วัดแม่พระฟาติมา (ดินแดง)

 
 
วัดแม่พระฟาติมา ดินแดง
 
ตั้งอยู่เลขที่ 4080   ถนนอโศก-ดินแดง
แขวงดินแดง  เขตดินแดง  กรุงเทพมหานคร  10400
โทร. 0-2245-1039, 09-2883-6255  FAX: 0-2246-6174
website: http:/www.fatima.or.th
 
     วัดคือบ้านของพระ วัดเป็นหัวใจของคริสตชน เป็นบ้านที่คริสตชนสามารถมาร่วมใจกันสาธุการโมทนาคุณพระองค์ เป็นสถานที่อบรมจิตใจสวดภาวนา สอนคนให้รู้จักพระมากขึ้น  ด้วยความคิดและความเชื่ออันนี้เองที่คุณพ่ออาแมสตอยได้คิดสร้างวัดขึ้น แท้จริงแล้ว ความคิดนี้มีในสมองตั้งแต่วันแรกที่คุณพ่อรับศีลบวช ประจวบกับเมื่อมาประจำทำงานในเมืองไทย ที่วัดกาลหว่าร์ ได้เห็นสัตบุรุษจำนวนมากต้องยืนร่วมในบูชามิสซาล้นออกมานอกวัด จึงหาทางที่จะทำความคิดนี้ให้สำเร็จจนได้ 
 
 คุณพ่อ ยัง แบ็ปติส อาแมสตอย  
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1954-1960
 
     เดือนมีนาคม ค.ศ.1950 คุณพ่ออาแมสตอยขออนุญาตพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง สร้างวัด และคุณพ่อก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานเป็นทางการได้ ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1951 (สังเกตได้ว่าตรงกับวันฉลองพระแม่ผู้ปฏิสนธินิรมล) เหตุด้วยในเวลานั้นที่ดินอันเป็นของวัดปัจจุบันนี้ อยู่ชานเมืองและดูว่ากำลังจะเจริญ แม้จะยังไม่มีถนนผ่านจริงๆ ก็ตาม ประจวบกับเป็นที่กว้างพอสมควร ที่สามารถจะสร้างได้ทั้งวัดและโรงเรียน รวมทั้งหมู่บ้านคริสตังค์ คุณพ่อจึงตัดสินใจซื้อที่สวนมะลิ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 37 ไร่ 16 วา คุณพ่อได้รับบริจาคเงินรายแรกจากเงินบริจาคส่วนรวมที่วัดกาลหว่าร์ ปลายปี ค.ศ.1954 จากนั้นก็มีธารน้ำใจหลั่งไหลมา อาศัยโฆษณาจากหนังสือพิมพ์คาทอลิก 
 

จากการออกแบบสร้างร่วมกับ นายสิงห์โต ชนวัฒน์ สถาปนิกไทย โดยมีจุดประสงค์ในสมองของคุณพ่อ ในอันที่จะส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของสถาปนิกไทยควบคู่กันไป จึงได้เริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 เมษายน เพื่อจะได้จำได้ง่ายๆ และเพื่อระลึกถึงวันที่คุณพ่อได้จากญาติๆ มาทำงานในประเทศไทย เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ.1955  พระสังฆราชโชแรง ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีวางศิลากฤษ์ ถวายนามว่า “วัดแม่พระฟาติมา”  คุณพ่ออาแมสตอยเล่าว่า  “...สมัยพ่อเรียนหนังสืออยู่ เคยสนใจติดตามข่าวและบทความเกี่ยวกับอัศจรรย์ของแม่พระฟาติมาเสมอ อีกอย่างเมื่อ  แม่พระประจักษ์ที่ตำบลฟาติมา ได้ย้ำถึงสันติภาพของโลก ต้องการให้ทุกคนภาวนา เป็นทุกข์ถึงบาป เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสันติ พ่อจึงคิดว่าสมควรที่สุดแล้วที่เราจะถวายนามวัดใหม่นี้แต่พระแม่เจ้าฟาติมา”
 
ผ่านอุปสรรคมากมาย แน่นอน วัดก็ค่อยๆ สูงตระหง่านขึ้น ดูเด่นเป็นสง่าต่อทุกสายตาที่ผ่านมาทางดินแดง วัดสร้างเสร็จในปีต่อมา โดยในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1956  ได้ทำพิธีเสก บูชามิสซา และแห่พระรูปแม่พระฟาติมา พร้อมทั้งประกาศพระราชโองการของสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ได้ทรงอวยพรแด่ผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างวัด รวมทั้งผู้มีพระคุณทั้งหลาย พระรูปแม่พระที่ใช้แห่ครั้งนี้ได้อัญเชิญมาจากวัดแม่พระลูกประคำ (วัดกาลหว่าร์) เป็นพระรูปแกะสลักด้วยไม้ ซึ่งคุณพ่อได้นำมาจากประเทศโปรตุเกส โดยได้ฝากไว้ที่วัดกาลหว่าร์ก่อน เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว จึงได้อัญเชิญพระแม่มาประจำไว้ที่วัดแม่พระฟาติมา ได้มีการแห่พระรูปแม่พระหลังบูชามิสซาอีกในเดือนต่อมา คือ วันที่ 13 พฤษภาคม และวันที่ 13 ของทุกเดือน จนถึงเดือนตุลาคม 
 
มีคนถามคุณพ่อว่า รู้สึกอย่างไรกับความสำเร็จนี้ คุณพ่อตอบว่า “พ่อก็มีความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป เมื่องานสำเร็จก็ดีใจ และพ่อก็รู้สึกซึ้งในบุญคุณของสัตบุรุษผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ที่ได้ช่วยให้งานนี้สำเร็จไปได้ งานที่คอยอยู่มีมากทีเดียว เช่น สร้างโรงเรียน 
 
ที่ดินที่จะก่อสร้างวัด
 
พิธีวางศิลาฤกษ์ 26 มิถุนายน ค.ศ.1955
 
 
ได้เริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นในปี ค.ศ.1957 เป็นเรือนไม้ 
     เมื่อเริ่มเปิดวัดใหม่ๆ สัตบุรุษครอบครัวแรกๆ นั้น คือผู้ที่ติดตามคุณพ่อมาจากวัดกาลหว่าร์เป็นส่วนใหญ่ และได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเจริญของท้องถิ่น ในปี ค.ศ.1958 ได้เกิดกลุ่มเยาวชนกลุ่มแรกของวัด ใช้นามว่า “คณะลูกมารีฟาติมา”  เยาวชนคณะนี้ได้ช่วยงานคุณพ่อในทุกด้านเท่าที่ตนสามารถ ได้มีการจัดทำสารวัด “ลูกมารีสาร” ซึ่งเป็นงานหนักพอสมควร ต้องพิมพ์ดีดตลอดเล่มจนครบจำนวนที่ต้องการ ส่วนหน้าปกก็ใช้วาดเอาเอง ในช่วงที่คุณพ่ออยู่ประจำวัดแม่พระนี้ ครั้งหนึ่งคุณพ่อได้ทำพิธีขอฝน  โดยอัญเชิญพระรูปพระแม่แห่รอบวัดเป็นเวลาสามวัน เนื่องจากฝนไม่ตกและอากาศ ก็ร้อนอบอ้าวมาก นี่ก็เป็นการแสดงความเชื่อวิธีหนึ่ง ที่ผู้มีใจศรัทธาได้คิดถึงพระเมตตาของพระเป็นเจ้าผ่านทางพระแม่
 
พิธีต้อนรับและฉลองแม่พระฟาติมาในกรุงเทพฯ 
 
 
คุณพ่อกาเบรียล เลออง วิกเตอร์ แวร์ดิแอร์ 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ในปี ค.ศ. 1960-1963
 
     เดือนธันวาคม ค.ศ.1965  คุณพ่อแวร์ดิแอร์มาประจำอีกไม่กี่วันต่อมา คุณพ่ออาแมสตอยก็ย้ายไปต่างประเทศ คุณพ่อแวรดิแอร์ ได้มาประจำอยู่วัดบ้านนอกมาเป็นเวลา 12 ปี การเข้ามาทำหน้าที่ ที่วัดแม่พระฟาติมาที่กรุงเทพฯ จึงนำความกังวลมาให้บ้างพอสมควร คุณพ่อเคยปรารถว่า “พระสังฆราชให้พ่อมาอยู่ที่วัดแม่พระฟาติมา ความจริงพ่อไม่เคยปกครองวัดในเมืองใหญ่มาก่อน จึงกลัวเหมือนกัน  แต่พอมาถึงวัดแม่พระฟาติมา ก็ปรากฏว่า ปกครองสัตบุรุษได้ ก็เพราะต่างคนต่างก็มีน้ำใจดี จึงผ่านพ้นอุปสรรคความยุ่งยากต่างๆ ไปได้” 
 
คุณพ่อมีหลักประจำใจอยู่อย่างเดียวคือ “ให้ทุกคนรักกันและกัน” ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงจัดให้มีการพบปะกันทุกเดือน มีขนม มีน้ำชา แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ การคุยกันเพื่อจะได้รู้จักกันให้ดีขึ้น จากคำเสนอของสัตบุรุษบางท่าน คุณพ่อแวร์ดิแอร์ ได้ก่อตั้งสมาคมวินเซนเดอปอล ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1961 สมาคมมีจิตตารมณ์ในการช่วยเหลือคนจน สมาชิกได้ช่วยงานของวัดมาตลอด งานที่ได้ผลดีของสมาคม คือ บ้านนาซาแร็ธ ซึ่งเวลานั้นอยู่ในความดูแลของคุณพ่อสมชาย  พระอัครสมณทูตได้ทำพิธีเปิดในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1962  จุดมุ่งหมายของบ้านนาซาแร็ธ คือ รวบรวมคนยากจนที่ไม่มีงาน ทำให้มาฝึกงานด้านหัตถกรรม ได้ผลิตรูปศรัทธาต่างๆ เป็นจำนวนมาก และได้พยายามหาตลาดส่งขายด้วย
 
ในสมัยคุณพ่อแวร์ดิแอร์ นี่เองที่พระโปรดประทานพระพรพิเศษเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งแก่วัดแม่พระฟาติมา นั่นก็คือ ลูกวัดคนหนึ่งได้เป็นซิสเตอร์คนแรกของวัด และได้ถวายตัวในคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ต สมศรี สุเมธ คือ นามของซิสเตอร์ผู้นี้ ในสมัยของคุณพ่ออีกเช่นกัน ก็มีพลมารีจีนและไทยได้เริ่มก่อตัว พลมารีไทยนั้นได้เริ่มก่อตัว พลมารีไทยนั้นได้เริ่มก่อตัวขึ้นที่ห้วยขวาง และด้วยการนำของ เรมอนด์ มงโตเกียว คณะได้ย้ายมาที่วัดแม่พระฟาติมา ระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง พลมารีจีนก็ก่อตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1962 โดย การนำของ คุณแกฉั้ว แซ่อึ้ง เคยมีคนถามคุณพ่อว่า มีความรู้สึกอย่างไรต่อสัตบุรุษวัดแม่พระฟาติมา  คุณพ่อตอบว่า
 
“สัตบุรุษวัดแม่พระฟาติมา มีน้ำใจดี เมื่อพวกเขาทราบว่ามารดาของพ่อเสีย พวกเขาก็ได้จัดให้มีการภาวนา มีมิสซาอุทิศแก่วิญญาณของมารดาของพ่อ และเมื่อน้องสาวของพ่อมาเที่ยวเมืองไทย ทุกคนพร้อมใจกันต้อนรับอย่างดีจริงๆ นี่แหละคือสิ่งที่จำได้แม่นที่สุด”
 
คุณพ่อมอริส มารีโยเซฟ ยอลี 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ในปี ค.ศ.1963-1970
 
     หลังจากที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ อารามพระหฤทัยฯ พร้อมทั้งดูแลสัตบุรุษในละแวกนั้น (วัดโรงหมู) เป็นเวลานานพอสมควร คุณพ่อได้มาประจำที่วัดแม่พระฟาติมา ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1963  มีคณะซิสเตอร์พระหฤทัยมาส่งถึงที่วัด ในช่วงเวลาที่คุณพ่ออยู่ คุณพ่อได้บูรณะวัดอย่างมากมาย ด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการวัดชุดแรก โดยมีคุณศักดา เป็นประธาน ได้บูรณะวัดทั้งภายในและภายนอกวัด ภายในนั้นได้ทำฝ้า-เพดานวัดให้มั่นคงขึ้น ได้ติดลูกกรงรอบวัดเพื่อกันนกและสัตว์โบยบินทั้งหลายที่เข้าไปกวนสมาธิสัตบุรุษในวัด
 
ในปี ค.ศ.1966  ได้มีการหล่อพระรูปองค์พระเยซูถูกตรึงกางเขน พระวรกายนั้นหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นการหล่อในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในเมืองไทย อันชาวฟาติมาควรภูมิใจ ส่วนกางเขนนั้น ในขั้นแรกได้พยายามเสาะหาไม้ที่สวยงาม คือ “ไม้จีนแดง” ที่ได้มาจากป่าจังหวัดปราจีนบุรี ใช้เวลาหาอยู่ 1 ปี ก็ปรากฏว่าไม้ที่ได้มานั้น มีขนาดไม่พอตามที่ต้องการ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ซุงไม้สักทอง” ทั้งต้น เราสามารถมองเห็นกางเขนนี้ตั้งตระหง่านอยู่หลังพระแทนในวัดแม่พระฟาติมา ลักษณะพิเศษของพระรูปนี้ คือ อยู่ในพระอิริยาบถที่ทรมาน และยังมิได้สิ้นพระชนม์ ทั้งพระสีข้างยังไม่มีรอยของการถูกแทงด้วยหอก พระเนตรยังเผยอยู่ มีความหมายแสดงว่า องค์พระคริสต์สถิตอยู่กับเรา อาจารย์สนั่น ศิลากร อาจารย์จากกรมศีลปากร ได้ให้เกียรติมาดำเนินงานการหล่อพระรูป โดยมี พระอัครสมณทูต เปโดรนี่ และพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย  เป็นผู้เททอง
 
เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ของสังคายนาวาติกันที่ 2 คุณพ่อได้สร้างพระแท่นใหม่และทำฐานกางเขนด้วยหินอ่อน ออกแบบโดย คุณพ่อเยริซี่ สงฆ์คณะซาเลเซียน ได้ปูพื้นฐานบริเวณรอบโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ด้วยหินอ่อน สร้างพระแท่นเหล็กเพื่อเป็นที่สถิตสถานของตู้ศีล และเพื่อถวายเกียรติแด่พระแม่ เมื่อบูรณะภายในเสร็จก็บูรณะภายนอก ฉาบปูนกำแพงรอบนอกช่วงล่างของวัด ที่มีรอยร้าวให้สนิทกันให้ดี 
 
เนื่องในโอกาสสมโภช 50 ปีแห่งการประจักษ์ของพระแม่ที่ฟาติมา ทางวัดได้จัดให้มีการฟื้นฟูจิตใจสัตบุรุษ คุณพ่อแฮรี่ และคุณพ่อวีรพงษ์ ได้ให้เกียรติมาเทศน์อบรม คงจะเป็นช่วงนี้เองที่พระรูปแม่พระฟาติมาจากโปรตุเกส ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 คุณพ่อมอรีส ยอลี ได้ติดต่อเชิญพระรูปไว้เป็นมิ่งขวัญของวัด พระรูปจึงประทับอยู่ที่วัดแม่พระฟาติมา ดินแดง จนตราบเท่าทุกวันนี้ และทางวัดอัญเชิญแห่หลังบูชามิสซา ทุกวันที่ 13 ของเดือนตลอดมา
 
ในปีค.ศ.1969 ได้มีโครงการเชื่อมถนนอโศกและถนนดินแดง ถนนที่ตัดใหม่นี้ผ่านใกล้วัดมาก โรงเรียนได้ย้ายไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของวัด ได้ทำการสร้างตึกแรกของโรงเรียน คือ ตึกมารีนิรมล ดังนั้น ในช่วงนี้โรงเรียนแม่พระฟาติมายังแยกกันอยู่ทั้งสองฝั่งของถนน
 
 
คุณพ่อคริสเตียน จิลล์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 ในปี ค.ศ. 1970-1976
 
     หลังจากที่ได้ใช้เวลาอภิบาลสัตบุรุษเป็นเวลา 12 ปี ในประเทศศรีลังกา คุณพ่อถูกส่งให้มาทำงานในประเทศไทย ใช้เวลา 2 ปี เพื่อสร้างความชำนาญในภาษาไทย ได้มาประจำที่วัดแม่พระฟาติมาในปี ค.ศ.1970 คุณพ่อมอรีส ยอลีกลับไปเยี่ยมบ้านที่ฝรั่งเศส ภายหลังเราได้ถามคุณพ่อจิลล์ บอกว่า  “ความรับผิดชอบที่วัดแม่พระฟาติมานี้ใหญ่และหนักมาก...”
 
ในปี ค.ศ.1972 ทางการได้ตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนดินแดง และซอยอโศก ถนนนี้ตัดใกล้วัดมาก ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่เป็นที่สมควรสำหรับศาสนสถาน แต่คงจะเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เพราะเวลานี้ถนนอโศกดินแดง ได้นำความเจริญทางด้านวัตถุมามาก แต่เราต้องยอมรับว่า เสียงจากการสัญจรในถนนนี้ รบกวนสมาธิของผู้ที่มาร่วมใจในการสรรเสริญพระเป็นเจ้ามิใช่น้อย 
 
ในปี ค.ศ.1973 ได้มีกรรมการวัดชุดใหม่ ได้ร่างธรรมนูญสภาวัดขึ้น ใช้ชื่อว่า “ธรรมนูญสภาวัดแม่พระฟาติมา ดินแดง” ในปี ค.ศ.1974 ได้ขออนุญาตสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นตึกที่สองของโรงเรียนแม่พระฟาติมา ได้ทำการวางศิลาฤกษ์และได้เปิดใช้ตึกในปี ค.ศ.1975 ในปีนี้เอง ทางวัดได้มีกรรมการสภาวัดชุดแรก พร้อมกันนั้น ศาลาประชาคมก็ได้ก่อขึ้นและใช้ในสาธารณะประโยชน์หลายอย่าง กลุ่มเยาชนในช่วงนี้ ดูเร่าร้อน และมีผลงานมากมาย โดยการนำของคุณพ่อยอห์น กิลวูต์ มีทั้งกิจกรรมหลายชนิด มีทั้งสัมมนา ในเวลาเดียวกันก็ได้เริ่ม “ฟาติมาสาร”
 
ในปี ค.ศ.1975 ผู้อพยพชาวลาวและเวียดนามได้หลั่งไหลเข้าไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้อพยพที่มาขออาศัยอยู่ที่วัดแม่พระฟาติมา จากครอบครัวเดียวกันได้กลายมาเป็นร้อย โดยได้ใช้อาคารเรียนเก่าที่เป็นไม้ เป็นที่พำนักอาศัย คุณพ่อได้พยายามให้ความช่วยเหลือ เพราะมนุษยธรรมที่มีอยู่ในใจเท่าที่ขอบข่ายของสังคมอนุญาต ในฐานะที่คุณพ่อจิลล์เป็นพระสงฆ์คณะธรรมทูลแห่งมารีนิรมล ( O.M.I ) คนแรกที่มาทำงานที่นี่ ประจวบกับปี ค.ศ.1975 ผู้ตั้งคณะได้รับยกให้เป็นบุญราศี ทางวัดได้จัดบูชามิสซาฉลองการแต่งตั้งนี้ในวันที่ 19 ตุลาคม  เหตุการณ์นี้ผ่านไป เหตุการณ์ใหม่ก็เกิดขึ้นอีก ดูเหมือนพระจะประทานให้มากจริงๆ เพราะได้มีพิธีปฏิญาณตนตลอดชีพของซิสเตอร์คณะศรีชุมพาบาลคนไทยแรก นับเป็นพิธีปฐมฤกษ์ ณ วัดแม่พระฟาติมานี้
 
 
คุณพ่อชาร์โลท์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1976-1979
 
      6 ปี ชาวสองพี่น้องได้มีโอกาสรู้จักอัธยาศัยอันดี คุณพ่อชาร์โลท์ ได้ย้ายมาประจำที่วัดแม่พระฟาติมา  โดยมีคุณพ่อฟอร์แตงเป็นผู้ช่วย ในอดีต สัตบุรุษในซอยข้างโบสถ์มีความลำบาก เพราะต้องใช้ซอยที่อยู่ในสภาไม่ดี ถมด้วย อิฐหักและดินลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องซ่อมอยู่เสมอ ทั้งยังแคบไป เพื่อความเจริญของหมู่บ้าน  พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู มีความประสงค์ จะปรับปรุงถนนใหม่ให้เป็นการถาวรมาตรฐาน ดังนั้น คณะกรรมการสภาวัดได้ติดต่อปรึกษากับคุณพ่อมิ่ง รุจิพงษ์ ซึ่งเป็นผู้รู้จักกับอดีต ส.ส. ทอง ธนกาญจน์ จากนั้นคณะกรรมการเฉพาะกิจโดยมีคูรวิเชียร คุณอรรถ คุณไพศาล และคุณมิ่ง ได้ไปทำความรู้จักกับคุณทอง เพื่อปรึกษาเรื่องถนน ต่อมาคณะกรรมการได้นำเรื่องเสนอพระคาร์ดินัลและแจ้งให้ทราบว่า ต้องยกที่ดินเฉพาะที่จะทำถนนให้แก่ กทม. ถนนต้องมีความกว้าง 6 เมตร  ผิวจราจรเป็นคอนกรีตเสมอเหล็ก วางท่อระบายน้ำ ปักเสาไฟทางเสริมเป็นบางต้นและติดไปแสงจันทร์ เมื่อพระคาร์ดินัลทราบเรื่องเห็นชอบด้วย ได้มอบให้คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดการไปตามที่เสนอมา และถ้าขัดข้องอย่างไร ให้ปรึกษาท่านได้อีกในภายหลัง คณะกรรมการเฉพาะกิจได้ดำเนินเรื่องจนถึงปลายปี ค.ศ.1978 ต้นปี ค.ศ.1979 ทาง กทม. ได้ลงมือทำถนนท่อระบายน้ำ ไปทาง เสร็จสิ้นในปี ค.ศ.1980 ทั้งนี้ก็ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย 
 
คุณพ่อฟอร์แตง  
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 6  ค.ศ.1979-1979 
 
     หลังจากที่คุณพ่อฟอร์แตง ได้รักษาการแทนเจ้าอาวาสได้เกือบ 2 ปี คุณพ่อเซอวรูเลท์ ได้มาประจำในปี ค.ศ.1979  ในปีนี้เอง เพื่อสร้างถนนเชื่อมเข้าหมู่บ้านข้างวัด จำเป็นต้องรื้ออาคารโรงเรียนเก่า และสร้างรั้วถาวร โดยบริษัท เลี่ยว ฮะฮวด ได้บริจาคเงินทั้งหมด ได้บริจาคเงินทั้งหมดในการก่อสร้าง ห้องคำสอนเก่า ศูนย์เยาวชนเก่า ห้องเครดิตยูเนี่ยนเก่า ได้ย้ายมาอยู่ใต้บ้านพักซิสเตอร์และได้ใช้วัสดุก่อสร้างจากอาคารเรียนที่เป็นไม้หลังเก่าที่ได้รื้อไปแล้ว 
 
ทุกๆ ปี ทางวัดได้จัดให้มีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อแม่พระในเดือนตุลาคม สัตบุรุษได้มาชุมนุมกันที่วัดเพื่อสวดลูกประคำ และร่วมบูชามิสซา ในปี ค.ศ.1979  ได้เริ่มมีการนำพระรูปพระแม่ของครอบครัวคุณชะลอ เพื่ออัญเชิญแห่ไปตามบ้าน จุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้จักกัน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่สามารถแสดงความศรัทธาต่อแม่พระที่วัด ได้มีโอกาสแสดงความศรัทธาของตนที่บ้านพร้อมกับคนอื่นๆ เหตุการณ์ที่ประทับใจเกี่ยวกับเดือนแม่พระมีเสมอ แต่เป็นพิเศษสำหรับวัดแม่พระฟาติมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.1980 เพราะในวันที่ 12 ตุลาคม  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ น้ำยังท่วมอยู่ถึงหัวเข่า แต่ด้วยแรงกายแรงใจของหลายฝ่าย น้ำก็แห้งในวันและคืนเดียว เป็นอันว่าเราสามารถถวายบูชามิสซาพร้อมทั้งแห่พระรูปแม่พระได้ดังทุกเดือน
 
ทุกปีทางวัดได้จัดให้มีตรีวารก่อนฉลองวัดประจำปี ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม ในปี ค.ศ.1980 และ ปี ค.ศ.1981 คุณพ่อคณะพระมหาไถ่ได้ให้เกียรติมา ฟื้นฟูจิตใจสัตบุรุษเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ก่อนฉลองวัดประจำปี โดยในสัปดาห์แรก คุณพ่อได้กรุณาไปเยี่ยมตามบ้าน พูดคุยถึงปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อ ส่วนในอาทิตย์ที่สอง ได้เชิญให้สัตบุรุษมาร่วมบูชามิสซาและฟังเทศน์ที่วัด เป็นการส่งเสริมความศรัทธา และฟื้นฟูจิตใจเตรียมฉลองวัดได้อย่างดี  บางท่านอาจบอกว่า  “มีคนมาวัดมากขึ้น”  อย่างไรก็ตาม ประวัติของวัดยังคงอยู่คู่กับความศรัทธาที่คริสตชนมีต่อพระและหวังเช่นเดียวกันว่า พระแม่จะช่วยพาวิญญาณของคนที่หันหลังให้พระ ได้กลับเข้าวัดมาพบความเชื่ออันแท้จริง ขอลูกพระแม่ทุกคนได้สวดภาวนาด้วยความพร้อมเพรียงกันด้วย 
 
 
 
คุณพ่อปิแอร์ เซอวรูเลท์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ค.ศ.1979-1984
 
     ในช่วงที่คุณพ่อเซอวรูเลท์ เป็นเจ้าอาวาส ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และวัดแม่พระฟาติมา ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงได้เกิดแนวคิดในการพัฒนาวัดขึ้น โดยการถมดินยกระดับพื้นที่ของวัด พร้อมกับการทำเขื่อนรอบวัดเพื่อป้องกันน้ำท่วม และทำถนนรอบวัด โดยใช้อิฐบล็อก รวมทั้งการปลูกต้นไม้ให้แลดูดีขึ้น 
 
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผงไฟบอกเลขหน้าของบทเพลงขับร้องในวัด ซึ่งแต่เดิมใช้การประกาศผ่านไมโครโฟน ทำให้ฟังได้ไม่ชัดเจน
 
ทางวัดได้มีการเตรียมการรับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งได้มีหมายกำหนดการในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.1984 ในการนี้ทางวัดได้จัดทำเหรียญที่ระลึก ราคาเหรียญละ 50 บาท โดยเหรียญด้านหนึ่งเป็นรูปแม่พระฟาติมา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปสมเด็จพระสันตะปาปา  กำลังทรงอวยพรอยู่ นอกจากนี้ทางวัดแม่พระฟาติมายังได้รับหน้าที่ในการรับและส่งเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา และนำพระสงฆ์แจกศีลมหาสนิทที่สามพราน 
 
คุณพ่อปิแอร์ เชอวรูเลท์  ได้ย้ายไปประจำที่วัดอื่น โดยได้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศสในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1984 
 
 
 
คุณพ่อ อนันต์  เอี่ยมมโน
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 8 ค.ศ.1984-1985
 
      คุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน  ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1984 แต่เนื่องจากคุณพ่ออนันต์ ได้เป็นเจ้าอาวาสเพียง 8 เดือน งานส่วนใหญ่จะเป็นงานวางโครงการ  และคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ต่อมาได้เป็นผู้สานต่อโครงการ  เนื่องด้วยทางกรุงเทพฯ ได้วางโครงการทำเขื่อนที่คลองข้างวัด จึงได้มีการนำดินที่ลอกมาจากคลองมาถมบริเวณวัดให้มีระดับสูงขึ้น  ทางวัดจึงได้ยกพื้นศาลาประชาคมขึ้น  และได้ยกเลิกโครงการทำถนนรอบวัด ซึ่งได้วางโครงการในสมัยคุณพ่อปิแอร์ เชอวรูเลท์ การทำเขื่อนของกรุงเทพฯ ได้ทำเป็นเขื่อนทั้ง 2 ฝั่งคลอง และกรุงเทพฯได้ขออาศัยพื้นที่บางส่วนของวัดเป็นที่ทำงานชั่วคราว โดยทำเป็นลานซีเมนต์ข้างบ้านคุณพ่อ ซึ่งทางวัดจะได้รับประโยชน์ในส่วนของการป้องกันน้ำท่วมรวมทั้งได้รับดินจากการลอกคลองมาถมวัดให้สูงขึ้น แต่ดินที่ได้ยังไม่เพียงพอ จึงได้ติดต่อขอจากวัดอัสสัมชัญ ซึ่งกำลังก่อสร้างอาคารอยู่ และมีดินเหลืออยู่มากมาย 
 
ได้มีการเปลี่ยนอิเลคโทนชุดใหม่แทนเครื่องเก่า ซึ่งชำรุด และใช้การได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งเป็นเครื่องหลอด เปลืองไฟมาก การหาอะไหล่ก็ยุ่งยากมาก ในช่วงของคุณพ่อได้มีการจัดพิมพ์อนุโมทนาบัตรขึ้น เพื่ออนุโมทนาคุณแก่ผู้ที่บริจาคให้กับทางวัด ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารเกี่ยวกับการเสียภาษีของกรมสรรพกร โดยสั่งพิมพ์ในครั้งแรกเป็นจำนวน 500 ใบ ที่โรงพิมพ์แสงธรรม 
 
ทางชุมชนของวัดได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมการป้องกันภัยต่างๆ ทางวัดและสภาภิบาลวัดจึงได้จัดให้มีการอบรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.1984  โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาช่วยอบรมบรรยายให้ประชากรในชุมชนของวัดฟัง นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยและสัญญาณกันขโมยขึ้นในหมู่บ้านของวัด ทั้งนี้เพราะเริ่มมีการโจรกรรมประเทศต่างๆ เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน ในตู้ทานของวัด และที่คณะภคินีศรีชุมพาบาล คุณพ่ออนันต์เอี่ยมมโน ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1985 และคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม  ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา
 
 คุณพ่อวุฒิเลิศ ได้สานต่องานโครงการพัฒนาวัดที่ได้วางไว้ในสมัยคุณพ่ออนันต์ ดังนี้ 
 
• ได้มีการนำดินที่ขุดขึ้นมาจากการสร้างอาคารที่โบสถ์อัสสัมชัญ มาถมที่วัดแม่พระฟาติมา ซึ่งเป็นช่วงต่อเนื่องกับสมัยของคุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน
 
• ได้ปรับปรุงศาลาประชาคม โดยการยกพื้นใหม่หมด เปิดประตูเหล็กที่ติดกับทางวัดออก และติดตั้งประตูเหล็กทางด้านบ้านของซิสเตอร์  ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350,000 บาท
 
• ตกแต่งและปลูกต้นไม้รอบบริเวณวัด
 
• ถมที่  ทาสีและปรับปรุงโรงเรียนแม่พระฟาติมา โดยเสร็จสิ้น ก่อนเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1985  ใช้งบประมาณทางวัด 1.2 ล้านบาท และเงินบริจาค 3-4 แสนบาท
 
• จัดสร้างกำแพงคอนกรีตรอบบริเวณวัด เป็นกำแพงทึบสูง 2.5 เมตร จากบาทวิถี โดยห้างเรนโบว์ ช่วยเหลือในการออกค่าใช้จ่ายให้ในช่วงนี้ได้มีการบวชสังฆานุกรอภิสิทธิ์  กฤษราลัมภ์  ซึ่งเป็นลูกวัดแม่พระฟาติมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1986  และคุณพ่ออภิสิทธิ์ ได้มาทำมิสซาแรกที่วัดแม่พระฟาติมา ในวันที่ 11 พฤษภาคม  ค.ศ.1986   
 
คุณพ่อ วุฒิเลิศ  แห่ล้อม
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 9 ค.ศ.1985-1989
 
      คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม  ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระฟาติมา จนถึงวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1989 คุณพ่อวุฒิเลิศ ได้มีการแนะนำเจ้าอาวาสองค์ใหม่ คือ คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ต่อสภาภิบาล วัดแม่พระฟาติมา 
 
 
 
คุณพ่อ สุเทพ พงษ์วิรัชไชย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 10  ค.ศ.1989-1994
 
      คุณพ่อสุเทพ  พงษ์วิรัชไชย  เจ้าอาวาส ได้มีการพัฒนาปรับปรุงห้องน้ำศาลาประชาคม  ปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างภายในบริเวณของวัด จัดตั้งกลุ่มเยาวชนวัดรับมอบที่ดินพร้อมอาคาร จากคุณวิศิษฐ์ ลิขิตธรรม  คุณวิเชียร อิสริยคุณากร คุณกวงหลี แซ่ตั้ง  คุณอรรถ มาลาวาลย์ และร้านไทยดี จำนวนประมาณ 4 ไร่  ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เพื่อใช้ในกิจการของวัด มีการจัดทำงรูปปั้นคุณพ่ออาแมสตอย เจ้าอาวาสองค์แรก ทำเป็นโลหะสัมฤทธิ์ขนาดเท่าองค์จริง สูงประมาณ 165 เซนติเมตร จัดทำซุ้มแม่พระที่ถนนปากซอยทางเข้าวัด สร้างอาคารนิรมลที่โรงเรียนแม่พระฟาติมา ด้วยเงินงบประมาณ 13,500,000 บาท  เริ่มสร้างในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1990 และสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1991 จัดงานฉลองวัด 36 ปี  แห่งการจัดตั้งวัดแม่พระฟาติมา นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระฟาติมาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1992  คณะแพร่ธรรมนี้เรียกกันว่า BLUE ARMY ได้เริ่มก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีคุณชะลอ วรรณประทีป  เป็นผู้ริเริ่ม  แต่ต่อมาคุณชะลอได้แจ้งกับคุณพ่อสุเทพ ว่าประสงฆ์จะให้ทางวัดแม่พระฟาติมา รับเป็นศูนย์กลางของคณะในการเผยแพร่กิจกรรม ทางสภาภิบาลวัดและคุณพ่อจึงได้ประชุมหารือกันและเห็นพ้องให้วัดแม่พระฟาติมาเป็นศูนย์กลางแห่งคณะแพร่ธรรมนี้ แต่เนื่องจากยังไม่เคยมีการอนุญาตจากทางสังฆมณฑลอย่างเป็นทางการ ทางวัดจึงได้ทำเรื่องขออนุญาตต่อทางสังฆมณฑล และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ใน วันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1992  ซึ่งเป็นวันฉลองวัด 36 ปี
 
คุณพ่อ ชุมภา คูรัตน์  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 11  ปี ค.ศ.1994-1999 
 
คุณพ่อ วิชชุกรณ์ เกตุภาพ  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 12 ปี ค.ศ.1999-2004
 
คุณพ่อ ประเสริฐ  ตรรกเวศม์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 13  ปี ค.ศ.2004-2009
 
คุณพ่อสานิจ    สถะวีรวงส์    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 14 ปี ค.ศ.2009
 
คุณพ่อ ชาร์ลส์ ปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 15  ปี ค.ศ.2009-2010 
 
คุณพ่อ อเล็กซิส สุรชัย กิจสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 16  ปี ค.ศ.2010-2015
 
       ปี ค.ศ. 2015 โครงการทาสีวัดด้านนอกใหม่เตรียมฉลองปีที่ 60 ของวัด
 
      โครงการจัดแสวงบุญสักการสถานที่แม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด ฟาติมา โอกาสเตรียมฉลองปีที่ 60 ของวัด
 
คุณพ่อ วิทยา แก้วแหวาน  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 17  ปี ค.ศ.2015- 2021
 
       ปี ค.ศ. 2016 เริ่มต้นใช้อาคารอนุบาลหลังใหม่พร้อมจัดระบบจราจรรอบวัดใหม่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2016 
 
       วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2016 จัดพิธีเชิดชูเกียรติคู่แต่งงานครบ 25 และ 50 ปีของเขต 2 ที่วัดแม่พระฟาติมา จำนวน 120 คู่ 
 
คุณพ่อ บัณฑิตย์ ประจงกิจ  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 18 ปี ค.ศ. 2021-2023
 
      ปี ค.ศ. 2020 สืบเนื่องจากปี ค.ศ. 2019 มีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางวัดได้มีมาตรการป้องกัน โดยการลงทะเบียน สมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล การเว้นระยะห่างและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีกรรมในวัด ให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ของทางภาครัฐ และได้ปิดการให้บริการสัตุบุรษมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2020 จนถึง วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2020 โดยระหว่างนี้ให้สัตบุรุษได้ร่วมพิธีผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ ทางเพจเฟสบุ๊คและยูทูปของวัด เมื่อทางวัดได้เปิดให้สัตบุรุษสามารถเดินทางมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดได้แล้ว ทางวัดก็ยังมีมาตรการการป้องกันโควิดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม
 
คุณพ่อ สุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ุ  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 19 ปี ค.ศ. 2023-ปัจจุบัน 
 
 
 
แผนที่การเดินทาง