วัดนักบุญเปโตร (วัดนครชัยศรี)

 
วัดนักบุญเปโตร (วัดนครชัยศรี)
 
เลขที่  20 หมู่ 3  ซอยวัดโรมัน  ถนนเพชรเกษม
ตำบลท่าข้าม  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม 73110 
โทร. 06-1226-7333
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Line ID: stpeterchurch
 
บทนำ
 
1)  พระสังฆราช  กูรเวอซี  (COURVEZY)  เป็นพระสังฆราชมิสซังองค์แรกต้องการให้แพร่ธรรมในหมู่คนจีนในประเทศสยาม
 
ในสมัยนั้น มิสซังสยามกว้างใหญ่ไพศาล  มีเนื้อที่รวมทั้งประเทศไทย,  ประเทศมลายู, ประเทศมอญ,  ภาคใต้  ประเทศพม่า, เกาะสุมาตรา  กับ หมู่เกาะนิโกบาร์  และปูเลาปูเลาด้วย   และเมื่อมีมิสชันนารีมาจากยุโรปหลายองค์พระสังฆราชก็ต้องส่งแบ่งกันตามเขตต่างๆ  เหล่านั้น
 
เมื่อปี  ค.ศ. 1834 คุณพ่อกูรเวอซี  ได้รับเลือกตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาให้เป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังสยามอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ และได้รับมอบหมายให้เตรียมแบ่งแยกมิสซัง ฉะนั้นเมื่อปี ค.ศ.1835 พระสังฆราชกูรเวอซี  แต่งตั้งคุณพ่อปัลเลอกัว เป็นอุปสังฆราช เพื่อดูแลพระศาสนาในเมืองไทยเป็นพิเศษ  แล้วท่านเดินทางไปสิงคโปร์, มะริดและปีนัง เพื่อเยี่ยมเยียนสัตบุรุษที่สิงคโปร์ ท่าน กูรเวอซีได้ทราบว่า คุณพ่ออัลบรังด์ ได้สอนคนจีนประมาณ 200  คนกลับใจภายในเวลาปีหนึ่ง  พระสังฆราชจึงนึกได้ว่า  ขณะนั้นมีคนจีนเป็นจำนวนมากเข้ามาในเมืองไทย  ท่านกูรเวอซี  จึงคิดถึงคำซึ่งคุณพ่อกูเด ได้เขียนไว้  คราวที่มาถึงกรุงเทพฯ  หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส  ว่า
 
“ที่นี่มีคนจีนมาก  ดูเหมือนจะสอนคนจีนให้กลับใจง่ายกว่าคนไทย  พระเจ้าแผ่นดินไม่ห้ามเขาเป็นคริสตัง และเขาเป็นเหมือนคนต่างด้าว  มิสชันนารีที่รู้จักภาษาจีนจะทำประโยชน์ในเมืองไทยได้มาก”
 
พระสังฆราชกูรเวอซี  จึงใช้คุณพ่ออัลบรังด์มาสอนคนจีนในเมืองไทย
 
2) ปี  ค.ศ. 1835 คุณพ่ออัลบรังด์  (ALBRAND)  มาประจำอยู่ที่วัดกาลหว่าร์  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวัดของคนจีน และได้ทำให้คนจีนกลับใจเป็นอันมาก ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  ซึ่งท่านได้ไปเยี่ยมเขามิได้ขาด
 
คริสตังหมู่แรกที่บางช้าง (บางนกแขวก), นครชัยศรี และท่าจีน, แปดริ้ว, ปากลัด และปากน้ำ,  ดอนกระเบื้องก็ได้เกิดขึ้น  เพราะคุณพ่ออัลบรังด์นี้เอง 3 ปีแรก  ท่านแพร่ธรรมในกรุงเทพฯ  ซึ่งมีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก  แต่ขณะเดียวกันท่านเตรียมจะไปแพร่ธรรมในต่างจังหวัด  โดย
 
ก. ฝึกอบรมพวกหนุ่มๆ  ใจร้อนรน  ให้เป็นซินแซดูแล  และสอนอบรมคริสตังใหม่ในหมู่คริสตชน ซึ่งท่านจะเปิดต่อไปในต่างจังหวัด จำนวนมิสชันนารีน้อยเต็มที่ ซินแซจะเป็นผู้แทน
 
ข. สำรวจตำบลต่างๆ  ซึ่งมีคนจีนมาก  สมัยนั้นถนนหนทาง  ยังไม่มี คนจีนที่อพยพจากเมืองจีนมาหาแหล่งทำมาหากินในเมืองสยาม มักจะรวมกลุ่มตามตลาด หรือตามทุ่งริมแม่น้ำลำคลอง  เช่น  แม่น้ำแม่กลองแม่น้ำนครชัยศรี  แม่น้ำเจ้าพระยา  และแม่น้ำบางปะกง
 
วิธีการแพร่ธรรม  จะเป็นแบบเดียวกันทุกแห่ง  คือ
1. ไปหาคนจีน  ชักชวนให้เขาถือศาสนาคริสตัง  อย่างคนจีนที่วัดกาลหว่าร์  และสอนเขาตามบ้านระยะหนึ่ง
 
2. เมื่อเห็นว่ามีคนสมัครเรียนหลายคน จัดแจงสร้างบ้านพักให้ซินแซ มีห้องใหญ่ห้องหนึ่งใช้เป็นห้องอบรมและห้องสวดภาวนา  คุณพ่ออยู่ด้วยกันสัก 15  วัน  บางครั้งเดือนหนึ่งและพ่อไปที่อื่นทิ้งซินแซคนหนึ่งอยู่ด้วยกันกับเขาต่อไป
 
3.  ผ่านกลับมาสอบความรู้  เตือนให้ฟังซินแซสอนและสวดภาวนา  ก่อนที่คุณพ่อจะได้โปรดศีลล้างบาปเมื่อจะเห็นว่าสมควรแล้ว
 
1. สมัยคุณพ่ออัลบรังด์  (ALBRAND)  ปี ค.ศ. 1838 - 1846
 
ชีวประวัติย่อๆ ของคุณพ่ออัลบรังด์  มีดังนี้
 
เมื่อประมาณปี ค.ศ.1838 เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์ ตัดสินใจจะไปยังหมู่ชาวจีนในตำบลท่าข้าม  ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลนครชัยศรี ริมแม่น้ำนครชัยศรีนั้น ท่านลงเรือพร้อมกับซินแซ นำเสบียงอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ ไปด้วยแล้วจากวัดกาลหว่าร์ คนแจวเรือเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครชัยศรี  แล้วไปจอดที่ตำบลท่าข้าม  คนจีนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ  ปลูกอ้อยในบริเวณบ้าน  เลี้ยงหมูบ้าง  พอจะได้แต่ทุ่งใหญ่ที่อยู่หลังบ้าน  ก็ยังเป็นที่ว่างเปล่า  เป็นป่าหญ้า ป่าไม้ไผ่  ป่าหนาม  ไม่มีใครอาศัยอยู่  มีแต่สัตว์ป่า  คุณพ่ออัลบรังด์กับซินแซ  ขึ้นบกสนทนากับเขา  ยินดีต้อนรับ  พูดกันง่ายๆ  เป็นคนต่างด้าวด้วยกัน
 
คุณพ่ออัลบรังด์ไม่เสียเวลา พูดเรื่องศาสนาทันที ซึ่งเขายินดีฟังและแสดงความสนใจ เพราะคุณพ่อพูดภาษาของเขา เหมือนคนจีนทีเดียว ในที่สุดตกลงกันว่า  ซินแซจะอยู่ต่อไปกับเขา เพราะหลายคนสมัครเรียนคำสอน  และขณะเดียวกัน เขาตกลงจะตัดไม้ไผ่  เพื่อปลูกบ้านให้ซินแซอยู่ได้  ใครสมัครเรียนก็ไปเรียนเวลาค่ำที่บ้านซินแซและกลางวัน  ซินแซก็จะมีเวลาไปเยี่ยมเขาตามบ้าน และหาคนใหม่  คุณพ่ออัลบรังด์เมื่อผ่านก่อนจะถึงหมู่บ้านชาวจีนนี้สังเกตว่า  มีที่ว่างเปล่าอยู่ริมแม่น้ำ เหมาะปลูกวัดในภายหลัง จึงขอให้เขาช่วยกันปลูกบ้านซินแซอยู่บนที่ดินแปลงนี้  ซึ่งได้กลายเป็นที่ตั้งของวัดปัจจุบัน
 
คุณพ่ออัลบรังด์อยู่กับเขา  ในตำบลท่าข้ามนี้สัก  15  วัน  แล้วจึงแจวเรือต่อไป  ไปตั้งกลุ่มใหม่ เช่น ท่าจีน  และบางช้าง  ขากลับ  ก็แวะที่กลุ่มนครชัยศรีสักพักหนึ่ง  แล้วกลับกรุงเทพฯ  เพราะท่านต้องไปอีกหลายแห่ง  เช่น  ปากเพรียว  อยุธยา  แปดริ้ว ฯลฯ  เป็นต้น   แต่ท่านกลับมาเยี่ยมกลุ่มนครชัยศรีนานนานที  คนสมัครเรียนเพิ่มขึ้นเสมอๆ
 
ที่สุดปี ค.ศ. 1840 คุณพ่ออัลบรังด์มีความยินดีรายงานถึง พระสังฆราชปัลเลอกัว  และถึงศูนย์ที่กรุงปารีสว่า  ท่านได้โปรดศีลล้างบาปแก่ชาวจีนนครชัยศรีเป็นกลุ่มแรก  แล้วแก่ชาวจีนกลุ่มบางช้างต่อไป  คุณพ่อต้องไปเรื่อยๆ  เพราะเวลานั้นไม่มีพระสงฆ์ว่าง
 
เมื่อปี ค.ศ. 1846 คุณพ่อไปเมืองจีน  และเป็นประมุขมิสซังกูเชา  (KOU-TCHEOU)
การโปรดศีลล้างบาป  ไม่ว่าที่ไหน  นครชัยศรี  ท่าจีน  บางช้าง  แปดริ้ว ฯลฯ  จนในบัญชีศีลล้างบาป  ของวัดกาลหว่าร์ทั้งสิ้น
 
2. สมัยคุณพ่อดือปองด์  (DUPOND)
 
คุณพ่อดือปองด์มาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1839 พระสังฆราชปัลเลอกัว  สั่งให้เรียนภาษาจีนที่วัดกาลหว่าร์  และแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยคุณพ่ออัลบรังด์  และเป็นผู้รักษาการแทนขณะที่คุณพ่ออัลบรังด์ไปเยี่ยมกลุ่มชาวจีนต่างๆ
 
ในปี ค.ศ. 1845 คุณพ่อดือปองด์ไปนครชัยศรี  และสร้างวัดหลังแรกเป็นไม้ไผ่  ท่านชอบกลุ่ม นครชัยศรีเป็นพิเศษ  และในภายหลัง ท่านต้องไปดูแลคริสตังใหม่ในบริเวณแปดริ้ว  ท่านก็ยังคิดถึงนครชัยศรี  และไปเยี่ยมบ่อยๆ
 
เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์ไปเมืองจีนในปี ค.ศ. 1846  พระสังฆราชปัลเลอกัว จึงได้ตั้งคุณพ่อดือปองด์  ซึ่งอยู่กับพวกจีนตั้งหลายปีมาแล้ว แทนคุณพ่ออัลบรังด์ คุณพ่อดือปองด์ดูแลคริสตังจีน  จนกระทั่งท่านได้รับตำแหน่งเป็นพระสังฆราชในปี ค.ศ. 1864 หนังสือแต่งตั้งคุณพ่อเป็นพระสังฆราช ประมุขของมิสซังสยามต่อจาก พระสังฆราชปัลเลอกัว ทางกรุงโรมส่งไปถึงวัดนครชัยศรี
 
3.  มิชชันนารี  เคลื่อนที่  ปี ค.ศ. 1846-1863
 
พระสงฆ์ที่ดูแลคริสตังจีนเคยมีสงฆ์ผู้ช่วยสององค์เสมอ เพราะต้องไปเยี่ยมคริสตังใหม่ และผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่มิได้ขาด ดังนี้ ปีละสองครั้ง  คุณพ่อองค์หนึ่งต้องไปเยี่ยมหมู่คริสตังทางตะวันออก  ที่ปากน้ำเจ้าพระยา, ปากเพรียว, บางปลาสร้อยและแปดริ้ว, ส่วนอีกองค์หนึ่งต้องไปเยี่ยมทางตะวันตกที่นครชัยศรี (สามพราน), ท่าจีน, บางช้าง (บางนกแขวก), และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1845  ยังเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง คือ ดอนกระเบื้อง  พระสงฆ์ที่เคยไปนครชัยศรี เป็นระยะๆ อย่างนี้  นอกจากคุณพ่อดือปองด์  ที่พยายามไปบ่อยๆ มี
 
1)   พระสงฆ์ไทย  ไปเยี่ยม  สับเปลี่ยนกัน  เวลานั้น  มีพระสงฆ์ไทยไม่กี่องค์ด้วย
เมื่อพระสงฆ์เดินทางไปถึงวัด คริสตังนครชัยศรีก็ต้อนรับ แสดงความชื่นชมยินดีอย่างครึกโครม   บางคนถึงกับกราบลง  จูบมือจูบเท้า  ทุกคนขอพรจากท่าน  แล้วคิดหาอะไรสักอย่างมาถวาย  เช่น  เนื้อหมู, ปลา,  ไก่, เป็ด,  ขนมและผลไม้,  ส่วนคุณพ่อก็แจกลูกประคำ, รูปกระดาษและเหรียญห้อยคอคุณพ่ออยู่กับคริสตังเหล่านี้ บางทีก็สิบห้าวันบางที่ก็สองเดือน แล้วแต่ความต้องการ ระหว่างที่ท่านอยู่สัตบุรุษประชุมกันวันละสองครั้ง สำหรับฟังมิสซา  และสวดภาวนาพร้อมกัน  คุณพ่อเทศน์สอนเขาทุกครั้ง  เมื่อคุณพ่อไปแล้วก็มีครูคำสอนคนหนึ่งเป็นธุระแปลคำสอนให้แก่เด็กและคนกลับใจใหม่  และหาคนเรียนคำสอนใหม่ต่อไป
 
2)  คุณพ่อมาแรง  (MARIN)  ปี ค.ศ. 1850 - 1853
ปี ค.ศ. 1849   เกิดเรื่องหนึ่ง  เรียกว่า  “เรื่องไก่”  ทำให้มิสชันนารีทุกๆ องค์   รวม  8  องค์ ต้องถูกเนรเทศ  เหลือแต่พระสังฆราชสังฆราชปัลเลอกัว  ที่กรุงเทพฯ  และคุณพ่อรังแฟง ที่จันทบุรี  กับพระสงฆ์ไทย  5  องค์   พระสังฆราชปัลเลอกัวได้ส่งพระสงฆ์ที่เหลือไปตามค่ายคริสตังต่างๆ แต่ท่านมีความร้อนใจ เมื่อคิดถึงหมู่คริสตังจีนในต่างจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่  เพราะถ้าไม่มีพระสงฆ์ไปเยี่ยมแล้ว  ก็น่าเกรงว่า คนที่กำลังเรียนคำสอนหรือเป็นคริสตังใหม่ จะพากันหมดกำลังใจ  
 
เดชะบุญ  มีมิสชันนารีองค์ใหม่  มาจากฝรั่งเศสปลายปี ค.ศ. 1849  คือคุณพ่อมาแรง ก็ส่งไปนครชัยศรี   ท่านได้เริ่มเรียนภาษาจีน  และไปเยี่ยมบางช้างกับดอนกระเบื้องเป็นระยะๆ   โดยกลับมาอยู่นครชัยศรีเป็นหลัก ส่วนท่าจีน คุณพ่อคนเดียวไม่สามารถไปทั่ว  ดังนั้น  พระสังฆราชปัลเลอกัว  จัดให้คริสตังท่าจีนย้ายมาอยู่นครชัยศรี  ในความปกครองของคุณพ่อมาแรง
 
3)  คุณพ่อเลอเกอ  (LEQUEUX)  ปี ค.ศ. 1859 - 1860
เมื่อมิสชันนารีกลับมาเมืองไทยแล้ว ในปี ค.ศ.1851 สถานการณ์ก็เป็นปรกติอย่างเดิม  และการไปเยี่ยมคริสตังใหม่นครชัยศรี  ดำเนินเรียบร้อย  คุณพ่อมาแรงยังอยู่ประจำจนถึงปี ค.ศ. 1853 แล้วจึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ มีพระสงฆ์ไทยไปนครชัยศรีเป็นระยะๆ ไป  จนถึง  ปี ค.ศ. 1859
 
มิถุนายน ค.ศ. 1859  คุณพ่อเลอเกอ  มาอยู่ประจำวัดนครชัยศรี จนถึง  31  พฤษภาคม  ซึ่ง  ท่านมรณภาพ
 
4)  คุณพ่อปอนารด  (PONARD)  ปี ค.ศ. 1860 - 1863
บวชเป็นพระสงฆ์วันที่  18  ธันวาคม  ค.ศ. 1858   ท่านไปวันที่  20  กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1859  มาถึงกรุงเทพฯ  แล้วถูกส่งไปเรียนภาษาที่นครชัยศรี  และจากนครชัยศรี  ท่านเป็น  มิสชันนารีเคลื่อนที่ภาคตะวันตกของพระนคร
 
ขณะเดียวกัน คุณพ่อเปอัง (PEAN)  พระสงฆ์ใหม่มาถึงกรุงเทพฯ  ในปี ค.ศ. 1862 ถูกส่ง ไปนครชัยศรี เรียนภาษา แต่แล้วปี ค.ศ. 1863 ถูกส่งไปแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนที่แปดริ้ว บางปลา สร้อย ฯลฯ
 
4. คุณพ่ออังเดร  เยง  (ANDRE  JENG) 
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  ปี ค.ศ. 1863 - 1890
 
ก.  รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก  ให้ประจำวัดนครชัยศรี
หลังจากได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชเป็นเวลา 24 ปี ที่สุด พระสังฆราชปัลเลอกัวก็ได้หลับไปในสันติสุขของพระเป็นเจ้า เมื่อวันที่  18 มิถุนายน  ค.ศ. 1862  อายุได้  58  ปี  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระประสงค์ให้การปลงศพพระสหายของพระองค์ ได้กระทำอย่างสง่าที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
 
วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1862 พระเจ้าแผ่นดินส่งเรือหลวง 2 ลำ  ผูกติดกันเป็นพื้นราบ กว้างพอสำหรับวางสังเค็ด และมีเรือจากพระราชวังอีกหลายลำมาพ่วงเรือสังเค็ดไปยังวัดคอนเซ็ปชัญ ขบวนศพมาถึงหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อเวลาบ่าย  2 โมง พระเจ้าแผ่นดิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ และโกนพระเศียร ได้เสด็จลงมาในเรือริมฝั่ง  และเมื่อศพพระสังฆราชมาถึงหน้าบรมมหาราชวัง  พระองค์ก็ทรงกราบลงสามครั้ง
 
เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัว  ถึงแก่มรณภาพแล้ว คุณพ่อเกลมังโซ  ซึ่งขณะนั้นอายุ  57  ปี และป่วยมาได้  3  ปีแล้ว  ได้รับหน้าที่ปกครองมิสซังแทน
 
การปลงศพพระสังฆราชปัลเลอกัวอย่างมโหฬาร  ได้เป็นที่ตรึงใจคนต่างศาสนาทั้งไทยและจีนเป็นอันมาก  เพราะเหตุนี้  ในสมัยนั้นจึงมีการกลับใจมากขึ้น เป็นต้นในต่างจังหวัด  เช่นที่นครชัยศรี,  บางช้าง, ดอนกระเบื้อง ฯลฯ  การที่จำนวนคริสตังในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเช่นนี้ เป็นเหตุให้ท่านเกลมังโซต้องส่งพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ  เพราะฉะนั้น  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863   ท่านได้คุณพ่ออังเดร  เยง  เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีองค์แรก
 
คุณพ่ออังเดรเยง เป็นลูกของคริสตังญวน ผู้อพยพมาอยู่วัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ หนีการเบียดเบียนจากประเทศอินโดจีน เมื่อปี ค.ศ. 1834 คุณพ่อสมัครเข้าบ้านเณรเล็กของวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ แล้วเรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ที่สามเณราลัยใหญ่ของสังฆมณฑลสยาม  ซึ่งตั้งอยู่กับบ้านเณรเล็กที่อัสสัมชัญ  ท่านได้รับบวชเป็นพระสงฆ์จากพระสังฆราชปัลเลอกัว  ที่วัดของสามเณราลัยอัสสัมชัญ  ตอนแรกรับแต่งตั้งไปจันทบุรี  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857-1863 จึงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  
 
 
 
ข.  อบรมบรรดาคริสตังอย่างเคร่งครัด  ให้มีความเชื่ออันมั่นคง
เนื่องจากคุณพ่ออันเดรเยง  เมื่อยังเป็นเยาวชนอยู่  ได้รับการอบรมจากบิดามารดาให้มีความเชื่อแข็งแกร่ง  มั่นคงกล้าหาญ ไม่ยอมทิ้งศาสนาคราวมีการเบียดเบียนเกิดขึ้นในอินโดจีน เลือกไปซ่อนตัวอยู่ในป่า เสี่ยงความตาย และที่สุด มาเจอทหารไทยซึ่งมีนายทหารเป็นคริสตังอยู่  จึงสมัครใจอพยพมาเมืองไทย  ท่านรู้สึกภูมิใจในความเชื่อคริสตัง  และเมื่อต้องมาปกครองคริสตังใหม่ที่ตำบลท่าข้ามนั้น  ท่านจะพยายามถ่ายเทความเชื่ออันมั่นคง  มาฝังอยู่ในจิตใจของบรรดาสัตบุรุษ   ให้มีระเบียบเรียบร้อย  รู้จักฟังเสียงของพ่อเจ้าวัดสั่งสอนหรือว่ากล่าว ซึ่งความ สุภาพและความอ่อนน้อมเชื่อฟังนี้  จะเป็นคุณลักษณะของคริสตังวัดนครชัยศรี  และจะเป็นกำลังของหมู่คริสตชนนี้ในอันที่จะต้านทานกำลังจิตชั่วที่มารุกราน
 
บรรดาคริสตังใหม่นครชัยศรีใต้การนำของคุณพ่ออังเดรเยง ก็จะมีโอกาสพิสูจน์ความเชื่ออันแข็งแกร่งของเขา เมื่อปี ค.ศ.1880 เป็นต้นไป คราวที่พวกอั้งยี่พยายามให้คนจีนทั่วประเทศไทย ลงชื่อเข้าสมาคมลับของพวกเขา  แต่คริสตังไม่ยอม แม้จะถูกขู่เข็ญ  คำสบประมาท ถึงกับถูกทุบตีก็ตามเป็นอันว่าไม่ยอมเด็ดขาด  จะไม่ทิ้งศาสนา  แต่จะฟังเสียงคุณพ่ออังเดรเยงให้กำลังใจ  พวกอั้งยี่ประกาศว่า  เขาจะสู้กับพวกคริสตัง จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดับสูญไป พระสังฆราชหลุยส์เวย์ ช่วยเต็มที่ โดยการฟ้องร้องพวกสมาคมลับเหล่านี้ต่อศาลซึ่งในที่สุดฝ่ายที่ดับสูญไปก็คือพวกอั้งยี่เกียรติภูมิของพวกคริสตังก็ทวีขึ้น  และมีคนจีนชมความกล้าหาญของคริสตัง  และมาขอเรียนคำสอนจะเข้าเป็นคริสตังด้วย
 
ค.  พัฒนาที่ดิน  ช่วยคริสตังทำมาหากิน
การดูแลอบรมจิตใจคริสตังใหม่  มิได้ทำให้คุณพ่อลืมว่า คริสตังของท่านเป็นมนุษย์ มีร่างกายด้วย  มีครอบครัวมีบุตรภรรยาซึ่งจะต้องเลี้ยงด้วย  ตั้งแต่วันแรกที่ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1863  นั้น  ท่านสังเกตว่าสัตบุรุษของท่านทำมาหากินพอดีๆ  ปลูกอ้อยนิดหน่อยอยู่ในบริเวณบ้านเท่านั้น  ทั้งๆ ที่หลังบ้านมีทุ่งกว้างใหญ่  มิใช้ประโยชน์อะไร  เป็นแต่หญ้ารากเป็นป่าหนาม  เป็นต้น
 
คุณพ่อจึงจับจองที่ดินอันไร้ประโยชน์นี้ เป็นของวัดพาคนจีนถางป่าให้เกลี้ยงทีละเล็กละน้อย โดยคิดค่าแรง ให้เขาพอสมควร  แล้วแบ่งให้เขาเช่าต่อไปโดยยังไม่คิดค่าเช่า  จนกว่าที่ดินเกลี้ยงดี  ทำการปลูกได้เต็มที่  และดังนี้  ค่อยๆ  ขยายเนื้อที่ปลูกอ้อยทุกๆ ปี  ในที่สุดคุณพ่อจึงช่วยคริสตังสร้างโรงหีบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป  และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า  “โรงหีบ”  จนถึงทุกวันนี้
 
ฆ.  สร้างวัดใหม่  เป็นอิฐ  ปี ค.ศ. 1880 - 1886
จำนวนคริสตังวัดนครชัยศรีทวีขึ้นเรื่อยๆ ในรายงาน  C.R. 1877, พระสังฆราชบันทึกไว้ว่า:
 
“ควรจะมีการสร้างวัดที่นครชัยศรี แต่ขณะนี้คริสตังใหม่ที่นี่กำลังประสบปัญหาความแห้งแล้ง  และการขาดอาหารอยู่ ทำให้พวกเขายากจนลงไปมาก  จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้พวกเขาต้องเสียสละเพิ่มเติมเพื่อช่วยสร้างวัดใหม่”
 
กระนั้นก็ดี คุณพ่ออังเดรไม่ท้อถอย คริสตังของเราสมควรจะมีวัดถาวรแล้วก็จะต้องสร้าง จะใช้เวลานานกี่ปีก็ไม่ว่า คุณพ่อจึงลงมือก่อสร้าง เมื่อปี ค.ศ. 1880  พระสังฆราชเวย์  มีความยินดี  รายงานถึงศูนย์ที่ปารีส  C.R. 1880,  ว่า
 
“คุณพ่ออังเดร  เป็นพระสงฆ์พื้นเมืองอีกท่านหนึ่งเริ่มลงมือสร้างวัดทำด้วยอิฐขึ้นที่นครชัยศรี   วันที่  1  สิงหาคม  ค.ศ. 1880   รงกับวันฉลองนักบุญเปโตร  ต้องพันธนาการ ต่อหน้ามิสชันนารีที่ได้มาร่วมฉลอง  เราได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์วัดใหม่ที่นครชัยศรี”  ภารกิจของคุณพ่ออังเดรหนักมาก แต่คุณพ่อมิได้ท้อถอยเมื่อต้องผจญต่อความยากลำบาก และการเสียสละต่างๆ คุณพ่อบอกเราในวันหนึ่งว่า “พระราชัยของพระเป็นเจ้าที่เราถวายชีวิตให้  เมื่อเราได้รับเป็นพระสงฆ์นั้น  คุ้มค่ากับการยากลำบากที่เกิดขึ้นแก่เรา พ่อจะทำงานเต็มความสามารถและพระเป็นเจ้าจะช่วยพ่อ”  
 
การสร้างวัดใช้เวลา  6  ปีพอดี  และสิ้นปีค.ศ. 1886   พระสังฆราชรายงานถึงกรุงปารีสว่า
 
สำหรับในปีนี้ วันที่ 1 สิงหาคม เรามีความยินดีที่ได้มีโอกาสเสกวัดใหม่  ในจังหวัดนครชัยศรีในนามของนักบุญเปโตร แม้ว่าวัดนี้เป็นเพียงวัดเล็ก แต่ก็เป็นวัดที่สวยงามสำหรับพวกเรา  เมื่อพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ คุณพ่อพื้นเมืองชื่ออังเดร ขอบพระคุณพระญาณสอดส่องศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้ผลงานของท่านลุล่วงไปด้วยดี  คริสตัง ณ เขตนี้ยินดีอย่างสุดซึ้ง   เมื่อเห็นวัดใหม่ของเขาเป็นวัดที่สวยงาม  แทนวัดหลังเก่าที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่ทรุดโทรม”  (C.R. 1886)
 
วัดของคุณพ่ออังเดร เยง ได้รับการซ่อมแซมและขยายเมื่อปี ค.ศ. 1910  เป็นวัดที่ได้ใช้ประกอบศาสนกิจจนถึงปี ค.ศ. 1970
 
ง.  บัญชีวัด  ของวัดนครชัยศรี
เราทราบแล้วว่าคริสตังกลุ่มแรกที่นครชัยศรี ได้รับศีลล้างบาป จากมือของคุณพ่ออัลบรังด์  ซึ่งจดไว้ในบัญชีของวัดกาลหว่าร์  ซึ่งเป็นของคนจีน  ต่อจากคุณพ่ออัลบรังด์  คุณพ่อดือปองด์ไปนครชัยศรี และสร้างวัดไม้ไผ่  ท่านก็ไปๆ มา ๆ บ่อย ๆ  ยังไม่มีใครอยู่ประจำ  แล้วก็มีพวกมิสชันนารีเคลื่อนที่ต่างก็ต้องจดการโปรดศีลล้างบาปและศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆในบัญชีวัดของ วัดกาลหว่าร์ทั้งสิ้น
 
เมื่อคุณพ่อดือปองด์ ได้รับเลือกเป็นพระสังฆราช แต่ยังมิได้รับอภิเษก ท่านก็ยังอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ต่อไป แต่ในวันที่  2 กุมภาพันธ์ ท่านต้องสลดใจเห็นอัคคีภัยเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่วัดซึ่งรอดจากไฟมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ส่วนบ้านของสัตบุรุษ บ้านของคุณพ่อดือปองด์ ตลอดจนเอกสารทั้งหมดของวัดจีนทุกวัด  ได้ถูกเผาผลาญหมดสิ้น
 
เป็นการน่าเสียดายมาก  เพราะไม่อาจทราบได้ว่าครัวไหนเข้ามาเป็นคริสตังก่อน  ทั้งไม่ทราบว่า เมื่อปี ค.ศ. 1864  มีคริสตังจำนวนเท่าใด
 
ส่วนคุณพ่ออังเดร คงเปิดบัญชีวัด  ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสประจำนครชัยศรีเป็นแน่ แต่บัญชีวัดของคุณพ่อ  น่ากลัวว่าใช้กระดาษไม่ดีแล้วชำรุดไป  จนอ่านไม่ได้แล้วก็หายไป
 
จ.  คุณพ่ออังเดร เยง  ถึงแก่มรณภาพ   ปี ค.ศ. 1890
คุณพ่ออังเดร เยง ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแห่งนี้  จนถึงวาระสุดท้ายของคุณพ่อ  นานถึง 27 ปี และศพของคุณพ่อฝังอยู่ในวัดที่คุณพ่อสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แห่งชนรุ่นหลัง ความดี ความสามารถ และความเข้มแข็งของท่าน  ได้ปั้นจิตตารมณ์คริสตัง  ให้แก่คริสตศาสนิกชนตำบลท่าข้ามอย่างมั่นคง
 
5.  คุณพ่อเอเตียน ปิโอ   (PIAU)  
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2  ปี ค.ศ. 1890 - 1893
 
ก.  ชีวประวัติของคุณพ่อปิโอ
คุณพ่อเอเตียน ปิโอ  เกิดที่หมู่บ้าน บุแอร์ มัยแยน ประเทศฝรั่งเศส วันที่  12  พฤศจิกายน ค.ศ. 1855  เข้าบ้านเณรของศูนย์  M.E.P. วันที่  12 กันยายน ค.ศ. 1878   บวชเป็นพระสงฆ์  วันที่  24  กันยายน  ค.ศ. 1881  ออกเดินทางวันที่  26  ตุลาคม  ค.ศ. 1881   มามิสซังสยาม  ถูกส่งไปเรียนภาษาไทยและภาษาจีน  ที่บางช้างเป็นปลัดผู้ช่วยไปเยี่ยมคริสตังวัดท่าจีน เมื่อปี ค.ศ. 1886 ท่านซื้อที่ดินแปลงแรก และสร้างวัดแรกในนามชื่อ  วัดนักบุญอันนา เมื่อปี ค.ศ. 1888
 
แต่แล้ว คุณพ่อปิโอ ก็รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888-1893  และเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนาด้วย ฉะนั้น คุณพ่อมีคุณพ่อปลัดผู้ช่วยองค์หนึ่ง ชื่อ  คุณพ่ออัมบรอซิโอ  (AMBROISE)  อยู่ซางตาครู้ส  แต่ปี ค.ศ. 1888-1890
 
ข.  เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี   ปี ค.ศ. 1890-1893
เมื่อปี  ค.ศ. 1890   คุณพ่ออังเดร  เยง  มรณภาพ  พระสังฆราชจึงแต่งตั้งให้คุณพ่อปิโอ รับเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีอีกวัดหนึ่ง ท่านก็ต้องไปๆ  มาๆ ทั้งสามวัด  แต่ที่สุดตกลงส่งพ่อปลัดคือ  คุณพ่ออัมบรอซิโอ  ออกจากวัดซางตาครู้สมาอยู่ที่วัดนครชัยศรีในฐานะพ่อปลัดช่วยดูแลวัดนครชัยศรีและวัดท่าจีน
 
ค.  เปลี่ยนสวนอ้อย  เป็นนาข้าว
แต่แรกปี ค.ศ. 1890   คุณพ่อปิโอสังเกตว่า  สวนอ้อยที่นครชัยศรี  ไม่สู้ได้ผลเท่าไรแล้ว  จึงแนะนำคริสตังจีนให้เลิกทำสวนอ้อยต่อไป และให้หันมาทำนาข้าวจะดีกว่า  แล้วท่านสั่ง คุณพ่ออัมบรอซิโอจัดการในเรื่องนี้  และให้เป็นตัวอย่างแก่เขา โดยให้สวนอ้อยที่เคยสงวนไว้วัดทำเอง เปลี่ยนเป็นนาข้าวทันที และให้ซื้อควายและอุปกรณ์ทำนาจำนวนพอสำหรับวัด และสำหรับให้คริสตังเช่าด้วย  แต่ไม่ถึงกับจำนวนมากมายที่คุณพ่ออาแบล  บันทึกไว้ตามการเล่าของคนชรา  เมื่อเห็นเด็กๆ  เห็นฝูงควาย 20 ตัว  เป็นฝูงใหญ่ๆ  ก็กลายเป็นฝูง 200 ตัว  ฝังลึกในความทรงจำของคนแก่
 

อย่างไรก็ดี  ในรายงาน  C.R. 1892.  พระสังฆราชเวย์  บันทึกไว้ว่า   
 
“จังหวัดนครชัยศรีนั้น  ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองมาก  มาบัดนี้กลับยากจน   และผู้คนค่อยๆ อพยพไปอยู่ที่อื่นกัน อย่างไรก็ตาม คริสตังของเราที่ได้รับกำลังใจจากพระสงฆ์พื้นเมืองที่ทำงาน ที่นั่น ไม่ยอมทิ้งถิ่นที่อยู่ และที่สุด ก็ประสบความสำเร็จในการทำมาหากินพอสมควร คือ  แทนที่จะปลูกอ้อยกันตามเดิม  กลับหันมาปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชที่ทำให้ดินจืดน้อยกว่าอ้อยมาก”
 
หลังจากเปลี่ยนสวนอ้อยเป็นนาข้าว  คุณพ่ออัมบรอซิโอ ในนามของวัดนักบุญเปโตรได้ติดต่อทางการขอสัมปทานการทำเหล้าในมณฑลนครชัยศรี เป็นผลสำเร็จแล้วคุณพ่อเจ้าวัดจึงสั่งซื้อเครื่องใหญ่ๆ ทันสมัยจากฝรั่งเศสเพื่อกลั่นเหล้า เครื่องกลั่นเหล้านี้ เคยเก็บไว้ที่ใต้ถุนบ้านซิสเตอร์  จนถึงต้นปี ค.ศ. 1941   แต่มิได้ใช้นานแล้ว  เดือนมกราคม ค.ศ. 1941  คุณพ่อเจ้าวัดสั่งให้ไปทิ้งลงในแม่น้ำ 
 
ฆ.  คุณพ่อปิโอ  ต้องกลับไปรักษาตัว  ค.ศ. 1893
แม้ว่าคุณพ่อปิโอ  มีพ่อปลัดที่ขยันขันแข็งช่วยที่นครชัยศรีและท่าจีนก็ตาม  แต่ตามหน้าที่คุณพ่อเป็นผู้รับผิดชอบ จำเป็นต้องเดินทางบ่อยๆ ไปเยี่ยมคุณพ่อปลัดกับสัตบุรุษของตน  ซึ่งการรับผิดชอบทั้ง 3 วัดดังนี้  เกินกำลังสุขภาพของคุณพ่อ คุณพ่อต้องกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส  และอยู่บ้านพ่อแม่ถึง 3 ปี  
 
6.  คุณพ่อจืลส์ กิยู  (GUILLOU)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3  ปี ค.ศ. 1893-1896
 
ก.  ชีวประวัติคุณพ่อกิยู
คุณพ่อจืลส์ กิยู  เกิดวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1862  ที่แอกริเฟีย  แขวงลัวร์  แองเฟรเออร์  สังฆมณฑลนังต์   คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1880   ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 คุณพ่อออกเดินทางมามิสซังสยาม  วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1885
 
ปี ค.ศ. 1885 - 1886 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อปลัดที่วัดกาลหว่าร์   ทั้งเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนอัสสัมชัญ ของคุณพ่อกลอมเบต์
 
ปี ค.ศ. 1887 - 1892   คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบางปลาสร้อย
 
ปี ค.ศ. 1893  คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตร,  วัดนักบุญอันนา  และวัดสองพี่น้อง
 
ข.  คุณพ่อกิยู  เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี, วัดท่าจีน  และวัดสองพี่น้อง  และมีคุณพ่ออัมบรอซิโอ เป็นปลัดผู้ช่วย
 
พ่อทั้งสองสับเปลี่ยนกันไปเยี่ยมคริสตังวัดท่าจีน  ส่วนที่วัดนครชัยศรี  คุณพ่อกิยูเอาใจใส่การอบรมคริสตังและโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชน   ให้คุณพ่ออัมบรอซิโอช่วยแปลคำสอน  แต่ให้เป็นผู้จัดการดูแลนาของวัด  เป็นต้น
 
ค.  รับคุณพ่อเรอเน  แปร์รอส  เป็นปลัดอีกคนหนึ่ง   ปี ค.ศ. 1894-1895
คุณพ่อมีความดีใจมาก   เมื่อได้ทราบว่า  มีมิสชันนารีใหม่องค์หนึ่งเพิ่งมาเมืองไทย   และรับแต่งตั้งให้เป็นปลัดที่นครชัยศรี  เพราะว่าท่านเองจะว่างไปแพร่ธรรมในหมู่คนลาว ซึ่งทหารไทยได้จับเป็นเชลย  และส่งไปตั้งเป็นกลุ่มๆ ในภาคตะวันออกของประเทศไทย  เป็นเสมือนทาสของนายผู้มีอำนาจบางคน
 
เมื่อคุณพ่อแปร์รอสพูดภาษาได้แล้ว  คุณพ่อกิยูก็ส่งไปดูแลวัดท่าจีนเป็นต้น และคุณพ่อแปร์รอสก็ได้เปิดบัญชีวัดนักบุญอันนาเป็นครั้งแรก ค.ศ. 1895   เมื่อเห็นว่า คุณพ่อแปร์รอสเก่งภาษาแล้ว  คุณพ่อจึงมอบให้ดูแลวัดนครชัยศรีคนเดียว ขณะที่คุณพ่อกับคุณพ่ออัมบรอซิโอ  จะไปแพร่ธรรมตามหมู่บ้านคนลาว  ณ  ที่นี้   ขอกล่าวสักเล็กน้อย  ถึงความสัมพันธ์ของคุณพ่อแปร์รอสกับวัดนครชัยศรี
 
คุณพ่อแปร์รอสอยู่ที่วัดนครชัยศรีไม่นาน  เพียงปีกว่าๆ   แต่คุณพ่อเกิดรักคริสตังวัดนครชัยศรีเป็นพิเศษจะไปอยู่วัดไหน  ก็ยังคิดถึงนครชัยศรี คุณพ่อรับเลือกเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซังสยามก็ยังรักวัดนครชัยศรีเป็นที่หนึ่ง  และหลังจากการเบียดเบียนศาสนาสงบลง และมีประกาศของกรมตำรวจอนุญาตให้บาทหลวงฝรั่งเศสไปชนบทได้อย่างเสรีวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ท่านจะไปเยี่ยมวัดไหนก่อน วัดที่ได้รับความเสียหายจากคณะเลือดไทยหรือเปล่าเลย  ท่านไปฉลองวัดนครชัยศรีเป็นวัดแรก
 
ท่านต้องการให้วัดนครชัยศรีเป็นเอก ต้องการให้คุณพ่อเจ้าอาวาสถือวินัยพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด ต้องการรับข่าวความประพฤติของบรรดาคริสตัง  จึงได้ขอให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้ส่งข่าวให้ท่านเป็นประจำ
 
เย็นวันหนึ่ง  คุณพ่อยวง  เคียมสูน กับ คุณพ่อลาร์เก  นั่งอยู่ที่ท่าเรือหน้าวัด  คุณพ่อเคียมสูน เห็นเรือคนจีนขายกาแฟ  กำลังจอดขายกาแฟอยู่ในบริเวณโรงหีบ   จึงร้องว่า  “ลื้อ  ล้ายอา  เซ็งหูอ้ายเจียะกอปี๊”  คนขายคงไม่ได้ยินแน่  แต่ริมแม่น้ำก็มีคนอาบน้ำ  ก็ว่าต่อๆ กันไป  “ล้ายอา  เซ็งหูอ้ายเจียะกอปี๊” ไม่ช้าเรือก็แล่นลงมา ไม่จอดที่ไหน  เพราะทุกคนคงทราบว่าเซ็งหู ฯลฯ  แต่ที่แปลก คืนวันหลัง  ผมเหมาเรือจ้างไปกรุงเทพฯ  เช้าก็ไปคำนับพระสังฆราช แต่ผมโดนทันที  “เมื่อเย็นวานซืน  พ่อกินกาแฟกับพ่อเคียมสูน  เปลืองเงินเสียเปล่าเป็นที่สะดุดแก่พวกคริสตัง”
 
อีกคราวหนึ่งเป็นเวลา 4 ทุ่ม  กำลังซ้อมร้องเพลงประสานเสียง  คืนนั้นเป็นเวรของคนหนุ่มและผู้ใหญ่  ซ้องเสียงเตนอร์และบาสส์  ยังไม่ทันเลิก  มีคุณพ่อโรเชอโรเข้ามา  คุณพ่อเดินทางมาจากเมืองเชียงรายและเมืองพาน  ซึ่งที่นั่นในสมัยนั้นคุณพ่ออดอยาก  ไม่มีเงินใช้ซื้อของจำเป็น  ซื้ออาหาร  กินแต่ข้าวไข่ 1 ฟองเป็นอาหารประจำวัน  เวลาคุณพ่อเข้ามา  เราก็เลิกซ้อมทันที  สนทนากัน  ทำความรู้จักกับชาวนครชัยศรีที่ซักถาม  แล้วนักร้องต่างก็กลับบ้านไป  เหลือแต่เราสองคนพลางสนทนากันเรื่องความเป็นอยู่ของคุณพ่อโรเชอโรที่เมืองพาน  และผลการแพร่ธรรมในจังหวัดเชียงราย  พลางดื่มเบียร์ 1 ขวด วันรุ่งขึ้น เราทั้งสองขึ้นเรือเมล์ถึงสถานีรถไฟที่งิ้วราย แล้วขึ้นรถไฟถึงกรุงเทพฯ  พักรับประทานอาหารเย็นที่สำนักอัสสัมชัญ  ท่านผู้อ่านเชื่อไหม?   พระสังฆราชแปร์รอส รู้แล้ว   เราโดนตามเคย
 
ยังมีเรื่องอีกหลายเรื่องสนุกๆ แสดงว่า ท่านแปร์รอสไม่มีวันลืมคริสตังวัดนครชัยศรี จนมี ผู้รายงานส่งข่าวต่างๆ  นานาให้พระสังฆราชทราบ  แต่บางครั้งก็รายงานจริงดัง  2  เรื่องที่ได้เล่าข้างบนนี้  บางครั้งไม่จริง  ดังที่มิได้เล่า  เกรงว่าจะยืดยาวเกินไป  กลับมาดูดถึงคุณพ่อกิยู เจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีดีกว่า
 
ฆ.  การแพร่ธรรมในหมู่คนลาว  บ้านดอนมดแดง  (อู่ทอง)  ปี ค.ศ. 1894 - 1895 
ในรายงาน  C.R.  1895  พระสังฆราชเวย์  บันทึกไว้ว่า
“คุณพ่อกิยูเป็นผู้ดูแลเขตนครชัยศรีโดยมีพระสงฆ์หนุ่มองค์หนึ่ง และพระสงฆ์พื้นเมืองอีกองค์หนึ่งเป็นผู้ช่วย ท่านเขียนจดหมายถึงเราในเดือนพฤษภาคมว่า  “พระสังฆราชครับ  พวกเราเดินทางกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ขอให้เราไปเยี่ยม  ในไม่ช้าคงจะมีการเก็บเกี่ยวที่ดี ประชากรตามหมู่บ้านเหล่านี้มีถึงราว 6,000 คน   ดูเหมือนว่าหัวหน้าครอบครัวจำนวนมากจะตัดสินใจที่จะเป็นคริสตัง  อย่างไรก็ตาม  ส่วนมายังคงลังเลใจอยู่  จึงไม่อาจให้คำบอกกล่าวที่แน่นอนได้  พวกสตรีสูงอายุมักจะต่อต้านเสียงเรียกของพระเป็นเจ้า   และสาบานว่าจะไม่ยอมละทิ้งภูตผีที่คุ้มครองครอบครัวของตนเป็นอันขาด”
 
ขณะที่คุณพ่อแปร์รอส ดูแลวัดนครชัยศรี คุณพ่อกิยูกับคุณพ่ออัมบรอซิโอออกไป แพร่ธรรมทางเหนือขึ้นไป
 
1)  ที่บ้านดอน    “คุณพ่อกิยูตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ขึ้นอีก 2 กลุ่ม  ในเขตปกครองของท่าน  ที่หมู่บ้าน  บ้านดอน  ขณะนี้มีคนลาว 250 คน  ที่เรียนคำสอนพอที่จะรับศีลล้างบาปได้แล้ว  พระสงฆ์มิสชันนารีอยากจะให้เวลาพิสูจน์พวกเขาอีกประมาณ 2-3 เดือน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะให้คริสตังรุ่นแรก  เป็นผู้ที่รู้จักคำสอนอย่างดีและมีความเชื่อมั่นคง  พอที่จะต่อต้านการโจมตีของคนต่างศาสนาได้  คุณพ่ออัมบรอซิโอ พระสงฆ์พื้นเมืองเป็นผู้ดูแล  ผู้ที่กำลังเรียนคำสอนเหล่านี้  คุณพ่อสร้างเรือนไม้ไผ่ในหมู่บ้านของพวกเขาเพื่อใช้เป็นวัด  และบ้านพักของท่านด้วย   มีเรือนไม้อีกหลังหนึ่งสำหรับครูคำสอนสตรีที่สอนให้พวกผู้หญิงสวดภาวนา และสอนคำสอนแก่พวกเขา  เด็กบางคนสามารถอ่านออกได้แล้ว  ส่วนพวกที่โตหน่อย  ทุกคนร้องเพลงภาวนาได้อย่างแม่นยำ  ขณะที่เลี้ยงควาย  เพื่ออวดแก่เพื่อนคนต่างศาสนาว่า  พวกตนเรียนรู้มากกว่าพวกเขา”
 
2)  ที่บ้านมดแดง   เรื่องของขุนบำรุง  ปี ค.ศ. 1895
“ริมแม่น้ำที่ห่างจากเมืองสุพรรณบุรีไปทางเหนือ 2 ชั่วโมง ที่บ้านมดแดง คุณพ่อ  กิยูได้ตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ขึ้นแล้ว  มีผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่ 154 คน”
 
“มีสิ่งที่ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้   เมื่อคุณพ่อกิยูมาถึงที่บ้านมดแดงใหม่ๆ  คือ ท่านได้สังเกตเห็นขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อขุนบำรุง ที่มีบ้านอยู่ไม่ไกลจากที่ท่านอยู่  ขุนบำรุงดูเหมือนจะให้ความสนใจอย่างมากแก่สิ่งที่บาทหลวง  (ผู้มีความรู้  หมายถึง  มิสชันนารี) เสมอแก่เขาขณะที่จัดตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในบริเวณนี้  ขุนบำรุงมาหาคุณพ่อ  แต่เก็บตัว และไม่ค่อยยอมพูดเรื่องพระศาสนา  อย่างไรก็ตาม  เขาสะดุดใจอย่างมากในคำพูดเพียงไม่กี่คำที่ได้ยินจากปากของมิสชันนารี  มีคริสตังเก่าคนหนึ่งที่ตั้งบ้านอยู่ในบริเวณนี้  ก่อนการมาของบาทหลวง  ก่อนหน้านี้  คนต่างศาสนาในบริเวณดังกล่าวแทบจะไม่ได้สนใจต่อคริสตังผู้นี้เลย  แต่เมื่อพระสงฆ์มาอยู่ที่นั่น  ทุกคนไปหาเขาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาคริสตัง
 
ขุนบำรุงก็เป็นคนหนึ่งในพวกเขาที่ไปหาคริสตังคนนี้บ่อยๆ ที่บ้าน  และมีแต่พูดเรื่องศาสนาเท่านั้นไม่นาน  ขุนบำรุงก็เข้าใจว่า มนุษย์เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง  ที่มนุษย์จะต้องให้ความเคารพบูชาและเชื่อฟัง 15 วันต่อมา ขุนบำรุงล้มป่วยลง ภรรยาและลูกของเขารีบไปตามหมอมารักษา  เมื่อหมอมาถึงก็เริ่มขอข้าวที่สะอาดๆ  ตามเคยทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อเสกข้าว แล้วก็หยิบข้าวมาหน่อยหนึ่ง และโปรยไปในห้องพร้อมกับเป่าลมเพื่อขับไล่ภูตผีร้าย ที่ทำให้คนไม่สบาย  ขุนบำรุงแจ้งให้หมอเลิกพิธีการทางไสยศาสตร์  เขาลุกขึ้นนั่งและพูดด้วยเสียงดังแม้จะสั่นบ้างว่า   “ผมรู้จักพระผู้เป็นเจ้า  พระผู้สร้าง นับเป็นพระคุณที่ยิ่งใหญ่ที่ผมเรียนรู้สิ่งนี้  พวกหมอจะรักษาผม  ก็โปรดให้ยาผมมา  แต่ผมขอให้หมอเลิกแสดงกลเหล่านี้ที่มีไว้สำหรับผู้ที่บูชาศัตรูของมนุษย์เถิด”
 
ภรรยาและลูกๆ  ของขุนบำรุงประหลาดใจมาก  พวกเขาร้องขึ้นว่า  “อะไรกัน  “บาทหลวง”  มาอยู่ที่นี่ได้เพียงไม่กี่วัน  ท่านก็ยอมรับคำสอนของเขาแล้วหรือ?” คนเจ็บตอบว่า  “ใช่แล้ว  ผมเชื่อคำสอน  เพราะที่นั้นคือหนทางสวรรค์ และผมจะเดินตามทางสายนี้  พวกเธอก็เหมือนกัน จงเดินตามทางสายนี้  ช่วยไปบอก บาทหลวงให้มาหาผม  ผมอยากรับศีลล้างบาป  เพราะผมรู้สึกว่าชีวิตของผมในโลกนี้จบสิ้นลงแล้ว”
 
ไม่นาน  คุณพ่อกิยูก็มาอยู่ข้างเขา  คนเจ็บรับศีลล้างบาปด้วยความเชื่อ และความไว้ใจอย่างน่าสรรเสริญ  ขณะที่เขาเข้าตรีทูต  มีภิกษุกลุ่มหนึ่งห้อมล้อมเขาการกระทำ และคำพูดสุดท้ายของเขา  คือการไล่ภิกษุเหล่านั้นออกไปจากบ้านของเขา  ขอให้การสิ้นชีวิตที่ดีนี้ช่วยนำพระพรของสวรรค์มาสู่ครอบครัวของผู้ตามด้วยเถิด
 
ง.  คุณพ่อกิยูใช้พ่ออัมบรอซิโอแก้ว  ดูแลคริสตังกลุ่มสองพี่น้อง
กลุ่มสองพี่น้อง  ประกอบด้วย  ครอบครัวญวน  ที่ได้อพยพจากวัดเซนต์ฟรัง
ซิสเซเวียร์ ไปตั้งกลุ่มทำมาหากินอยู่ริมคลองที่แยกจากแม่น้ำนครชัยศรีไปทางตะวันตกเดิม  คุณพ่อยิบารตา จากสามเสนไปเยี่ยมคริสตังเหล่านั้นเป็นครั้งคราว ในภายหลังก็เคยมีพระสงฆ์พื้นเมืองจากสามเสนไปเช่นกัน  แต่ห่างๆ มาก  ในที่สุด คริสตังกลุ่มสองพี่น้องขึ้นวัดนครชัยศรี
 
คุณพ่อกิยู จึงมอบคริสตังสองพี่น้องให้อยู่ใต้การดูแลปกครองของคุณพ่ออัมบรอซิโอ เป็นต้น และให้คุณพ่อสร้างวัดที่นั่นด้วย และดังนั้นคุณพ่ออัมบรอซิโอ  ต้องเดินทางไปมาระหว่างนครชัยศรี  สองพี่น้อง  และวัดดอน
 
โดยเฉพาะที่สองพี่น้อง  ท่านได้สร้างวัดไม้  บ้านพักพระสงฆ์  และเคยไปค้างอยู่สองพี่น้องบ่อยๆ
 
 
จ.  คุณพ่อหลุยส์  เล็ตแชร์   เป็นปลัดของคุณพ่อกิยู  ปี ค.ศ. 1896 - 1897
ต้นปี ค.ศ. 1896  คุณพ่อหลุยส์  เล็ตแชร์   ซึ่งคริสตังเรียกว่า  “คุณพ่ออามาโต”  เป็นมิสชันนารีใหม่ๆ รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดผู้ช่วยที่วัดนครชัยศรี คุณพ่อกิยูให้ไปแพร่ธรรม เคลื่อนที่  อยู่นครชัยศรีบ้าง  ช่วยพ่อเจ้าวัด  ไปวัดบ้านดอนบ้าง แพร่ธรรมแก่หมู่คนลาว  ไปบ้านมดแดงบ้าง  ไปเยี่ยมคุณพ่ออัมบรอซิโอที่สองพี่น้องบ้าง  ช่วยกันแพร่ธรรมตั้งแต่สุพรรณบุรีถึง  อู่ทอง ดังนี้  ถึงปี ค.ศ. 1898  คุณพ่ออามาโต จึงย้ายไป
 
ฉ.  คุณพ่อกิยู   ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่หัวไผ่  ปี ค.ศ. 1896
กลางปี ค.ศ. 1896  คุณพ่อปิโอกลับมาจากฝรั่งเศส  และรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีอีกครั้งหนึ่ง  ส่วนคุณพ่อกิยู  รับคำสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่หัวไผ่  พนัส  และบางปลาสร้อย   ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896-1906
ปี ค.ศ. 1907   ไปรักษาตัว  พักผ่อนบนภูเขา  นิลริรีส  ในอินเดีย
ปี ค.ศ. 1909-1914   เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่
ปี ค.ศ. 1914-1937   เป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์
คุณพ่อกิยู  สิ้นใจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  เป็นมะเร็งที่ตับ  วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1937
 
7.  คุณพ่อเอเตียน ปิโอ  (สมัยที่สอง)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4   ปี ค.ศ. 1896-1899
เมื่อคุณพ่อปิโอกลับมาจากการไปรักษาตัวในประเทศฝรั่งเศส คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีอีกครั้ง, เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าจีนและวัดสองพี่น้อง  นอกนั้น  ยังต้องดูแลคริสตังใหม่วัดบ้านดอนและมดแดง
 
ปี ค.ศ. 1897   คุณพ่อแปร์รอส  ย้ายไปและมีคุณพ่อท็อกแกล่ร์  มิสชันนารีใหม่  มาเป็นพ่อปลัดผู้ช่วย
 
คุณพ่ออัมบรอซิโอ  ก็ยังอยู่ ไปๆ มาๆ  ระหว่างนครชัยศรี  สองพี่น้อง และบ้านดอนมดแดง  สลับกันกับคุณพ่อฟรังซัวส์  พระสงฆ์พื้นเมือง  ซึ่งรับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง  และอยู่ถึง ปี ค.ศ. 1900
 
ส่วนคุณพ่อเล็ตแชร์  ก็ยังยู่ถึงสิ้นปี ค.ศ. 1897  จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ปี ค.ศ. 1898-1900
 
ปี ค.ศ. 1897  คุณพ่ออัมบรอซิโอ  หายชื่อไปแล้ว  สงสัยว่า  สิ้นชีวิตไปแล้ว
 
ปี ค.ศ. 1898   คุณพ่อปิโอ เอง  ไปแพร่ธรรมที่บ้านมดแดง  และโปรดศีลล้างบาปคริสตังใหม่  วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1898 คุณพ่อโปรดศีลล้างบาป 6 คน และได้จดลงในบัญชีวัดนครชัยศรี
 
เมื่อปี ค.ศ. 1899   คุณพ่อปิโอ
ก)  ยังต้องดูแล วัดนครชัยศรี,  วัดท่าจีน,  วัดสองพี่น้อง,  วัดมดแดง, วัดบ้านดอน
เมื่อปี ค.ศ. 1898 คุณพ่อฟรังซัวส์รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสประจำอยู่วัดสองพี่น้อง  รับผิดชอบวัดบ้านดอน และบ้านมดแดงด้วย  แต่นั้นมา คุณพ่อปิโอ เหลือแต่วัดนครชัยศรีและวัดท่าจีน
 
ข) มีพ่อปลัดผู้ช่วย
คุณพ่อฟรังซัวส์  ปี ค.ศ. 1897-1898
คุณพ่อท็อกแกล่ร์  ปี ค.ศ. 1897-1899
คุณพ่อปิโอ เกิดหมดกำลังอีกครั้ง ก็ต้องกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส แต่รักษาไม่หาย ไปพักผ่อนชั่วระยะหนึ่งที่บ้านพักมงต์เบอตง  แล้วไปบ้านพ่อที่ ลาบุแอร์  และสิ้นใจวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1900   คุณพ่อท็อกแกล่ร์  จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน
 
8.  คุณพ่อเทโอฟิล  ท็อกแกล่ร์  (THOCFLER)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 5  ปี ค.ศ. 1899-1900
 
ก. ชีวประวัติ
“คุณพ่อเทโอฟิล  ท็อกแกล่ร์ เกิดวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1872  ที่ แซร์เนย์  หรือ  แซนไฮม์  (โฮ๊ตอัล  ซาส)  คุณพ่อเรียนชั้นมัธยมที่บ้านเณรเล็ก  เมืองซิลลิสไฮม์  และที่โรงเรียนของคณะเบเนดิกตินเมืองซารเนน (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ท่านเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1891 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1895  และออกเดินทางไปมิสซังกรุงสยามในวันที่ 31 กรกฎาคม การเดินทางยุ่งยากลำบากพอสมควรสำหรับมิสชันนารีหนุ่มของเรา  เพราะว่าพอมาถึง  ท่านก็ล้มป่วยลง  เวลานั้นยังไม่มีโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  พระสังฆราชเวย์  ส่งคุณพ่อท็อกแกล่ร์ไปอยู่กับคุณพ่อซาลมอง  ซึ่งดูแลปกครองวัดบางช้าง  โดยมั่นใจว่าท่านจะสามารถช่วยรักษาคุณพ่อผู้ป่วยนี้ได้ก่อนอะไรอื่นหมด ในสมัยนั้น  บางช้างยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรียนภาษาจีน และภาษาไทย”
 
ข.  ที่นครชัยศรี
“ในขณะที่พักรักษาตัวอยู่นั้น คุณพ่อท็อกแกล่ร์  ก็เริ่มเรียนรู้หลักภาษาจีน คุณพ่อ ได้เรียนรู้ดีขึ้นพอสมควร  จนเมื่อพระสังฆราชเวย์  ซึ่งต้องการมิสชันนารีองค์หนึ่งไปช่วยที่นครชัยศรี  จึงไปส่งท่านไปแพร่ธรรมในเขตวัดนี้
 
หลังจากเป็นพ่อปลัดอยู่ 2 ปี  (ปี ค.ศ. 1897-1899)  คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส  สุขภาพของท่านดีขึ้นมากที่นครชัยศรี  พวกชาวจีนทั้งหมดยังมีจำนวนไม่มากนัก  กลุ่มคริสตังส่วนมากเป็นเชื่อสายชาวจีน  ซึ่งส่วนมากลืมภาษาของผู้ให้กำเนิดจึงพูดได้เพียงแต่ภาษาไทย  คุณพ่อจึงต้องพยายามเรียนด้วยตนเอง  ท่านมุ่งเรียนภาษาจีนนี้ด้วยความเลื่อมใส  และร้อนรนจนเป็นนิสัย”
 
1) คุณพ่อต้องรับผิดชอบ  วัดสองวัด  คือ วัดนครชัยศรีและวัดท่าจีน
2) คุณพ่อปลัดผู้ช่วย  คือ  คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์  ปี ค.ศ. 1899
 
ค.  ไม่สบาย  ย้ายไปบางช้างก่อน ปี ค.ศ. 1900
ในช่วงเวลาหลายปี  มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้ทุ่มเทช่วยพวกคริสตังให้เอาตัวรอด  โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย  แต่วัดนี้  ซึ่งมีวัดสาขาหลายแห่งที่อยู่ห่างไกลกันมาก   ทำให้คุณพ่อต้องยุ่งยากลำบากเกินความสามารถ  สุขภาพของท่าน  จึงอ่อนโหยโรยแรงลงมาก  และแล้วท่านก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ตรวจเช็ค
 
คุณพ่อรู้สึกยินดีอย่างจริงใจที่ได้ถูกส่งไปอยู่ที่บางช้างอีก คุณพ่อซาลมองจึงได้ทำการรักษาพยาบาลท่านอีกตามความต้องการของสุขภาพ  เมื่อคุณพ่อท็อกแกล่ร์สุขภาพดี แล้วจึงได้ทำงานในสวนองุ่นของพระเป็นเจ้าอีก  คือ  ที่แม่กลอง  แล้วที่บ้านเณรบางช้าง
 
ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1907   คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1907   คืนวิญญาณแด่พระเป็นเจ้า หลังพิธีปลงศพ ที่วัดกาลหว่าร์  ท่านถูกฝังไว้ในวัดตรงเชิงพระแท่นเล็ก
 
 
9.  คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์  (สมัยแรก)  EUGENE  LOETSCHER
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 6 (ปี ค.ศ. 1900-1903)
 
ปี ค.ศ. 1900  คุณพ่อเออ  เล็ตแชร์  รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อท็อกแกล่ร์
 
ก.  การอภิบาลสัตบุรุษ
1)  รับผิดชอบวัดสองวัด  เหมือนคุณพ่อท็อกแกล่ร์
2)  มีพ่อปลัดผู้ช่วย  คือ  แกรมฟ์  ตั้งแต่มกราคม ค.ศ. 1901
ปี ค.ศ. 1903 พระสังฆราชเวย์ ไปโปรดศีลกำลัง  ใน  C.R.1903  พระสังฆราชบันทึกว่า  “บัดนี้ให้เราพิจารณาถึงคริสตชนกลุ่มอื่นๆ  ที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน  จำนวนสัตบุรุษที่นี่มีน้อยกว่าที่ลุ่มน้ำราชบุรีเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ท่าจีนไปจนถึงจังหวัดสุพรรณบุรีทางเหนือ  ชื่อคริสตังเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป  จำนวนคริสตังใหม่ทั้งหมดในลุ่มแม่น้ำนี้มีจำนวน 3,500 คน  ปีนี้ก็เช่นกัน  มีการโปรดศีลกำลังที่นครชัยศรี และที่สองพี่น้องรวมกัน 190 คน”
 
ข.  ซื้อระฆัง 3 ใบ
คุณพ่อเล็ตแชร์ถือว่าเมื่อมีโบสถ์ก็ต้องมีระฆังไว้บอกสัญญาณให้สัตบุรุษทราบถึงเวลาประกอบพิธีศาสนา และยังเป็นสัญญาณเตือนสัตบุรุษในละแวกบ้าน ให้ยกจิตใจคิดถึงพระเจ้า  เมื่อแว่วเสียงระฆัง
 
คุณพ่อและสัตบุรุษจึงได้ร่วมกำลังกันซื้อระฆังถวาย 3 ใบ  ลูกใหญ่โน้ต DO  มีเสียงดัง  กว้าง 75 ซ.ม.  สูง 60 ซ.ม. สลักรูปนักบุญกาทารีนา - แม่พระนฤมลทัน  นักบุญเปโตร  และรูปกางเขน  ให้ชื่อระฆังลูกนี้ว่า  กาทารีนา  นายเปาโลไพร้และครูโรซากิม  เป็นผู้ถวาย
 
ลูกกลาง  โน้ต  MI  มีเสียงดี  กว้าง 60 ซ.ม.  สูง 50 ซ.ม.  สลักรูปนักบุญอันเดร  เครื่องหมายความเชื่อ  ความไว้ใจ  ความรักและรูปกางเขน  ลูกนี้ชื่อว่า อันเดร  นายยาโกเบเสียวเล้ง และนางอากาทาผ่อง  เป็นผู้ถวาย
 
ระฆังลูกเล็กมีเสียง SOL  กว้าง 50 ซ.ม.  สูง 40 ซ.ม.  สลักรูปแม่พระเมืองลูร์ด  นักบุญยอแซฟ และนักบุญอักแนส  ระฆังลูกนี้มีชื่อว่า สเตฟาโน  ครูยอแซฟแช  และนางลูซีอาทองอยู่  เป็นผู้ถวาย   ระฆังทั้งสามนี้นอกจากมีชื่อผู้ถวายแล้วยังมีชื่อของวัด   ชื่อคุณพ่อเออเยน  คุณพ่อแกรมฟ์  จารึกอยู่ด้วย ระฆังทั้งสามลูกนี้คิดเป็นเงิน  1,604  บาท
 
ค.  ย้ายไปวัดปากคลองท่าลาด   เดือนกันยายน ค.ศ. 1903
ปี ค.ศ. 1903  คุณพ่อยือกลาร์  เจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาด ย้ายไปอยู่วัดท่าเกวียน คุณพ่อเออเยนจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาดนี้  ส่วนวัดนครชัยศรีนั้น  คุณพ่อแกรมฟ์ได้รักษาการแทน 2 เดือนกว่าๆ  จนกว่าพระสังฆราชจะได้จัดตั้งคุณพ่อเจ้าอาวาสใหม่  คือ  คุณพ่อแฟร์เลย์
 
 
10.  คุณพ่อแฟร์เลย์  (FERLAY)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ปี ค.ศ. 1903-1909
 
ก.  ชีวประวัติ
คุณพ่อแฟร์เลย์  เกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874  ที่ลารายาส์ (โรน)  คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  วันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1894 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่  27 มิถุนายน ค.ศ. 1897  และออกเดินทางมามิสซังสยามวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1897
 
เมื่อเรียนภาษาไทยพอสมควรแล้ว ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรบางช้าง จนถึงปีค.ศ.1903 จึงรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตร  นครชัยศรี
 
ข. การอภิบาลสัตบุรุษ
1)  ตอนแรกต้องดูแลสัตบุรุษ แต่เมื่อปี ค.ศ. 1904 ได้มีพิธีเปิดเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ ถึงท่าจีน  พระสังฆราชเวย์จึงสั่งให้วัดท่าจีนเป็นสาขาของวัดกาลหว่าร์   เจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีก็ดูแล
 
ค.  ต้องย้ายไป  ปี ค.ศ. 1909
แต่ย้ายไปทำอะไร วัดไหน? ก็ไม่ปรากฏตามหลักฐานของคณะมิสซังต่างประเทศ  อาจจะรู้ได้ในภายหลังจากหลักฐานของวัดต่างๆ  เข้าใจว่า  คงกลับไปเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรอีกครั้ง  แต่ยังไม่มีหลักฐาน ปี ค.ศ. 1914-1919  ต้องกลับไปฝรั่งเศส  (สงครามโลก)
 
ปี ค.ศ. 1920 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการ  “โรงเรียนฝึกหัดครูคริสตังเซนต์ทาร์ซีซิอุส”  ซึ่งมีศูนย์ที่วัดเซนต์ปอลแปดริ้ว และผลิตครูใหญ่ผู้จัดการโรงเรียนประชาบาลหรือโรงเรียน ราษฎร์ของวัดคริสตัง  ที่ไม่มีพ่อเจ้าวัดอยู่ประจำ  เป็นต้น ก่อนสงครามอินโดจีน ค.ศ. 1940 โรงเรียนฝึกหัดครูนี้ต้องเลิกไปคุณพ่อแฟร์เลย์ ไปอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ  และรับเป็นจิตตาธิการของซิสเตอร์คณะอุร์สุลินบ้าง คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร์บ้าง คุณพ่อมรณะวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1951
 
11.  คุณพ่อเออเยน นิโลาส แกรมฟ์  (KREMPE)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 8  ปี ค.ศ. 1909-1912
 
เมื่อคุณพ่อแฟร์เลย์ ย้ายไปแล้ว  คุณพ่อแกรมฟ์ ผู้เป็นปลัด  รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีสืบต่อไป
 
ก.  ชีวประวัติ
“คุณพ่อเออเยน นิโกลาส แกรมฟ์  เกิดวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1866  ที่วัดนักบุญวินเซนต์  เดอ  ปอล  ในกรุงปารีส  (แขวง แซน) ท่านเข้าทำงานยู่ในร้านขายของชำแห่งหนึ่งก่อน แล้วจึงเข้าเกณฑ์ทหาร  ท่านเริ่มเรียนชั้นมัธยมเพียงเมื่อมีอายุได้ 24 ปี  เรียนจบภายใน 3 ปี  ที่ชังเตอปี (แขวง อิลเลวิแลน) และเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1893 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1998 และได้รับมอบหมายให้ไปแพร่ธรรมในมิสซังกรุงสยาม  ออกเดินทางไปมิสซังในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1998
 
ชั้นแรก ท่านเป็นอาจารย์สอนเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ แล้วก็ได้รับแต่งตั้ง เป็นปลัดวัดนักบุญยอแซฟ  อยุธยา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988-1900 ต่อมาในปี ค.ศ. 1901-1909  เป็นปลัดวัดนครชัยศรี ซึ่งมีคริสตังอยู่ 1,200 คน  และในปี ค.ศ. 1900-1912   เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี   
 
วัดนครชัยศรี  คุณพ่อดือปองด์  เป็นผู้จัดสร้าง (วัดแรก) ก่อนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราช   แล้วคุณพ่ออังเดร  เยง   (ANDRE  JENG)  พระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่ง  ปกครองดูแลอยู่เป็นเวลาหลายปี  จัดสร้างวัดใหม่เป็นอิฐ  เวลานั้น วัดนครชัยศรี เป็นวัดหนึ่งในบรรดาวัดที่รุ่งเรืองที่สุดของมิสซัง  โดยมีคริสตัง 1,200 คน  ซึ่งส่วนมากอยู่รอบๆ  วัดคริสตังกลุ่มนี้ต้องปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับเคร่งครัด  ภายใต้การปกครองของคุณพ่ออันเดร บรรดาผู้สืบตำแหน่งต่อจากคุณพ่อ  ได้ผ่อนผันลงทีละน้อยละน้อย  แต่บรรดาคริสตังยังคงรักษาประเพณี อันดีงามเกี่ยวกับความซื่อๆ ง่ายๆ การมีจิตตารมณ์คริสตังดี และความนอบน้อมเชื่อฟัง” 
 
ข.  การอภิบาลสัตบุรุษ
ในรายงาน  C.R. 1910   พระสังฆราชแปร์รอส  บันทึกอย่างย่อๆ ว่า
“ทางตะวันตก  ที่นครชัยศรี คุณพ่อแกรมฟ์  เป็นผู้ดูแลกลุ่มคริสตชนที่ใหญ่นี้  นอกจาก นั้น  คุณพ่อยังหาเวลา  และหาปัจจัยในการปรับปรุง  และขยายวัดเก่าที่แคบ  ให้กว้างใหญ่ขึ้น”
 
“มิสชันนารีใหม่  อดีตทหารเกณฑ์นี้  มีความชื่นชมยินดีที่สังเกตเห็นพวกคริสตังของท่านมีนิสัยเป็นคนมีระเบียบวินัย   ท่านจึงทุ่มเทในการอภิบาลพวกเขา  ถึงแม้ว่าจะต้องฟันฝ่าความยุ่งยากพิเศษต่างๆ  เพื่อเรียนรู้ภาษาท่านก็ไม่ย่อท้อและพยายามเรียนสม่ำเสมอโดยหาโอกาสที่ว่างทั้งหมดมาเรียนอ่าน  เขียนให้แก้คำผิด  และท่องบทต่างๆ  จนขึ้นใจ  เพื่อใช้เทศน์ให้พวกคริสตังในวันอาทิตย์”
 
คุณพ่อมีพ่อปลัดผู้ช่วยคือ
1. คุณพ่อแปร์รัว   ปี ค.ศ. 1910  ย้ายไปอยู่ปราจีนบุรี  กับคุณพ่อรองแดล์
2. คุณพ่อยอแซฟ  ปี ค.ศ. 1910
3.คุณพ่อทิมอเทว  เดือนมีนาคม ค.ศ. 1911 เป็นต้นไป
1)  เอาใจใส่การสอนคำสอนพวกเด็กๆ
 
“งานที่คุณพ่อแกรมฟ์  เน้นเป็นพิเศษ คือ การสอนคำสอนพวกเด็กๆ  คุณพ่อเชื่อมั่นว่า  ความเชื่อของพวกคริสตัง  และความซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้าโดยทั่วๆ ไป ขึ้นอยู่กับความรู้ทางศาสนา  คุณพ่อจึงมุ่งเสมอๆ  ที่จะให้ความรู้ทางศาสนาอย่างมากมาย จนกว่าเวลานั้น  จึงมีการมุ่งเน้นให้เด็กๆ มาเรียน  และฟังอธิบายคำสอน   จนถึงเวลารับศีลมหาสนิทอย่างสง่า  เป็นอันว่า จบการเรียนคำสอนคุณพ่อแกรมฟ์เห็นว่า  ควรจะให้เรียนมากกว่านี้  ท่านจึงแบ่งพวกนักเรียนออกเป็นชั้นๆ นี่เอง   คุณพ่อจึงสามารถทำให้นักเรียนทั้งหลายบรรลุเป้าหมายตามปรารถนา  คือ  การรับศีลมหาสนิทอย่างสง่า แล้วในฐานะทหารใหม่ของพระคริสต์ที่เพิ่งเรียน จบอาจลืมบทเรียนที่ได้เรียนมา  คุณพ่อจึงมุ่งมั่นให้เด็กๆ  พวกนี้  มาฟังคำสอนต่ออย่างสม่ำเสมอทุกวันอาทิตย์ นอกจากร้อนรนต่อการสอนคำสอนให้พวกคริสตังแล้ว  คุณพ่อที่รักของเราผู้นี้  ยังได้มุ่งค้นหาข้อบกพร่องทั้งหมดที่เพาะขึ้นมาในพวกเรา  และดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัด”
 
2) ขยายตัวโบสถ์ ให้ใหญ่  ยาวกว่า  และปรับปรุง
“ตั้งแต่สมัยคุณพ่ออังเดร ได้สร้างวัดเป็นอิฐ  เหมาะสมมากสำหรับสมัยนั้น คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880-1886  จำนวนคริสตังก็เพิ่มทวีขึ้นเป็นสองเท่าตัว  วัดยังแข็งแรงอยู่  แต่ใหญ่ไม่พอที่จะจุพวกคริสตัง  ในปี ค.ศ. 1910-1911 คุณพ่อแกรมฟ์ ได้ขยับขยายให้กว้างออกไป  และปรับปรุงให้วัดสวยงามขึ้น โดยต้องทั้งเหน็ดเหนื่อยและลำบากใจเท่าใด พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบดีเรารู้ได้จากประโยคที่คุณพ่อเขียนรายงานให้พระสังฆราชของท่าน ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่ง   คุณพ่อแสดงความชื่นชมยินดีที่ได้บรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งตั้งความหวังไว้  คือ  การขยับขยายให้กว้างใหญ่ขึ้น ท่านเขียนว่า  “แต่ กระผมไม่สามารถทำงานอย่างที่ได้ทำในปี ค.ศ. 1910  นั้นอีกแล้ว”  ท่านสั่งซื้อหีบเพลงมาใช้ในวัดอีกด้วย
 
3) ความศรัทธาของท่าน
ในช่วงปีหลังๆ นั้น คุณพ่อแกรมฟ์รับผิดชอบดูแล  ปกครองวัดนครชัยศรี   โดยมีผู้ช่วยเป็นพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่ง คุณพ่อแกรมฟ์จึงหันมาหาความสุขใจ  ใกล้พระเยซูในศีลมหาสนิท แม้ในเวลากลางวัน  คุณพ่อต้องเหน็ดเหนื่อยต่องานอภิบาล  ในเวลากลางคืน  ท่านยังได้สวดภาวนาอยู่ในห้องหลังวัด  และพระเป็นเจ้าเท่านั้น ที่ทรงทราบว่าท่านใช้เวลายาวนานเท่าใด ในการรำพึงภาวนาอยู่เชิงพระแท่น
 
นี่แหละ คือ คุณพ่อแกรมฟ์  ผู้ซึ่งมีใจเบิกบาน  ชอบแก้ข้อบกพร่อง แต่มีใจกว้าง ใจดี  ใจเมตตากรุณาศรัทธาและร้อนรน เพื่อนคนหนึ่งของคุณพ่อเขียนบอกเราว่าคุณพ่อได้เอาคำพูดของผู้ศรัทธาคนหนึ่งมาปฏิบัติเหมือนเป็นคำพูดของตนเองว่ากระผมปรารถนาที่จะใช้เวลาบนสวรรค์ทำคุณความงาม ความดีบนโลกนี้  (คำพูดของซิสเตอร์เทเรซา  แห่งพระกุมารเยซู  ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจะประกาศเป็นนักบุญ  ในปี ค.ศ. 1925)
 
4)  ความทรมานของท่าน
เราขอนำข้อคิดของคุณพ่อแกรมฟ์ มาบอกให้ทราบว่า นอกจากความสุขใจในการถวายบูชามิสซาแล้วท่านไม่มีความสุขใจอื่นใดในมิสซา  นี่หมายความว่า  คุณพ่อเป็นทุกข์ทรมานมากในทุกๆ ด้าน ความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ  คือ  ความยากลำบากต่างๆ  ที่ประสบในการเรียนภาษา  ทำให้ท่านทุกข์ใจมากตอนแรกๆ  แต่คุณพ่อซึ่งใฝ่ฝันเพียงเพื่อทำงานช่วยวิญญาณมนุษย์ให้รอด ในที่สุด  ก็ถามตนเองว่า ท่านจะทำประโยชน์ได้บ้างในประเทศนี้หรือ?  ความทุกข์ทรมานทางกาย หลังจากคุณพ่อมาอยู่ในมิสซังสยามได้สองปี  โรคภัยไข้เจ็บทำให้คุณพ่อต้องกลับไปรักษาตัวในยุโรป  คุณพ่อกลับมาโดยยังไม่หายดี  ท่านเป็นโรคนิ่ว  ความทุกข์ทรมานยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น  และต้องทรมานบ่อยขึ้น  จนต้องให้ทำการผ่าตัด  และให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สุดของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นผู้ผ่าตัด  โดยมีแพทย์ผู้ช่วยสองคน การผ่าตัด  ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก่อนทำการผ่าตัดนั้น  ท่านต้องทนทุกข์ทรมานสักเท่าใด
 
5) คุณพ่อเป็นอหิวาตกโรค  วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1912  
ตั้งแต่นั้นมา สุขภาพของท่านก็กลับสู่สภาพดี  จึงทำให้คุณพ่อสามารถดูแลปกครองวัดของท่านต่อไป พร้อมทั้งยังดำเนินงานปรับปรุงวัดด้วย ซึ่งให้ความหวังว่า  คุณพ่อจะสามารถทำงานช่วยวิญญาณทั้งหลายให้รอดได้อีกเป็นเวลานาน  แต่อยู่มาวันหนึ่ง  คือ วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1912  อหิวาตกโรค  ได้มาทำให้คุณพ่อต้องพรากจากเราไป  ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
 
ตั้งแต่คุณพ่อเริ่มเป็นโรคอหิวาต์  คือ  ในตอนเช้าของวันที่ 19  คุณพ่อทิโทเธ ปลัดของคุณพ่อ ในขณะที่กำลังเยียวยารักษาคุณพ่อด้วยยาต่างๆ  เท่าที่มีอยู่  ก็ได้ส่งคนไปบอกข่าว  ซึ่งไปถึงกรุงเทพฯ  เอาตอนเย็นแล้ว  คุณพ่อการ์ตอง  เหรัญญิกของมิสซัง  ได้ออกเดินทางไป หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย  อนิจจา!  ทุกอย่างไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว  ขณะที่คุณพ่อการ์ตองกำลังเดินทางไปอยู่นั้น  ก็ได้พบผู้ส่งข่าวคนใหม่อีกคนหนึ่งมาบอกว่า   คุณพ่อแกรมฟ์ได้ถวายวิญญาณคืนให้พระเป็นเจ้าไปเมื่อตอนเย็นวันที่เริ่มป่วยนั้นเอง
 
ค. วาระสุดท้าย
เมื่อคุณพ่อรู้ตัวว่าป่วยหนัก จึงขอบาปครั้งสุดท้าย และรับศีลเจิมคนป่วย แต่การป่วยหนักทำให้คุณพ่อไม่สามารถรับศีลเสบียงได้  และแล้วเมื่อเห็นว่ายาต่างๆ ไม่สามารถรักษาโรคร้ายนี้ได้  คุณพ่อจึงขอให้นำกระดาษและดินสอมาให้  และท่านได้เขียนคำอำลาสองสามคำ  ถึงพระสังฆราช และบรรดาเพื่อนพระสงฆ์ของท่านว่า ขอให้อภัยความผิด และช่วยสวดภาวนาให้ท่านด้วย เมื่อเขียนเสร็จแล้ว คุณพ่อก็ขอให้พาไปนั่งที่เก้าอี้ตัวหนึ่ง  บนระเบียงฝั่งวัด และ ณ ที่นั้น  คุณพ่อได้ให้ข้อแนะนำครั้งสุดท้าย ต่อบรรดาสัตบุรุษที่วิ่งร้องห่มร้องไห้มาเป็นจำนวนมาก  เมื่อพวกเขารู้ข่าวว่าคุณพ่อป่วย  คุณพ่อนัดพบกับพวกเขาบนสวรรค์  ส่วนพวกคริสตังก็สวดภาวนาให้ท่าน  คุณพ่อยังเสนอวิงวอนนักบุญยอแซฟ  ซึ่งท่านรักมาก และเพิ่งฉลองระลึกนามไปนั้น  คุณพ่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และใจเมตตา  เชื่อมั่นว่า  ความตายกำลังใกล้เข้ามา  จึงหันหน้าไปทางตู้ศีลมหาสนิท  ความตายทำให้คุณพ่อกลับไปอยู่กับพระผู้ท่านได้รับเป็นอย่างดียิ่ง  เวลานั้นเป็นเวลา 19.30 น. ผู้ที่ตายในศีลในพรของพระเป็นเจ้านั้น เป็นสุข ผลบุญที่เขาทำไว้ ได้ตอบสนองเขาแล้ว  
 
12.  คุณพ่อมอริส การ์ต็อง  (CARTON)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 9   ปี ค.ศ. 1912-1913
 
คุณพ่อมอริส  การ์ต็อง เกิดวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1875  ที่ แซงแยร์แมงลาปอตรี   เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1894   รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1899  และออกเดินทางไปมิสซังสยาม วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1899
 
ปี ค.ศ. 1901   เป็นปลัดที่วัดแม่พระนิรมล  จันทบุรี  และช่วยคุณพ่อเปริกัล  เจ้าอาวาส ในการสร้างวัดใหม่  คือ  วัดปัจจุบัน
 
ปี ค.ศ. 1910   รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแป้ง  และวัดปากน้ำโพ
 
ปี ค.ศ. 1912   รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซัง  และรับมอบหมายให้เปิดโรงเรียนฝึกหัดครู  แซงต์ ตาร์ซีซิอุส  ผลิตครูที่รับไปแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ  ใต้ความปกครองของพ่อเจ้าวัดของแต่ละวัด  เพราะความจำเป็น  คุณพ่อรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  ต่อจากคุณพ่อแกรมฟ์
 
ก.  การอภิบาลสัตบุรุษ
โดยที่คุณพ่อการ์ตอง  เป็นเหรัญญิกของมิสซัง  และเป็นผู้จัดการอบรมครูแพร่ธรรม  ที่สำนักอัสสัมชัญ  คุณพ่อได้มอบหมายวัดนครชัยศรีให้อยู่ใต้ความดูแลของคุณพ่อติมอเทว เป็นปลัดของคุณพ่อ  เป็นผู้ดูแลในตอนแรก  คุณพ่อเองก็ไปๆ มาๆ  เป็นเหตุให้คริสตังนครชัยศรีไม่สู้รูจักท่าน  ตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 1912  คุณพ่อไปเยี่ยมสัตบุรุษของตนบ่อยๆ  และโปรดศีลศักดิ์สิทธ์ด้วย
 
โดยเหตุนี้  เคยมีพระสงฆ์จากวัดอื่น  มาช่วยที่นครชัยศรี  เช่น  คุณพ่อแฟร์เลย์  คุณพ่อกาวัยเย  (พระสงฆ์ใหม่, ตายเมื่อเลิกสงคราม  จะกลับมาเมืองไทยพอดี)
 
ปี ค.ศ. 1913   คุณพ่อเบเชต์  กลับมาจากฮ่องกง รับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วย  อยู่นครชัยศรี
 
ข.  ส่งครูไปแพร่ธรรม
ในสมัยนั้น  ทางจังหวัดโคราช  คุณพ่อร็องแดล  กำลังบุกเบิกเป็นครั้งใหญ่  ต้องการคนมีน้ำใจไปช่วยแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ  ทั้งชายและหญิง จากวัดนครชัยศรี  มีครูเช,  ครูนิเว,  ครูสาวผ่อง ฯลฯ  เป็นต้น  แพร่ธรรม  แต่ลาดบัวขาว  สีคิ้ว  สูงเนิน  บ้านเล่า ฯลฯ  จนถึงโคราช  ล้างบาปเด็กกำลังตายจำนวนมาก  สอนคนต่างศาสนาเข้าเป็นคริสตังหลายๆ สิบคน
 
ค.  ลาจากหน้าที่เจ้าอาวาส
สิ้นปี ค.ศ. 1913  คุณพ่อการ์ต็อง  ลาจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  และคุณพ่อเบเชต์   รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน
ส่วนคุณพ่อการ์ต็อง  ก็กลับไปอยู่อัสสัมชัญ  ดูแลโรงเรียนแซงต์ตาร์ซีซิอุส จนถึงประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1
ปี ค.ศ. 1918   หลังสงคราม  รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร ที่บางช้าง
ปี ค.ศ. 1935   ย้ายเณรเข้าบ้านเณรใหม่  ที่ศรีราชา
ปี ค.ศ. 1938   ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส  เขตเชียงใหม่
ปี ค.ศ. 1941   ไปอินโดจีน
ปี ค.ศ. 1941   กลับมาเป็นพระสงฆ์วิญญาณรักษ์  ของภคินีคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ
ปี ค.ศ. 1948   สิ้นใจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  วันที่ 11 กรกฎาคม
 
13.  คุณพ่อเอมิล วิกเตอร์ เบเชต์  (BECHET)
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 10  ปี ค.ศ. 1914-1923
 
ก.  ชีวประวัติ
คุณพ่อเอมิล  วิกตอร์  เบเชต์   เกิดวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1877   ที่วังยงส์   วัดหนึ่งในสังฆมณฑลกูตังส์  คุณพ่อรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1903 ออกเดินทางไปมิสซังกรุงสยาม วันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1903
 
เมื่อมาถึงมิสซังสยามได้ไม่นาน  คุณพ่อก็ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่กับ  คุณพ่อร็องแดล  ผู้ที่เกิดในจังหวัดเดียวกัน  ซึ่งเวลานั้นประจำอยู่ที่ปราจีนบุรี
 
เป็นบุญที่คุณพ่อเบเชต์  ได้เริ่มเรียนภาษาไทยที่ปราจีนบุรี  เพราะในไม่ช้าก็ได้รับแต่งตั้งให้ไปอยู่ที่ปากลัดในฐานะเจ้าอาวาส ที่นั่นไม่มีโอกาสเช่นนี้ ปากลัดเป็นกลุ่มคริสตชนเล็กๆ  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  มีแต่คนที่รักความสงบ  มีอาชีพจับปลาบ้าง  ดูแลทำสวนหมาก  สวนมะพร้าวบ้าง  มิสชันนารีหนุ่ม  ทั้งที่ต้องเรียนภาษาไทยและจีน ทั้งยังต้องเรียนคำสอน  ก็ยังพอมีเวลาว่าง  คุณพ่อจึงใช้เวลาว่างนี้สร้างบ้านพักพระสงฆ์  นอกนั้น  ทุกที่ที่คุณพ่อต้องไปอยู่ในช่วงต่อไป  ก็แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ต่างๆ ของท่านยิ่งวันยิ่งมากขึ้น จะว่าเป็นสถาปนิกนั้นก็มากไปหน่อย อย่างน้อยก็มีความสามารถพิเศษในทางช่างไม้ ช่างปูน  ช่างสี ฯลฯ คุณพ่อต้องการทำงานหัตถกรรมเพื่อเป็นการออกกำลังกาย  บางทีคุณพ่อเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของท่านมากเกินไป กำลังวังชาจึงลดถอยไปอย่างรวดเร็วภายใต้อากาศอันร้อนอบอ้าว  ภายในระยะ เวลาไม่นาน  คุณพ่อต้องไปพักผ่อนเอาแรงที่ฮ่องกง  พร้อมทั้งตักตวงเอาพลังใหม่ๆ  ทางด้านจิตใจ  ในบรรยากาศเข้าเงียบและรำพึงภาวนา
 
 
ข.  เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  ปี ค.ศ.1914
1)  การอภิบาลสัตบุรุษ
“เมื่อกลับจากฮ่องกง คุณพ่อแบเชต์ก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี อยู่ระยะหนึ่ง ปี ค.ศ. 1913  และต่อจากนั้นก็ได้เป็นเจ้าอาวาส  ชาวนครชัยศรีซึ่งมีจิตตารมณ์คริสตังอย่างลึกซึ้ง  มีจุดเด่นในสยาม  นอกจากคุณความดีอื่นๆ แล้ว ก็มีการรับศีลอภัยบาปและรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ สวดภาวนาภายในครอบครัว การส่งลูกๆ เข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิก”
 
2)  การสร้างโรงเรียน
ก)  โรงเรียนหญิง  ปี ค.ศ. 1920
“ในรายงาน  C.R. ปี ค.ศ. 1920 พระสังฆราชแปร์รอส บันทึกไว้ว่า  “ที่นครชัยศรี  เมื่อสองเดือนก่อน  ข้าพเจ้าได้ไปเสกโรงเรียนใหม่สำหรับเด็กหญิง สร้างโดยคุณพ่อเบเชต์ ผู้ซึ่งได้วางสัดส่วนไว้อย่างดีเพื่อรับนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน”
 
ส่วนนิตยสาร  สงฆ์สัมพันธ์  (TRAIT  D’UNION)  ปี ค.ศ. 1920  หน้า 64,  คุณพ่อโชแรง  ได้บันทึกไว้ว่า  “ในเดือนกุมภาพันธ์  ปี ค.ศ. 1920 นี้   เราได้เห็นการสร้างและปรับปรุงโรงเรียนคาทอลิกหลายแห่ง ซึ่งเราหวังว่า  โรงเรียนเหล่านี้จะได้ช่วยแพร่หลายจิตตารมณ์คริสตังในมิสซังของเรา การสร้าง และขยายโรงเรียน เป็นสิ่งจำเป็นชาวสยาม บัดนี้ เปิดหูเปิดตา  แสวงหาความรู้ทางอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งปวงและรัฐบาลไทยกำลังส่งเสริม และจัดการสร้างอาคารใหญ่โต  เพื่อประสาทความรู้แก่บรรดาเยาวชน
 
ที่นครชัยศรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 พระคุณเจ้ามีความยินดีประกอบพิธีเสกอาคารเรียนใหญ่โต  สำหรับนักเรียนหญิง ซึ่งจะบังเกิดผลดีฝ่ายวิญญาณ  ในกลุ่มคริสตังที่สำคัญมากนี้  ฯลฯ”
 
ข)  โรงเรียนชาย
“สร้างโรงเรียนหญิงแล้ว ก็ลงมือสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชาย  ปัจจุบันนี้พวกเด็กนักเรียนของวัดนี้มีห้องเรียนใหญ่ๆ  หลายห้อง ซึ่งบรรดาครูชายหญิงใช้สอนทั้งวิชาความรู้ และศาสนา สลับกันไปโรงเรียนดีทำให้มีคริสตังดี โรงเรียนดีของวัดนครชัยศรี  เป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว”
 
ค)  คุณพ่อเบเชต์หมดกำลัง ปี ค.ศ. 1923
อย่างไรก็ดี  งานก่อสร้างต่างๆ นี้  ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็นงานส่วนเกิน   เมื่อเราคิดถึงงานด้านจิตใจจำนวนมาก ซึ่งคริสตชน 1,500  คน  เรียกร้องให้ทำ  เช่น  การสอนคำสอน  การฟังแก้บาป  การเทศน์ ฯลฯ  ได้ทำลายพละกำลังของคุณพ่อไปอีกครั้งหนึ่ง
 
ที่นี้ ข้าพเจ้าของเล่าสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าขัน คือ เมื่อคุณพ่อเบเชต์ รู้สึกเหนื่อยมาก   ท่านก็นอนเปลอยู่บนระเบียงบ้านพัก และไม่ชอบให้มีเสียงดังมารบกวน  แต่ก่อนเรียน  หรือเวลาหยุดพัก  ก็มีนักเรียนชายชอบมาเล่นหน้าบ้านพ่อ  ออกเสียงดัง ทะเลาะกันทำอึกทึกทำให้คุณพ่อเรียกเณรที่มาฝึกอบรมก่อนเข้าไปเรียนต่อที่ปีนัง  และสั่งให้ไล่เด็กชายไปเล่นหน้าโรงเรียน  ถ้าใครฝ่าฝืนให้ทำโทษ  เณรซีริล  (คุณพ่อซีริล)  ถามว่า  เด็กหญิงจะต้องไล่ด้วย หรือไม่?  พ่อเบเชต์ตอบว่า  เด็กหญิง ไม่เป็นไร  มันไม่ทำอึกทึก
 
ถึงวันฉลองนักบุญเอมิล  ซึ่งเป็นชื่อนักบุญของคุณพ่อเบเชต์   หลังจากได้อ่านคำคำนับคุณพ่อ และรับพระพร  เณรจึงจัดเด็กชาย 30-40 คน  เข้ามาข้างหน้า ร้องเพลงประสานเสียงไพเราะเพราะหูมาก  มีเนื้อความดังนี้ คุณพ่อเบเชต์นอนเปลสบาย พวกเราเด็กชาย ลำบากเหลือทน  ถูกเตะทุกคน  ไม่ว่าซนหรือลิง   เด็กหญิงไม่เป็นไร ดีร้ายก็ว่างาม
 
คุณพ่อฟังแล้วชอบใจมาก  ทำนองเพราะจริงๆ แต่เนื้อร้องก็ไม่เข้าใจ  เนื่องจากว่าร้องประสานเสียง  คำร้องฟังยาก  คุณพ่อแสดงความดีใจ  และขอให้ร้องอีกครั้งหนึ่ง  ต่างคนต่างก็ดีใจ
 
อาการค่อยๆ หนักไป  น้ำลายที่ออกมา  กลายเป็นเลือด  แสดงว่า  สุขภาพทั่วไปน่าเป็นห่วงมาก และปี ค.ศ. 1923  ก็ต้องกลับไปฝรั่งเศส
คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์   จึงรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน
 
ฆ.  ย่อชีวประวัติถึงวันตาย
อากาศในบ้านเกิดเมืองนอนมิได้ทำให้เกิดมหัศจรรย์ อันสมบูรณ์ตามที่คาดหวังเอาไหว้ อาการดีขึ้นมากทำให้มิสชันนารีผู้นี้สามารถเดินทางได้บ้าง นอกจากการเดินอื่นๆ ก็มีการเดินทางไปกรุงโรมในปี ค.ศ.1925 และการเดินทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อตอนกลับมาสยาม
 
เมื่อคุณพ่อกลับมาถึงมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1925 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูและปกครองคริสตังที่ปากคลองท่าลาด และวัดท่าเกวียนที่ขึ้นอยู่กับวัดนี้  ถ้างานทางด้านจิตใจยังมีที่จะต้องทำแล้ว  สาอะไรกับงานทางด้านวัตถุ  ทุกอย่างต้องทำใหม่ทั้งหมด  อย่างน้อยก็งานซ่อมปรับปรุง  เช่น  ซ่อมปรับปรุงวัด  บ้านพักพระสงฆ์ ฯลฯ   คุณพ่อได้ทุ่มเทพละกำลังใหม่  และเงินบริจาคเล็กน้อยทั้งหมดที่ได้รับตอนกลับไปฝรั่งเศสครั้งล่าสุด ในขณะที่คุณพ่อกำลังทำหอระฆังให้แข็งแรงอยู่นั้น  คุณพ่อเกิดเป็นลมตกลงมาทำให้เลือดตกใน  ท่านต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ  แพทย์สั่งให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ระยะหนึ่ง  กระนั้นก็ดี  มิสชันนารีผู้นี้ยังต้องกลับไปวัดของตน  แต่ท่านยังเป็นลมอยู่เป็นช่วงๆ  พระสังฆราชจึงมีคำสั่งให้คุณพ่อออกจากปากคลองท่าลาด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1929  ไปอยู่ลำไทร  ที่ซึ่งมีเพื่อนพระสงฆ์  คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อจะมีอุบัติเหตุขึ้นอีก
 
พินัยกรรมของคุณพ่อเขียนไว้ว่า หนึ่งเดือนก่อนตาย ระบุได้ชัดเจนว่า  ปากคลองท่าลาดจะเป็นที่ฝังศพของท่าน พูดตามประสามนุษย์  มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ไว้ก่อนว่า   ความปรารภเช่นนี้ จะเป็นจริงขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีอำนาจใดมาสั่ง
 
วันอังคารที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1929   เวลาประมาณ 8 โมงเช้า   คุณพ่อเบเชต์ ดูสุขภาพแข็งแรงดี ล่องเรือยนต์ออกจากลำไทร พร้อมด้วยช่างเครื่องหนุ่มอีกเพียง 2 คน มุ่งไปที่วัดเก่าของคุณพ่อ  เพื่อจัดการเรื่องบางอย่างให้เรียบร้อย และจะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ  ท่านอยู่ท้ายเรือคนเดียว  หลังเที่ยงคุณพ่อเบเชต์คงรู้สึกเหนื่อย  ได้ถามช่างเครื่องของดังๆ ว่า เราใกล้ถึงปากคลองท่าลาดแล้วหรือยัง พวกเขาตอบว่ายัง  แสงอาทิตย์ตอนบ่ายสะท้อนแสงกับน้ำในแม่น้ำ ครั้นเวลา 6 โมงเย็น คือ หลังจากเดินทางมาได้ 10 ชั่วโมง  ช่างเครื่องทั้งสองหันกลับมาเตือนคุณพ่อว่า เห็นหอระฆังแล้ว  พวกเขาสังเกตว่าคุณพ่อนอนหลับเหยียดยาวอยู่  และมีใบหน้าเป็นสีแดงเลือด  ต่อจากนั้นเล็กน้อย  พวกเขาก็มาถึงโป๊ะท่าน้ำ   บรรดาพวกสัตบุรุษพากันวิ่งมาอุ้มคุณพ่อที่ป่วยขึ้น และห้ามไปที่บ้านพักพระสงฆ์  แต่คุณพ่อเจ้าอาวาสเวลานั้นไปกรุงเทพฯ  พวกภคินี และสัตบุรุษพยายามช่วยเท่าที่ทำได้  แต่ไม่มีประโยชน์อะไร  หนึ่งชั่วโมงต่อมา  คุณพ่อเบเชต์ ก็สิ้นใจถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า  ที่ปากคลองท่าลาด
 
พิธีปลงศพจัดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1929   โดยมีเพื่อนพระสงฆ์หลายองค์ และบรรดาคริสตังจำนวนมาก   ดังนั้น ร่างของท่านจึงถูกฝังไว้ต่อหน้าพระแท่นแม่พระตามที่คุณพ่อได้เลือกไว้ด้วย
 
14.  คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์  (สมัยที่สอง)
 
ได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ที่ 11   ปี ค.ศ. 1923-1939
 
ก.  ชีวประวัติ
คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์  เกิดวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1875 ที่วุ่นไฮม์  (เมืองสตราสบูรก์  จังหวัดโรงเรง)  คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ  รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1897 และในวันที่ 25 สิงหาคมต่อมา  คุณพ่อก็ได้ออกเดินทางไปมิสซังสยามที่ซึ่งพี่ชายของท่าน ชื่อ หลุยส์  ได้ไปถึงก่อน  ในปี ค.ศ. 1894
 
ขั้นแรก  คุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์   ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ที่นครชัยศรี  เพื่อเรียนภาษาและพอปี ค.ศ. 1899   ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดอยู่ที่วัดนี้”
 
ในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อท็อกแกล่ร์  เจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีไม่สบาย ถูกย้ายไปอยู่บางช้าง กับคุณพ่อซังมอง คุณพ่อเล็ตแชร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  แล้วก็ประจำอยู่ที่นั่น จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1903
 
ปี ค.ศ. 1903-1907   เป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าลาด
ปี ค.ศ. 1907-1909   เป็นผู้ช่วยอธิการบ้านเณรที่บางช้าง
ปี ค.ศ. 1909-1918   เป็นอธิการบ้านเณร
ปี ค.ศ. 1910           เสนอให้เณรใหญ่บวชเป็นพระสงฆ์ใหม่ 9 องค์
ปี ค.ศ. 1913           ส่งเณรที่ทำปรอบาซิโอแล้ว  เข้าบ้านเณรปีนัง  เป็นครั้งแรก
ปี ค.ศ. 1918-1923   เป็นเหรัญญิกของมิสซัง
 
 
วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1923 คุณพ่อเออเยน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี แทนคุณพ่อเบเชต์  ผู้ซึ่งหลังจากไปพักรักษาตัวที่ฝรั่งเศสมาแล้ว   ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าวัดปากคลอง   ท่าลาด  คุณพ่อเออเยน ดำรงตำแหน่งเจ้าวัดนครชัยศรี  เป็นเวลา 16 ปี   คือ  จนถึงเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1939
 
ข.  การอภิบาลสัตบุรุษ
ในช่วงเวลา 16 ปีนั้น  คุณพ่อเล็ตแชร์ ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมด   ในการอบรมศาสนาอย่างมั่นคงให้กับเยาวชน เด็กๆ  ทุกคนต้องมาร่วมมิสซาแบบสนทนาทุกๆ เช้า (คุณพ่อได้จัดพิมพ์หนังสือมิสซาวิสัชนาภาษาไทยสำหรับเด็กๆ) ให้พวกครู และภคินีสอนคำสอนเด็กๆ  ทุกวันก่อนเข้าเรียน  ส่วนตัวคุณพ่อเอง  ก็ดูแลสอนเด็กๆ  ที่กำลังเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทอย่างสง่า   พวกวัยรุ่นซึ่งขาดการเรียน เพราะไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน   ก็ต้องมาร่วมเรียนคำสอนในชั้นเรียนนี้ด้วย  ดังนั้น  พร้อมกับเด็กๆ  ที่เตรียมสอบ ป.4   เราพบว่ามีวัยรุ่นอายุ 18, 20, 25 ปี  ซึ่งกลับมาเรียนคำสอน  เพื่อจะสามารถเข้าพิธีสมรสได้
 
ชาวบ้านพูดกันว่า คุณพ่อเล็ตแชร์ เคร่งครัดมาก  แต่ในสมัยของท่าน ทุกคนรู้คำสอน และรู้เรื่องศาสนาของพวกเขา  หลังจากสวดสายประคำ และก่อนอวยพรศีลมหาสนิท  ก็มีการอธิบายคำสอนให้พวกผู้ใหญ่ทุกวันอาทิตย์ตอนบ่าย
 
ในรายงาน  C.R.  1929  ท่านแปร์รอส  บันทึกว่า  “ที่นครชัยศรี  คุณพ่อเล็ตแชร์   เขียนรายงานข้าพเจ้าด้วยความภาคภูมิใจว่า  สามารถสอนคำสอนให้เยาวชนชายหญิงจำนวนหนึ่ง ที่ละเลยการปฏิบัติศาสนกิจ  ขณะที่มาเรียน  และยังจะต้องมาเรียนต่อไปอีก ถึงแม้ว่าอายุจะมากกว่าปรกติแล้วก็ตาม   คุณพ่อเองก็ให้ข้อสังเกตว่า  การสอนคำสอนให้รู้ซึ้ง  และการรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ  เป็นทางเดียวที่จะช่วยให้เยาวชนมีความเชื่อมั่นคงได้”
 
คุณพ่อเล็ตแชร์ เคยพูดกับข้าพเจ้าว่า ท่านต้องการให้สัตบุรุษวัดนครชัยศรี เป็นทองคำบริสุทธิ์เป็นเงินก็ไม่สู้ดี  แต่ถ้าเป็นตะกั่วแล้วก็ไม่เอา
 
คุณพ่อส่งเด็กชาย  เต็กหยุง  เข้าบ้านเณรบางช้าง  เมื่อปี ค.ศ. 1925   ซึ่งบวชเป็นคุณพ่อถาวร  ปี ค.ศ. 1942
 
ค.  ซื้อเครื่องใช้ในวัด
คุณพ่อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับจำนวนมาก  เช่น รูปประวัติพระเยซูเจ้า,  ตู้ศีลสวยๆ ขนาดใหญ่,  รูปปลาสเตอร์ขนาดใหญ่เป็นสีสดใส  การรับอาหารค่ำวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์,  รูปท่านนักบุญเปโตร  และเปาโล  และหีบเพลงขนาดใหญ่ชั้นเยี่ยมจากประเทศเยอรมัน  ราคา 2,505 บาท   เป็นต้น
 
ฆ.  สร้างบ้านภคินี
คุณพ่อต้องการให้วัดนครชัยศรี มีภคินี  ที่จะช่วยวัดในทุกด้าน  ทั้งบ้าน  ทั้งวัด  และโรงเรียนหญิง  จึงได้สร้างบ้านพักภคินี ที่ใหญ่ๆ สามารถรับเด็กเล็กๆ หญิงสาวใช้หญิงที่มาเรียนคำสอน เตรียมรับศีลล้างบาปก่อนแต่งงาน แต่ก่อน  มีแต่  หญิงใจศรัทธา   มาช่วยพ่อคนสุดท้าย ชื่อครูเป๊ฮวย
 
ในปี ค.ศ. 1925 ได้เปิดบ้านภคินีที่วัดนักบุญเปโตร  โดยมีซิสเตอร์ เฮเลนา, ซิสเตอร์ เรอเน และซิสเตอร์ แอสแทร์หลิน ประจำอยู่เป็นครั้งแรก
 
ง.  พัฒนาทุ่งนา  และซื้ออุปกรณ์ช่วยชาวนา
คุณพ่อเล็ตแชร์  ได้จัดให้ขุดคลองผ่านทุ่งนาของวัด และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จัดให้ทำความสะอาด และยกคันคลองทุกๆ ปี  เช่นเดียวกัน พวกคริสตังที่เช่านา ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลหัวคันนา  เป็นต้น  หัวคันนาใหญ่ๆ  ที่ใช้เป็นทางเดิน  จากกลุ่มบ้านต่างๆ จนถึงวัดพร้อมกันนี้  ท่านได้จัดสร้างประตูน้ำกั้นน้ำทะเล  ซึ่งขึ้นมาทางแม่น้ำเข้ามาในทุ่งนาของวัด  ฯลฯ
 
นอกจากซื้อปุ๋ยมาโปรยในทุ่งนา คุณพ่อยังสั่งเครื่องคัดเมล็ดข้าว เพื่อชาวนาจะได้เลือกพันธุ์ดีมาหว่าน แต่ท่านเคยพูดว่า ชาวนาไม่สนใจ  มีแต่ 3-4 คน  เท่านั้นที่เคยใช้เครื่องนี้
 
จ.  ทำแผนที่ทุ่งนาอย่างละเอียด 
เพื่อจะได้รู้ว่า   คริสตังผู้เช่านาของวัด  ทำนาเนื้อที่เท่าไรแน่ และจะต้องเสียค่าเช่าเป็นข้าวกี่ถัง  คุณพ่อเล็ตแชร์  จัดรังวัดนาทุกๆ แปลง และทำแผนที่ละเอียดจนตลอดกินหน้ากระดาษ หลายๆ หน้า  แสดงรูปนาใหญ่เล็กทุกๆ แปลง  และจดชื่อว่า ใครทำแปลงไหน  และลอกแผนที่ใหม่ทุกๆ ปี
 
แต่ไม่ช้า  ยิ่งไป  ก็ยิ่งมาก  จำนวนครอบครัวคริสตังเพิ่มขึ้นทุกปี  ทุกครอบครัวก็ต้องทำมาหากินตามที่เคย  คือ ทำนา  แต่จำนวนข้าวก็คงอยู่ดังเดิม
 
ฉ.  รับคุณพ่อวิกตอร์ ลารเก   เป็นปลัดผู้ช่วย
ปีค.ศ. 1938 คุณพ่อเล็ตแชร์ รับคุณพ่อลารเกเป็นปลัดผู้ช่วย และใช้ท่านไปเยี่ยมครอบ ครัวคริสตังวัดนครชัยศรีทุกครอบครัว ให้ช่วยแปลคำสอนให้เด็กนักเรียน  และให้เทศน์ วันอาทิตย์สลับกัน
 
วันแรกที่พ่อปลัดไปถึงนครชัยศรี  คุณพ่อเล็ตแชร์บอกว่า  พรุ่งนี้แปดโมงเช้า  ผมจะแปลคำสอนให้เด็กนักเรียนชั้น ป.3  มี 40 กว่าคน ขอให้พ่อไปฟังด้วย  จะได้รู้ว่าผมต้องการให้พ่อสอนอย่างไร   วันรุ่งขึ้นพ่อลารเกเข้าวัดพร้อมกับคุณพ่อเจ้าวัด  และเด็กนักเรียนหญิงนั่งกับพื้น 5 แถว  ข้างซ้าย ชาย 5 แถว  ทางขวาแล้วก็เริ่ม  ขอบอกล่วงหน้าว่าเผอิญเป็นวันไม่ดี
 
คุณพ่อเจ้าวัดนั่งตรงกลางโต๊ะศักดิ์สิทธิ์   เรียกเด็กหญิงคนแรก   เขาก็มายืนยู่หน้าคุณพ่อ  ซึ่งถามว่า
 
“ใครเป็นคนเปิดประตูสวรรค์ให้เรามนุษย์?”
“พระเยซูเจ้าค่ะ”
“ถ้าสวรรค์มีประตู  สวรรค์มีกำแพงหรือไม่?”
“มีค่ะ  (ปั๊ม!  ตบหน้า เด็กชาย  3-4 คน  หัวเราะเบาๆ )”
  “ไปคุกเข่า !”
เรียกนักเรียนหญิงคนที่สอง
“สวรรค์มีกำแพงหรือไม่?”
“ไม่มีค่ะ  (ปั๊ม!  ตบหน้า เด็กชาย  3-4 คน  หัวเราะเบาๆ )”
“ไปคุกเข่า !”
เรียกนักเรียนหญิงคนที่สาม
“สวรรค์มีกำแพงหรือไม่?”
“ไม่ทราบค่ะ  (ปั๊ม!  ตบหน้า   เด็กชาย  3-4 คน  หัวเราะเบาๆ )”  ฯลฯ  แบบเดียวกัน  หมดทั้ง 5 แถว
เรียกเด็กชายทีละคนแบบเดียวกัน  ตบหน้าทุกคน  เด็กหญิงหัวเราะเบาๆ  คุณพ่อลารฺ์เกนึกในใจว่า  “ถ้าคุณพ่อเจ้าวัดถามเรา  ละก็”
ในที่สุด  คุณพ่อเจ้าวัดเฉลยปริศนา  “กำแพงแท้  ไม่มี เป็นแต่กำแพงสมมุติ  เช่นเดียวกันกับประตูสวรรค์”  จำไว้เถิด !  ทั้งนี้  พ่อสอนพ่อปลัดว่า  แปลคำสอนต้องใช้วิธีเคร่งแข็ง
 
 
ช.  ลาเกษียณ  อยู่นครชัยศรีต่อไป  ปี ค.ศ. 1939
เมื่อไว้ใจในคำเทศน์ และคำสอนของคุณพ่อลารเกแล้ว คุณพ่อเล็ตแชร์ถวายคำลาเกษียณแก่พระสังฆราชแปร์รอส  จดหมายคำตอบของพระสังฆราช ท่านมาถึงขณะที่เราทั้งสองนั่งฟังแก้บาป วันเสาร์ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939   อ่านแล้ว  คุณพ่อเล็ตแชร์ลุกขึ้นมาหาที่ฟังแก้บาป  สั่งว่า   ตั้งแต่นี้ไป คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  คุณพ่อต้องเปลี่ยนข้างไปนั่งฟังแก้บาปข้างโน้น !   หมดวารเป็นเจ้าอาวาสของคุณพ่อเล็ตแชร์
 
ฌ.  ประวัติย่อของคุณพ่อเล็ตแชร์   ถึงวันเข้าประตูสวรรค์  ปี ค.ศ. 1939-1958
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 คุณพ่อเล็ตแชร์ปลดเกษียณ  อยู่ที่นครชัยศรีนั้นเอง   แต่บางครั้งบางคราว ท่านไปอยู่กับพี่ชาย ชื่อหลุยส์  2-3 วัน ที่บางปลาสร้อย คุณพ่อดีใจที่ได้พบพี่ชาย  แล้วก็ดีใจด้วยที่ได้กลับมาที่วัดนครชัยศรี  บางทีก็กลับมาหลังจากวันรุ่งขึ้น  
 
หลังจากที่คุณพ่อพี่ชายได้สิ้นชีพลงในปี ค.ศ. 1952  ที่บางปลาสร้อย ท่านก็ได้จัดให้ทำหลุมเตรียมไว้สำหรับตนเอง  อยู่ข้างหลุมของคุณพ่อหลุยส์
 
ในปี ค.ศ. 1941 เกิดสงครามอินโดจีน คุณพ่อเล็ตแชร์  ซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศสก็ได้โอนสัญชาติเป็นสวิส  จึงทำให้ท่านสามารถสืบตำแหน่งต่อจากคุณพ่อตาปี   ที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน   ท่านเป็นที่นับถือของทุกคน และสามารถรักษาความสงบได้  ยังความชื่นชมยินดีให้กับพวกสัตบุรุษ แม้จะมีวัยรุ่น 3-4 คน  ซึ่งท่านขับไล่ไปโดยไม่กลังเกรงอะไร  แล้วพวกนั้นก็ไม่กล้ากลับมาวุ่นวายกับท่านอีก ในระหว่าง 1 ปี  ที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่สามเสน ซึ่งถึงแม้ว่าได้แสดงหลักฐานว่าเป็นสัญชาติเยอรมัน และแสดงการคัดค้านอย่างแข็งขันแล้วก็ตาม     ก็ยังถูกทางการห้ามมิให้อยู่ที่บางปลาสร้อย
 
ปี ค.ศ. 1942-1946   หลังจากที่คุณพ่อตาปีกลับมาแล้ว  คุณพ่อเล็ตแชร์ก็รับภาระหนักในฐานะเจ้าวัด วัดท่าเกวียนซึ่งพวกคริสตังทุกคนถูกบังคับให้ทิ้งศาสนาระหว่างมีการเบียดเบียน   คุณพ่อซาเลเซียนที่ไปตั้งใจจะช่วยคริสตังไร้ที่พึ่งแล้ว  ก็ถูกทุบตีอย่างหนักจนเป็นลม ณ คืนวันแรกที่ท่านไปถึง   คณะเลือดไทยได้เข้ามาทำลายทุกสิ่งที่เห็นในบ้านภคินี  ในบ้านพักพระสงฆ์  ทุบตีพ่อ  และเห็นพ่อเป็นลมเหมือนคนตาย  ก็เอาเชือกมัดไว้กับต้นไม้ ฯลฯ  ในภายหลัง  คณะเลือดไทยกลับมา  เผาอาคารทั้งหมด  วัด  บ้านพ่อ  บ้านภคินี  โรงเรียนสองหลัง  โรงหมู  ยุ้งข้าว  เกลี้ยงหมดทุกอย่าง  มีแต่คุณพ่อเล็ตแชร์  ที่สามารถกู้สถานการณ์  ช่วยพวกคริสตังกลับมา สร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์ใหม่ชั่วคราว  นำความยินดีให้แก่คริสตังวัดท่าเกวียน  และมิสซังกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง
 
เมื่อมีการแบ่งมิสซังจันทบุรีในปี ค.ศ. 1944   วัดปากคลองท่าลาดอยู่ในเขตมิสซังใหม่   คุณพ่อเล็ตแชร์ก็ยังประจำอยู่ที่วัดนี้อีกสองปี  เพื่อรอให้คริสตังกลุ่มนี้ที่ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก  ได้กู้ฐานะกลับคืน และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ  จึงมอบให้อยู่ในความดูแลปกครองของพระสงฆ์ชาวไทยมิสซังจันทบุรีต่อไป 
 
และแล้วคุณพ่อเล็ตแชร์ ก็กลับไปปลดเกษียณต่อที่นครชัยศรี  ท่านใช้วันเวลาเพื่อจัดทำพจนานุกรมเล่มใหญ่ ภาษาจีน  5  ภาษา   คือ  จีนกลาง,  จีนแต้จิ๋ว,  จีนแคะ,  จีนกวางตุ้ง  และจีนไหหลำ   โดยมีคำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส  ท่านจัดทำด้วยความเพียรทน  แต่เป็นงานที่อยู่เหนือกำลังของท่าน เพราะท่านไม่รู้จักอักษรจีน   ท่านได้ออกตามพจนานุกรมจีน-อังกฤษ  ซึ่งท่านมีอยู่แล้ว  ท่านซื้ออักษรจีนมาจากโรงพิมพ์จีน  และจัดเรียงบนกระดาษแผ่นใหญ่ แบ่งเป็น 5 ช่อง  อย่างน้อยงานนี้ก็ทำให้ท่านมีงานชิ้นนี้  แต่คุณพ่ออื่นๆ  ไม่เชื่อว่าจะทำได้  ก่อนตาย  ท่านบอกแก่คุณพ่อลารเกว่า  “นี่แหละ คือ  สิ่งที่ผมได้ทำ  นี่เป็นอักษรจีนที่ผมได้ซื้อมา  ขอให้พยายามหาพระสงฆ์ที่มาจากเมืองจีน สักองค์หนึ่งเพื่อทำงานนี้ต่อไป”  
 
เมื่อคุณพ่อลารเกไปแสดงตัวพร้อมด้วยพินัยกรรมของคุณพ่อ  กระดาษต่างๆ  ทั้งหมด   อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ  ที่คุณพ่อลารเกต้องรับเป็นมรดก  อักษรจีนทั้งหลายถูกชั่งกิโลขายไปเสียแล้ว
 
ประมาณปี ค.ศ. 1955   คุณพ่อเล็ตแชร์เข้ามากรุงเทพฯ บ่อยๆ  เพื่อเยี่ยมเยียนครูสุทิน  ผู้ซึ่งตลอดชีวิตของเขาได้ทำงานรับใช้วัด  และได้เป็นผู้จัดการโรงเรียน 2 โรงเรียน ที่นครชัยศรีอยู่เป็นเวลา 28 ปี  ครูคนนี้ทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด  คุณพ่อเล็ตแชร์ไปเยี่ยมเขาอยู่บ่อยๆ
 
เมื่อมาดูคุณพ่อเล็ตแชร์  ในบั้นปลายชีวิตของท่าน  เราไม่คาดคิดว่าท่าน จะจากเราไปเร็วเช่นนี้  ท่านยังมีสภาพแข็งขันอยู่  ท่านเท่านั้นที่รู้สึกตัวว่าใกล้เวลาที่จะต้องจากไปแล้ว  อย่างไรก็ดี  ท่านยังไปให้คุณหมอจีโร  ตรวจเช็คที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์  เมื่อกลับมาที่สำนักมิสซัง  ก็มีคนถามท่านว่า  เป็นอย่างไร  คุณพ่อเล็ตแชร์  คุณหมอบอกอะไรคุณพ่อบ้าง?  ท่านตอบว่า  ไม่ใช่หมอที่บอกผม  แต่เป็นผมที่บอกหมอ
 
คุณพ่อเอาพินัยกรรมของท่านมาให้คุณพ่อลารเก  และประมาณเดือนเมษายน ค.ศ. 1956   เราได้ทราบว่าคุณพ่อลุกขึ้นเองไม่ได้แล้ว  คุณพ่อรอเวลาที่พระเป็นเจ้าจะมาเรียกท่านไป  พระเป็นเจ้าทรงรับวิญญาณของท่านผ่านประตูสวรรค์ไปอยู่ในบ้านของพระบิดา  วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 รวมอายุได้ 83 ปี
 
ในพินัยกรรมของคุณพ่อ ขอไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ฝังท่านที่บางปลาสร้อย  ข้างๆ พี่ชายของท่าน แต่พระสังฆราชโชแรง  ได้ตัดสินใจฝังท่านไว้ที่นครชัยศรีเอง  ตามคำขอของเจ้าอาวาส และสัตบุรุษในสมัยนั้น 
 
15.  คุณพ่อฮิปโปลิต วิกตอร์ ลารเก
 
  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 12  ปี ค.ศ. 1939-1942
 
ก.  ชีวประวัติ
คุณพ่อวิกตอร์  ลารเก เกิดวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1911   ที่ ตำบลโอเจอแลแบงส์สังฆมณฑลบะโยน จังหวัดปีรินิสแอทแลนติ๊ก เข้าบ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศในเดือนตุลา คม ค.ศ. 1993   และบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1934   ออกเดินทางมาประเทศสยามในเดือนกันยายน  ถึงกรุงเทพฯ  วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1934
 
วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1934  พระสังฆราชแปร์รอส  ส่งไปเรียนภาษาที่เชียงใหม่  และแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อเมอนิเอร ถึงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1935 ไปโปรดศีลกำลังที่เชียงใหม่   แล้วท่านให้พ่อลารเกไปกรุงเทพฯ  กับท่าน  บ้านเณรจากบางช้างเพิ่งย้ายไปอยู่ศรีราชา  ฯพณฯ ท่านต้องการพ่อองค์หนึ่งไปเป็นอาจารย์ที่บ้านเณร  ก็แต่งตั้งให้พ่อลารเก  เป็นอาจารย์สามเณราลัยพระหฤทัย  ซึ่งขณะนั้น  คุณพ่อการ์ต็อง เป็นอธิการ 
 
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1938  ได้ขอลาไปอยู่ตามวัด  พระสังฆราชแปร์รอสจึงแต่งตั้งให้ไปวัดนครชัยศรีในฐานะพ่อปลัดของคุณพ่อเออเยน  เล็ตแชร์  และต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส 
 
ข.  การอภิบาลสัตบุรุษ
ในปี ค.ศ. 1939 นั้น  พระสังฆราชแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี  และวัดหนองหิน  กับนครปฐมอีกด้วย เพราะคุณพ่อริชาร์ดได้ย้ายไปแล้ว  ฉะนั้น  คุณพ่อมอริส ยอลี  อาจารย์ที่สามเณราลัยศรีราชา ย้ายมาวัดนครชัยศรีในฐานะพ่อปลัด  ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1939  ดังนั้น  คุณพ่อยอลี จึงอยู่นครชัยศรีบ้าง  ไปอยู่หนองหินบ้าง  ช่วยเต็มความสามารถ
 
1) พิธีในวัด
ก) อาทิตย์ธรรมดา จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939  คริสตังนครชัยศรีไม่เคยร้องเพลงภาษาไทยเลย  ล้วนเป็นแต่ภาษาลาติน  ไม่ว่าวันอาทิตย์ธรรมดา หรือวันฉลอง  ก็ไม่ผิดกันเลย   เป็นมิสซาขับภาษาลาตินเหมือนที่บ้านเณร  อวยพรศีลมหาสนิทก็ลาตินหมด  คุณพ่อลารเกจึงนำเพลงภาษาไทย  (แบบคริสตังร้องเพลง)  มาสอนเด็กนักเรียนก่อน  แล้วถึงวันอาทิตย์ ก็ร้องในวัดเวลาภาคถวายเครื่องบูชา  หลังเสกศีล  หลังรับศีลไม่ช้า  บรรดาผู้ใหญ่รู้จักบทสร้อย  ก็ร่วมออกเสียงร้องด้วยต่างคนต่างชอบใจ  ค่อยค่อยไป  ก็เอาบทง่ายๆ ภาษาไทยบ้าง  ภาษาลาตินบ้าง  ประสานเสียง  สองเสียง-สามเสียง  เช่น เบเนดิกตุส  กวี  เวนิต  โอ้ พระมหาเยซู  ฯลฯ  
 
ข)  พิธีพิเศษ   บางครั้งก็ได้จัดพิธีพิเศษ  ซึ่งเป็นที่จับใจของบรรดาสัตบุรุษ  เช่น  การรื้อฟื้นสัตยาบันแห่งศีลล้างบาป  ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า  “ศีลสง่า”  เด็กที่รับศีลสง่าทั้งชายและหญิงขึ้นไปหน้าแท่นใหญ่ซึ่งตั้งศีลมหาสนิท แล้วสัญญาที่ละสองคนๆ จะถือซื่อสัตย์ตามคำสอนของพระเยซูเจ้า และของพระศาสนจักรแล้วนั้น  ไปอยู่ล้อมรอบรูปแม่พระ  ซึ่งตั้งอยู่บนแท่นเล็กหน้าแท่นใหญ่  แล้วสวดบทถวายตัวแด่พระนางมารีอาพร้อมกัน  จึงจะร้องเพลง  ขอแม่มารีย์
 
ขอแม่มารีย์  ปราณีรับไว้  บัดนี้ดวงใจ   
นี่!  พวงมาลา  ลูกทูลถวาย  มั่นใจมารดา
มั่นใจมารดา  จะคืนเมื่อครา  ได้เมืองแมนเอย
 
ค) คณะนักร้อง  ในไม่ช้า  พวกหนุ่มๆ และพ่อบ้านหลายๆ คน  ไปหาพ่อเจ้าวัดแจ้งว่า  ตัวเขาเองอยากจะมีส่วนร่วมในการร้องเพลงประสานเสียง  และก็เป็นจัดเริ่มต้นคณะร้องเพลงประสานเสียงของวัดนครชัยศรี  ตกลงว่า  พวกผู้ใหญ่ช่วยมาซ้อมอาทิตย์หนึ่ง 3 วัน  ตั้งแต่ 2 ทุ่ม  ถึง 4 ทุ่ม  แบ่งเป็นเสียงเตนอร  และเสียงบาสส์   ส่วนหญิงสาว  ก็มาสองวันเวลาเดียวกัน  แบ่งเป็นเสียงซอปรานี  และอัลตี   ส่วนนักเรียนชายและหญิง  ก็ซ้อมเสียงของเขาในโรงเรียน  เมื่อต่างพวกต่างรู้จักบทของตนจนคล่องแล้ว  จึงร่วมวงนักร้องให้ครบ  ซ้อมจนกว่าจะคุ้นเคยร้องพร้อมกันให้คล่องแคล่ว  เป็นเพลงไพเราะเพราะหู  ถึงวันฉลอง  ก็นำมาร้องในมิสซาบ้าง และในพิธีอวยพรศีลมหาสนิท  เป็นต้น  โดย ครูโฝอ๊นเป็นผู้เล่นหีบเพลง  ซ้อมจนเก่งจริงๆ  ในสมัยนั้น   วงนักร้องวัดนครชัยศรีมีชื่อเสียงมาก  จนมีเจ้าหน้าที่อำเภอสามพรานหลายคนเคยมาฟังเพลงของเราในวันฉลอง  วันพระคริสตสมภพ  ร้องเพลง 4 เสียง  “แกวมวิดีสติส  แสตอแรส  นาตุมวีดิมุส”  ซึ่งเป็นบทเพราะมากที่สุด  เจ้าหน้าที่อำเภอคนหนึ่งเข้าไปหาคุณพ่อเจ้าวัด  ขอให้ร้องเพลงบทดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ความภูมิใจของคณะนักร้องก็ทวีขึ้น  พยายามมาซ้อมโดยไม่คิดถึงเวลาที่เขาต้องเสียไป  ไม่คิดถึงความยากลำบาก และในที่สุด  จะเลือกเพลงที่ยากๆ เท่าไรก็ไม่กลัว  “เลอแมส์ซี”  ของแฮนแดล  บางตนเป็นเพลงที่เคยร้องในวัดของเราในโอกาสฉลองปัสกา  จากลำไทร  คุณพ่ออาแบล  เคยมาขอเพลงเหล่านี้ไปหัดนักร้องของวัดพระวิสุทธิวงศ์
 
2) ตั้งคณะพลศีล  และยุวศีล
ที่วัดนครชัยศรีในสมัยนั้น  เด็กนักเรียนทั้งชาย และหญิงมาฟังมิสซาเช้าทุกคน  แล้วกลับบ้านรับอาหารเช้าจึงมาเข้าโรงเรียน  เด็กเหล่านี้  แบ่งเป็นกลุ่มมาแก้บาปทุกอาทิตย์ในวันอังคาร  พุธ  และศุกร์  ส่วนวันเสาร์แก้บาปเฉพาะผู้ใหญ่  คุณพ่อลารเกสังเกตว่า  แก้บาปครั้งหนึ่ง  รับศีลครั้งเดียว  จึงจำเป็นต้องอบรมเด็กๆ ก่อน   ให้มีความรัก  ความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท  ให้รู้จักและยอมรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ จึงได้ตั้งคณะพลศีล  และอบรมตามแนวของคณะ  คือ  ภาวนา  รับศีล  สละ  เป็นธรรมทูต  สมาชิกมีเข็มเครื่องหมายของคณะติดเสื้อ  สำหรับวันฉลองนักเรียนที่เป็นพลศีล  ก็สวมเสื้อขาว  ชุดพิเศษ  ผ้าคลุมศีรษะห้อยลงไป  ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะยุวศีลด้วย  การรับศีลบ่อยๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
แต่   ก็เกิดศัตรูของการรับศีลบ่อยๆ  อีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งไม่เคยพบในวัดอื่นๆ  เช่น   ในการสนทนากันมีเด็กคนหนึ่งโกหกเล่นๆ  หรือในการเล่นด้วนกัน  จะมีเด็กคนหนึ่งโกงนิดๆ  หน่อยๆ  หรือไม่ไปทันทีที่ผู้ใหญ่เรียก ฯลฯ  ทันทีมีเด็กอีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า  พรุ่งนี้รับศีลไม่ได้  มีบาปแล้ว  เด็กที่โดนคำตัดสินเช่นนี้  ก็ไม่กล้าไปรับศีลแล้ว  ดังนั้น  จึงต้องอบรมในเรื่องนี้ให้เด็กเข้าใจ
 
3)  สินสอด  กับการแต่งงาน
แม้ว่า วัดนครชัยศรีเป็นวัดดีเด่นในจำนวนวัดทั้งหลายในประเทศไทย  ก็ยังมีข้อบกพร่อง เหมือนกัน  เมื่อคุณพ่อลารเกไปถึง  ก็ได้สังเกตว่า  มีชายหนุ่มหญิงสาวจำนวนหนึ่งถึงอายุมาก  ควรได้แต่งงานแล้ว  แต่ไม่สามารถแต่งงานได้  เพราะพ่อแม่ของฝ่ายหญิง โลภเกินไป   เคยเห็นชายคนหนึ่งจากวัดอื่น มาขอลูกสาวของครอบครัวหนึ่ง  ซึ่งถือว่า  มีฐานะดี  เงินไม่ขาด  พ่อแม่จึงตอบว่า  ถ้าอยากจะได้ลูกสาวของเราเป็นภรรยา  ต้องนำสินสอด  30,000 บาท   ครบมาให้เรา  หนุ่มคนนั้นกลับไป  และโดยแรงความรัก  เขาก็พยายามหาเงินจำนวนนั้นให้ได้  แล้ว 6 เดือนต่อมาเขาก็แต่งงานได้
 
30,000 บาท ! “ลูกสาวของเราไม่แพ้ลูกสาวของเขา  แล้วต่างคนต่างจะขายลูกสาวของตน  30,000 บาท !  โดยไม่คำนึงว่า ในสมัยนั้น คริสตังวัดนครชัยศรีมีกี่คน สามารถนำเงินจำนวนนี้มาให้  ซึ่งเขาทำนาพอเลี้ยงชีพได้ด้วยความยากลำบาก ตัวเองก็มีลูกชายอยากจะแต่งงาน  แต่สินสอดเกินกำลังเงินของตน  ชายอยากจะแต่งงาน  หญิงสาวอยากจะแต่งงาน  แต่  อนิจจา !  ความโลภ  ปกคลุมความรักต่อลูกชายลูกสาวไม่คิดถึงอนาคตอันสดใสของลูก  ในที่สุด  หนุ่มสาวที่รักกันจริงๆ ก็  หนีไปกินอยู่ด้วยกัน  ความรักซึ่งกันและกันปกคลุมความยากลำบากซึ่งเขาจะต้องประสบบางคน  หาคนคริสตังเป็นคู่ชีวิตไม่ได้  เพราะสินสอดนั่นเอง  ก็หันไปหาแฟนในหมู่คนต่างศาสนา !
 
ผิดของใคร  ของผู้หนีหรือ  ความผิดของเขามีแน่แต่น้อยมาก  ถ้าเทียบกับความผิดของพ่อแม่  แต่เป็นบุญที่พ่อแม่ยังมีความรักต่อลูก  และช้าหน่อย  เมื่อความโกรธ  ความโมโหบรรเทาลง  ก็พยายามติดต่อกับลูกเขยลูกสาว  เกิดสงสารลูกและหลานที่จะตามมา  กลับมาเกิดลูก!  กลับมา  กลัวจะเสียวิญญาณ”  ฯลฯ
 
ส่วนมาก  ก็กลับมา  ยินดีที่จะแก้ไขให้ครอบครัวใหม่ของเขา  เรียบร้อยตามที่ได้สัญญาไว้ในวันรื้อฟื้นสัตยาบันแห่งศีลล้างบาป  และที่ได้ติดตามคนต่างศาสนาไป  ก็นำแฟนมาฟังคำสอน  เพื่อจะได้จัดให้เรียบร้อย  ส่วนสินสอด  ก็ไม่ต้องพูดถึงแล้ว แต่แรก  ขอสินสอดให้เหมาะสม กับฐานะของเจ้าบ่าวไม่ดีกว่าหรือ?
 
พยายามอบรมคริสตังในเรื่องนี้  ได้ผลเท่าไรก็ไม่ทราบ  เพราะคุณพ่อลารเกเป็นพ่อเจ้าวัดนานไม่กี่ปี  ก็ย้ายไป
 
 
ค.  พัฒนาโรงเรียน
เมื่อคุณพ่อเล็ตแชร์ ลาออกไปแล้ว  คุณพ่อลารเก ยื่นใบขอเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนักบุญเปโตร  ทางกระทรวงศึกษาธิการก็รับไว้  แต่ศึกษาธิการอำเภอกำชับว่า   จะต้องถือตามกฎข้อบังคับ  และระเบียบต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ
 
1)  เรื่องหลักสูตร ไม่มีปัญหาอะไร เรียบร้อยหมดทุกอย่าง เพราะคุณครูสุทิน เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้  พยายามสอนตามหลักสูตรทุกอย่าง  และควบคุมการสอนของครูน้อยทุกอย่าง  ทำให้ได้ผลดีเด่นในจำนวนในโรงเรียนต่างๆ  ของอำเภอสามพราน
 
2)  การแต่งกายของนักเรียน    การแต่งกายในเขตวัดนครชัยศรี  ขึ้นอยู่กับคุณพ่อเจ้าวัด  ศึกษาธิการอำเภอ ไม่สามารถนำคุณพ่อเล็ตแชร์  ให้ยอมเปลี่ยนชุดแต่งกายของนักเรียนชาย-หญิง ให้ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวง  สู้กับคุณพ่อเล็ตแชร์ก็เสียเวลาศึกษาธิการอำเภอต้องมีความเพียรอดทน  และผ่อนผันจนกว่าโอกาสจะอำนวย   โอกาสนั้นมาถึงแล้ว  กับคุณพ่อลารเก
 
ก) นักเรียนชายได้ขอให้นักเรียนชาย ใช้เสื้อสีขาว กางเกงสีน้ำเงิน ภายในสองอาทิตย์  นักเรียนทุกคนก็แต่งชุดใหม่เรียบร้อยน่าดู
ข)  นักเรียนหญิง   ก่อนเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939   หญิงทุกคน  ไม่ว่าแม่เฒ่าหรือสาวๆ หรือนักเรียน   ไม่มีสิทธิ์เข้าในเขตวัดหรือโรงเรียน  นอกจากว่า  นุ่งผ้าโจงกระเบน กระโปรงเป็นสิ่งห้าม คุณพ่อลารเกจึงต้องประกาศในวัดว่า  มีระเบียบของกระทรวงบังคับให้นักเรียนหญิงแต่งเสื้อขาว  และกระโปรงตามสีที่ขอ และรับอนุญาต  ซึ่งในสมัยนั้น  ได้ขอเป็นสีแดง,  
ค) บรรดาครูชาย-หญิง  ครูชายต้องแต่งแบบสากล สีขาว ส่วนครูหญิงก็ใช้เสื้อสีขาวและกระโปรงไม่บังคับสี 
ฆ) ซื้อม้านั่งในวัด
ง) จัดงานร่าเริงเล่นละคร เป็นครั้งแรก
จ) ยกที่ดิน ให้ทางหลวงผ่านที่นาของวัดนครชัยศรี
ฉ) การแบ่งที่นาให้ชาวบ้านเช่า
ช) คุณพ่อยวงเคียมสูน รักษาการณ์แทน  เดือนมกราคม-สิงหาคม ค.ศ. 1941
 
16. คุณพ่อ ยวง เคียมสูน  นิตโย  (พระสังฆราช ยอแซฟ ยวง นิตโย) 
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสาม ปี ค.ศ. 1942-1947
คุณพ่อปรับปรุงและต่อเติมกิจการต่างๆ ของวัดให้ก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้น คุณพ่อได้ช่วยชาวบ้านเป็นพิเศษ ในปี ค.ศ. 1942  เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย น้ำท่วมภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และชนบท ตำบลท่าข้ามและหมู่บ้านอื่นๆ เช่นกัน วันอาทิตย์ คุณพ่อทำมิสซาอยู่บนระเบียงด้านหลังบ้านพ่อ ส่วนสัตบุรุษก็นั่งเรือฟังมิสซาและสวดภาวนา หมูของวัดก็ไปอยู่ชั้นสองของบ้านซิสเตอร์ ตั้งเดือนครึ่ง 
 
ข้าวปลาและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านก็ได้รับความเสียหายมากมาย คุณพ่อเคียมสูนได้อนุ ญาตให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกไปฝากไว้บนโรงเรียนชายจำนวนมาก และคุณพ่อยังได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งที่เป็นคาทอลิกและไม่ใช่คาทอลิกเต็มความสามารถ
 
คุณพ่อได้ซื้อที่ดิน เป็นสมบัติของวัด ประมาณ 500 ไร่
 
17. คุณพ่ออันตน เอมมานุแอล เดชังป์ แบร์แยร์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสี่ ปี ค.ศ. 1948-1967
 
เมื่อคุณพ่อเคียมสูนได้รับแต่งตั้งเป็นเลาขานุการพระสังฆราชโชแรง  คุณพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1948
จำนวนคริสตังมีถึง 3,500 คน คุณพ่อวิศิฎ์ หริพงศ์  เป็นปลัดผู้ช่วยในการอภิบาลสัตบุรุษ มีโรงเรียนอยู่สองโรง (ชาย-หญิง)
ปัญหาในการอภิบาลสัตบุรุษ คือการแบ่งที่นาให้เช่าและปัญหาการแต่งงานของหนุ่มสาว    
 
คุณพ่อเดชังป์ ได้จัดให้มีการถมดินทำทางระหว่างทางหลวงแผ่นดินกับวัดนักบุญเปโตร และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลอง ถนนสายนี้ ระยะทางประมาณสองกิโลเมตร  ถนนสายนี้ก็พอใช้ได้ นอกจากถนนสายนี้แล้ว คุณพ่อก็เป็นผู้จัดการให้มีถนนหนทาง ติดต่อกันได้สะดวกทุกๆ หมู่บ้าน นับว่าก่อให้เกิดผลได้ทางเศรษฐกิจดียิ่ง
 
18. คุณพ่อโทมัส บัณฑิต  ปรีชาวุฒิ
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบห้า ปี ค.ศ. 1967-1970
วัดที่สร้างในสมัยคุณพ่ออังเดร เยง   ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886 เก่าแก่มาก กำลังชำรุดลงทุกวัน ในปี ค.ศ. 1970  จำนวนคริสตังเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 คน  คุณพ่อจึงคิดว่าจะสร้างวัดใหม่ ให้ใหญ่และสวดงามทันสมัย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านและเพื่อเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนบ่มนิสัยชาวคาทอลิกทุกคนให้เป็นคนดี มีศรัทธาในพระเจ้าที่ตนนับถือ เป็นพลเมืองดีรับใช้ประเทศชาติของตนด้วยความเสียสละ ทั้งนี้เพื่อความสำเร็จของแต่ละคน
 
19. คุณพ่อยอแซฟ อาแบล เก็ง พานิชอุดม
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบหก ปี ค.ศ. 1970-1973
การสร้างวัดใหม่   คุณพ่ออาแบล เห็นว่าวัดอายุ 84 ปี คับแคบเกินไปแล้ว จึงเอาโครงการสร้างวัดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง นำความยินดีให้บรรดาคริสตังทุกคนซึ่งรอคอยมานานแล้ว
 
คุณพ่อตัดสินใจ  เริ่มวางโครงการอย่างรัดกุมทุกอย่าง ดำเนินการสร้างวัดใหม่เร็วที่สุดตามความปรารถนาของทุกคน ที่ต้องการจะได้เห็นวัดใหม่ในเร็ววัน หลังจากนั้น คุณพ่อได้ปรึกษาหารือกันกับทุกๆ ฝ่ายจนเป็นที่ตำลงกันแล้ว คุณพ่อก็ทำการติดต่อในด้านต่างๆ จนเรียบร้อย และได้มอบให้สถาปนิกออกแบบวัดทันดี
 
เลือกสถาปนิกผู้ชำนาญออกแบบ  คุณพ่อได้ขอให้นายปรีชา สุริยมงคล เป็นผู้ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้าง โดยหลักความชื่อในศาสนา ความเชื่อมั่นสูงสุด  คือพระผู้เป็นเจ้า ผู้ประทานความรัก ความเมตตาแก่มวลมนุษย์ ศรัทธาของสัตบุรุษทั้งหลายจึงพุ่งไปยังแท่นที่บูชา ซึ่งถือเหมือนว่าเป็นที่สถิตของพระเป็นเจ้า ดังนั้นการออกแบบจึงออกแบบให้แท่นบูชาอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นจุดรวมเป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจของโบสถ์ และลักษณะแปลนในลักษณะโอบล้อมให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียว พร้อมกันนั้น ความสูงใหญ่ของโบสถ์ก็ยังมีความสำคัญที่จะได้เกิดความรู้สึกเคารพยำเกรงและศรัทธาจากผู้พบเห็น
 
โครงการ  1 หลัง สูง 33.00 เมตร  บ้านพักพระสงฆ์ 1 หลัง  หอระฆังสูง 18.00 เมตร ห้องน้ำสำหรับผู้มาโบสถ์  ในเนื้อที่ 4.12 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี จะแล้วเสร็จปลายปี ค.ศ. 1972
 
คุณพ่อได้เลือกช่างผู้มีฝีมือมาทำการก่อสร้าง และเป็นผู้ที่เคยร่วมงานมากับคุณพ่อหลายครั้งแล้ว ประกอบกับแบบวัดที่เขียนขึ้นก็มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นๆ มีความโอ่อ่าและงดงามที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการก่อสร้างเป็นพิเศษ
 
เสกศิลาฤกษ์ วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1971 ในโอกาสที่เป็นวันฉลองวัดนักบุญเปโตร ก็ได้ถือโอกาสในวันนี้ เป็นวันวางศิลาฤกษ์วัดใหม่ด้วย  โดยพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย  ได้เสกศิลาฤกษ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัดใหม่ แต่การก่อสร้างได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว
 
ดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จ  เป็นที่น่าปลาบปลื้มยินดีและน่าขอบคุณพระเป็นเจ้าที่พระ องค์ทรงบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คำสวดวิงวอนของเราทุกคนประสบผลแล้ว พระองค์ไม่ทิ้งเราเลย ทุกสิ่งทุกอย่างพระเป็นเจ้าจะให้เรา เมื่อพระองค์เห็นว่าเป็นเวลาที่สมควรจะให้  และขณะนี้พระองค์ได้ให้สิ่งที่เราทุกคนต้องการ
 
พิธีเสกวัดใหม่ วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1972  ความภูมิใจของคุณพ่อเจ้าวัดและสัตบุรุษวัดนครชัยศรี
 
สิ่งที่ตั้งสูงเด่นเป็นสง่า และเห็นแต่ไกล ในเนื้อที่กว้างขวางหลาบสิบไร่ ทุกครั้งที่แหงนมองต้องซ่อนยิ้มไว้ในหน้า ความภูมิใจปรากฏขึ้นกับทุกคนทุกครั้งที่ได้มอง เพราะสิ่งที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าเราคือ “วัดใหม่”  ...ถนนคอนกรีตสลับหญ้าที่เขียวชอุ่มรอบๆ วัด ในเนื้อที่กว้างขวางน่าอยู่อะไรอย่างนี้ นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ ผู้ที่เหนื่อยที่สุดในการสร้างวัดครั้งนี้ก็คือ คุณพ่ออาแบล คุณพ่อได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่องานชิ้นนี้ ถึงแม้คุณพ่อจะเหนื่อยคุณพ่อก็ยอมทน แต่วันนี้และเดี๋ยวนี้ไม่มีความเหนื่อยเหลืออยู่เลย มีแต่ความสุข ความภูมิใจ เมื่อทุกสิ่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
 
20. คุณพ่อเปโตร ศวง ศุระศรางค์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเจ็ด ปี ค.ศ. 1973-1979
 
ในระยะเวลา 6 ปี ที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาส  คุณพ่อได้จัดตั้งกลุ่มและชมรมต่างๆ หลายอย่าง ทำให้สัตบุรุษได้รวมตัวกันในกิจกรรมของวัดและสังคม เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร สามพราน จำกัด, สหกรณ์ร้านค้า,  สหกรณ์การปศุสัตว์ สามพราน จำกัด, เครดิตยูเนียน, ชมรมรถ 2 แถว,  ชมรมบาสเกตบอลล์,  กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ
 
ด้านงานพัฒนา ได้ดัดแปลงวัดเก่าเป็นห้องเรียน ซึ่งเด็กนักเรียนมีมากขึ้น และเป็นที่ทำการเครดิตยูเนียน  ซึ่งรุ่งเรื่องมากในสมัยนั้น  ได้สร้างสุขาหญิงแยกจากชาย (นักเรียน) สร้างประตูทางเข้าสุสานใหม่  ติดไฟฟ้าสนามบาสเกตบอลล์ และสร้างอัฒจันทร์  ได้เริ่มรังวัดที่ดินเพื่อเตรียมแบ่งเป็นโฉนดย่อย
 
21. คุณพ่อมีคาแอล มารีอา อดุล  คูรัตน์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบแปด ปี ค.ศ. 1979-1983
      คุณพ่อกิตติศักดิ์ กาญจนธานินทร์    ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1980 -1983  
      คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์                ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ.1981-1982   
      คุณพ่อเอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1982 -1984
 
คุณพ่อได้เห็นกลุ่มในสมัยคุณพ่อศวง มีมากไป จึงได้ยุบเหลือ 4-5 กลุ่มเท่านั้น  คุณพ่อเน้นการร่วมพิธีกรรม และแก้บาปรับศีล คุณพ่อได้พยายามขจัดเรื่องอบายมุขต่างๆ โดยออกตรวจตราพร้อมคณะสายตรวจตอนค่ำคืน อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง  และเนื่องจากเป็นคนร่างใหญ่ และชอบทำงานแบบกรรมกรแบกหาม จึงเป็นผู้ลงมือทำงานคล้ายสมัยยังเป็นเณรที่ศรีราชา ยามที่ต้องพึ่งตนเองมากเป็นพิเศษ ได้เข้มงวดเรื่องที่ดินของวัด และจัดระเบียบให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น 
 
ด้านสิ่งปลูกสร้าง  คุณพ่อได้ขออนุญาตสร้างบ้านพักพระสงฆ์, บ้านพักซิสเตอร์ และหอประชุมตามโครงการ  พร้อมกับจัดซื้อโต๊ะและม้านั่งรับประทานอาหารใหม่, ได้สร้างโรงเก็บรถยนต์, ได้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนสร้างโรงเรียนนักบุญเปโตรหลังใหม่ ...ได้ลงมือสร้างในสมัยคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย
 
 
22. คุณพ่อยวง สุเทพ พงษ์วิรัชไชย
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเก้า ปี ค.ศ. 1983-1989
      คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์      ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ.1984-1985
      คุณพ่อสุรพันธ์ ดาวพิเศษ      ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1984-1986
      คุณพ่อศิริพจน์ สกุลทอง       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1985-1989   
 
คุณพ่อได้เริ่มการก่อสร้างโรงเรียนนักบุญเปโตรหลังใหม่แทน 2 หลังเก่าที่เริ่มเสื่อมลงตามกาลเวลา ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลได้ให้สถาปนิกทำแผนผังบริเวณรอบๆ ให้เป็นงานชิ้นเดียวแบบต่อเนื่อง 
 
ประมาณต้นปี ค.ศ. 1984 การตีผังบริเวณอาคารเรียนใหม่ก็เริ่มลงมือ โดยมีบริษัทเญจมงคล จำกัด เป็นผู้ประมูลการก่อสร้าง  ได้ในวงเงิน10,302,80 บาท รวมอาคารห้องน้ำชั้นเดียวอีก 1 ห้อง  คุณพิชัย  ชัยมงคลตระกูล  ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ได้พยายามสร้างเพื่อให้ทันปีการศึกษา 2528  ซึ่งบัดนี้ได้ขออนุญาตใช้อาคารเรียนแล้ว การปรับปรุงบริเวณยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ  แม้ภาวะทางด้านเศรษฐกิจไม่สู้ดีนักในช่วงจังหวะที่เริ่มลงสร้างอาคารเรียนหลังใหม่นี้ แต่น้ำจิตน้ำใจและพลังสามัคคีทั้งของเด็กนักเรียนและผู้ปกครองอีกทั้งคณะครู ได้ช่วยทำให้การก่อสร้างดำเนินไปเรื่อยๆ ภายใต้การอุปการะเป็นพิเศษของพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู  และการเอาใจช่วยของพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย  ตลอดมา
 
นอกจากอาคารเรียนหลังใหม่ การสร้างโรงอาหารสำหรับนักเรียน และผู้ปกครอง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ตามมา 
 
พัฒนาบริเวณวัด ถนนคอนกรีต  ต้นไม้  สวนหย่อนใจ  เพื่อให้การสัญจรในบริเวณวัดและโรงเรียนได้สะดวกขึ้น คุณพ่อสุเทพจึงทำการเทถนนคอนกรีต รอบบริเวณจนดูสะอาดตา พร้อมๆ กับเร่งปลูกต้นไม้ทดแทนของเดิมที่ต้องล้มหายตายจากเพราะกาลเวลา ต้นมะขามยังเป็นสัญลักษณะที่เห็นได้บ้างสำหรับแนวทางของวัดเก่า และบริเวณตลาดนัด รวมทั้งท่าน้ำขึ้นลงของผู้โดยสารทางเรือ ซึ่งนับวันจะน้อยลงไป
 
การปรับปรุงลานหน้าวัดเพื่อเป็นสวนหย่อนใจ และที่พักผ่อนด้านจิตใจ กำลังเป็นโครง การรีบเร่งให้ทันการ ฉลองการบวชครบ 50 ปี ของพระสังฆภาพของพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย ในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1985  ถ้ำแม่พระเมืองลูรดส์และรั้ววัด ก็จะเป็นการบ่งบอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย
 
กลุ่มต่างๆ ยังคงมีเช่นเดิม มีกลุ่มพลมารีเยาวชน นักเรียน และกลุ่มพลศีลที่กำลังดำเนินการอยู่ หลังจากได้จัดตั้งมาปีเศษแล้ว หวังว่า นักบุญเปโตร คงจะอำนวยการได้กิจการงานดำเนินไปด้วยดีต่อไป
 
ในปี ค.ศ. 1989  คุณพ่อได้สร้างวัดหลังปัจจุบัน เนื่องจากวัดหลังเก่าที่สร้างในสมัยคุณพ่ออาแบลได้เกิดเพลิงไหม้จนเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้อีก อีกทั้งได้พัฒนาบริเวณวัดโดยจัดให้มีสวนหย่อม และอนุสาวรีย์นักบุญเปโตรด้านตรงข้ามวัด เปิดเสกวัด เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1989
 
 
23. คุณพ่อชาร์ลส์ ปิยะ  โรจนะมารีวงศ์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบ ปี ค.ศ. 1989-1994 
      คุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล    ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1987-1992
       คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1993-1994
 
24. คุณพ่อซิลวีโน สนัด  วิจิตรวงศ์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบเอ็ด ปี ค.ศ. 1994-1999
     คุณพ่อจินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1994 - 1996
     คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล     ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1994 - 1995 
      คุณพ่อประทีป สุทธินาวิน       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1995- 1997
      คุณพ่อพรชัย บรัศวกุล          ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1997- 1999
      คุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์         ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1997- 2002
      คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1998- 2005
 
25. คุณพ่อยอแซฟ ประทีป  กีรติพงศ์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบสอง ปี ค.ศ. 1999-2004
       คุณพ่อฉลองรัตน์ สังขรัตน์         ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1998- 2005
       คุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์             ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1997- 2002
       คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ     ผู้ช่วยเจ้าวาส ปี ค.ศ. 2002-2003
 
26. คุณพ่อเปโตร สานิจ  สถะวีระวงส์
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบสาม ปี ค.ศ. 2004-2009
         คุณพ่อพรชัย แก้วแหวน           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2003-2007 
       คุณพ่อโชคชัย คูรัตนสุวรรณ       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2003- 2005 
        คุณพ่อสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา     ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2005-2010
        คุณพ่อกุลบุตร ตรีมรรคา            ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2005-2006
        คุณพ่อธนันต์ธง สุขสุทิพย์         ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2006-2008
        คุณพ่อเอกชัย โสรัจจกิจ           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2008-2011
 
27. คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ สำรวย  กิจสำเร็จ
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบสี่ ปี ค.ศ. 2009-2014
         คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2009-2014
         คุณพ่ออิทธิพล ศรีรัตนะ          ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2010-2011
         คุณพ่อคมสันท์ ยันต์เจริญ        ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2011-2017
         คุณพ่อบุญชรัสมิ์ สุขสว่าง        ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2011-2013
         คุณพ่อวรพจน์ วิสิฐนนทชัย      ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2013-2018
 
28. คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง 
 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบห้า ปี ค.ศ. 2014-2021
         คุณพ่อพลาพล ลิ้มสุธาโภชน์    ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2017-2021
         คุณพ่อนิพนธ์ สิริวราวุธ           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ปี ค.ศ. 2018-2020
          คุณพ่ออวิรุทธิ์ พันธ์ขาว           ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2020-2021   
 
วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2014 ครบรอบ 14 ปี แห่งการสถาปนาคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี
 
วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2014 วันยกระฆังขึ้นสู่ยอดสักการสถาน (มีระฆัง 12 ใบ)
 
ปี ค.ศ. 2015 วันที่ 20 เมษายน “ศิษย์พระคริสต์ เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่” พิธีบูชาขอบพระคุณเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 1 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ณ วัดนักบุญเปโตร สามพราน
 
วันที่ 29 มิถุนายน - 24 กรกฎาคม กิจกรรมนักบุญเปโตรเยี่ยมบ้าน โอกาสเตรียมฉลอง 175 ปี ชุมชนความเชื่อวัดนักบุญเปโตร โดยการนำนักบุญเปโตรเข้าทุกซอย เพื่อเยี่ยมบ้านสัตบุรุษในชุมชน หลังจากนั้นมารวมกันที่จุดในแต่ละเขต เพื่อร่วมกันสวดภาวนาขอพร และคำนับนักบุญเปโตร แบ่งเป็นทั้งสิ้น 20 จุด โดยในแต่ละวันมีผู้มาร่วมภาวนาประมาณ 300-400 คน
 
วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม วัดนักบุญเปโตร สามพราน ได้จัดงานสมโภชยิ่งใหญ่ คือ งานสมโภช 175 ปี พิธีบูชาขอบคุณ โอกาส 175 ปี วัดนักบุญเปโตร สามพราน โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พร้อมด้วย พระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ และพระสังฆราชกิตติคุณ ยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์ มีการจัดแสดงนิทรรศการ มีตัวแทนแต่งกายย้อนยุค เพื่อร่วมในขบวนแห่ในพิธีบูชาขอบพระคุณหลังมิสซา มีกีฬาสัมพันธ์ และการละเล่นพื้นบ้าน โดยรวมชุมชน แข่งขันกันเป็นหมู่ๆ ทั้ง 6 หมู่
 
วันที่ 22 สิงหาคม วันชุมนุมวิถีชุมชนวัดอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ช่วงบ่ายมีการแบ่งปันกลุ่มย่อย เพื่อศึกษาและแบ่งปันพระคัมภีร์ร่วมกัน
 
วันที่ 29 สิงหาคม อบรมผู้ช่วยพิธีกรรม โดยคุณพ่อวรพจน์ วิสิฐนนทชัย
 
วันที่ 10 ตุลาคม พิธีรื้อฟื้นคู่สมรส ที่แต่งงาน 50ปี ขึ้นไป และ 25-49 ปี ของเขต 5 คู่สมรสที่แต่งงานครบ 50 ปี ทั้งสิ้น 37 คู่ และคู่สมรสที่แต่งงานครบ 25 ปี ทั้งสิ้น 98 คู่ รวม 135 คู่
 
วันที่ 7 พฤศจิกายน อบรมผู้อ่านพระคัมภีร์ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
 
วันที่ 13 ธันวาคม การจัดแข่งขันตอบคำถามพระคัมภีร์ “หนังสือกิจการอัครสาวก” โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 54 คู่
 
ปี ค.ศ. 2016 วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ชมรมฆราวาสเขต 5 จัดแสวงบุญสัตบุรุษ เขต 5 เดินทางแสวบุญเยี่ยมวัดในกรุงเทพฯ 5 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน, วัดคอนเซปชัญ, วัดซางตาครู้ส กุฎีจีน, วัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ และอาสนวิหารอัสสัมชัญ เดินทางโดยทางเรือ มีสัตบุรุษจากวัดนักบุญเปโตรเข้าร่วมจำนวน 183 คน
 
วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2016  “สิ่งแวดล้อมสวยงาม ธรรมชาติรู้รักษา ร่วมกันพัฒนา หน้าบ้านน่ามอง” คุณพ่ออดิศักดิ์ ร่วมกับซิสเตอร์ สภาภิบาล คณะผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนเปโตร นายกฯ อบต. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และพนักงาน อบต.ท่าข้าม รวมถึงชมรมดอกลำดวน กลุ่มองค์กรต่างๆ และสัตบุรุษ ร่วมมือร่วมแรงกันเพื่อทำความสะอาดถนนในหมู่บ้านของเรา และเพื่อเตรียมสำหรับการฉลองวัดและเป็นงานจิตอาสา ตามสมณสาสน์ LAUDATO SI  จงสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
 
วันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2016 คณะพลมารีระดับชาติ จัดแสวงบุญที่วัดนักบุญเปโตรและสักการสถานบุญราศีฯโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
 
วันที่ 10 กันยายน ค.ศ.2016 สักการสถานบุญราศีฯ จัดคอนเสิร์ตเพื่อการรำพึงภาวนา นำเสนอบทเพลงฉลองปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม เวลา 16.30-18.00 น.
 
วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 การเดินเท้าภาวนา จาริกแสวงบุญ และพิธีบูชาขอบพระคุณ ปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาส พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธานในพิธี
 
วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2016 มิสซาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วาระครบ 50 วันแห่งการสวรรคต 
 
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 พิธีเปิดและเสกอาคารเรียนหลังใหม่ “อาคารบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” ณ โรงเรียนนักบุญเปโตร โดยพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน
 

ปี ค.ศ. 2018 วัดได้จัดทำปฏิทินแขวนชุดพิเศษ สำหรับพี่น้องสัตบุรุษของวัด มีภาพชีวิตและกิจกรรม พร้อมกำหนดการวันฉลองและวันสำคัญต่างๆ และบทภาวนาประจำชุมชนตลอด 12 เดือน

ด้วยความร่วมมือของทางวัด โรงเรียน สภาภิบาล และชุมชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกันด้วยการไปเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชน โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เป็นประจำทุกวันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

วันที่ 21 มกราคม สภาภิบาลวัด ร่วมสัมมนาและประชุมใหญ่และสังสรรค์ประจำปีชมรมฆราวาสเขต 5 สักการสถานบุญราศีฯ เวลา 12.00-16.00 น. โดยมีคุณพ่อเชษฐา ไชยเดช มาแบ่งปันเกี่ยวกับ “กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย คริสตศักราช 2015” หลังจากบรรยายแล้ว แต่ละวัดได้ประชุมวางแผนร่วมกันที่จะทำอย่างไรบ้างเพื่อตอบข้อเสนอเรียกร้องของกฤษฎีกาสมัชชาใหม่ “ศิษย์พระคริสตเจ้าเจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่” และแต่ละวัดรายงานผลการดำเนินงานอภิบาลประจำปี 2560

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เริ่มวิถีชุมชนวัดแห่งใหม่ ชุมชนคลองนา โดยการนำของคุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง และทีมงานสภาภิบาล

วันที่ 4 มีนาคม คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร นำคณะสัตบุรุษร่วมมิสซาระลึกถึงวันสถาปนาบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ณ พระแท่นใต้อาสนวิหารอัสสัมชัญฯ

วันที่ 9-10 มีนาคม “เฝ้าศีล 24 ชั่วโมงเพื่อพระคริสตเจ้า” สู่ “มิสซาเทิดพระเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง”

วันที่ 19 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม กิจกรรมนักบุญเปโตรเยี่ยมบ้าน โอกาสเตรียมฉลองวัดนักบุญเปโตร โดยการนำนักบุญเปโตรเยี่ยมบ้านสัตบุรุษในชุมชน หลังจากนั้นมารวมกันที่จุดในแต่ละเขต เพื่อร่วมกันสวดภาวนา ขอพร และคำนับนักบุญเปโตร แบ่งเป็นทั้งสิ้น 10 จุด โดยในแต่ละวันมีผู้มาร่วมภาวนา ประมาณ 200-300 คน

วันที่ 21 กรกฎาคม การชุมนุมผู้สูงอายุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จัดขึ้นที่วัดนักบุญเปโตร

วันที่ 5 สิงหาคม ฉลองวัดประจำปี ประธานพิธีโดย พระสังฆราชยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม ประมุขแห่งสังฆมณฑลเชียงราย

วันที่ 9 กันยายน วัดได้จัดกิจกรรม “วันธรรมทูตน้อย ตามรอยมิชชันนารี 350 ปีมิสซังสยาม” เป็นกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนของวัด จะได้รวมพลังและเรียนรู้การเป็นธรรมทูต ได้รับรู้และเห็นแนวทางในการปฏิบัติตนในฐานะที่เป็นเยาวชนชนคาทอลิก ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.

วันที่ 13 ตุลาคม ภาวนาวจนพิธีกรรม 2 ปีวันเสด็จสวรรคต ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ปี ค.ศ. 2019 ด้วยความร่วมมือของทางวัด โรงเรียน สภาภิบาล และชุมชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกันด้วยการไปเยี่ยมผู้สุงอายุในชุมชน โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เป็นประจำทุกวันศุกร์ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม นำโดยคุณพ่อและซิสเตอร์

คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง เจ้าอาวาสนำตัวแทนคณะครู นักเรียนเข้าเยี่ยม ทำกิจกรรมแบ่งปันความรักและกำลังใจให้ ณ สถานแรกรับและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี ทุกๆ วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง นำคณะพระสงฆ์ คุณครูคำสอน และตัวแทนสภาภิบาล เข้าสอนคำสอนแบ่งปันความรักในเรือนจำกลางจังหวัดนครปฐม ทุกวันอังคาร สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน

วันที่ 11 มกราคม มิสซาฉลองสักการสถานประจำปี ฉลอง 75 ปี มรณกรรมบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด และพิธีบวชพระสงฆ์ โดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช  เป็นประธาน

วันที่ 2 มีนาคม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญการสถาปนาเป็นบุญราศีของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ทางวัดได้จัดการเดินเท้าก้าวตามบุญราศีฯ ฉลอง 75 ปี มรณกรรมพ่อบุญเกิด เป็นการเดินเท้าภาวนาจากอารามคาร์แมลมายังวัดนักบุญเปโตร วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม เริ่มด้วยการตั้งศีลฯ เวลา 17.00 น. ณ วัดประจำอารามคาร์แมล มีการรับศีลมหาสนิท จากนั้นเริ่มขบวนแห่ศีลมหาสนิทและรูปท่านบุญราศีฯ และร่วมพิธีมิสซาเวลา 19.00 น.

วันที่ 3 มีนาคม คุณพ่อนุสรณ์ แก้วขจร นำคณะสัตบุรุษร่วมมิสซาฉลอง 75 ปี แห่งมรณกรรม และ 19 ปี แห่งการสถาปนาบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง ณ พระแท่นใต้อาสนวิหารอัสสัมชัญ มิสซาเวลา 15.00 น.

วันที่ 26 พฤษภาคม คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร นำทีมรวบรวมคริสตังใหม่ และปีก่อนทุกรุ่นร่วมจาริกแสวงบุญโอกาสฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม ณ วัดซางตาครู้ส

วันที่ 15 มิถุนายน ตัวแทนสัตบุรุษ เข้าร่วมฉลอง 350 ปี มิสซังสยามในระดับสังฆมณฑล ณ วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา

วันที่ 27 กรกฎาคม "วัด โรงเรียน ชุมชน รวมพลจิตอาสา BIG CLEANING DAY" คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง เจ้าอาวาสร่วมกับพระสงฆ์ ซิสเตอร์ สภาภิบาล คณะผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนนักบุญเปโตร นายกฯ อบต. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และพนักงานอบต. ท่าข้าม รวมถึงชมรมองค์กรต่างๆ ร่วมมือร่วมแรงกันเพื่อทำความดีด้วยหัวใจ โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ 
1. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
2. เพื่อตอบรับพระสมณสาส์น Laudato Si ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่ทรงห่วงใย และขอให้พวกเรารักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. เพื่อเตรียมฉลองวัดประจำปี ที่กำลังจะมาถึง
4. เพื่อปลุกจิตสำนึกการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนในชุมชน

วันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ฉลองวัดประจำปี โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี

วันที่ 22 พฤศจิกายน การรับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทางวัดได้เตรียมการต้อนรับจากทุกวัด ทุกสังฆมณฑลรวมถึงชาวต่างชาติจำนวนรวมๆ 19,000 คน 

การไตร่ตรองการเสด็จมาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (โดยคุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร)

1. นอกเหนือจากการประกอบพิธีมิสซากับประชาสัตบุรุษ ที่สนามศุภชลาศัย และกับบรรดาเยาวชนที่อาสนวิหารแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสยังทรงปรารถนาที่จะพบปะเพื่อประทานโอวาทพิเศษแก่บรรดาพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง สามเณร ผู้ฝึกหัด และครูคำสอน ภายในวัดนักบุญเปโตร สามพราน รวมทั้งให้คณะพระสังฆราชไทย พร้อมกับพระสังฆราชจากเอเชียจำนวนหนึ่งได้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ภายในสักการสถานบุญราศีฯ พระสังฆราชแต่ละท่าน จะเดินเข้าไปคำนับ และสนทนาสั้นๆ กับพระองค์ หลังจากที่พระองค์ได้ประทานโอวาทจบแล้ว

2. แต่ก่อนที่จะทรงพบปะกับทั้งสองกลุ่มนี้ พระองค์จะประทับบนรถพระที่นั่งเปิดประทุนซึ่งจะขับช้าๆ ผ่านบรรดาประชาสัตบุรุษ ทุกกลุ่ม ทุกโซน ที่มารอรับเสด็จทั่วบริเวณ บางคนอาจจะได้รับโอกาสที่ดี ได้สัมผัสพระหัตถ์ของพระองค์ ฯลฯ

3. แม้เมื่อพระองค์ประทับอยู่ภายในวัด และภายในสักการสถานบุญราศีฯ ภาพและเสียงของพระองค์ และของบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชาย - หญิง  สามเณร ผู้ฝึกหัด และครูคำสอน ก็จะปรากฎบนจอขนาดใหญ่ที่มีการถ่ายทอดสด เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ทั่วบริเวณ ได้เห็น ได้ยิน เพื่อร่วมในบรรยากาศเดียวกัน

4. วัดนักบุญเปโตร และชุมชนคาทอลิกวัดนักบุญเปโตร จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนของวัด ของชุมชนคาทอลิก ทั่วประเทศไทยที่ทำให้เรามองเห็นภาพของความเป็นพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ซึ่งเปรียบประดุจเรือลำใหญ่ที่มีพระสันตะปาปา ผู้แทนของพระเยซู เป็นผู้นำเรือลำนี้ล่องไป ในกระแสแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรัก

5. บรรดาพระสังฆราช ซึ่งทำหน้าที่อันสำคัญ คือ เป็นทั้งผู้ปกครอง ผู้อภิบาล และผู้ประกาศข่าวดี พวกท่านเหล่านั้น คงจะสุขใจไม่น้อย ที่ได้รับฟังโอวาทจากพระสันตะปาปา อันจะกระตุ้นเตือนให้พวกท่าน ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากใดๆ 

6. บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง จึงเป็นเสมือนผู้แทนของบรรดามรณสักขีแห่งสองคอน อีก 7 ท่าน รวมไปถึงบรรดาธรรมทูตอีกมากมาย ที่ได้ฝากเส้นทางชีวิตอันงดงามด้วยความเชื่อให้พวกท่าน บรรดาพระสังฆราชได้เดินตาม และพร้อมอุทิศตนเช่นกัน

7. สำหรับบรรดาสัตบุรุษ ผ่านทางศีลล้างบาป เราทุกคนก็ได้กลายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า การเตรียมรับเสด็จพระสันตะปาปา ที่มีความและเหมาะสมยิ่งก็คือ ทำให้เนื้อที่ชีวิต อันหมายถึงดวงใจของเรา มีความดี มีความคิดที่ดี และเปี่ยมด้วยสันติสุข เพื่อให้การเสด็จเยือนของพระสันตะปาปา นำพาให้ชีวิตและจิตใจของเราได้สัมผัสความรักของพระ และได้รับเสด็จพระสันตะปาปาด้วยรอยยิ้มที่อาบอิ่มด้วยความรู้สึกที่ดี และเก็บไว้เป็นความทรงจำที่งดงามเช่นกัน

วันที่ 15 ธันวาคม จัดมิสซาโมทนาคุณพระเจ้าและร่วมแสดงความยินดีโอกาสฉลอง 60 ปีชีวิตสงฆ์ และสิริอายุ 90 ปีของ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู และในโอกาสนี้ได้ทำพิธีเสกอนุสาวรีย์บุญราศี คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง และยังเป็นวันชุมนุมพระสงฆ์ นักบวช ลูกวัดนักบุญเปโตรอีกด้วย

 

29. คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์


ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบหก ปี ค.ศ.2021-2023
   คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์         ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ.2021-2023
   คุณพ่อสมภพ เรืองวุฒิชนะพืช       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ.2021-2022
   คุณพ่อกิตติศักดิ์ กิจสำเร็จ            ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2021-ปัจจุบัน
   
คุณพ่อสุพัฒน์ หลิวสิริ                 ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และผู้จัดการสักการสถานฯ ปี ค.ศ. 2022-2023                                 

ปี ค.ศ. 2021 

- สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ทำให้ต้องงดมิสซา และการบริการต่างๆ เป็นระยะๆ 

- ปรับปรุงซ่อมแซมหลังคาวัดที่น้ำรั่วและฝ้าผนัง ปรับปรุงบริเวณรอบวัด  ปรับปรุงศาลาสันติสุข ปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักซิสเตอร์ ปรับปรุงที่จอดรถคณะครู ปรับปรุงตลาดนัดของวัด

- วัดจัดทำปฏิทินแขวนชุดพิเศษ สำหรับพี่น้องสัตบุรุษของวัด มีภาพชีวิตและกิจกรรมพร้อมกำหนดการวันฉลอง และวันสำคัญต่างๆ และบทภาวนาประจำชุมชนตลอด 12 เดือน

- วันที่ 1 มกราคม มิสซาออนไลน์ สมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเจ้า  (วันขึ้นปีใหม่)   เวลา 10.00 น. หลังมิสซามีการถวายช่อดอกไม้แด่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์

- วันที่ 12 มกราคม มิสซาออนไลน์ ฉลองสักการสถานประจำปี เทิดเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เวลา 19.00 น.โดยคุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร ประธานในพิธี

- วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มิสซาออนไลน์ฉลองการถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร (มิสซาเสกเทียน) ณ วัดนักบุญเปโตร เวลา 19.00 น.

- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ มิสซาออนไลน์ พิธีเสกสุสานประจำปี มิสซาเวลา 08.00 น. ในสุสานฯ คุณพ่อพลาพล ลิ้มสุธาโภชน์ เป็นประธานในพิธี

- วันที่ 12 กุมภาพันธ์ มิสซาฉลองตรุษจีน วันปีใหม่ พิธีมิสซาเวลา 09.00 น. หลังจากนั้น มีอวยพร เสกและแจกส้ม งดการเสกรถและงดการเชิดสิงโต

- วันที่ 13 กุมภาพันธ์ มิสซาออนไลน์ มิสซาเทิดเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง โดย คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร ประธานในพิธี

- วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มิสซาโมทนาคุณพระ ขอบคุณและร่วมแสดงความยินดีกับคุณพ่อทั้ง 4 ท่าน โอกาสรับหน้าที่ใหม่ มิสซาเวลา 10.00 น. หลังมิสซารับประทานอาหารร่วมกัน ณ คลุมลาน 160 ปีโรงเรียนนักบุญเปโตร

- วันที่ 7 มีนาคม มิสซาต้อนรับคุณพ่อเจ้าอาวาสและคุณพ่อผู้ช่วยทุกท่าน โอกาสมารับหน้าที่ที่วัดนักบุญเปโตร มิสซาเวลา 9.30 น.

- วันที่ 13 มีนาคม มิสซาเทิดเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (แห่พระธาตุ) โดย คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ประธานในพิธี

- วันที่ 16 มีนาคม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ได้ดำเนินการทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับวัด สักการสถานฯ และตลาดนัดวัดนักบุญเปโตร

- วันที่ 1-3 เมษายน พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ การโปรดศีลล้างบาปผู้ใหญ่ คริสตชนใหม่ที่เรียนคำสอน รวมทั้งสิ้น 15 คน

- วันที่ 6 เมษายน น้องเณรเล็กลูกวัดนักบุญเปโตร กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ ร่วมด้วยช่วยกันปรับภูมิทัศน์บริเวณถ้ำแม่พระ

- วันที่ 7 เมษายน น้องเณรเล็กลูกวัดนักบุญเปโตร กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ ช่วยกันจัดเตรียมห้องสอนคำสอนสำหรับคริสตชนใหม่ ณ สักการสถานฯ ย้ายจากห้องเรียนบ้านพักพระสงฆ์ที่คับแคบไปให้มีพื้นที่มากกว่าเดิม พร้อมสำหรับการสอนคำสอนคริสตชนใหม่รุ่นต่อไป

- วันที่ 10 เมษายน มิสซาเทิดเกียรติบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เวลา 19.00 น. ก่อนจบมิสซามีการอ่านเรื่องราวการขอพระจากสมุด Vox Populi หลังจากนั้นแห่รูปของท่านบุญราศี

- วันที่ 11 เมษายน มิสซาร่วมแสดงความยินดีโอกาส 50 ปีชีวิตสงฆ์ (1971-2021) คุณพ่อชาร์ลส์ปิยะ โรจนะมารีวงศ์ (อดีตเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตร ค.ศ. 1989 - ค.ศ. 1994)  มิสซาเวลา 10.00 น. หลังมิสซาร่วมแสดงความยินดีคุณพ่อและร่วมรับประทานอาหาร ณ คลุมลาน 160 ปีโรงเรียนนักบุญเปโตร

- วันที่ 12 เมษายน คุณพ่อ บราเดอร์ น้องเณรเล็กลูกวัด ร่วมกับคณะกรรมการอาสาบุญราศีฯ กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ จัดระเบียบห้องเก็บของ เช็คจำนวนพระธาตุและของเครื่องใช้ในสักการสถานฯ

- เดือนพฤษภาคม เนื่องจากทางอำเภอไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดมิสซาแบบสาธารณะ ทางวัดจึงมีมิสซาออนไลน์ ตามตารางดังนี้

วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 17.00 น. สวดสายประคำ และเวลา 17.30 น. พิธีมิสซาออนไลน์

วันเสาร์ เวลา 18.30 น. นพวารแม่พระนิจจานุเคราะห์ และเวลา 19.00 น. พิธีมิสซาออนไลน์

วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น. สวดสายประคำ และเวลา 9.30 น. พิธีมิสซาออนไลน์

- วันที่ 13 พฤษภาคม มิสซาออนไลน์ โอกาสฉลองแม่พระฟาติมา หน้าถ้ำแม่พระ 17.00 น.  สวดสายประคำ และ 17.30 น. มิสซา

- วันที่ 16 พฤษภาคม คณะคุณพ่อ ตัวแทนสภาภิบาลและคณะครู เป็นตัวแทนสัตบุรุษต้อนรับซิสเตอร์ทั้ง 4 ท่านโอกาสรับหน้าที่ใหม่ที่วัดและโรงเรียนนักบุญเปโตร

- เดือนมิถุนายนเป็นเดือนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า กิจศรัทธาพิเศษตลอดเดือนนี้

วันที่ 6 มิถุนายน โอกาสสมโภชพระวรกายและโลหิตพระคริสตเจ้า คณะคุณพ่อได้อัญเชิญศีลมหาสนิทไปอวยพรพี่น้องในหมู่บ้านของเรา เพื่อทุกท่านจะได้รับพรจากศีลมหาสนิทพร้อมกัน โดยแบ่งเส้นทางเป็น 2 สาย มีการถ่ายทอดผ่านทางเพจและเฟชบุ๊คของวัด โดยระหว่างการอัญเชิญศีลมหาสนิท คุณพ่อจะนำภาวนา - ร้องเพลง และอวยพรศีลมหาสนิท สลับกันไปจนสิ้นสุดทางและกลับมา ณ สักการสถานฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อขบวนผ่านหน้าบ้านให้ทุกท่านมายืนรอที่ประตูเพื่อรับพร โดยยังคงรักษามาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

- วันที่ 11 มิถุนายน ทางวัดประกาศเรื่องการใช้ E-Donation คือเปิดบริการทำบุญหรือขอมิสซาผ่านการโอนเงินแบบ E-Donation การโอนเงินระบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยอดเงินเพื่อหักภาษี เพราะสามารถเลือกที่จะให้ระบบหักภาษีได้โดยอัตโนมัติ

- วันที่ 27 มิถุนายน โอกาสเปิดเดือนพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ทางวัดนำโดยคุณพ่อและสังฆานุกร อัญเชิญรูปพระหฤทัยฯ ไปตามหมู่บ้านของเรา เพื่ออวยพรและให้กำลังใจพี่น้อง สำหรับความยากจนลำบากที่เกิดขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ (เมื่อขบวนผ่านหน้าบ้านให้ทุกท่านมายืนรอที่ประตูเพื่อรับพรจากพระหฤทัยฯ พร้อมเพรียงกัน โดยยังคงรักษามาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด)

- เดือนกรกฎาคม กิจศรัทธาพิเศษแด่ท่านนักบุญยอแซฟ ตลอดเดือนนี้ วันธรรมดาก่อนมิสซา สวดสายประคำนักบุญยอแซฟ ทุกวันพุธ มีพิธีนพวารนักบุญยอแซฟ เวลา 17.30 น. หลังพิธีมีการภาวนาเพื่อขอรับพระคุณการุณย์โอกาสปีนักบุญยอแซฟ

- เดือนกรกฎาคม - กันยายน  ทุกวันศุกร์ทางศูนย์ช่วยเหลือตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร มีผู้มีน้ำใจดีนำอาหารสดมาให้เพื่อร่วมกันทำและแจกให้ชาวบ้านในชุมชนวัด รวมถึงทุกวันที่ 22 ของทุกเดือนจะมีอาหารพร้อมทานและน้ำสมุนไพรต่างๆ แจกด้วยเช่นกัน

- วันที่ 16 กรกฎาคม วจนพิธีกรรมเปิดปีครอบครัววัดนักบุญเปโตร ณ ตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร ตามที่พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ประกาศไว้ให้ปีนี้เป็นปีครอบครัว แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราจึงไม่สามารถจัดกิจกรรมใดๆ ได้ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในเขตวัดมีจำนวนมากพอสมควร ทางวัดโดยคณะกรรมการอภิบาลครอบครัว ร่วมกับตึกฟรังซิส ซึ่งใช้เป็นศูนย์อบรมเตรียมคู่แต่งงานและชีวิตครอบครัว ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปีครอบครัวขึ้น เน้นที่ครอบครัวอภิบาลครอบครัว ครอบครัวช่วยเหลือครอบครัว โดยมีคณะกรรมการอภิบาลครอบครัวเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือ ประสานงาน ส่งมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคตามบ้านได้จัดงานฉลองปีครอบครัวตามวัตถุประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา 2 ประการคือ

1.ให้ครอบครัวเป็นครอบครัวอภิบาล และ 2. การขยายขอบเขตและพันธกิจแห่งการอภิบาลครอบครัว

- วันที่ 31 กรกฎาคม คุณพ่อและซิสเตอร์ วัดและโรงเรียนนักบุญเปโตร ร่วมกันมอบกล่องยาสู้โควิดให้พี่น้องสัตบุรุษวัดนักบุญเปโตรที่ป่วยขณะนี้ในโอกาสฉลองวัดปีนี้ โดยมีตัวแทนสมาชิกกลุ่มอภิบาลครอบครัวนำกล่องยาแจกตามบ้านผู้ป่วย

- วันที่ 1 สิงหาคม ฉลองวัดออนไลน์ ฉลองวัดประจำปี 10.00 น. พิธีบูชาขอบพระคุณ ประธานโดย คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง โอกาสครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ โดยมีสภาภิบาลและญาติจำนวนหนึ่งของคุณพ่อเข้าร่วมมิสซาเท่านั้น ช่วงเย็น 18.00 น. อวยพรศีลมหาสนิท

- เดือนกันยายน ตัวแทนคณะพลมารีย์ ร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปีของคณะพลมารีย์ (ค.ศ. 1921-2021) โดยมีสโลแกนว่า “กิจการแห่งรัก และศรัทธาในพระมารดามารีย์”

- เดือนตุลาคม “ทั่วโลกพร้อมเพรียง ไม่สิ้นเสียงสวดสายประคำ” มีการรณรงค์เพื่อการสวดสายประคำของคริสตชนไทยจำนวน 1 ล้านสาย ทางวัดจึงให้มีการสวดสายประคำเดือนแม่พระ ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตลอดเดือน เวลา 17.30 น.

- วันที่ 31 ตุลาคม แห่แม่พระโอกาสปิดเดือนแม่พระ ทางวัดอัญเชิญแม่พระแห่รอบหมู่บ้านเปโตร โดยแบ่งเป็น 2 สาย สวดภาวนาและรับพรจากแม่พระ

- เดือนพฤศจิกายน ศูนย์ช่วยเหลือตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร นำโดยคุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ จัดทำถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจัดทำถุงยังชีพจำนวน 365 ถุง เพื่อเป็นการระลึกถึงการเสด็จเยือนวัดนักบุญเปโตรของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ครบ 2 ปี

- วันที่ 2 พฤศจิกายน วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เปิดสุสานตั้งแต่เวลา 6.00 – 19.00 น. มิสซาระลึกถึงผู้ล่วงลับเป็น 3 รอบเวลา คือ 7.00 น. 11.00 น. และ 19.00 น. เพื่อให้สัตบุรุษมีโอกาสแก้บาป-รับศีล และร่วมมิสซาเพื่อรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์สำหรับผู้ตาย

- วันที่ 21 พฤศจิกายน 13.00 .น กิจกรรมพิเศษฉลองครบ 2 ปี โอกาสสมเด็จพระสันตะปาปาเยือนวัดนักบุญเปโตร คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ เจ้าอาวาสร่วมกับพระสงฆ์ ซิสเตอร์ สภาภิบาล คณะผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนนักบุญเปโตร นายกฯ อบต. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และพนักงานอบต.ท่าข้าม รวมถึงชมรมองค์กรต่างๆ ร่วมมือร่วมแรงกันทำความสะอาดถนนเส้นหลักโรมัน และเพื่อตอบรับพระสมณสาส์น Laudato Si  ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ทรงห่วงใย ขอให้พวกเรารักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- วันที่ 22 พฤศจิกายน มิสซาพิเศษระลึกถึงการเสด็จเยือนวัดนักบุญเปโตรของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ครบ 2 ปี มิสซาเวลา 19.00 น. ทางคณะกรรมการสภาภิบาลเสนอการจัดทำรูปปั้นเสมือนจริง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ในโอกาสพิเศษทุกๆ ปี

- วันที่ 26 พฤศจิกายน เริ่มนพวารนักบุญยอแซฟ ทุกวันธรรมดาก่อนมิสซาเข้ารวม 9 วัน เพื่อนำสู่การปิดปีนักบุญยอแซฟ นพวารนี้เป็นความศรัทธาพิเศษต่อท่านนักบุญยอแซฟ และเพื่อให้พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์แก่พี่น้องโอกาสปีนักบุญยอแซฟด้วย

- วันที่ 27 พฤศจิกายน แสวงบุญปิดปีนักบุญยอแซฟ ที่บ้านเณรยอแซฟ สามพราน

   มิสซาระลึกถึงผู้ล่วงลับที่เสียชีวิตด้วยโควิด-19 และยังไม่มีมิสซาปลงศพ เชิญญาติผู้ล่วงลับมาตั้งพร้อมกัน

- วันที่ 4 ธันวาคม วัดในเขต 5 ร่วมกันจัดแสวงบุญปิดปีนักบุญยอแซฟ ณ วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา “จงไปหายอแซฟเถิด” โดยเพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้มีโอกาสแก้บาปรับศีล รับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ ได้มีใจศรัทธาในท่านนักบุญยอแซฟและคุณธรรมที่น่ายกย่องของท่านนักบุญ รวมถึงได้มีโอกาสรู้ถึงประวัติศาสตร์บางส่วนของพระศาสนจักรไทย

- วันที่ 7 ธันวาคม มิสซา ณ ศาลาสันติสุข เวลา 7.00 น. หลังมิสซามีพิธีเสกศาลาสันติสุข (หลังการปรับปรุงใหม่) รวมถึงเปิดให้บริการได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

- วันที่ 8 ธันวาคม วันปิดปีนักบุญยอแซฟ และมิสซาสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล จัดมิสซาบริเวณหน้าถ้ำแม่พระ เวลา 19.00 น. หลังมิสซามีการแห่แม่พระ รอบสักการสถานฯ และถวายดอกไม้แด่แม่พระ

- วันที่ 9-10 ธันวาคม ศูนย์ช่วยเหลือตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร นำโดยคุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ ร่วมกับกลุ่มอภิบาลครอบครัววัดนักบุญเปโตร ได้นำสิ่งของใช้จำเป็นไปเยี่ยมพี่น้องที่เดือดร้อนจากน้ำขึ้นน้ำลง

- วันที่ 12 ธันวาคม แห่รูปนักบุญยอแซฟรอบหมู่บ้าน โอกาสปิดปีนักบุญยอแซฟ  เวลา 17.00 น. ขบวนแห่ออกจากที่วัด หยุดตามจุดหยุดต่างๆ 19 จุด โดยมีสัตบุรุษรวมกัน ณ จุดนัดหมาย เพื่อสวดภาวนา ร้องเพลงและอวยพร

- วันที่ 24 ธันวาคม กิจกรรมรื่นเริงคริสต์มาส มีกิจกรรมบิงโกและสอยดาวบริเวณหน้าวัดนักบุญเปโตร และการประกวดถ้ำพระกุมาร พิธีบูชาขอบพระคุณเวลา 22.30 น. หลังมิสซามีการแจกรางวัลพระกุมารให้กับพี่น้องสัตบุรุษที่มาร่วมพิธี

- วันที่ 26 ธันวาคม พิธีอวยพรเด็กๆ โอกาสวันฉลองทารกผู้วิมล ทางวัดนักบุญเปโตรจัดพิธีอวยพรเด็กๆ ในวันอาทิตย์ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ หลังมิสซาทุกมิสซา พร้อมแจกของขวัญสำหรับเด็กๆ

 - วันที่ 31 ธันวาคม มิสซาส่งท้ายปีเก่า เวลา 18.00 น. วจนพิธีกรรมศีลอภัยบาป และ 19.00 น. พิธีบูชาขอบพระคุณ (ขอบคุณและขอษมาโทษพระ)

ปี ค.ศ. 2022

- วัดนักบุญเปโตรจัดทำปฏิทินแขวนชุดพิเศษ สำหรับพี่น้องสัตบุรุษของวัด มีภาพชีวิตและกิจกรรม พร้อมกำหนดการวันฉลอง และวันสำคัญต่างๆ และบทภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาตลอด 12 เดือน

- วันที่ 1 มกราคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเป็นเจ้า (วันขึ้นปีใหม่) มิสซาเวลา 9.00 น. หลังมิสซามีคำนับคุณพ่อและซิสเตอร์โอกาสปีใหม่

- มีการปรับปรุงสถานที่บริเวณหน้าบ้านพักพระสงฆ์เป็นร้านขายศาสนภัณฑ์ กาแฟ และอาหารว่าง เพื่อนำรายได้ทั้งหมดบำรุงสักการสถานบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส

- วันที่ 11 มกราคม มีการปรับปรุงพื้นที่ตลาดนัดนักบุญเปโตร ซึ่งดำเนินการโดยวัดนักบุญเปโตร

- วันที่ 12 มกราคม มิสซาออนไลน์ฉลองสักการสถานประจำปี เทิดเกียรติบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เวลา 7.00 น. โดยอุปสังฆราช คุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ ประธานในพิธี

- วันที่ 31 มกราคม มิสซาเสกสุสานประจำปี มิสซาในสุสานเวลา 08.00 น. คุณพ่อธนากร เลาหบุตร ประธานในพิธี

- วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มิสซาฉลองตรุษจีน วันปีใหม่ พิธีมิสซาเวลา 09.00 น. หลังจากนั้น มีอวยพร เสก-แจกส้ม และเสกรถ งดการเชิดสิงโต

- วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มิสซาฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร (มิสซาเสกเทียน) ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาส เวลา 18.00 น.

- วันที่ 6, 13 กุมภาพันธ์ อบรมคู่แต่งงานที่แต่งงานในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

- วันที่ 27 กุมภาพันธ์ คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 4 คน

- ช่วงเทศกาลมหาพรต (วันที่ 2 มีนาคม - 8 เมษายน) ตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร นำโดย คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ จัดโครงการอิ่มละ 10 บาท ทีมงานอภิบาลครอบครัวและกลุ่ม PMG ร่วมกันจัดทำอาหารและจำหน่ายให้กับสมาชิกในชุมชนวัด ในราคากล่องละ 10 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในช่วงเทศกาลหาพรต

- วันที่ 5 มีนาคม - พิธีเปิดอนุสาวรีย์พระสันตะปาปาฟรังซิส เวลา 10.00 น. เพื่อเป็นที่ระลึกวันที่สมเด็จพระสันตะปาปาอยู่ท่ามกลางพวกเราที่วัดแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง

- มิสซาโอกาสฉลองครบรอบ 22 ปี การสถาปนาบุญราศีคุณพ่อนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง เวลา 18.00 น. ณ สักการสถานฯ

- วันที่ 27 มีนาคม คุณพ่อกิตติศักดิ์ กิจสำเร็จ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนมีนาคม จำนวน 4 คน

- วันที่ 14-16 เมษายน พิธีกรรมสัปดาห์ และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ การโปรดศีลล้างบาปผู้ใหญ่ คริสตชนใหม่ที่เรียนคำสอน รวมทั้งสิ้น 7 คน

- วันที่ 24 เมษายน คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนเมษายน จำนวน 1 คน

- วันที่ 29 เมษายน ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายพระสงฆ์เข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่ วัดนักบุญเปโตรมีการเปลี่ยนแปลงคือ คุณพ่อสมภพ เรืองวุฒิชนะพืช ย้ายไปรับหน้าที่ใหม่ที่วัดแม่พระฟาติมา ดินแดง และคุณพ่อสุพัฒน์ หลิวสิริ รับหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตร และผู้จัดการสักการสถานบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส

- วันที่ 22 พฤษภาคม คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนพฤษภาคม จำนวน 4 คน

- เดือนมิถุนายน หลังจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลง - เริ่มการจัดมิสซาวันเสาร์เย็นเวลา 19.00 น. ที่สักการสถานเหมือนเดิม

- เริ่มจัดประชุมกลุ่มองค์กรต่างๆ ของวัดได้ตามปกติ

- การสวดภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับที่ศาลาสันติสุข สามารถเลือกวันสวดได้ไม่เกิน 3 วัน

- วันที่ 11 และ 25 มิถุนายน - กิจกรรมจาริกแสวงบุญเพื่อเส้นทางไปสู่นักบุญของคุณพ่อนิโคลาสกับโครงการ “ถนนไปสู่การเป็นนักบุญ” (Road to Sainthood) ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง กิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

- เชิญชวนพี่น้องเยี่ยมชมนิทรรศการหรือถ่ายรูปกับบรรยากาศและสถานที่ต่างๆ ภายในงาน

- มีการเคารและแจกพระธาตุ พร้อมทั้งร่วมภาวนารำพึงชีวิตของคุณพ่อนิโคลาส เวลา 15.00 น. อวยพรศีลมหาสนิท

- วันที่ 25 มิถุนายน พิธีบวชพระสงฆ์ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สังฆานุกรยอห์นบอสโก รัฐพล งามอัชฌา ลูกวัดนักบุญเปโตร, สังฆานุกร มัทธิว สาโรช เมธีพิทักษ์กุล, สังฆานุกรยอแซฟ ณัฐชัย อิ่มไพร, สังฆานุกรอันเดร ธนบูรณ์ พูนผล มิสซาเวลา 10.00 น. ณ หอประชุมนักบุญยอห์นปอลที่ 2 ตัวแทนสภาภิบาลและสัตบุรุษร่วมพิธีมิสซาและร่วมแสดงความยินดีกับพระสงฆ์ใหม่ลูกวัด และเพื่อนพระสงฆ์ใหม่

- วันที่ 26 มิถุนายน มิสซาปิดปีครอบครัววัดนักบุญเปโตร “ครอบครัวเราก้าวไปด้วยกัน” มิสซาเวลา 9.30 น. ทางกลุ่มอภิบาลครอบครัวได้เชิญครอบครัวคู่สมรสครบ 50 ปี ครอบครัวเปราะบาง และครอบครัวกระแสเรียก เข้าร่วมมิสซาและมอบของที่ระลึกกลังจากมิสซา

- วันที่ 27 มิถุนายน คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนมิถุนายน จำนวน 4 คน

- วันที่ 13 กรกฎาคม พิธีบูชาขอบพระคุณและพิธีปลงศพ คุณพ่อยอแซฟ ประทีป กีรติพงศ์ (อดีตเจ้าอาวาส) ณ วัดนักบุญเปโตร และเคลื่อนศพไปบรรจุ ณ สุสานศานติคาม

- วันที่ 24 กรกฎาคม คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนกรกฎาคม จำนวน 1 คน

- วันที่ 3 สิงหาคม อัญเชิญนักบุญเปโตรอวยพรพี่น้องในชุมชน โอกาสเตรียมฉลองวัด ขบวนแห่ออกจากวัดเวลา 18.00 น. ณ จุดนัดหมาย 20 จุด เพื่อร่วมภาวนาและรับพรจากท่านนักบุญเปโตรพร้อมเพรียงกัน

- วันที่ 4 สิงหาคม มิสซาตรีวารเตรียมฉลองวัด “พระแม่มารีย์ แบบฉบับของความสุภาพถ่อมตนผู้ปฏิบัติตามน้ำพระทัยพระเจ้า” มิสซาเวลา 19.00 น. คุณพ่อมัทธิว สาโรช เมธีพิทักษ์กุล พระสงฆ์ใหม่ ประธานในพิธี

- วันที่ 5 สิงหาคม มิสซาตรีวารเตรียมฉลองวัด “บุญราศีคุณพ่อนิโคลาส แบบอย่างของผู้ประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้า” มิสซาเวลา 19.00 น. คุณพ่อยอแซฟ ณัฐชัย อิ่มไพร พระสงฆ์ใหม่ ประธานในพิธี

- วันที่ 6 สิงหาคม มิสซาตรีวารเตรียมสมโภช (ฉลองภายใน) มิสซาเวลา 19.00 น. ประธานในพิธี คุณพ่ออันเดร ธนบูรณ์ พูนผล พระสงฆ์ใหม่ประธานในพิธี

- วันที่ 7 สิงหาคม สมโภชนักบุญเปโตรต้องพันธนาการ (ฉลองวัดประจำปี) 182 ปีชุมชนแห่งความเชื่อวัดนักบุญเปโตร

- มิสซาฉลองวัด  (ฉลองวัดประจำปี)  มิสซาเวลา 10.00 น.  ประธานในพิธี : คุณพ่อยอห์นบอสโก รัฐพล งามอัชฌา  พร้อมเพื่อนพระสงฆ์ใหม่อีก 3 องค์  และคุณพ่ออดิศักดิ์  กิจบุญชู คุณพ่อธนากร เลาหบุตร พระสงฆ์ลูกวัดที่ฉลอง 25 ปีชีวิตสงฆ์

- ในช่วงเย็นเวลา 18.00 น. คุณพ่อยอห์นบอสโก รัฐพล งามอัชฌา พระสงฆ์ใหม่ลูกวัดนักบุญเปโตรออกไปอวยพรพี่น้องในชุมชน หลังการแห่ คุณพ่อได้เสกหัวสิงโตและมังกรให้กับคณะวายซี บริเวณอนุสาวรีย์นักบุญเปโตรหน้าวัด

- วันที่ 20 สิงหาคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เวลา 19.00 น. ประธานในพิธี: คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช หลังมิสซามีแห่แม่พระรอบวัด และถวายดอกไม้แด่แม่พระ

- วันที่ 21 สิงหาคม คุณพ่อและซิสเตอร์ ร่วมกับสภาภิบาลวัดนักบุญเปโตร เลี้ยงอาหารกลางวันสามเณร ที่บ้านเณรเล็กยอแซฟ ในโอกาสสัปดาห์กระแสเรียกปัจจุบันวัดนักบุญเปโตรมีสามเณรลูกวัดที่บ้านเณรยอแซฟ จำนวน 13 คน

- วันที่ 28 สิงหาคม คุณพ่อวิทยา เลิศทะนงศักดิ์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนสิงหาคม จำนวน 4 คน

- วันที่ 4 กันยายน - 2 ตุลาคม นักเรียนที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนนักบุญเปโตร เรียนคำสอนเพื่อเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทและศีลกำลัง เรียนระหว่างเวลา 8.45 - 12.00 น. ที่ห้องคำสอนของโรงเรียน

- วันที่ 11, 18 กันยายน ทางวัดนักบุญเปโตรจัดอบรมคู่แต่งงานของวัดนักบุญเปโตรและเขต 5 ที่ตึกฟรังซิสวัดนักบุญเปโตร เวลา 8.30 น. - 12.00 น. โดยมีหัวข้อการอบรมดังนี้

       - วันที่ 11 กันยายน : เทววิทยาศีลแต่งงานและจริยธรรมคู่แต่งงาน คุณค่าและความหมายของการแต่งงานคาทอลิก

         - วันที่ 18 กันยายน : หลักการครองรักครองเรือน การสืบทอดชีวิตและการวางแผนครอบครัว

- วันที่ 25 กันยายน คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนกันยายน จำนวน 3 คน

- เดือนตุลาคม เป็นเดือนแม่พระแห่งสายประคำ ทางวัดมีกำหนดการต่างๆ เกี่ยวกับเดือนแม่พระดังนี้

- วันที่ 1 ตุลาคม งาน “ทั่วโลกพร้อมเพรียง ไม่สิ้นเสียงสวดสายประคำ” มิสซาเปิดเดือนแม่พระและสวดสายประคำระดับเขต จัดขึ้นที่วัดพระตรีเอกภาพ หนองหิน เริ่มตั้งแต่เวลา 8.00 - 12.00 น. โดยมีการตั้งศีลมหาสนิท แต่ละวัดนำภาวนาในแต่ละรอบเวลา และจบด้วยพิธีอวยพรศีลมหาสนิทและพิธีบูชาขอบพระคุณ

- มีการรณรงค์เพื่อสวดสายประคำของคริสตชนไทยจำนวน 1 ล้านสาย โดยมีจุดประสงค์ตามประชาสัมพันธ์ของส่วนกลาง

- วันที่ 1 ตุลาคม มิสซาเปิดเดือนแม่พระ ณ สักการสถานฯ เวลา 19.00 น. หลังมิสซาถวายคำวอนขอ

- ตลอดเดือนตุลาคม ทุกวันเสาร์ สวดสายประคำเวลา 18.15 น. และ 18.40 น. นพวารแม่พระนิจจานุเคราะห์ และทุกวันอาทิตย์ มิสซาเช้า 6.30 น. สวดสายประคำแทนนพวารฯ มิสซาสาย 9.30 น. และ 11.00 น. สวดสายประคำก่อนมิสซา

- วันที่ 9 ตุลาคม พิธีโปรดศีลกำลังและรับศีลมหาสนิทครั้งแรกของนักเรียนคำสอน มิสซาเวลา 9.30 น. ประธานในพิธี: พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู

- วันที่ 9-11 ตุลาคม สัมมนาผู้ช่วยพิธีกรรมวัดนักบุญเปโตร ณ หาดหฤทัย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

- วันที่ 30 ตุลาคม อัญเชิญแม่พระอวยพรพี่น้องในหมู่บ้าน เริ่มออกจากวัดเวลา 18.00 น. สวดภาวนาและรับพรจากแม่พระ

- วันที่ 31 ตุลาคม ปิดเดือนแม่พระ 18.30 น. สวดสายประคำพร้อมกัน 19.00 น. มิสซาปิดเดือน หลังมิสซามีแห่แม่พระรอบวัด ขอบคุณแม่พระสำหรับพระพรและถวายช่อดอกไม้แด่แม่พระ

- วันที่ 2 พฤศจิกายน วันภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เปิดสุสานตั้งแต่เวลา 6.00 น. ทางวัดมิสซาระลึกถึงผู้ล่วงลับเป็น 3 รอบเวลา คือ 7.00 น. และ 11.00 น. มิสซาที่วัดใหญ่ เวลา 19.00 น. มิสซาในสุสาน เพื่อให้สัตบุรุษมีโอกาสแก้บาป - รับศีล ร่วมมิสซาเพื่อรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์สำหรับผู้ตาย และภาวนาตามจุดประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา

- วันที่ 12 พฤศจิกายน เริ่มการจัดพิธีเทิดเกียรติบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิสซาเวลา 19.00 น. ที่สักการสถานฯ หลังพิธีมีการแห่พระธาตุคุณพ่อนิโคลาสฯ และถวายดอกไม้

- วันที่ 22 พฤศจิกายน ตึกฟรังซิส วัดนักบุญเปโตร ได้จัดกิจกรรมขายสินค้าราคาถูก เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานจอดรถตึกฟรังซิสฯ เพื่อช่วยพี่น้องในภาวะที่ข้าวของราคาแพง และบางบ้านต้องรับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงท่วมบ้านเรือน

- วันที่ 27 พฤศจิกายน พิธีต้อนรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน จำนวน 13 คน

- วันที่ 27 พฤศจิกายน คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนพฤศจิกายน จำนวน 6 คน

- วันที่ 8 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล จัดมิสซาบริเวณหน้าถ้ำแม่พระ เวลา 19.00 น. หลังมิสซามีการแห่แม่พระ รอบสักการสถานฯ และถวายดอกไม้แด่แม่พระ

- วันที่ 10 ธันวาคม มิสซาเทิดเกียรติบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เวลา 19.00 น. หลังพิธีมีการแห่พระธาตุคุณพ่อนิโคลาสฯ

- วันที่ 24 ธันวาคม กิจกรรมรื่นเริงคริสต์มาส - สอยดาว บิงโก เกมต่างๆ จัดโดยทางโรงเรียนนักบุญเปโตร ในส่วนของลานด้านหน้าวัด มีกิจกรรมประกวดถ้ำ การแสดงดนตรีของเยาวชน และบริเวณลานหน้าหอประชุม มีการจัดร้านอาหารการกุศล (รายได้ให้กับวัดทั้งหมด)

พิธีบูชาขอบพระคุณเวลา 22.30 น. หลังมิสซามีการแจกรางวัลพระกุมารให้กับพี่น้องสัตบุรุษที่มาร่วมพิธี

-วันที่ 25 ธันวาคม - พิธีบูชาขอบพระคุณสมโภชพระคริสตสมภพ เวลา 9.00 น. และเวลา 11.00 น.

- คุณพ่อกิตติศักดิ์ กิจสำเร็จ  โปรดศีลล้างบาปเด็กประจำเดือนธันวาคม จำนวน 5 คน

- วันที่ 31 ธันวาคม มิสซาส่งท้ายปีเก่า เวลา 19.00 น. ตั้งศีลมหาสนิท - วจนพิธีกรรมขอษมาโทษ และพิธีบูชาขอบพระคุณ

 

30. คุณพ่อบัณฑิตย์ ประจงกิจ


ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบเจ็ด ปี ค.ศ.2023 - ปัจจุบัน

คุณพ่อกิตติศักดิ์ กิจสำเร็จ      ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2021- ปัจจุบัน
คุณพ่ออัครนนท์ กิจเจริญ       ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2023 - ปัจจุบัน
คุณพ่อวิษณุ ธัญญอนันต์       ผู้จัดการสักการสถานบุญราศี นิโคลาส บุญเกิดฯ
                                       ช่วยงานอภิบาลวัดนักบุญเปโตร สามพราน ปี ค.ศ. 2023 - ปัจจุบัน

  

จากหนังสือ 
ที่ระลึก พิธีเสกวัดนักบุญเปโตร (นครชัยศรี) ค.ศ.1972
ประวัติวัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม ค.ศ.1840-1985
อนุสรณ์สมโภช 150 ปี กลุ่มคริสตชน วัดนักบุญเปโตร นครชัยศรี ค.ศ.1840-1990
ฉลองวัดนักบุญเปโตร สามพราน ค.ศ.2004
 
 
 
แผนที่การเดินทาง