-
Category: ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ)
-
Published on Thursday, 07 April 2016 08:51
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1283

คุณพ่อ ปิแอร์ มอริส ยิบาร์ตา
GIBARTA
คุณพ่อ ปิแอร์ มอริส ยิบาร์ตา เกิดวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1822 ในเขตวัดแซงต์ ปิแอร์ เมืองคอนดอม แขวงแยรส์ รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1846 เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1847 และออกเดินทางมามิสซังกรุงสยาม วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1848
มิชชันนารีใหม่ผู้นี้เรียนภาษาไทยอยู่ยังไม่ถึง 4 เดือน ทั้งๆ ที่รู้คำภาษาไทยน้อย คุณพ่อก็ต้องโปรดศีลทาสุดท้ายให้คนใกล้จะตายจำนวนมาก ด้วยว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1849 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างน่ากลัว ทั่วนครหลวงของกรุงสยาม และตามเมือง ตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองกรุงเทพฯ แห่งเดียวมีชาวเมืองตายลงหลายพันคนทุกๆ วัน ในไม่ช้าก็ไม่มีการฝังศพกันอีกแล้ว เอาไปทิ้งในแม่น้ำหรือลำคลองต่างๆ ศพลอยน้ำอยู่เป็นจำนวนเหลือคณานับ บรรดาบิดามารดาต่างก็ทอดทิ้งลูกๆ ที่ใกล้จะตายของตน การคมนาคมทุกประเภทหยุดชะงัก
เกิดความเงียบสงัดเหมือนตายตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตามปกติแล้วมีเรือพายเรือแจวทุกชนิดผ่านไปมาอยู่ไม่ขาดสาย ภัยพิบัตินี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและหมดหวัง ทุกหนทุกแห่งมีแต่ความเศร้าสลดใจ
บรรดามิชชันนารีในสยามให้กำลังใจกันและกัน โปรดศีลทาสุดท้ายให้พวกคริสตังที่กำลังจะตาย และโปรดศีลล้างบาปให้พวกคนต่างศาสนากรณีใกล้ตาย ซึ่งขอตายในฐานะคริสตัง คุณพ่อ ยิบาร์ตาเองแม้เพิ่งมาถึงใหม่ๆ ก็มีส่วนช่วยในการเสียสละและการให้กำลังใจในโอกาสนี้ เช่นเดียว กับบรรดามิชชันนารีทั้งหลายในกรุงสยาม
ในปีเดียวกันนั้น มิชชันนารีจำนวน 8 องค์ ต้องออกจากพระราชอาณาจักรสยามไป เพราะปัญหาเรื่องการถวายสัตว์ ซึ่งทุกคนเชื่อว่าเป็นเรื่องหลงงมงาย คุณพ่อประจำอยู่ที่สามเณราลัยใหญ่ปีนังเป็นเวลา 2 ปี ทิ้งความระลึกถึงอันดียิ่ง ไว้ให้ด้วย
เมื่อกลับมาถึงกรุงสยาม คุณพ่อยิบาร์ตา ก็ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่บ้านเณรอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ และสอนเทวศาสตร์ คุณพ่อมีความชื่นชมยินดีที่ได้เห็นเณร 5 คนรับศีลบวช พระสงฆ์ 5 องค์ นี้จึงได้ช่วยแบ่งภาระอันเหน็ดเหนื่อยในงานอภิบาลของพวกมิชชันนารี
หลังจากคุณพ่อยิบาร์ตามาอยู่มิสซังสยามได้ 5 ปี คือ ในปี ค.ศ. 1853 คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ แทนคุณพ่อโกลแดต์ ผู้วายชนม์ด้วยโรคตับ พวกคริสตังรักใคร่เจ้าอาวาสองค์ก่อน ตลอดระยะเวลา 17 ปี คุณพ่อปกครองดูแลคริสตังกลุ่มนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวญวนจากโคซินไชน่า ด้วยความเร่าร้อนและประสพผล สำเร็จด้วย ณ ที่นั้น มีแต่เพียงวัดไม้เก่าๆ อยู่หลังหนึ่ง ซึ่งไม่สมควรเรียกเป็นวัด ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ซึ่งแม้แต่โบสถ์ชั้นรองๆ ของชาวพุทธก็ยังสร้างด้วยอิฐ ดูภายนอกสวยพอควร
คุณพ่อยิบาร์ตายังหนุ่ม ขยันขันแข็ง เอางานเอาการ จึงไม่ย่อท้อในงานที่จะสร้างวัดที่เหมาะสมเป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า ทั้งยังให้กว้างใหญ่เพียงพอสำหรับกลุ่มคริสตังของคุณพ่อ แม้ว่าพวกคริสตังชาวญวนของคุณพ่อจะยากจน การที่จะขอให้สัตบุรุษช่วยเหลือด้านการเงินจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างมากก็มีบางครอบครัวที่สามารถเจียดแบ่งเงินจำนวนนิดน้อย ซึ่งหาได้จากการหาเช้ากินค่ำจนพอมีอันจะกินดีอยู่บ้าง กระนั้นก็ดี เมื่อคุณพ่อได้รับการสนับสนุนจากพระสังฆ ราชปัลเลอกัว ผู้เห็นว่าคุณพ่อเป็นคนมีหัวคิดริเริ่ม และพร้อมที่จะทำการเสียสละทุกอย่างคุณพ่อ จึงตกลงใจเสนอโครงการนี้ได้พวกผู้ใหญ่ของ กลุ่มคริสตังช่วยพิจารณา พวกเขาคัดค้านอย่างหนัก โดยมีเหตุผลดี พูดว่า “คุณพ่อครับ คุณพ่อจะทำได้อย่างไร? พวกเรามีแต่เพียงสองแขนให้ใช้ แขนพวกนี้มีให้ใช้ได้ไม่ขาดสาย แต่เราจะหาเงินได้จากที่ไหนเพียงพอเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และเพื่อจ่ายค่าแรงให้พวกนายช่างที่จำเป็นต้องจ้างสำหรับทำงานต่างๆ ที่เราเองไม่สามารถ หรือไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะทำ? ”
หลังจากประชุมปรึกษาหารือกันมาแล้ว ความไม่วางใจในการช่วยเหลือของท่านนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ และในพระพรของพระเป็นเจ้า ดลใจให้ตกลงใจทำอย่างแน่นอน เราจะลงมือดำเนินงาน แม้จะต้องใช้เวลาทำงานถึง 20 ปี เพื่อจะสร้างให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อมีการตกลงใจเป็นเอกฉันท์เช่นนี้แล้ว ผู้เสนอโครงการก็ลงมือดำเนินงานทันที แม้คุณพ่อยิบาร์ตาจะเป็นมิชชันนารีที่แข็งขัน และร้อนรนศรัทธาต่อบ้านของพระเป็นเจ้า คุณพ่อก็ยังทุ่มเทเสริมสร้างความศรัทธาให้กับฝูงชุมพาของคุณพ่อ คุณพ่อยังเป็นห่วงเรื่องการทำให้วิญญาณทั้งหลายศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยเหมือนกัน นอกนั้น คุณพ่อถือโอกาสที่ต้องเดินทางมาก เนื่องจากมีหน้าที่ไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อหาทุนทรัพย์บ้างทีละเล็กที่ละน้อย ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อสามารถเริ่มดำเนินงานสร้างวัดได้
เมื่อคุณพ่อรู้ว่ามีคริสตังคนหนึ่งมีกำไรบ้าง คุณพ่อจะขอให้เขาบริจาคส่วนหนึ่งช่วยสร้างวัดและเขาก็เต็มใจแบ่งให้ด้วยดี เวลาคุณพ่อออกเดินทางไปไกลเพื่อเสริมสร้างความศรัทธาให้กับพวกคริสตัง และแม้กระทั่งจากพวกคนต่างศาสนาด้วย คำพูดอันโอบอ้อมอารีและการสนทนาอันระรื่นหูของคุณพ่อ ทำให้คุณพ่อเป็นที่นิยมชมชอบของพวกที่ยังไม่เคยรู้จักคุณพ่อเลย เวลาคุณพ่อไม่สัมฤทธิ์ผลที่จะได้รับบริจาค อารมณ์ขันของคุณพ่อผสมกับการพูดสุภาพเรียบร้อย แม้ประสบความล้มเหลว ทำให้ผู้ที่ปฏิเสธคุณพ่อรู้สึกเสียใจ
วันหนึ่ง ขณะที่คุณพ่อนั่งเรือผ่านไปใกล้เรือยุโรปลำหนึ่งที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ คุณพ่อก็ไปหยุดที่หน้าบันได ขึ้นไปบนเรือ และทักทายกัปตันเรือที่คิดว่าเขาเป็นคาทอลิก โดยหวังว่าจะได้รับลายเซ็นชื่อผู้บริจาค ที่คุณพ่อเปิดบัญชีไว้สำหรับพวกชาวยุโรปที่กรุงเทพฯ กัปตันโปรเตสแตนท์ต้อนรับคุณพ่ออย่างเย็นชา แสดงความประหลาดใจยิ่งที่ได้รับการเยี่ยมเยียนแบบนี้ ถึงกระนั้น ก็ได้สนทนากัน แต่เขาก็ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมบริจาค และพูดไม่ค่อยสุภาพนัก คุณพ่อยิบาร์ตามิได้แสดงความผิดหวัง กล่าวลากัปตันพร้อมทั้งขออภัยที่มารบกวน และก็กล่าวอย่างสุภาพเรียบร้อย จนกัปตันรู้สึกเสียใจที่ทำตัวกระด้างกระเดื่องกับคนที่เสียสละอย่างคุณพ่อเช่นนั้น วันรุ่งขึ้น เขามาขอขมาและนำเงินบริจาคจำนวนมากทีเดียวมามอบให้ด้วยใจจริง
เมื่อวางศิลาฤกษ์แล้ว การสร้างวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ก็ดำเนินไปทีละเล็กทีละน้อยตามทุนทรัพย์ที่หามาได้ งานก่อสร้างส่วนใหญ่ พวกคริสตังเป็นคนทำ และหลังจากพากเพียรทำการก่อสร้างมาได้ 10 ปี ก็มีการประกอบพิธีมิสซาใหญ่ วันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ปี ค.ศ. 1867 ในวัดนี้ซึ่งสร้างมาได้ด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และต้องวิตกกังวลเป็นอย่างมาก
คุณธรรมเด่นของคุณพ่อยิบาร์ตาตลอดช่วงชีวิตสงฆ์ คือ รู้สึกเห็นใจช่วยเหลือคนบาปและแกะหลงฝูง คุณพ่อทุ่มเทเวลาทั้งคืนทั้งวันส่งเสริมพวกคริสตังที่คุณพ่อได้รับมอบ หมายดูแลให้เจริญขึ้นทั้งทางด้านวิญญาณและทางด้านการหาเลี้ยงชีพแต่ความกระตือรือร้น ของคุณพ่อยิ่งเพิ่มทวีขึ้น เมื่อเป็นเรื่องการทำให้พวกคนบาปที่รู้อย่างเปิดเผย กลับใจ เมื่อได้ข่าวว่า มีคริสตังคนหนึ่ง ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่คริสตัง ดำเนินชีวิตไปในทางอันตราย เสี่ยงต่อการสูญเสียความรอดตลอดนิรันดร คุณพ่อสั่งให้เขามาหาทันที และถ้าคนเลวผู้นี้ไม่เชื่อฟังคำสั่งเยี่ยงบิดา คุณพ่อก็ออกไปตามหาลูกหลงผิดนี้ และน้อยครั้งทีเดียวที่คนบาปจะดื้อดึงต่อคำเตือนสอน อันน่าประทับใจของผู้ที่รู้จักรักเขามากกว่า ที่เขารู้จักรักตัวเอง ถ้าคุณพ่อจำต้องออกเดินทางไกลเพื่อตามหาคนบาป คุณพ่อก็จะเลื่อนเวลาออกเยี่ยมพวกคริสตังให้เร็วขึ้น ถ้าทำได้ ทั้งนี้เพื่อนำแกะหลงฝูงกลับโดยเร็ว พวกคริสตังทุกคนนิยมชมชอบหัวใจเยี่ยงบิดาของคุณพ่อ พวกเขาติดใจภักดี รักคุณพ่อ และให้ความเคารพเชื่อฟังคุณพ่อเยี่ยงบุตรในทุกด้าน
ปี ค.ศ. 1871 คุณพ่อยิบาร์ตาต้องกลับไปฝรั่งเศสชั่วคราว เพราะสุขภาพอยู่ในสภาพที่ต้องไป เมื่อกลับมากรุงสยาม ประมุขมิสซังสยามของคุณพ่อเห็นว่าจะมอบหมายให้คุณพ่อรับภาระหนักเช่นก่อนมิได้แล้ว มิชชันนารีใจกว้างผู้นี้นบนอบยินยอมสละวัดที่คุณพ่อลงทุนลงแรงสร้างไว้อย่างสวยงามและได้ปกครองดูแลอยู่หลายปี คุณพ่อน้อมรับดูและวัดเล็กพอเหมาะกับพละกำลังของคุณพ่อด้วยความยินดี คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลวัดซางตาครู้ส กลุ่มคริสตังที่กรุงเทพฯ โดยไม่มีกลุ่มอื่นตามชนบท ตั้งแต่แรกมาถึง คุณพ่อทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจให้กับฝูงแกะที่ คุณพ่อปกครองดูแลจนถึงวันตาย โดยมีผลดีมากมายก่ายกอง
ปลายปี ค.ศ. 1885 การเจ็บออดแอดอยู่บ่อยๆ ทำให้สุขภาพทรุดโทรมจนเห็นได้ชัด แม้จะอยู่ในสภาพอาพาธอยู่ คุณพ่อก็อยากจะลงมือทำการบูรณะซ่อมแซมวัดซางตาครู้ส เมื่อการบูรณะซ่อมแซมใกล้จะสำเร็จอยู่แล้ว คือ ตอนกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 1886 คุณพ่อเกิดหมดกำลังลงโดยสิ้นเชิง ทั้งพวกเพื่อนมิชชันนารี และพวกคริสตังต่างก็ให้การดูและเอาใจใส่ทุกวิถีทาง แล้วก็ยา ทุกชนิดที่บรรดานายแพทย์ให้คุณพ่อ ก็มิอาจบรรเทาความเจ็บปวดได้ ปรากฏว่า คุณพ่อเป็นมะเร็งที่ตับนานมาแล้ว
ดังนั้น จึงหมดหวังที่จะรักษาให้หายได้ คุณพ่อเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะยอมรับความตายและการเสียสละชีวิต ความเชื่อไว้ใจในพระ และความศรัทธาต่อแม่พระ ช่วยให้คุณพ่อสามารถสู้ทนกับความเจ็บปวดแสนสาหัสด้วยความเพียรทน สิบวันก่อนถึงแก่มรณภาพ เพื่อนมิชชันนารีสององค์มาอยู่ใกล้คุณพ่อตลอดเวลา คุณพ่อเปอตีต์ ซึ่งให้การดูแลเอาใจใส่คุณพ่อ และช่วยเตรียมตัวให้คุณพ่อตาย เขียนบันทึกว่า: “คุณพ่อยิบาร์ตาทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก แต่ก็สู้อดทนมากด้วย ในช่วงวันท้ายๆ คุณพ่อไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เลย เราพยายามทุกวิถีทางที่จะผ่อนคลายความทุกข์ทรมานทั้งหลายของคุณพ่อ พวกคริสตังวัดซางตาครู้สทุกคนมาแสดงความหวังดี มีจำนวนมาก มาคอยช่วยเราทั้งวันทั้งคืน คุณพ่อรับศีลทาสุดท้าย และพระคุณการุณย์บริบูรณ์กรณีใกล้จะตาย ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสยิ่ง คุณพ่อเข้าตรีทูตวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1886 เวลา 3 ทุ่ม แต่ก็ถึงแก่มรณภาพลงในวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยง ในระหว่างเข้าตรีทูตคุณพ่อเอาแต่สวดบทวันทาพระราชินี”
คุณพ่อมรณภาพ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1886 ตอนเที่ยง ศพของคุณพ่อฝังอยู่วัดซางตาครู้ส ท่ามกลางพวกคริสตังที่รักยิ่งของคุณพ่อ พวกเขาเตรียมพิธีปลงศพอย่างเหมาะสมด้วยน้ำใจกว้างขวางและกระตือรือร้น เป็นการแสดงความรักใคร่ชอบพอเยี่ยงบุตร เป็นครั้งสุดท้าย พวกเขาสวดภาวนาอุทิศให้วิญญาณคุณพ่อได้พักผ่อนในสันติสุข ส่วนคุณพ่อเองพร้อมกับมิชชันนารีองค์อื่นๆ ซึ่งศพฝังอยู่ที่นั่นด้วย ก็จะสวดภาวนาสำหรับพวก คริสตังและบรรดาเพื่อนมิชชันนารีที่ยังอยู่ในโลกนี้.