คุณพ่อ ยัง บัปติสต์ ตาปี

 
  
คุณพ่อ ยัง บัปติสต์ ตาปี
 
Jean-Baptiste TAPIE
 
 
 
คุณพ่อ ยัง บัปติสต์ ตาปี เกิดวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1880  ที่ตำบลบรืช ในจังหวัดบาส  ปิรินิส สังฆมณฑลบายอน  หลังจากเรียนจบมัธยม จนถึงสอบปรัชญาในปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อก็เข้าบ้านเณรมิสซังต่างประเทศ และบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1903  แล้ววันที่ 29 เมษายน ก็ขึ้นเรือที่เมืองท่ามาร์เชย พร้อมกับมิสชันนารีอื่นๆ อีก 80 องค์
 
เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1903 พระสังฆราชเวย์ ส่งคุณพ่อไปอยู่ที่อยุธยา เพื่อเรียนภาษาไทยและภาษาญวณ ปี ค.ศ. 1904 คุณพ่อรับมอบหมายให้ไปสองพี่น้อง และรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1906  ต่อจาก คุณพ่อฟรังซัว (ฟรังซิสโก)
 
ปี ค.ศ. 1908-1909 นอกจากนั้น คุณพ่อตาปี ยังรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรักษาการณ์แทน  คุณพ่อด็อนต์ ที่วัดเซนต์ฟรังซิส สามเสน เนื่องจาก คุณพ่อด็อนต์ มีธุระจำเป็นต้องออกเดินทางไป เมื่อคุณพ่อด็อนต์กลับมาแล้ว คุณพ่อตาปี ก็กลับไปดูแลลูกแกะของตนที่สองพี่น้อง
 
ปี ค.ศ. 1909 ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1909 หน้า 199 คุณพ่อกอลมเบต์ บันทึกไว้ว่า ในการเดินทาง ซึ่งข้าพเจ้าได้จัดให้มีขึ้นในปีนี้ เพื่อเยี่ยมเยียนวัดต่างๆ ข้าพเจ้าได้พบกลุ่มคริสตชนแห่งหนึ่งน่าสนใจ คือ กลุ่มสองพี่น้อง ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทางเดินเรือหลายวัน พอๆ กับอยุธยา มีคริสตังในราว 800 คน อยู่กระจัดกระจายไปทั่วในส่วนนี้ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คุณพ่อตาปี ซึ่งรับภาระกลุ่มนี้ พยายามที่จะรวบรวมมาเป็นกลุ่มเดียวกัน การงานก็มีไม่ขาดสาย ทั้งด้านวัตถุ และด้านจิตใจ ตั้งวัด โรงเรียน บ้านพักมิสชันนารี ล้วนต้องทำใหม่ ปีนี้ คุณพ่อตาปี ได้เน้นในการอบรมเด็กซึ่งได้รับการศึกษาทางศาสนาน้อยเต็มที ขณะเดียวกัน คุณพ่อได้บูรณะวัดของศูนย์กลุ่มนี้ และได้สร้างโรงสวดให้ใหญ่พอใช้ในกลุ่มบ้านดอน
 
เนื่องจากคริสตังอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว และหลายๆ บ้านอยู่ห่างวัดมาก คุณพ่อตาปีต้องรับเด็กจากบริเวณนั้นมาอยู่ที่วัด เพื่อเขาจะได้รับการศึกษา  การอบรมในทางศาสนา  แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไร ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1920 หน้า 63 คุณพ่อตาปีมีรายงานมาว่า ปีที่แล้วมา มิได้อำนวยการขยับขยายชีวิตจิตใจในกลุ่มคริสตชนของเรา นอกนั้น ยังเป็นการยากที่สุด ที่จะได้รับเด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเขาได้เจริญเติบโตขึ้นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะอบรมเขาได้ นอกจากว่า ต้องให้ที่อยู่อาศัย ต้องเลี้ยงดู และให้เครื่องนุ่มห่มด้วย เราหวังว่าในปีต่อไป เราจะได้เห็นปีที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งจะดีกว่าปีที่อัตคัดขาดแคลนนี้ และเราจะสามารถรับเด็กเหล่านี้ อันเป็นที่รักสุดดวงใจของเรา
 
ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1923 หน้า 120 คุณพ่อตาปี  เขียนจากสองพี่น้องว่า “นอกจากรายงานตัวเลขที่ส่งมาแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวอะไรมากนักในเรื่องความพยายามอันสม่ำเสมอ ซึ่งต้องดำเนินตลอดปี การรักษากลุ่มคริสตชนให้ดี การพยายามติดต่อกับคนต่างศาสนา ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ซึ่งทำให้รู้สึกว่า บางปีก็สั้น บางปีก็ยาวนาน ในขณะที่จำนวนคริสตังกำลังเพิ่มขึ้น งานทางด้านวัตถุปะปนอยู่กับการงานด้านจิตใจ ทำให้ต้องจัดทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน   โดยที่น้ำเอ่อมาท่วมปกคลุมทุ่งนาก่อนที่ต้นข้าวจะแข็งแรง ทำให้เราหนักใจสำหรับปีหน้ามีเด็กจำนวนมากที่เราต้องเลี้ยงดู พวกเด็กที่มีความหิวและความกระหายไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าข้าวจะอยู่เหนือน้ำหรือใต้น้ำ เด็กเหล่านี้ก็จะต้องรับปริมาณอาหารเท่าเดิมเสมอ ไม่ลดลง
 
ข้าพเจ้าเพิ่งเสกโรงเรียนชายหลังใหม่ นับเป็นความก้าวหน้าอันใหญ่ยิ่ง ถ้าเราคิดเทียบกับโรงเรียนหลังเก่า
 
ปี ค.ศ. 1925 คุณพ่อตาปี คร่ำครวญถึงเรื่องโครงการที่จะให้คริสตังมารวมเป็นกลุ่มก้อนอยู่กันใกล้วัด โครงการนี้ทำให้สำเร็จในเร็วๆ ไม่ได้เป็นแน่
 
“หลายครอบครัว ซึ่งกระจัดกระจายไปอยู่ในทุ่งนา ในท่ามกลางบรรดาคนต่างศาสนาสำนึกได้ว่า สภาพเช่นนี้ไม่เหมาะสมสำหรับการอบรมลูกเต้า หรือสำหรับรักษาตัวของพวกเขาเอง ให้เป็นคริสตังที่ดีได้ เพราะเขาเหล่านั้นเป็นเจ้าของที่นา และบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งโยกย้ายไม่ได้ การทำมาหากินเลี้ยงชีพของพวกเขาก็ต้องอยู่ที่นั่น
 
วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1926 คุณพ่อตาปี รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามเสน แทนคุณพ่อ บรัวซาต์ ซึ่งย้ายไปอยู่วัดบ้านปลายนา
 
งานชิ้นแรกของคุณพ่อคือ สร้างวัดแรกที่บางบัวทอง คุณพ่อบรัวซาต์ ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดแล้ว ได้ซื้อไม้ที่จำเป็นสำหรับลงมือสร้าง แต่คุณพ่อถูกย้ายไปก่อนลงมือทำงาน ดังนั้น คุณพ่อตาปีจึงลงมือสร้างอาคารยาวใหญ่ ข้างหนึ่งใช้เป็นโรงเรียน อีกข้างหนึ่งเป็นวัด พระสังฆราชแปร์รอส ได้ทำพิธีเสก วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927  (รายงานประจำปี ค.ศ. 1927 หน้า 120) โดยให้อยู่ในความอารักขาของแม่พระสกลสงเคราะห์ ตามความปรารถนาของ คุณพ่อบรัวซาต์
 
ขณะเดียวกัน คุณพ่อตาปีได้ซื้อทุ่งนาอีกในบริเวณนั้น และเช่าที่ให้คริสตังจีน คุณพ่อเห็นว่าจะมีญวนสามเสนย้ายไปทำมาหากินที่บางบัวทองน้อยมาก มีชาวจีนเข้ามาเช่าที่นาและดัดแปลงเป็นสวนไม้ผล และดังนี้   กลุ่มคริสตชนบางบัวทอง ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มญวน ก็ได้กลายเป็นกลุ่มคริสตชนชาวจีนไป
 
แต่นิจจา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1931 วัดหลังแรกแม่พระสกลสงเคราะห์ บางบัวทองถูกวางเพลิงเสียหายหมด (รายงานปี ค.ศ. 1931 หน้า 1981) คุณพ่อตาปีไม่ท้อถอย และลงมือสร้างวัดหลังที่สอง ซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสได้ไปเสกต้นปี ค.ศ. 1933
 
ที่สามเสน คุณพ่อตาปี ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจทั้งหมด เพื่อการอบรมศึกษาของพวกเยาวชน “คุณพ่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก” (จากสุนทรพจน์ของคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร ในโอกาสเสกอาคารเรียน ซึ่งตั้งเป็นที่ระลึกถึง คุณพ่อตาปี ในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1970)
 
ตั้งแต่แรกมาอยู่สามเสน คุณพ่อตาปีขยายโรงเรียนชั้นประถม  รับนักเรียนชายและหญิง ทั้งคริสตังและพุทธ โดยไม่จำกัด ผิดกับคุณพ่อบรัวซาต์ ซึ่งรับแต่เด็กคาทอลิก และที่สุด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 คุณพ่อสร้างโรงเรียนชั้นมัธยม และขยายโรงเรียนประถม โดยสร้างอาคาร 2 ชั้น ยาว 55 เมตร
 
ปี ค.ศ.1934 คุณพ่อตาปี จัดฉลองครบรอบ 100 ปี ของกลุ่มคริสตชนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ ที่สามเสน (รายงานประจำปี ค.ศ.1935 หน้า 179) โอกาสนี้ คุณพ่อตาปี ฉวยโอกาสบูรณะวัดเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทาสีใหม่ ขยายบ้านพักภคินี ซึ่งเปิดทำการสอนหญิงสาวตัดเย็บเสื้อผ้า
 
ปี ค.ศ. 1935 คุณพ่อตาปี ไปพักผ่อนในฝรั่งเศส พอกลับมาก็ตั้งคณะพลศีลที่สามเสน คุณพ่อส่งเด็กชายเข้าบ้านเณรศรีราชา หวังจะให้เรียนจนจบเป็นพระสงฆ์ และคุณพ่อรักเด็กคนหนึ่ง คือ คนสุดท้ายที่ส่งไปศรีราชา เป็นผู้ที่คุณพ่อรักเป็นพิเศษ เรียกเขาว่า “พราะคาร์ดินัลของฉัน” และ คุณพ่อนึกหวังว่า ในไม่ช้า หนุ่มคนนี้จะได้ไปเรียนต่อที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง แน่
 
แต่อนิจจา ในต้นปี ค.ศ. 1941 “พระคาร์ดินัล” ของคุณพ่อ ก็ทิ่มแทงดวงใจของคุณพ่อสาหัส วันอาทิตย์แรก เดือนมกราคม ค.ศ. 1941 ในช่วงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ขณะที่คุณพ่อตาปีกำลังทำมิสซาใหญ่ในวัด  “พระคาร์ดินัล” ก็เอากระดานมาตอกตะปู ปิดบ้านพักพระสงฆ์ แล้วหลังมิสซานั้นต่อหน้าบรรดาสัตบุรุษที่ต่างตกตะลึง “พระคาร์ดินัล” คนนั้นนำพวกนักเลงคนหนึ่งมาขับไล่  “พระสันตะปาปา” ของตน
 
คุณพ่อตาปี จึงจำเป็นต้องไปพักอยู่ที่สำนักอัสสัมชัญ ไปรวมอยู่กับเหล่ามิสชันนารีจากชนบท ซึ่งต้องมารวมอยู่ที่กรุงเทพฯ ตามคำสั่งรัฐบาล เนื่องจากเหตุการณ์วิกฤติทางการเมือง ต่อมาในภายหลัง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ คุณพ่อก็ต้องไปอยู่ไซ่ง่อนชั่วระยะหนึ่ง พร้อมกับเพื่อนคุณพ่ออีก 12 องค์ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง จากคุณพ่อมอโร ที่สำนักมิสซังต่างประเทศที่ไซ่ง่อน
 
หลังจากไปเยี่ยมเพื่อนๆ ตามวัดต่างๆ ในอินโดจีน คุณพ่อตาปี ก็หาที่พักอาศัยในไม่ช้า ด้วยเหตุว่าคุณพ่อรู้จักภาษาญวนอย่างดี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อเจ้าวัดของพวกญวนที่ดาลัต ส่วนคุณพ่อเจ้าวัดที่เป็นอย่างทางการนั้น ก็มีหน้าที่ดูแลพวกฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารที่อยู่ในการสู้รบ
 
หนึ่งปีผ่านไป รัฐบาลไทยอนุญาตให้พวกฝรั่งเดินทางไปมาได้เสรีในเมืองไทย คุณพ่อตาปี จึงกลับมาอยู่ที่สามเสน ในปี ค.ศ. 1942  ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบรรดาสัตบุรุษ คุณพ่อลงมือทำงานทันที ขยายโรงเรียน และป้องกันเขตที่ดิน กับเขตสุสานของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสวัดใกล้เคียง กำลังจะล้วงล้ำเข้ามา
 
กระนั้นก็ดี คุณพ่อตาปี ก็กำลังล่วงเลยเข้าวัยชราแล้ว แต่กำลังกายกำลังใจยังเป็นหนุ่มอยู่  คุณพ่อจะแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อพวกมิสชันนารีบอกคุณพ่อว่า “คุณพ่อเอ๋ย คุณพ่อกำลังจะแก่แล้วนะ”  คุณพ่อตอบว่า “หามิได้ ผมอายุมากต่างหาก แต่ยังเป็นหนุ่มอยู่”
 
แม้ว่าอยากเป็นหนุ่มเสมอ ก็ถึงคราวที่ต้องรับความเป็นจริง ปี ค.ศ. 1965  หลังจากหกล้มลงไปครั้งหนึ่ง คุณพ่อบอกว่า “ผมยินดีที่จะไปพักชราแล้ว แต่ไม่รู้จะไปไหน ไปอยู่ที่โรงพยาบาล หรือ?  น่าเศร้าใจจริงๆ” 
 
ในปี ค.ศ. 1967 คุณพ่อตัดสินใจลากลุ่มคริสตชนวัดสามเสน หลังจากอยู่ปกครองวัดนี้เป็นเวลาได้ 41  ปีแล้ว และคุณพ่อก็ไปพำนักอยู่ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ซึ่งอยู่ในความดูแลของอาจารย์สมัย ชินะผา ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อ เคยเล่นหีบเพลงในวัดสามเสน และเป็นครูประจำ อาจารย์สมัยได้จัดบ้านเป็นพิเศษหลังหนึ่งต้อนรับคุณพ่อ
 
เมื่อคุณพ่อปลดเกษียณอยู่เซนต์จอห์นแล้ว คุณพ่อก็ยังทำพิธี เทศน์ ทุกวันอาทิตย์ ในวัดของโรงเรียนนั้น สอนคำสอนแก่เด็กนักเรียนคริสตัง สอนคำสอนแก่เด็กและผู้ใหญ่ที่สมัครเข้าเป็นคริสตัง นอกนั้น คุณพ่อชอบอ่านหนังสือนิตยสารต่างๆ ที่มาจากฝรั่งเศส อ่านหนังสือพิมพ์ไทย และคุณพ่อแสดงความยินดีเป็นพิเศษเมื่อเพื่อนพระสงฆ์คนใดไปเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนวาระสุดท้าย คุณพ่อยินดีที่เห็นคริสตังวัดสามเสนจำนวนมาก ไปเยี่ยมคุณพ่อทุกวันอาทิตย์ จนกระทั่งถึงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1972 ซึ่งได้พบคุณพ่อกำลังเป็นลมที่ปลายเตียงของคุณพ่อ อาจารย์สมัยจัดส่งคุณพ่อไปโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์   ซึ่งคุณพ่อต้องทรมานจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973
 
คุณพ่อผ่าน 93 ปีในโลกนี้ คือ 23 ปีในฝรั่งเศส   70 ปีในประเทศไทย ศพของคุณพ่อฝังที่วัดสามเสน
 
คุณพ่อตาปีเคยชอบการขับร้องมาก และเพลงสุดท้ายที่คุณพ่อนำมาจากฝรั่งเศส แล้วแปลเป็นไทย คือ เพลง “กางเขนชัย จะครองราชัย....”
 
เป็นเพลงสุดท้าย ซึ่งคุณพ่อได้ไปขับร้องในสวรรค์แล้ว.