บทที่ 3 : พระศาสนจักรสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระศาสนจักรสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
1. เหตุการณ์สำคัญๆ ของการแพร่ธรรมในกรุงศรีอยุธยา
 
ก. การเข้ามาของมิชชันนารีฝรั่งเศส
กลุ่มคริสตชนได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่บรรดามิชชันนารีภายใต้ระบบปาโดร อาโดเข้ามาในสยาม โดยส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคริสตชนต่างชาติที่อยู่ในสยามนั่นเอง เราไม่ทราบความเป็นไปอะไรมากนักเกี่ยวกับกลุ่มคริสตชนต่างๆ เหล่านี้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือสถานการณ์ของกลุ่มคริสตชนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การเข้ามาในดินแดนสยามของผู้แทนพระสันตะปาปาหรือ Apostolic Vicar ที่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ส่งมา ผู้แทนพระสันตะปาปา 3 องค์ ที่ถูกส่งมาในดินแดนนี้มีดังต่อไปนี้
 
1. ฟรังซัว ปัลลือ (Francois Pallu) สังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศ รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทน         พระสันตะปาปาแห่งตังเกี๋ย (Tonkin) และเป็นผู้บริหารแคว้นต่างๆ ของจีนดังนี้คือ แคว้น Yun-nan, Kouy-Tscheou, Hou-Kang, Koung-Si, Seot chouen และลาวด้วย การแต่งตั้งนี้โดยอาศัยเอกสาร Brief ลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1658 โดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 7 ชื่อเอกสารได้แก่ Super cathedram principis apostolorum
 
2. ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de La Motte) สังฆราชแห่งเบริธ รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาแห่งโคจินจีน (Cochinchina) และเป็นผู้บริหารแคว้นต่างๆ ของจีนดังนี้คือ แคว้น Tche-Kiang, Fo-Kien, Kouang-Tong, Kiang-Si, เกาะ Hay-Nan การแต่งตั้งนี้โดยอาศัยเอกสาร Bull  ลงวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1658 โดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 7 ชื่อเอกสารคือ Onerosa Pastoralis Officri
 
3. อิกญาซิอุส โคโตลังดี (Ignatius Cotolendi) รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาแห่งนานกิง (Nan-Kin) พร้อมกับเป็นผู้บริหารแคว้นต่างๆ ของจีนดังนี้คือ แคว้น Pekin, Chon-Si, Chen-Si, Chan-Tong และ Tartarie  ด้วยเอกสาร Bull "E Subtimi Sedis  Apostolicae"   ลงวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1660 และเป็นสังฆราชเกียรตินามแห่งเมแตล โลโปลิศ (Metelopolis) อย่างไรก็ตาม เราจะไม่เอ่ยถึงท่านผู้นี้มากนัก เนื่องด้วยท่านเสียชีวิตก่อนเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางจึงไม่มีบทบาทมาก ตำแหน่งสังฆราชแห่ง Metelopolis นี้ต่อมาได้กลายเป็นตำแหน่งของผู้แทนพระสันตะปาปาองค์แรกแห่งสยาม  นั่นคือ พระสังฆราชลาโน (Laneau) ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป
 
ประวัติย่อบุคคลสำคัญในเรื่องนี้
1.   ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต พระสังฆราชแห่งเบริธ
* 16 มกราคม ค.ศ. 1624 รับศีลล้างบาป ที่ ลีซีเออ
* 27 ธันวาคม ค.ศ. 1655 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์
* 17 สิงหาคม ค.ศ. 1658 รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเบริธ
* 2 มิถุนายน ค.ศ. 1660 รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่กรุงปารีส
* 18 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ออกเดินทางจากกรุงปารีส ถึงกรุงศรีอยุธยาวันที่ 22สิงหาคม ค.ศ. 1662
* 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 ถึงแก่มรณภาพที่กรุงศรีอยุธยา รวมอายุ 55 ปี
 
ท่านเกิดที่เมืองลีซีเออ วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1624 เป็นบุตรชายคนโตในครอบครัวมีพี่น้อง 4 คน น้องชายคนหนึ่งบวชเป็นพระสงฆ์ และตายในเรือในขณะที่เดินทางมาประเทศสยาม บิดาเป็นข้าราชการ ท่านได้เรียนที่วิทยาลัยของเยสุอิตที่เมืองควง ต่อมาท่านเรียนนิติศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้วไปทำงานเป็นที่ปรึกษาของศาลในเมืองรูอัง ในปี ค.ศ. 1655 ท่านคิดจะเป็นธรรมทูตในประเทศคานาดา จึงลาออกจากงาน บวชเป็นพระสงฆ์ปี ค.ศ. 1655 เวลานั้นท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเมืองรูอัง เมื่อไปปารีสท่านไปพักกับน้องชายที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะ "สหาย" จากคณะนั้นคุณพ่อลังแบรต์ได้ทราบความต้องการของมิสซังในเวียดนาม ท่านจึงสมัครไปเป็นเพื่อนร่วมงานของสังฆราชที่จะถูกส่งไป ต่อมาท่านได้เดินทางไปกรุงโรมเพื่อช่วยบรรดาพระสงฆ์ฝรั่งเศสที่ทูลขอพระสันตะปาปาให้ส่งสังฆราชไปประเทศเวียดนาม คุณพ่อลังแบรต์เป็นพระสงฆ์ที่เจริญชีวิตทางใจถึงขั้นสูง และได้เป็นเพื่อนร่วมงานกับนักบุญเอวแดส (EUDES) และอาจารย์อื่นๆ ที่ได้เป็นคนสำคัญในด้านชีวิตทางใจสมัยนั้น    คุณพ่อลังแบรต์ผู้นี้ได้เป็นผู้ก่อตั้งคณะ"รักไม้กางเขน"ฉะนั้นผู้ที่ต้องการศึกษาจิตตารมณ์เฉพาะของคณะ "ภคินีรักไม้กางเขน" จะต้องศึกษางานเขียนของท่านลังแบรต์และนักบุญเอวแดส รวมทั้งจิตตารมณ์ของคณะ "ธิดาเมตตาธรรม"
 
2. ฟรังซัว ปัลลือ พระสังฆราชแห่งเอลีโอโปลิศ
* 31 สิงหาคม ค.ศ. 1626 รับศีลล้างบาปที่เมืองตูรส์ เป็นบุตรของเอเจียน ปัลลือ ที่ปรึกษา ณ ศาลอุธรณ์คดีเช่าสามัญ ที่เมืองตูรส์ และนายกเทศมนตรีของเมืองนี้
 
* 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1658 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเอลีโอโปลิศ ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังตังเกี๋ย เป็นผู้บริหารมิสซังในประเทศจีน และประมุขมิสซังโฟเกียง (Fo-Kieng) ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่กรุงโรมวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1658
* 29 ตุลาคม ค.ศ. 1684 ถึงแก่มรณภาพที่เมืองโมยาง (Mo-Yang) ในมณฑลโฟเกียง
 
ท่านเป็นบุตรคนที่ 10 ของครอบครัว มีพี่น้อง 18 คน ใน 18 คนนี้ ลูกชาย 4 คนได้บวชเป็นพระสงฆ์ (เป็นเยสุอิต 2 คน) และลูกสาว 3 คนเป็นซิสเตอร์ บิดาของท่านเป็นเทศมนตรีของเมืองตูรส์ ฟรังซัว ปัลลือ ได้รับศีลล้างบาปวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1626 ท่านได้เรียนที่วิทยาลัยของเยสุอิตที่เมืองตูรส์ ต่อมาเรียนเทวศาสตร์นวิทยาลัยของเยสุอิตที่ปารีส ท่านเป็นคนศรัทธาได้เข้าคณะแม่พระซึ่งเป็นคณะกิจศรัทธาส่งเสริมความรักต่อพระนางมารีย์ ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์ปี ค.ศ. 1650 เมื่อบวชแล้วท่านเช่าบ้านร่วมกันกับเพื่อนพระสงฆ์ที่เข้าคณะ "สหาย" ด้วยกัน เพื่อฝึกชีวิตทางใจภายใต้การนำของคุณพ่อบาโค ผู้เป็นจิตตาธิการ ท่านได้ฟังคุณพ่อเดอ โรดส์  ที่ได้รับเชิญไปให้การอบรมแก่คณะ ท่านเป็นคนหนึ่งที่สมัครไปทำงานในมิสซังภาคเอเชียพร้อมกับเพื่อนหลายคน
 
3. อิกญาซิโอ โกโตลังดี พระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศ
* 23 มีนาคม ค.ศ. 1630 เกิดที่เมืองบรีญอล (วาร) บวชเป็นพระสงฆ์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1653 เจ้าอาวาสวัดแซงต์-มาเดอแลน ที่เมืองแอกส์
* 20 กันยายน ค.ศ. 1660 รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเมแตลโลโปลิศ และประมุข มิสซังนานกิง เดินทางไปภาคตะวันออกไกลในปี ค.ศ. 1661
* 16 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ถึงแก่มรณภาพที่ปาลากอล (Palacol) ห่างจากเมืองมาสุลีปากตัม 8 กิโลเมตร ขณะเดินทางไปยังมิสซังที่ได้รับมอบหมายให้ปกครอง
 
2. การร่วมมือของคริสตังในการไปเผยแพร่ความเชื่อ
ก่อนที่จะออกเดินทาง พระสังฆราชและผู้ร่วมงานกับท่านได้ตั้งสามเณราลัยเพื่อเป็นสถาบันที่จะอบรมและเตรียมธรรมทูตที่จะไปยังประเทศมิสซัง เนื่องจากยังขาดเงินประมาณ 12,000 วีเวรอะ เพื่อตั้งบ้านเณรดังกล่าว คณะ "ศีลมหาสนิท" ได้พิมพ์ใบปลิวบอกบุญ ใบนั้นชี้แจงสถานการณ์ในประเทศที่สังฆราชจะไปดังนี้ ในประเทศจีนมี 250 ล้านคน ที่ต้องนำความเชื่อสู่เขา, ที่ตังเกี๋ยมีคริสตังราว 300,000 คน และ 30,000 คน ในโคชินไชน่า
 
เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1650 ยังพิมพ์หนังสือเล่มเล็กอีก ซึ่งผู้เรียบเรียงคงเป็นพระคุณเจ้าปัลลือ หนังสือนี้มีชื่อว่า "สรุปเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับมิสซังในประเทศจีน" หนังสือเล่มนี้แสดงจิตตารมณ์และจุดมุ่งหมายของคณะธรรมทูตรุ่นแรก หลังจากได้เล่าสภาพความเป็นอยู่ในดินแดนมิสซังของภาคเอเชียแล้ว ผู้เขียนเสริมว่า "วิธีเดียวที่เร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหา (การแพร่ธรรม) ในประเทศเหล่านั้นคือ การส่งพระสังฆราชที่จะตั้งสามเณราลัยในดินแดนของคริสตังใหม่ บ้านเณรนั้นจะผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองเพื่อช่วยพระศาสนจักร และขยายเขตของพระศาสนจักรในท้องถิ่นนั้นออกไป"
 
หนังสือเล่มนี้ยังตอบคำถามที่ว่า ทำไมคริสตังต้องร่วมมือกับธรรมทูตที่สอนคนต่างศาสนาให้กลับใจ? ผู้เขียนเน้นถึงบทบาทของสังฆราชทั้งในฝรั่งเศสและเอเชีย เขียนว่า "หน้าที่ช่วยคนต่างศาสนาให้กลับใจ เป็นหน้าที่ของฝ่ายสงฆ์ก็จริง แต่ยังเป็นหน้าที่ของฆราวาส แม้จะไม่ปฏิบัติอย่างเดียวกัน พระเป็นเจ้าทรงต้องการให้คริสตังทุกคนมีเกียรติในการทำงานของพระองค์ เพื่อให้ทุกคนได้รับแบ่งบุญกุศล ในทุกสมัย เราเห็นตัวอย่างของฆราวาสที่ได้รับพระหรรษทานและความเร่าร้อนพิเศษจากพระเป็นเจ้า เพื่อรับใช้พระวรสาร ฉะนั้นเมื่อทุกคนมีเหตุผลที่บังคับให้ทำงาน เพื่อให้คนต่างศาสนากลับใจมาเป็นคริสตัง เราทุกคนจึงมีส่วนในงานดังกล่าวตามฐานะของตน"
 
ในหนังสือมีเขียนต่อไปว่า เพื่อให้สังฆราช 3 องค์ที่จะไปนั้น สามารถปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ จะต้องมีพระสงฆ์ผู้ช่วยคนละ 4 หรือ 5 องค์ ยังต้องมีฆราวาสใจศรัทธาเสียสละและชำนาญในการผ่าตัดรักษาคนป่วยบ้าง ในการวาดภาพบ้าง ในการเล่นดนตรีบ้าง ไปด้วย ต้องคิดถึงปัจจัยและวัตถุที่จำเป็น
 
ก. ต้องมีเงินค่าเดินทางประมาณ 2 ปีก่อนถึงที่ทำงาน
ข. ต้องมีเงินทุนสำหรับพระสงฆ์ที่สละรายได้ที่รับจากสังฆมณฑลในฝรั่งเศส เพื่อไม่เป็นพันธะแก่คริสตังใหม่
ค. ต้องเตรียมอาภรณ์และสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา
 
หนังสือสรุปดังนี้ว่า:
"เราเป็นหนี้บุญคุณความเชื่อที่เราอาศัยใจเมตตาของคนต่างชาติ ที่ได้นำความเชื่อนั้นมาสู่เราแต่ครั้งก่อน ควรแล้วที่เราปฏิบัติหน้าที่ซึ่งพระคุณอันใหญ่หลวงนี้บังคับเราให้ปฏิบัติ" กล่าวคือนำความเชื่อนั้นไปสู่คนต่างชาติเช่นกัน ฉะนั้น ครั้งก่อนโน้นเมืองเอเธนส์ได้ส่งนักบุญเดียวนิซีโอมาหาเราฉันใด เวลานี้กรุงปารีสเตรียมตัวจะส่งสังฆราชไปหาเมืองที่ไม่น้อยหน้าทั้งในด้านความยิ่งใหญ่ไพศาล และความมั่งคั่งฉันนั้น สังฆราชที่จะส่งนี้ได้รับส่วนแบ่งของเกียรติ พระคุณและภาระหน้าที่ของนักบุญเดียวนิซีโอสืบต่อกันมา จะรับผลงานสำเร็จในภาคตะวันออกเท่ากับเดียวนิซีโอได้รับ โดยพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วย อาศัยคำภาวนาของผู้สนใจในงานแพร่ธรรม สมณกระทรวงเผยแพร่ ความเชื่อต้องการส่งสังฆราชไปอย่างลับๆ เพราะกลัวปฏิกิริยาของโปรตุเกสได้แสดงความไม่พอใจในการแพร่ข่าวการเดินทางด้วยหนังสือเล่มนี้ แต่โรมไม่มีภาระจะหาเงินช่วยธรรมทูต จึงไม่รู้ว่าต้องการเงินมากถึงเท่าไหร่ ใครจะหาเงินได้ถ้าไม่เปิดเผยความต้องการ
 
3. การออกเดินทางมาเอเชีย
เมื่อได้จัดการเรื่องสามเณราลัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว สังฆราชและธรรมทูตร่วมทีมทะยอยออกเดินทาง ท่านปฏิบัติตามความประสงค์ของสมณกระทรวงที่ได้ขอให้ไปอย่างลับๆ และหลีกเลี่ยงดินแดนที่ชาวโปรตุเกสอยู่ การเดินทางเช่นนี้จะกินเวลา 3 เท่า เปรียบกับการโดยสารทางเรือและ     จะยากเหลือเกินดังจะพูดต่อไปนี้:
 
กลุ่มแรกที่ออกเดินทาง คือ พระคุณเจ้าลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต สังฆราชแห่งเบริธ ผู้รับแต่งตั้งปกครองเทียบสังฆมณฑลโคชินไชน่า และภาคใต้ของประเทศจีน และพระสงฆ์อีก 2 องค์ (มีปริญญาเอกทางเทวศาสตร์ทั้งสององค์) ทั้งสามองค์ออกเดินทางจากเมืองท่า Marseilles วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 ผ่านเกาะมอลตา ไซปรัส ประเทศซีเรีย เปอร์เซีย อินเดีย ทะเลแบงคอล        ถึงประเทศสยามที่เมืองตะนาวศรี ในที่สุดถึงกรุงศรีอยุธยาวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ในการเดินทางครั้งนี้ใช้เวลา 22 เดือน และเคราะห์ดีเขาถึงทั้ง 3 คน
 
กลุ่มที่สอง คือ พระคุณเจ้าอิกญาซิโอ โกโตลังดี สังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศ ผู้รับแต่งตั้งปกครองเทียบสังฆมณฑลนานกิง ประเทศจีน และพระสงฆ์ 2 องค์ ฆราวาส 1 คน ทั้ง 4 ลงเรือที่เมืองเดียวกันวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1661 (9 เดือนหลังกลุ่มแรก) เดินทางไปตามเส้นทางเดียวกัน แต่ใน 4 คนนี้เสียชีวิต 2 คนกลางทาง คือ ฆราวาสตายก่อนในเปอร์เซีย และสังฆราช ตายในอินเดีย พระคุณเจ้าปัลลือจะพบพระสงฆ์ 2 องค์ที่เหลือในอินเดีย เขาจะร่วมเดินทางต่อไปกับท่าน
 
กลุ่มที่สาม คือ พระคุณเจ้าปัลลือ สังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศ ผู้รับแต่งตั้งปกครองเทียบ    สังฆมณฑลตังเกี๋ย และภาคตะวันตกของประเทศจีน กับพระสงฆ์ 7 องค์ ฆราวาส 2 คน รวมกันมี 10 คน(รวมทั้งคุณพ่อลาโนด้วย) เดินทางไปตามเส้นทางเดียวกัน แต่กลุ่มนี้จะประสบเคราะห์ร้ายกว่าเพื่อน ใน 10 คนนี้จะถึงจุดหมายปลายทางเพียง 4 คน อีก 6 คนจะตายกลางทาง ถึงกรุงศรีอยุธยาวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1664 ใช้เวลาเดินทาง 2 ปี กับ 3 อาทิตย์ พระสงฆ์จากกลุ่มที่ 2 ที่สมทบกลุ่มที่ 3        ได้เดินทาง 28 เดือน
 
สรุปแล้วธรรมทูตออกจากฝรั่งเศส 17 คน จะถึงประเทศสยาม 9 คน ตายกลางทาง 8 คน การเดินทางตามเส้นทางที่สมณกระทรวงกำหนดไว้นั้นลำบากเหลือเกิน พระคุณเจ้าปัลลือได้เขียนจากอินเดียถึงสตรีใจบุญในฝรั่งเศสว่า "เราได้เริ่มทอดสะพานระหว่างยุโรปกับเอเชีย ข้าพเจ้าจะยินดีมากทีเดียวที่ถวายร่างกายและกระดูกของข้าพเจ้า รวมทั้งของลูกที่รักของข้าพเจ้า (ธรรมทูต) ใช้เป็นเสาให้สะพานนั้นแข็งแรงเพื่อเปิดทางเตรียมให้ธรรมทูตใจกล้าจะได้ผ่านในอนาคตต่อไป"
 
เรายังไม่ได้พูดถึงประเทศสยาม     เพราะว่าประเทศนี้ยังไม่ได้อยู่ในแผนการของสมณ กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ทีแรกสังฆราชคิดว่าจะมาถึงอินเดียและจากนั้นจะไปเมืองจีนโดยผ่านประเทศพม่า แต่เนื่องจากทางนั้นมีอุปสรรคทางธรรมชาติมากมาย ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาประเทศสยาม
 
ต่อไปนี้เป็นเส้นทางการเดินทางมาสู่สยามของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ซึ่งออกเดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อฌัง เดอ บูร์ช และคุณพ่อฟรังซัว เดดิเอร์ ทั้งสามออกเดินทางมาตามเส้นทางที่สมณกระทรวงได้ชี้นำเอาไว้ คุณพ่อเดอบูร์ชได้บันทึกการเดินทางครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และนับเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญมาก กรมศิลปากรได้จัดแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้ด้วยเมื่อปี พ.ศ. 2530 ชื่อหนังสือคือ "จดหมายเหตุการเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ ประมุขมิสซัง สู่อาณาจักรโคจินจีน" ผมจึงจะขอคัดเฉพาะตอนที่น่าสนใจเพื่อจะได้ใช้ศึกษาต่อไป โดยคัดส่วนหนึ่งของบทที่ 2 ของบันทึกนี้
 
เส้นทางการเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ
ท่านออกจากปารีสวันที่ 18 กรกฎาคม โดยมีบาทหลวงในปกครององค์หนึ่งและคนรับใช้อีกคนหนึ่งติดตามไป... ทันทีที่มาถึงเมืองลิยอง ท่านสังฆราชก็ล้มป่วย ทำให้ต้องนอนซมอยู่ในเตียงถึง 52 วัน และอาการป่วยถึงขั้นหนักมากเนื่องจากท่านไม่รู้สึกตัวเลยเป็นเวลา 2 วัน จนถึงขั้นได้รับศีลเสบียงและศีลทาสุดท้าย อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของท่านกลับดีขึ้นราวกับปลิดทิ้งดังปาฏิหาริย์
 
ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางต่อไปทางแม่น้ำโรน มาถึงเมืองมาร์เซย ท่านออกจากเมืองมาร์เซยวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 ถึงเกาะมอลต้าในวันที่ 23 ธันวาคม พักอยู่ที่นั่น 18 วัน โดยการต้อนรับจากบาทหลวงฝรั่งเศสคณะเยสุอิต จากนั้นเดินทางต่อไปถึงเกาะชีพในวันที่ 28 ธันวาคม ออกจากเกาะชีพวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1661 มาถึงเมืองอเล็กซองแดรตวันที่ 11 เดือนเดียวกัน        จากเมืองอเล็กซองแดรตก็เดินทางไปที่ไบลานวันที่ 21 มกราคม ถึงเมืองอองติยอช จากเมือง         อองติยอชซึ่งอยู่ในประเทศตุรกี เดินทางด้วยเท้าถึงเมืองอองซาร์ตอนเที่ยงและพักผ่อนอยู่ที่นี่จนถึงวันรุ่งขึ้น    หลังจากนั้นก็เดินทางลงมาที่เมืองอาเลปในวันฉลองนักบุญเซนต์ปอลกลับใจเปลี่ยนศาสนา จากเมืองอาเลป คณะสังฆราชเข้าร่วมกองคาราวาน จุดหมายคือบาบิโลน โดยต้องละทิ้ง     ทุกสิ่งทุกอย่างที่นำติดตัวมาจากฝรั่งเศสทั้งหมด แล้วแต่งตัวแบบชาวตุรกีและโพกผ้าบนศีรษะ   วันที่ 3 กุมภาพันธ์    เราตั้งค่ายพักแรมกลางทุ่งนาซึ่งห่างจากเมืองอาเลป 1 ลิเยอ
 
วันรุ่งขึ้นกองคาราวานก็มาถึงเมืองอิสาบู วันที่ 14 มาถึงแม่น้ำเออฟราต (ยูเฟรติส) จากแม่น้ำเออฟราตวันรุ่งขึ้นจึงมุ่งสู่แคว้นเมโสโปเตเมีย และหยุดพักริมฝั่งแม่น้ำนี้ 3 วัน วันที่ 18 เราเดินทางต่อไปจนถึงวันที่ 23 มาถึงเมืองอันนา พักอยู่ที่นั่นจนถึงวันที่ 26 จึงเริ่มออกเดินทางต่อและมาถึงเมืองบาบิโลนวันที่ 4 มีนาคม เราได้ไปยังที่พักของนักบวชคณะคาปูซีนฝรั่งเศส วันที่ 16  มีนาคม          เราเดินทางไปเมืองบัฟฟอราด้วยเรือบนแม่น้ำไทกริส วันที่ 29 เรามาถึงเมืองคอร์นาซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำยูเฟรติสมาบรรจบกับแม่น้ำไทกริส     ออกจากเมืองคอร์นาวันที่ 30   และมาถึงคลองบัฟฟอรา ตอนออกจากเมืองบัฟฟอราวันที่ 22 เมษายน   มุ่งสู่บันดารีซึ่งเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งบนอ่าวเปอร์เซีย ห่างจากเมืองบัฟฟอราประมาณ 3 ไมล์    ถึงบันดารีวันที่ 27 เดือนเดียวกัน  หลังจากพักอยู่ที่เมืองบันดารีเป็นเวลา 3-4 วันเราก็เดินทางมุ่งสู่เมืองชีราส    โดยใช้เส้นทางเกวียน            โดยเดินทางกลางคืนและหยุดพักกลางวัน  วันที่ 10 พฤษภาคม   เราออกเดินทางจากเมืองคาลเซรอนถึงเมืองชีราสตอนเที่ยงวันที่ 14 เดือนเดียวกัน   วันที่ 20 พฤษภาคม   เราเดินทางเท้าออกจากเมือง     ชีราสต่อไปในตอนกลางคืน   และมาถึงเมืองฮิสปาฮามเมื่อวันที่ 11   มิถุนายนตอนพระอาทิตย์ขึ้น ความตั้งใจแรกของเราคือ หาวิธีที่จะเดินทางต่อไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ความตั้งใจครั้งนี้สัมฤทธิผล เราจึงได้หารือกับผู้อาวุโสที่สุดและผู้มีประสบการณ์ในการเดินทางมากที่สุด ซึ่งพวกเขาต่างเห็นด้วยทุกประการว่าเส้นทางทางบกที่นี่ไปถึงประเทศจีนยากลำบากมาก
 
เราออกจากเมืองฮิสปาฮามพร้อมนายตำรวจของอังกฤษ และมาถึงเมืองชีราสวันที่ 8 ตุลาคม เราหยุดพักที่ชีราสเป็นเวลา 4 วัน และวันที่ 20 เราก็มาถึงลอรา หลังจากหยุดพักที่นี่ 1 วัน เราก็ออกเดินทางต่อจนถึงเมืองโดเมรอนเมื่อวันที่ 30 เดือนเดียวกัน เส้นทางช่วงนี้เราใช้เวลาเดินทาง 30 วันและหยุดพัก 5 ครั้ง จากเมืองโดเมรอนลงเรือต่อไปยังเมืองสุหรัต เราเดินทางมาถึงท่าเรือเมืองสุอะลี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสุหรัตโดยใช้ระยะเดินทาง 4 หรือ 5 วัน
 
เราออกจากเมืองสุหรัตเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1662 เราได้ผ่านหัวเมืองต่างๆ ของอาณาจักรมองโกลในช่วงเวลา 41 วัน ของการเดินทางด้วยเกวียน และวันที่ 6 มีนาคม เราก็มาถึงเมืองมาสุลีปาตัน ได้ทันลงเรือมอร์ซึ่งขณะนั้นจะเดินทางไปเมืองตะนาวศรี เราพักอยู่ที่มาสุลีปาตัน 20 วัน มีชาวคาทอลิกเคร่งศาสนาหลายคน เช่น บาทหลวงเอเฟรม (Ephrem) และบาทหลวงเซนง (Zenon) นักบวชคณะคาปูซีน ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองมัดราสปาตันเมืองหน้าด่านของอังกฤษ ได้เชื้อเชิญให้เราไปเยี่ยม ทั้งได้รับรองแก่เราว่าถ้าเราจะเลื่อนการเดินทางออกไปจนถึงเดือนสิงหาคมก็จะเป็นการดี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะและการเดินเรือมีอันตรายน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เรามีความปรารถนาที่จะไปเผยแพร่ศาสนาจึงไม่อาจเลื่อนการเดินทางต่อไปได้ เราจึงลงเรือมอร์ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองมาสุลีปาตันในวันที่ 26 มีนาคม การเดินเรือเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีพายุ เราใช้เวลาเดินทางในช่วงนี้ 33 วัน และในวันที่ 28 เมษายน เราก็ขึ้นบกที่เมืองมะริด (Merguy) ซึ่งอยู่ห่างจากตะนาวศรี 25 ลิเยอ
 
วันที่ 30 มิถุนายน เราเริ่มเดินทางสู่เมืองหลวงของอาณาจักรสยามซึ่งมีชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ยุธยา (Ioudia) และเราเรียกว่าสยาม เราล่องเรืออยู่ในแม่น้ำพร้อมเรือเล็กมุงใบปาล์ม 3 ลำ แต่ละลำมีลูกเรือประจำ 3 คน ในที่สุดเราทั้งหมดก็มาถึงหมู่บ้านกลางหุบเขาเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์คือ หมู่บ้าน Ialinga วันที่ 27 กรกฎาคม เราออก
 
จากหมู่บ้านนี้และ 3 วันต่อมา เราก็มาถึงหมู่บ้านแม่น้ำ หลังจากใช้เวลา 2-3 วัน เดินทางออกจากหมู่บ้านแม่น้ำโดยผูกล้อเกวียนไว้เพื่อลงจากภูเขาสูงชันมากลูกหนึ่ง 6 วันต่อมา เราก็มาถึงเมืองรูปร่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ เมืองหนึ่งชื่อ Couir (เข้าใจว่าเมืองกุยบุรี)     2 วันต่อมา เรามาถึงเมืองปราณบุรี เราต้องแสดงใบเบิกทางอีกครั้งหนึ่ง จากเมืองปราณบุรีเรามาถึงเมืองเพชรบุรีวันที่ 13 สิงหาคม วันรุ่งขึ้นเราได้ลงเรือลำหนึ่งที่ตระเตรียมไว้เพื่อนำเราสู่กรุงสยาม
 
เมืองหลวงของอาณาจักรสยาม โดยต้องเสียค่าระวางพาหนะ 15 เอกู เราเสียเวลาเกือบ 1 วันเต็มในการเดินทางไปลงเรือ และเดินทางเท้าต่ออีก 24 ชั่วโมง จึงมาถึงปากน้ำใหญ่อันสวยงามของสยาม ต่อจากนั้นเราก็ลงเรือทวนแม่น้ำขึ้นไปจนกระทั่งถึงกรุงสยามในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน
 
การเดินทางด้วยเส้นทางนี้ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าเดิมมาก และประสบกับปัญหานานาประการ อย่างไรก็ตาม มิชชันนารีทั้งหมดก็เดินทางมาถึงอยุธยา จากการศึกษาเอกสารของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส คุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ ได้บรรยายถึงสภาพของคริสตศาสนาในสยามไว้ดังนี้
 
"ปี ค.ศ. 1662 พระสงฆ์คาทอลิกที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีจำนวน 11 องค์ เป็นเยสุอิต 4 องค์ โดมินิกัน 2 องค์ ฟรังซิสกัน 2 องค์ กับพระสงฆ์ที่มิใช่นักพรต 3 องค์ นอกจากองค์หนึ่งหรือสององค์เป็นชาวสเปนแล้วองค์อื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นชาวโปรตุเกส ท่านคอยดูแลเอาใจใส่คนร่วมชาติของท่านเกือบจะพวกเดียวเท่านั้น พระสงฆ์แต่ละคณะมีโบสถ์น้อยเฉพาะคณะของตน แต่เปิดรับสัตบุรุษทั่วไป พระสงฆ์ที่มิใช่นักพรตก็มีโบสถ์น้อยหลังหนึ่งเช่นเดียวกัน ชาวคาทอลิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปหรือครึ่งชาตินั้น มีจำนวนราว 2,000 คน สภาพฝ่ายวิญญาณของกลุ่มคริสตชนน้อยๆ    ที่กรุงศรีอยุธยานี้ มิชชันนารีทั้งสามที่มาถึงใหม่มีความเห็นว่า "แย่มาก"
 
ในหนังสือบันทึกของคุณพ่อเดอ บูร์ช เองก็ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจพร้อมทั้งข้อสังเกตด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพทั่วๆ ไปของคริสตศาสนาเวลานั้นได้มากขึ้นในบทที่ 13 ท่านบรรยายไว้ว่าดังนี้
 
"ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลกที่มีศาสนามากมาย   และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรี เท่ากับประเทศสยาม พวกนอกศาสนา ชาวคริสต์ หรือชาวมุสลิมซึ่งล้วนแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่างๆ มีเสรีภาพในการประกอบพิธีทางศาสนาที่ตนเห็นว่าดีที่สุด มีชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลแลนด์ จีน ญี่ปุ่น มอญ เขมร มลายู โคจินจีน จำปา และชนชาติอื่นๆ ทางเหนือเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามมากมาย ในจำนวนนี้มีชาวคาทอลิกอยู่เกือบ 2,000 คน ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่ที่ถูกขับไล่มาจากที่ต่างๆ ของอินเดีย ได้อพยพเข้ามาขอลี้ภัยอยู่ในสยามโดยสร้างบ้านเรือนอยู่แยกออกไปกลายเป็นชานเมือง พวกเขามีโบสถ์กลาง 2 แห่ง โบสถ์หนึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบาทหลวงคณะเยสุอิต และอีกโบสถ์หนึ่งของบาทหลวงคณะเซนต์โดมินิก ชาวโปรตุเกสมีเสรีภาพทางศาสนามากเท่าที่ยังมีที่เมืองกัว คือสามารถประกอบพิธีทางศาสนา เทศน์ หรือสวดมนต์ได้โดยที่พวกนอกศาสนาไม่กล้าขัดขวาง
 
ปรากฏว่ามีชายผู้หนึ่งที่ไม่ค่อยฉลาดนัก ได้หัวเราะเยาะชาวคริสต์ที่กำลังเข้าร่วมในพิธีหนึ่งอยู่ ชาวโปรตุเกสผู้ศรัทธาในพระเป็นเจ้ามากคนหนึ่งรู้สึกโกรธจึงเข้าต่อยชายผู้นั้น ต่อมาชายผู้นั้นได้ร้องทุกข์ต่อราชสำนักว่าชาวโปรตุเกสคนนี้อวดดี โดยเชื่อว่าในฐานะตนเป็นพสกนิกรขององค์พระมหากษัตริย์ รัฐจะต้องจัดการเรื่องนี้ให้ แต่เขาก็ไม่ได้รับการสนองตอบแต่อย่างใด นอกจากเรียนรู้ถึงการดำเนินชีวิตอยู่และการไม่บังควรก่อความยุ่งยากให้กับผู้กำลังปฏิบัติกิจทางศาสนาอีก
 
บางครั้งเคยสอบถามว่า ทำไมพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงมีพระทัยโอบอ้อมอนุญาตให้มีศาสนามากมายอยู่ในอาณาจักรและเมืองหลวง    เนื่องจากนโยบายการปกครองที่เป็นที่ยอมรับกันมานานคือ   จะต้องมีศาสนาเดียวเพราะเมื่อมีศรัทธาหลายประเภทและมีมากขึ้นทุกที   จะทำให้เกิดความขัดแย้งและปัญหามากมายอันจะนำไปสู่ความไม่สงบสุขภายในประเทศได้ ข้าพเจ้าได้รับคำตอบว่า พระองค์ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง
 
  กล่าวคือ   เนื่องจากทรงเล็งเห็นผลประโยชน์ใหญ่ยิ่งจากการที่ชาวต่างชาติเข้ามาพำนักอยู่ในแผ่นดินของพระองค์โดยเพื่องานศิลป เพื่อค้าขาย    หรือเพื่อนำสินค้าเข้า   พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าโดยพระราชทานเสรีภาพให้เท่าเทียมกันทุกคน    เหตุผลประการหนึ่งคือ   ความคิดของชาวสยามที่ว่าทุกศาสนาดี    ดังนั้นพวกเขาจึงไม่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นใดหากศาสนานั้นๆ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้กฎหมายของรัฐ
 
พระคุณเจ้าปัลลือถึงกรุงสยาม
วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 พระคุณเจ้าปัลลือ พระสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศ ประมุขมิสซังตังเกี๋ย ผู้ปกครองมิสซังส่วนหนึ่งของประเทศจีน ทั้งเป็นผู้ตั้งคณะมิสซังต่างประเทศคนสำคัญร่วมกับพระคุณเจ้าลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่เดินทางมาพร้อมกับท่านคือ มิชชันนารีที่เป็นพระสงฆ์สามองค์ ได้แก่ คุณพ่อลาโน (Laneau) คุณพ่อแฮงก์ (Hainques) และคุณพ่อแบร็งโด (Brindeau) กับผู้ช่วยที่เป็นฆราวาสองค์หนึ่งชื่อ เดอ ชาเมอ ซ็อง-ฟัวซี (de Chameson - Foissy) คุณพ่อลาโนองค์เดียวเท่านั้นจะอยู่ในกรุงสยามแทนคุณพ่อเดดีเอร์ ที่จะไปอยู่ประเทศตังเกี๋ย คุณพ่อแฮงก์จะไปทำงานในประเทศโคจินจีน คุณพ่อแบร็งโดเมื่ออยู่สักพักแล้วจะไปประเทศจีน   แต่ก็ถูกชาวโปรตุเกสขัดขวางจนไปไม่ได้ ส่วนนายเดอ ชาเมอ ซ็อง นั้นจะอยู่กับพระคุณเจ้าปัลลือ และจะติดตามท่านเดินทางไปในที่ต่างๆ
 
การที่พระคุณเจ้าปัลลือมาพักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเช่นนี้ ทำให้พระคุณเจ้าลังแบรต์ เดอ ลาม็อต มีกำลังใจเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก และก็เป็นที่รู้สึกได้ในทันที เรื่องนี้เห็นได้ทั้งในการพิจารณาปัญหาทั่วไปและในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องราวของมิชชันนารีฆราวาสคือ de Chameson-Foissy นี้มีบันทึกไว้อย่างละเอียดในหนังสือ Relation des Missions et des Voyages des Eveques Vicaires Apostoliques et de leurs Ecclesiastiques en Annee 1672, 1673, 1674 et 1675 ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดแปลไว้แล้วในปี พ.ศ. 2523 ใช้ชื่อหนังสือว่า "จดหมายเหตุการแพร่ศาสนาและการเดินทางของบรรดาพระสังฆราช ประมุขมิสซัง และของพระสงฆ์ในปกครอง ในปี ค.ศ.1672-ค.ศ.1675."
 
4. ความขัดแย้งระหว่างปาโดรอาโด กับผู้แทนพระสันตะปาปา
หลังจากสังคายนาที่เมืองเตรนโต สันตะสำนักตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบในการแพร่ธรรมแทนที่จะปล่อยให้อยู่ในมือของโปรตุเกสและสเปน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1622 สมณ กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อก็ถูกก่อตั้งขึ้น และในปี ค.ศ. 1658 คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่ง     กรุงปารีสก็ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยความคิดริเริ่มของพระสงฆ์เยสุอิตท่านหนึ่งคือ   คุณพ่อ             อเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ คุณพ่อเดอ บูร์ช กล่าวไว้ว่ามีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการ ที่ทำให้พระสงฆ์ของคณะนี้มั่นใจถึงการปฏิรูปทางศาสนาในครั้งนี้
มีสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ทำให้บาทหลวงเหล่านั้นมั่นใจในการฟื้นฟูเรื่องนี้คือ
 
ประการแรก    ข่าวแน่นอนที่ได้รับเมื่อปี ค.ศ. 1656    เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของคริสตศาสนาและอันตรายที่คุกคามกลุ่มชาวคริสต์ต่างๆ    ในอาณาจักรตังเกี๋ย อันเนื่องมาจากการถูกเบียดเบียนอย่างร้ายแรงโดยการเนรเทศนักบวชคณะเยสุอิตทั้งหมด ซึ่งเป็นนักบวชกลุ่มเดียวที่มีอยู่ให้ออกไปจากอาณาจักร
 
ประการที่สอง คือการสมณภิเษกสมเด็จพระสันตะปาปาเอ็น แอส เป อเล็กซองค์ ที่ 7 ผู้มีความเพียรพยายามสนับสนุนโครงการที่มุ่งขยายพระศาสนาให้กว้างไกลออกไป
 
ประการที่สาม คือคำขอร้องจากบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมในการตั้งโครงการส่งพระสังฆราชจากยุโรปไปอาณาจักรตังเกี๋ยและอื่นๆ ของคุณพ่อเดอ โรดส์ นั่นคือการเสนอให้มีการพิจารณาโครงการนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อทราบว่าบรรดามิชชันนารีที่พวกเขาทำการติดต่อด้วยหลายครั้งกำลังแวะมาที่กรุงโรม พวกเขาจึงขอร้องให้หารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และให้สัญญากับสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อว่าที่ปารีสก็ให้การสนับสนุนงานที่มีความสำคัญยิ่งต่อวิญญาณหลายๆ ดวง และเกียรติยศของพระศาสนจักรแล้ว
 
นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และคณะสงฆ์มิสซังต่าง ประเทศแห่งกรุงปารีสเอง ต่างก็มองเห็นว่าการทำงานแพร่ธรรมของตนเองในท่ามกลางระบบ       ปาโดรอาโดนี้เป็นการปฏิรูปอย่างหนึ่ง    นั่นหมายถึงว่าจะต้องมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เพื่อวิญญาณและพระศาสนจักร  ต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ จากการบอกเล่าของ      คุณพ่อเดอ บูร์ช เมื่อพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เดินทางมาถึงตะนาวศรี หรือ Tenasserim เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1662 ท่านได้พบกับพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสคณะเยสุอิตองค์หนึ่ง ชื่อคุณพ่อ      คาร์โดโซ (CardoZo) ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขตวัด 2 วัดด้วยกันที่นั่น และให้การต้อนรับพวกท่านเป็นอย่างดียิ่ง คุณพ่อคาร์โดโซเชิญพระคุณเจ้าให้โปรดศีลกำลังแก่คริสตชนที่นั่นด้วย
 
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสถกเถียงด้านศาสนากับพระภิกษุของพุทธศาสนาด้วย ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า ตาลโปย (Talapoins) พระภิกษุเหล่านี้ถือว่าศาสนาคริสต์นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องเปลี่ยนศาสนา เวลาเดียวกันคุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ ในหนังสือประวัติมิสซังสยาม ได้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า พวกมิชชันนารีได้เรียนรู้ว่าการพูดจาโต้แย้งกันนั้นเป็นวิธีที่จะชักนำชาวตะวันออกให้มานับถือพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้ได้แต่น้อยคน
 
มิชชันนารีทั้งสามเดินทางจากตะนาวศรีมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา    และมาถึงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ท่านได้รับการต้อนรับให้อยู่ในบ้านของชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง   พร้อมกับมีหวังจะได้เตรียมตัวเดินทางไปยังโคจินจีน อันเป็นประเทศที่ท่านได้รับมอบหมายให้ไปประกาศพระวรสาร แต่มิช้าก็ทราบว่ามิสซังทั้งสองคือโคจินจีนและตังเกี๋ยกำลังถูกเบียดเบียนอย่างหนัก และไม่มีโอกาสจะเดินทางเข้าไปได้อย่างเด็ดขาด ท่านจึงจำใจต้องคอยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาให้เหตุการณ์ดีขึ้นเสียก่อน อันที่จริงสยามก็เอื้ออำนวยให้ท่านพักอยู่ได้เป็นเวลานานและสงบ
 
ข่าวการเดินทางมาถึงอยุธยาของพระสังฆราชและคณะแพร่ธรรม กระจายเข้าไปในค่ายโปรตุเกสอย่างรวดเร็ว    ชาวคาทอลิกจำนวนมากเข้ามาคำนับและแสดงความยินดีตามขนบ         ธรรมเนียมของประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นการยากสำหรับพวกเขาที่จะยอมรับว่าพวกพระสังฆราช   มีอำนาจหน้าที่เหนือพวกตน คุณพ่อเดอ บูร์ช ได้บรรยายการมาถึงของพวกท่านไว้ว่าดังนี้    "ยังไม่ทันที่พระสังฆราชแห่งเบริธจะมาถึงกรุงสยาม ข่าวการมาของท่านก็แพร่ออกไปในถิ่นชาวคาทอลิก ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมาถึง ท่านสังฆราชจึงต้องไปคารวะท่านหัวหน้าแห่งชาติโปรตุเกส ซึ่งให้การต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง และยังเป็นธุระจัดหาที่พักให้ใกล้เคียงกับที่พักของตน    อีกด้วย โดยได้แจ้งข่าวการมาถึงของท่านสังฆราชไปยังคณะบาทหลวงและนักบวชที่อยู่ในเมืองนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็พากันมาคารวะท่านสังฆราชตามธรรมเนียมของบ้านเมือง
 
หลังจากการเข้าเยี่ยมตามประเพณีแล้ว เราก็นึกถึงแต่เรื่องการพักผ่อนซึ่งการแวะพำนักในกรุงสยามครั้งนี้จะพักผ่อนได้ นับเป็นเวลากว่าปีมาแล้วที่พวกเราได้เดินเท้าและเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า และจิตใจก็หมองมัว ด้วยเหตุนี้เราจึงคิดว่าจะขอตัวจากการสนทนาและหาความสันโดษ ตัวท่านสังฆราชเองได้ทำให้เราดูเป็นตัวอย่างรายแรก ด้วยการขอเข้าเงียบเป็นเวลา 1 เดือน ในช่วงเวลานี้ท่านก็ขะมักเขม้นกับการคาดคะเน และเตรียมการเกี่ยวกับงานเผยแพร่ศาสนาที่รับผิดชอบอยู่ไว้ล่วงหน้า และงานนี้ก็ใกล้ตัวท่านเข้ามาแล้ว ส่วนเรานั้นก็พากันปฏิบัติตามอย่างพระสังฆราชบ้าง ภายหลังจากได้ฟื้นฟูตนเองจากการฝึกเข้าเงียบแล้ว ความเอาใจใส่และภารกิจของเราก็คือการทุ่มเทเวลาอยู่กับการอ่าน และเรียนภาษาจีน และภาษาโคจินจีนของประเทศที่อยู่ห่างจากเราโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น พระเป็นเจ้าทรงดลบันดาลให้เราได้พบกับชาวจีนและชาวโคจินจีน   ที่เป็นคาทอลิกสองคนที่เข้าใจภาษาโปรตุเกส และอุทิศตัวช่วยสอนภาษาทั้งสองนั้นให้กับเรา
 
เราได้ทราบจากคาทอลิกทั้งสองว่า ในกรุงสยามมีชาวโคจินจีนอยู่มาก ซึ่งบ้างก็เป็นคาทอลิก บ้างก็บูชารูปเคารพ และบ้างก็ไม่นับถือศาสนาใดเลย จากความรู้ที่ได้รับมาดังกล่าวนี้ พระสังฆราชแห่งเบริธจึงคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องเริ่มต้นงานเผยแพร่ศาสนานับแต่บัดนี้ โดยให้การอบรมแก่บรรดาชาวโคจินจีนคาทอลิกที่อยู่ในความดูแลของท่าน
 
ด้วยเหตุนี้ หลังจากทำการสำรวจตามสมควรแล้ว ท่านก็พบว่าชาวโคจินจีนที่เป็นคาทอลิก   มีประมาณ 100 คน หลังจากนั้นเราก็พิจารณาถึงวิธีการที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน อันเป็นวิถีทางแห่งชีวิตในนิรันดรให้แก่ชาวโคจินจีนคาทอลิกเหล่านี้"
 
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   พระสังฆราชและคณะได้สังเกตเห็นว่าสภาพวิญญาณของ    คริสตชนที่นี่อยู่ในสภาพที่เรียกว่าแย่มาก    ในที่สุดพวกท่านจึงตัดสินใจแยกตัวออกมาอยู่ในที่อื่น    ซึ่งเข้าใจว่าคงอยู่ในค่ายชาวญวน
 
อันที่จริงจากเอกสารของคณะ คุณพ่อโลเนย์ได้ชี้ให้เห็นว่าพวกโปรตุเกสไม่ยอมรับอำนาจของท่าน (สังฆราช) เลย จนกระทั่งมีการจับกุม แต่ในที่สุดก็ปล่อยตัวพวกท่าน พวกเขาได้แต่ปลุกปั่นคริสตชนไม่ให้เชื่อถึงอำนาจของพระสังฆราช เกี่ยวกับเรื่องความเป็นศัตรูกับพระสังฆราชของชาวโปรตุเกสนี้ คุณพ่อโลเนย์ได้บรรยายว่า
 
"อันที่จริง พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต กับพระสงฆ์สององค์ที่มาด้วยไม่มีอำนาจปกครองแท้ๆ เหนือพระราชอาณาจักรสยาม แต่ตามนัยแห่งอำนาจที่ได้รับ ท่านประกอบศาสนกิจต่างๆ ได้ ระหว่างที่เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมายังมิสซังของท่าน ท่านได้ปฏิบัติเช่นนี้ในประเทศเปอร์เชียและประเทศอินเดียมาแล้ว และตัดสินใจจะปฏิบัติเช่นเดียวกันในกรุงสยามพร้อมๆ กับเตรียมตัวเดินทางไปประเทศญวน และจีนด้วย
 
เพื่อชักนำพระพรของพระเป็นเจ้าลงมายังงานของท่าน อีกทั้งเพื่อชุบตัวใหม่ในกิจปฏิบัติต่างๆ ของชีวิตนักบวช ซึ่งท่านบำเพ็ญไม่ได้เต็มที่ระหว่างที่เดินทางอย่างยากลำบากเป็นเวลานานถึงสองปี ทั้งสามได้ทำการเข้าเงียบ 40 วัน เมื่อเข้าเงียบแล้ว ท่านได้ลงมือเรียนภาษาโปรตุเกส             ซึ่งจำเป็นต้องรู้เพื่อสามารถติดต่อกิจธุระประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่
 
พอเริ่มพูดภาษานี้ได้ ทั้งสามท่านก็มองออกว่า ชาวโปรตุเกสมีความรู้สึกภายในใจอย่างไร เขาแพร่ข่าวใส่ความ กล่าวหาว่าท่านไม่มีอำนาจฝ่ายวิญญาณแต่อย่างใด และประนามท่านว่าเป็นคนหลอกลวง ท่านยังทราบด้วยว่าเพิ่งมีคำบัญชามาจากกรุงลิสบอนและเมืองกัว (Goa) สั่งให้จับท่าน หรือมิฉะนั้นก็ขัดขวางมิให้ท่านเข้าไปในมิสซัง และมิให้รับรู้อำนาจของท่าน ก็เป็นอันว่าศึกที่เริ่มทำกันในยุโรปมาแล้ว บัดนี้มาทำกันต่อไปบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่เริ่มที่มีการพูดถึงเรื่องส่งสังฆราชฝรั่งเศสมายังภาคตะวันออกไกลทีเดียว
 
ประเทศโปรตุเกสนั้นหวงแหนยิ่งนักในสิ่งที่เขาเรียกว่า "สิทธิอุปถัมภ์" หมายถึงประมวลเอกสิทธิ์ต่างๆ ที่ได้รับจากพระสันตะปาปา เขาอ้างว่าคนที่เป็นชาติโปรตุเกสพวกเดียวเท่านั้นเป็นสังฆราชในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (Indes) หรือภาคตะวันออกไกลได้ และโดยเหตุผลทางการเมืองและการค้ามากกว่าทางศาสนา เขาไม่ยอมให้ผู้แพร่ธรรมจากประเทศของเรา (ฝรั่งเศส) ทำงานอยู่ใกล้มิชชันนารีของเขา
 
ชาวคาทอลิกโปรตุเกส ไม่ว่าจะเป็นสังฆราช นักพรต หรือสัตบุรุษ ล้วนมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างเดียวกับนักการเมือง เราจะไม่บรรยายเรื่องนี้อย่างละเอียด จะขอกล่าวแต่เพียงว่า บรรดาสังฆราชชาวโปรตุเกสได้เอาภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ใกล้สังฆมณฑลของเขามาแบ่งกัน กล่าวคือ อาณาจักรพะโค (Pegou) และอังวะ (Ava) นั้นเขายืนยันว่าขึ้นกับเมืองซาน-โตเม (ในอินเดีย), ประเทศสยาม เขมร และญวนขึ้นกับเมืองมะละกา ส่วนญี่ปุ่นกับจีนขึ้นกับเมืองมาเก๊า
 
กรุงโรมไม่เคยรับรู้การแบ่งเขตปกครองเช่นนี้ ทั้งหนังสือมอบอำนาจให้แก่บรรดาประมุขมิสซังชาวฝรั่งเศสและมิชชันนารีของท่านนั้น ก็ไม่เคยกล่าวแย้มถึงเรื่องนี้ ฝ่ายพระสังฆราชลังแบรต์นั้นมั่นใจในสิทธิ์จากพระสันตะปาปาที่เป็นผู้ส่งท่านมา ท่านคุ้นกับการโต้แย้งและการแก้คดี โดยที่เคยมีอาชีพเป็นทนายความที่ศาลเมืองรูอังมาก่อน เป็นนักโต้คารมที่เฉียบแหลม "เป็นคนใจกล้า      แต่รู้จักโอนอ่อนตามเวลา ทั้งมีกลเม็ดแพรวพราวอย่างน่าพิศวง" ตามที่พระสังฆราชปัลลือเขียนไว้ 
 
ดังนั้น ท่านดูภายนอกไม่ทุกข์ร้อนอะไร และเพื่อที่จะป้องกันตัว ท่านคอยให้ถูกโจมตีโดยตรงก่อน ซึ่งการถูกโจมตีเช่นนี้ไม่ช้าจะต้องเกิดขึ้น เนื่องจากอารมณ์ของชาวโปรตุเกสคุกรุ่นอยู่แล้ว   อันที่จริงท่านมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ไม่กี่สัปดาห์ คุณพ่อฟราโกโซ (Fragoso) ซึ่งเป็นสงฆ์โดมินิกันและเป็นเจ้าหน้าที่ในศาลคดีศาสนา (Inquistion) ที่เมืองกัว ได้เรียกท่านขึ้นศาล แต่ท่านไม่ยอมไป อุปสังฆราชแห่งสำนักพระอัครสังฆราชที่เมืองกัวก็เรียกตัว แต่ท่านก็ไม่ยอมไปเช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่าประมุขมิสซังมิใช่คนในบังคับของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส   ทั้งไม่อยู่ในอำนาจ   ปกครองของพระอัครสังฆราชเมืองกัว   ท่านจึงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินและคำบัญชาของพระอัครสังฆราช ตลอดจนคำสั่งของผู้แทนของท่านทั้งสอง แม้เขาจะอ้างว่า "ปฏิบัติการโดยมีอำนาจและความชอบธรรม" ก็ตามที อย่างไรก็ดี เพื่อเห็นแก่ความสงบสุข     ท่านยอมแสดงหนังสือมอบอำนาจแก่ท่านให้อุปสังฆราชดู "ในฐานะเป็นมิตรกัน" อุปสังฆราชเห็นแล้วกล่าวว่ามีความพอใจ
 
ในขณะเดียวกัน ท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต มีความคิดอ่านรอบคอบอย่างน่าสรรเสริญ    ท่านได้มีหนังสือถึงพระอัครสังฆราชเมืองมะนิลา ข้าหลวงประเทศฟิลิปปินส์ และนายพลแห่งบริษัทฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวีย และรองเจ้าคณะแขวงเยสุอิตที่เมืองมาเก๊า เพื่อแจ้งให้ท่านเหล่านั้นทราบถึงเรื่องที่พระสันตะสำนักส่งประมุขมิสซังมา อีกทั้งเพื่อขอความคุ้มครองจากท่านเหล่านั้นด้วย แต่วิธีปฏิบัติเช่นนี้ ถึงแม้จะแสดงอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ก็มิได้ลดความเกลียดชังของชาวโปรตุเกสให้น้อยลง เขากลับแสดงความหยาบคายหนักมือยิ่งขึ้น บังคับพระสังฆราชกับสงฆ์ฝรั่งเศสให้ออกจากค่ายของเขาไป
 
เมื่อถูกชาวคาทอลิกที่ไม่เข้าร่องเข้ารอยเหล่านั้นขับไล่ พวกมิชชันนารีฝรั่งเศสได้ไปขออาศัยพักอยู่ที่คลังสินค้า (factorerie) ของชาวฮอลันดา หัวหน้าคลังสินค้านี้แม้เป็นโปรเตสแตนต์      ก็ได้แสดงความเห็นใจท่านอย่างแท้จริง ที่คลังสินค้าดังกล่าว ท่านได้พบคริสตังสองคน คนหนึ่งเป็นจีน และอีกคนหนึ่งเป็นญวน ทั้งสองขันอาสาจะสอนภาษาของแต่ละคนให้ ซึ่งท่านก็ยินดีรับด้วยความรู้คุณ
 
ท่านทราบจากคริสตังทั้งสองว่า มีชาวญวนและชาวญี่ปุ่นคาทอลิกอาศัยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ท่านจึงไปเยี่ยมเขา และได้รับการต้อนรับด้วยความชื่นชมจากใจจริงที่แสดงออกมาด้วยเสียงเอ็ดอึง นับแต่บัดนั้น มิชชันนารีผลัดกันไปหาเขาสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสอนคำสอนหรือประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ให้ ในวันพระคริสตสมภพปี ค.ศ. 1662 พระคุณเจ้าลังแบรต์ ได้ประกอบพิธีมิสซาเที่ยงคืนในค่ายของชาวญวน และเทศน์สั้นๆ เป็นภาษาโปรตุเกส โดยขอให้ล่ามคนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทย"
 
ข้อมูลทั้งหมดนี้ คุณพ่อโลเนย์บรรยายไว้ในหนังสือประวัติมิสซังสยาม ซึ่งผู้สนใจจะหาอ่านได้ไม่ยากนัก สิ่งที่น่าสังเกตก็คือสาเหตุของความขัดแย้งและท่าทีที่เป็นศัตรูต่อกันระหว่างมิชชันนารีของปาโดรอาโดกัมิชชันนารีของสมณกระทรวงนี้ มิได้เกิดขึ้นมาจากชาตินิยม เพราะเราทราบว่ามิชชันนารีของปาโดรอาโดนั้นก็มิได้กีดกันชาติใดๆ เพียงแต่จำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขของปาโดรอาโดเท่านั้น แต่สาเหตุและท่าทีเหล่านี้เกิดมาจากมิชชันนารีที่สมณกระทรวงส่งมานี้มีทีท่าที่จะทำลายระบบผูกขาดเรื่องงานแพร่ธรรมซึ่งปาโดรอาโดได้รับมานั่นเอง
 
ผู้รับผลจากความเป็นศัตรูกันนี้คนแรกได้แก่ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ เพราะว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และยังเป็นผู้เสนอให้ส่งสังฆราชเพื่อไปก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมืองอีกด้วย ท่านมีความประสงค์จะกลับไปทำงานต่อในดินแดนมิสซังที่ท่านจากมา     แต่คุณพ่อมหาอธิการของคณะเยสุอิตไม่กล้าอนุญาตให้ท่านกลับไปยังดินแดนที่ชาวโปรตุเกสครอบครองอยู่ ท่านจึงถูกส่งไปที่เปอร์เซีย แม้ว่าจะมีอายุได้ 64 ปีแล้วก็ตาม ในปี ค.ศ. 1654 และอีก 4 ปีต่อมาท่านก็เสียชีวิต ท่านยังสามารถทำงานได้อย่างน่าชื่นชมจนกระทั่งว่าเมื่อวันปลงศพท่านนั้น กษัตริย์แห่งเปอร์เซียเสด็จมาร่วมพิธีเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน
 
แน่นอนที่สุด อัครสังฆราชแห่งเมืองกัวและบรรดามิชชันนารีภายใต้ปาโดรอาโด ต่างก็มองดูมิชชันนารีที่มาจากสมณกระทรวงเป็นเหมือนกับผู้รุกราน และผู้แย่งชิงอำนาจอันชอบธรรมที่พวกเขาได้รับมา เป็นอันว่าในดินแดนสยามก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากท่าทีแห่งความเป็นศัตรูกันนี้ด้วย
 
เหตุการณ์ต่อไปที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่การเดินทางไปประเทศจีนของพระคุณเจ้าลังแบรต์ เพราะ ว่าท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลสังฆมณฑลในจีน ท่านออกเดินทางเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1663 โดยเดินทางไปพร้อมกับคุณพ่อเดดิเอร์ ส่วนคุณพ่อเดอ บูร์ช อยู่ที่อยุธยา พระคุณเจ้าลังแบรต์เดินทางไปไม่ถึงจีนเพราะว่าเรือที่ท่านไปนั้นเจอพายุอัปปางลงเสียก่อน ท่านจึงเดินทางกลับมาอยุธยาเมื่อวันที่ 15 กันยายนปีเดียวกัน แล้วไปอยู่ในค่ายญวนรวมกับคุณพ่อเดอ บูร์ช ที่เพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางไปจีน เหตุการณ์ในระหว่างการเดินทางและเมื่อกลับมาถึงอยุธยาอีกครั้งหนึ่งนี้ คุณพ่อเดอ บูร์ช ได้บรรยายไว้อย่างละเอียดและน่าทึ่งมาก ผมจึงคัดมาเพื่อให้เห็นท่าทีของโปรตุเกสและเหตุการณ์ตามลำดับดังนี้
 
"เนื่องจากเราคิดแต่เพียงการลงเรือไปยังดินแดนมิสซังของเราให้เร็วที่สุด   ยิ่งได้พบกับท่าทีของชาวโคจินจีนเกี่ยวกับการเข้านับถือพระศาสนา    เราก็ยิ่งรู้สึกต้องการจะเข้าไปในประเทศของพวกเขามากยิ่งขึ้น    ในขณะนั้นเองเราก็ได้รับทราบจากพ่อค้าชาวคริสต์หลายคนที่มาจากเมืองตะนาวศรี   และได้ออกเดินทางจากเมืองมาสุลีปาตันเมื่อเดือนกันยายนว่า   พวกเขาได้ทิ้งบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งไว้ที่เมืองมาสุลีปาตัน    และพระสังฆราชองค์หนึ่งได้ถึงแก่มรณภาพที่เมืองนี้ นอกจากนี้บรรดาบาทหลวงเหล่านั้นก็กำลังจะออกเดินทางไปยังเมืองตะนาวศรี   บรรดาพ่อค้าเหล่านี้ได้บอกข่าวคราวต่างๆ   นี้ให้เราทราบอย่างละเอียดจนเราเชื่อ เรื่องนี้ทำให้เราพิจารณากันว่าขณะนี้เราไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียวจากเพื่อนๆ ของเราที่สัญญาไว้ว่าจะเขียนมาถึงเรา และเรายังมีเวลาเหลือพอที่จะไปเมืองตะนาวศรีเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานที่เราได้รับมา ทุกคนเห็นว่าจะต้องส่งคนไปที่นั่นเป็นกรณีพิเศษ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากท่านสังฆราชแห่ง     เบริธให้เดินทางไปเมืองตะนาวศรีโดยเร็ว ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงที่นั่นภายในเวลา 20 วัน และในช่วงเวลา 2-3 วัน ข้าพเจ้าต้องทนทรมานกับชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งพอประมาณเนื่องจากเขาพยายามขัดขวางมิให้โอราต้า (l'Orata ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับชาวต่างชาติ) ส่งใบเบิกทางให้กับข้าพเจ้า ความตั้งใจของเขาคือ ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถตามไปสมทบกับท่านสังฆราชแห่งเบริธได้ทันเวลา เพื่อติดตามท่านต่อไปในระหว่างการเดินทางไปกวางตุ้ง เมืองท่าแห่งแรกของจีน อย่างไร    ก็ตามข้าพเจ้าก็ได้รับสิ่งที่ข้าพเจ้ายื่นขอ และข้าพเจ้าก็บังคับให้ชาวโปรตุเกสผู้นี้คืนเอกสารต่างๆ ของท่านสังฆราชที่เขาอยากยึดไว้ ในเวลานั้น บุคคลที่เตรียมตัวเข้านับถือคริสตศาสนาจำนวน 9 คน ได้ยื่นขอรับศีลล้างบาปมา และเราได้อนุมัติไปเพียง 3 รายเท่านั้น การออกเดินทางไปเมืองจีนของท่านสังฆราชแห่งเบริธ   ทำให้คำเสนอขอของอีก 6 คนที่เหลือ ยังไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากท่านพิจารณาเห็นว่าบุคคลทั้ง 6 นี้ ยังมีความรู้ทางศาสนาไม่เพียงพอ ท่านสังฆราชทิ้งเรื่องนี้ไว้ให้เป็นภาระของบาทหลวงที่เดินทางไปเมืองตะนาวศรีอยู่ โดยได้ทิ้งคำสั่งไว้ให้บาทหลวงองค์นั้นดำเนินการสอนคำสอนให้กับบุคคลทั้ง 6 ต่อไป จนกว่าพวกเขาจะเรียนจบ จะได้เข้าร่วมพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า ขณะเมื่อโอกาสเอื้ออำนวยในการออกเดินทางไปเมืองกวางตุ้ง หนึ่งในบรรดาเมืองท่าของจีน ท่านสังฆราชแห่งเบริธได้อยู่ระหว่างคอยการกลับมาของข้าพเจ้า
 
เมื่อฟังข่าวคราวเกี่ยวกับเส้นทางที่ท่านสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศ และคณะบาทหลวงที่ติดตามใช้เดินทาง อย่างไรก็ตาม เมื่อโอกาสใกล้เข้ามา ท่านสังฆราชจึงตัดสินใจว่าจะไม่พลาดโอกาสนี้เลย เนื่องจากขณะคอยข่าวคราวของท่านสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศซึ่งเชื่อว่ากำลังเดินทางใกล้เข้ามาแล้ว ท่านได้ปล่อยให้เรือลำอื่นๆ 3 ลำ แล่นเลยไป ดังนั้น เรือลำนี้จึงเป็นเรือลำสุดท้ายที่จะออกเดินทางไปเมืองกวางตุ้ง และเนื่องจากพิจารณาเห็นว่าสมควรให้บาทหลวงองค์หนึ่งในคณะย้อนกลับไปยังยุโรป เพื่อกิจธุระเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา ท่านสังฆราชจึงได้ทิ้งหนังสือด่วนและจดหมายต่างๆ ซึ่งบาทหลวงผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ถือไปไว้ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้จำต้องส่งคนไปยังยุโรปคือ จำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจจากสมเด็จพระสันตะปาปา และสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อเกี่ยวกับอุปสรรคหลายๆ ประการอันเลี่ยงไม่ได้ที่มีต่อการดำเนินงานของมิสซังที่กำลังก่อตั้งขึ้น เพราะหากมีการกระทำผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขในภายหลัง เนื่องจากการล่วงเกินที่นำมาในประเทศพร้อมกับศาสนานั้นอันอาจจะกลายเป็นธรรมเนียมประเพณีในมิสซังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยที่จะต้องให้ผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าเป็นผู้ตัดสินปัญหาความยุ่งยากต่างๆเพื่อว่าทุกคนจะยินยอมเชื่อฟังเห็นได้ว่าจะทำให้มีความเป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกันดีขึ้น
 
จากการที่ท่านสังฆราชแห่งเบริธตกลงใจไปประเทศจีนโดยเร็วที่สุด ดังนั้นหลังจากร่ำลาชาวโคจินจีนและจัดวางตำแหน่งหน้าที่ต่างๆอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้แก่โบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงสยามแล้ววันที่12 กรกฎาคม ท่านสังฆราชก็ลงเรือล่องแม่น้ำไป วันที่ 17 ท่านก็ไปถึงเรือ     ที่จอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำห่างจากท่าเรือออกไปราว 2 ลิเยอ วันที่ 21 เราก็แล่นเรือออกทะเล กระแสลมเอื้ออำนวยให้เรือแล่นรุดหน้าไปได้ค่อนข้างดี จนถึงคืนวันที่ 30 แต่เมื่อมาถึงระดับความสูงที่ 10 อันเป็นจุดที่ทะเลจีนและทะเลกัมพูชามาบรรจบกัน เราก็ต้องเผชิญกับกระแสน้ำเชี่ยวที่รุนแรงและกระแสลมหวน เพียงชั่วเวลาไม่ถึง 15 นาที เราก็รู้สึกสิ้นหวังที่จะรอดพ้นจากอันตรายนี้ได้ เราลดใบเรือและโยนทุกสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งลงทะเลไป เพื่อช่วยให้เรือเบาและพ้นภัยไปได้ กระนั้นก็ดีแม้จะสามารถนำมาตรการบางประการมาปฏิบัติ เราก็วินิจฉัยได้ว่าไม่มีหนทางใดที่จะรอดพ้นจากอันตรายอันใหญ่หลวงนี้ได้ สิ่งที่ทำให้เราตระหนกตกใจเพิ่มขึ้นคือ ขณะที่เรือจอดชะลออยู่เพราะพ่ายแพ้ต่อกระแสลม เรือได้ถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าไปใกล้ฝั่ง และในเขตที่เต็มไปด้วยหินโสโครกอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้พิจารณาดูสิ่งที่จะสามารถทำได้ เราก็เชื่อว่าเมื่อไม่อาจจะทอดสมอได้เช่นนี้ ก็สมควรที่จะปล่อยให้กระแสลมพัดพาไปตามยถากรรมดีกว่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากระแสลมจะเปลี่ยนทิศทาง เมื่อตกลงใจเช่นนี้แล้ว เราก็เดินเรือมุ่งสู่ผืนแผ่นดินเป็นเวลา 1 วัน กับ 1 คืน ท่ามกลางท้องทะเลที่ระส่ำระสายต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เราคิดกันอยู่ทุกช่วงเวลาว่าเรือซึ่งมีน้ำไหลเข้ามาแล้วเช่นนี้คงจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
 
ในช่วงนั้นเองบรรดามิชชันนารีก็มีภาระปลอบใจ และโปรดศีลแก้บาปให้แก่ชาวคริสต์ที่อยู่ในเรือ สำหรับพวกเขาเหล่านั้นโดยส่วนตัวแล้วก็พากันสวดภาวนา และพยายามถือโอกาสที่มิได้เกิดขึ้นทุกวันซึ่งเป็นโอกาสที่มองเห็นความตายปรากฏต่อสายตา และห่างไกลจากความหวังใดของมนุษย์นี้ให้เกิดประโยชน์ ช่วงเวลาที่ดีเลิศเช่นนี้เอง ที่บรรดามิชชันนารีได้ใช้พิสูจน์ตนเองในการต่อสู้ระหว่างจิตใจส่วนที่มีเหตุผลและจิตใจส่วนที่เป็นฝ่ายต่ำ ถ้าความระส่ำระสายภายนอกเพิ่มทวีขึ้นด้วยพายุที่รุนแรง ความระส่ำระสายภายในจิตใจก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ด้วยความทุกข์ที่มนุษย์     ผู้ยังมีกิเลสต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกำลังเผชิญอยู่ เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ใกล้ความตายเพียงแค่คืบ และก็เช่นกันว่าในช่วงเวลาเช่นนี้เองที่ผู้มีจิตใจยึดมั่นในศาสนาจะประพฤติตนให้เหมาะสมเช่นเดียวกับ พระเยซูคริสต์เจ้า ผู้ทรงเป็นเจ้าและแบบฉบับของพวกเขาผู้ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตใจอันดีงาม เพื่อความพอพระทัยขององค์พระเป็นเจ้าที่ทรงล้อเล่นกับชีวิตสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ดังเช่นคลื่นลมในมหาสมุทรที่กำลังปั่นป่วนอยู่นั้น ลมยังคงพัดรุนแรงต่อไป และพาเอาเรือเข้าไปใกล้ฝั่งในไม่ช้า เราได้โยนสมอลงไป เมื่อถึงก้นทะเลเราก็หยุดนิ่ง แต่เนื่องจากทะเลยังปั่นป่วนอยู่มากในเขตนี้ และกำลังของคลื่นก็รุนแรง  เราจึงตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อไปว่า เรืออาจจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ได้ ในทันทีนั้นเราก็ส่งคนจำนวน 12 คน ลงเรือกรรเชียงเดินทางไปยังผืนแผ่นดินเพื่อขอความช่วยเหลือจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อจะได้ขนถ่ายสินค้าที่มีอยู่ และช่วยชีวิตผู้คนบนเรือก่อนที่จะสละเรือทิ้งให้ล่องลอยไปกับอำนาจของคลื่นลม ความคาดหมายดังกล่าวตามที่ปรากฏภายนอกก็ดูเป็นหลักการที่ควรจะทำได้ แต่ก็กลับไร้ผล เพราะเมื่อเรือกรรเชียงไปถึงฝั่งได้ถูกคลื่นลมตีแตกทลายไป จนชายทั้ง 12 คนนั้น เห็นแล้วว่าพวกเขาไม่สามารถนำข่าวใดๆ หรือแม้แต่ความช่วยเหลือเช่นที่หวังกันไว้กลับไปยังเรือใหญ่ได้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาจึงพิจารณาที่จะนำความไปแจ้งยังกรุงสยาม 3 วันผ่านไปโดยไม่มีข่าวคราวใดๆ จากคนทั้ง 12 เลย ผู้คนที่อยู่ในเรือใหญ่ต่างพากันเชื่อว่า 12 คนนั้นคงจะทอดทิ้งพวกตนไปเสียแล้ว และปล่อยให้เรืออยู่ในสภาพที่กำลังเป็นอยู่ โดยคงถือว่าตนมีบุญที่อยู่นอกสภาพการณ์เช่นนั้นไปแล้ว
 
ในสถานการณ์อันเหลือจะทนทานเช่นนี้ น้ำจืดก็เริ่มขาดแคลน เราก็หาทางทลายด้านข้างของเรือออกเพื่อทำเป็นเรือกรรเชียงเล็กๆ ลำที่ 2 เมื่อเรือดังกล่าวเสร็จเป็นรูปร่างขึ้น กัปตันเรือพร้อมด้วยมิชชันนารีหนึ่งองค์ และคนอื่นๆ อีก 5 คน ก็ลงเรือเล็กมุ่งหน้าไปยังผืนแผ่นดินเพื่อขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม โชคดีที่พวกเขาได้พบชาวโคจินจีน 4 หรือ 5 คน ซึ่ง 2 คนในจำนวนนี้เป็นชาวคริสต์ ทันทีก็เหลือบเห็นบาทหลวงซึ่งคนทั้งคู่เคยเห็นที่กรุงสยาม ทั้งสอง   ก็คุกเข่าลงแทบเท้าของท่าน   และเมื่อได้ทราบเกี่ยวกับภยันตรายที่ท่านสังฆราชแห่งเบริธ   ซึ่งยัง  ติดค้างอยู่บนเรือกำลังเผชิญอยู่ ชาวโคจินจีน 3 ใน 5 คนนี้ ก็รับเป็นธุระที่จะไปช่วยนำตัวท่าน
สังฆราชออกมา โดยนำเรือเล็กออกไป พวกเขาปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจนี้ด้วยความโอบอ้อมอารีอันเป็นลักษณะพิเศษของคนชาตินี้ เมื่อออกทะเลไปได้เป็นระยะทาง 2 ลิเยอ และอยู่ห่างจากเรือใหญ่ราว 1 ลิเยอ ก็เกิดพายุรุนแรงขึ้น จนทำให้พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องชะลอการเดินทางลง แต่เรือของพวกเขายังถูกทำลายแตกละเอียดเป็นชิ้นๆ อีกด้วยในทันทีที่กลับเข้าถึงฝั่ง
 
นี่แหละคือเหตุผลที่เราเริ่มหมดสิ้นความหวังทั้งปวง เมื่อมองไม่เห็นมีผู้ใดมายังเรือใหญ่เลยสักคน ส่วนพายุแทนที่จะสงบลงกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีก ลูกเรือทั้งหมดก็ละเหี่ยใจ เนื่องจากหวาดกลัวและกระหายหิวซึ่งทรมานพวกเขาอย่างแสนสาหัส อย่างไรก็ตาม พระเมตตาของพระเป็นเจ้าผู้ทรงไม่เคยละเลยต่อผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ด้วยความไว้วางใจในฐานะบุตร เมื่อเห็นเรือที่น่าสงสารต้องมาติดอยู่เนื่องจากขาดน้ำจืด จึงได้ทรงประทานพายุฝนมาให้ 2 ลูกใหญ่ ซึ่งนำน้ำมาให้อย่างพอเพียง ไม่กี่วันหลังจากนั้น เรือเล็ก 2 ลำ จากกรุงสยามก็มาช่วยเหลือตามคำบอกแจ้งของผู้คนที่ไปกับเรือกรรเชียงลำแรก 2 วันก่อนหน้านี้ เมื่อกัปตันได้พบกับหัวหน้าของหมู่บ้าน         ที่เอื้อเฟื้อกรุณาแล้ว ก็กลับมายังเรือใหญ่พร้อมกับบาทหลวงที่ได้เดินทางไปด้วย ดังนี้เองท่านสังฆราชแห่งเบริธจึงออกมาจากเรือเพื่อกลับไปยังกรุงสยาม ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กันยายน
 
ทันทีที่ไปถึงกรุงสยาม ท่านก็ออกไปยังย่านที่อยู่ของพวกโคจินจีน และได้พบว่าคณะบาทหลวงที่ท่านได้ส่งไปเมืองตะนาวศรีกลับมาถึงพอดี ท่านสังฆราชแห่งเบริธได้ใช้เวลา 65 วัน   ในการแล่นเรือในทะเลจีนที่พายุจัดนั้น เนื่องจากได้รับแจ้งว่าท่านสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศกำลังใกล้มาถึงเมืองตะนาวศรีแล้ว ท่านสังฆราชแห่งเบริธจึงได้ส่งคน 2 คน นำหนังสือสำคัญไปให้กับท่านสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิศ เพื่ออำนวยความสำดวกในการเดินทางทางบก ท่านตัดสินใจที่จะอยู่คอยพบท่านสังฆราชแห่งเอลิโอโปลิอีกด้วย เพื่อว่าเมื่อได้พบปะกันแล้ว ท่านทั้งสองจะสามารถเตรียมหามาตรการต่างๆ   และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ   เพื่อการดำเนินงานของมิสซังได้ดีขึ้น  อีกประการหนึ่งเวลาสำหรับการออกเดินทางในปีนี้ก็ได้ผ่านเลยไปเสียแล้ว   ดังนั้นจึงเป็นความ        จำเป็นที่ต้องรอต่อไป
 
นอกจากนี้ท่านสังฆราชแห่งเบริธก็มิได้มีผลประโยชน์อันใดแม้แต่น้อยจากการเดินทางออกทะเลไปพร้อมกับชาวโปรตุเกส 40 คน ในครั้งที่แล้วมานั้น ท่านทราบว่าตามรูปการณ์นั้น มีคำสั่งบางอย่างถูกส่งมาจากโปรตุเกสและเป็นผลให้ชาวโปรตุเกสในกรุงสยามมองท่านด้วยสายตาที่ไม่สู้ดี ความไม่ไว้วางใจของพวกเขาทวีขึ้นเหนือสิ่งอื่นใด จนถึงกับรวมกลุ่มกันขึ้นในหมู่พวกเขาเพื่อจะโค่นล้มท่านสังฆราช ท่านสังฆราชได้รับคำเตือนในเรื่องดังกล่าวนี้ และก็จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นที่พวกนี้ครอบครอง และไปหาที่พักที่ปลอดภัยกว่าในเขตที่ใกล้เคียงกับถิ่นของพวกฮอลันดา เพื่อเตรียมรับการมุ่งร้ายของพวกนั้น
 
ท่านสังฆราชแห่งเบริธอาจหวาดกลัวที่ได้ลงเรือลำที่ท่านเห็นว่ามีศัตรูอยู่หลายคน อย่างไรก็ตาม พวกนี้ก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าเรือ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมอบความไว้วางใจไว้ในองค์พระเป็นเจ้าและปฏิบัติราวกับว่าท่านไม่รู้ไม่
 
เห็นอะไรที่เกิดขึ้น และท่านก็ไม่ละเว้นที่จะพูดจาผูกสัมพันธไมตรีกับพวกเขา อีกทั้งให้การบริการทุกอย่างที่ท่านสามารถจะทำได้ เพื่อให้พวกเขาได้รู้ถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ของบรรดาบาทหลวงชาวฝรั่งเศส และโดยปราศจากเหตุผล จากการที่อ้างถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้คนจึงมีความคิดในแง่ที่ไม่ดีต่อการดำเนินงานของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส
 
สิ่งที่ทำให้พวกเขาประทับใจก็คือ เมื่อเวลาที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากพายุ เราจะสวดภาวนาต่อพระเป็นเจ้าทั้งเช้าและเย็นเป็นประจำ วันฉลองสมโภชเราก็จะทำพิธีมิสซาใหญ่ มีการสอนคำสอนและการเทศน์ในภาษาของพวกเขาถึงเรื่องการหลุดพ้นจากบาปชั่วนิรันดร์ พิธีเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มีอิทธิพลเพียงพอที่เปลี่ยนแปลงพวกเขาจากการเป็นศัตรูให้กลับกลายมาเป็นเพื่อน    และพอจะพูดจากันได้  ทุกคนก็แก้บาปและรับศีลมหาสนิท   มีหลายคนแก้บาปรับศีลมากกว่าหนึ่งครั้งเสียอีก   และแล้วพวกเขาเหล่านี้ก็เปิดเผยถึงพฤติการณ์การประทุษร้ายซึ่งพวกเขาได้วางแผนกระทำต่อตัวท่านสังฆราชแห่งเบริธ   โดยได้แสดงความขุ่นเคืองไม่พอใจออกมาให้เห็น   คนพวกนี้ได้ให้สัญญาว่าหากเมื่อได้ที่กลับไปยังกรุงสยาม  พวกเขาจะไปเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในหมู่เพื่อนร่วมชาติของตนด้วย นี่เองคือสิ่งที่เราหวังจากการที่มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และความยุติธรรมของพวกเขา ท่านสังฆราชแห่งเบริธเองก็ได้รับการปลอบใจเมื่อกลับไปถึงกรุงสยามจากการที่ได้เห็นว่ากลุ่มผู้เลื่อมใสของท่านได้มีชาวโคจินจีนเพิ่มขึ้นอีกหลายคน จากนั้นมาท่านก็ดำเนินการปลูกฝังพระศาสนจักรแห่งนี้ต่อไป ท่ามกลางการอวยชัยให้พรอย่างดียิ่ง.
 
การที่พระคุณเจ้าลังแบรต์เดินทางกลับมานี้ ทำให้มิชชันนารีของปาโดรอาโดขุ่นเคืองใจมาก คุณพ่อโลเนย์เล่าว่า หลายคนได้วางแผนจะกำจัดท่านเสีย ผู้มีสกุลผู้หนึ่งเพิ่งเดินทางจากกรุงลิสบอนมาถึงใหม่ๆ สัญญาจะลักพาตัวท่านไป แต่ทำการไม่สำเร็จเพราะฝีมือของพวกญวนซึ่งพอทราบว่าพระสังฆราชถูกจู่โจม ก็วิ่งเข้าไปในกระท่อมที่ใช้เป็นสำนักพระสังฆราชพร้อมด้วยชายฉกรรจ์ราว 12 คน ที่แต่งชุดออกรบ มือถือดาบ ช่วยกันขับไล่ผู้จู่โจมหนีไปได้ พระคุณเจ้าได้ชี้แจงให้ทาง       กรุงโรมทราบถึงสถานการณ์ยุ่งยากลำบากและน่าสลดใจนี้ และเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้ง่ายขึ้น ท่านจึงขอลาออกจากตำแหน่ง แต่กรุงโรมปฏิเสธกลับมาโดยหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1665
 
อันที่จริง การที่ท่านลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ขอลาออกจากตำแหน่งนี้ใช่จะเป็นการบ่งบอกถึงความท้อถอย หรือเป็นการแสดงความปรารถนาจะละทิ้งงานแพร่ธรรมก็หาไม่ เพราะในขณะ เดียวกันท่านก็ขออำนาจเพิ่มขึ้นสำหรับประมุขมิสซัง คือขออำนาจปกครองเหนือประเทศมอญ ซึ่งมีคนบอกว่าสอนให้รู้พระธรรมง่าย และเหนือประเทศเขมรและประเทศสยาม ซึ่งตั้งอยู่ทางปากทางเข้าประเทศญวนและจีน ทั้งยอมให้ชาวคาทอลิกและชาวต่างชาติถือศาสนาของตนได้ ท่านจึงเห็นว่าน่าจะเอื้ออำนวยให้ตั้งศูนย์ของมิสซังต่างๆ ในประเทศนี้ได้ ซึ่งพระคุณเจ้าปัลลือก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน (จดหมายของพระคุณเจ้าปัลลือ เล่มที่ 1 หน้า 13)
 
โดยที่เห็นว่าหนังสือหลายฉบับของท่านอาจจะต้องการให้มีการอธิบายชี้แจงโดยบุคคลหนึ่ง ซึ่งได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ โดยใกล้ชิด พระสังฆราชลังแบรต์จึงส่งคุณพ่อเดอบูร์ชไปกรุงโรม คุณพ่อเดอบูร์ชออกเดินทางวันที่ 14 ตุลาคม 1663 หลังจากได้ประกอบพิธีล้างบาปให้แก่ชาวญวนสามคน ซึ่งคนแรกมีท่าทีแสดงว่า "เพียบพร้อมไปด้วยพระหรรษทาน" และได้รับชื่อนักบุญว่า "โยเซฟ"
 
ความรู้สึกของคุณพ่อเดอบูร์ชในการเดินทางกลับไปยุโรปนั้นเป็นความรู้สึกที่น่าเห็นใจในสมัยนั้นมิใช่น้อย คุณพ่อเองได้บรรยายไว้ดังนี้
 
ตามคำสั่งซึ่งข้าพเจ้าได้รับจากท่านสังฆราชแห่งเบริธ และจากเหตุผลต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเคยนำมาเล่าไปแล้วว่า ข้าพเจ้าเตรียมตัวเพื่อกลับสู่ยุโรปอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ใจให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจากไปห่างไกลจากดินแดนมิสซังของเรา ซึ่งข้าพเจ้าเองได้มองเห็นอยู่ใกล้ๆ นี้และได้ลิ้มรสความมีเมตตาจิตแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็คิดว่าตนเองมิได้จากมิสซังนี้ไปไกลเสียทีเดียว เนื่องจากว่าการกลับไปสู่ยุโรปของข้าพเจ้านี้ก็มีจุดประสงค์เพียงเพื่ออรรถประโยชน์ และการงานของมิสซังเดียวกันนี้ นับตั้งแต่ออกเดินทางมา แม้ข้าพเจ้าจะพยายามบังคับตนเองให้เชื่อว่านั่นคือคำสั่ง แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองต้องอยู่ห่างออกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน และเป็นเสมือนผู้ที่ถูกเนรเทศออกมา ข้าพเจ้าก็ได้แต่ปลอบใจตนเองโดยหวังว่าจะได้กลับคืนไปอีกอย่างรวดเร็ว และจากความคิดที่ว่าตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในกรุงสยาม ข้าพเจ้าจะต้องพยายามทำให้ผู้คนรู้ถึงความสำคัญของมิสซังของเรา เพื่อเชื้อเชิญให้มีผู้รับใช้ศาสนาสักจำนวนหนึ่งในประเทศนั้น
 
ตามที่เราทราบแล้ว ในระหว่างที่พระคุณเจ้าลังแบรต์กำลังรอคอยการมาถึงของพระคุณเจ้า ปัลลือและคณะ และเมื่อพระคุณเจ้าปัลลือเดินทางมาถึงแล้ว มิชชันนารีทุกองค์ก็ปรึกษาหารือกันและวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเราจำศึกษาในหัวข้อต่อไปข้างหน้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ เราจะศึกษากันโดยสืบเนื่องระยะเวลาเพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของเรื่องราว ความกินแหนงแคลงใจกันระหว่างทั้งสองฝ่าย เรื่องอำนาจการปกครองนี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คณะมิชชันนารีของสมณกระทรวงต้องปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ด้วย
 
ในบรรดาปัญหาต่างๆ ที่ต้องพิจารณากันนั้น ปัญหาเรื่องสิทธิ์อุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจะต้องกลายเป็นเรื่องร้ายแรงในกรุงสยาม ระหว่างที่พระคุณเจ้าปัลลือไม่อยู่ เราได้เห็นแล้วว่าชาวโปรตุเกสขัดขวางพระคุณเจ้าลังแบรต์ และเขาก็ยังขัดขวางต่อไปอย่างรุนแรง แม้พระคุณเจ้าจะอดกลั้น ท่านอดกลั้นเช่นนี้ก็เพราะท่านเองก็มีความสุขุมและทำไปตามคำแนะนำของคุณพ่อกาซิล (Gazil) ซึ่งเป็นคณาจารย์ผู้หนึ่งในสามเณราลัยมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ผู้เตือนท่านว่า      "อย่าคิดมุ่งเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยพยายามจะแก้ไขเรื่องที่ผิดเสียทุกอย่าง" พระคุณเจ้าลังแบรต์   ต้องต่อสู้แบบทำสงครามแท้ๆ ทีเดียว
 
เรายอมเชื่อว่าพวกนักพรตที่ทำสงครามกับท่านลังแบรต์นั้น มีความสุจริตใจจริงๆ ถ้าใครเคยพบเห็นคนที่มีเจตนาดีจริงๆ แต่มีอคติและตัณหาแบบตาบอดมากๆ ซึ่งประวัติศาสตร์ที่เราศึกษามาก็ยอมรับว่ามีคนเช่นนี้ เขาก็ย่อมเชื่อเรื่องความสุจริตใจได้ง่ายๆ การที่อ้างว่ามีความสุจริตใจนี้เป็นการแก้ตัว แต่การแก้ตัวนี้เราเห็นว่าไม่หนักหนาถึงกับต้องเล่าเรื่องข้อพิพาทต่างๆกับประมุขมิสซังองค์แรกและบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสอย่างละเอียด เราไม่คิดจะเผยแพร่เอกสารที่สำคัญๆ และมีมากมาย ซึ่งแผนกเก็บเอกสารของเรามีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป แต่เราต้องรวบรวมสรุปพฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งถ้าเราละเว้นไม่กล่าวถึงเสียเลยก็จะทำให้ประวัติของมิสซังส่วนหนึ่งเป็นที่เข้าใจไม่ได้ เราจะทำอย่างสั้นๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
ที่มีคนพูดว่า พวกนักพรตถูกยุยงให้ขัดขวางมิชชันนารีฝรั่งเศสเพราะความเกลียดชังเรื่องเชื้อชาติ และเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระราชสำนักกรุงลิสบอน เรื่องนี้เป็นเรื่องแน่ แต่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะทุกคน ไม่ว่านักพรตและนักการเมือง เชื่อและถือสิทธิ์ที่เกิดจากความอุปถัมภ์ของประเทศโปรตุเกส หมายถึงประมวลสิทธิ์พิเศษต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาประทานแก่ชนชาตินี้ในภาคเอเชียอาคเนย์และในภาคตะวันออกไกล ในแต่งตั้งสังฆราชชนชาติอื่นไม่ได้
 
กรุงโรมสนับสนุนประมุขมิสซัง
ก่อนที่ประมุขมิสซังจะเดินทางมาจากยุโรป กรุงโรมคาดการณ์ว่าจะมีการขัดขวางเช่นนี้     จึงกำชับมิให้เดินทางผ่านดินแดนที่อยู่ในปกครองของประเทศโปรตุเกส ครั้งเห็นว่าการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่คาดไว้ และชาวโปรตุเกสคัดง้างพระสังฆราชฝรั่งเศสและงานที่เขาทำ กรุงโรมก็สนับสนุนพระสังฆราชฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน
 
ตั้งแต่เริ่มแรก กรุงโรมให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่พระสังฆราชฝรั่งเศส ภายหลังก็ยังคงอำนาจเหล่านั้นไว้ ซ้ำยังเพิ่มให้โดยพระสมณสาสน์ (brief: Onerosa pastoralis) ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1664    และ Injuncti nobis ลงวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1665 แต่คำสั่งโดยพระสมณสาสน์ทั้งสองฉบับนี้ไม่ขลังพอจะบังคับพวกนักพรตให้นอบน้อมเชื่อฟัง หรือขัดขวางมิให้เขาโต้แย้ง
 
เนื่องจากพระคุณเจ้าลังแบรต์ได้ประกอบพิธีศีลกำลังให้แก่ชาวโปรตุเกสในโบสถ์ของเขา    ที่กรุงศรีอยุธยา ตามคำขอร้องของพวกสงฆ์เยสุอิตและโดมินิกัน ท่านจึงถูกกล่าวหาว่าทำเกินขอบเขตอำนาจ เรื่องนี้ได้เสนอไปยังกรุงโรม กรุงโรมรับรองเห็นชอบกับหน้าที่ทุกอย่างที่พระสังฆราชและพระสงฆ์ฝรั่งเศสได้กระทำที่กรุงศรีอยุธยา และเพื่อป้องกันมิให้ใครกล่าวหาเช่นนี้ โดยกฤษฎีกาลงวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1669 ได้อนุญาตให้ประมุขมิสซังทั้งสองประกอบหน้าที่ทุกอย่างนอกทวีปยุโรป ในบรรดาประเทศที่ไม่อยู่ในอำนาจปกครองของมวลกษัตริย์คาทอลิก
 
ในปี ค.ศ. 1666 คุณพ่อฟราโกโซประกาศบันทึกประนามพระคุณเจ้าลังแบรต์ ซึ่งเขายืนยันว่าไม่มีอำนาจปกครองทางศาสนาในกรุงสยาม ทั้งห้ามบรรดาคริสตังมิให้ทำการติดต่อใดๆ กับท่าน ในปี ค.ศ. 1668 นักพรตองค์เดียวกันนี้ได้ประกาศบันทึกอีกฉบับหนึ่ง กล่าวหาพระสังฆราชลังแบรต์ว่า แย่งอำนาจปกครองของพระสังฆราชแห่งมาเก๊าและมะละกา ตั้งใจบังคับบรรดานักพรตให้อยู่ใต้อำนาจโดยไม่มีสิทธิ์บวชพระสงฆ์พื้นเมืองที่ไม่มีความสามารถ ฯลฯ เพื่อโจมตีประมุขมิสซังทั้งสองให้สิ้นอำนาจ คุณพ่อฟราโกโซสนับสนุนข้อคิดเห็นหลายข้อของนักเทวศาสตร์ กวินตานา ดูเอนัส (Quintana Duenas) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อคิดเห็นที่ว่าพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมีสิทธิ์ประกอบพิธีศีลบวชขั้นต้น
 
ในที่สุด คุณพ่อฟราโกโซได้ประกาศบัพพาชนียกรรมพระสังฆราชลังแบรต์ และสั่งให้     ติดประกาศนั้นไว้ที่ประตูโบสถ์นักบุญดอมีนิก   ที่กรุงศรีอยุธยา    ฝ่ายพระสังฆราชลังแบรต์            ก็ประกาศบัพพาชนียกรรมคุณพ่อฟราโกโซบ้าง    และในขณะเดียวกันก็ชี้แจงการกระทำดังกล่าวให้สมณ กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อทราบ อีกทั้งได้เสนอข้อคิดเห็นของกวินตานา ดูเอนัส กับของ    ฟราโกโซต่อสำนักงานศักดิ์สิทธิ์ (Saint Office) ในการประชุมวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1671  สำนักงานศักดิ์สิทธิ์ประนามว่าข้อคิดเห็นเหล่านั้นเท็จ  และโอหัง การประนามนี้ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 12 กันยายน  โดยพระสมณสาสน์ของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 10
 
เพื่อฟื้นคืนเกียรติแก่พระคุณเจ้าลังแบรต์    พระสันตะปาปาทรงประกาศว่าบัพพาชนียกรรม   ที่ท่านได้รับนั้นเป็นโมฆะ ทรงมีพระบัญชาให้ประกาศและติดคำตัดสินนี้ไว้ในทุกสถานที่ที่คำตัดสินแรกได้ถูกนำไปประกาศติดไว้ แจ้งให้พระสังฆราชทราบถึงข้อที่วินิจฉัยทุกข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ สั่งให้ส่งสมณสาสน์ไปยังเอกอัครสมณทูตประจำประเทศโปรตุเกส เพื่อให้ส่งต่อไปยังตุลาการศาลคดีศาสนาที่เมืองกัว พร้อมกับคำสั่งให้ตุลาการศาลคดีศาสนาดำเนินการทุกอย่างให้ติดเอกสารเหล่านี้ในโบสถ์ต่างๆ ที่กรุงศรีอยุธยาในขณะเดียวกันพระสันตะปาปา
ทรงมีบัญชาให้ตุลาการคดีศาสนาอย่ามอบหน้าที่ใดๆ แก่คุณพ่อฟราโกโซ และให้เรียกตัวกลับ
 
แต่ถึงกระนั้น คุณพ่อเอมมานูแอลแห่งพระคริสตสมภพ อธิการของพวกสงฆ์โดมินิกันที่กรุงศรีอยุธยาก็ยังป้องกันคุณพ่อฟราโกโซเป็นเวลาหลายปี แม้กรุงโรมจะมีคำสั่งให้พวกนักพรตนอบน้อมเชื่อฟังประมุขมิสซัง และประกาศว่าประมุขมิสซังไม่อยู่ในอำนาจปกครองของเมืองกัว ตามที่สังฆธรรมนูญ Ut venerabiles fratres และ Speculatores domus Israel ลงวันที่ 11 กรกฎาคม และวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 ได้ระบุไว้
 
วันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1672 พระคุณเจ้าลังแบรต์ประกาศบัพพาชนียกรรมบรรดานักพรตที่ไม่รับรู้อำนาจของท่าน คุณพ่อลาโนเป็นผู้ไปแจ้งคำตัดสินนี้ให้เขาทราบที่สุด วันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1673 อุปสังฆราชของพวกสงฆ์โดมินกันในประเทศอินเดียคือ คุณพ่อฮีอาชินโหแห่งนักบุญโธมา สั่งให้คุณพ่อฟราโกโซออกจากกรุงสยามไป โดยสำทับว่าต้องเชื่อฟังตามที่ได้ปฏิญาณไว้
 
คุณพ่อต่อไปนี้คือ โธมา วัลการแนรา (Valguarnera), คุณพ่อแอมมานูแอล ซูอาเรส (Suarez) และคุณพ่อยอห์น มัลโดนาโด (Maldonado) แห่งคณะเยสุอิต ก็ได้เอาอย่าง คัดค้านตามแบบคุณพ่อ  ฟราโกโซและเพื่อนในปี ค.ศ. 1672 คุณพ่อเหล่านี้ได้ส่งคำกล่าวหาประมุขมิสซังทั้งสองถึงกรุงโรม ในหนังสือฉบับหนึ่งของท่าน มีข้อกล่าวหาถึง 22 ข้อ
 
วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1674 อธิการใหญ่คณะเยสุอิตสั่งนักพรตในปกครองให้อ่อนน้อมต่อสังฆธรรมนูญ Decet Romanum Pontificem ลงวันที่ 23 ค.ศ. 1673 และให้รับรู้อำนาจของประมุขมิสซัง คำสั่งนี้ไม่มีใครเชื่อฟังดีกว่าครั้งก่อนๆ เราจำใจจะต้องกลับมาพูดถึงเรื่องอันลำบากยากใจ     นี้อีก ทั้งจะต้องบันทึกความยุ่งยากลำบากอื่นๆ ในสมัยปกครองของสังฆราชต่อๆ มาอีกบางองค์
 
ความยุ่งยากกับนักพรตชาวโปรตุเกส และกับพระสังฆราชเมืองกัว
ชีวิตของพวกธรรมทูตต้องยุ่งยากลำบากเพราะการกระทำของชาวโปรตุเกส ที่ยังไม่หยุดยั้งที่จะใส่ความเขา และยังคงไม่ยอมอ่อนน้อมต่อประมุขมิสซัง กรุงโรมออกพระสมณโองการมาฉบับแล้วฉบับเล่า สั่งมาอย่างไรเขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง
 
ธรรมนูญฉบับ Cum per litteras ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1673 ฉบับ Sollicitudo Pastoralis, Illius qui charitas est  กับฉบับ  Decet Romanum ลงวันที่ 22 และ 23 ธันวาคมปีเดียวกัน ประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า บรรดาประมุขมิสซังและบรรดาพระสงฆ์ของประมุขมิสซังอยู่นอกอำนาจปกครองของพระอัครสังฆราชแห่งเมืองกัว แต่พระอัครสังฆราชเมืองกัวก็ยังคงเรียกร้องต่อไป      โดยให้ประมุขมิสซังและพระสงฆ์ของประมุขมิสซังยอมอ่อนน้อม      ต่อจากนั้น พระสมณโองการฉบับ Quoniam ea ลงวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1674, ฉบับ  In Apostolicae Diginitatio ลงวันที่ 8 มิถุนายน และฉบับ Christianae Religionis ลงวันที่ 17 มิถุนายน ก็ออกมาในความมุ่งหมายอันเดียวกัน
 
พระสมณโองการเหล่านี้มาถึงเมื่อใด พระสังฆราชลาโนก็นำมาประกาศในโบสถ์นักบุญ   โยเซฟ ที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนพวกนักพรตก็ประกาศในโบสถ์ของเขาว่า พระสมณโองการเหล่านั้นปลอม หรือโมฆะ ที่ว่าปลอมนั้นก็เพราะเขาบอกว่า พวกมิชชันนารีฝรั่งเศสทำขึ้นมาเอง ส่วนที่ว่าเป็นโมฆะนั้นก็เพราะพระสมณโองการดังกล่าวพระเจ้าแผ่นดินประเทศโปรตุเกสมิได้ทรงอนุมัติเห็นชอบด้วย
 
บาทหลวงบาร์เทเลอมี ดากอสตา (d'Acosta) กับบาทหลวงยวง ดาเบรอ (d'Abreu) เป็นสงฆ์ในคณะเยสุอิตทั้งคู่ ส่วนสงฆ์อีกองค์หนึ่งมิใช่นักพรตชื่อบาทหลวงนิโกเลา เด ม็อตตา (de Motta) ทั้งสามท่านนี้เป็นผู้ต่อต้านพระคุณเจ้าลังแบรต์อย่างหนักหน่วงที่สุด บาทหลวงดาเบรอได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะสงฆ์ (chapitre) ที่เมืองกัวให้เป็นผู้ตรวจการสังฆมณฑล (evêché) เมืองมะละกา    เพื่อปราบสิ่งที่เขาเรียกว่า "การกระทำเกินอำนาจของพระสังฆราชแห่งเบริธ" ส่วนบาทหลวงนิโกเลา เด ม็อตตา นั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระอัครสังฆราชแห่งเมืองกัวให้เป็น Vicaire de vara เพื่อต่อต้านบรรดาประมุขมิสซัง นักพรตทั้งสองได้ปฏิบัติการสมกับที่เขามุ่งหวังทุกประการ มิใช่แต่ทั้งสองได้กล่าวคำใส่ร้ายพระสังฆราชฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังไม่คำนึงถึงข้อกำหนด กฏเกณฑ์ของเขาสักข้อเดียว ทั้งยังได้ชักชวนให้คริสตังชาวโปรตุเกสทำตามอย่างเขา ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าคริสตังเหล่านั้นเชื่อฟังเป็นอันดี
 
พระสังฆราชลาโนสั่งห้ามมิให้ประกอบพิธีมิสซาตามบ้านเอกชน แต่บาทหลวงดาเบรอก็ยังประกอบพิธีมิสซาสัปดาห์ละหลายครั้งตามบ้านของครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้โบสถ์ของสงฆ์เยสุอิตบาทหลวงฟราโกโซประกอบพิธีศีลสมรสที่กระทำในระหว่างญาติพี่น้อง โดยไม่ขอหนังสือยกเว้น พระสังฆราชลาโนประกาศลงโทษอินแตรดิกโต (interdicto) แต่เขาก็ไม่เกรงกลัวพระสังฆราช        จึงฟ้องเขาไปยังกรุงโรม แล้วบาทหลวงฟราโกโซกับบาทหลวงดาเบรอจึงต้องออกจากกรุงสยามไป
 
ในช่วงเวลานั้น พระสังฆราชปัลลืออยู่ที่กรุงโรม ท่านบรรยายให้เห็นสถานการณ์ยุ่งยากลำบากที่เกิดขึ้นแก่ประมุขมิสซัง เพราะพวกนักพรตชาวโปรตุเกสไม่ยอมอ่อนน้อมเชื่อฟัง สมณ กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อจึงวินิจฉัยว่าการปกครองกลุ่มชาวโปรตุเกสในประเทศที่ไม่อยู่ในอำนาจ ของประเทศโปรตุเกสโดยเฉพาะในกรุงสยามนั้นให้ได้แก่บรรดาประมุขมิสซัง   ดังนั้นค่ายชาวโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในเขตมิสซังกรุงสยามในฐานะเดียวกับประเทศสยามส่วนอื่นๆ
 
คำสั่งนี้ สามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศเห็นว่า จะต้องทำให้เกิดการขัดขวางอย่างรุนแรง และแล้ววันที่ 30 ธันวาคมปีเดียวกัน คุณพ่อเดอ บรีซาซีเอร์ (de Brisacier) เขียนไว้ว่า       "เมื่อพิจารณาว่าค่ายของชาวโปรตุเกสซึ่งหนังสือ Relation ของสงฆ์เยสุอิตอ้างว่ามีคนถึง 5000 คนนั้น อยู่ในอำนาจปกครองของพระสังฆราช"
 
ก็น่าจะสงสัยว่าบรรดาคุณพ่อเยสุอิตชาวโปรตุเกสซึ่งจำต้องสาบานจะเชื่อฟังกฤษฎีกาทุกฉบับของสมณกระทรวงนั้น จะต้องมีความยากลำบากเป็นพิเศษที่จะรับข้อนี้ ท่านปัลลือก็มีความเห็นอย่างเดียวกัน ฉะนั้นท่านจึงอยากให้มีการผ่อนปรนในการปฏิบัติ ท่านเขียนว่า "ข้าพเจ้าอยากให้พระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศ มอบอำนาจให้คุณพ่อเด ม็อตตา เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของความสงบ ปล่อยให้ท่านเป็นอิสระที่จะใช้อำนาจนั้น หรือจะใช้อำนาจของเมืองกัวตามมโนธรรมของท่าน"
 
ในปี ค.ศ. 1678 คำสั่งของอธิการใหญ่ของพวกสงฆ์โดมินิกันมาถึงกรุงสยาม สั่งให้คุณพ่อโยเซฟ กอเรอา (Correa) รับรู้อำนาจของประมุขมิสซังอย่างเปิดเผย คุณพ่อกอเรอาก็ทำตามที่ได้รับคำสั่ง วันที่ 29 เมษายนปีเดียวกัน ท่านแสดงให้พระคุณเจ้าลังแบรต์ดูหนังสืออนุญาตซึ่งรับมาจากอธิการคือ คุณพ่อฮิอาชินโทแห่งมังสาวตาร อุปสังฆราชประจำเอเชียอาคเนย์ และขออนุญาตให้ใช้อำนาจของท่าน ซึ่งท่านก็อนุญาตให้ทันที
 
พวกสงฆ์เยสุอิตเป็นพวกที่ยอมอ่อนน้อมช้ากว่า อธิการใหญ่ของคณะขอในบันทึกช่วยจำให้ยกเลิกคำสั่งที่ออกไปแล้ว แต่ขอไม่ได้ จึงออกคำสั่งให้ทำตามที่สั่ง ดังนั้นวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1681 พระสงฆ์เยสุอิตที่อยุธยาจึงรับรู้อำนาจของพระสังฆราชลาโนอย่างเป็นทางการ   ยังมีการต่อสู้กันเกี่ยวกับคุณพ่อหลุยส์แห่งพระมารดาพระเจ้าด้วย    คุณพ่อองค์นี้เป็นพระสงฆ์ฟรังซิสกันชาวโปรตุเกสที่ได้รับอนุญาตจากอธิการมาทำงานในกรุงสยาม    ภายใต้อำนาจปกครองของประมุข    มิสซัง นักพรตองค์หนึ่งในคณะของท่านคือ คุณพ่ออันโตนีโอแห่งนักบุญคาธารีนา ได้เขียนจดหมายยืดยาวตำหนิความประพฤติของท่าน   ถือท่านเป็นผู้ละทิ้งหน้าที่และศาสนา เจ้าหน้าที่ในสมณกระทรวงสำนักงานศักดิ์สิทธิ์ได้ประกาศบัพพาชนียกรรมท่าน    พระคุณเจ้าลังแบรต์ได้ส่งหนังสือถึงกรุงโรม และช่วยคุณพ่อหลุยส์ให้ฟื้นจากบัพพาชนียกรรมดังกล่าว
 
เรื่องนี้ได้รับอนุมัติเห็นชอบโดยกฤษฎีกาของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อลงวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1678   แต่เท่านี้ยังไม่พอ ยังต้องช่วยป้องกันคุณพ่อองค์เดียวกันนี้สู้กับรองเจ้าคณะแขวงซานโทเม  คือ   คุณพ่อแอมมานูแอลแห่งนักบุญนีโกเลา การโจมตีเหล่านี้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1685 หลังจากพระคุณเจ้าลาโนได้รับอนุญาตโดยออกกฤษฎีกาแห่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ให้คืนแก่คุณพ่อหลุยส์ซึ่งอภิสิทธิ์ทุกอย่างของคณะฟรังซิสกันที่อธิการได้ยกเลิกไป
 
สาบานจะนอบน้อมเชื่อฟังประมุขมิสซัง
ในปี ค.ศ. 1680 ได้มีการวางมาตรการประการหนึ่ง ซึ่งมีผลเกี่ยวกับคนจำนวนมาก และมีผลเกี่ยวกับกรุงสยามด้วยคือเมื่อวันที่ 29 มกราคม พระสันตะปาปาได้ทรงมีพระบัญชาให้นักพรตที่เป็นมิชชันนารีทุกท่านในภาคตะวันออกไกลทำการสาบานจะนอบน้อมเชื่อฟังประมุขมิสซัง ครั้งนี้มหาอำนาจฝ่ายบ้านเมืองได้เข้ามาสอดแทรก กล่าวคือ ประเทศโปรตุเกสได้เสนอ
 
1. จะให้เงินรายได้แก่สังฆมณฑลที่พระสันตะปาปาจะตั้งขึ้นในเขตมิสซังต่างๆ ขอเพียง แต่ให้ผู้ปกครองสังฆมณฑลเหล่านั้นเป็นชาวโปรตุเกส
 
2. จะจัดให้คณะสงฆ์ชาวพื้นเมืองได้รับค่าเลี้ยงดู
 
แต่สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศโปรตุเกสไม่สามารถจะทำได้เพราะยากจน ประเทศโปรตุเกสยังขู่จะถอนเงินอุดหนุนที่ให้แก่มิชชันนารีในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นด้วย เมื่อไม่มีใครรับข้อเสนอดังกล่าว ประเทศโปรตุเกสก็ยอมรับรู้ประมุขมิสซังในภาคตะวันออกไกล ขอแต่เพียงอย่าส่งชาวฝรั่งเศสมาอีก ข้างฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ขัดขวางการสาบานจะนอบน้อมเชื่อฟังประมุขมิสซัง โดยอ้างว่าการสาบานเช่นนี้ลบหลู่อำนาจของพระองค์ โดยให้ประมุขมิสซังมีอำนาจเด็ดขาดเหนือพสกนิกรบางคนของพระองค์ ยิ่งกว่านั้นเรายังกลัวกันอยู่พักหนึ่งว่าถ้าไม่ถอนพันธะต้องสาบานดังกล่าวแล้ว พระองค์จะทรงห้ามมิให้สามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศรับผู้ที่ใฝ่ใจจะไปแพร่ธรรม สถานการณ์น่ากลัวจนพระสังฆราชปัลลือขอให้ยกเลิกการสาบานดังกล่าว แต่กรุงโรมได้ปฏิเสธไม่ยอมเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1680 แต่ได้ยินยอมให้มีการประนีประนอมคือ ยอมให้บรรดานักพรตที่เป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสแถลงว่า เขาสาบานโดยได้รับอนุญาตจากพระเจ้าแผ่นดิน
 
ที่กรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชปัลลือกล่าวว่า คุณพ่ออังตวน โทมา แห่งคณะเยสุอิตได้ใช้ "เล่ห์กลบางอย่าง เพื่อขอบัตรแสดงว่าได้ปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้ว (satisfecit) จากพระคุณเจ้าลาโนโดยไม่ต้องสาบาน" กรุงโรม ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม  ค.ศ. 1684 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ และ 10กรกฎาคม ค.ศ. 1685 สั่งให้สัตบุรุษและนักพรตในภาคตะวันออกไกลนอบน้อมเชื่อฟังประมุขมิสซัง และซึ่งจำกัดอำนาจปกครองของอัครสังฆราชแห่งเมืองกัว ด้วยกฤษฎีกาเหล่านี้เอง ได้ตำหนิ พระคุณเจ้าลาโนที่ยอมโอนอ่อนในหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1686
 
เมื่อพระคุณเจ้าปัลลือถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1684 "อันเป็นปีที่สิ้นสุดพายุร้าย" ตามที่บาทหลวงตาชารด์เขียนแสดงความคิดในใจของตนเองและของคนอื่นอีกหลายคนนั้น กฤษฎีกาฉบับหนึ่งลงวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1683 สั่งให้หยุดยั้งการสาบานดังกล่าวสำหรับนักบวชคณะ         เอากุสติเนียน คณะโดมินิกัน และคณะฟรังซิสกัน และกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1689 สั่งให้หยุดยั้งสำหรับนักบวชคณะเยสุอิต
 
ผลที่เกิดจากการพิพาทกันครั้งนี้
การต่อสู้ตอนที่ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว     เรายังจะต้องชี้ให้ดูการต่อสู้กันอย่างประปรายอีกสองสามครั้งในสมัยที่พระคุณเจ้าเดอซีเซ (de Cicé) และพระคุณเจ้าเดอเกราเล ( de Quéraley) เป็นสังฆราช จากพฤติการณ์อันหน้าเศร้าสลดเหล่านี้  ยังคงเหลือความเกลียดชัง            อย่างรุนแรงต่อประมุขมิสซังและมิชชันนารีของประมุขมิสซังในหมู่คริสตังที่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสอยู่
และเวลากว่าหนึ่งศตวรรษหลังจากเหตุการณ์ที่เราเพิ่งเล่าย่อๆ มานี้ ยังมีคริสตังเหล่านี้      บางคนเมื่อพระสงฆ์ชาติเดียวกับเขาไม่อยู่   จะยอมตายโดยไม่รับศีลศักดิ์สิทธิ์ดีกว่าที่จะพึ่งพาพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส เมื่อประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูห่างๆ และอย่างใจเย็น   จะต้องเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาดเป็นอย่างน้อย   ทางที่ดีที่สุดก็ดูเหมือนจะเป็นการงดเว้นไม่ทำการวิจารณ์และติชมใดๆ และพอใจที่หวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้คงจะไม่อุบัติขึ้นมาอีก
 
พระคุณเจ้าลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ถึงแก่มรณภาพบทบาทของท่าน
ในขณะเดียวกันกับที่ทรงสนับสนุนบรรดาประมุขมิสซังสู้กับปรปักษ์ของท่านนั้น   พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ทรงส่งพระสมณสาสน์ที่มีคำชมเชยมากถึงพระคุณเจ้าลังแบรต์และพระคุณเจ้าลาโน สำหรับพระสังฆราชองค์แรก อนิจจา! พระสมณสาสน์ฉบับนี้เมื่อมาถึงคงเป็นแต่คำกล่าวสดุดีผู้ตาย เพราะพระสังฆราชลังแบรต์ถึงแก่มรณภาพได้กว่าสามเดือนแล้ว ท่านได้สิ้นชีพเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 ที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากอาพาธอย่างทรมานเป็นเวลายาวนาน แต่ท่านก็สู้ทนอย่างศรัทธาและด้วยความมานะกล้าหาญ คุณพ่อเกมเขียนไว้ว่า
 
"ท่านทนทุกข์ทรมานมากเท่าที่จะทนทุกข์ทรมานได้ ช่างเป็นที่น่าเวทนาเมื่อได้ยินท่านส่งเสียงร้องเวลาเจ็บปวดขึ้นอีก และท่านก็เจ็บปวดเช่นนั้นเกือบทุก 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง แม้ว่าประสาทต่างๆ ของท่านปั่นป่วนและมีความทุกข์ แต่ท่านก็มีความสงบในใจอย่างลึกซึ้ง ปากท่าน    ไม่พร่ำคำอื่นใดนอกจากคำว่า โปรดให้ข้าฯเจ็บปวดยิ่งขึ้นแต่โปรดให้มีความอดทนยิ่งขึ้นด้วยเถิด! (Auge dolorem, auge patientiam)"
 
นอกจากคำที่พวกมิชชันนารีกล่าวสรรเสริญท่านและเรานำมาเผยแพร่แล้ว เราขอเพิ่มคำที่คุณพ่อเดอ กูรโตแล็ง กล่าวชมเชยท่านอีกสองสามบรรทัด ต่อไปนี้:
 
"ท่านลังแบรต์ เป็นดังนกอินทรีที่บินเหนือเมฆ ท่านภาวนาและอยู่โดดเดี่ยวตลอดเวลา      แต่ถึงกระนั้น ท่านตื่นเฝ้าอยู่อย่างน่าพิศวง จนท่านไม่ละโอกาสแม้แต่น้อยที่จะช่วยมิชชันนารีของท่านให้ได้รับประโยชน์และความก้าวหน้า ท่านมีเรื่องร้ายๆ และยุ่งยากลำบากกับชาวโปรตุเกส    พวกแขกมุสลิมและชาวจีน แต่ท่านก็บังคับให้คนเหล่านั้นปล่อยท่านอยู่อย่างสงบ และไม่ขวางกั้นทางภารกิจต่างๆ ของท่าน ท่านทำเช่นนี้ได้โดยไม่ก่อศัตรูแม้แต่คนเดียว"
 
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต สมจะได้รับคำสรรเสริญเหล่านี้ หลังจากขอให้ตั้งมิสซังขึ้นเป็นผลสำเร็จโดยร่วมใจกับพระสังฆราชปัลลือ และหลังจากท่านช่วยตั้งคณะมิสซังต่างประเทศ และเตรียมก่อตั้งสามเณราลัยในกรุงปารีสแล้ว   ท่านก็อุทิศตนอย่างสิ้นเชิงในการจัดระเบียบ โดยเฉพาะของมิสซังต่างๆ เดินทางจากกรุงสยามไปประเทศตังเกี๋ยและประเทศโคจินจีน บทบาทโดยเฉพาะของท่านในกรุงสยามสรุปเป็นความย่อๆ ได้ว่า ต้องสู้รบกับชาวโปรตุเกส, ดำเนินการให้มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐบาล, จัดระเบียบวิทยาลัยกลาง, บวชพระสงฆ์พื้นเมือง, ตั้งคณะสตรีผู้รักไม้กางเขน และโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เทิดเกียรติของพระศาสนาคาทอลิก และดูเหมือนจะช่วยเผยแพร่พระศาสนานั้นให้ขยายกว้างออกไป
 
สรุปเหตุการณ์ความขัดแย้ง
เหตุการณ์ที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมิสซังสยามโดยตรงได้แก่ การที่พระคุณเจ้าปัลลือและพระคุณเจ้าลังแบรต์ ได้ร่วมกันขอร้องมาทางสันตะสำนักให้มีอำนาจในการปกครองสยาม และหลังจากที่กรุงโรมได้พิจารณาคำขอนี้เป็นระยะเวลานาน กรุงโรมก็ได้รับรองในปี ค.ศ. 1669 โดยเอกสาร brief "Cum Sicut" ลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 และเอกสาร Bull "Speculatous" ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 โดยย้ำแต่เพียงว่า อย่าให้สันติสุขที่ได้รับในสยาม      ทำให้พวกท่านลืมภารกิจหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมายมา และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674        คุณพ่อลาโนได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศและผู้แทนพระสันตะปาปาแห่ง  สยามได้รับการอภิเษกโดยพระคุณเจ้าลังแบรต์และพระคุณเจ้าปัลลือ
 
การได้รับอำนาจการปกครองเหนือสยามนี้ มิได้ทำให้ความขัดแย้งที่มีกับมิชชันนารีของ   ปาโดรอาโดจบสิ้นลง ตรงกันข้าม กลับทำให้ความขัดแย้งนี้ทวีมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าจะมีคำสั่งจากกรุงโรมในระหว่างปี ค.ศ. 1673-1674 โดยมีเอกสาร Bull ถึง 3 ฉบับ และเอกสาร Constitution อีก 4 ฉบับ ยืนยันรับรองอำนาจของผู้แทนพระสันตะปาปาก็ตาม มิชชันนารีของปาโดรอาโดก็ประกาศเสมอว่า เอกสารเหล่านั้นไม่มีผล และเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อสิทธิพิเศษของปาโดรอาโด
 
ความขัดแย้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องราวทั้งหมดที่เราได้ศึกษากันมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มาจากคุณพ่ออาเดรียง โลเนย์   ซึ่งได้ศึกษาจากบันทึกและจดหมายรวมทั้งเอกสารต้นฉบับที่มีอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในบันทึกความทรงจำของคุณพ่อ De  Bèze พระสงฆ์คณะเยสุอิตองค์หนึ่ง ท่านก็ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน โดยเล่าตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านได้พบเห็นมา โดยมีรายละเอียดบางอย่างที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม
 
การศึกษาเรื่องนี้จึงมิใช่เป็นการศึกษาว่าใครถูกใครผิด เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในหลักการของตนเอง ต่างก็มีเหตุผลที่เรียกได้ว่าถูกต้อง เราจึงศึกษาถึงเหตุการณ์ที่เป็นจริงเพื่อรู้ถึงความเป็นไปในระยะแรกๆ ของการแพร่ธรรม ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งของการแพร่ธรรมนั้นเกิดขึ้นจากมิชชันนารีในสยามได้ก่อให้เกิดขึ้นเองด้วย
ดูเหมือนว่าจะมีเครื่องหมายแห่งการกลับคืนดีกันประการหนึ่งเมื่อมิชชันนารีโปรตุเกสและเยสุอิตยอมรับคำเชิญของมิชชันนารีฝรั่งเศสให้สนับสนุนงานของมิสซังปีแรกในวันระลึกถึงนักบุญยอแซฟ แต่สัมพันธภาพนี้ก็มีอยู่ได้ไม่นาน
 
4. กรณีพิพาทระหว่างพวกพระสงฆ์เยสุอิตและผู้แทนพระสันตะปาปา
ภูมิหลังของกรณีพิพาทเรื่องนี้มีดังนี้
 
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1633 พระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ 8 ออกเอกสาร "Ex debito pastoralis officii" สั่งห้ามบรรดามิชชันนารีทั้งปวงแห่งซีกโลกอินเดียตะวันออก ไม่ให้ทำธุรกิจและการค้า ภายใต้บทลงโทษอย่างรุนแรง  นอกจากนี้ ตามคำสั่งสอนที่มีชื่อเสียงปี ค.ศ. 1659  บรรดามิชชันนารีก็ถูกสั่งห้ามทำการค้าขายภายใต้บทลงโทษคือ ถูกขับไล่ออกจากมิสซัง และงานประกาศความเชื่อด้วย ในปี ค.ศ. 1663  พระคุณเจ้าปัลลือเดินทางมาถึง Tanasserim ในระหว่างทางก่อนถึงสยาม ท่านได้พบกับพระสงฆ์เยสุอิตท่านหนึ่งคือ คุณพ่อ Cardoso องค์เดียวกับที่ให้การต้อนรับพระคุณเจ้าลังแบร์ต พระคุณเจ้าปัลลือได้มีโอกาสสนทนา ถกเถียงกับคุณพ่อองค์นี้อย่างเปิดอกเกี่ยวกับเรื่องการค้าขายและธุรกิจของมิชชันนารี คุณพ่อ Cardoso รู้ดีมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะ     คุณพ่อเคยทำงานอยู่ในศูนย์กลางแขวงญี่ปุ่นที่เมืองมาเก๊าเป็นเวลาถึง 3 ปี ท่านกล่าวว่า ”เมืองนี้ได้ทำการค้า และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้วิธีอื่น เพราะเมืองนี้มีหนี้สินมากว่า 20,000  pataques และพวกเขาก็มีสิทธิพิเศษที่จะทำการค้าเพื่อหาเงินมาใช้หนี้อันนี้ 
 
พระคุณเจ้าปัลลือมีความยินดีอย่างมากในการสนทนาครั้งนั้น พระคุณเจ้าได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงคุณพ่อ Bagot ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1663 กล่าวว่า
 
ไม่ใช่สิ่งที่เปิดโอกาสให้พูดต่อต้าน... นี่เป็นความผิดปกติบางอย่างที่มีทั่วไปอีกประการหนึ่ง คือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายมากเกินไป และก่อให้เกิดเหตุการณ์น่าอัปยศ ท่านมีความยินดีที่ได้เห็นสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดที่มีอยู่ในตัวคุณพ่อ Jean CARDOSO ผู้ปกครอง Tenasserim และข้าพเจ้าได้เริ่มต้นพร้อมกับความยินดีนี้   เราได้พูดถึงสิ่งทั้งปวง      คุณพ่อ Cardoso ได้ให้ความคิดเห็นที่ดีมากแก่ฉัน 
 
แน่นอนที่สุด พระคุณเจ้าลังแบร์ตและพระคุณเจ้าปัลลือได้เคยรับรู้และได้ยินเกี่ยวกับการทำการค้าขายของบรรดามิชชันนารีมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเยสุอิต และพวกท่านก็รู้สึกว่าเป็นที่สะดุด สำหรับพวกท่านแล้ว มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนเหลือเกินว่าพวกเยสุอิตกำลังละเมิดกฎเกณฑ์ของสันตะสำนัก
 
ในปี ค.ศ. 1665 คุณพ่อ Joseph Tissanier พระสงฆ์เยสุอิตองค์หนึ่งได้เขียนหนังสือทางวิชาการเทววิทยาขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "Religiosus Negotiator" โดยเขียนขึ้นมาที่สยาม หลังจากที่ท่านได้ปรึกษาหารือกับพระคุณเจ้าลังแบร์ต พระคุณเจ้าปัลลือและพระสงฆ์เยสุอิตองค์หนึ่งคือ    คุณพ่อ Albier ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ท่านเชื่อว่าไม่เพียงแต่พระสงฆ์ไม่สังกัดคณะนักบวช (Secular Priests) เท่านั้นซึ่งกำลังทำการค้าขาย แต่พวกเยสุอิตด้วยกำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน
 
แม้ว่าในทวีปยุโรป  นักบวชคณะเยสุอิตทำงานเพื่อความรอดของวิญญาณแต่อย่างเดียวตามกฎวินัอันน่าสรรเสริญของคณะของตน  แต่ทว่าในเขตปกครองบางเขตในทวีปเอเชีย   กฎเกณฑ์ของคณะได้หย่อนยานลงเป็นเวลานานมาแล้ว  จึงมีพระสงฆ์ไม่จำเพาะแต่พระสงฆ์  ไม่สังกัดคณะนักบวชเท่านั้น  แต่แม้กระทั่งนักบวชคณะเยสุอิตด้วย     ที่ทำให้พระศาสนจักรของพระเป็นเจ้าต้องมีมลทินจากการแสวงหากำไรอันสกปรกและน่าอับอาย 
 
ในภาคแรกของหนังสือวิชาการเล่มนี้ คุณพ่อ Tissanier ได้แสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ทั้งหลายของคณะเยสุอิตนั้น ได้มีการวางบทลงโทษแก่สมาชิกทั้งหมดของคณะที่ได้นำตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าขาย หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจใดๆ พร้อมทั้งได้ย้ำถึงกฎเกณฑ์ของสันตะสำนักซึ่งพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 เป็นผู้ กำหนดนั้นด้วย
 
ดูเหมือนว่าการประกาศสงครามระหว่างผู้แทนพระสันตะปาปากับชาวโปรตุเกสในสยาม รวมทั้งพวกเยสุอิตด้วย  เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของคำสั่งจากโปรตุเกสถึงเมืองกัว ให้จับกุมบรรดาผู้แทนพระสัน ตะปาปา ในกรณีที่พวกเขาผ่านเข้ามาในดินแดนยึดครองของโปรตุเกส ผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งครั้งนี้ได้แก่ การพิมพ์เผยแพร่จดหมายอภิบาลสัตบุรุษฉบับหนึ่งของ   พระคุณเจ้าลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ลงวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1667 ซึ่งเนื้อหาในจดหมายนี้ พระสงฆ์เยสุอิตในภาคพื้นอินเดียตะวันออกได้รับการกล่าวหาอย่างเป็นทางการโดยพระคุณเจ้าเองว่า เป็นผู้ เกี่ยวข้องกับการค้าขาย และกำลังเป็นเหตุให้งานเผยแพร่พระศาสนาถูกทำลาย พระคุณเจ้าเขียนไว้ว่า
 
ยิ่งกว่านั้น จากการเดินเรือที่ล้มเหลวครั้งนี้ กลับบังเกิดผลดี ทำให้ข้าพเจ้ามาทราบว่ามีความเหลวแหลกอย่างมากของพวกมิชชันนารีในดินแดนทางภาคตะวันออกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเยสุอิต ซึ่งเกือบจะเป็นพวกเดียวที่อยู่ในดินแดนมิสซังของข้าพเจ้า ความเหลวแหลกนี้มีอยู่มากจนแทบไม่น่าเชื่อ ข้าพเจ้าจึงได้รีบหาสาเหตุเพื่อจะสามารถระวังตัวได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องใช้เวลานาน เพราะความเหลวแหลกนี้สังเกตได้ชัดเจนในรูปความกระหายทรัพย์สินอย่างเต็มที่ที่พวกนี้มีอยู่ในตัว 
 
จดหมายถึงบรรดาคริสตชนของพระคุณเจ้าได้โจมตีและประฌามพวกเยสุอิตอย่างรุนแรง กล่าวหาว่าพวกเขากำลังลิงโลดกับการค้าขาย  พร้อมทั้งบรรยายด้วยว่าพวกเขาทำกันอย่างไร พระคุณเจ้าได้กล่าวหาด้วยว่าพวกเยสุอิตไม่ยอมนบนอบต่อคำสั่งของพระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ 8 เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงกำลังเป็น ต้นเหตุทำให้งานแพร่ธรรมพินาศไป
 
ทุกคนย่อมเห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่เวลาที่นักบวชเยสุอิตไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของสันตะสำนัก นั่นคือในเรื่องธุรกิจการค้าที่กล่าวนี้ และในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย... กิจการคริสตศาสนาทั้งหมดจึงต้องเสียไปอย่างน่าอนาถในเกือบทุกที่ที่มีพระศาสนากำลังเจริญขึ้น 
 
คณะสงฆ์เยสุอิตไม่ยอมรับคำกล่าวหาที่ทำลายชื่อเสียงเช่นนี้อย่างเงียบๆ แน่ คุณพ่อ Jacques le Faure มิชชันนารีคณะเยสุอิตในจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1659 หลังจากได้เขียนจดหมายติดต่อกับพระคุณเจ้าลังแบรต์หลายฉบับ ก็ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งลงวันที่ 22 พฤศจิกายน  ค.ศ. 1670 เป็นการตอบโต้จดหมายถึงบรรดาคริสตชนฉบับนั้นของพระคุณเจ้าลังแบรต์ ปกป้องตำแหน่งที่ถูกต้องของพวกเยสุอิต ท่านเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงคุณพ่อ Jacques de Machault ซึ่งเป็นสงฆ์เยสุอิตชาวฝรั่งเศสในกรุงปารีส ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการพิมพ์ข่าวสารต่างๆ ซึ่งบรรดามิชชันนารีเยสุอิตส่งมาให้ท่าน จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศสและต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาลาติน
 
ในจดหมายของคุณพ่อ Le Faure นี้ ท่านไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวหาอย่างรุนแรงของพระคุณเจ้าลังแบรต์   ท่านยืนยันถึงความยากจนของคณะ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างต่างๆ มากมาย รวมทั้งเรียกร้องให้คุณพ่อ Deydier และคุณพ่อ De Bourges มิชชันนารีฝรั่งเศสที่เดินทางมาถึงสยามพร้อมๆ กับพระคุณเจ้าลังแบรต์ให้มาเป็นพยานด้วย ท่านยืนยันว่าเป็นการง่ายที่จะพิสูจน์ว่าไม่มีการค้าขาย และการค้าระหว่างมาเก๊ากับอินโดจีนที่กระทำโดยพวกเยสุอิตอีกต่อไป จดหมายของท่านเริ่มต้นด้วยการตัดพ้ออย่างขมขื่น สำนวนต่างๆ ในจดหมายของท่านนี้   ก็เต็มไปด้วยการประชดประชันอย่างสุภาพ ท่านได้ตอบโต้ด้วยการอ้างว่าคุณพ่อ Deydier และ     คุณพ่อ De Bourges ของ M.E.P. เป็นคำตอบของเรื่องนี้
 
คุณพ่อเดดีเอร์และคุณพ่อเดอบูรจส์ จะกล่าวอะไรสำหรับเรื่องนี้เล่า ใครๆ ก็เห็นว่าท่านมานั่งที่ด่านภาษีในดินแดนเหล่านี้ (= มาทำธุรกิจการค้า) หรือดีกว่านั้น มาอยู่กับสินค้าในโรงเก็บที่เปิดสำหรับทุกคน เพื่อสามารถดูแลความรอดของวิญญาณได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น อย่างที่เขาว่ากันใช่ไหม 
 
คุณพ่อ Valguarnera ก็เช่นกัน ได้ตอบโต้จดหมายถึงบรรดาคริสตชนของพระคุณเจ้า       ลังแบรต์ ท่านได้ทำรายงานที่จริงใจและเรียบง่ายฉบับหนึ่งไปให้แก่บรรดาพระคาร์ดินัลของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อลงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1673 เป็นรายงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย      ที่กระทำโดยพวกเยสุอิตในมาเก๊า ท่านมิได้ปฏิเสธโดยเด็ดขาดเกี่ยวกับเรื่องการค้าขายนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่บ้าง แต่ท่านได้อธิบายเหตุผลของการทำเช่นนั้น รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเองด้วย เนื่องจากท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเป็นพ่อค้ามากกว่าเป็นพระสงฆ์ คุณพ่อ Valguarnera อธิบายว่าพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่ร่ำรวยคนหนึ่งชื่อ Sebastiao Andres ได้ทิ้งมรดกของเขาไว้ให้แก่คณะเยสุอิตทั้งหมด นั่นเป็นแต่สินค้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้คณะเยสุอิตสามารถสร้าง วิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่จะทำให้จุดประสงค์นี้สำเร็จไปได้อย่างไรหากไม่ขายสินค้าเหล่านี้
 
การติดตามเก็บหรือรวบรวมสินค้าเหล่านี้ และการขาย (เพราะวิทยาลัยมิได้สร้างด้วยสินค้า แต่ด้วยเงินที่ได้มาจากสินค้าเหล่านี้) นี่แหละท่านสังฆราชแห่งเบริธเรียกว่า "การค้าขาย" 
 
ท่านยังได้ยืนยันในรายงานของท่านด้วยว่า คุณพ่อ Emmanuel Rodriguez เจ้าอธิการแขวงญี่ปุ่นได้ทำการสอบสวนการกล่าวหาเรื่องการค้าขายของสงฆ์เยสุอิตแล้วและพบว่าไม่เป็นความจริง
 
เราไม่ทราบแน่นอนว่ากรณีพิพาทระหว่างบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาและพระสงฆ์เยสุอิตเกี่ยวกับปัญหาการค้าขายนี้จบสิ้นไปเมื่อไร สำหรับพระคุณเจ้าลังแบรต์และพระคุณเจ้าปัลลือแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดเวลานั้นได้แก่ การยอมรับอำนาจของพวกท่านของบรรดามิชชันนารี วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1669 พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ได้ออกธรรมนูญ Constitution "Sollicitudo pastoralis" ซึ่งในธรรมนูญนี้ ได้มีคำอธิบายที่สำคัญ 7 ประการ เกี่ยวกับข้อห้ามการทำการค้าขายของบรรดามิชชันนารี พระสังฆราชปัลลือได้รับธรรมนูญฉบับนี้ด้วยตัวท่านเองที่กรุงโรม     พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ยังได้มอบหมายให้ผู้แทนพระสันตะปาปาเป็นผู้ใช้คำสั่งในธรรมนูญนี้ และสั่งให้บรรดามิชชันนารีคณะนักบวชต่างๆ ให้ยอมรับอำนาจของผู้แทนพระสันตะปาปาด้วย และด้วยเหตุนี้สิทธิอันชอบธรรมของบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาก็ออกมา เป็นคำที่ชัดเจน ไม่มีสิ่งใดคลุมเครืออีกต่อไป
 
ดูเหมือนว่าความตึงเครียดระหว่างพวกเขาเหล่านี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงหลังจากการยอมรับอำนาจของผู้แทนพระสันตะปาปา อีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเยสุอิตในสยามในศตวรรษที่ 17 นั้น มิได้มีอยู่แบบต่อเนื่องกันนั่นเอง สำหรับผู้สนใจเรื่องนี้ ขอให้อ่านดูหนังสือเล่มนี้
 
Henri CHAPPOULIE, Une Controverse Entre Missionaires à  Siam au XVIIe  Siècle, Paris, 1943.
 
ซึ่งคุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย จากต้นฉบับภาษาลาตินไว้เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่อว่า "ข้อพิพาทระหว่างมิชชันนารีในประเทศสยาม ระหว่างศตวรรษที่ 17" ประกอบด้วย
 
1. บทความเรื่อง "นักบวชพ่อค้า" โดยคุณพ่อโยเซฟ ติสซานิเอร์ ชาวฝรั่งเศส แห่งคณะเยสุอิต
2. จดหมายถึงบรรดาคริสตชนของ ฯพณฯ ปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต  พระสังฆราชแห่งเบริธ
3. คำโต้ตอบจดหมายของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ฉบับนี้ของคุณพ่อยากอบ เลอ โฟร์ แห่งคณะ   เยสุอิต
4. จดหมายของคุณพ่อโทมัส วัลกวาร์เนรา ถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ.