คุณพ่ออันตน ชันลิแอร์

 

 

คุณพ่อ อันตน ชันลิแอร์   มีสมญาว่า คุณพ่อฟิลิป

Antoine CHANELIÈRE
 
 
คุณพ่อ อันตน ชันลิแอร์ เกิดวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1876 ที่แซงต์จืสต์ลาบังคือ ในสังฆมณฑลลีออง เมื่อท่านจบมัธยมปลายแล้ว ก็เข้าบ้านเณรใหญ่ของสังฆมณฑล และก็เรียนอยู่ที่นั่นจนได้รับศีลโกน เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1897 ท่านเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1897 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1900 เละได้รับมอบหมายให้ไปมิสซังกรุงสยามในบรรดา 42 องค์ที่จะต้องไปมิสซังท่านออกเดินทางวันที่ 1 สิงหาคม
 
คุณพ่อชันลิแอร์ มาถึงกรุงสยามวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1900 เช่นเดียวกันกับพวกมิชชันนารีใหม่ๆ เวลานั้น ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1901 และออกจากโรงเรียนไปในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อพวกภราดาคณะเซนต์คาเบรียลมารับดูแลงานโรงเรียนต่อจากพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อออกเดินทางไปแปดริ้ว และอยู่ที่นั้น 1 ปี แล้วคุณพ่อการิเอร์ ก็มารับหน้าที่แทน และดูแลวัดแปดริ้วอยู่จนถึง ค.ศ. 1960
 
ปี ค.ศ. 1902 คุณพ่อชันลิแอร์ ออกจากแปดริ้วไปอยู่ที่บางนกแขวก ทางตะวันตกของกรุงเทพฯ เพื่อเรียนภาษาจีน ท่านรับผิดชอบดูแลวัดแม่กลองและท่าจีน
 
ปี ค.ศ. 1910 ทั้งๆ ที่ยังอยู่แถบเดียวกัน ท่านยังรับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนา ท่าจีน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ท่านรับผิดชอบดูแลวัดปากลัด และวัดปากน้ำ  ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
 
บ่อยๆ ทีเดียวท่านผ่านกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตกของอ่าวสยาม วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินทางผ่านไปกรุงเทพฯ พระสังฆราชบอกท่านว่า : “คุณพ่อฟิลิป คุณพ่อจะต้องไปเป็นเหรัญญิกอยู่ที่สำนักมิสซังแทนคุณพ่อการ์ต็อง” และดังนี้ คุณพ่อจึงมารับหน้าที่เหรัญญิกในปี ค.ศ. 1913
 
ปี ค.ศ. 1914 เกิดสงครามขึ้น ในบรรดาพระสงฆ์ 18 องค์ที่มีอยู่ในมิสซังกรุงสยาม มี 13 องค์ต้องจากมิสซังไป เนื่องจากคุณพ่อเป็นทหารกองหนุน จึงมิได้ถูกเรียกตัวเข้าเกณฑ์ในทันที แต่เดือนตุลาคม ท่านได้รับคำสั่งให้เข้าสงคราม และออกเดินทางโดยเรือในเดือน พฤศจิกายน  ผ่านไปทางเมืองไซง่อน การเดินทางสะดวกดีพอควร จนเมื่อมาถึงเกาะมอลต้า เรือชื่อ “วิล เดอ ลา ซีโอต้า” ก็ถูกตอร์ปิโดยิงเอา มี 72 คนจมน้ำตาย คุณพ่อฟิลิปและพวกที่รอดชีวิต ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยท่านกงสุลฝรั่งเศสที่เกาะมอลต้า แล้วพวกที่รอดชีวิตก็พักอยู่ที่เกาะนี้ 2 วัน จึงออกเดินทางไปมาร์แซย
 
ในฝรั่งเศส คุณพ่อได้รับหน้าที่เป็นบุรุษพยาบาลอยู่ที่มูแลงส์ ก่อน แล้วก็เป็นล่ามภาษาจีนตามที่ต่างๆ เมื่อสงครามสงบลง พวกมิชชันนารีก็กลับมากรุงสยาม เพื่อทำงานแพร่ธรรมซึ่งต้องหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย
 
คุณพ่อฟิลิปได้รับมอบหมายให้ไปที่บางนกแขวก เพื่อรับหน้าที่แทนเจ้าอาวาสชรา คือ คุณพ่อซาลมอน หลังจากที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ 5 ปีที่บางนกแขวก ก็ล้มป่วยลง จึงออกเดินทางไปฝรั่งเศสในเดือน มกราคม ค.ศ. 1924 ท่านได้ทำการฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการเป็นพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1925 ที่เมืองวิชี
 
เมื่อกลับมากรุงสยามเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1927 คุณพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อกียูที่วัดกาลหว่าร์ พออยู่ได้ 10 ปี คือ ถึงปี ค.ศ. 1937 คุณพ่อกียูก็ถึงแก่มรณภาพลง และคุณพ่อฟิลิปรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ (วัดแม่พระลูกประคำ) แต่เนื่องจากวัดนี้มีงานมาก คุณพ่อต้องเหน็ดเหนื่อยและล้มป่วยลงอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ต้องกลับไปอยู่ที่ฝรั่งเศสจนเกือบตลอดทั่งปี ค.ศ. 1939
 
เดือนกันยายน ค.ศ.1939 เกิดสงครามอีก เพื่อมิให้ถูกลูกตอร์ปิโดอีกเป็นครั้งที่สอง คุณพ่อฟิลิปกลับมากรุงสยามอย่างรีบด่วน ท่านมาถึงเดือนพฤศจิกายน  แต่เนื่องจากคุณพ่อ โอลิเอร์ เป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์อยู่ คุณพ่อฟิลิปจึงได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดวัดอัสสัมชัญ
 
ปีค.ศ. 1941 เนื่องด้วยประเทศไทยทำสงครามกับฝรั่งเศส ดังนั้น พวกมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสส่วนมากจึงถูกขับไล่ออกไป พวกที่ยังอยู่คือพวกมิชชันนารีที่อยู่ในกรุงเทพฯ พวกท่านจึงตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ทารุณ คุณพ่อฟิลิปพร้อมกับคุณพ่อโอลิเอร์ถูกขว้างด้วยหินที่หน้าวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ เมื่อขัดแย้งกับฝรั่งเศสยุติลง งานแพร่ธรรมก็ดำเนินไปตามปกติอีก
 
เดือนเมษายน ค.ศ. 1950 คุณพ่อฟิลิปฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการเป็นพระสงฆ์
 
วันอาทิตย์ต่อจากการเข้าเงียบ มีการฉลองใหญ่ที่วัดอัสสัมชัญ วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1960 เป็นการฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อชันลิเเอร์ และการเข้ามาอยู่ในมิสซังกรุงสยาม คุณพ่อเป็นที่รู้จักดีในนามคุณพ่อฟิลิป ก่อนอื่น ให้เราอธิบายว่า ทำไมจึงเรียกคุณพ่อชันลิแอร์ เป็นคุณพ่อฟิลิป คือว่า สมัยก่อนเมื่อ 60 ปีมาแล้ว เพื่อให้พวกคริสตังจำชื่อของคุณพ่อได้ง่ายขึ้น และมิให้เรียกชื่อชาวยุโรปเพี้ยนไป จึงมีการตั้งชื่อใหม่ให้คุณพ่อ เป็นชื่อที่เลือกจากปฏิทินคริสตัง ด้วยเหตุนี้เอง คุณพ่อชันลิแอร์จึงได้ชื่อใหม่ว่า คุณพ่อฟิลิป
 
คุณพ่อชันลิแอร์ไม่ทำมิสซาฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการป็นพระสงฆ์ของท่าน เพราะไม่มั่นใจว่าจะทำไหวหรือเปล่า ดังนั้น ท่านจึงมอบให้คุณพ่ออาแบล ซึ่งท่านส่งเข้าบ้านเณรตั้งแต่เล็กๆ เป็นผู้ทำมิสซา แต่ท่านก็รับศีลมหาสนิทในมิสซานี้ ซึ่งมีพระสังฆราชโชแรง บรรดาพระสงฆ์ ภราดา ภคินี และคริสตังจำนวนมากมายมหาศาลมาร่วมมิสซาด้วย
 
หลังอาหารเที่ยง ที่มีทั้งพวกพระสงฆ์และภราดามาอยู่ร่วมกัน คุณพ่อชันลิแอร์ตอบรับการดื่มอวยพรให้ของพระสังฆราชโชแรง ด้วยการเล่าชีวประวัติของท่าน
 
เมื่อท่านรู้สึกตัวว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้แล้ว ท่านก็จะบอกตรงๆ ออกมา แต่ท่านก็ยังคงทำงานทุกอย่างเท่าที่สามารถ ที่อาสนวิหาร แม้อายุ 85 ปีแล้วก็ตาม ท่านยังคงสอนคำสอนให้พวกเด็กหญิงเล็กๆ ของโรงเรียนประจำวัด และยังดูเเลฟัง แก้บาปพวกคนแก่ๆ ที่มาออกันอยู่ที่ประตูห้องของท่าน  เมื่อท่านมีเวลา ท่านจะออกไปเยี่ยมเพื่อนมิชชันนารีในเมือง ทุกเช้า ท่านจะพยายามทำมิสซาเท่าที่โรคชราจะเอื้ออำนวย และตั้งแต่เวลา 4.30 น. ตอนเช้า เราเห็นท่านได้รับการพยุงจากคนรับใช้ ช่วยให้ลงบันไดบ้านพักพระสงฆ์ไปอาสนวิหาร
 
เดือนกันยายน ค.ศ. 1962 ท่านอ่อนกำลังลง จึงหยุดทำมิสซา แต่เกือบทุกวัน ท่านยินดีที่ได้รับศีลมหาสนิท และท่านก็เตรียมตัวด้วยความศรัทธาพอๆ กับการเตรียมตัว ทำมิสซา วันอาทิตย์ ท่านขอให้นำท่านไปที่ริมสุดของบ้านพักพระสงฆ์ ที่ซึ่งท่านสามารถมองไปที่อาสนวิหาร และสามารถติดตามพิธีมิสซาโดยฟังพวกคริสตังสวดภาวนา ถ้าในช่วงสัปดาห์ ท่านรู้สึกว่าจะไม่สามารถชื่นชมยินดีในวันอาทิตย์ได้ ท่านจะร้องเสียงดังว่า : “แย่มากจริงนะ”
 
วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 ท่านถูกหามไปโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้พวกซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา ท่านเคยเป็นผู้ฟังแก้บาปของพวกภคินีมาเป็นเวลา 25 ปี ที่นั่น ท่านอยู่กับเตียงตลอดเวลาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตท่าน เพื่อให้แน่ใจ ท่านตกลงให้คุณพ่อเมอนิเอร์ มาโปรดศีลทาสุดท้าย วันที่ 30 พฤศจิกายน อย่างสง่าที่สุดเท่าที่จะสง่าได้ ท่านติดตามพิธีอย่างดีโดยตลอด ตอบคำภาวนาทั้งหมดด้วยตนเอง ท่านเน้นให้เอาเสื้อหล่อที่สวยที่สุดของท่านมาวางไว้ที่ปลายเตียง
 
วันต่อๆ มา พลังแรงของท่านยิ่งวันยิ่งอ่อนลง และความทรงจำก็แม่นยำยิ่งวันยิ่งน้อยลง ท่านไม่สามารถแม้กระทั่งสวดบทวันทามารีอาตลอดทั้งบท วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม ท่านเข้าตรีฑูต เป็นการตรีฑูตที่สงบและเรียบ และตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1962 ท่านถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า
 
ศพของท่านถูกวางไว้เป็นเวลา 2 วัน แล้วบรรจุศพตอนเช้าวันพระคริสตสมภพ แต่ด้วยว่าเป็นวันฉลองใหญ่  จึงเคลื่อนศพของท่านไปไว้ที่อาสนวิหารได้ก็ต่อเมื่อถึงตอนเย็นเท่านั้น สัตบุรุษมารวมกันรอบศพเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อสวดภาวนาจนดึก วันพุธที่ 26 คุณพ่อตาปี ผู้ซึ่งเป็นทั้งรองประมุขมิสซัง ผู้แทนประมุขมิสซัง เพื่อนเก่าของท่าน มาทำมิสซาขับผู้ตาย โดยมีผู้ร่วมพิธีคือ พระสังฆราชโชแรง พระสมณฑูต พระสงฆ์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ  มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศจำนวนมาก  ผู้แทนคณะนักบวชต่างๆ ทุกคณะที่ทำงานในนครหลวงของกรุงสยาม และคริสตังจำนวนมหาศาล ต่างก็มาแสดงการไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อหน้านักเเพร่ธรรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เวลานี้ ศพของคุณพ่อชันลิแอร์ถูกฝังไว้ในอุโมงค์ใต้พระเเท่นในอาสนวิหารอยู่เคียงข้างคุณพ่อแปรูดง เพื่อนร่วมเมืองและเพื่อนสนิทของท่าน