พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์

 
 
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1900 ที่อาปีนัค แค้วนลัวร์ ในเขตสังฆมณฑลลีอองส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เด็กชายบาเยต์ บอกกับมารดาว่า “คุณแม่ ลูกคิดอยากจะเป็นพระสงฆ์” มารดาถามว่า “ลูกอยากจะเป็นพระสงฆ์เพื่ออะไร” พ่อหนูตอบว่า “เพื่อช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอด” 
 
กระแสเรียก
ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วจึงได้เข้าบ้านเณรเล็ก 3 ปี เดือนตุลาคม ค.ศ.1917 เข้าเรียนปรัชญาที่บ้านเณรใหญ่ ฟรังเชอะวิล เมืองลีอองส์ ในเวลานั้น คิดแต่เพียงจะทำงานในสังฆมณฑลของตนเท่านั้น ต่อมาประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ.1923 ขณะที่เรียนเทววิทยาในชั้นปีที่ 3 สามเณรบาเยต์ได้ยินพระสงฆ์ซึ่งเป็นอาจารย์คนหนึ่งพูดถึงความรอดของคนต่างศาสนา โดยเฉพาะความรอดของผู้ที่ตายเมื่อยังไม่ได้รับศีลล้างบาป สามเณรบาเยต์ได้ฟัง
 
คุณพ่อองค์นั้นพูดด้วยความเร้าใจและร้อนรน 2-3 ครั้งในเวลาใกล้ๆ กัน ทำให้ตนเองรู้สึกร้อนในจิตใจและรู้สึกร้อนในกายด้วย ซึ่งให้ท่านรู้สึกแปลกใจมาก
 
ต่อมาสามเณรบาเยต์ได้ไปพบพระสงฆ์วิญญาณรักษ์แล้วอธิบายเรื่องนี้ให้ท่านฟัง เสร็จแล้วก็ถามท่านว่า “คุณพ่อไม่คิดหรือว่าเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังนี้เป็นสิ่งแสดงชัดว่าพระเป็นเจ้าให้กระแสเรียกแก่ผมเป็นมิชชันนารีเพื่อแพร่ธรรมในประเทศมิสซังหรือ” คุณพ่อวิญญาณรักษ์ก็ตอบปฏิเสธ พอถึงปลายปีการศึกษา สามเณรบาเยต์ก็ไปพบคุณพ่อวิญญาณรักษ์อีกเพื่อฟังความคิดเห็นและการตัดสินของท่าน  คราวนี้ท่านตอบว่า “ถูกแล้ว ลูกมีกระแสเรียกเป็นมิชชันนารีไปแพร่ธรรมในประเทศมิสซัง ที่พ่อตอบปฏิเสธลูกในครั้งแรกนั้นก็เพื่อทดลองใจลูก เวลานี้พ่อมั่นใจแล้วว่า ลูกมีกระแสเรียกเช่นนั้น”
 
หลังจากนั้น สามเณรบาเยต์ จึงได้ยื่นคำร้องถึงอธิการใหญ่ของคณะมิสซังต่างประเทศแห่ง กรุงปารีส เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกคณะ  เมื่อเรียนเทววิทยาจบแล้วสามเณรบาเยต์ได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่เมืองลีอองส์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1925
 
อีกสามสัปดาห์ต่อมา คุณพ่อบาเยต์ได้เข้าบ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และใช้เวลา 1 ปี ที่นั่นเพื่อทดลองและเตรียมตัวตามธรรมนูญของคณะ ต่อมาผู้ใหญ่ของคณะจึงส่ง คุณพ่อให้ไปทำงานแพร่ธรรมในเขต “มิสซังลาว” ซึ่งมีสำนักพระสังฆราชอยู่ที่บ้านหนองแสง จังหวัดนครพนม  มิสซังลาวได้แยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1899  มีอาณาบริเวณ คือประเทศลาวทั้งหมดและภาคอีสานของประเทศไทย
 
คุณพ่อบาเยต์ ออกเดินทางจากปารีสเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1926  ลงเรือที่เมืองมาร์เซลล์   ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน แล้วก็ต่อเรือไฟน้อยแล่นไปตามแม่น้ำโขงจนถึงสำนักพระสังฆราชที่บ้านหนองแสง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1926
 
วันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1947  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ห้าและองค์สุดท้ายของมิสซังลาว ได้รับอภิเษกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1947  โดยพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้ประกอบพิธี โดยมีพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี และพระสังฆราชแจง เกิดสว่าง เป็นผู้ช่วยอภิเษก
 
ชีวิตและประวัติการทำงาน
ค.ศ.1926   เดินทางมาถึงมิสซังลาว เรียนภาษาไทยกับคุณพ่อโปแอร์ที่หนองแสง
                พร้อมกับเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดคำเกิ้ม นามน โคกก่อง และหนองค้า
ค.ศ.1927   ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อกอมบูริเออ ที่ท่าแร่
                และทำหน้าที่ดูแลกลุ่มคริสตชนที่นาโพธิ์, ป่าหว้าน, ดอนเชียงคูณ, ทุ่งมน, โคกสะอาด ฯลฯ
ค.ศ.1938   1 มกราคม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ หลังการลาออกของ คุณพ่อกอมบูรีเออร์ 
ค.ศ.1939   1 พฤษภาคม ก่อตั้งโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ (ท่าแร่) เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสามเณรและเณรี
                และได้ออกกฎระเบียบสำหรับภคินีรักกางเขนทุกกคนจะต้องเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา
ค.ศ.1940   เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ถูกจับส่งตัวออกนอกประเทศพร้อมกับพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส
                ข้ามไปประเทศลาวไปเรียนภาษาเวียดนาม ที่ประเทศเวียดนาม
                พร้อมกับรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเล็กแห่งหนึ่งในสังฆมณฑลเว้
ค.ศ.1941   ดูแลวัดสุวรรณเขต ประเทศลาว
ค.ศ.1943   ดูแลวัดปากเซ บ้านนาซอยและวัดของชาวเผ่าข่าอีก 6 หมู่บ้านในแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว 
ค.ศ.1944   ได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชโทมินให้เป็นอุปสังฆราช  
ค.ศ.1945   ทำหน้าที่ปกครองมิสซังลาวแทนพระสังฆราชโทมินที่ถูกทหารญี่ปุ่นยิงถึงแก่มรณภาพ 
ค.ศ.1947  10 เมษายน ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์ที่  5 ของมิสซังลาว  
 
3 ตุลาคม       ได้รับอภิเษกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญกรุงเทพฯ หลังเข้ารับตำแหน่งได้แต่งตั้งคุณพ่อนอแอลเตอโนด์
                    เป็นอุปสังฆราชและเป็นผู้แทนพระสังฆราชในประเทศลาวและแต่งตั้งคุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล
                    เป็นผู้แทนพระสังฆราชในภาคอีสาน   
 
1 พฤษภาคม   เปิดบ้านเณรใหม่ที่ท่าแร่และได้ขอเงินจากองค์การนักบุญเปโตร
                    เพื่อสร้างตึกบ้านเณรทางทิศตะวันตกของบ้าน ท่าแร่แยกจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ 
  
ค.ศ.1948      4  เมษายน บวชคุณพ่อมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ลูกวัดท่าแร่ ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่  
                   และเชิญพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ 4 องค์ เข้ามาทำงานในมิสซัง  
                   มอบหมายให้ดูแลวัดบ้านช้างมิ่งและหมู่บ้านใกล้เคียง
 
ค.ศ.1950       21 ธันวาคม ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังท่าแร่
                    หลังสันตะสำนักแบ่งมิสซังลาวออกเป็นเทียบเท่ามิสซังท่าแขกในประเทศลาวและมิสซังท่าแร่
                    ในภาคอีสานของประเทศไทย 
 
ค.ศ.1953       7 พฤษภาคม  ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังอุบลราชธานี  
 
ค.ศ.1965       เสนอแยก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิจากมิสซังอุบลฯ
                    ตั้งเป็นมิสซังใหม่คือ สังฆมณฑลนครราชสีมา
 
ค.ศ.1967       18 เมษายน เสกและเปิดอาสนวิหารแม่พระนฤมลทิน อุบลราชธานี หลังใหม่พร้อมกับ
                    พระสมณทูตอันเยโล เปโดรนี พระสังฆราชทุกองค์ในประเทศไทยและพระสังฆ ราชจากประเทศลาว
 
ค.ศ.1969        ลาออกจากตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี
                     และเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองทาม วัดบ้านโนนสว่างและบ้านสะพาน   
 
ค.ศ.1972        8 ธันวาคม หิรัญสมโภชเป็นพระสังฆราชครบ 25 ปี ที่อาสนวิหารแม่พระนฤมลทิน อุบลราชธานี 
 
ค.ศ.1975        18 เมษายน  เสกและเปิดรองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง นครพนม  
 
ค.ศ.1979        เดือนพฤษภาคม ปลดเกษียณ และพำนักที่สำนักพระสังฆราช อุบลฯ
 
ค.ศ.1990         19 สิงหาคม ถึงแก่มรณภาพ  รวมสิริอายุ 90 ปี ฝังที่สุสานอาสนวิหารแม่พระนิรมล อุบลฯ 
 
 
พระสังฆราชบาเยต์ เป็นนักปกครองที่ฉลาดรอบรู้ อดทน รอบคอบ และเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ โดยได้ถ่ายทอดเหตุการณ์เรื่องราวของมิชชันนารีรุ่นแรกที่ท่านรู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนประสบ การณ์โดยตรงของท่านที่ได้ทำงานแพร่ธรรมในภูมิภาคแห่งนี้มากว่าครึ่งศตวรรษ ในหนังสือชื่อ “ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีค่ามหาศาลสำหรับพระศาสนจักรในภาคอีสานและประเทศลาว เป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ท่านได้มอบไว้ให้แก่พระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้ 
 
เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1927 พระสังฆราชแกวง ได้ย้ายคุณพ่อไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส คุณพ่อยอแซฟ คอมบูริเออ ที่ท่าแร่ คุณพ่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่นั่นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1937 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส นับเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สองของวัดท่าแร่
 
อาสนวิหารนักบุญอันนาหนองแสง
ปลายปี ค.ศ.1940 เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส  คุณพ่อพร้อมกับพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสองค์อื่นๆ ถูกเชิญออกจากประเทศไทย  ข้ามไปทำงานแพร่ธรรมที่ฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิสซังลาวทั้งหมด
 
เดือนมกราคม ค.ศ.1945 พระสังฆราชฮังรี โทมิน ซึ่งสืบตำแหน่งต่อจากพระสังฆราชแกวง ได้แต่งตั้งคุณพ่อเป็นอุปสังฆราชแห่งมิสซังลาว เมื่อพระสังฆราชโทมินถึงแก่มรณภาพในเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 คุณพ่อบาเยต์จึงทำหน้าที่ปกครองมิสซังลาวแทน จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1947 ทางกรุงโรมจึงได้ประกาศแต่งตั้งคุณพ่อเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังลาว ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วยภาคกลาง ภาคใต้ของประเทศลาว และภาคอีสานของประเทศไทย  โดยได้รับพิธีอภิเษกที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1947 และได้รับสิทธิ์ให้ประจำอยู่ในประเทศไทยต่อไป พระสังฆราชบาเยต์ ได้ยื่นคำร้องต่อกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อที่กรุงโรม เพื่อขอแบ่ง   มิสซังลาวโดยยึดแม่น้ำโขงเป็นหลัก  ทางวาติกันเห็นชอบด้วย จึงได้ออกกฤษฎีกาลงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1950  ให้แยกฝั่งลาวซึ่งได้แก่ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศลาวเป็นมิสซังหนึ่งต่างหาก และมิสซังลาว ที่เหลือซึ่งได้แก่ภาคอีสานของประเทศไทย เป็นอีกมิสซังหนึ่งต่างหากเรียกว่า “มิสซังท่าแร่” หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีคำสั่งจากวาติกันให้เสนอโครงการแบ่งมิสซังท่าแร่เพื่อมอบส่วนหนึ่งให้พระสงฆ์ไทยปกครองพระสังฆราชบาเยต์ จึงเสนอโครงการแบ่งมิสซังท่าแร่ ดังต่อไปนี้    
 
1. มิสซังท่าแร่ ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ (จังหวัดมุกดาหารเวลานั้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม) และมอบให้พระสงฆ์ไทยเป็นผู้ปกครอง 
2. มิสซังอุดรธานี ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และเลย ให้พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ปกครอง 
3. มิสซังอุบลราชธานี ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคามและร้อยเอ็ด (จังหวัดยโสธรขณะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี) ให้พระสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้ปกครอง
 
ข้อเสนอดังกล่าว ทางวาติกันมีมติเห็นชอบและอนุมัติ  พระสังฆราชบาเยต์ จึงได้ย้ายมาปกครองมิสซังอุบลราชธานีเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1953 ต่อมาพระสังฆราชบาเยต์ ได้ยื่นคำร้องต่อกรุงโรมอีก เพื่อแยก 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ออกจากมิสซังอุบลฯ ตั้งให้เป็นอีกมิสซังหนึ่งต่างหาก ที่สุดทางกรุงโรมอนุมัติและได้ตั้งเขต 3 จังหวัดนี้ขึ้นเป็นมิสซังนครราช สีมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1965  และให้มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้ปกครอง 
 
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1969 ทางกรุงโรมได้รับการลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครองมิสซังอุบล ราชธานี  แต่พระสังฆราชบาเยต์ ก็ขอทำงานในมิสซังอุบลฯ ต่อไป  พระสังฆราชแยร์แมง แบร์ทอลด์ ได้ขอให้พระสังฆราชบาเยต์ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองทามน้อย พร้อมทั้งดูแลวัดบ้านโนนสว่างและบ้านสะพานด้วย โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสที่หนองทามน้อย 9 ปีเต็ม
 
ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1979 พระสังฆราชบาเยต์ ได้ล้มป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส มาพักประจำอยู่ที่สำนักมิสซังอุบลฯตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1979 
 
ขณะประจำที่สำนักมิสซังของสังฆมณฑลนี้ พระสังฆราชบาเยต์ ได้เขียนประวัติการทำงานแพร่ธรรมในภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว นอกจากนี้ พระสังฆราชมีคาแอลบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ยังขอให้พระสังฆราชบาเยต์ เขียนประวัติความเป็นมาของกลุ่มคริสตชนในที่ต่างๆ ในเขตสังฆมณฑลอุบลฯ ซึ่งพระสังฆราชบาเยต์ได้ปฏิบัติตามและได้กระทำงานชิ้นสุดท้ายนี้สำเร็จด้วยความสุภาพนอบน้อม 
 
ที่สุดในตอนเช้าของวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1990 เวลาประมาณ 07.15 น. ซึ่งเป็น วันอาทิตย์ที่พระศาสนจักรทั่วโลกกำลังฉลองแม่พระผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกาย และวิญญาณ  พระเจ้าได้รับเอาวิญญาณของพระสังฆราชบาเย ที่เคารพรักของพวกเราไปร่วมความสุขกับพระองค์ในสถานที่ที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ได้เตรียมเอาไว้แล้วสำหรับท่าน 
 
พิธีปลงศพจัดขึ้นวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1990 ที่วัดบุ่งกะแทว (วัดแม่พระนฤมลทิน) จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์เป็นประธานพร้อมกับบรรดาพระสังฆราช อีก 12 องค์ ทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับบรรดาพระสงฆ์กว่า 100 องค์ บรรดานักบวชชายหญิง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและสัตบุรุษจากใกล้ไกลเป็นจำนวนมาก หลังพิธีได้มีการเคลื่อนศพไปฝังไว้ ณ สุสานคาทอลิก จังหวัดอุบลราชธานี