สังฆมณฑลจันทบุรี อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล

 
ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของวัดคาทอลิกจันทบุรีนี้ ผู้เรียบเรียงขอทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นประวัติของวัดนี้ แม้ว่าจะมีช่วงระยะอันยาวนานถึง 275 ปี แต่ก็มีหลักฐานจากเอกสารที่เป็นรายงานบ้าง บันทึกเหตุการณ์บ้าง ซึ่งคุณพ่อที่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส ที่มาทำงานให้มิสซังในสมัยแรกๆ ตั้งแต่เริ่ม ค.ศ.1707 (พ.ศ.2250 ปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระของประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา) นั้นได้จดบันทึกและรายงานไปยังสำนักงานมิสซังที่นครปารีส ดังนั้น เรื่องราวประวัติของวัดนี้จึงมีเอกสารเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานในการเรียบเรียง รวมทั้งบางส่วนก็มีหลักฐานจากหนังสือประชุมพงศาวดารไทย และจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสจันทบุรีทางชลมารคปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) ด้วย  ดังนั้น เรื่องราวอันเป็นประวัติของวัดคาทอลิกจันทบุรีนี้ คงจะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่งที่จันทบุรีด้วย 
 
 
การสร้างวัดหลังที่ 1 (ปี ค.ศ.1711-1742) 
ตามหลักฐานในเอกสารได้บันทึกไว้ว่า ปี ค.ศ.1707 พระสังฆราชซังปีออง เดอ ซีเซ ให้คุณพ่อเฮิ้ต (Heutte) เดินทางมาดูแลคาทอลิกชาวญวน (ที่อพยพหนีภัยการบีบคั้นการเลือกถือศาสนาในญวนขณะนั้น) ที่มาอยู่ในจันทบุรีก่อนหน้านั้นหลายสิบปีแล้ว ขณะที่คุณพ่อเฮิ้ตเดินทางเรือมากับสามเณรตังเกี๋ยอีกสองคนนั้น ก็ต้องพบกับอุปสรรค คือทางการได้จับบุคคลทั้ง 3 ในข้อหา “คิดหลบหนี” ออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น คุณพ่อจึงเดินทางถึงจันทบุรีในปี ค.ศ.1711 ใช้เวลาเดินทางถึง 15 วัน เมื่อคุณพ่อเฮิ้ตมาถึงจันทบุรี ก็พบว่าขณะนั้นมีคาทอลิกชาวญวนอยู่แล้ว 130 คน  อย่างไรก็ตามในปีถัดมา คือ ค.ศ.1712 พระสังฆราชก็ได้ส่งคุณพ่อ “โตแลนติโน” มาช่วยคุณพ่อเฮิ้ต อีกท่านหนึ่ง  เมื่อมีคุณพ่อมีสัตบุรุษพร้อมแล้ว ก็ต้องมีวัดในการประกอบพิธีและสวดมนต์ภาวนา   ดังนั้น วัดหลังที่ 1 จึงได้เกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจกัน ระหว่างคุณพ่อทั้งสองกับสัตบุรุษ วัดที่สร้างในครั้งนี้เป็นลักษณะวัดน้อย (Chapelle) ตามหลักฐานบันทึกไว้ว่า วัดสร้างขึ้นบนฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก) ของแม่น้ำจันทบุรีบนเนินสูงริมฝั่งไปทางทิศใต้ของเจดีย์วัดจันท์ (จันทนาราม) ไปประมาณ 200-300 เมตร (คำว่า “วัดจันท์” ตามหลักฐานบันทึกไว้นั้น ก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่าบริเวณระหว่างวัดโบสถ์เมืองกับวัดกลางวัดใดวัดหนึ่งคงเป็นวัดจันท์)
 
ในปี ค.ศ.1712 นั้นเอง พระสังฆราชก็ได้เรียกตัวคุณพ่อเฮิ้ต ไปประจำเป็นมิชชันนารีที่โคชินจีน (ในเวียด นามใต้ปัจจุบัน) ส่วนคุณพ่อโตแลนติโน ก็รับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี สืบต่อไปจนล่วงถึงปี ค.ศ.1729 คุณพ่อก็มรณ ภาพและศพของคุณพ่อก็ฝังที่วัดแห่งนี้  ดังนั้น ในปี ค.ศ.1730 อันปีต่อมาพระสังฆราชเดอเกราเล (ดำรงตำแหน่ง ปี ค.ศ.1727-1736) ท่านได้ส่งคุณพ่อกาเบรียล ให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดจันทบุรี ต่อจากคุณพ่อโตแลนติโน  และในช่วงนี้เอง ได้เกิดเหตุไม่สงบในหมู่คาทอลิกของวัดนี้ กล่าวคือ ทางการเกิดไม่ไว้วางใจ และได้จับกุมตัวให้ไปอยู่ที่อยุธยา (อันเป็นช่วงสมัยพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ.2251-2275) แต่ก็มีคาทอลิกส่วนหนึ่งหลบหนีการจับกุมเข้าไปอยู่ในป่า ส่วนคุณพ่อกาเบรียล ปลงใจไปอยู่ร่วมกับสัตบุรุษของคุณพ่อที่ถูกส่งไปอยู่ที่อยุธยา ดังนั้น วัดหลังที่ 1 นี้จึงถูกทอดทิ้งให้ว่างเปล่า ปราศจากคุณพ่อ ปราศจากสัตบุรุษ เป็นเวลา 20 ปี (ค.ศ.1732-1752) แต่ก็ปรากฏในหลักฐานว่าคุณพ่อกาเบรียลก็ได้กลับมามรณภาพและฝังศพของคุณพ่อที่สุสานของวัดแห่งแรกนี้ เมื่อปี ค.ศ.1742 แม้เหตุการณ์จะไม่เอื้ออำนวยให้สัตบุรุษได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขก็ตาม พระสังฆราชเดอโลเลียร์  (ดำราตำแหน่ง ปี ค.ศ.1740-1755) ได้ส่งคุณพ่อเดอกัวนา ให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดจันทบุรี ในปี ค.ศ.1752  เมื่อคุณพ่อเดอกัวนา เดินทางโดยทางเรือมาถึงวัดจันทบุรีหลังแรก ก็ไม่มีวัดแล้ว ไม่มีสัตบุรุษ ยังคงมีเหลือแต่สุสานเท่านั้น เมื่อข่าวของคุณพ่อองค์ใหม่ ที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ได้ทราบไปถึงชาวคาทอลิก ที่กำลังหลบอยู่ตามป่า ก็เกิดความปิติ เกิดกำลังใจที่จะออกจากป่าดงมาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง 
 
การสร้างวัดหลังที่ 2
เมื่อ คุณพ่อเดอกัวนา สามารถรวบรวมชาวคาทอลิก ที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกันในที่เดิม และต่างก็ปลูกกระต๊อบที่อยู่อาศัย พร้อมกันนี้ได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ นับเป็นวัดหลังที่ 2 ในบริเวณเดิม จากหลักฐานได้บันทึกไว้ว่ามีชาวคาทอลิกรวมตัวกันสร้างวัดเล็กๆ  เป็นหลังที่สอง วัดนี้ปลูกสร้างด้วยไม้กระดานเก่าๆ ประกอบด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตาล และจากการสำรวจของคุณพ่อเจ้าอาวาส พบว่าชาวคาทอลิกที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี  ไม่มีโอกาสร่วมพิธีมิสซา ไม่ได้รับศีล ไม่ได้แก้บาป แต่ก็ยังปรากฏว่าสัตบุรุษมีความศรัทธา ความเชื่อมั่นในพระคริสตเจ้าอย่างสูงส่ง แม้ว่าคุณพ่อเดอกัวนา จะประสบผลสำเร็จ ในการรวบรวมกำลังใจกำลังกาย สัตบุรุษที่กระจัดกระจายได้มารวมกันที่วัดหลังที่ 2 นี้ แต่คุณพ่อก็มีบุญได้อยู่กับสัตบุรุษได้เพียง 4 ปี คุณพ่อก็ได้มรณภาพและฝังศพคุณพ่อที่วัดนี้ในปี ค.ศ.1755 หลังการจากไปของคุณพ่อเดอกัวนา  พระสังฆราชบริโกต์ ( ค.ศ.1750-1768) ได้ให้คุณพ่อจางซึ่งเป็นชาวจีนเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ตั้งแต่ ค.ศ.1756-1800 นับว่าคุณพ่อมีช่วงเวลาอยู่ที่วัดจันทบุรีนานถึง 44 ปี จึงเห็นได้ว่าช่วงที่คุณพ่ออยู่ดูแลวัดจันทบุรีก็เป็นช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อด้วยสมัยกรุงธนบุรี ขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ที่กล่าวทบทวนเช่นนี้เพื่อให้เห็นสภาพเหตุการณ์ผันผวนทางบ้านเมืองในช่วงของคุณพ่อจาง ว่ามีความยุ่ง ยากในการสืบราชสมบัติ ปลายสมัยพระเจ้าบรมโกศ รัชกาลกรมขุนพรพินิจ และกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ก็ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 อีกด้วย ผลนี้ทำให้พระเจ้าตากสินต้องทำสงครามกู้อิสรภาพ โดยนำทหาร 500 คน ฝ่าวงล้อมพม่ามาตั้งหลักในการกู้กรุงศรีอยุธยาที่จันทบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินกู้อิสรภาพได้แล้ว ก็ยังต้องทำสงครามรวบรวมชาติ ป้องกันชาติ ไปจนถึงปลายรัชกาลที่ 1 ในสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย
 
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว จะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ที่แน่คือคุณพ่อจาง ต้องหลบภัยไปอยู่ที่ฮาเตียง ประเทศญวน ในปี ค.ศ.1765 และยังถูกจำขังที่ฮาเตียงถึง 2 ครั้ง ครั้นบ้านเมืองสงบจึงกลับมาจันทบุรี สำหรับเหตุการณ์ที่ไทยเราต้องทำสงครามกับพม่าจนต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 (ค.ศ.1767) นั้น พม่าได้ทำลายบ้านเมือง วัด อาราม รวมทั้งสามเณราลัยพินาศย่อยยับ เหตุการณ์นี้แหละคุณพ่อแกแรเวต์ อธิการสามเณราลัยที่กรุงศรีอยุธยาต้องพาเณร 30 คน อพยพหนีพม่ามาอยู่จันทบุรีเช่นกัน ซึ่งคุณพ่อจาง เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ก็ได้ให้การต้อนรับช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่คุณพ่ออธิการสามเณราลัย ก็ยังไม่แน่ใจว่า การที่จะตั้งบ้านเณรที่วัดจันทบุรีตามที่คิดไว้แต่แรก จะสงบและปลอดภัยตลอดไป ดังนั้นคุณพ่อแกแรเวต์ จึงโยกย้ายสามเณรจากวัดจันทบุรี ไปตั้งที่เมืองฮาเตียน แต่แล้วทางญวนก็เกิดวุ่นวาย เพราะเกิดสงครามการเมืองกบฏไตเซิน พ.ศ.2313-2328 ในที่สุด ฝ่ายกบฏไตเซินก็ยึดญวนใต้รวมทั้งฮาเตียนได้  ภาวะอันไม่ราบรื่นเช่นนี้ จึงปรากฏว่า คุณพ่อแกแรเวต์ก็ต้องย้ายสามเณรกลับมาที่จันทบุรีอีกครั้ง ในปี ค.ศ.1783 
 
สำหรับที่วัดจันทบุรีในระยะนี้ตัวคุณพ่อจางก็ชราภาพไปมาก แต่ก็ได้คุณพ่อลีโอต์ ซึ่งลี้ภัยสงครามการเมืองในญวนมาอยู่ช่วยคุณพ่อจาง จนถึงปี ค.ศ.1891 และก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของท่านอีกเพียงแต่ทราบว่ามี คุณพ่อลัพวีร์มาช่วยคุณพ่อในปี ค.ศ.1790 และย้ายไปประเทศญวนในปีถัดไป พระสังฆราชการ์โนลต์ ให้คุณพ่อฟลอรังส์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในปี ค.ศ.1791-1802  หลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังไทยในปี ค.ศ.1811 ในช่วงที่ยังเป็นคุณพ่อฟลอรังส์เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีอยู่นั้น ก็มี อนุสงฆ์ลูกวัดจันทบุรีองค์แรกชื่อมัท เทียโดมาช่วยงานอยู่ 5 ปี และได้รับการบรรพชาจากพระสังฆราชการ์โนลต์ที่สามเณราลัย กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.1802 เมื่อบรรพชาแล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีทันทีเป็นเวลาถึง 32 ปี
 
การสร้างวัดหลังที่ 3 (ปี ค.ศ.1834-1855)
ในช่วงสุดท้ายของคุณพ่อมัทเทียโด พระสังฆราชฟลอรังส์ (ค.ศ.1811-1834) ได้ให้คุณพ่อเคลมังโซ มาช่วย คุณพ่อมัทเทียโด  คุณพ่อทั้งสองจึงช่วยกันสร้างวัดหลังที่ 3 ขึ้นที่ฝั่งซ้ายโดยย้ายข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นวัดจันทบุรีปัจจุบันตั้งอยู่ การสร้างวัดจันทบุรีหลังที่ 3 ในปี ค.ศ.1834 นั้น มิได้บันทึกถึงเหตุผลของการย้ายจากที่เดิม (แม้ว่าทางบ้านเมืองจะเกิดการขัดแย้งกัน ระหว่าง รัชกาลที่ 3 กับประเทศญวน โดยไทยเราส่งกองทัพไปตีถึงไซ่ง่อนได้ในปี พ.ศ.2377 เสร็จศึกแล้ว รัชกาลที่ 3 ก็ได้สร้างเมืองจันทบุรีใหม่อย่างมั่นคงที่บริเวณค่ายเนินวง ย้ายผู้คนจากเมืองเก่าที่นาลุ่มมาที่เมืองใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมก็ตาม เมื่อพิจารณาดูก็ยังไม่เห็นจะเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตามวัดที่ 3 นี้ เป็นเพียงวัดเล็กๆ ในลักษณะสร้างชั่วคราว สร้างด้วยไม้กระดานเก่าๆ และไม้ไผ่ ทั้งนี้น่าจะมีการคิดโครงการที่จะสร้างวัดจันทบุรีให้ใหญ่พอบรรจุสัตบุรุษให้ได้มากกว่า 1,000 คน แล้วก็ได้ เพราะมีหลักฐานว่าปี ค.ศ.1800  มีสัตบุรุษ 1,000 คนเพิ่มจากปี ค.ศ.1766 ซึ่งมีราว 200 คน ในวัดหลังที่ 2 
 
เมื่อสร้างวัดที่ 3 เสร็จ ก็ได้มีการขุดเอาอัฐิของคุณพ่อโตแลนโตโน คุณพ่อกาเบรียล และคุณพ่อเดอกัวนา มาฝังที่วัดจันทบุรีแห่งใหม่นี้ สำหรับคุณพ่อเคลมังโซได้รับหน้าที่ดูแลวัดจันทบุรี หลังจากที่คุณพ่อมัทเทียโดมรณ ภาพ ปี ค.ศ.1834 จากนั้น  4 ปีต่อมาคุณพ่อก็ได้แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพระสังฆราชในปี ค.ศ.1838 
 
 
การสร้างวัดหลังที่ 4 (ปี ค.ศ.1855-1905)
พระสังฆราชกูเวอซี ( ค.ศ.1834-1841) ได้ให้คุณพ่อรังแฟง (Ran Faing) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี  ต่อจากคุณพ่อเคลมังโซ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1838 จนถึงช่วงที่คุณพ่อจะลงมือสร้างวัดใหม่นั้น เป็นระยะเวลาที่ชุมชนคาทอลิกกำลังเติบโตขึ้นมาก จนมีสัตบุรุษมากกว่าพันคนแล้ว ประกอบกับวัดที่ 3 ก็ทรุดโทรมคับแคบกว่าเดิม ดังได้กล่าวมาแล้วปัญหาเหล่านี้ เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัว (ค.ศ.1841-1861) ได้รับทราบจึงสนับสนุนให้คุณพ่อรังแฟงสร้างวัดขึ้นมาใหม่พร้อมทั้งได้บอกบุญแก่ชาวคาทอลิกในไทย จนได้เงินจำนวนหนึ่ง  ส่งมาให้คุณพ่อรังแฟง เพื่อดำเนินการก่อสร้างวัด และอีกจำนวนหนึ่งให้อารามภคินีคณะรักไม้กางเขนขยายอารามซึ่งคับแคบเช่นกัน
 
คุณพ่อรังแฟง ได้เริ่มก่อสร้างวัดในปี ค.ศ.1855 และได้รับความร่วมมือจากสัตบุรุษเป็นอันมาก ได้มีการตระเตรียมอุปกรณ์วัสดุก่อสร้างพวกอิฐ หิน ปูน ส่วนคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดนั้น ก็ได้สั่งซื้อเสา 16 ต้น ขนาดใหญ่หนึ่งฟุต ยาว 8 เมตร เตรียมไว้เรียบร้อย แต่ยังมิทันไรก็เกิดเหตุการณ์เพราะการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือสัตบุรุษได้ไปพบเห็นอิฐที่ทิ้งขว้างตามเจดีย์รกร้าง ก็ไปขนมาเพื่อสร้างวัดในครั้งนี้ด้วย แต่ทางท่านเจ้าเมืองทราบก็ให้ระงับ ตกลงสัตบุรุษต้องขนไปคืนที่เดิม แล้วหันไปขนหินที่บางราด ซึ่งอยู่ห่างไกลต้องใช้เวลาแจวเรือถึง 10 ชั่วโมงทีเดียว แต่สัตบุรุษในครั้งนั้นก็มิได้ย่อท้อ  
 
การก่อสร้างวัดหลังที่ 4 นี้ มีลักษณะถาวรแบบก่ออิฐถือปูนจากเอกสารของวัดก็บันทึกไว้เพียงเท่านี้ ถ้าเราได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงต้องคิดสรุปเอาว่าวัดจันทบุรี ก็คงจะเรียบร้อยไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่จากการค้นคว้าเพิ่มเติมในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ปี ค.ศ.1876 เพื่อเยี่ยมพสกนิกรอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อพระองค์เสด็จผ่านและพบเห็นสิ่งใดก็ทรงนิพนธ์ไว้ จึงขอตัดตอนมาบางตอนมาดังนี้
 
เวลา 5 โมง (เช้า) ถึงโรงสุราจีนเจี๊ยะไปอีกหน่อยหนึ่ง พอเลี้ยวแหลม ก็ถึงเมืองเก่า เห็นบ้านญวนเรียงไปตามริมแม่น้ำ ข้างซ้ายมือกว่าร้อยหลังคาเรือน ทางขวามือก็มีบ้านรายๆ ที่ริมแม่น้ำ หน้าบ้านเหล่านั้นปักธงญวนเป็นระยะๆ กันไป ตลอดหน้าบ้านมีผู้หญิงผู้ชายและเด็กแต่งตัวเป็นญวนลงมายืนดูเราที่ริมน้ำหลายร้อยคน มีเด็กๆ มากนัก  พอหมดบ้านญวนก็ถึงตะพานฉนวนน้ำข้างขวามือ ฟากแม่น้ำข้างหนึ่งนั้น มีศาลเจ้าอยู่หลังหนึ่ง ปักธงหน้าศาลเหมือนกัน ต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง เป็นวัดคาทอลิก แต่เราไม่เห็นโบสถ์ถนัด ได้ยินแต่เสียงกลอง เสียงระฆัง และมโหรีที่วัดมีพลุจุด 6 นัด กับพวกจีนบ้าง ไทยบ้าง ญวนก็มีเอาพลอยและบุศย์มาให้ เราได้ให้เงินคนละมากบ้างน้อยบ้างตามสมควรและกลับมาลงเรือขึ้นไปทางเหนือน้ำ ตรงหน้าโบสถ์คาทอลิก เห็นบาทหลวงมานั่งอยู่ที่ตะพานสามสี่คน มีมโหรีบรรเลงอยู่ที่นั้นด้วย ตัวโบสถ์นั้นยาวใหญ่ เป็นหลังคามุงกระเบื้องเกล็ด หันหน้าลงแม่น้ำ แต่หน้าโบสถ์เราเห็นก่ออิฐใหม่ๆ ยังไม่แล้ว ตรงกลางนั้นสูงขึ้นไป จะเป็นหอระฆังหรืออะไรไม่ทราบ ก่อขึ้นไปได้เกินอกไก่สักหน่อย ที่นั่นเขาเอาไม้ไปผูกชักธงไม้กางเขนใหญ่ เมื่อเราไปถึงเขาก็ชักธงสลุดทั้งไปและมา ตามโบสถ์และตะพานนั้น มีธงต่างๆ ปักไว้มาก เราผ่านไปทางนั้นเขาตีกลอง ระฆังและมโหรี จุดพลุอีก 6 นัด ตีกรรเชียงขึ้นไป พบหน้าวัดเห็นบ้านตึกหลายหลัง เราคะเนเห็นว่าจะเป็นบ้านพระพินิจด้วย เขาบอกว่าอยู่ใกล้วัดฝรั่ง ต่อขึ้นไปอีกก็มีตึกบ้างรายๆ ข้างฝั่งซ้ายมือนั้นเป็นหลังตลาดที่เราได้ขึ้นไปแล้ว เราตีกรรเชียงไปจนถึงวัดโบสถ์ซึ่งเป็นเนินสูงทีเดียว ข้างขวามือนั้นเป็นวัดจันทร์ตรงกันข้าม และกลับเรือที่นั่น 
 
จากพระนิพนธ์ของ รัชกาลที่ 5 ข้างต้น ทำให้เราทราบสภาพอะไรๆ มากมาย และที่สำคัญยิ่งสำหรับประ วัติศาสตร์ของวัดหลังที่ 4 ซึ่งทำให้เราทราบได้ว่าลงมือสร้างตั้งแต่ ค.ศ.1855 มาจนถึง ค.ศ.1866 ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ สำหรับคุณพ่อรังแฟงนี้ คุณพ่อได้ทำงานในฐานะเจ้าอาวาสวัด ตั้งแต่ ค.ศ.1838-1874 นับเป็นเวลาถึง 46 ปี แต่คุณพ่อก็ยังมีชีวิตอยู่ถึงปี ค.ศ.1885 ซึ่งช่วงหลังนี้คุณพ่อคงชราภาพมาก จึงได้มอบงานหน้าที่เจ้าอาวาสให้คุณพ่อกังตริ๊ก (เป่า) ในฐานะที่คุณพ่อปกครองวัดจันทบุรีในฐานะเจ้าอาวาสนั้นก็มีคุณพ่อมาสับเปลี่ยนช่วยงานถึง 4 องค์ดังนี้
 
1. คุณพ่ออังเดร (ค.ศ.1857-1863) คุณพ่อมีบทบาทสำคัญมากองค์หนึ่ง คุณพ่อเป็นผู้ได้ซื้อที่ดินบริเวณ เชิงเขาสระบาป และ สร้างวัดเล็กๆ หลังหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1857 แต่ในเวลาต่อมาสัตบุรุษในวัดสระบาปถูกรบกวนไม่มีความสงบสุข จึงอพยพย้ายไปจากที่นี่ ภายหลังเมื่อวัดไม่มีคนก็ถูกทำลายไป ในปี ค.ศ.1880 ต่อมาสมัยคุณพ่อเปรรีกาล ได้จัดการขยายไปเพื่อตัดปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว จากประวัติของวัดที่เชิงเขาสระบาปที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้เรียบเรียงได้เคยทราบในประวัติศาสตร์กล่าวว่า ม.อีติเบิกร์ ได้เขียนในหนังสือแคมโบช เมื่อ พ.ศ.2444 ว่า มีบาทหลวงฝรั่งองค์หนึ่งพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ตำบลเขาสระบาป ในจารึกมีข้อความว่า เมื่อ 1000 ปีล่วงมาแล้วมีเมืองหนึ่งชื่อควนคราบุรี เป็นเมื่องที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่ที่เชิงเขาสระบาป ชาวเมืองเชื้อชาติชอง ที่นำมากล่าวตรงนี้เพื่อค้นคว้าวิเคราะห์กันต่อไปว่า บาทหลวงที่กล่าวอาจเป็นคุณพ่อที่มาอยู่วัดจันทบุรีองค์ใดก็ได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าคุณพ่อก็ได้มีส่วนทำความกระจ่างให้กับประวัติศาสตร์ของจันทบุรีด้วย
 
2. คุณพ่อโปนาศ (ค.ศ.1859-1863) 
 
3. คุณพ่อซีมอน (ตาน) ปี ( ค.ศ.1863-1901) คุณพ่ออยู่ที่วัดจันทบุรีถึง 38 ปี
 
4. คุณพ่อดองค์ (ค.ศ.1868-1869) คุณพ่ออยู่ด้วยระยะเวลาสั้น แต่ก็ได้เทศน์และสอนจูงใจ ทำให้ชาวจีนเข้ามาเป็นคาทอลิกชาวจีน เป็นครั้งแรกของวัดนี้หลายคน
 
ส่วน คุณพ่อกังตริ๊ก (เป่า) เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีต่อจากคุณพ่อรังแฟงซึ่งชราอยู่ คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาส ที่เคร่งต่อวินัยของวัดถึงกับมีการลงโทษ จนสัตบุรุษขยาดกันทั่ว คุณพ่อยังมีคุณพ่อแคชซาล(ค.ศ. 1875-1877)มาช่วย ในปี ค.ศ.1885 พระสังฆราชให้คุณพ่อกูอาส (เล-ฮฮ) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีจนถึงปี ค.ศ.1900 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประจำมิสซังอีสาน พระสังฆราชยังได้กลับเยี่ยมอำลาสัตบุรุษวัดจันทบุรี ก่อนจะกล่าวถึงการสร้างวัดจันทบุรีหลังที่ 5 ในช่วงเวลาของวัดหลังที่ 4 นี้ ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ น่าจะกล่าวสอดแทรกไว้เป็นอนุสรณ์ของชาวคาทอลิกจันทบุรีไว้ ณ ที่นี้คือ ประวัติความเป็นมาของเสื่อกกจันทบูรณ์ ซึ่งเสื่อกกนี้เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ที่ถูกกล่าวขวัญกันอยู่เสมอ จากหลักฐานนั้นกล่าวว่าภคินีรักไม้กางเขน (หรือปัจจุบันเราเรียกซิสเตอร์ฟาติมานั้น) ได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวันในอาราม ทอผ้าแพรและผ้าธรรมดา ทอเสื่อกันในช่วงอย่างน้อยก็ปี ค.ศ.1852  เพราะภคินีมาก่อนหน้านั้นแล้ว และจากพระราชนิพนธ์ของ รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี พ.ศ.2419 มีกล่าวถึงดังนี้ อย่างหนึ่งเสื่อกกแดงนั้น มีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว วิธีทำเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่างๆ ตามที่จะให้เป็นลาย สีแดงย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บางทีย้อมด้วยขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยคราม แต่ใช้น้อย แล้วเอาเข้าสะดึงทอเป็นลายต่างๆ เป็นเสื่อผืนเสื่อลวดบ้าง ยาวตามแต่จะต้องการ กว้างเฉพาะช่วงต้นกก เป็นสินค้าออกนอกเมือง เสื่อลวดประมาณ 3,000 ลวด ราคาลวดละ 6 สลึง เสื่อผืนนั้นออกน้อย เป็นแต่ของกำนัลและของแจก ราคาผืนหนึ่งตั้งแต่สลึงจนถึงบาทตามแต่งามไม่งาม
 
จากพระราชนิพนธ์ของ รัชกาลที่ 5 ทำให้เราทราบได้ชัดเจนว่า คาทอลิกชาวญวนเป็นผู้เริ่มทำเสื่อเป็นรายแรกในประวัติศาสตร์การทำเสื่อจันทบูรณ์มาช้านาน แต่จืดจางไปก็เพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกร่วม 20 ปี ชาวคาทอลิกเริ่มหันไปจับอาชีพอื่น เช่น การทำพลอยกันมากขึ้น จึงขาดแรงงานก็ได้มีการว่าจ้างแรงงานผู้หญิงจากตำบลอื่นมาทำ เช่นแถบบางสะก้าว เสม็ดงามมาทำในฐานะลูกจ้าง ที่สุดการทำเสื่อกกก็ย้ายถิ่นกำเนิดเปลี่ยนมือไปอยู่แถบต่างตำบล ที่บางสะก้าวและเสม็ดงามดังกล่าว อย่างไรก็ตามที่อารามฟาติมาก็ยังเป็นแหล่งผลิตฝีมือดีตลอดมา แต่ก็น่าเสียดายว่ากำลังจะถูกทอดทิ้งไปอีกเช่นกัน หลังจากเราได้ถ่ายทอดกันสืบต่อกันมาไม่น้อยกว่า 120 ปีแล้ว
 
การสร้างวัดจันทบุรีหลังที่ 5 (ค.ศ.1905- ปัจจุบัน)
วัดหลังที่ 4 แม้ว่าจะก่อสร้างด้วยถาวรวัตถุแล้วก็ตาม แต่ที่สุดแล้ววัดก็คับแคบอีก เพราะตามสถิติจากหลักฐานปรากฏว่า ปี ค.ศ.1875 มีสัตบุรุษ 1,500 คน  ครั้งถึง ค.ศ.1900 สัตบุรุษเพิ่มเป็น 2,400 คน ดังนั้น เมื่อพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้ให้คุณพ่อเปย์ริกัล มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี เมื่อปี ค.ศ. 1900 จึงต้องลงมือสร้างวัดใหม่ใน 3 ปีต่อมา กล่าวคือในปี ค.ศ.1903 คุณพ่อได้เริ่มเตรียมหาอุปกรณ์ก่อสร้างวัดไว้ โดยการหาหินมาเผาอิฐและปูน ในปี ค.ศ.1905 ได้ลงมือรื้อวัดหลังที่ 4  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1905 และทำการสร้างวัดชั่วคราวขึ้นในบริเวณที่เป็นสนามบาสเกตบอลหน้าหอประชุมนิรมลปัจจุบัน ได้ใช้เป็นวัด 3 ปี  เมื่อวัดจันทบุรีหลังที่ 5  เป็นรูปเป็นร่างพอใช้เป็นที่ประกอบพิธีมิสซาได้ วัดชั่วคราวนั้นได้ให้คณะบราเดอร์จากคณะอัสสัมชัญ จัดตั้งเป็นโรงเรียนภายใต้ชื่อโรงเรียน “มารียาลัย”  ทำการสอนอยู่ได้ 3 ปี ในช่วงนี้มีหลักฐานจากพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 5  เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมจันทบุรี ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน  ค.ศ.1907 เวลา 9.00 น. ได้เสด็จผ่านไปท่าเทียบเรือ  (ท่าหลวง ตรงใกล้วัดโบสถ์เมือง) ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า 
 
“ที่หน้าวัดโรมันคาทอลิก ซึ่งอยู่ริมน้ำทางเสด็จก็มีบาทหลวงฝรั่งเศส นำนักเรียนมาตั้งแถวอยู่ที่สะพาน ท่าน้ำ แสดงความเคารพ”  หลังจากนี้ได้ตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาลถึง 25 ปี ที่สุดจึงได้มาตั้งเป็นโรงเรียนมารดาพิทักษ์ ใน ค.ศ.1945
 
 
วัดเสกศิลาฤกษ์ 6 มกราคม ค.ศ.1906
สำหรับการสร้างวัดหลังที่ 5 นั้น  ได้ทำพิธีเสกศิลากฤษ์  เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1906 หลุมวางศิลาฤกษ์อยู่ตรงประตูกลางหน้าวัด ลึก 2 เมตร มีเอกสารบรรจุในขวด ในวันทำพิธีเสกได้เชิญคุณพ่อมาตราต์ อธิการสามเณราลัยมาเป็นประธาน และมีคุณพ่ออีกหลายองค์ร่วมในพิธี อาทิคุณพ่อเปย์ริกัล คุณพ่อแปร์รอส คุณพ่อตอกเกล คุณพ่อการต็อง คุณพ่อแฟฟร์ และคุณพ่ออากิม  วัดนี้เมื่อสร้างเสร็จจะมีความยาว 60 เมตร กว้าง 20 เมตร ในปี ค.ศ.1907 วัดใหม่เริ่มใช้ประกอบพิธีมิสซาได้แล้ว แต่สภาพยังไม่เรียบร้อย ซึ่งจะต้องจัดหาส่วนประกอบต่างๆ ตั้งแต่ระฆังวัด นาฬิกา พระประธานวัด องค์รูปปั้นนักบุญ กระจกภาพสี ฯลฯ มาประดับในกาลต่อมา 
 
วันพิธีเสกวัดจันทบุรี
ดังนั้นในปี ค.ศ.1909  จึงได้ทำการติดตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ (เส้นรอบหน้าปัด 4.70 ม.) บนหอสูง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ไกลประมาณ ราว 2 กิโลเมตร และในปีนี้เองก็ได้มีพิธีเสกวัด มีการเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬาร เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1909 นั่นเอง ในพิธีนี้คุณพ่อกอลมเบต์ อุปสังฆราช ได้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยมีคุณพ่อมาร่วมฉลองด้วยเกือบ 10 องค์ หลังจากนี้ก็มีการติดตั้งส่วนต่างๆ  อีก กล่าวคือ ปีค.ศ.1912 ใส่กระจกสีเหนือหน้าต่างตอนสัตบุรุษนั่ง ในปีต่อมา ค.ศ.1913 ใส่กระจกชั้นบนตอนมุขหน้าวัด ส่วนกระจกสีที่เป็นภาพนักบุญต่างๆ ที่จะติดบนบริเวณเหนือพระแท่นนั้น ได้ใส่เป็นที่เรียบร้อยในปี ค.ศ.1914  สำหรับกระจกสีทั้งหมดนี้ ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระจกสีที่เป็นภาพนักบุญทั้งหมดนั้นนับว่าเป็นสิ่งมีค่า ล้ำค่า และสวยงามที่สุด เท่าที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเราจะนับคุณค่าทั้งทางศิลปะ คุณค่าความงดงาม หรือคุณค่าในฐานะของเก่าดังนั้นต้องนับว่าวัดจันทบุรีเราโชคดี บรรพบุรุษได้สะสมมรดกเหล่านี้ไว้ให้กับเราในรุ่นนี้อยู่ไม่น้อย ได้มีสิ่งเชิดหน้าชูตาในวัดของเราเป็นอันมาก พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งพระรูปนักบุญยออากิมและนักบุญอันนาด้วย 
 
ในปี ค.ศ.1921 ได้ทำเพดานวัดโดยเงินกองมรดกของนายไง่ มณีทรัพย์ เป็นจำนวนเงิน 24,000 บาท ในปี ค.ศ.1926 ได้ทำพิธีเสกระฆัง 3 ลูก เพื่อติดตั้งบนหอสูงข้างเดียวกับติดนาฬิกา ระฆังลูกใหญ่หนัก 650 ก.ก. มีเสียงซอล ลูกกลางหนัก 325 ก.ก. มีเสียง ซี ลูกเล็กหนัก 160 ก.ก. มีเสียง เร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ได้ทำให้เห็นแล้วว่า การปลูกสร้างวัดหลังปัจจุบันนี้ กว่าจะสำเร็จล่วงได้สมบูรณ์จริงๆ นั้น ก็ใช้เวลานานพอสมควร สัตบุรุษชาวคาทอลิกจันทบุรีในยุคที่สร้างวัดนั้น เป็นผู้ที่ได้เสียสละทั้งแรงกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ทุกอย่างและแทบทุกคนทุกครัวเรือน ซึ่งในระยะปีค.ศ.1926 นั้นมีสัตบุรุษ 3,000 คน และจากการบันทึกในเอกสารการสร้างวัดหลังที่ 5 นี้  ก็ได้จดรายละเอียดถึงบุคคล สัตบุรุษที่ได้ช่วยได้เสียสละไว้มากมาย จนไม่สามารถนำมากล่าวได้ทั้งหมด แต่จะขอยกนามมากล่าวเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย เช่น ผู้ที่ถวายเงินซื้อกระจกภาพสีบางรูป มีนายเต้ก นายเหนียว เล่าเต็กหลี เจ๊กเข้ง นางเคี้ยม แซ่ก๊วย นาฬิกาที่ตั้งบนหอวัด และรูปแม่พระนิรมลองค์ที่ตั้งเหนือแท่นกลางวัดเป็นรูปประธาน มีนายแจ้ นางท๊าบถวายเงินซื้อ ส่วนรูปนักบุญยออากิม และนักบุญอันนาที่ตั้งเคียงข้างรูปแม่พระมีนายเข้ม นางต่าง กิจพานิช ถวายเงินซื้อ สำหรับคุณพ่อมุง ได้สละเงิน 1,800 บาท ซื้อระฆังใหญ่
 
หลังจากสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วสรุปผลค่าใช้จ่าย ในการก่อสร้างวัดหลังปัจจุบันนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 124,954 บาท เมื่อแยกเป็นเงินที่ได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา บริจาครวม 99,959 บาท หักลบแล้ววัดเป็นหนี้อีก 24,995 บาท ตัวเลขนี้ถ้าใช้ความรู้สึกนึกคิดของคนใน ค.ศ.1985 แล้วเราก็คิดว่า ไม่แพงอะไรได้ วัดใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย แต่เงินในยุคสมัยที่ รัชกาลที่ 5  เสด็จประพาสจันทบุรีครั้งแรกนั้น ราคาข้าวเกวียนละ 20 บาทเท่านั้น ดังนั้น เงินบาทในขณะนั้นจะมีค่าและหามาได้ยากเพียงไร เราคนยุคสมัยฉลองวัดจันทบุรี 75 ปี คงคิดคำนวณไม่ออก ในเมื่อคนยุคนั้นส่วนใหญ่ทำประมง ทำเสื่อ ทอเสื่อทั้งทุน กำไร ค่าจ้างทุกอย่างทอเสื่อต้องดีและสวยมากๆ ผืนละ 1 บาท
 
การฉลองวัดจันทบุรี 25 ปี  (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1933)
ในสมัยคุณพ่อซีมอน มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ปี ค.ศ.1929-1949 เป็นช่วงเวลาที่วัดจันทบุรีผ่านอายุขัยครบรอบ 25 ปี ในปี ค.ศ.1933 คุณพ่อซีมอน จึงได้จัดให้มีการฉลองวัดจันทบุรีครบรอบ 25 ปี ในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1933 การฉลองอย่างใหญ่โตในสมัยนั้น ก็เป็นการฉลองในด้านการพื้นฟูความศรัทธา ประจวบกับเป็นปีอันศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ฉะนั้น ช่วงการฉลอง 7วัน ก็มีการสวดไทยสวดจีนและสวดญวน มีการเทศน์และอวยพรทุกวัน ในการฉลองครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ได้มีบุคคลภายนอก ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระคริสตเจ้าและได้เป็นคาทอลิกเป็นจำนวนมาก ในการฉลอง 25 ปีของวัดจันทบุรีครั้งนี้ประมาณได้ว่า ขณะนั้นมีสัตบุรุษประมาณ 3,000 คนเศษ และมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกวัดนี้ยังมีชีวิตอยู่ถึง 14 องค์  และมีโอกาสมาร่วมฉลองวัดของคุณพ่อถึง 10 องค์ทีเดียว
 
การเปลี่ยนแปลงปรับปรุง และการบูรณะวัด (ค.ศ .1944-1985)
วัดจันทบุรีเมื่อสร้างเสร็จก็ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่เรียกว่าศิลปโคธิค รูปทรงภายนอกที่บอกได้ชัดเจน คือ มีหอแหลมสูงเด่นทั้งสองข้าง  แต่ก็น่าเสียดายไม่น้อย เมื่อไทยเรามีกรณีพิพาทอินโดจีน ในปี ค.ศ.1940 จึงจำเป็นต้องเอายอดแหลมของหอทั้งสองออก ซึ่งดูแล้วลดความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมไปไม่น้อยเลย ครั้นเวลาล่วงผ่านสมัย คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ  ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี 2 สมัย สมัยแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1944-1953 เมื่อคุณพ่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีนั้น คุณพ่อได้ปรับพื้นลานวัด ทั้งหน้าวัดและข้างวัด เพราะแต่เดิมตัววัดตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ และลานหน้าวัดก็ลาดลงสู่แม่น้ำ ฝนตกคราวใดน้ำจะต้องท่วมไม่สะดวกการสัญจร  คุณพ่อจึงขอแรงสัตบุรุษขนทรายจากแม่น้ำประมาณ 4,000 ม. จนมีระดับพ้นน้ำ งานต่อมา คือ บูรณะวัด เพราะช่วงที่คุณพ่อมาอยู่วัดนี้วัดก็ผ่านเวลามานานพอสมควร และที่สำคัญก็คือภูมิอากาศของจันทบุรีเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำความเสื่อมโทรมมาสู่สิ่งก่อสร้างได้เร็วกว่าปรกติ ดังนั้น จึงปรากฏว่าหลังคาวัดซึ่งเป็นกระเบื้องซีเมนต์ได้หมดอายุ คุณพ่อได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องลูกฟูก นอกจากนี้คุณพ่อได้ใส่ซี่กรงเหล็กตามช่องหน้าต่าง และเหนือช่องหน้าต่างป้องกันกระจกสีอีกด้วย รวมทั้งใส่ลูกกรงไม้กั้นระเบียงชั้นบน ฯลฯ สำหรับสมัยที่ 2 คุณพ่อได้ทำการย้ายสุสานที่อยู่บริเวณข้างวัด หน้าโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ พร้อมทั้งได้สร้างถ้ำแม่พระเมืองลูร์ด เพื่อประกอบพิธีมิสซาในบางโอกาส สุดท้ายคุณพ่อได้บูรณะภายนอกวัดอีก ครั้งโดยทำผนังเป็นหินล้างแล้วเพิ่มกันสาด ทำรั้วเหล็กดัดและทำลานรอบวัดให้ดูสวยงามอีกขั้นตอนหนึ่ง รวมทั้งได้สร้างหอประชุมเล็กด้วย 
 
 
การฉลองวัด 50 ปี  (วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1960)
สมัยต่อมาคุณพ่อสนิท วรศิลป์ มาเป็นเจ้าอาวาสต่อจากคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ  สมัยแรกปี ค.ศ.1955 คุณพ่อเห็นว่าบ้านพักพระสงฆ์ทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมาช้านานแล้ว จึงได้รื้อและสร้างตึกทันสมัย 3 ชั้น สำหรับภายในวัดคุณพ่อได้เปลี่ยนแปลงบริเวณพระแท่น เพื่อเวลาทำมิสซาพระสงฆ์จะได้หันมาทางสัตบุรุษ แล้วให้ทาสีผนังวัดภายใน ครั้งปี ค.ศ.1960 ได้มีการฉลองวัดจันทบุรี 50ปี เป็นการฉลองอย่างใหญ่โตทั้งภายในและภายนอก มีการละเล่นแสดงมากมาย นอกจากนี้คุณพ่อได้สนับสนุนให้จัดกลุ่มพัฒนาความศรัทธา และสงเคราะห์บรรเทาใจคนทุกข์ยาก ซึ่งเรียกกันในนาม “พลมารี” และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
 
สมัยคุณพ่อดำรง กู้ชาติ  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในปี ค.ศ.1976-1980  เป็นช่วงที่วัดจันทบุรีมีสัตบุรุษมากถึง 5,000 คน และสังคมชาวคาทอลิกเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยมีการจัดการเลี้ยงแต่งงาน ฯลฯ  บ่อยๆ จึงปรากฏว่าหอประชุมเก่า (หอประชุมเล็ก) เล็กลงถนัด งานเลี้ยงแต่ละครั้งคนล้นหลามทุกครั้ง คุณพ่อดำรง และสภาจัดหวัดจันทบุรีก็ได้มีการประชุมหารือบ่อยครั้งในเรื่องการสร้างหอประชุมใหม่ แต่ก็มาติดขัดทั้งเรื่องที่ดินและเงิน ที่สุดสภาวัดได้มีมติสร้างหอประชุม โดยทางสภาวัดฯ จะหาเงินสมทบ โดยวางแผนระยะยาว ขั้นแรกก็ซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างหอประชุม  โดยซื้อที่ของยายมัดและที่ของยายตากไว้ได้ ขั้นต่อมา สภาวัดฯ เห็นชอบด้วยกับแบบแปลนที่คุณพ่อได้ให้สถาปนิกเสนอรูปแบบมา ทางสภาวัดฯ  โดยมีกำนันราลี ประสมผล ประธานสภาวัดนั้น ได้พยายามที่จะดำเนินตามเป้าหมาย ตามขั้นตอนระยะยาว แต่ก็พอดีคุณพ่อดำรงย้าย และสภาวัดก็ครบวาระ นอกจากนี้ได้จัดสนามเด็กเล่น ประสานงานกับกลุ่มเยาวชน พร้อมกับมีวารสารชื่อ “นิรมลสาร” เสนอข่าว บทความสารคดีของวัด
 
 
การฉลองวัดจันทบุรี ครบ 75 ปี  (วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1985)
มาบัดนี้ ก็ถึงยุคปัจจุบัน คุณพ่อเมธี วรรณชัยวงศ์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี และยังดำรงตำแหน่งอุปสังฆราชของสังฆมณฑลจันทบุรีอีกด้วย เมื่อคุณพ่อมาเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อก็เริ่มสร้างหอประชุมใหม่เป็นอันดับแรก ประกอบกับประธานสภาวัดคนใหม่ คุณสุธี สุหฤทธิดำรง  ก็มีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับการการพัฒนาวัดมาก และด้วยพลังใจสูงของคุณพ่อเจ้าอาวาส หอประชุมใหม่ คือ หอประชุมนิรมล จึงได้เสร็จเรียบร้อยพร้อมทั้งทำพิธีเปิดและฉลองหอประชุมในโอกาสฉลองวัดจันทบุรี ปี ค.ศ.1982 นับว่าวัดจันทบุรีได้มีหอประชุมใหญ่เป็นศรีสง่าคู่กับวัดทีเดียว
 
นอกจากนี้คุณพ่อเมธี วรรณชัยวงศ์ ยังได้ตกแต่งบริเวณวัดโดยรอบ ทำพื้นลานรอบวัดเป็นคอนกรีต รวมทั้งจัดถนนรอบวัด มีไม้ประด้บทั้งไม้ดอกและไม้ใบ ตกแต่งบริเวณหน้าวัด พร้อมทั้งได้ซ่อมแซมและบูรณะหอประชุมเล็กให้แลดูสวยงามและกว้างขวางขึ้น พร้อมทั้งบริเวณรอบๆ หอประชุมด้วย ส่วนในวัด ก็มีการตกแต่งภายในวัดบริเวณพระแท่น ยกพื้นขึ้นแล้วปูหินอ่อน พนังหลังพระแท่นก็มีการตกแต่งต่อเติม ให้มีบรรยากาศของศิลปโกธิกอันเป็นลักษณะของวัดจันทบุรี แต่เดิมมา นอกจากนี้คุณพ่อยังได้เปลี่ยนหลังคาวัดใหม่ทั้งหมด ดังที่ได้เห็นเป็นศรีสง่าและฉลองครบรอบ 75 ปี ในโอกาสนี้ ความสำเร็จของวัดจันทบุรี ที่ปรากฏให้เห็นอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นมรดกจากบรรพบุรุษของเราชาวคาทอลิก จากอดีต 275 ปีที่เปี่ยมไปด้วยแรงดลใจความรักความศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้า อุทิศหยาดเหงื่อแรงกายช่วยกันตลอดมา ดังนั้นในปี ค.ศ.1985 อันเป็นปีฉลองครบรอบ 75 ปีของวัดจันทบุรี  คงจะเป็นพลังใจที่จะสะกิดเตือนให้ดวงใจของชาวคาทอลิก 7,200 ดวง ในขณะนี้ได้รัก และหวงแหนมรดกที่มีค่า ที่เป็นของวัดจันทบุรีนี้ได้ดำรงวัฒนาถาวรสืบต่อไป ท้องฟ้าย่อมไม่อิ่มด้วยดวงดาวฉันใด วัดจันทบุรีก็ย่อมไม่อิ่มด้วยการพัฒนาฉันนั้น 
 
เรียบเรียงโดย สง่า นามทอน
จากหนังสืออนุสรณ์ สมโภช 275 ปีของการตั้งวัดและ75 ปีของวัดหลังปัจจุบัน