คุณพ่อ อาเล็กซิส อาดอลฟ์ เปอัง

 
 
คุณพ่อ อเล็กซิส อาดอลฟ์ เปอัง
 
Alexis PÉAN
 
 
คุณพ่อ อาเล็กซิส อาดอลฟ์  เปอัง เกิดวันที่ 16  มีนาคม ค.ศ. 1838   เกิดในครอบครัวผู้ดีมีสกุลครอบครัวหนึ่ง ที่เมืองอัวโซ  แขวงมาแยน  คุณพ่อมีบุญที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อบรม   สั่งสอนและการแสดงแบบอย่าง ด้วยจิตตารมณ์คริสตังที่แท้จริงภายในครอบครัว
 
คุณพ่อเข้าบ้านเณรใหญ่ที่เมืองมังส์ ในปี ค.ศ.1859  แต่พออยู่ได้ไม่กี่วันเท่านั้น ก็ไปเข้าบ้านเณรมิสซังต่างประเทศ โดยมิได้ขออนุญาตจากบิดามารดา ผู้ซึ่งมีจิตตารมณ์คริสตังอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่กล้าเสียสละมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มารดาของคุณพ่อมิอาจยอมรับความคิดที่จะต้องเห็นบุตรของตนไปอยู่ห่างไกล และอยู่ห่างตลอดไป
 
แต่เสียงเรียกของพระเป็นเจ้าดังกว่าเสียงร้องของมวลมนุษย์ แม้แต่เสียงของมารดา ชายหนุ่มเปอัง มาถึงบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1859  เวลานั้น  มีเสียงสะ ท้อนของการเบียดเบียนและมรณสักขี ซึ่งทำให้พระศาสนจักรในภาคตะวันออกไกลเป็นที่เลื่องลือ
 
ครั้นพออยู่ในบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศได้ 3 ปี คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้มามิสซังสยาม และออกจากกรุงปารีสพร้อมกับเพื่อนมิสชันนารีอื่นๆ อีก 10 องค์  ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1862 คุณพ่อมาถึงเมืองบางกอกเอาเดือนมีนาคม ค.ศ. 1863  ซึ่งยังอยู่ในระยะเศร้าสลดกับการมรณภาพของพระสังฆราชผู้ปราชญ์เปรื่อง คือ พระสังฆราชปัลเลอกัว 
 
เวลานั้น บรรดามิสชันนารีทั้งหลายต่างหันมามุ่งประกาศศาสนาให้แก่พวกชาวจีนที่มาแสวงโชคในกรุงสยาม และเริ่มประสพผลสำเร็จบ้างแล้ว
 
คุณพ่อเปอัง ก็ทำงานแพร่ธรรมอยู่กับพวกชาวจีนด้วยเหมือนกัน เมื่อได้เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนที่นครชัยศรี วัดสำคัญอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบางกอก คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดแปดริ้ว ซึ่งเป็นที่ว่าการเขตจังหวัด และตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก มีเนื้อที่ยาว 200 กม. และ กว้าง 150 กม. คุณพ่อยังรับผิดชอบดูแลวัดบางปลาสร้อยด้วย ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1863  ถึง ปี ค.ศ. 1865  ความใจดี และความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้คุณพ่อสามารถชนะใจพวกคริสตังใหม่ในเขตวัดดังกล่าวนี้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งคุณพ่อผ่อนผันให้เป็นอย่างมาก เพราะเข้าใจดีว่าคนพวกนี้เมื่อก่อนนั้นยังจมอยู่ในความมืดแห่งเทวภูติบูชา ไม่อาจกลายเป็นคริสตังดีพร้อมได้ในทันที ทันใด คุณพ่อยังผ่อนปรนให้ง่ายยิ่งขึ้นในอีกสำหรับพวกที่เตรียมตัวเป็นคริสตัง เพราะมีความหวังว่า คุณธรรมจะเจริญงอกงามขึ้นในดวงวิญญาณซึ่งพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปช่วยทำให้ศักดิ์สิทธิ์
 
เมื่ออยู่ในสยามได้ไม่นาน เราก็เห็นว่า มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีคุณค่ามาก คุณพ่อดาเนียล บอกว่า  “คงจะต้องให้มีคนแบบคุณพ่ออยู่ทุกหนทุกแห่ง”. คุณพ่อราบาร์แดล ก็เขียนบรรยายว่า :“คุณพ่อเป็นแบบอย่างให้แก่มิสชันนารีหนุ่มทั้งหลายคือ เป็นคนสงบเสงี่ยม ศรัทธา เสียสละ น่ารักต่อเพื่อนมิสชันนารีทั้งหลาย และในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนสุขุมรอบคอบ และเชี่ยวชาญมากในเรื่องต่างๆ.” และพระสังฆราชดือปองด์  เขียนบรรยายไว้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นอีกว่า : “คุณพ่อเปอัง มีค่าเหมือนทองแท่งและข้าพเจ้าขอกล่าวอย่างจริงใจว่า ถ้าคุณพ่อทำงานแพร่ธรรมได้แปดหรือสิบปี คุณพ่อคงจะได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช”.
 
ในปี ค.ศ. 1865 และ ปี ค.ศ. 1866  คุณพ่อเปอังโปรดศีลล้างบาปให้คริสตังใหม่มากกว่า 200 คน  เพิ่มจำนวนคริสตังให้กับวัดเก่าๆ ทั้งหลายของเขตวัดของคุณพ่อ และจัดตั้งกลุ่มคริสตังใหม่ขึ้นกลุ่มหนึ่งที่หัวสำโรง เป็นเหตุให้คนนอกศาสนาตั้งตนเป็นศัตรู และข้าราชการบางคนสั่งจับคริสตังใหม่ บางคนเข้าคุก น่ากลัวว่าจะสูญเสียหมดทุกอย่าง แต่คุณพ่อเปอัง แทนที่จะออกหน้าเข้าแทรกแซงโดยตรง ก็ติดต่อกับผู้ใหญ่อย่างเงียบๆ ในไม่ช้า เรื่องทั้งหมดก็สงบเรียบร้อย ทำให้ความฝันอันสวยหรูทั้งหลายของคุณพ่อสำหรับอนาคต ค่อยๆ เจริญขึ้น.
 
คุณพ่อตั้งใจจะสร้างวัดใหม่ เป็นตึกสวยงามที่บ้านใหม่ (แปดริ้ว) แต่ยังหาเงินไม่ได้ คุณพ่อคิดที่จะเขียนจดหมายถึงพระสังฆราชในสังฆมณฑลของคุณพ่อที่ฝรั่งเศส
 
พระสังฆราชของสังฆมณฑลลาวาล  เป็นคนขยันขันแข็ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นคนใจกว้าง เอาใจใส่จดจ่ออยู่กับความรอดของวิญญาณทั้งหลาย  พระสังฆราชรับจดหมายที่เขียนประทับใจท่านมากด้วยไมตรีจิตอย่างยิ่ง เพราะจดหมายพูดถึงงานอันศักดิ์สิทธิ์ และให้ท่านเลือกว่าจะรับให้ความช่วยเหลือหรือปฏิเสธ ท่านส่งจดหมายฉบับนี้ไปให้บรรดาพระสงฆ์ในสังฆมณฑล โดยแนะสั่งให้อ่านบนธรรมาสน์ และรับเงินบริจาคที่บรรดาสัตบุรุษจะถวาย บรรทัดแรกๆ ของจดหมายแนะสั่งสั้นๆ เขียนว่าดังนี้ :
 
 
                                          “ที่เมืองลาวาล  วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1867 
เรียนบรรดาพระสงฆ์และเพื่อนร่วมงานที่รักทั้งหลาย
        ข้าพเจ้าไม่เคยนึกเลยว่าจะเขียนจดหมายมาถึงท่านอีก ก่อนเริ่มออกเยี่ยมเยียนวัดต่างๆ ในสังฆมณฑล แต่มีจดหมายฉบับหนึ่งจากกรุงสยามมาถึงข้าพเจ้าเมื่อเช้านี้ ข้าพเจ้าเพิ่งอ่านด้วยความรู้สึกประทับใจ จนมิอาจระงับความปรารถนาที่จะส่งมาให้ทราบ และทำสิ่งที่พระสงฆ์หนุ่มผู้นี้ขอร้องมา โดยประมุขมิสซังของเขาให้การสนับสนุนจากใจจริง พระสงฆ์หนุ่มผู้นี้เคยเรียนอยู่ในบ้านเณรของเรา.
 
 
 “ข้าพเจ้าแนบจดหมายฉบับนี้ทั้งครบมาด้วย  หวังว่าท่านจะชื่นชอบดังที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ.” จดหมายเขียนว่าดังนี้ :
 
 
    “กราบเรียนพระสังฆราช
    “ก่อนออกจากประเทศฝรั่งเศส ผมได้มากราบขอพรครั้งสุดท้ายแทบเท้าของท่าน เวลานั้น ท่านแสดงน้ำใจดีขอให้ผมเขียนจดหมายส่งข่าวงานแพร่ธรรมต่างๆ ให้ท่านทราบบางครั้งบางคราว.
 
เวลาก็ผ่านมานาน จนเวลานี้ผมปกครองดูแลเขตวัดแปดริ้วได้กว่า 3 ปีแล้ว ทุกปีผมโปรดศีลล้างบาปให้พวกคริสตังใหม่ประมาณ 100 คน  และในอนาคตอันใกล้นี้ ผมคิดเห็นพืชผลสุก ซึ่งจะส่งผลมากยิ่งขึ้นอีก อาศัยพระเป็นเจ้าทรงช่วย แต่...แต่...  คนพวกนี้ยังไม่มีวัด เพราะเรามิอาจเรียกเป็นวัดได้ สำหรับวัดเก่าแก่น่าทุเรศเล็กๆ หลังหนึ่งที่สร้างมาได้หลายปีแล้วและกำลังผุพังลงทุกวันๆ ถ้าเราไม่ทำการปรับปรุงใหม่ ก็อาจทำให้คริสตังโกรธจัดขึ้นมา เพราะเห็นวัดที่ปรักหักพังของเราตั้งอยู่ระหว่างวัดพุทธสองวัดที่สวยงามยิ่งขึ้น เหมือนกับท้าทายอยู่ตลอดเวลาให้ความหลงผิดชนะความจริง
 
เราคงต้องการให้วัดสวยๆ หลังหนึ่งซึ่งอาจเป็นเหมือนการประกาศพระศาสนาคริสตังของเราอย่างไม่หยุดหย่อน.
 
ดังนั้น ผมวิ่งจากแดนไกลมาเคาะประตูใจของท่าน ในฐานะเป็นเพียงแค่ มิสชันนารีน่าสงสาร และลูกวัดในสังฆณฑลลาวาลอันหนุ่มแน่น...
 
นี่แหละครับ พระสังฆราช คือความหวังของเรา กระนั้นก็ดี พระสังฆราชจะเป็นผู้พิจารณารับหรือปฏิเสธคำขอของผม  ผมกราบขอประทานอภัยที่เขียนจดหมายยืดยาวเช่นนี้.”
 
บรรดาสัตบุรุษในสังฆมณฑลลาวาลใจกว้างบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก แต่พอเงินบริจาคมาถึงกรุงสยาม ก็มีผู้สืบตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแปิดริ้วแทนคุณพ่อเปอัง และได้ใช้เงินบริจาคนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยสร้างวัดที่มิสชันนารีของเราใฝ่ฝันไว้ ส่วนตัวคุณพ่อเปอังเองถูกเรียกตัวไปเป็นอาจารย์อยู่ในบ้านเณรมิสซังต่างประเทศในปี ค.ศ. 1867
 
เมื่อคุณพ่อรู้สึกเสียดายงานแพร่ธรรมที่รักยิ่งงานหนึ่งนี้ พวกสัตบุรุษวัดแปดริ้วเองก็เช่นกันพวกเขารู้สึกเป็นทุกข์อย่างร้อนแรงมากเมื่อทราบเรื่องการจากไปของคุณพ่อ และเราก็ชื่นชมยินดีรับความบรรเทาใจ เมื่อได้ยินมิสชันนารีจากกรุงสยามสององค์บอกเราเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า บ่อยๆ ทีเดียวที่พวกคริสตังเก่าทั้งหลายของคุณพ่อเปอังพูดถึงคุณพ่อ สรรเสริญคุณความดีของคุณพ่อ ชมชอบกิจกรรมของคุณพ่อ และยังระลึกถึงคำแนะนำบางอย่างของคุณพ่ออยู่
 
คุณพ่อเปอังถึงแก่มรณภาพลงที่บ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893