ประวัติศาสตร์ของชุมชนคาทอลิกชาวโปรตุเกสในประเทศไทย

โดย...นายฉัตรชัย นิลเขต 
คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา ชั้นปี ที่ 4
วิทยาลัยแสงธรรม นครปฐม 

 
“คริสต์ศาสนาในประเทศไทย”
คริสต์ศาสนากำเนิดจากพระเยซูคริสต์  ผู้ที่เชื่อและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์จึงได้ชื่อว่าเป็น “คริสตชน” กว่าสองพันปีที่คริสต์ศาสนาสืบทอดมาท่ามกลางชนนานาชาติ 
 
คริสต์ศาสนาแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ๆ 3 นิกาย  คือ
 
1. โรมันคาทอลิก (Catholic) ใช้ภาษาลาตินเป็นหลัก มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุดประทับที่นครรัฐวาติกัน กรุงโรม มีบรรดาพระสงฆ์และนักบวชชายหญิง 
 
2. ออร์โธด๊อก (Orthodox) ใช้ภาษากรีกเป็นหลักมีผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศ เรียกว่า พระอัยกา (Patriarch) ไม่มีผู้นำสูงสุดระดับสากล 
 
3. โปรเตสแตนท์   (Protestants) ซึ่งเป็นชื่อรวมของนิกายต่างๆที่แยกตัวออกมา ในช่วงแรกๆ มีนิกายลูเทอร์รัน นิกายแองกลีกัน ต่อมาเกิดนิกายอื่นๆอีก เช่น นิกายเพรสไบทีเรียน   นิกายแบ๊บติสต์  นิกายเมโทดิส นิกายเพ็นเตคอส นิกายดิสไซเพิล และนิกายเซเว่นเดย์แอ็ดเวนติส เป็นต้น 
 
สำหรับประเทศไทยมีคริสต์ศาสนา 2 นิกาย คือ 
 
นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรแตสแตนท์ 
 
ซึ่งกรมการศาสนารับรองโดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
 
       1. โรมันคาทอลิก (สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย)
       2. สภาคริสตจักรในประเทศไทย  
       3. สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย  
       4. สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย  
       5. คริสตจักรเซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติสแห่งประเทศไทย  
 
สำหรับนิกายโรมันคาทอลิก มิชชันนารีโปรตุเกสเข้ามาครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1567 เพื่ออภิบาลชาวโปรตุเกสที่ตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมามิชชันนารีกลุ่มแรกจากสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P) มาประกาศศาสนาที่กรุงศรีอยุธยาในค.ศ. 1662 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและคณะสงฆ์เดียวกันนี้ได้ทำงานแพร่ธรรมมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
1. การเข้ามาของชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่นักประวัติศาสตร์ทั้งใน และต่างประเทศ ต่างก็ยอมรับว่าโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทย และยังเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งจากการค้นคว้าเอกสารและงานด้านวิชาการต่างๆ ทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายโปรตุเกสว่าชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และอาจกล่าวได้ว่าพร้อมๆ กับการเข้ามาของชาวโปรตุเกส คริสต์ศาสนาก็ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในการออกสำรวจดินแดนใหม่เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการล่าอาณานิคมของโปรตุเกสนั้น โปรตุเกสได้รับอภิสิทธิ์อุปถัมภ์ศาสนา หรือที่เรียกกันว่า Padroado มีหน้าที่ในการทำนุบำรุงศาสนาและประกาศพระศาสนาไปยังดินแดนใหม่ที่ค้นพบ กล่าวคือ ปาโดรอาโอไม่ใช่เป็นเพียงรูปแบบของผลประโยชน์ทางพระศาสนจักรและการอุปถัมภ์ศาสนาของกษัตริย์ แต่ยังหมายถึงสัญญาด้วยที่ทำขึ้นระหว่างพระศาสนจักรกับรัฐเป็นดังรูปแบบของความสัมพันธ์ทั้งสองสถาบันนี้ 
 
นอกจากนี้ ประเทศโปรตุเกสยังเป็นประเทศคริสต์ศาสนาที่เคร่งครัด และมีจิตใจร้อนรนในศาสนามิใช่น้อย ชาวโปรตุเกสทุกคนที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ทุกคนจึงล้วนแต่นับถือคริสต์ศาสนา และเมื่อสามารถสร้างหลักปักฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ก็ย่อมมีความปรารถนาที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ตามความเชื่อของตนนั่นย่อมหมายความว่า ชาวโปรตุเกสจะต้องมีมิชชันนารีหรือบาทหลวงเพื่อช่วยอภิบาลวิญญาณของพวกเขา และมีโบสถ์เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธีต่างๆ ในส่วนของพระมหากษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นก็ทรงมีพระราชหฤทัยกว้างขวาง ทรงให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสด้วยดี ส่วนชาวโปรตุเกสเองก็มิได้มีจิตใจที่จะเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองอาณานิคม มีแต่ต้องการค้าขายด้วยเท่านั้น มิตรภาพระหว่างทั้งสองอาณาจักรจึงได้เริ่มต้นขึ้นด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน และเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงมิตรภาพนี้ก็คือ ที่ดินซึ่งพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นทรงพระราชทานให้แก่ชาวโปรตุเกส เพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัย และสร้างโบสถ์สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ ซึ่งเราเรียกกันมาช้านานแล้วว่า หมู่บ้านโปรตุเกส ดังนั้น การศึกษาถึงหมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงความเป็นไปของบุคคลต่างๆ ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ประเพณีทางศาสนา และประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาได้ดีขึ้นอีกด้วย
 
ก. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการเข้ามาของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา           
เรื่องนี้มีภูมิหลังตั้งแต่การเดินทางของนักผจญภัยชาวเวนิชคือ มาร์โคโปโล (Marco Polo ค.ศ.1254-1323) ผู้ซึ่งเจริญรอยตามบิดาและลุงในการออกเดินทางไปประเทศจีน ตลอดระยะ เวลา 17 ปี ที่อยู่ในประเทศจีน มาร์โคโปโลได้ออกเดินทางไปยังหลายต่อหลายประเทศในเอเชียแถบนี้ เขาเดินทางมาถึงประเทศจีนเมื่อ ปี ค.ศ.1275 และเดินทางกลับไปถึงเมืองเวนิช (Venice) ในปี ค.ศ.1295 จากนั้นไม่นาน ก็เกิดสงครามขึ้นระหว่างเมืองเวนิชและเมืองนัว (Genoa) ทำให้มาร์โคโปโลถูกจับเป็นเชลย
 
ในคุกนี้เองเพื่อนร่วมคุกคนหนึ่งของมาร์โคโปโลชื่อ รุสตีซีอาโน (Rusticiano) ได้เขียนเรื่องการเดินทางของมาร์โคโปโลตามคำบอกเล่าของเขา หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ออกไปจึงทำให้ชาวยุโรปมีความปรารถนาที่จะเดินทางผจญภัยเช่นนี้บ้าง ต่อมาในคริสต์ ศตวรรษที่ 14 โปรตุเกสเป็นชาติที่มีอำนาจมาก และมีความเจริญก้าวหน้าในการเดินเรือในขณะนั้น โดยมีนักเดินเรือที่มีชื่อเสียงมากคือ วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) และบาร์เทอร์ โลมิว ดีอาซ (Barthelomue Diaz) จนทำให้เกิดความคิดที่จะใช้การเดินเรือเพื่อค้นหาดินแดนใหม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าใน ค.ศ. 1415 เจ้าชายเฮนรี่นักเดินเรือ (Henry the Navigator) พระโอรสของพระเจ้ายอห์น ที่ 1 แห่งโปรตุเกส สามารถเดินเรือออกไปทางอัฟริกาและยึดเกาะเซวต้า (Ceuta) ได้ และนับจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศโปรตุเกสก็เริ่มออกสำรวจทางทะเลอย่างจริงจังเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ๆ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาในเวลานั้นก็ทรงมอบอำนาจและสิทธิพิเศษหลายประการแก่ประเทศโปรตุเกส ทั้งในการค้นหาดินแดนใหม่ๆ และการทะนุบำรุงศาสนา สิทธิพิเศษประการนี้เรียกว่า Padroado ซึ่งมีรายละเอียดและมีระเบียบมากมาย มีวิวัฒนาการสืบต่อๆ มา 
 
ฝ่ายประเทศสเปน เมื่อพระเจ้าเฟอร์ดินันโด (Ferdinando) แห่งแคว้นอารากอน และพระนางอิสซาเบลลา (Isabella) หลังจากการอภิเษกของทั้งสองพระองค์ก็สามารถรวมตัวกันและปลดปล่อยสเปนจากพวกมุสลิมที่เข้ามายึดครองได้แล้ว สเปนก็มีอำนาจมากขึ้น ในเวลานั้นเอง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ก็ออกแสวงหาดินแดนใหม่ในนามของประเทศสเปน เขาค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ.1492 การค้นพบนี้ทำให้สเปนซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกเช่นเดียวกับโปรตุเกส ส่งเอกสารขอสิทธิพิเศษจาก     สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 (Alexander VI) เช่นเดียวที่โปรตุเกสได้รับ และเนื่องจากทั้งโปรตุเกสและสเปนเป็นประเทศคาทอลิกที่มีอำนาจมาก สมเด็จพระสันตะปาปาเกรงว่าการสำรวจดินแดนใหม่ๆ นี้ อาจทำให้ทั้งสองประเทศต่างผิดใจกันได้ จึงทรงขีดเส้นแบ่งโลก จากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง เป็น 2 ซีก โดยกำหนดให้ซีกตะวันตกของยุโรปเป็นความรับผิดชอบของสเปน และทางตะวันออกเป็นของโปรตุเกส เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1493 แต่การแบ่งเส้นนี้ ประเทศโปรตุเกสเห็นว่าประเทศสเปนได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดสนธิสัญญา Tordesillas ขึ้นตามคำเรียกร้องของโปรตุเกสเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 โดยการลากเส้นขยายพื้นที่ให้แก่โปรตุเกสเข้ามาทางตะวันตกอีก และเส้นนี้เองที่ทำให้บราซิลซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงดินแดนของคนพื้นเมืองและยังไม่เป็นประเทศ ตกเป็นของโปรตุเกส
                                                         
ข. การติดต่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสออกแสวงหาดินแดนใหม่โดยเดินทางมาทางตะวันตก อ้อมทวีปอัฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) และขยายตัวอย่างรวดเร็วมาทางเอเชีย อัลฟอนโซ ดาลบูเคิร์ก (Alfonso d'Albouquerque) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส (Envoy) เข้ายึดเมืองกัว (Goa) ซึ่งเป็นเมืองท่า ทางฝั่งตะวันตกของอินเดียได้เมื่อ ปี ค.ศ. 1509 ก่อนหน้านี้เล็กน้อย พระเจ้ามานูแอล (Manoel) กษัตริย์โปรตุเกส ได้ส่งดีโอโก โลเปซ เดอ เซเกอีรา (Diogo Lopes de Sequeira) ออกสำรวจหาข้อมูลและแหล่งสินค้าต่างๆ ตามเกาะและดินแดนต่างๆ เช่น มาดากัสการ์ (Madagascar) ศรีลังกา (Srilanka) และมะละกา (Malacca) ค.ศ. 1508  ที่มะละกานี้เอง  ชาวโปรตุเกส 27 คน ได้ถูกจับเป็นเชลยในจดหมายของเชลยคนหนึ่งที่เขียนถึงอาลบูเคิร์ก ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1510 กล่าวไว้ว่า เวลานี้กษัตริย์แห่งมะละกากำลังทำสงครามอยู่กับกษัตริย์แห่งสยามซึ่งมีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีท่าเรือต่างๆ จำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อัลบูเคิร์กตัดสินใจโจมตีมะละกา ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 
     1. เพื่อช่วยเชลยชาวโปรตุเกส
     2. เพื่อเอามะละกาเป็นเมืองท่าและศูนย์การค้าขาย
     3. เพื่อจะไม่มีปัญหากับประเทศสยาม
 
อัลบูเคิร์กยึดมะละกาได้เมื่อ ค.ศ. 1511 และได้เริ่มต้นสถาปนาสัมพันธภาพฉันมิตรกับกรุงศรีอยุธยาในทันที ด้วยการส่งดูอาร์ต เฟอร์นันเดส (Duarte Fenandes) เป็นทูตมาเฝ้าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปีเดียวกันนั้นเอง เหตุผลที่อัลบูเคิร์กสถาปนาสัมพันธภาพกับกรุงศรีอยุธยา เป็นเพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศที่มั่นคงและมั่งคั่ง การจะทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาคงไม่ยากนักก็จริง แต่การรักษาความสัมพันธ์ก็เป็นประโยชน์ในการติดต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยาและโปรตุเกส อีกประการหนึ่งแม้กรุงศรีอยุธยาจะเคยอ้างว่ามะละกาเป็นประเทศราชของตน ต้องส่งบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ครั้งสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง แต่มะละกาไม่ได้ กระทำตนเป็นประเทศราช หลายครั้งยังทำตนเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยา  ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)นั้น มะละกายังไม่ได้สถาปนาเป็นอาณาจักร มะละกาได้รับการสถาปนาเป็นอาณาจักรในรัชกาลสมเด็จพระรามราชา และประกาศเป็นเอกราชตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1403 ราชวงศ์มะละกาสืบครองบ้านเมืองต่อๆ มากว่า 100 ปี โดยไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาตลอดมา นักประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางประการ อาจระบุว่ามะละกาเป็นประเทศราชของสยามก็เนื่องมาจากว่า สยามในสมัยรัชกาลพระรามาธิบดี อู่ทอง ขยายดินแดนลงมาทางใต้สุด แต่เวลานั้นมะละกายังไม่ได้เป็นบ้านเมืองในความหมายนั้นการกล่าวอ้างเช่นนี้จึงถือเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว
 
การที่โปรตุเกสยึดมะละกาไป จึงไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้สยามบาดหมางกับโปรตุเกส ยิ่งกว่านั้นพระมหากษัตริย์สยาม ยังให้การต้อนรับคณะทูตของโปรตุเกสเป็นอย่างดีอีกด้วยอันที่จริง อาลบูเคิร์ก ส่งดูอาร์ต เฟอร์นันเดส มาเป็นทูตที่สยามก่อนที่จะยึดมะละกาได้อย่างสมบูรณ์ด้วยซ้ำ ดูอาร์ต เฟอร์นันเดส ได้เข้าเฝ้าอย่างสง่า ถวายของขวัญเป็นดาบฝังเพชรและจดหมายลงชื่อโดยอาลบูเคิร์กในนามของกษัตริย์โปรตุเกส เมื่อดูอาร์ตเฟอร์นันเดส เดินทางกลับมะละกา  ทูตสยามได้ติดตามไปด้วย และได้มอบของขวัญเป็นการตอบแทนคณะทูตสยามได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ 
 
ใน ปี ค.ศ. 1511 คณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง นำโดยอันโตนิโอ เด มิซานดา เด อาเซเวโด (Antonio de Mizanda de Azevedo) พร้อมกับมานูแอล ฟราโกโซ (Manoel Fragoso) เดินทางเข้ามาในสยาม ฟราโกโซอยู่ในสยามต่ออีก 2 ปี และได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับสินค้า ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของสยามส่งกลับไปโปรตุเกส และรายงานชิ้นนี้ยังไม่เคยตีพิมพ์จนถึงทุกวันนี้ พระเจ้าแผ่นดินสยามถวายของพระราชทานแด่กษัตริย์แห่งโปรตุเกสโดยผ่านทาง อันโตนิโอ เด มิซานดา ด้วย
 
ใน ปี ค.ศ. 1518  D. Aleixo de Menezeo ได้รับมอบอำนาจพิเศษที่มะละกา ได้ส่งดูอาร์ต โกแอลโฮ (Duarte Coelho) เป็นทูตพิเศษเข้ามาในสยามพร้อมทั้งจดหมายและของขวัญ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจัดมาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นการตอบแทน ในการส่งทูตมาครั้งนี้ได้มีการทำสัญญาฉบับแรกระหว่างสยามและโปรตุเกส โดยฝ่ายโปรตุเกส ได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่สยาม และฝ่ายสยามก็ได้ให้อภิสิทธิ์ในด้านศาสนาและการพาณิชย์เป็นการตอบแทน เวลาเดียวกันสยามสามารถส่งชาวสยามไปตั้งถิ่นฐานในมะละกาได้ สัญญาฉบับนี้นับเป็นฉบับแรกที่สยามได้ทำกับประเทศจากยุโรป และเป็นสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ต่อทั้งสองอาณาจักรอย่างเห็นได้ชัดสยามเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์  ประเทศโปรตุเกสมีอาวุธในการทำสงครามที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ชาวโปรตุเกสจำนวนมากได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา และสอนชาวสยามให้รู้จักศิลปะในการสงคราม การสร้างป้อมปราการ 
 
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ จากการศึกษาเอกสารของฝ่ายโปรตุเกสระบุว่าปีที่ทำสัญญาฉบับนี้ได้แก่ปี ค.ศ. 1518 ในขณะที่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยระบุว่าเป็น ปี ค.ศ. 1516 แต่ผู้ทำสัญญาฉบับนี้ตรงกันคือดูอาร์ต โกแอลโฮ เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการศึกษากันต่อไป ในขณะเดียวกันกับที่อันโตนิโอ ดา ซิลวา เรโก (Antonio da Silva Rego) นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสระบุว่าสัญญาฉบับนี้กระทำโดย อันโตนิโอ เด มิซานดา เด อาเซเวโด (Antonio de Mizanda de Azevedo) และแคมโปส (Campos) ในบทความของเขาก็ยืนยันว่าดูอาร์ตโกแอลโฮมากระชับสัญญาฉบับแรกนั้นให้แน่นแฟ้น ขึ้นเท่านั้น 
 
เป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรเริ่มขึ้นแล้ว ชาวโปรตุเกสเข้ามาพำนักในสยามเพื่อทำการค้าขายและมีเสรีภาพในการถือศาสนาของตน ในเอกสารโบราณของชาวโปรตุเกสกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นชาวโปรตุเกสได้นำเอาไม้กางเขนขนาดใหญ่ มีตราแผ่นดินของประเทศโปรตุเกสไปปักไว้ที่กลางกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้มิได้ปรากฏในพระราชพงศาวดาร หรือเอกสารของไทยแต่อย่างใด และเอกสารโบราณชิ้นนี้ยังระบุไว้ด้วยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1516 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่าง กรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ไม้กางเขน อันนี้น่าจะเป็นไม้กางเขนที่เก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานทางเอกสาร 
 
2. กำเนิดหมู่บ้านโปรตุเกส
แม้ว่าจะมีชาวโปรตุเกสจำนวนมากเข้ามาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยาแต่ก็ยังไม่ได้รับพระราชทานที่ดินเป็นที่แน่นอน ชาวโปรตุเกสนอกจากจะทำการค้าขายแล้ว ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ขันอาสาเข้าช่วยราชการสงคราม ดังปรากฏในเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ค.ศ. 1534-1546) เมื่อครั้งทำสงครามกับเมืองเชียงกรานใน ค.ศ.1538 ตามพระราชพงศาวดารภาคที่ 6 ตอนที่ 1 ว่า:
 
มีจดหมายเหตุของคุณพ่ออันโตนิโอ ปินโต พระสงฆ์องค์ที่ 2 ของมิสซังสยาม มีใจความว่า ครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา 130 คน สมเด็จพระชัยราชาธิราช เกณฑ์ชาวโปรตุเกสเข้ากองทัพไป 120 คน ได้รบพุ่งกับพม่าที่เชียงกราน ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทย เมื่อสมเด็จพระชัยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนคร ทรงยกย่องความชอบของพวกโปรตุเกส จึงพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน แล้วพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกส สร้างวัดสอนศาสนากันตามความพอใจ
 
ในหนังสือของตุรแปง (Turpin) ก็ได้ยืนยันข้อมูลเดียวกันนี้ว่า ในระยะนั้นมีชาวโปรตุเกส 130 คน ในราชอาณาจักร 120 คน ในจำนวนนี้ถูกบังคับให้ร่วมรบ พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อมั่นว่าไม่มีใครสามารถชนะพระองค์ได้ ในขณะที่พระองค์ได้รับความร่วมมือจากชาวยุโรป ซึ่งเปรียบ เสมือนวีรบุรุษของพระองค์... พระองค์ได้พระราชทานผลประโยชน์ให้กับสัมพันธมิตรชาวโปรตุเกส ทรงประกาศให้ชาวโปรตุเกสได้รับการยกเว้นภาษีอากรทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 ปี บาทหลวงโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาได้ทุกแห่งในราชอาณาจักร
 

 
รูป กรุงศรีอยุธยาในอดีต
การเดินทางเข้ามาของชาติโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา
ที่มา (http://haab.catholic.or.th/history/banprotu.html.สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553.วิทยาลัยแสงธรรม) 
 
หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการสร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็น คือ โบราณสถานนักบุญเปโตร หรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย เมื่อ ปี ค.ศ.1540/พ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิกคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และฝังศพบาทหลวง  ส่วนในด้านหลังและด้านข้าง เป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา  เช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ ในส่วนของสุสาน พบโคร งกระดูกจำนวนมากมายถึง 254 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากแนวโครงกระดูกที่พบแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช  ถัดมาส่วนที่สอง ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สาม นอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง  3-4 โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่สภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อ ปี ค.ศ. 1696/พ.ศ. 2239  มีผู้คนล้มตายมาก และในปี ค.ศ. 1712/พ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม
 
 
รูปสุสานฝังชาวโปรตุเกส ที่จังหวัดอยุธยาปัจจุบัน
ที่มา (http://haab.catholic.or.th/history/banprotu.html.สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2553.วิทยาลัยแสงธรรม) 
 
บ้านโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสเป็น ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2054 ในรัชสมัยพระรามาธิบดี
อยุธยามีคำเรียกชาวโปรตุเกสอยู่หลายคำได้แก่ ฝรั่งโลสง ฝารังลูกค้า ชาวบรเทศ ชาวประเทศ แขกประเทศ และแขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน การที่อยุธยา จัดให้ชาวโปรตุเกสเป็นแขก นั้นไม่ใช่ว่าชาวโปรตุเกสเป็นแขก หรือชาวมุสลิมแต่อย่างใด หากเพราะว่าที่ตั้งของบ้านหรือชุมชนชาวโปรตุเกสอยู่ในบริเวณเดียวกันกับชุมชนของแขกจาม แขกชวา แขกมลายู แขกปัตตานี แขกมักกะสัน และอยู่ในความดูแลเดียวกันกับชาวแขกต่างๆเหล่านี้โดยสังกัดในกลมท่าขวา ซึ่งมีพระจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแลปืนไฟและปืนใหญ่ เป็นอาวุธสมัยใหม่ของยุโรปที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามา โดยมอบให้ทั้งอยุธยาและพม่าเป็นเครื่องบรรณาการ หลังจากนั้นก็ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าขายอาวุธเหล่านี้ ซึ่งก็ทำให้เมื่อเกิดสงครามระหว่างอยุธยากับพม่านั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปืนไฟและปืนใหญ่ในการสงคราม โปรตุเกสพยายามที่จะแสวงหาสินค้าเครื่องเทศจากโลกเอเชีย แต่เดิมการค้าเครื่องเทศของเอเชียสู่ยุโรปเป็นบทบาทของพ่อค้าคนกลาง ชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง ในที่สุดโปรตุเกสก็สามารถสร้างเมืองป้อมและโรงเก็บสินค้าถาวรจากเมืองกัวในอินเดีย ถึงเมืองมะละกาในอินเดีย มาเก๊าในจีน ซึ่งไม่เพียงจะประสบผลสำเร็จในการทำการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปเท่านั้น โปรตุเกสยังมีบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางในโลกเอเชียด้วยเช่นกัน การติดต่อสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกส โดยผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโปรตุเกสที่เมืองกัวยุติลงในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือ การมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกครั้งของพ่อค้าชาวฮอลันดา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่ต่อมาจะมีการติดต่อไปยังเมืองมาเก๊า ซึ่งเป็นฐานทางการค้าใหม่ของโปรตุเกสในโลกเอเชีย
 
บทบาทของชาวโปรตุเกสในอยุธยาที่สำคัญๆ ส่วนใหญ่เป็นบทบาทของพ่อค้าเอกชนทหารรับจ้างและบาทหลวงสอนศาสนา
 
บ้าน-โบสถ์
ทหารระดับล่างของโปรตุเกสในโลกเอเชีย จะหลบหนีจากกองทัพแล้วหันมาประกอบอาชีพพ่อค้าซึ่งมีผลประโยชน์มากกว่า ประมาณว่าในปลายรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาถึง 300 คน กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานที่ดินบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา  ห่าง จากเกาะเมืองตรงป้อมเพชรราว 3-4 กิโลเมตร ให้เป็นที่ตั้งบ้านและสร้างโบสถ์ของชาวโปรตุเกสและใช้ประกอบพิธีทางศาสนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บ้านโปรตุเกส มีประชากรถึง 2,000 กว่าคนและส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสกับหญิงสาวเอเชีย บ้านโปรตุเกส   มีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1563
 
บ้านโปรตุเกสมีด้านหน้าทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนอีก 3 ด้านมีการขุดคูน้ำล้อมรอบ   ขนาดพื้นที่กว่าครึ่งตารางกิโลเมตรเป็นชุมชนคา ทอลิกที่มีโบสถ์ถึง 3 โบสถ์ จาก 3 นิกาย โดยโบสถ์เหนือสุดเป็นคณะฟรันซิสกัน โบสถ์ตอนกลางเป็นของคณะโดมินิกัน และตอนท้ายหมู่บ้านเป็นคณะเยสูอิต มีบาทหลวงถึง 11 องค์
 
นอกจากนี้ ในสมัยพระนารายณ์ยังมีชาวโปรตุเกสกว่า 60 ครอบครัวได้เดินทางเข้ามายังบางกอก และตั้งถิ่นฐานที่สามเสนซึ่งเป็นที่ตั้งวัดคอนเซ็ปชัญของฝ่ายโรมันคาทอลิก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวโปรตุเกสจากอยุธยาจะอพยพมาตั้งถิ่นอยู่ที่นี่ ดังนั้นชุมชนชาวโปรตุเกสบริเวณวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน จึงมีความต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และในสมัยกรุงธนบุรีได้มีชาวทหารอาสาโปรตุเกสมาตั้งเป็นชุมชนใหม่ที่เรียกว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” โดยมีวัดซางตาครู้สเป็นศูนย์กลางเพราะฉะนั้น รายละเอียดหรือประวัติโบสถ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบันทึกเป็นเอกสารสำคัญที่บอกถึงความ  เป็นมาตั้งแต่อดีตที่มีความสำคัญต่อการศึกษาและเข้าใจในที่มาของชาวโปรตุเกสในประเทศสยาม ดังต่อไปนี้
 
1. ประวัติวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์)
เมื่อทหารพม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาใน ปี ค.ศ. 1767 คาทอลิกโปรตุเกสต่างก็พากันหลบหนีไปหาที่หลบซ่อนในที่ต่างๆ พวกหนึ่งไปอยู่วัดซางตาครู้สกับคุณพ่อ ฌาคส์ กอรร์ พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส แต่มีพวกหนึ่งไม่ยอมรับมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส  พวกเขายอมรับแต่พวกพระสงฆ์ชาวโปรตุเกส จึงแยกไปอยู่ในที่ดินว่างเปล่าซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดกาลหว่าร์ในปัจจุบัน  ที่พวกเขาอยู่นี้มีชื่อว่า ค่ายแม่พระลูกประคำ ตามชื่อรูปแม่พระลูกประคำที่ พวกเขานำมาจากอยุธยา คาทอลิกที่อาศัยอยู่ในค่ายนี้ยังไม่มีวัด ทั้งยังไม่มีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครอง พวกเขาจึงไปร่วมพิธีทางศาสนาที่วัดซางตาครู้สปี ค.ศ.1786 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้น สำหรับสร้างวัด และในปี ค.ศ.1787 วัดก็สร้างเสร็จ เป็นวัด แบบเรียบง่าย สร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูง เพราะที่ดินแปลงนี้เคยถูกน้ำท่วมมีห้องประชุมใหญ่สำหรับสัตบุรุษ และห้องซาคริสเตีย ด้านข้างมีบ้านพักพระ สงฆ์ขนาดย่อมสำหรับเจ้าอาวาสที่จะมาพักเพราะคริสตังเหล่านี้หวังว่า สักวันหนึ่งเขาจะมีพระสงฆ์ชาวโปรตุเกสมาปกครอง วัดนี้มีชื่อว่าวัดกาลหว่าร์ ตามชื่อรูปพระตายหรือกาลหว่าร์ แต่น่าจะมาจากคำว่า กัลวารีโอ มากกว่า ซึ่งพวกเขานำมาจากอยุธยา คริสตังชาวโปรตุเกสเหล่านี้ขอให้พระอัครสังฆราชแห่งเมืองกัวส่งพระสงฆ์ ชาวโปรตุเกสมาปกครองพวกตน  แต่ทางเมืองกัวไม่ยอมส่งโดยมีเหตุผลว่า พวกเขามีผู้ปกครองอยู่แล้ว ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง  ดังนั้น คริสตังโปรตุเกสจึงค่อยๆ กลับใจยอมรับอำนาจการปกครองของมิชชันนารีฝรั่งเศส ในที่สุดเพราะจนถึงเวลานั้นที่วัดกาลหว่าร์  ยังไม่มีพระสงฆ์องค์ใดที่มาทำมิสซาโปรดศีลให้ ใน ปี ค.ศ. 1820 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานที่ดินเพื่อตั้งสถานกงสุลโปรตุเกส ต่อมาภายหลังสถานกงสุลนี้ได้รับฐานะเป็นสถานทูตท่านกงสุลขอให้พระเจ้าอยู่หัว ประกาศว่าที่ดินค่ายแม่พระแห่งลูกประคำ  เป็นที่ดินพระราชทานแก่ประเทศโปรตุเกส  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งราชวงค์จักรี  จึงทรงมีพระบรมราชโองการตอบว่าที่ดินผืนนี้มิได้พระราชทานให้รัฐบาลโปรตุเกส  แต่ให้คาทอลิกโปรตุเกสสร้างวัดได้ และดังนั้นที่ดินนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก ไม่ว่าใคร ชาติใด ที่เป็นประมุขของมิสซัง พระสังฆราชฟลอรังส์ จึงเข้าปกครองวัดกาลหว่าร์    และทำมิสซาอย่างสง่าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1822 เพื่อเป็นการเทิดเกียรติแด่พระนางมารีอา ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้ค่อยๆอพยพโยกย้ายไปทำมาหากินในที่ต่างๆจึงมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  และมีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยแทน  นานๆครั้งจึงจะมีพระสงฆ์ไทยมาทำมิสซา และโปรดศีลให้ ในค.ศ.1837 คุณพ่ออัลบรังด์มาอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ เพราะสะดวกสำหรับการติดต่อแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีน  ท่านได้สร้างห้องโถงใหญ่ ด้วยไม้ไผ่ มุงแฝกสำหรับใช้เป็นสถานที่แพร่ธรรมให้ แก่คริสตังใหม่และคริสตังชาวจีน เนื่องจากวัดเก่าที่ชาวโปรตุเกสสร้างเมื่อค.ศ 1887  นั้นผุพังไปเกือบหมดแล้วพระสังฆราชกูรเวอซีจึงสั่งให้รื้อและสร้างใหม่ เป็นวัดครึ่งอิฐครึ่งไม้ ทำพิธีเสกในวันที่ 1  ตุลาคม ค.ศ. 1839 โดยพระสังฆราช ฌอง บัปติส ปัลเลอกัว ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วย และตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระลูกประคำ” แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่า “วัดกาลหว่าร์” มาจนถึงปัจจุบันนี้ ในสมัยคุณพ่อดือปองด์เป็นเจ้าอาวาส(ค.ศ.1846-ค. ศ.1864) ใน ปี ค.ศ. 1858 เพื่อเป็นการลบล้างการทุรจารวัดกาลหว่าร์ซึ่งเกิดจากการมาจุดประทัดในวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้พระราชทานที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1864 และต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ที่วัดกาลหว่าร์ ทำลายบ้านพักพระสงฆ์ และหลักฐานทุกอย่างของวัดกาลหว่าร์รวมทั้งหลักฐานและบัญชีศีลศักดิ์สิทธ์ของวัดทุกวัดที่เปิดตั้งแต่สมัยคุณพ่ออัลบรังด์ในปี ค.ศ.1890 คุณพ่อแดซาลส์ เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้รื้อวัดกาลหว่าร์ซึ่งมีอายุ 50 กว่าปีแล้วและทำการสร้างใหม่ ซึ่งก็คือวัดหลังปัจจุบัน เสกศิลาฤกษ์ วันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1891 โดยพระสังฆราชฌอง หลุยส์เวย์  และเสกวัดใหม่ใน ปี ค.ศ. 1897 ในสมัยคุณพ่อเปอตีต์เป็นเจ้าอาวาส วัดหลังนี้ได้มีโอกาสใช้เป็นสถานที่สำหรับทำพิธีอภิเษกคุณพ่อเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอสเป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่  30 มกราคม ค.ศ. 1910 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว แห่งรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์มาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย  ในสมัยคุณพ่อกิยูเป็นเจ้าอาวาสได้จัดฉลองครบรอบ 25 ปีในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1922 จัดฉลองครบรอบ 50 ปีในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1947 ในสมัยคุณพ่อโอลลิเอร์ เป็นเจ้าอาวาส  ในสมัยคุณพ่ออาแมสตอย เป็น เจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัด ทาสีทั้งภายนอกและภายในวัดให้ดูสวยงามและสง่าขึ้น และได้จัดฉลองครบรอบ 60 ปีของวัด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1957 คุณพ่อฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู (ต่อมาคือพระอัครสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ และพระคาร์ดินัลเกียรติคุณในปัจจุบัน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ.1965 นับเป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระสงฆ์คนไทยองค์แรกของวัดกาลหว่าร์ และนับจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าอาวาสทุกองค์ของวัดกาลหว่าร์ก็ได้ถูกมอบหมายให้กับพระสงฆ์ไทย นับเป็นความภาคภูมิใจประการหนึ่งของวัดนี้ 
 
2. ประวัติของวัดและหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญ             
เมื่อ ปี ค.ศ. 1938  บุคคลสำคัญที่เป็นผู้วิ่งเต้นค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของวัด มีพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิม วิเศษรัตน์) พันโทพระประจักษ์ยุทธธน (มรกต วงศ์ภักดี) และหลวงสมานไมตรี (พิศ สมานไมตรีรักษ์) โดยได้รับความร่วมมือจากศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน(ยง เสถียรโกเศศ) ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่กรมศิลปากร และได้มอบหมายให้นายปรีดา ศรีชลาลัย เจ้าหน้าที่ในกองวรรณคดีกรมศิลปากร เป็นผู้ชำระตรวจแก้เรื่องในหลวงของวัดคอนเซ็ปชัญ จึงมีให้อนุชนรุ่นหลังไว้ศึกษาบ้าง ดังนั้น วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน ในปัจจุบันนี้ เป็นวัดของคณะคริสตัง มีกำหนดเนื้อที่ คือ ทิศตะวันออกจดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจดลำน้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือจดคลองบ้านญวณ สามเสน (เดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่งถมเป็นถนนคอนกรีตแล้ว) ทิศใต้จดคลองวัดราชาธิวาส  วัดคอนเซ็ปชัญ มีขึ้นในสยาม ได้ความว่า ครั้งสมเด็จพระนารายน์ มีชาวโปรตุเกสเข้ามาทำ การค้าขายในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก นอกจากค้าขาย บางคนได้รับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ครั้งนั้นมีศึกสงครามบ่อย ชาวโปรตุเกสที่รับราชการฝ่ายทหารได้ทำการรบ มีความชอบหลายครั้งหลายคราว เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก ในที่สุดถึงกับพระราชทานให้ชาวโปรตุเกสที่นิยมนับถือลัทธิคริสตัง ตั้งวัดบำเพ็ญลัทธิกรรมได้โดยสะดวกใจ เมื่อราว ปี ค.ศ. 1674 วัดคอนเซ็ปชัญหลังเก่า (วัดน้อย) สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์แทนวัดหลังเก่าโบราณที่สร้างด้วยไม้ 
 
บุคคลสำคัญที่ได้รับพระราชทานที่ดินสร้างวัดนั้นคือพระสังฆราชหลุยส์ลาโน ในชั้นต้น พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน เริ่มสร้างวัดมีเพียงโบสถ์ไม้หลังหนึ่ง ขนานนามเป็นความหมายที่สำแดงออกจากความนับถือ พงศวดารรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอันแน่วแน่ของท่านว่า “วัดแม่พระปฏิสนธิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดหามลทินมิได้”  ซึ่งเป็นพยานให้เห็นว่า พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน มีน้ำใจเลื่อมใสในพระแม่มารีอาอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้เชื่อมั่นในหลักความจริง ซึ่งพระสมัย (พระศาสนจักร) ได้ประกาศพระสัจธรรมนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854 ต่อหน้าพระสังฆราชกว่า 200 องค์  อย่างสง่าผ่าเผยว่า พระนางพรหมจารีทรงพ้นจากบาปกำเนิดตั้งแต่แรกปฏิสนธิ 
 
สภาพของวัดน้อยก่อนการบูรณะ (ก่อน ปี ค.ศ.1983) 
พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน  มีบาทหลวงชาง เดอบัว เดอ ฟาลังแดง เป็นผู้ช่วยอยู่องค์หนึ่ง ท่านบาทหลวงชางเดอบัว เดอ ฟาลังแดง เป็นผู้ที่คร่ำเคร่งในวัตรปฏิบัติถึงกับมีคำยกย่องของท่านบาทหลวงวาเช ว่าเป็นผู้มีจิตอาโปสโตโลแท้ (หมายความว่าเป็นอัครสาวกของพระเยซูเจ้า)เรื่องเกี่ยวกับวัดคอนเซ็ปชัญนี้ นับแต่พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ได้มาสร้างวัดเมื่อ ค.ศ. 1674 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงในที่ใดๆ เลย จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1782 จึงไ ด้มีการกล่าวในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้ชาวเขมร 500 คน ที่หลบหนีลี้ภัยมาจากเขมรมาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในหมู่บ้านนี้เท่านั้น และตั้งแต่นั้นมาก็มีการเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเขมร”
 
ชาวบ้านเขมรสามเสนสำนักวัดคอนเซ็ปชัญนี้ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉพาะส่วนที่สำคัญที่ปรากฏเป็นหลักฐานคือ ครั้งรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะให้จัดซื้อปืนใหญ่จากต่างประเทศมาไว้ใช้ในราชการให้เพียงพอ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวโปรตุเกสใน หมู่บ้านวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสนนี้ จัดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เพราะปืนใหญ่ที่ซื้อมาใหม่นั้น ต่างจากปืนใหญ่เก่าที่มีอยู่ จึงหาผู้สันทัดยิงปืนใหญ่ชนิดนี้ให้แม่นยำได้ยาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการทดลองยิงที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้โอ่งขนาดใหญ่ลอยเป็นเป้าไม่ปรากฏว่ามีใครยิงถูก 
 
ต่อมามีเขมรผู้หนึ่งชื่อ “แก้ว” เคยได้รับการสั่งสอนในการยินปืนชนิดนี้มาจากชาวโปรตุเกส ได้ทำการยิงถวายให้ทอดพระเนตร นายแก้วยิงครั้งแรก ถูกโอ่ง เป้านั้นแตกกระจาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า นายแก้วยิงถูกเป้าโดยบังเอิญหรือโดยแม่นยำกันแน่ จึงโปรดให้นายแก้วยิงอีกที นายแก้วก็ยิงถูกโอ่งเป้าอีกเป็นครั้งที่สอง ปรากฏชัดต่อพระเนตรว่านายแก้วเป็นผู้ยิงปืนแม่นจริง จึงทรงพระราชดำริตั้งกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ขึ้นกรมหนึ่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแ ม่นปืนใหญ่ และเป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย ครั้นเมื่อพระยาวิสงครามรามภักดี (แก้ว) ถึงแก่อนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบุตรหลานให้ได้รับราชการสืบต่อกันมาเป็นลำดับ และทุกวันนี้ก็ยังมีเชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่ (คือ สกุล “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี” นามสกุลทั้งสองนี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
 
กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่นี้มีหน้าที่เก็บรักษาปืนใหญ่ควบคุมปืนประจำป้อม และฝึกซ้อมการยิงเพื่อความชำนาญในเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงชลมารคเกี่ยวกับการพระราชทานกฐินหลวงเป็นต้นก็มีหน้าที่คุมปืนหัวเรือพระที่นั่ง ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานดำเนินไปท้องถิ่นก็มีหน้าที่เฝ้าพระบรมมหาราชวังโดยกวดขัน
 
ในระหว่างรัชกาลที่ 3 นั้น ได้มีเหตุที่ไทยต้องรบกับญวนอยู่หลายปี  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี(แก้ว) ก็ได้ไปในราชการสงครามฉลองพระเดชาพระคุณจนสุดความสามารถ คราวนั้นปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า มีญวนคลององเจือง และญวนเมืองโจดก  บรรดาที่นับถือศาสนาเดียวกับพระ ยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ขอสวามีภักดีเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ถัดบ้านเขมรไปทาง เหนือ และพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) กราบบังคมทูลขอญวนเหล่านั้นให้มาอยู่กับเขมร ครั้งต่อมาพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ถึง แก่อนิจกรรมลง  ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งนายจันทร์ผู้น้องเป็นพระยาวิเศษสงครามแทนที่  ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรเกิดทบทวีมากขึ้น  ที่อยู่แออัด  ไม่เพียงพอกันแล้ว พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จันทร์) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีกก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณตามที่กราบบังคมทูลขอ เขตบ้านจึงขยายกว้างออก คือทิศเหนือวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง)ทิศใต้จดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน  ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพวกญวนก็ขยับจากที่เดิมไปตั้งเคหะสถานทางด้านเหนือ  ต่อมาพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้ตั้งกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ให้ชื่อว่า “กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หลัง”   รับบรรจุคนที่อยู่บ้านญวน สามเสนเป็นพื้น ทรงพระกรุณาตั้งพระยาบรรฤาสิงหนาท เป็นจางวางส่วนกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่กรมเก่าให้ชื่อว่า “กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หน้า” และ โปรดให้พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) เป็นจางวางอยู่ตามเดิม   และต่อมาก็ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ หลังปัจจุบัน ซึ่งได้ทำการเสกเมื่อ ค.ศ. 1867 วัดนี้คุณพ่อยิบาร์ตา ผู้มีหน้าที่ดูแลค่ายญวนได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1853 แต่เพราะขาดเงินการก่อสร้างจึงต้องชงักหลายหน
 
ในระหว่าง ค.ศ. 1828-1843 บาทหลวงฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ท่านได้พยายามทะนุบำรุงวัดคอนเซ็ปชัญให้เจริญมากขึ้น โดยปกติบาทหลวง ฌอง บัปติสต์ ชอบสะสมความรู้เกี่ยวภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ ลาติน และภาษาไทย เอาใจใส่ศึกษาสอบสวนจนได้ว่าเป็น ผู้หนึ่งที่มีความรู้หลักแหลมใน 4 ภาษานี้ ได้เรียบเรียงพจนานุกรม 4 ภาษาขึ้นเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดใหญ่และยังร้อยกรองเรื่องอื่นๆ เป็นหนังสือสำคัญไว้อีกหลายเรื่อง 
 
ในส่วนบำรุงวัด สมัยบาทหลวง ฌอง บัปติสต์  มีผู้ไปสวดมนต์ภาวนาที่วัดมากขึ้น ท่านเห็นว่าวัดน้อยคับแคบไม่พอจำนวนผู้ไปสวดมนต์ จึงดำริสร้างวัดขึ้นใหม่อีก คือวัดใหญ่ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แต่ระฆังคงใช้ของเก่าซึ่งมีอยู่แล้วที่มุมกำแพงวัดด้านใต้ ภายหลังได้สร้างกำแพงรอบวัดใหม่ เป็นที่สง่างามแก่วัดยิ่งขึ้น และอัญเชิญรูปพระแม่เจ้า (ที่นำมาจากเมืองเขมร) ประดิษฐานไว้ในวัดใหม่ด้วย การสร้างวัดใหม่ สำเร็จเรียบร้อยใน ค.ศ.1938 พอดีที่ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระสังฆราช และได้มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชตามลัทธินิยมในวัดที่สร้างใหม่นี้เอง 
 
รูปสลักพระรูปพระแม่เจ้า 
วัดคอนเซ็ปชัญมีวัตถุอันล้ำค่าอยู่สิ่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านต่างเคารพบูชาและหวงแหนอย่างที่สุด   วัตถุนั้นคือ รูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอา พระรูปสลักนี้มีขนาดสูงมากมายแต่รูปแม่พระขนมจีนสูงไม่มาก แกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง และลงรักปิดทองสวยงามหาที่ติมิได้ การได้มาซึ่งพระรูปสลักนี้มีเรื่องปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า เมื่อ พ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1782 ซึ่งเป็นปี เดียวกับที่ได้สร้างกรุงเทพมหานคร ได้เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองเขมร  เวลานั้นพระยายมราช  (แบน)  ได้ตั้งตัวเป็นที่ฟ้าทละหะปกครองกัมพูชา ในขณะเดียวกันได้มีขุนนางเขมรบางนายได้คบคิดกับพวกแขกจามเมืองตะโบงคะมุม ยกกองทัพเรือจะไปกำจัดพระยายมราช (แบน)  เมื่อพระยายมราช (แบน) เห็นว่าจะต่อต้านไม่ไหว จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรที่นับถือศาสนาคริสตังและอัญเชิญนักองเมนนักองอีนักองเภา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ราชากษัตริย์เขมร และนักองเองราชบุตรของสมเด็จพระนารายณ์ราชา หลบเข้ามาเมืองไทย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ทะนุบำรุงเจ้านายของเขมรไว้เยี่ยงพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์ ส่วนชาวเขมรที่เข้ามาด้วย 500 คนนั้น ได้โปรดเกล้าฯตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ ก็ด้วยทรงเห็นว่าในหมู่บ้านนี้มีชาวโปรตุเกส  ซึ่งเป็นคริสตังอาศัยอยู่ก่อนแล้วและชาวเขมรเหล่านั้นก็เป็นคริสตังเช่นเดียวกันจึงเห็นควรให้อยู่ด้วยกันเพื่อจะได้ถือปฏิบัติทางศาสนกิจร่วมกันต่อไป
 
ชาวเขมรที่อพยพมาคราวนั้น ได้อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าพระนางมารีอาดังกล่าวข้างต้นเข้ามาด้วย และได้ประดิษฐานพระรูปนั้นไว้ในวัดคอนเซ็ปชัญ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้านนั้น คือชาวโปรตุเกสซึ่งมาอยู่ก่อน และชาวเขมรที่ได้มาอยู่ในภายหลังนี้ด้วย ทั้งสองพวกต่างอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนมกลมเกลียวด้วยความผาสุกตลอดมา 
 
ต่อมาเหตุการณ์ในเมืองเขมรสงบราบคาบ ได้มีชาวเขมรที่อพยพหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบางหมู่เห็นว่าบ้านเมืองของตนสงบเรียบร้อย ดีแล้ว จึงใคร่จะกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ณ เมืองเขมร ในที่สุดได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ชาวเขมรที่ต้องการกลับ ได้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนตามความประสงค์ และในการกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเขมรเหล่านั้น   ก็ได้อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าลงเรือเพื่อนำกลับไปเมือง  เขมรด้วย ชื่อว่า “แม่พระตุ้งติ้ง” เพราะแต่เดิมแม่พระใส่ตุ้มหูห้อยตุ้งติ้งไว้ทั้งสองข้าง รูปแม่พระองค์นี้ทำด้วยไม้
 
ในตอนนี้ได้มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ขณะที่อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าไปนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือเรือที่อัญเชิญพระรูปพระแม่เจ้าไปนั้น เมื่อแจวออกไปไม่ไกลนัก เรือก็หยุดอยู่นิ่งกับที่ คนแจวพยายามแจวเท่าไรเรือก็ไม่ยอมเดินหน้า แม้จะเพิ่มคนแจวเข้าไปอีกเรือก็มิได้แล่นต่อไป เป็นเหตุให้เกิดความพิศวงมาก มีชาวเขมรบางคนสงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของพระรูปพระแม่เจ้า ที่มีพระประสงค์จะประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญก็อาจเป็นได้   จึงได้ทดลองแจวเรือกลับมาทางวัดคอนเซ็ปชัญ คราวนี้เรือก็ยอมแล่นกลับโดยง่ายดาย แต่ครั้นทดลองแจวเรือกลับไปทางเก่าอีก เรือก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน ได้กระทำอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายหน ก็คงเป็นอยู่ในลักษณะเดิม ชาวเขมรที่จะกลับเมืองเขมรก็แน่ใจว่า พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้พระรูปสลักนี้ประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ   จึงได้อัญเชิญพระรูปกลับมาประดิษฐานไว้ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ  แล้วพวกเขาก็เดินทาง กลับเมืองเขมรโดยสวัสดิภาพ และพระรูปสลักรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอาก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญตราบเท่าทุกวันนี้ เกี่ยวกับพระรูปพระแม่เจ้านี้ ได้มีเรื่องเล่าต่อๆ มาว่า ตั้งแต่ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญนี้แล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาในพระรูปนี้ไปแพร่หลายออกไป มีผู้นิยมนับถือมากขึ้น มีอยู่คราวหนึ่งคือ เมื่อ ปี ค.ศ. 1849 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาด ทำให้ชาวกรุงเทพฯ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านวัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้ตกลงประชุมพร้อมกันให้อัญเชิญพระรูปพระแม่เจ้าแห่ไปตามหมู่บ้านจนทั่วพร้อมทั้งสวดอ้อนวอนขอพระมหากรุณาต่อพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดบำบัดโรคร้ายนี้ ปรากฏว่าหลังจากได้แห่พระรูป พระแม่เจ้าแล้ว รุ่งขึ้นโรคร้ายก็สงบ ผู้ที่กำลังทรมานด้วยโรคก็หายรอดชีวิตได้จำนวนมาก ทั้งนี้เข้าใจกันว่าเนื่องจากพระบารมีของพระแม่เจ้าคุ้มครอง และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าของชาวบ้านนั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ได้อยู่ในความทรงจำของชาววัดคอนเซ็ปชัญ และได้เล่าต่อกันมาจนทุกวันนี้ 
 
อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่บาทหลวง ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ ปกครองวัดคอนเซ็ปชัญอยู่ในครั้งนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ หมู่บ้านด้านหลังวัดน้อย ไฟได้ลุกโหมและไหม้ลามจนถึงกำแพงหลังวัด (ได้รื้อออกหมดแล้ว) ขณะนั้นพระสังฆราชยวง ได้ไปคุกเข่าสวดอยู่ที่สะพานข้ามคลองข้างวัดน้อยได้มีชายไทยคนแจวเรือจ้างผู้หนึ่งวิ่งมาดูไฟไหม้ ขณะที่กำลังชุลมุนอยู่นั้น ชายไทยคนแจวเรือก็ร้องออกมาด้วยความตื่นเต้นว่า “มีผู้หญิงยืนอยู่บนหลัง คาโบสถ์ เอาผ้าเช็ด หน้าโบกไล่ไฟ” แต่เมื่อทุกคนที่ได้ยินมองขึ้นไปดูก็ไม่เห็นมีใครยืนอยู่บนหลังคาโบสถ์เลย    แต่ในขณะเดียวกันนั้นไฟที่กำลังลุก โหมมาทางวัดก็หยุดลุกลามอยู่แค่กำแพง และที่สุดไฟก็สงบ เมื่อไฟสงบลงแล้ว  ต่างก็เฉลียวใจเรื่องคนแจวเรือจ้างบอกหลายคนคิดถึงรูปพระแม่เจ้า ในวัด จึงพากันเข้าไปดูในวัด ต่างพากันอัศจรรย์ใจมากเมื่อได้เห็นเขม่าไฟเปื้อนที่พระบาทพระรูปของพระแม่เจ้า  และเมื่อให้ชายคนแจวเรือจ้างเข้า ไปดู ก็บอกว่าหญิงสาวที่เขาเห็นบนหลังคาโบสถ์นั้นคือหญิงสาวตามรูปนี้แหละการประจักษ์อัศจรรย์ครั้งนี้เองเป็นเหตุให้ชายไทยแจวเรือจ้างผู้นั้นเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงได้หันกลับมาถือศาสนาคาทอลิกด้วยความเชื่ออันแน่นแฟ้นในภายหลัง 
 
ภายหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ผ่านพ้นไปไม่ห่างกันมากนัก  ได้มีเรื่องแปลกประหลาดเกี่ยวกับพระรูปพระแม่เจ้าเกิดขึ้นอีก คือ วันหนึ่งมีคนจีน แจวเรือเร่ขายผ้าแจวเรือผ่านมาทางปลายสะพานลงท่าน้ำของวัด ได้มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเรียกให้คนจีนขายผ้าแวะเรือเข้าเทีย บปลายสะพาน เมื่อ เรือเทียบท่าแล้ว หญิงสาวผู้นั้นก็ลงบันไดท่าน้ำไปเลือกซื้อผ้าเนื้อดี พื้นเทาหม่น ดอกแดง จำนวน 3 พับ เมื่อตกลงราคากันแล้ว หญิงสาวนั้นก็บอกว่าประเดี๋ยวจะนำเงินค่าผ้ามาให้ ว่าแล้วหญิงสาวก็หอบผ้าที่ซื้อขึ้นจากท่าน้ำเดินเข้าไปในวัด ฝ่ายคนจีนขายผ้าจอดเรือรออยู่เห็นนานผิดปกติ   ก็ขึ้นจาก เรือเดินเข้าไปในวัด ก็เห็นผ้าของตนกองอยู่ที่แท่นบูชา และเห็นพระรูปพระแม่เจ้าประทับยืนอยู่บนพระแท่นด้วยอาการสงบ  คนจีนขายผ้าคิดว่ารูปนั้นเป็นคนจริงๆ จึงได้ร้องทวงค่าผ้า เสียงของคนจีนขายผ้าได้ดังไปถึงบาทหลวง ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ ถึงบนตึกที่พัก บาทหลวง ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ จึงรีบลงมาสอบถามดู คนจีนขายผ้าก็เล่าเรื่องให้ฟัง บาทหลวง ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวส์ จึงรีบไปดูที่พระแท่นก็เห็นผ้าใหม่ๆ กองอยู่ที่พระ บาทของพระรูปพระแม่เจ้า พระคุณเจ้ายวงฯ จึงได้ชำระค่าผ้าให้กับคนจีนขายผ้าไป แล้วเอาผ้านั้นมาเย็บเป็นม่านใหญ่กั้นไว้ตรงหน้าพระแท่นกลาง ในเรื่องนี้มีคำเล่าอีกทางหนึ่งว่า ที่กองผ้าริมพระบาทพระแม่เจ้านั้นมีเงินวางไว้ 80 บาทด้วย เรื่องแปลกอัศจรรย์ทั้ง 3 เรื่องที่เล่ามาแล้วนั้น ได้ทำให้มีผู้เลื่อมใสในพระรูปพระแม่เจ้าองค์นี้มาก ถึงกับมีผู้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างพวงลูกประคำด้วยทองคำแท้ 2 สาย สวมข้อพระบาทพระรูปพระแม่เจ้า เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีอันสูงส่ง พวงประคำ 2 สายนี้ทางวัดได้เก็บรักษาไว้จนบัดนี้ และจะนำมาตบแต่งพระรูปเมื่อถึงวันฉลอง เป็นประจำทุกปี
 
3. ประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก                                                                
ใน ปี ค.ศ. 1809  คุณพ่อปาสกัล ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวโปรตุเกส-ไทย  (บวช ค.ศ. 1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาทซึ่งได้บอกบุญกับบรรดาคริสตัง และญาติพี่น้องมิตรสหายของท่านคุณพ่อได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่คุณพ่อฟลอรังส์ เพื่อจะได้สร้างวัดสักแห่งหนึ่ง เป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัลว่าเพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว  "ข้าพเจ้า ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 บาท คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง  เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความตั้งใจของผู้บริจาคเพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าและของพระนางมหามารีอาที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สของเรา อยู่เหนือวัดของพวกกิสมาติ๊กเล็กน้อย" (ปัจจุบันคือวัดแม่พระลูกประคำ)วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนว่า "เวลานี้กำลังตระเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแม่พระตาม ความ ปรารถนาของผู้ใจบุญที่ได้ถวายเงิน 1,500 บาทแล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล" ค.ศ.1810 พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์เป็นพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งแล้ว ท่านได้เดินทางไปวัดจันทบุรี  ในโอกาสที่มีภคินี เชื้อสายญวนหลายรูปปฏิญาณตน  และท่านได้สิ้นใจท่ามกลาง กลุ่มคริสตชนนั้นในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1811 เมื่อได้ทราบว่าพระสังฆราชการ์โนลต์ป่วยหนักพระสังฆราชฟลอรังส์จึง ได้เดินทางไปจันทบุรี 
 
ที่สุด ในปี ค.ศ.1820 พระสังฆราชฟลอรังส์ก็สามารถซื้อที่ดินทั้งหมด (สวนกล้วย) ตั้งแต่ที่ดินที่ตั้งสามเณราลัยของมิสซังจนถึงริมแม่น้ำ  สำหรับที่ดินสามเณราลัยนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อ ปี ค.ศ.1820 นั้นเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน, โรงเรียนวัด (อัสสัมชัญศึกษา),โรงเรียนของซิสเตอร์เซนต์ปอลเดอชาร์ตร (อัสสัมชัญคอนแวนต์), สำนักพระสังฆราช, ศูนย์คาทอลิก, บริษัทอีสต์เอเซียติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ.เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลป์เหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระสังฆราชฟลอรังส์จำเป็น ต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน1,500 ปีอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันที ในปี ค.ศ.1820 คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐ เสร็จในปี ค.ศ.1821 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราชและพระคุณเจ้าฟลอรังส์ ก็มาพำนักอยู่ที่นี่ พิธีเสกอาสนวิหารอัสสัมชัญ กระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำ ในปี ค.ศ.1822  พระสังฆราชปัลเลอกัวได้เขียนถึงการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญ และสำนักพระสังฆราชไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม ของท่านดังนี้  "มีโบสถ์คริสตังหรือค่ายคริสตังอยู่ 5 แห่งด้วยกัน ในนครหลวง แห่งแรกชื่อค่ายอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันสง่างามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบ 40 ปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสว นอันกว้างล้อมรอบอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากแม่น้ำลึกไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นสำนักพระสังฆราชอันสูงเด่น (สร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัว) ซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึง 3000 ฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และห้องรับแขกอันกว้างใหญ่อีก 1 ห้อง ...  " ตั้งแต่นั้นมาอัสสัมชัญ ได้เป็นที่พำนักของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย สมัยนั้นทั่วบริเวณดังกล่าวเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และครอบครัวคริสตังซึ่งค่อยๆ โยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างๆ วัดก็ขึ้นอยู่กับวัดแม่พระลูกประคำ อันเป็นที่รู้จักดีในนามวัดกาลหว่าร์(ตั้งอยู่เหนือวัดอัสสัมชัญ) จนถึง ปี ค.ศ.1884 เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณดังกล่าว และจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้ง บริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) เป็ นที่น่าเสียดายที่บัญชีศีลล้างบาปแรกๆ ของวัดอัสสัมชัญได้สูญหายไปหมดในปี ค.ศ.1864 ด้วยเหตุว่าบ้านพักพระสงฆ์ของวัดแม่พระลูกประคำ และบัญชีหลักฐานต่างๆ ถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้นดังนั้นในปีค.ศ.1864  พระสังฆราชดือปองด์ จึงตั้งอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการคุณพ่อฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ ค.ศ.1864 เป็นต้นมาเนื่องจากจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวี ขึ้นมาก  ทำให้วัดเก่าดูคับแคบไป  คุณพ่อกอลมเบต์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส อยู่ในเวลานั้นได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซัง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างอีกด้วย ผลจึงลงเอยว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ โดยคุณพ่อกอลมเบต์ รับหน้าที่เป็นผู้หาเงินทุนส่วนคุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีนายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ย่อมต้องมีความยากลำบาก และอุปสรรคมากมาย นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวกอุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องซื้อหามาจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทราย ต้องสั่งซื้อมาจากราชบุรี และเครื่องประดับวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ แต่คุณพ่อผู้มีใจเร่าร้อน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากต่างๆ หัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินสร้างอาสนวิหารหลังนี้คือ นายปอล มีคาลีพ และหลวงสรกิจ อธิบดีกรมไปรษณีย์คนแรกของประเทศไทย ทั้งสองท่านต้องมาประชุมกันทุกวันอาทิตย์หลังมิสซาเพื่อวางโครงการหาเงินในสัปดาห์ต่อๆ ไป ในปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อได้เริ่มงานวาง เข็มวัดใหม่ โดยเอาต้นซุงเรียงซ้อนกันแทนการตอกเข็ม  (ในสมัยคุณพ่อแปรูดง เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ให้ก๋งบัวสำรวจต้นซุง ปรากฏว่ายังอยู่ในสภาพดี) หลังจากสร้างวัดจนเงินหมดกระเป๋าแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์จึงจัดพิธีเสกศิลาฤกษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาทำบุญวัดใหม่ พิธีเสกศิลาฤกษ์นี้กระทำกันในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 สองวันหลังจากการวันอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอสที่วัดกาลหว่าร์ พระสังฆราชแปร์รอส เป็นประธานในพิธีเสก ศิลาฤกษ์ มีพระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร และพระสังฆราชบาริยอง ประมุขมิสซังมะละกา มาร่วมเป็นเกียรติในพิธี  คุณพ่อกอลมเบต์  ไม่ผิดหวังในการจัดงานครั้งนี้ เพราะในวันนั้นมีสัตบุรุษใจบุญบริจาคเงินเป็นจำนวนมากพอที่จะดำเนินการสร้างวัดต่อไป นอกจากนั้นยังมีคนใจบุญจากยุโรปส่งเงินมาสมทบด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสังฆราชแปร์รอส ได้เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีว่าดังนี้ "หลังจากพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์ร อส ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1910 ที่วัดกาลหว่าร์ผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1910 ได้มีพิธีเสกศิลาฤกษ์ก้อนแรกของอาสนวิหารในอนาคต พิธีเป็นไปอย่างสง่า มีการประดับประดา บริเวณพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดด้วยธงทิวหลากสีสวยงาม ก่อนเริ่มพิธีเสกศิลาฤกษ์ พระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร ได้เทศน์สอนผู้มาร่วมพิธีด้วยคำพูดเตือนใจ และเร้าใจในความศรัทธา ขณะนี้การสร้างวิหารกำลังดำเนินงานอยู่กำแพงทุกด้า นสร้างขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นวิหารนี้สำเร็จ ขอให้พระญาณสอดส่องโปรดประทานปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างวัดที่เหมาะสมนี้ถวายแด่พระองค์..." สร้างเสร็จเรียบร้อยใน ค.ศ. 1918 (หลักฐาน : C.R. ; หมายเหตุประจำวันของคุณพ่อกอลมเบต์) วันที่ 15  สิงหาคม ค.ศ. 1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ  คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธี เสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศและชาวคาทอลิกจำนวนมากมาย  ผู้ที่รับศีลกล่าวเป็นคู่แรกในอาสนวิหารหลังนี้ คือ ลูกา มงคล วังตาล และอีวอน วอน วังตาล ท่านทั้งสองได้ให้ความช่วยเหลือในกิจการงานของวัดตลอดมา ในปี ค.ศ. 1939 คุณพ่อแปรูดงได้สร้างแท่นใหญ่ทำด้วยหินอ่อนทั้งแท่งมาจากประเทศฝรั่งเศส   ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1940 พระสังฆราชแปร์รอสได้เสกอาสนวิหารอัสสัม ชัญอย่างสง่าที่สุด ส่วนการอภิเษกพระแท่นใหญ่ได้ทำในวันพฤหัสที่ 4 กรกฎาคม ปีเดียวกันในค.ศ. 1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบวัดได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก  กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง  รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก ,เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับ ความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัดคุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่างสิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1950 พระรูปแม่พระฟาติมาได้เสด็จมาถึงกรุงเทพฯ โดยทางเครื่องบิน ในโอกาสนี้คุณพ่อแปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญซึ่งเป็นประธานการต้อนรับได้จัดรายการให้พระรูปนี้ไปเยือนโบสถ์ใหญ่ โบสถ์น้อยต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่าง จังหวัดด้วย มีขบวนแห่ยาวเหยียดทั้งทางเรือและทางรถ ล้อมรอบพระรูปซึ่งประดับประดาอย่างสวยงามยิ่ง  อาศัยความร่วมมือจากอธิบดีกรมตำรวจ ขบวนแห่อันงดงามยิ่งจึงเคลื่อนไปตามถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อย่างปลอดโปร่งเป็นระยะทาง 3 กม.คริสตังนับพันๆ คนเดินแห่พร้อมทั้งร้องเพลงและสวดภาวนา ส่วนฝูงชนคนต่างศาสนาประมาณ 50,000 คน มาเฝ้าดูด้วยความพิศวง และเลื่อมใส ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไปตามทาง การเสด็จมาเยื อนของพระรูปแม่พระฟาติมา นี้ได้ผลเกินคาด  และผลด้านความเชื่อความศรัทธายังคงจารึกอยู่ต่อไปอีก "ส่วนที่วัดอัสสัมชัญนั้น นับเป็นวัดแรกที่มีโอกาสได้ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา ต้นขบวนแห่มาถึงวัดเวลา 17.35 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1950 ส่วนท้ายขบวนมาถึงภายหลังราวหนึ่งชั่วโมง เวลา 24.00 น. พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ถวายบูชามิสซาอย่างมโหฬารกลางแจ้ง ในลานโบสถ์อัสสัมชัญมีสัตบุรุษทุกมิสซังมาประชุมคับคั่งเต็มลานหน้าบริเวณโบสถ์..."
 
นอกจากนี้คุณพ่อแปรูดงยังได้ซื้อที่ดินที่ตรอกจันทน์ และเริ่มสร้างโรงเรียนชาย-หญิงและวัดนักบุญยอแซฟ เพื่อเตรียมแยกกลุ่มอัสสัมชัญออกเป็น 2 กลุ่ม
 
บทสรุป
การเข้ามาของชาวโปรตุเกส เป็นต้นกำเนิดของการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามในเวลานั้น เรื่องราวที่ซึ่งปรากฏให้เราเห็นในทุกวันนี้  ยังมีอยู่ใน ประวัติศาสตร์ของการบันทึกไว้เพื่อศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นแหล่งความรู้ที่พอจะตอบคำถามหลายประการเลยทีเดียว หมู่บ้านโปรตุเกสเป็นสถานที่ที่น่าจดจำซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ที่จังหวัดอยุธยาเป็นสถานที่เมื่อครั้งยังต้องมีวิถีชีวิตในแบบของคนในสยามสมัยก่อน  แน่นอนว่า ชาติตะวันตกที่เข้ามาในสยาม จะมีความสัมพันธ์อันดีกับสยามในสมัยนั้นอย่างดี นอกจากเพื่อเข้ามาหรือแม้แต่ไม่ตั้งใจเข้ามาแต่เป็นทาง ผ่านสำหรับการเผยแพร่ศาสนานั้น สยามก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่บรรดามิชชันนารีเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว คุณประโยชน์ทั้งหลายที่ชาติตะวัน ตกเข้ามานั้น เราเข้าใจในเป้าหมายดังกล่าวแล้ว 
 
คริสต์ศาสนาในประเทศไทย ได้ขยายออกสู่มุมกว้างแต่ไม่เป็นสิ่งที่ดีนักเมื่อเราให้คุณค่าและให้คริสต์ศาสนาเป็นโครงสร้างของสังคมหรือเป็นบรรทัด ฐานทางสังคม แต่คริสต์ศาสนา ก็มีความจำเป็นต่อความเชื่อที่จะขยายออกไป เราไม่มีขีดจำกัดสำหรับการนับถือคริสต์ศาสนา ดังนั้น ประวัติศาสตร์สอนเราให้เข้าใจในบทบาทของการเป็นคริสต์ศาสนาในประเทศไทย ถึงแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นในความไม่เข้าใจกันระหว่างชาติด้วยกันเองหรือระหว่างคนต่างศาสนาก็ยังทำให้เรามองสภาพของการเป็นคาทอลิกเช่นเดียวกับสิ่งที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ตลอดจนสิ่งที่บันทึกในพระคัมภีร์เอง
 
ดังนั้น เราจึงควรขอบคุณบรรดามิชชันนารีในสมัยก่อนที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย ตลอดจนปัจจุบันด้วยที่ทำให้เรามีพระสงฆ์ มีวัดที่สวยงาม ตลอดจนมีคาทอลิกที่ไม่มากแต่พื้นฐานความเชื่อยังมีมากขึ้นเช่นกัน.......