coliseum
มีชื่อเต็มว่า Flavian Amplitheatre นับว่า เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยอาณาจักรโรมัน เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทางด้านการออก แบบ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม (Architecture and Engineering) อาณาจักรโรมันสร้างสนามกีฬาไว้หลายแห่งด้วยกัน อาจจะกล่าวได้ว่า เกือบทุกแห่งที่อาณาจักรโรมันแผ่อิทธิพลไปถึงก็ว่าได้ แม้แต่ในกรุงโรมเองก็มีอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น สนามกีฬาโคลิโกลาที่เนินวาติกัน เป็นต้น แต่สนามกีฬาโคโลเซโอแห่งนี้นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด
 
สนามกีฬาโคโลเซโอ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของ Romano Foro ถูกสร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 70-72 สมัยจักรพรรดิ Vespasian สำเร็จบริบูรณ์ในปี ค.ศ. 80 สมัย Titus และได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในสมัยของ Domitian สามารถบรรจุผู้ชมได้ 50,000 คน ใช้เพื่อชมการแข่งขันการต่อสู้ของนักสู้ซึ่งรู้จักกันในนามของ Gladiators และชมการแสดงต่าง ๆ ถูกใช้งานเป็นเวลานานถึง 500 ปี นอกเหนือจากการชมการต่อ สู้ของนักรบแล้ว การแสดงอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็มี การแสดงการต่อสู้ทางทะเล ชาวโรมันสามารถปรับเปลี่ยนสนามกีฬาให้เป็นสมรภูมิทางทะเลได้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว ทั้งนี้ ก็มาจากการออกแบบโครงสร้าง ระบบท่อส่งน้ำและระบบน้ำของชาวโรมันนั่นเอง นอกจาก นี้ ยังใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ นักโทษของอาณาจักรโรมันมีอยู่หลากหลาย เป็นทั้งนักโทษการเมือง นักโทษจากการทำสงคราม และนักโทษทางศาสนา ซึ่งหมายถึงบรรดา คริสตชนในสมัยนั้น บรรดาคริสตชนถูกอาณาจักรโรมันเบียดเบียนเป็นเวลาถึง 200 กว่าปี นับตั้งแต่จักรพรรดิเนโรกล่าวร้ายว่า พวกคริสตชนเป็นผู้ที่เผากรุงโรม ในปี ค.ศ. 60 เพลิงเผากรุงโรมนาน 5 วัน ทำลาย 4 เขตของโรมโดยสิ้นเชิง และเสียหายอย่างมากในอีก 7 เขต มีอยู่เพียง 3 เขตของโรมเท่านั้นที่รอดพ้นจากไฟไหม้ครั้งนั้น ศาสนาคริสต์ก็กลายเป็นศาสนาต้องห้าม และมีโทษอย่างหนัก จนถึงประหารชีวิต คริสตชนต้องหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งรู้จักกันในนามของ Catacomba อุโมงค์ที่มีชื่อเสียงและเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไปชม ได้แก่ Catacomba di S. Callisto อันที่จริง อุโมงค์เหล่านี้มีอยู่หลายแห่งทีเดียวในกรุงโรม การเบียดเบียนศาสนานี้มาสิ้นสุดในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ซึ่งหลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามอย่างอัศจรรย์ ด้วยเครื่องหมายกางเขนบนท้องฟ้า ได้ประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอาณา จักรโรมัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 305 เป็นต้นมา
 
ในระหว่างการเบียดเบียนศาสนา 200 กว่าปีนี้ คริสตชนถูกจับและประหารชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งการตรึงกางเขน การถูกเผาทั้งเป็น การทรมานและจำคุกตลอดชีวิต การตัดศีรษะ รวมถึงการต่อสู้กับสัตว์ร้ายที่หิวกระหายในสนามกีฬาต่าง ๆ บรรดาคริสตชนเสียชีวิตในสนามกีฬาโคลิโกลาที่เนินวาติกันมากที่สุด แต่ก็มีคริสตชนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตที่สนามกีฬาโคลิเซโอแห่งนี้ด้วย และเนื่องจาก คริสตชนเหล่านี้ยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อในพระเยซู ไม่ยอมประกาศละทิ้งศาสนา พระศาสนจักรคาทอลิกประกาศให้พวกท่านเป็นมรณสักขี (Martyrs) และเพื่อเป็นเกียรติแด่พวกท่านเหล่านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจะเสด็จมาทำพิธีทางศาสนา ซึ่งเรียกกันว่า “มรรคาศักดิ์สิทธิ์” (The Way of the Cross) ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) ของทุกปี
 
ปัจจุบัน สนามกีฬาแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญของอาณาจักรโรมัน และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้วย ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันปรากฏอย่างชัดเจนในบริเวณที่เรียกว่า “Romano Foro” ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับสนามกีฬา สำหรับผู้ที่สนใจโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ ก็สามารถพบกับประตูชัยต่าง ๆ ของาอาณา จักรแห่งนี้ พระราชวังของจักรพรรดิเนโร วิหารเทพเจ้าต่าง ๆ และสิ่งปลูกสร้างที่น่าสน ใจอีกมากมาย Romano Foro ใหญ่มาก ปัจจุบัน ประเทศอิตาลีก็กำลังขุดหาและบูรณะเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา อันที่จริง กรุงโรมซึ่งเป็นนครหลวงของประเทศ ควรจะมีบริการรถไฟใต้ดินมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเกรงว่าการขุดอุโมงค์สำหรับรถไฟใต้ดิน จะเป็นการทำลายโบราณสถานเหล่านี้นั่นเอง
 
7.  Pantheon
ขอแนะนำสถานที่น่าเยี่ยมชมในกรุงโรมที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ Pantheon หากไปเยี่ยมชมประมาณ 4-5 โมงเย็นละก็ จะมีเวลาเยี่ยมชมสักครึ่งชั่วโมง ดื่มกาแฟหอมกรุ่นที่อยู่ใกล้ ๆ นั่นคือ กาแฟ Tazza d’Oro แปลว่า ถ้วยทอง จากนั้น ก็เดินลัดไปเยี่ยมชม Piazza Navona ดูบรรยากาศที่นั่น ตอนเย็น ๆ ก็จะมีศิลปินมานั่งวาดรูปเหมือน และรูปตลกๆ ให้ดูมากมาย เป็นสถานที่น่าเดินเล่น และดูวิถีชีวิตของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว บริเวณรอบๆ Piazza แห่งนี้ก็มีร้านอาหาร ไอศกรีม และเครื่องดื่มต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ค่อนข้างแพงนะครับ เพราะเป็นสถานที่ยอดนิยม
 
กลับมาที่ Pantheon ของเราดีกว่า ตั้งอยู่ใกล้มากเลยกับ Largo Argentina เดินเข้าทางเล็ก ๆ ก่อนจะถึง Pantheon ก็จะผ่านร้านตัดเสื้อที่มีชื่อเสียงมากร้านหนึ่ง ชื่อว่า Gammarelli ซึ่งเป็นร้านตัดเสื้อของพระสันตะปาปา คาร์ดินัล สังฆราช สงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สืบต่อกันมานานมากทีเดียว ก็เพียงแค่รู้ไว้เท่านั้น ติดกันก็เป็น Academy สถาบันอบรมนักการทูตของรัฐวาติกัน ที่นี่มีพระสงฆ์ที่มาจากทั่วโลก เพื่อจะทำหน้าที่ทาง การทูตในอนาคต หนึ่งในจำนวนี้ก็มีพระสงฆ์ไทยรวมอยู่ด้วย 1 องค์
 
กลับมาที่ Pantheon ของเราอีกครั้งละกัน มาถึงซะที Pantheon เป็นภาษากรีกนะครับ แปลว่า “วิหารแห่งเทพเจ้า” ทั้งนี้ เพราะพวกกรีกและชาวโรมันดั้งเดิม มีความเชื่อถึงบรรดาเทพเจ้า วิหารนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นเกียรติแด่เทพเจ้า 7 องค์แห่งดาวทั้ง 7 ซึ่งศาสนาประจำชาติโรมันโบราณนั้นได้กล่าวไว้ สมัยก่อนนั้นก็รู้จักดวงดาวแค่ 7 ดวง ไม่ใช่ 9 ดวงอย่างในปัจจุบัน ได้ยินว่า ปัจจุบัน มีการค้นพบดวงที่ 10 แล้วด้วย
 
ด้านหน้าของ Pantheon มีอักษรจารึกเป็นภาษาลาติน M•AGRIPPA•L•F• COS•TERTIUM•FECIT มาจากคำเต็ม ๆ ว่า MARCUS AGRIPPA Lucii Filius Consolatum Tertium Fecit แปลว่า MARCUS AGRIPPA บุตรชายของ Lucius เป็นผู้สร้าง ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลครั้งที่ 3
 
Agrippa สร้าง Pantheon ในปี 27 B.C. (ก่อนคริสตศักราช) เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสงครามแห่ง Actium ในปี 31 ก่อนคริสตศักราช แต่ไฟไหม้ครั้งใหญ่ ปี 80 A.D. ได้ทำลาย Pantheon ที่ Agrippa ได้สร้างไว้ หลังที่เราเห็นในปัจจุบันนี้สร้างขั้นในปี 125 A.D. ในสมัยจักรพรรดิ Hadrian โดยใช้อักษรสลักหน้าวิหารนี้เหมือนของวิหารเดิม บางคนอาจจะสงสัยนะครับว่า สร้างปี 27 B.C. เป็นอนุสรณ์ถึงสงครามปี 31 B.C. คำตอบก็คือ การนับปี B.C. หรือก่อนคริสตศักราช เรานับถอยหลังจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ปี 31 B.C. เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนปี 27 B.C.
 
ในปี ค.ศ. 609 จักรพรรดิ Phocas แห่งอาณาจักรใบซินติน ได้มอบ Pantheon นี้ให้แก่พระสันตะปาปา Boniface ที่ 4 ซึ่งได้ทำการอภิเษกวิหารนี้ให้เป็นวิหารของคริสต์ มีชื่อว่า “วิหารแห่งพระแม่มารีอาและนักบุญมรณสักขีทั้งหลาย” ต่อมา ในปี 663 A.D. จักรพรรดิ Constans ที่ 2 ได้สั่งให้นำทองบรอนซ์ซึ่งอยู่ในวิหารนี้กลับไปกรุงคอนสแตนตินโนเปิ้ล (ปัจจุบัน คือ เมืองอิสตันบูล) และตลอดเวลาหลายศตวรรษต่อ ๆ มา สมบัติของวิหารนี้ก็ได้ถูกนำไปยังที่ต่าง ๆ เช่น หินอ่อนตกแต่งด้านนอก รูปแกะสลักต่าง ๆ รูปปั้นต่าง ๆ ยังโชคดีที่หินอ่อนตกแต่งภายใน และประตูทองบรอนซ์ยังคงอยู่
 
ในศตวรรษที่ 15 และศตวรรษที่ 16 วิหารนี้ถูกใช้เป็นที่ฝังศพของบุคคลสำคัญ เช่น ศิลปิน Raffaelo, Annibale Caracci และ Baldassare Peruzzi ซึ่งเป็น Architect ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 15 วิหารนี้ยังได้รับการตกแต่งด้วยภาพวาดต่างๆ รูปที่เป็นที่รู้จักดีมีชื่อเสียง ได้แก่ Annunciation หรือเทวดาแจ้งสารแก่แม่พระ วาดโดย Melozzo da Forli, Brunelleschi เป็นผู้ออกแบบ โดมของอาสนวิหารเมือง Florence ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวิหารแห่งนี้
 
ต้น ๆ ศตวรรษที่ 17 พระสันตะปาปา อูรบาโน ที่ 8 สั่งให้หลอมทองบรอนซ์บนหลังคาของมุขทางเข้าวิหาร เพื่อนำไปใช้ในการสร้างปืนใหญ่สำหรับป้อมที่ปราสาท Castel Sant Angelo และส่วนหนึ่ง Bernini ได้นำไปใช้สร้างปะรำ (Baldachin) ทองบรอนซ์ที่อยู่เหนือพระแท่นหลุมศพของนักบุญเปโตร อย่างไรก็ตาม ทองบรอนซ์ส่วนใหญ่ที่ Bernini ใช้นั้น นำมาจาก Venice และนี่เองจึงเป็นที่มาของคำพูดที่มีอยู่ในบทประพันธ์ของ Pasquino ที่กล่าวว่า “Quod non fecerunt barbari, fecerunt Barberini” แปลได้ว่า “สิ่งที่พวกบารเบเรียนไม่ได้ทำ พวก Barberini ได้ทำ” เพราะว่า Barberini เป็นชื่อตระกูลของพระสันตะปาปา อูรบาโน ที่ 8 นั่นเอง
 
พูดถึงเรื่องหลุมศพของศิลปิน Raffaelo ที่อยู่ในวิหารนี้ ผู้นำกลุ่มทัวร์บางคนก็เข้าใจผิด โดยคิดว่า Raffaelo เป็นชื่อของเทวดาองค์หนึ่ง ที่จริงก็เข้าใจได้ถูกต้อง เพราะ Raffaelo เป็น 1 ใน 3 เทวดาองค์ใหญ่ที่ทางศาสนาคริสต์เชื่อถือ แต่ผู้นำทัวร์บางท่านก็อธิบายให้ลูกทัวร์คนไทยฟังว่า “นี่แหละ หลุมศพของเทวดาราฟาเอโล” ลูกทัวร์ก็เลยเพิ่งรู้ว่าเทวดามีศพกับเขาด้วย ผู้ที่มีใจศิลปินจึงมักชอบที่จะมาเยี่ยมหลุมศพของศิลปินผู้มีชื่อเสียงผู้นี้ นอกจากนี้ ภายในวิหารยังเป็นที่ฝังศพของบุคคลสำคัญอีกหลายคน ได้แก่ กษัตริย์ Vittorio Emanuele ที่ 2 และกษัตริย์ Umberto ที่ 1 พร้อมทั้งราชินี Margherita เรื่องที่น่ารู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศอิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบสาธารณรัฐ (Republic) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 แต่ก็ยังคงมีองค์กรบางองค์กรที่ติดยึดอยู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พวกนี้จึงยังคงมาทำพิธีระลึกถึงระบอบนี้ ที่หลุมศพของกษัตริย์ในวิหารแห่งนี้ ฝ่ายสาธารณรัฐก็ต้องประท้วงเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม วิหารนี้ก็อนุญาตให้ทำพิธีระลึกถึงนี้ได้ทุกปี
 
โครงสร้าง
- ซุ้มประตูทางเข้า ประกอบไปด้วยแนวเสาหินแบบ Corinthian เป็นเสาหินแกรนิตขนาดใหญ่ หนักประมาณ 5,000 ตัน
- พื้นฐานภายในเป็นรูปทรงกลม ด้านบนเป็น Dome ทำด้วยคอนกรีต
- ใจกลางของโดมเป็นช่องว่างเปิด เรียกว่า Oculus หมายถึง ดวงตาที่ยิ่งใหญ่ (Great Eye) จ้องมองท้องฟ้า
- บริเวณกำแพงด้านในสุดจะเป็นช่องหินหลายช่อง เข้าใจว่า สำหรับใส่รูปปั้นของซีซาร์, เอากุสตุส และอากริปปา หรือบรรดาเทพเจ้าต่าง ๆ
- ประตูขนาดใหญ่เข้าสู่วิหารทำด้วยทองบรอนซ์ แต่ก็เคยถูกเคลือบด้วยทองคำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ทองคำเหล่านั้นไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว
- จั่วของวิหารถูกตกแต่งด้วยประติมากรรมทองบรอนซ์ เล่าเรื่องสงคราม Titans
- ความสูงของโดมคือ 43.3 เมตร
 
เมื่อเรามองขึ้นไปยัง Oculus หรือ Great Eye เราจะพบกับสัญลักษณ์ของสวรรค์ Great Eye เป็นต้นกำเนิดของแสงสว่าง และสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ เวลาเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเย็น และถ่ายเทอากาศด้วย โดยมีคำอธิบายดังนี้ ขณะที่ลมภายนอกพัดผ่าน Oculus จะทำให้ภายในมีแรงดันออก เราเรียกว่า Venturi Effect ดันอากาศออกไปภายนอกโดยผ่าน Oculus เวลาเดียวกัน ก็ดึงลมจากภายนอกโดยผ่านทางประตูทางเข้าขนาดใหญ่ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อฝนตก น้ำฝนก็จะตกลงมาภายในวิหาร โดยผ่านทาง Oculus นี้ด้วย แต่พื้นด้านล่างนั้นก็มีรูเล็ก ๆ เพื่อระบายน้ำออกไป ดังนั้น จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ภาย ในวิหารเลย ในสมัยโบราณ เมื่อมีการบูชาบรรดาเทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยไฟ ควันไฟเหล่านี้จะทำให้น้ำฝนไม่สามารถผ่านกลุ่มควันอันหนาทึบนี้ได้อีกด้วย โครงสร้างวิหารนี้ได้รับการศึกษาจากวิศวกรหลายคน และต่างก็มีความเห็นเดียวกันว่า โครงสร้างของวิหารไม่น่าจะรับน้ำ หนักทั้งหมดของวิหารได้เลย และก็ยังไม่เข้าใจว่าวิหารนี้สามารถตั้งอยู่ได้หลายศตวรรษมาแล้วได้อย่างไร
 
การตกแต่งภายในปัจจุบัน
เป็นการตกแต่งแบบคริสต์ ไม่มีความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าต่าง ๆ โดยจะมีแท่นและรูปวาดเล่าเรื่องต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์ รูปวาด รูปปั้นของบรรดานักบุญ โดยศิลปินของแต่ละสมัย ส่วนรูปแกะทองคำที่อยู่เหนือหลุมศพของกษัตริย์ Emanuele ที่ 2 นั้น ตั้งไว้เพื่อเป็นเกียรติแด่กษัตริย์ Vittorio Emanuele ที่ 3 ซึ่งสิ้นพระชนม์ในแดนเนรเทศในปี ค.ศ. 1947
 
อย่าลืมนะครับ อ่านอย่างเดียว สู้ไปดูด้วย อ่านไปด้วย ไม่ได้เลย
 
8.  บันไดสเปน (Spanish Steps)
พูดถึง “บันไดสเปน” ปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นย่านร้านค้า บรรดาสินค้ามีชื่อแบรนด์เนมทั้งหลาย เช่น Cucci, Prada, Luis Vitton, Bulgari, Ferragamo, Valentino และอื่น ๆ อีกมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Caffe Greco เพราะเป็นร้านค้าเก่าแก่ ผู้ที่มีชื่อเสียงของอิตาลีต่างก็เคยมาดื่มกาแฟร้านนี้ด้วยกันทั้งนั้น ใครเดินผ่านจะแวกเข้าไปลิ้มลองดู ก็เท่ไม่เบา ที่จริง กาแฟของเขาก็อร่อยจริง ๆ ด้วย ทั้งรดชาติและราคา
 
แต่ “บันไดสเปน” นั้นหมายถึงบันได 138 ขั้น สร้างขึ้นด้วยเงินทุนของนักการทูตฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Étienne Guffier ด้วยเงิน 20,000 Scudi บันไดนี้สร้างขี้นในระหว่างปี ค.ศ. 1723-1725 เชื่อมระหว่างวัด Trinità des Monti ซึ่งกษัตริย์ราชวงศ์ Bourbon แห่งฝรั่งเศส เป็นองค์อุปถัมภ์ กับสถานทูตสเปนประจำสันตะสำนัก (Holy See) ซึ่งตั้ง อยู่ใน Palazzo Monaldeschi ด้านล่าง บันไดนี้ชาวอิตาเลียนเขาเรียกว่า Scalinata เป็นบันไดที่กว้างและยาวที่สุดในทวีปยุโรป แต่ทำไมตั้งชื่อ “บันไดสเปน” ก็ไม่ทราบเหมือน กัน ทั้ง ๆ ที่ผู้ออกสตางค์ก็เป็นฝรั่งเศส วัด Trinità ด้านบนก็อุปถัมภ์โดยกษัตริย์ฝรั่ง เศส เพียงแต่มีสถานทูตสเปนอยู่ด้านล่างเท่านั้นเอง บันไดนี้มีประวัติมายาวนานก่อนการสร้าง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1580 เป็นต้นมา พระสันตะปาปาหลายองค์สนพระทัยจะสร้างบันไดนี้ แต่โครงการก็ถูกแช่แข็งไว้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา จนกระทั่งมีการประกวดออกแบบ อย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 1717 ผู้ออกแบบบันไดนี้ ได้แก่ Francesco de Sanctis
 
เรื่องที่ควรรู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เทศบาลกรุงโรมออกกฎระเบียบห้ามทานอาหารที่บันไดแห่งนี้ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะนั่งคุยกัน ทานอาหารจานด่วน ดื่มน้ำ ดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ กันอยู่เสมอ หลายครั้งก็มักจะมีการเล่นดนตรี การแสดงเพื่อหาสตางค์ของพวกศิลปินจำเป็น ก็ทำให้บันไดสเปนมีบรรยากาศคึกคัก และเต็มไปด้วยผู้คน ผมก็ยังไม่เคยเห็นตำรวจมาตักเตือนพวกที่ทานอาหารกันที่นี่เลย
 
ลานสเปน (Piazza di Spagna) ไม่รู้จะตั้งชื่อไทยว่าอย่างไรดี ก็เรียกว่า “ลานสเปน” ก็แล้วกัน เป็นลานที่อยู่ด้าน หน้าของบันไดสเปน ตรงกลางลานจะมีน้ำพุซึ่งเป็นรูปเรือโบราณ เรียกเป็นภาษาอิตาเลียนว่า La Fontana della Barcaccia แปลตรงตัวเลยว่า “น้ำพุเรือโบราณ” สร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1627-1629 โดยเป็นศิลปะบารอคยุคต้น สร้างโดย Pietro Bernini ซึ่งเป็นคนออกแบบและแต่งเติม “น้ำพุเทรวี” ระวัง อย่าไปสับสนปนเปกับลูกชายของเขา คือ Gian Lorenzo Bernini ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและสร้างอ้อมแขนของมหาวิหาร และแท่นพระจิตเจ้าในมหาวิหารนักบุญเปโตร ที่มาของการสร้างน้ำพุเรือโบราณนี้มาจากพระสันตะปาปา อูรบาโน ที่ 8 พบเรือลำหนึ่ง ถูกน้ำซึ่งท่วมแม่น้ำ Tiber พัดพามาจน ถึงบริเวณนี้ จึงมีความคิดที่จะสร้างเรือน้ำพุนี้เป็นอนุสรณ์
Bob Dylan นักร้องและนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงบันได สเปนไว้ในเพลงของเขา ที่ชื่อว่า “When I Paint My Masterpiece” (ค.ศ. 1971) นอกจากนี้ ก็ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจและแปลก ๆ บางอย่างเกิดขึ้นที่นี่ด้วย
 
13 มิถุนายน 2007 ชายหนุ่มชาวโคลัมเบีย อายุ 24 ปี พยายามขับรถ Toyota Celica จากยอดของบันไดสเปนลงบันไดมาด้วยความเร็วสูง ฝูงชนต้องหลบหนีกันชุลมุน แม้ว่าจะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่บันไดที่มีอายุ 200 ปี ได้รับความเสียหายไปหลายขั้น ชายผู้นี้ถูกจับและตรวจพบว่าเขามีอาการเมาสุรา
 
24 มิถุนายน 2007 ชายหนุ่มชาวอเมริกัน อายุ 22 ปี แก้ผ้าอาบน้ำที่น้ำพุนี้ตอนเช้าตรู่ แต่ก็เป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวออกมาเยี่ยมชมบริเวณนี้แล้ว ที่สุด ก็ถูกตำรวจจับข้อ หาอนาจาร
 
นี่แหละครับ เสน่ห์ของ “บันไดสเปน” หากไม่รู้ว่าจะนัดพบกันที่ไหนหลังจากแยกย้ายกันไปจับจ่ายใช้สอย ก็นัดกันมาเจอกันที่ “น้ำพุเรือโบราณ” ก็ดีนะครับ
 
9.  นครรัฐวาติกัน (Vatican State หรือ The Holy See)
วาติกัน เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เป็นรัฐอิสระเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ทางการเมืองก็ถือว่าเป็นรัฐเล็กมากจนไม่มีบทบาททางการเมืองในสังคมโลก ปกครองโดยองค์พระสันตะปาปา ไม่มีกองทัพ มีแต่ทหารอารักขา หรือที่รู้จักกันในชื่อ Swiss Guard ทำไมต้องเป็น Swiss Guard? เราจะเล่าให้ฟังต่อไป เพราะมีประวัติอันยาวนานมาถึง 500 ปีแล้ว แต่ในทางศาสนานั้น วาติกันมีความ สำคัญต่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างมาก เพราะเหตุว่า พระสันตะปาปาเป็นผู้แทนองค์พระเยซูคริสต์บนแผ่นดินนี้ (Vicar of Christ) คริสตชนทั้งหลายเคารพ รัก พระองค์ ในฐานะที่เป็น “บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” (Holy Father) และยังเป็นความเชื่อของคาทอลิกด้วยว่า เมื่อไรก็ตาม ที่พระสันตะปาปาสอนสั่งในเรื่อง “ข้อความเชื่อ” และในเรื่อง “ศีลธรรม” คำสอนนั้นจะไม่มีผิดพลาดเลย เราเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “Ex Cathedra” หมายความว่าออกมาจากบัลลังก์ อำนาจหน้าที่นี้พระองค์ได้รับสืบต่อมาจากนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากองค์พระเยซูคริสต์ ดังนั้น แม้ว่า รัฐวาติกันจะมีประชากรเป็นทางการอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐวาติกันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบรรดาคริสตชนคาทอลิกทั่วโลก 1 พันกว่าล้านคน เรามาทำความรู้จักกับรัฐวาติกันกันหน่อย
 
1. วาติกัน (Vatican) เป็นภาษอิตาเลียน เป็นชื่อเนินแห่งหนึ่งในกรุงโรม แต่เดิมเป็นที่ ตั้งของสนามกีฬาคาลิโกลา (Caligola)  ต่อมา เป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรและวังพระสันตะปาปา ชื่อนี้มีคำแปลหรือไม่ ผมไม่ทราบจริง ๆ ครับ อันที่จริง จะบอกว่า คำว่า “วาติกัน” ไม่มีคำแปลก็ไม่ถูกต้องนัก เนินวาติกันนี้ ภาษาลาตินใช้คำว่า “vaticanus mons” คำว่า “Vaticanus” มาจากคำว่า “Vates” ก็เป็นภาษาลาตินอีกนั่นแหละ แปลว่า ผู้พยากรณ์ (prophet) หรือผู้ที่มองเห็น (Seer) ชื่อเนินวาติกันนี้ มีมานานแล้วนะครับ มีอยู่ก่อนที่คริสต์ศาสนาจะเข้ามาเผย แพร่ในกรุงโรมตั้งนาน คือ ตั้งแต่สมัยพวก Etruscans ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นชนเผ่าแรก ๆ ที่เข้ามาอาศัยในภูมิภาคนี้ ตอนนั้น เป็นชื่อของเมืองของพวกเขา ซึ่งก็คือ “เมืองวาติกุม” (Vaticum)
 
 
เนินวาติกันนี้ไม่ใช่เป็นเนิน 1 ใน 7 แห่งที่มีชื่อเสียงของกรุงโรม อย่าลืมนะครับ กรุงโรมถูกสร้างขึ้นท่ามกลางเนิน 7 ลูก อาณาจักรโรมันสร้างสนามกีฬาขึ้นที่เนินวาติกันก็เพื่อผนวกบริเวณนี้เข้ามาในกำแพงเมืองของโรมด้วย สนามกีฬาที่ว่านี้เราก็รู้จักแล้วนั้น ก็คือ สนามกีฬาคาลิโกลา และต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นสนามกีฬาเนโร ที่เนินนี้เป็นที่ฝังศพของนักบุญเปโตร พระสันตะปาปาองค์แรกของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ดังนั้น จึงเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตร จนกระทั่งทุกวันนี้
 
พูดถึงมหาวิหารแห่งนี้แล้วก็จบไม่ลง ขอเติมอีกหน่อยละกันนะครับ มีเรื่องน่ารู้ แต่ไม่มีโอกาสได้เห็น ก็คือ ใต้ดินมหาวิหารเป็นที่ฝังศพของบรรดาคริสตชนในยุคที่มีการเบียดเบียนศาสนา การขุดค้นเรื่องนี้ก็ยังคงทำกันอยู่ การขุดค้นทำกันลึกมากถึง 3-4 ชั้นใต้ดิน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จเยี่ยม พระองค์ยังได้มีโอกาสเข้าชมส่วนนี้ด้วย แต่พวกเราคงเข้าไปชมไม่ได้ เอาแค่รู้ไว้ก็พอ ภายในมหาวิหารยังมี museum เล็ก ๆ อยู่ด้วย แสดงสมบัติเก่าแก่ของมหาวิหาร(Tesoro do San Pietro) ใครสนใจเข้าชมก็ได้ เสียคนละ 6 ยูโร แต่ก็คุ้มค่าสตางค์ เพราะสมบัติเหล่านี้เก่าแก่และมีคุณ ค่าจริง ๆ ไปดูเป็นบุญตา เพราะไม่มีทางที่จะพบที่อื่น
 
ส่วนผู้ที่สนใจจะขึ้นไปชมวิวกรุงโรมบนโดมของมหาวิหาร ก็สามารถทำได้เช่น กัน เขาเรียกโดมมหาวิหารนี้ว่า “Cupola” ถ้าเดินขึ้นไปด้วยบันได ซึ่งมีทั้งหมด 500 กว่าขั้น ก็เสียสตางค์คนละ 5 ยูโร แต่ถ้าหากขึ้นลิฟท์ไป ก็จะเสีย 7 ยูโร เสียสตางค์ไม่พอ ยังต้องเดินอยู่ดี ขึ้นไปอีก 200 กว่าขั้น ใครจะขึ้นไปก็คงต้องฟิตร่างกายกันหน่อย ใครเป็นโรคหัวใจก็แนะนำว่าดูรูปถ่ายเอาดีกว่า วิวข้างบนนั้นต้องบอกว่าสวยงามมาก ท่านจะได้เห็นนครวาติกันทั้งหมด สวนอันสวยงามของวาติกัน พระราชวังพระสันตะปาปา ที่ทำการรัฐ ห้องสมุดวาติกัน หอจดหมายเหตุวาติกัน พิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังสามารถมองเห็นกรุงโรมได้รอบทิศอีกด้วย บอกได้เลยว่าคุ้มค่าเหนื่อย เพราะสวยงามมากจริง ๆ และท่านจะรู้สึกว่ากำลังลอยอยู่บนเมืองสวรรค์
 
ประมุขของรัฐวาติกัน ได้แก่ พระสันตะปาปา คำว่าสันตะปาปามาจากคำภาษาอิตาเลียนว่า “Santo Papa” อ่านว่า “ซันโต ปาปา” เราเรียกไปเรียกมาก็กลายเป็นสันตะปาปา Santo แปลว่าศักดิ์สิทธิ์ Papa แปลว่าบิดา เพราะฉะนั้น ภาษาอังกฤษเขาจึงเรียกพระสันตะปาปาว่า Holy Father คำนำหน้าพระสันตะ ปาปาจึงใช้คำว่า His Holiness หรือ Your Holiness คำว่า Papa ซึ่งแปล ว่าบิดานี้ หากลง Accent ที่พยางค์แรก ก็หมายถึง Pope แต่หากลง Accent ที่พยางค์หลัง ก็หมายถึงพ่อของลูกนะครับ (เตี่ย, Daddy)  
 
Pope องค์แรก ได้แก่ St. Peter, Pope John Paul II เป็นองค์ที่ 264 Pope Benedict XVI เป็นองค์ที่ 265
 
2. รัฐวาติกันเป็นรัฐอิสระเล็ก ๆ เกิดขึ้นเป็นทางการในปี ค.ศ. 1929 โดยสนธิสัญญาที่เรียกว่า Lateran Treaty ลงนามโดยพระสันตะปาปา Pius XI และพระเจ้า Vittorio Emanuel III อาณาเขตก็นิดเดียวครับ ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ประชากรก็ประมาณ 1,000 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐวาติกันก็ยังคงมีอาณาเขตพิเศษเป็นของตนด้วย เรียกกันว่า Extraterritory เช่น มหาวิหารสำคัญ ๆ ในกรุงโรม ตึกสำคัญบางตึก และที่ดินบางแห่งในกรุงโรม มหาวิหารนักบุญอันตน ที่เมือง Padova ฯลฯ
 
ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐอิสระ ก็ต้องมีอะไร ๆ เป็นของตนเอง นั่นก็คือมีเงินตราของตนเอง ปัจจุบันก็ใช้ค่าเงินยูโร มีแสตมป์ มีกองทหารสวิส มีเลขาธิการรัฐ มีกระทรวงด้านต่าง ๆ มากมาย ผมก็จะค่อย ๆ เล่าให้ฟังพอสังเขปก็แล้วกัน เฉพาะที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อยอย่างเรานะครับ
 
3. ทหารสวิส (Swiss Guard)
วาติกันเป็นรัฐทางศาสนา ดังนั้น จึงไม่มีกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพ บก ก็ดีเหมือนกันนะครับ จะได้ไม่มีการปฏิวัติ (Coup d’Etat) วาติกันมีแต่กองทหารองครักษ์ กองทหารนี้ก็มีจำนวนไม่มากนัก แต่ที่แปลกกว่านี้ก็คือ เป็นทหารสวิส แทน ที่จะเป็นชาวอิตาเลียน อย่างนี้ก็ต้องอธิบายกันเล็กน้อย แม้ว่า ประวัติของเรื่องนี้จะมีมายาวนานก็ตาม
 
ในสมัยศตวรรษที่ 15 มีชาวสวิสเป็นทหารรับจ้าง อยู่ในกองทัพของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เพราะว่า ทหารสวิสมีชื่อเสียงมากในด้านระเบียบวินัยและความจงรัก ภักดีต่อผู้ว่าจ้าง ปัจจุบัน มีอยู่เฉพาะที่วาติกันเท่านั้น ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1506 โดยพระสันตะปาปา จูเลียส ที่ 2 (1503-1513) ตอนนั้น กษัตริย์ชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศสกำลังจะทำสงครามกับอาณาจักรเนเปิ้ล (Naples) พระสันตะปาปา จูเลียส ที่ 2 เข้าร่วมต่อต้านอาณาจักร Naples จึงได้ขอว่าจ้างทหารสวิสไว้ 200 นาย ทหารสวิสกลุ่มแรกจำนวน 150 นาย เข้าสู่วาติกัน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 1506 และก็ถือวันนี้เองเป็นวันเริ่มต้นกองทหารองครักษ์แห่งวาติกันอย่างเป็นทางการ และมีการเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีอย่างยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 2006 อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นก็ไม่มีเหตุ การณ์อะไรที่น่าตื่นเต้น เหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของทหารสวิสเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 1527 เมื่อจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 เข้าปล้นกรุงโรม ทหารสวิส 147 นายยอมสละชีวิตเพื่อให้พระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 7 มีเวลาหลบหนีไปได้ โดยมีทหารสวิสอีก 40 นายคอยคุ้มกันอย่างใกล้ชิด
 
เหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ทหารสวิสสืบสานตำนานแห่งความเสียสละและกล้าหาญ ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของพระสันตะปาปาและรัฐวาติกัน สืบมาจนทุกวันนี้ ชาวสวิสถือเป็นเกียรติอย่างมาก หากมีโอกาสได้ทำหน้าที่นี้ในชีวิตของตน แต่ก็ไม่ใช่ง่ายนะครับที่จะมาเป็นทหารสวิส เพราะเขามีคุณสมบัติเหมือนกัน ก็คือต้องเป็นคาทอลิก มีสัญชาติสวิส และเป็นโสด อายุระหว่าง 19-30 ปี และสูงอย่างน้อย 174 เซนติเมตร จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ก็คือ 2 ถึง 25 ปี
 
ทหารสวิสแต่งตัวกันหลายแบบ แล้วแต่ฤดูกาลและโอกาส เวลาที่แต่งตัวเต็มยศ ดูสง่างามมาก คล้าย ๆ กับอัศวินโบราณ ชุดที่ดูสวยงามและเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นชุดลายทาง มีหลายสี คือ แดง น้ำเงิน ส้ม เหลือง สวมหมวกแบเล่ ออกแบบเป็นแบบของยุค Renaissance หลายคนเข้าใจว่า ไมเคิ้ล แอนเจโล เป็นผู้ออกแบบ แต่ที่จริงเป็นนายทหารคนหนึ่งเท่านั้น บางคนก็ว่าออกแบบโดยราฟาแอลโล ซึ่งก็ไม่ใช่อีก เพียงแต่ว่าราฟาแอลโลเคยวาดรูปพระสันตะปาปา จูเลียส ที่ 2 พร้อมกับทหารสวิสเท่านั้นเอง
 
ปกติ ทหารสวิสเป็นหนุ่มหน้าตาหล่อเหลาเอาการ นักท่องเที่ยวก็มักจะกล้า ๆ กลัว ๆ จะขอถ่ายรูปกับพวกเขาได้หรือไม่ ผมมีเพื่อนเป็นทหารสวิสอยู่คนหนึ่ง ที่ว่าเป็นเพื่อนก็เพราะเขามีแฟนเป็นคนไทย เขาบอกว่า พวกเขายินดีจะถ่ายรูปเสมอ หากว่าไม่ทำให้เสียหน้าที่ ก็คือ ถ้าพบเห็นที่ไหนก็ขอถ่ายรูปได้ ไม่ต้องกลัวพวกเขา นี่รวมไปถึงพวกตำรวจชาวอิตาเลียนด้วยนะครับ ชาวอิตาเลียนนอกจากจะหล่อแล้ว ยังแต่งตัวเท่ห์อีกด้วย
 
4. พิพิธภัณฑ์วาติกัน
สำหรับผู้ที่รักงานด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น รูปแกะสลัก ผู้ที่รักโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นยุดใด ๆ วัตถุสิ่งของ และความก้าวหน้าทางวิทยาการ ประวัติ ศาสตร์อันน่าสนใจ พิพิธภัณฑ์วาติกันมีทุกอย่างเหล่านี้ ภายในมีพิพิธภัณฑ์ย่อย ๆ หลายแห่ง โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น Etruscan Museum, Egyptian Museum มี Gallery อยู่หลายต่อหลายแห่ง และเมื่อเดือนกันยายน 2007 ที่ผ่านมานี้ ก็เพิ่งจะเปิดพิพิธภัณฑ์ย่อยอีก 2 แห่งภายใน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์แสตมป์ และพิพิธภัณฑ์เหรียญ ซึ่งต้องขอบอกว่า แสตมป์และเหรียญของวาติกันนั้นมีชื่อเสียงไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลก และเป็นที่สนใจของผู้ที่ชื่นชอบแสตมป์และเหรียญ  ปลายทางของพิพิธภัณฑ์วาติกัน ได้แก่ โบสถ์ซิสติน (Sistine Chapel) โบสถ์นี้น่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นสถานที่ที่บรรดาพระคาร์ดินัลใช้ประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา ที่ภาษา อังกฤษใช้คำว่า Conclave ซึ่งแปลว่า ประชุมภายในห้องที่ใส่กุญแจ หมายความว่าเป็นความลับเฉพาะ นอกจากนี้ ภายในโบสถ์ซิสตินมีผลงานวาดภาพของจิตรกรระดับโลกหลายต่อหลายท่าน โดยเฉพาะภาพวาด “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ของไมเคิ้ล แอนเจโล นั้น น่าดูที่สุด เพราะภายในภาพนั้นเต็มไปด้วยความ หมายและความเชื่อของศาสนาคริสต์ ผมเองต้องเรียบเรียงภาพนี้ภาพเดียวตั้ง 4 เดือน เพราะว่า ทุกอย่างในภาพมีความหมายไปหมด ตั้งแต่สี บุคคล ตำแหน่งของบุคคลในภาพ ความหมายของสวรรค์ แผ่นดิน นรก นอกจากนี้ ภาพนี้ยังเป็นภาพที่ต่อเนื่องมาจากภาพอื่น ๆ ภายในโบสถ์ มีความเชื่อมโยงกันตั้งแต่การสร้างโลกและมนุษย์ จนกระทั่งถึงวันสุด ท้ายของมนุษยชาติ บรรยายเท่าใดก็ไม่มีทางหมด บรรยายหมดก็ไม่เหมือนไปชมด้วยตนเอง นักท่องเที่ยวยุโรปเขาขอบมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก มายืนรอกันตั้งแต่เช้าทีเดียว เขาเปิดเวลา 8.30 น. – 16.30 น. ค่าผ่านประตู 11 ยูโร แต่ถ้าหากเป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน เขาให้เข้าฟรี ตั้งแต่ 9.00 น. – 12.30 น. จะมีคิวยาวตั้งแต่ทางเข้าออกมาตามกำแพงวาติกัน สุดลูกหูลูกตาทีเดียว ฝรั่งก็ชอบของฟรีเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ก็ทำใหม่ สวยงามและกว้างขวางมาก บอกได้อีกคำหนึ่งว่า ใครที่ชมพิพิธภัณฑ์วาติกันแล้วจะพบได้ทันทีว่า รัฐวาติกันไม่ใช่รัฐเล็ก ๆ อย่างที่เรารู้ แต่เป็นรัฐแห่งจิตที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ
 
10.  Castel Sant’ Angelo
ไม่ทราบว่าจะตั้งชื่อภาษาไทยว่าอะไรดี ภาษาอิตาเลียนแปลว่า “ปราสาทนักบุญเทวดา” เราแปลง่าย ๆ ก็คงจะราว ๆ ปราสาทเทวดาก็แล้วกัน หากเรามองจากมหาวิหารนักบุญเปโตรไปทางแม่น้ำไทเบอร์ (ภาษาอิตาเลียนใช้คำว่า Tevere : เตเวเร) เราก็จะพบกับปราสาทเก่า ๆ หลังหนึ่ง เป็นรูปทรงกลม และมีรูปเทวดาองค์หนึ่งตั้งอยู่บนยอดปราสาท นั่นแหละครับที่ผมหมายถึง ถ้ามีคำถามว่าปราสาทนี้คืออะไร และเข้าใจว่าคงถามอย่างเดียว แต่ไม่เข้าชมละก็ ตอบแบบนี้นะครับ
 
ปราสาทนี้ คือ ที่ฝังศพของจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian) และครอบครัวของพระองค์ ต่อมา ใช้เป็นป้อมปราการและปราสาท ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ถ้าหากยอมเสียสตางค์ไปเข้าชมละก็ ต้องอธิบายให้มากกว่านี้หน่อย ประการแรกก็คือ ปราสาทนี้เก่าแก่มาก สร้างตั้งแต่ ปี ค.ศ. 135 หรือ 139 เก่าจนไม่รู้ว่าปีไหนกันแน่ จักรพรรดิ Hadrian และพระราชินี Sabina ถูกฝังอยู่ที่นี่ รวมทั้งจักรพรรดิโรมันองค์ต่อ ๆ มาด้วย จนถึงปี ค.ศ. 401 ปราสาทนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นป้อมปราการ
 
แรกทีเดียว ก็มีชื่อว่า “ที่ฝังศพของเฮเดรียน” ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น “ปราสาทเทวดา” ก็เพราะว่า มีตำนานเล่าขานกันในปี ค.ศ. 590 ว่า อัครเทวดามีคาแอล (Michael) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เทวดาองค์ใหญ่ในศาสนาคริสต์ ปรากฏองค์ขึ้นมาบนยอดปราสาท เพื่อยับยั้งกาฬโรคซึ่งกำลังระบาดอยู่ในเวลานั้น และกาฬโรคก็ได้ยุติลงอย่างอัศจรรย์ ปราสาทนี้ก็ได้รับชื่อใหม่นี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รูปเทวดานี้ทำด้วยทองบรอนซ์ในปี ค.ศ. 1753 แทนรูปแรกของ Rafaello ที่ทำด้วยหินอ่อน
 
พระสันตะปาปาหลายองค์ในศตวรรษที่ 14 ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของป้อมปราการนี้ให้มาเป็นปราสาท (Castle : Castello) และหากสังเกตดี ๆ นะครับ จากวังพระสันตะปาปา จะมีทางเดินในช่องกำแพงไปจนถึงปราสาทเทวดาหลังนี้เลย ช่องทางเดินนี้เขาเรียกว่า Passetto di Borgo สร้างโดย Pope Nicolas III ช่องทางนี้มีประโยชน์ในการติดต่อกันระหว่างวังพระสันตะปาปาและปราสาทหลังนี้ เวลาเดียวกัน ในยามฉุกเฉินก็ใช้เป็นทางหนีภัยของพระสันตะปาปาด้วย เช่น ตอนที่ Pope Clement VII หนีภัยจากพระเจ้า Charles V ในการบุกยึดกรุงโรมใน ปี ค.ศ. 1527 เป็นต้น และต่อ ๆ มา พระสันตะปาปาก็ได้ปรับปรุงปราสาทนี้ให้เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาด้วย ปราสาทหลังนี้ก็กลายเป็นปราสาทสารพัดประโยชน์ เพราะต่อมาก็ยังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นคุก ขังบรรดานักโทษ และขังพระสันตะปาปาบางองค์ด้วย ด้วยเหตุผลทางการเมือง และยังเป็นที่ประหารชีวิตนักโทษบางคนอีกด้วย
 
ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ใครอยากชมปราสาทที่เก่าแก่มาก ๆ จริง ๆ ก็คือที่นี่แหละครับ ภายในก็มีบาร์ขายเครื่องดื่มให้นั่งชมทิวทัศน์ของกรุงโรม มีลานที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับผม อะไร ๆ ก็น่าสนใจไปหมด แต่สำหรับผู้อ่าน ผมไม่รู้ว่าจะน่าสนใจขนาดไหนนะครับ ด้านหน้าของปราสาทก็มีสะพานข้ามแม่น้ำไทเบอร์ สะพานนี้มีชื่อเดียวกับปราสาทเลยนะครับ สร้างในสมัยจักรพรรดิ Hadrian เหมือนกัน เป็นสะพานที่เก่าแก่มาก เดี๋ยวนี้ได้รับการตกแต่งด้วยศิลปะบารอค ตั้งรูปเทวดาและรูปประวัติพระเยซูเจ้าเพิ่มขึ้นมา นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูปที่สะพานแห่งนี้มาก เพราะได้ความเก่าแก่ของสะพาน พร้อมทั้งปราสาทที่เก่าแก่ จนทำให้รูปของเราดูหนุ่มดูสาวขึ้นตั้งเยอะ