ประวัติความเป็นมาหอจดหมายเหตุ

สืบค้นเอกสารหอจดหมายเหตุ

ห้องหนังสือ


วันนี้ในอดีต


11 พฤษภาคม พ.ศ.2345 : วันเกิด แฝดสยาม อิน-จัน
วันเกิด แฝดสยาม อิน-จัน (Eng-Chang Bunker) ฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน คู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต เกิดที่ ต. แม่กลอง อ. เมืองสมุทรสงคราม ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่ออายุได้ 8 ขวบ มีพ่อค้านักเดินเรือชาวอเมริกันคือ กัปตันคอฟฟิน (Captain Coffin) และ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) มาพบเข้า จึงขอตัวไปเลี้ยงดูและมอบเงินให้มารดาจำนวนหนึ่ง อิน-จันถูกนำออกแสดงในคณะละครสัตว์จนมีชื่อเสียงไปทั่วอเมริกาและยุโรป ภายหลังทั้งคู่แยกตัวออกมาและเปิดแสดงเองจนร่ำรวย ต่อมาอินได้แต่งงานกับซาราห์ เยตส์ (Sarah Anne Yates) ส่วนจันแต่งกับอะเดเลด เยตส์ (Adelaide Yates) น้องสาวของซาราห์ ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่รัฐนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มีบุตรรวมกัน 21 คน อิน-จันได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี 2382 และใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) มีลูกหลานสืบตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อเสียงของอิน-จัน ทำให้เกิดคำเรียกแฝดตัวติดกันว่า แฝดสยาม (Siamese twins) ตามชื่อเรียกประเทศไทยในเวลานั้น ทั้งคู่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2417 ภายหลังได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ที่ ต. ลาดใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ฝาแฝดสยามอิน-จันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก

11 พฤษภาคม พ.ศ.2524 : บ็อบ มาร์เลย์ ราชาเพลงเร็กเก ถึงแก่กรรม
บ็อบ มาร์เลย์ (Robert Nesta "Bob” Marley) ราชาเพลงเร็กเก (reggae) ชาวจาไมกาเสียชีวิตที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา ในวัยเพียง 36 ปี มาร์เลย์เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2488 ที่เมืองเซนต์ แอนน์ ปาริช (Saint Ann Parish) ประเทศจาไมกา พ่อเป็นคนผิวขาวเสียชีวิตตอนเขาอายุ 10 ขวบ เขาจึงอยู่กับแม่ซึ่งเป็นคนผิวดำมาตั้งแต่เด็ก มาร์เลย์ได้รับความกดดันจากสังคมมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเป็นลูกผสม หลังจากพ่อตายเขากับแม่ย้ายไปอยู่ในย่ายสลัมของเมืองเทร็นช์ทาวน์ (Trenchtown) และเริ่มหัดเล่นดนตรีกับเพื่อนบ้านมาตั้งแต่นั้น เขาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 14 ปีมาทำงานที่ร้านขายลวดเชื่อมโลหะ และใช้เวลาว่างซ้อมดนตรี ก่อนจะได้อัดแผ่นเสียงสองเพลงแรกในปี 2506 คือ Judge Not และ One Cup of Coffee ปีต่อมาเขาก็ร่วมกับเพื่อน ๆ ตั้งวงดนตรีแนวสกา (Ska) และร็อคสเตรดี (Rocksteady) ชื่อว่า The Teenagers ต่อมาเปลี่ยนเป็น The Wailers โดยมาร์เลย์รับหน้าที่ร้องนำและเขียนเพลง จนวงของเขาโด่งดังไปทั่วจาไมกา ในปี 2518 วงของเขาได้ไปแสดงคอนเสิร์ตที่อเมริกา จากนั้นเขาก็ทำให้ดนตรีเร็กเกซึ่งพัฒนามาจากดนตรีพื้นเมืองของจาไมกาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกพร้อมๆ กับลัทธิ ราสตาฟารี (Rastafari) ภายหลังเขาแยกตัวออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก ในช่วงนั้นยังมีความขัดแย้งเรื่องสีผิวอยู่สูง มาร์เลย์จึงใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เรียกหาความเท่าเทียมกันทางสังคม ต่อต้านสงครามและการกดขี่ เนื้อเพลงของเขามักสะท้อนมุมมองทางสังคมการเมืองและชีวิตที่เฉียบแหลมและลึกซึ้ง ในช่วงปี 2503 ดนตรีเร็กเกและทรงผมเดร็ดล็อคส์ (dredlocks) ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนขาว เพลงฮิตของเขาได้แก่ No Woman No Cry, One Love, I Shot the Sheriff, Get Up, Stand Up, Jamming, One Love, Exodus เขาได้รับรางวัล Peace Medal of the Third World จากองค์การสหประชาชาติในปี 2521 บ็อบ มาร์เลย์เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก

11 พฤษภาคม พ.ศ.2470 : วันก่อตั้ง สถาบันศิลป์และศาสตร์แห่งภาพยนตร์
วันก่อตั้งสถาบันศิลป์และศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences : AMPAS) ซึ่งเป็นสถาบันทางภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย เซดริก กิบบอนส์ (Cedric Gibbons) ผู้กำกับศิลป์อาวุโสของบริษัทเอ็มจีเอ็ม (MGM) ต่อมาสถาบันแห่งนี้ได้มีการมอบรางวัลสำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาต่างๆ เป็นประจำทุกปี รู้จักกันในชื่อ อะคาเดมี อวอร์ดส์ (Academy Awards) หรือ ออสการ์ (Oscar) มอบรางวัลครั้งแรกในปี 2472 สำหรับหนังที่ฉายในปี 2470-2471 ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกคือ Wings ปัจจุบันได้มีการมอบรางวัลใน 16 สาขาได้แก่ Actors Art Directors Cinematographers Directors Documentary Executives Film Editors Makeup Music Producers Public Relations Short Films and Feature Animation Sound Visual Effects Writers และในปี 2516 ได้มีการเพิ่มรางวัลออสการ์สำหรับนักเรียนนักศึกษา (Student Academy Awards) อีกด้วย รางวัลออสการ์ประกาศทุกปีที่ฮอลลีวูดซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดให้รับชมกันทั่วโลก นับเป็นรางวัลที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์มากที่สุดรางวัลหนึ่ง

11 พฤษภาคม พ.ศ.2461 : วันเกิด ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
วันเกิด ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมืองนิวยอร์ก เริ่มฉายแววอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ เข้าเรียนฟิสิกส์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตต์ส (Massachusetts Institute of Technology : MIT) เขาเริ่มสนใจ ฟิสิกส์ทฤษฎี (theoretical physics) และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาคือ ทฤษฎีควอนตัม อิเล็กทรอไดนามิกส์ (quantum electrodynamics) ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2508 ร่วมกับ จูเลียน สวิงเกอร์ (Julian Schwinger) และ สินอิทิโร โทมานากา (Sin-Itiro Tomonaga) ไฟน์แมนได้ทำให้เรียนการสอนฟิสิกส์สามารถเข้าใจง่ายขึ้นโดยการเขียนหนังสือ Feynman Lectures on Physics ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สอนวิชาฟิสิกส์จำนวนมาก เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลแลนเจอร์ (Challenger disaster) และเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดของ นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) นอกจากความสามารถด้านวิทยาศาสตร์แล้วเขายังชอบเขียนภาพและเล่นบ็องโกด้วย ไฟน์แมนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 ไฟน์แมนได้รับการยกย่องให้เป็นนักฟิสิกส์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

11 พฤษภาคม พ.ศ.2414 : จอห์น เฮอร์เชล นักคณิตศาสตร์ นักเคมี ถึงแก่กรรม
จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Frederick Herschel) นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์และนักเคมีชาวอังกฤษ ถึงแก่กรรม เฮอร์เชลเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2334 ที่เมืองบัคกิงแฮมไชร์ ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายของ วิลเลียม เฮอร์เชล (Sir William Herschel : นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส) เรียนคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จบมาทำงานวิชาการด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในสมัยนั้นการบันทึกข้อมูลต้องเขียนด้วยลายมือ หากต้องการสำเนาก็ต้องคัดลอกซ้ำให้เหมือนเดิม ทำให้สิ้นเปลืองเวลามาก เฮอร์เชลจึงพยายามคิดวิธีการทำสำเนาขึ้น ในที่สุดก็ค้นพบ กระบวนการไซยาโนไทป์ (Cyanotype) ซึ่งเป็นต้นแบบของกระบวน พิมพ์เขียว (Blue Print) หรือ กระดาษคาร์บอน ที่ใช้ในการพิมพ์ดีดปัจจุบัน นอกจากนั้นเขายังคิดค้นกระบวนการถ่ายภาพ คิดค้น น้ำยาคงสภาพภาพ (photographic fixer) โดยใช้สาร hyposulphite of soda หรือ hypo นอกจากนั้นยังเป็นผู้บัญญัติคำศัพท์ในวงการถ่ายภาพ คือคำว่า "photograph" "negative" และ "positive" นับว่าเขาเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศาสตร์ของการถ่ายภาพ