สภาพทั่วไป

 
       ในปี ค.ศ. 1622 เมื่อวันที่ 6 มกราคม เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร และในประวัติศาสตร์การแพร่ธรรม คือ พระสันตะปาปา เกรโกรีที่ 15 ได้ทรงสถาปนาสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อขึ้นมา โดยพระองค์ทรงมอบหมายงานให้แก่สมณกระทรวงนี้ คือ ให้ทำทุกอย่างเพื่อช่วยการเผยแพร่ความเชื่อคาทอลิก สนามงานของสมณกระทรวงนี้เอง ก็มีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือที่เรียกว่า สยาม ในเวลานั้น และในที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 15
        ที่จริงแล้ว เรื่องการแพร่ธรรมในสมัยนั้น อำนาจการแพร่ธรรมจริงๆ ไม่ได้อยู่ในมือของพระศาสนจักร แต่ทว่า อำนาจการแพร่ธรรมไปตกอยู่ในมือของพวกโปรตุเกสและสเปน ซึ่งในเวลานั้นทั้งสองประเทศ ได้ทำงานแพร่ธรรม พร้อมกับการล่าอาณานิคมและทำการค้าขายหาผลประโยชน์ด้วยซึ่งระบบการแพร่ธรรมแบบนี้ เราเรียกว่า ระบบปาโดรอาโด (Padroado) ในระบบนี้เอง  ด้านหนึ่งก็เท่ากับว่าเป็น การช่วยพระศาสนจักรในการแพร่ธรรม แต่ทว่าในอีกส่วนหนึ่งการแพร่ธรรมได้รับการกระทบกระเทือนด้วย  เพราะเหตุว่าอาณานิคมของโปรตุเกสกว้างใหญ่ไพศาลมาก  กษัตริย์เองและพวกมิชชันนารีไม่ สามารถช่วยดูแลคริสตังได้อย่างทั่วถึง นอกนั้นยังเกิดปัญหาอีกหลายอย่างด้วย
        ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบปาโดรอาโด เราสามารถสรุปได้ จากการเริ่มงานของสมณกระทรวงเผย แพร่ความเชื่อที่ได้ทำการสำรวจสืบสวน  เพื่อทราบความเป็นอยู่ของการแพร่ธรรมในมิสซังถึง 3 ครั้ง (ในปี ค.ศ. 1625, 1628, 1644) และคำตอบที่ได้รับ หรือ ปัญหาที่ได้พบมีดังนี้ 
- มีการขัดแย้งกันระหว่างพระสังฆราชกับนักบวช และระหว่างนักบวชด้วยกัน
- ธรรมทูตทำการค้าขาย
- ธรรมทูตไม่เรียนภาษาของชาวบ้านในประเทศที่เขาไปแพร่ธรรม
- เขตสังฆมณฑลกว้างเกินไป
- ธรรมทูตไม่ยุ่งกับการเมือง
- นักการเมืองเข้ามายุ่งกับงานแพร่ธรรมของธรรมทูต
- ธรรมทูตไม่มีโครงการจะเตรียมคนพื้นเมืองเป็นพระสงฆ์ หรือ คัดค้านคนพื้นเมืองเป็นพระสงฆ์
- พระสันตะปาปาไม่สามารถประกาศสมณสารในประเทศมิสซัง ถ้ากษัตริย์โปรตุเกสไม่รับรองก่อน
- และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
       ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เพื่องานแพร่ธรรมของพระศาสนจักรจะได้ดำเนินไปอย่างดี ดังนั้น เหล่านี้เองที่เป็นความ จำเป็นอย่างมากในการตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และที่สำคัญพระศาสนจักรต้องการเอาอำนาจในการแพร่ธรรมกลับคืนมาสู่มือพระศาสนจักร และต้องการขจัดความไม่สะดวกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสิทธิพิเศษต่างๆ  ที่โปรตุเกสและสเปน  ได้รับจากสิทธิพิเศษของระบบ ปาโดรอาโด และเวลานั้นเอง ประเทศโปรตุเกสกำลังสูญเสียอำนาจของตนไปเป็นอันมาก  เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้น เช่น อังกฤษ ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศสเปนเอง ซึ่งที่ก็สามารถเข้าครองโปรตุเกสด้วยซึ่งทำให้โปรตุเกสไม่สามารถบริหารงานแพร่ธรรมในดินแดนต่างๆ ที่ตนยึดครองอยู่อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
       เราคงไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับระบบปาโดรอาโดได้ในที่นี้    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีการของโปรตุเกสที่ใช้ในการแพร่ธรรม หรือ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศมิสซังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร? ปัญหาเกี่ยวกับประเทศโปรตุเกสเอง ตลอดจนความบาด หมางที่เกิดขึ้นระหว่างพระศาสนจักรและโปรตุเกส ปัญหาระหว่างมิชชันนารีผู้เป็นผู้แทนของพระสันตะปาปา กับบรรดาธรรมทูตในระบบปาโดรอาโด ทั้งนี้เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ของรายงานเล่มนี้ สิ่งที่ต้องการพูดถึง คือ งานของมิชชันนารี ที่เป็นผู้แทนของพระสันตะปาปา (APOSTOLIC VICAR) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตั้งคณะสงฆ์พื้นเมือง
 
ข้อคำสอนของสมณกระทรวงต่อบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปา
        ข้อคำสั่งสอน ปี ค.ศ. 1659 เป็นข้อคำสอนที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญมาก ข้อคำสอนนี้ได้มอบให้แก่บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาแห่ง อินโดจีน มีชื่อว่า “Imstructio Vicariorum Apostolicumad regna Signarum Tochini et Cocincinae proficiscentium 1659” ออกโดยสมณกระทรวง มอบให้แก่
   พระสังฆราช Francis Pallu  พระสังฆราชแห่งเอลีโอโปลิท 
   พระสังฆราช Pierre Lambert de Ia Motte พระสังฆราชแห่งเบริธ
   พระสังฆราช Ignatius Cotolendi พระสังฆณาชแห่งเมเตโลโปลิส 
 
เอกสารฉบับนี้ เราสามารถแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนดังนี้  
   1. Antequm discedant ก่อนออกเดินทางในส่วนนี้พูดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะไปทำงานและท่าทีของผู้แทนพระสันตะปาปา ในการเลือกผู้ร่วมงานและเชื้อเชิญพวกเขาไปทำงานและ พูดถึงเรื่องการติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้แทนพระสันตะปาปาสมณกระทรวง และสมณทูตต้องกระทำด้วยความแน่นอนและปลอดภัยและสั่งให้ออกเดินทางอย่างเร็วที่สุดและลับที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
       2. In ipso intenere ในระหว่างการเดินทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางและสถานที่ต่างๆ ภายใต้การยึดครองของโปรตุเกส ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้การเดินทางของผู้แทนพระสันตะปาปากินเวลา มากขึ้นหลายเท่า  และการเดินทางนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากจากอุปสรรคต่างๆ มากมาย นอกจากนั้น  ยังสั่งมีการบันทึกบรรยายการ เดินทาง สิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการแพร่ธรรม และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ส่งกลับที่สมณกระทรวง
      3. In ipsa missiome ภารกิจที่ต้องกระทำ
- คณะสงฆ์พื้นเมืองต้องได้รับการก่อตั้งขึ้น และนี่ต้องถือว่าเป็นเหตุผลหลักของการเดินทางครั้งนี้
- มิชชันนารีถูกห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การค้าขาย ธุรกิจ
- การประยุกต์ต่างๆ ต้องถูกนำมาใช้กับวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชน
- ต้องจัดตั้งการศึกษาทั้งทางศาสนาและวิทยาการ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาต้องยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน
        ในปี ค.ศ. 1658 หลังจากที่คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของคุณพ่อเลกซานเดอร์เดอ โรดส์ สงฆ์มิชชันนารีคณะเยสุอิต และด้วยการสนับสนุนของสมณกระทรวง  องค์สมเด็จพระสันตะปาปาพระสงฆ์ฝรั่งเศสบางคน ขุนนาง ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งคือ ดัสเชส แห่งอัยกียอง ฯลฯ หลังจากก่อตั้งสำเร็จแล้ว พระสันตะปาปาได้ลงนามแต่งตั้งพระสังฆราช 3 องค์ ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1658 เพื่อเดินทางไปแพร่ธรรมในเอเชีย ซึ่งทั้งสามองค์นี้ เราได้เอ่ยชื่อถึงมาแล้ว ในช่วงที่พูดถึง ข้อคำสอนของสมณกระทรวงต่อผู้แทนพระสันตะปาปา
        และที่สุด การเดินทางก็เริ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1660 พระสังฆราชทั้งสาม พร้อมด้วยพระสงฆ์ ฆราวาสได้เดินทางมา   การเดินทางมีอยู่ 3 กลุ่ม ด้วยกัน โดยมีพระสังฆราชแต่ละองค์เป็นผู้นำมาเราคงไม่พูดถึงรายละเอียดของการเดินทางในที่นี้ แต่จะสรุปว่าการเดินทางนั้นเต็มไปด้วย ความยากลำบากมากมาย และที่สุดแล้ว มิชชันนารีที่ออกมาจากฝรั่งเศสทั้งหมด 17 คน ใน 3 กลุ่มนั้น เดินทางมาถึงประเทศสยาม 9 คน ตายกลางทาง 8 คน และมาถึงในปี ค.ศ. 1662 และ 1664 ตามลำดับ
        ซึ่งที่จริงแล้ว จุดมุ่งหมายของมิชชันนารี ไม่ได้ตั้งใจมาที่สยาม   แต่ทว่า เกิดการเบียดเบียนในประเทศจีน และโคจินจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการเข้าไปแพร่ธรรม ในเมื่อเข้าไปในประเทศเหล่านั้นไม่ได้ มิชชันนารีก็ได้คอยอยู่ในประเทศสยาม และก็ได้มีการแพร่ธรรมที่สยาม โดยบรรดามิชชันนารีเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มี คณะโดมินิกัน คณะฟรังซิสกัน เอากุสติเนียน และคณะเยสุอิต อยู่ในประเทศสยามอยู่แล้ว รวมถึงพวกโปรตุเกสอีกมากพอสมควรด้วย และเมื่อบรรดามิชชันนารีผู้แทนพระสันตะปาปาเริ่มทำงานที่สยาม งานก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมืองก็เริ่มขึ้น
 
                                               **********************************************************