วัดคอนเซ็ปชัญ

 
 
วัดคอนเซ็ปชัญ
ตั้งอยู่เลขที่ 167 ซอยมิตรคาม ถนนสามเสน
แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร  10300
โทร. 02-243-2617  โทรสาร 02-668-7775
 
ประวัติของวัดและหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญ ได้คัดลอกและรวบรวมมาจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองวัดคอนเซ็ปชัญครบ 250 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1938  บุคคลสำคัญที่เป็นผู้วิ่งเต้นค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของวัด มีพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เจิม วิเศษรัตน์)  พันโทพระประจักษ์ยุทธธน (มรกต วงศ์ภักดี) และหลวงสมานไมตรี (พิศ สมานไมตรีรักษ์) โดยได้รับความร่วมมือจากท่านศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสถียรโกเศศ)  ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่กรมศิลปากร และได้มอบหมายให้นายปรีดา ศรีชลาลัย  เจ้าหน้าที่ในกองวรรณคดี กรมศิลปากร  เป็นผู้ชำระตรวจแก้ เรื่องในหลวงของวัดคอนเซ็ปชัญ จึงมีให้อนุชนรุ่นหลังไว้ศึกษาบ้าง ดังนั้น 
 
วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน ในปัจจุบันนี้ เป็นวัดของคณะคริสตัง มีกำหนดเนื้อที่ คือ ทิศตะวันออกจดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจดลำน้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือจดคลองบ้านญวณ สามเสน (เดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่งถมเป็นถนนคอนกรีตแล้ว) ทิศใต้จดคลองวัดราชาธิวาส วัดคอนเซ็ปชัญ มีขึ้นในประเทศสยาม ได้ความว่า ครั้งสมเด็จพระนารายน์ มีชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายใน   กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก นอกจากค้าขาย บางคนได้รับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ครั้งนั้นมีศึกสงครามบ่อย ชาวโปรตุเกสที่รับราชการฝ่ายทหารได้ทำการรบ มีความชอบหลายครั้งหลายคราว เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์โปรดปรานมาก ในที่สุดถึงกับพระราชทานให้ชาวโปรตุเกสที่นิยมนับถือลัทธิคริสตัง ตั้งวัดบำเพ็ญลัทธิกรรมได้โดยสะดวกใจ เมื่อราว ปี ค.ศ. 1674 บุคคลสำคัญที่ได้รับพระราชทานที่ดินสร้างวัดนั้นคือพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน  ในชั้นต้นพระสังฆราชหลุยส์ลาโน เริ่มสร้างวัด มีเพียงโบสถ์ไม้หลังหนึ่ง ขนานนามเป็นความหมายที่สำแดงออกจากความนับถือ พงศวดารรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จ อันแน่วแน่ของท่านว่า   “วัดแม่พระปฏิสนธิ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1  ได้โปรดหามลทินมิได้” ซึ่งเป็นพยานให้เห็นว่า พระสังฆราช หลุยส์ ลาโน  มีน้ำใจเลื่อมใสในพระแม่มหามารีอาอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้เชื่อมั่นในหลักความจริง ซึ่งพระสมัย (พระศาสนจักร) ได้ประกาศพระสัจธรรมนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854  ต่อหน้าพระสังฆราชกว่า 200 องค์ อย่างสง่าผ่าเผยว่า พระนางพรหมจารีณีทรงพ้นจากบาปกำเนิดตั้งแต่แรกปฏิสนธิ  ...พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน  มีบาทหลวงชางเดอบัว เดอ ฟาลังแดง เป็นผู้ช่วยอยู่องค์หนึ่ง ท่านบาทหลวงชางเดอบัว เดอ ฟาลังแดง  เป็นผู้ที่คร่ำเคร่งในวัตรปฏิบัติ ถึงกับมีคำยกย่องของท่านบาทหลวงวาเช ว่าเป็นผู้มีจิตอาโปสโตโลแท้ (หมาย ความว่าเท่ากับเป็นสาวกเดิมของพระมหาเยซูเจ้า)
 
เรื่องเกี่ยวกับวัดคอนเซ็ปชัญนี้ นับแต่พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ได้มาสร้างวัดเมื่อปี ค.ศ. 1674  แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงในที่ใดๆ เลย  จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1782  จึงได้มีการกล่าวในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1  ว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ชาวเขมร 500 คน  ที่หลบหนีลี้ภัยมาจากเขมร มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในหมู่บ้านนี้เท่านั้น และตังแต่นั้นมาก็มีการเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านเขมร
 
ชาวบ้านเขมรสามเสนสำนักวัดคอนเซ็ปชัญนี้ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉพาะส่วนที่สำคัญที่ปรากฏเป็นหลักฐานคือ ครั้งรัชกาลที่ 1    มีพระราชประสงค์จะให้จัดซื้อปืนใหญ่จากต่างประเทศมาไว้ใช้ในราชการให้เพียงพอ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวโปรตุเกสในหมู่บ้านวัดคอนเซ็ปชัญสามเสนนี้ จัดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่เพราะที่ปืนใหญ่ที่ซื้อมาใหม่นั้น ต่างจากปืนใหญ่เก่าที่มีอยู่ จึงหาผู้สันทัดยิงปืนใหญ่ชนิดนี้ให้แม่นยำได้ยาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการทดลองยิงที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้โอ่งขนาดใหญ่ลอยเป็นเป้า ไม่ปรากฏว่ามีใครยิงถูก ต่อมามีเขมรผู้หนึ่ง ชื่อ “แก้ว”  เคยได้รับการสั่งสอนในการยินปืน ชนิดนี้มาจากชาวโปรตุเกส  ได้ทำการยิงถวายให้ทอดพระเนตร นายแก้วยิงครั้งแรกถูกโอ่ง เป้านั้นแตกกระจาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ยังทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า นายแก้วยิงถูกเป้าโดยบังเอิญหรือโดยแม่นยำกันแน่ จึงโปรดให้นายแก้วยิงอีกที  นายแก้วก็ยิงถูกโอ่งเป้าอีกเป็นครั้งที่สอง ปรากฏชัดต่อพระเนตรว่านายแก้วเป็นผู้ยิงปืนแม่นจริง จึงทรงพระราชดำริตั้งกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ขึ้นกรมหนึ่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเป็นที่พระยาวิเศษสงคราม รามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ และเป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย ครั้นเมื่อพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ถึงแก่อนิจกรรม ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงบุตรหลานให้ได้รับราชการสืบต่อกันมาเป็นลำดับ และทุกวันนี้ก็ยังมีเชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่ (คือ สกุล “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี” นามสกุลทั้งสองนี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6)
 
ผู้สืบตำแหน่งจากพระยาวิเศษสงครามรามภักดี
 
 
 
กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่นี้มีหน้าที่เก็บรักษาปืนใหญ่ ควบคุมปืนประจำป้อมและฝึกซ้อมการยิงเพื่อความชำนาญ ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงชลมารคเกี่ยวกับการพระราชทานกฐินหลวงเป็นต้น ก็มีหน้าที่ความปืนหัวเรือพระที่นั่ง ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานดำเนินไปท้องถิ่น ก็มีหน้าที่เฝ้าพระบรมมหาราชวังโดยกวดขัน
 
ถึงรัชกาลที่ 3  โปรดเกล้าให้ตั้งกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ให้ชื่อว่า “กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หลัง”  รับบรรจุคนที่อยู่บ้านญวนสามเสนเป็นพื้น ทรงพระกรุณาตั้งพระยาบันลือสิงหนาทเป็นจางวางส่วนกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่กรมเก่าให้ชื่อว่า  “กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หน้า” และโปรดให้พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) เป็นจางวางอยู่ตามเดิม
 
ในระหว่างรัชกาลที่ 3 นั้น  ได้มีเหตุที่ไทยต้องรบกับญวนอยู่หลายปี พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ก็ได้ไปในราชการสงครามฉลองพระเดชาพระคุณจนสุดความสามารถ คราวนั้นปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า  มีญวนคลององเจืองและญวนเมืองโจดก บรรดาที่นับถือศาสนาเดียวกับพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ขอสวามีภักดีเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ถัดบ้านเขมรไปทางเหนือ และพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) กราบบังคมทูลขอญวนเหล่านั้นให้มาอยู่กับเขมร ครั้งต่อมาพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ถึงแก่อนิจกรรมลง ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งนายจันทร์ผู้น้องเป็นพระยาวิเศษสงครามแทนที่  ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรเกิดทบทวีมากขึ้น ที่อยู่แออัดไม่เพียงพอกันแล้ว พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จันทร์) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีก ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณตามที่กราบบังคมทูลขอ เขตบ้านจึงขยายกว้างออก คือทิศเหนือวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน  ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพวกญวนก็ขยับจากที่เดิมไปตั้งเคหะสถานทางด้านเหนือ และต่อมาก็ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์หลังปัจจุบันนี้ขึ้น ซึ่งได้ทำการเสกเมื่อ ปี ค.ศ. 1867  วัดนี้คุณพ่อยิบาร์ตผู้มีหน้าที่ดูแลค่ายญวนได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1853  แล้วแต่เพราะขาดเงินการก่อสร้างจึงต้องชงักหลายหน
 
ในระหว่าง ค.ศ. 1828-1843  ท่านบาทหลวงฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว ได้มาเป็นเจ้าอธิการวัดคอนเซ็ปชัญ  ท่านได้พยายามทะนุบำรุงวัดคอนเซ็ปชัญให้เจริญมากขึ้น  โดยปกติท่านบาทหลวง ฌอง บัปติสต์  ชอบสะสมความรู้เกี่ยวภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ ลาติน  และภาษาไทย   เอาใจใส่ศึกษาสอบสวนจนได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้หลักแหลมใน 4 ภาษานี้ ได้เรียบเรียงพจนานุกรม 4 ภาษาขึ้นเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดใหญ่และยังร้อยกรองเรื่องอื่นๆ  เป็นหนังสือสำคัญไว้อีกหลายเรื่อง
 
ในส่วนบำรุงวัด สมัย บาทหลวง ฌอง บัปติสต์   มีผู้ไปสวดมนต์ภาวนาที่วัดมากขึ้น ท่านเห็นว่าวัดน้อยคับแคบไม่พอจำนวนผู้ไปสวดมนต์ จึงดำริสร้างวัดขึ้นใหม่อีก คือวัดใหญ่ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แต่ระระฆังคงใช้ของเก่าซึ่งมีอยู่แล้วที่มุมกำแพงวัดด้านใต้ ภายหลังได้สร้างกำแพงรอบวัดใหม่ เป็นที่สง่างามแก่วัดยิ่งขึ้น และอัญเชิญรูปพระแม่เจ้า (ที่นำมาจากเมืองเขมร) ประดิษฐานไว้ในวัดใหม่ด้วย) การสร้างวัดใหม่ สำเร็จเรียบร้อยใน ค.ศ. 1838 พอดีที่ท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์ขึ้นเป็นพระสังฆราช  กระทำพิธีอภิเษกพระสังฆราชตามลัทธินิยมในวัดที่สร้าง ใหม่นี้เอง
 
ปี ค.ศ. 2012 ได้มีการปรับปรุงสักการะสถาน  สร้างรูปเหมือนพระสังฆราชวังกาแวร์
 
ปี ค.ศ. 2013 ได้มีการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน
 
วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 ดยุคแห่งบราแลนซา และทูตโปรตุเกส ทรงเสด็จเยี่ยมวัดคอนเช็ปชัญ และเสวยพระกระยาหารค่ำ 
 
ปี ค.ศ. 2016 สร้างแฟลตบรรจุศพเพิ่มในสุสานเป็นแฟลต 3 ชั้น จำนวน 66 ช่อง ได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ใจบุญออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
 
 
 
ลำดับเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ  ตั้งแต่อดีต - ปัจจุบัน
 
1.   พระสังฆราช หลุยส์  ลาโน ปี ค.ศ. 1674-1675
2.   คุณพ่อ ชังเดอบัว  เดอ  ฟาลังแดง ปี ค.ศ. 1676-1686
3.   คุณพ่อ เอเจียน  มานีแอล ปี ค.ศ. 1686-1688  
4.   พระสังฆราช บรีโกต์ ปี ค.ศ. 1750-1755  
5.   คุณพ่อ ยาโกเบ  กอรร์ ปี ค.ศ. 1762-1767  
                                   ปี ค.ศ. 1769-1773  
6.  พระสังฆราช โอลิเวียร์  ซีม็อง  เลอบ็อง ปี ค.ศ. 1773-1779  
7.  พระสังฆราช อาร์โน  อังตวน  การ์โนลต์ ปี ค.ศ.1773-1779  
8.  พระสังฆราช ยอแซฟ  หลุยส์  กูเด ปี ค.ศ.1773-1779  
9.  คุณพ่อ ลังเยอนัวส์ ปี ค.ศ. 1785-1789  
10. พระสังฆราช เอสปริย์  มารี  โยเซฟ  ฟลอรังส์ ปี ค.ศ. 1793-1802
11. คุณพ่อยัง  บัปติสต์  เรอเน  ราโบ ปี ค.ศ. 1802 -1809  
12. คุณพ่อ ดอมินิก  เยเรมิอัส ปี ค.ศ. 1809-1813    
13. คุณพ่อ รอดริเกส ปี ค.ศ. 1819-1823  
14. คุณพ่อ กราซิอานุส  เดอ  แซงต์  ซาเวียร์ ปี ค.ศ. 1823-1836  
15. พระสังฆราช ยอห์น  บัปติสต์  ปัลเลอกัว ปี ค.ศ. 1836-1837
16. คุณพ่อยัง  ยอแซฟ  สตานิสลาส  โกลเดต์ ปี ค.ศ. 1837-1849  
17. คุณพ่อ สเตฟานุส ทินห์ ปี ค.ศ. 1849-1853  
18. คุณพ่อ ยัง  มาแร็ง ปี  ค.ศ. 1854-1857  
19. คุณพ่อ มาร์แต็ง ยัง  ปิแอร์   ปี  ค.ศ. 1857-1886
20. คุณพ่อ อัลเฟรด  มารี  เทโอฟิล  ร็องแดล ปี ค.ศ. 1887-1888
21. คุณพ่อ เซบัสติแอง  อิกนาส  เยิง ปี ค.ศ. 1888-1893
22. คุณพ่อ โยเซฟ  อามับล์  ฟ็อก ปี ค.ศ. 1893-1904  
23. คุณพ่อ เลออง  กีญารด์ ปี ค.ศ. 1904-1914  
24. คุณพ่อ เรมุนโด  รัตน์ ปี ค.ศ. 1914-1918
25. คุณพ่อ ยอแซฟ  บรัวซาต์  (วาระแรก) ปี ค.ศ. 1918-1919  
26. คุณพ่อ  เออเยน  เล็ตแชร์ ปี ค.ศ. 1919-1922
27. คุณพ่อ ยอแซฟ  บรัวซาต์  (วาระที่สอง) ปี ค.ศ. 1923-1924
28. คุณพ่อ กาบริแอล  อัลฟองส์  ฮุย ปี ค.ศ. 1924-1928
29. คุณพ่อ ยวง  บัปติสตา  ตาปี ปี ค.ศ. 1928
30. คุณพ่อ อังเดร  พลอย  โรจนเสน ปี ค.ศ. 1928-1943
31. คุณพ่อ มาร์แชล  จงสวัสดิ์  อารีอร่าม ปี ค.ศ. 1943-1959
32. พระสังฆราช อาแลง  วังกาแวร์ ปี ค.ศ. 1959-1965
33. คุณพ่อ เปโตร ศวง  ศุระศรางค์ ปี ค.ศ. 1965-1973
34. คุณพ่อ ร็อค  วิศิษฎ์  หริพงศ์ ปี ค.ศ.1973-1976
35. คุณพ่อ ยอแซฟ  วิจิตร  ลิขิตธรรม ปี ค.ศ. 1976-1979
36. คุณพ่อ ยอแซฟ  สมศักดิ์  ธิราศักดิ์ ปี ค.ศ. 1979-1985
37. คุณพ่อ ยอแซฟ  อนันต์  เอี่ยมมโน ปี ค.ศ. 1985-1989  
38. คุณพ่อ ยวง  วรวุฒิ  กิจสกุล ปี ค.ศ.  1989-1994
39. คุณพ่อ ยอแซฟ  ไพโรจน์  หอมจินดา ปี ค.ศ. 1994-1999
40. คุณพ่อ แอนโทนี  บัณฑิตย์  ประจงกิจ ปี ค.ศ. 1999-2004
41. คุณพ่อ ยอแซฟ  กิตติศักดิ์  กาญจนธานินทร์ ปี ค.ศ. 2004-2009
42. คุณพ่อ ยอแซฟ  สุวนารถ  กวยมงคล ปี ค.ศ. 2009-2014
43. คุณพ่อ มาโนช สมสุข ปี ค.ศ. 2014- 2021
44. คุณพ่อ วิจิตต์ แสงหาญ ปี ค.ศ. 2021 - ปัจจุบัน
 
 
 
รูปสลัก พระรูปพระแม่เจ้า (รัตน์  รัตนา...รวบรวม)
วัดคอนเซ็ปชัญมีวัตถุอันล้ำค่าอยู่สิ่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านต่างเคารพบูชาและหวงแหนอย่างที่สุด วัตถุนั้นคือ รูปสลักพระรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอา พระรูปสลักนี้มีขนาดสูงประมาณ 100 เมตร แกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง และลงรักปิดทองสวยงามหาที่ติมิได้
 
การได้มาซึ่งพระรูปสลักนี้ มีเรื่องปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า เมื่อ พ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1782 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ได้สร้างกรุงเทพมหานคร ได้เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองเขมร เวลานั้นพระยายมราช (แบน) ได้ตั้งตัวเป็นที่ฟ้าทละหะปกครองกัมพูชา ในขณะเดียวกันได้มีขุนนางเขมรบางนายได้คบคิดกับพวกแขกจามเมืองตะโบงคะมุม ยกกองทัพเรือจะไปกำจัดพระยายมราช (แบน)  พระยายมราช (แบน) เห็นว่าจะต่อต้านไม่ไหว จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรที่นับถือศาสนาคริสตัง และอัญเชิญนักองเมน  นักองอี นักองเภา ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ราชากษัตริย์เขมร และนักองเองราชบุตรของสมเด็จพระนารายณ์ราชา หลบเข้ามาเมืองไทย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ทะนุบำรุงเจ้านายของเขมรไว้เยี่ยงพระราชโอรสและราชธิดาของพระองค์ ส่วนชาวเขมรที่เข้ามาด้วย 500 คนนั้น ได้โปรดเกล้าฯให้ชาวเขมร 500 คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ ก็ด้วยทรงเห็นว่าในหมู่บ้านนี้มีชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นคริสตังอาศัยอยู่ก่อนแล้วและชาวเขมรเหล่านั้นก็เป็นคริสตังเช่นเดียวกัน จึงเห็นควรให้อยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้ถือปฏิบัติทางศาสนกิจร่วมกันต่อไป
 
ชาวเขมรที่อพยพมาคราวนั้น ได้อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าพระนางมารีอาดังกล่าวข้างต้นเข้ามาด้วย และได้ประดิษฐานพระรูปนั้นไว้ในวัดคอนเซ็ปชัญ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้านนั้น คือชาวโปรตุเกสซึ่งมาอยู่ก่อน และชาวเขมรที่ได้มาอยู่ในภายหลังนี้ด้วย ทั้งสองพวกต่างอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนมกลมเกลียวด้วยความผาสุขตลอดมา
 
ต่อมาเหตุการณ์ในเมืองเขมรสงบราบคาบ ได้มีชาวเขมรที่อพยพหนีภัยเข้ามาพึ่งโพธิสม ภารบางหมู่เห็นว่าบ้านเมืองของตนสงบเรียบร้อยดีแล้ว จึงใคร่จะกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ณ เมืองเขมร ในที่สุดได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ชาวเขมรที่ต้องการกลับ กลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนได้ตามความประสงค์ และในการกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนของชาวเขมรเหล่านั้น ก็ได้อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าลงเรือเพื่อนำกลับไปเมืองเขมรด้วย
 
ในตอนนี้ได้มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ขณะที่อัญเชิญพระรูปสลักพระแม่เจ้าไปนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือเรือที่อัญเชิญพระรูปพระแม่เจ้าไปนั้น เมื่อแจวออกไปไม่ไกลนัก เรือก็หยุดอยู่นิ่งกับที่ คนแจวพยายามแจวเท่าไรเรือก็ไม่ยอมเดินหน้า แม้จะเพิ่มคนแจวเข้าไปอีกเรือก็มิได้แล่นต่อไป เป็นเหตุให้เกิดความพิศวงมาก มีชาวเขมรบางคนสงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของพระรูปพระแม่เจ้า ที่มีพระประสงค์จะประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญก็อาจเป็นได้    จึงได้ทดลองแจวเรือกลับมาทางวัดคอนเซ็ปชัญ คราวนี้เรือก็ยอมแล่นกลับโดยง่ายดาย แต่ครั้นทดลองแจวเรือกลับไปทางเก่าอีก เรือก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน ได้กระทำอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายหน ก็คงเป็นอยู่ในลักษณะเดิม ชาวเขมรที่จะกลับเมืองเขมรก็แน่ใจว่า พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้พระรูปสลักนี้ประทับอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้อัญเชิญพระรูปกลับมาประดิษฐานไว้ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ แล้วพวกเขาก็เดินทางกลับเมืองเขมรโดยสวัสดิภาพ และพระรูปสลักรูปพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอาก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญตราบเท่าทุกวันนี้
 
พระรูปสลักพระแม่เจ้าองค์นี้ เดิมเข้าใจกันว่าชาวเขมรเป็นผู้แกะสลัก แต่เมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 มีนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องไม้  ประจำสำนักงาน เอฟ.เอ.โอ ที่กรุงเทพฯ ผู้หนึ่งชื่อ มิสเตอร์ โยแซฟ เทอร์แบงก์ (J.Turbang) ได้มาชมพระรูป เมื่อได้ตรวจดูแล้ว มิสเตอร์ โยแซฟ เทอร์แบงก์ ได้บอกว่า พระรูปสลักองค์นี้มาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยสันนิษฐานจากเนื้อไม้ที่นำมาแกะสลักว่า ไม้ชนิดนี้มีอยู่ในอินโดนีเซียเท่านั้น ประกอบกับฝีมือแกะสลัก ก็ปรากฏว่าชาวอินโดนีเซียมีฝีมือในการแกะสลักที่ดีเยี่ยมอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ จึงคิดว่ารูปพระแม่เจ้าองค์นี้ไปจากอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น
 
เกี่ยวกับพระรูปพระแม่เจ้านี้ ได้มีเรื่องเล่าต่อๆ มาว่า ตั้งแต่ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญนี้แล้ว ความเลื่อมใสศรัทธาในพระรูปนี้ไปแพร่หลายออกไป มีผู้นิยมนับถือมากขึ้น มีอยู่คราวหนึ่งคือเมื่อ ค.ศ. 1849 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาด ทำให้ชาวกรุงเทพฯ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านวัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้ตกลงประชุมพร้อมกันให้อัญเชิญพระรูปพระแม่เจ้าแห่ไปตามหมู่บ้านจนทั่ว พร้อมทั้งสวดอ้อนวอนขอพระมหากรุณาต่อพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดบำบัดโรคร้ายนี้ ปรากฏว่าหลังจากได้แห่พระรูปพระแม่เจ้าแล้ว รุ่งขึ้นโรคร้ายก็สงบ ผู้ที่กำลังทรมานด้วยโรคก็หายรอดชีวิตได้จำนวนมาก ทั้งนี้เข้าใจกันว่าเนื่องจากพระบารมีของพระแม่เจ้าคุ้มครอง และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าของชาวบ้านนั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ได้อยู่ในความทรงจำของชาววัดคอนเซ็ปชัญ และได้เล่าต่อกันมาจนทุกวันนี้
 
อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่พระคุณเจ้าฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัวปกครองวัดคอนเซ็ปชัญอยู่ ในครั้งนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่หมู่บ้านด้านหลังวัดน้อย ไฟได้ลุกโหมและไหม้ลามจนถึงกำแพงหลังวัด (ได้รื้อออกหมดแล้ว) ขณะนั้นพระสังฆราชยวง ได้ไปคุกเข่าสวดอยู่ที่สะพานข้ามคลองข้างวัดน้อย ได้มีชายไทยคนแจวเรือจ้างผู้หนึ่งวิ่งมาดูไฟไหม้ ขณะที่กำลังชุลมุนอยู่นั้น ชายไทยคนแจวเรือก็ร้องออกมาด้วยความตื่นเต้นว่า “มีผู้หญิงยืนอยู่บนหลังคาโบสถ์ เอาผ้าเช็ด หน้าโบกไล่ไฟ”  แต่เมื่อทุกคนที่ได้ยินมองขึ้นไปดูก็ไม่เห็นมีใครยืนอยู่บนหลังคาโบสถ์เลย แต่ในขณะเดียวกันนั้นไฟทีกำลังลุกโหมมาทางวัดก็หยุดลุกลามอยู่แค่กำแพง และที่สุดไฟก็สงบ เมื่อไฟสงบลงแล้ว ต่างก็เฉลียวใจเรื่องคนแจวเรือจ้างบอก หลายคนคิดถึงรูปพระแม่เจ้าในวัด จึงพากันเข้าไปดูในวัด ต่างพากันอัศจรรย์ใจมากเมื่อได้เห็นเขม่าไฟเปื้อนที่พระบาทพระรูปของพระแม่เจ้า  และเมื่อให้ชายคนแจวเรือจ้างเข้าไปดู ก็บอกว่าหญิงสาวที่เขาเห็นบนหลังคาโบสถ์นั้นคือหญิงสาวตามรูปนี้แหละ การประจักษ์อัศจรรย์ครั้งนี้เองเป็นเหตุให้ชายไทยแจวเรือจ้างผู้นั้นเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงได้หันกลับมาถือศาสนาคาทอลิกด้วยความเชื่ออันแน่นแฟ้นในภายหลัง
 
ภายหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ผ่านพ้นไปไม่ห่างกันมากนัก ได้มีเรื่องแปลกประหลาดเกี่ยวกับพระรูปพระแม่เจ้าเกิดขึ้นอีก คือวันหนึ่งมีคนจีนแจวเรือเร่ขายผ้าแจวเรือผ่านมาทางปลายสะพานลงท่าน้ำของวัด ได้มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเรียกให้คนจีนขายผ้าแวะเรือเข้าเทียบปลายสะพาน เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว หญิงสาวผู้นั้นก็ลงบันไดท่าน้ำไปเลือกซื้อผ้าเนื้อดี พื้นเทาหม่น ดอกแดง จำนวน 3 พับ เมื่อตกลงราคากันแล้ว หญิงสาวนั้นก็บอกว่าประเดี๋ยวจะนำเงินค่าผ้ามาให้ ว่าแล้วหญิงสาวก็หอบผ้าที่ซื้อขึ้นจากท่าน้ำเดินเข้าไปในวัด ฝ่ายคนจีนขายผ้าจอดเรือรออยู่เห็นนานผิดปกติ ก็ขึ้นจากเรือเดินเข้าไปในวัด ก็เห็นผ้าของตนกองอยู่ที่แท่นบูชา และเห็นพระรูปพระแม่เจ้าประทับยืนอยู่บนพระแท่นด้วยอาการสงบ คนจีนขายผ้าคิดว่ารูปนั้นเป็นคนจริงๆ จึงได้ร้องทวงค่าผ้า เสียงของคนจีนขายผ้าได้ดังไปถึงพระคุณเจ้ายวงฯ ถึงบนตึกที่พัก พระคุณเจ้ายวงฯ จึงรีบลงมาสอบถามดู  คนจีนขายผ้าก็เล่าเรื่องให้ฟัง พระคุณเจ้ายวงฯ จึงรีบไปดูที่พระแท่นก็เห็นผ้าใหม่ๆ กองอยู่ที่พระบาทของพระรูปพระแม่เจ้า พระคุณเจ้ายวงฯ จึงได้ชำระค่าผ้าให้กับคนจีนขายผ้าไป แล้วเอาผ้านั้นมาเย็บเป็นม่านใหญ่กั้นไว้ตรงหน้าพระแท่นกลาง ในเรื่องนี้มีคำเล่าอีกทางหนึ่งว่า ที่กองผ้าริมพระบาทพระแม่เจ้านั้นมีเงินวางไว้ 80 บาทด้วย
 
 
 
เรื่องแปลกอัศจรรย์ทั้ง 3 เรื่องที่เล่ามาแล้วนั้น ได้ทำให้มีผู้เลื่อมใสในพระรูปพระแม่เจ้าองค์นี้มาก ถึงกับมีผู้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์สร้างพวงลูกประคำด้วยทองคำแท้ 2 สาย สรวมข้อพระบาทพระรูปพระแม่เจ้า เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีอันสูงส่ง พวงประคำ 2 สายนี้ทางวัดได้เก็บรักษาไว้จนบัดนี้ และจะนำมาตบแต่งพระรูปเมื่อถึงวันฉลองเป็นประจำทุกปี
                                               (รวบรวมจากพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 และหนังสือที่ระลึกฉลอง 250 ปี วัดคอนเซ็ปชัญ)
 
 
เล่าเรื่องชุมชนและวัดคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
พระสมณกฤษฏีกา ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 มีคำสั่งให้พระสังฆราชปัลลือและลังแบรต์ ตั้งประมุขมิสซังสักองค์หนึ่งสำหรับประเทศไทย ดังนั้นในปี ค.ศ. 1673 ท่านลาโนได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งแมแตโลโปลิส และเป็นประมุขของมิสซังสยาม ได้รับอภิเษกที่กรุงศรีอยุธยา 
 
วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 ฯพณฯท่านลาโนให้ ฯพณฯท่านลังแบรต์ดูแลมิสซังสยาม ส่วนท่านขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ และท่านได้รับพระราชทาน ที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ริมน้ำที่บางกอก เพื่อสร้างวัด ที่ดินดังกล่าวเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์เอง พระองค์ให้พวกกวย สัญชาติเขมรซึ่งเป็นทาสของพระองค์เอง มีประมาณสี่ห้าครอบครัวมาดูแลที่ดินแปลงนี้อยู่ ฯพณฯท่านลาโนได้แพร่ธรรมให้พวกกวยเหล่านี้ก่อน ถือเป็นคริสตังพวกแรกของวัดคอนเซ็ปชัญ “คริสตังที่บางกอก (คอนเซ็ปชัญ) ซึ่งเป็นกวย และเป็นทาสของพระมหากษัตริย์..” (A.M.E. Vol.852 p.135)  ฯพณฯท่านลาโนสร้างวัดหลังแรกเป็นไม้ไผ่ก่อน โดยมีคุณพ่อชังเดอบัวเป็นปลัดและต่อมาจึงสร้างบ้านพัก พระสงฆ์ ต่อมาได้สร้างโรงพยาบาล 2 หลัง โดยแยกเป็นสำหรับป่วยผู้ชายและผู้หญิง ต่อจากนั้นก็ได้สร้างวัดถาวร เป็นอิฐลาดปูน ขนาดไม่ใหญ่นักเพราะจำนวนคริสตังยังน้อย ท่านตั้งชื่อว่า “IMMACULEE CONCEPTION” เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” เพราะความศรัทธาที่ ฯพณฯท่านลาโนมีต่อแม่พระ ซึ่งถือเป็นเรื่องพิศวงในสมัยนั้น เพราะพระสัจธรรมข้อนี้ ต่อมาอีกเกือบ 200 ปี พระศาสนจักรจึงประกาศเป็นข้อความเชื่อ (8 กันยายน ค.ศ. 1854) 
 
ฯพณฯท่านลาโนดูแลกลุ่มคริสตชนวัดคอนเซ็ปชัญจนถึงปี ค.ศ. 1675 จึงตั้งคุณพ่อ ชังเดอบัว ที่เคยเป็นผู้ช่วยท่านอยู่ที่นี่มาตลอดให้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากท่านตั้งแต่ ค.ศ. 1676 – 1686 คุณพ่อทำหน้าที่เป็นนายชุมพาบาลที่ดี ดูแลและสอนคำสอนคริสตชนและผู้ที่สนใจกลับใจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต่อจากนั้นก็มีพระสงฆ์มาประจำจนถึงสมัยคุณพ่อบรีโกต์ เมื่อคุณพ่อได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชแล้ว ได้ออกจากหน้าที่เจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญในปี ค.ศ. 1755 ก็ไม่มีพระสงฆ์ใดมาประจำอีก นอกจาก “ครูคำสอน” 
 
จนถึง ค.ศ. 1762 พระเจ้าเอกทัศน์จึงอนุญาตให้คุณพ่อกอรร์ลงมาดูแลวัดคอนเซ็ปชัญได้ ตอนพม่าตีกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1767 ท่านถูกพม่าจับแต่หนีมาได้พร้อมกับพวกคริสตังและลี้ภัยไปที่เมืองฮอนดัต ดังนั้นที่วัดจึงเหลือแต่ครูคำสอนอีกตั้งแต่ ค.ศ. 1767 – 1769 ในปี ค.ศ. 1769 คุณพ่อกอรร์ได้ข่าวว่า พระเจ้าตากสินได้กอบกู้อิสรภาพได้แล้ว ได้เดินทางกลับและได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้สร้างวัด ท่านได้รวบรวมคริสตังจากอยุธยามาอยู่ด้วยและสร้างวัดในปีถัดมา ให้ชื่อว่า “วัดซางตาครูส” แต่ท่านก็ยังมาอภิบาลคริสตชนที่วัดคอนเซ็ปชัญด้วย
 
ฯพณฯท่านเลอบ็อง, คุณพ่อการ์โนลต์ และคุณพ่อกูเด ซึ่งกลับมาจากปีนังก็ผลัดกันมาดูแลคริสตังที่วัดซางตาครูสและวัดคอนเซ็ปชัญ แต่ในปี ค.ศ. 1779 ทั้งสามท่านพร้อมกับมิชชันนารีทั้งหมดของสยามถูกเนรเทศออกไปโดยพระเจ้าตากสิน มาถึงสมัยคุณพ่อลังเยอนัวส์ ไม่ทราบประวัติท่านนัก รู้แต่พระสังฆราชดาดรัง (Mgr.d’ADRAN) ได้โปรดศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ให้ท่าน ในปี ค.ศ. 1776 ไม่สังกัดคณะใดทั้งสิ้น ท่านได้ดูแลกลุ่มคริสตชนโลแว๊ก ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส มีคำบอกเล่าว่าเป็นโปรตุเกสที่มาจากหมู่เกาะเครื่องเทศในประเทศชวาแต่ถูกชาวฮอร์ลันดาที่เข้ามาทีหลังยึดครอง พวกโปรตุเกสกลัวถูกฆ่าจึงได้อพยพลี้ภัยมาอาศัยทำมาค้าขายอยู่ในประเทศเขมร ต่อมามีกลุ่มที่ก่อความวุ่นวายขึ้นในเขมร กลุ่มคริสตชนถูกปล้น เมื่อทัพกรุงสยามยกมาปราบได้แล้ว
 
ปี ค.ศ. 1785 คุณพ่อลังเยอนัวส์จึงมีแผนพากลุ่มคริสตชนของท่านลี้ภัยถาวรในกรุงสยาม โดยเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 พระองค์เห็นว่าเป็นคริสต์เหมือนพวกที่อยู่ในที่ดินพระราชทานของสมเด็จพระนารายณ์ที่บางกอก จึงให้ไปพักอาศัยที่นั่น คุณพ่อลังเยอนัวส์จึงพากลุ่มคริสตชนของท่าน ซึ่งประกอบด้วยพวกโปรตุเกสจำนวน 450 คน และชาวเขมรที่เป็นคนรับใช้ของเขาจำนวน 100 คน ไปอาศัยบนที่ดินของวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งขณะนั้นเกือบไม่มีคริสตังเหลืออยู่เลย เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมือง แต่คราวนี้มีคริสตังจากเขมรเข้ามาอาศัยจำนวนหลายร้อยคน ดังนั้นเขาจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดเขมร” และคุณพ่อมิชชันนารีต่อๆมาก็นิยมเรียกเช่นเดียวกัน คุณพ่อลังเยอนัวส์ก็ดูแลกลุ่มคริสตชนโปรตุเกสเขมรที่วัดคอนเซ็ปชัญและคริสตชนโปรตุเกสสยามที่วัดซางตาครูสด้วย 
 
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1788 ฯพณฯท่านการ์โนลต์ได้ให้คุณพ่อลิโอต์มาดูแลแทนและได้แจ้งว่ามีคริสตังจำนวน 379 คน ซึ่งต่อมาคุณพ่อฟลอรังส์ ได้รายงานต่อว่าในปี ค.ศ. 1793 เมื่อคริสตังโปรตุเกสเขมร เข้ามาอีกเป็นชุดที่สอง วัดคอนเซ็ปชัญมีคริสตังจำนวน 700 กว่าคน ส่วนคุณพ่อลังเยอนัวส์ได้กลับไปดูแลและรวบรวมคริสตชนที่กระจัดกระจายในเขมรต่อที่พระตะบอง ในปี ค.ศ. 1790 และอยู่จนมรณภาพที่นั่น เมื่อคุณพ่อลังเยอนัวส์ไปเขมรแล้ว คุณพ่อฟลอรังส์ที่อยู่วัดซางตาครูสก็ต้องมาดูแลคริสตชนที่วัดคอนเซ็ปชัญด้วย หลังจากนั้นก็มีคุณพ่ออีก หลายท่านมาเป็นเจ้าวัดตั้งแต่ ค.ศ. 1802 – 1836 แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์เด่นๆอะไร และส่วนใหญ่ก็ดูแลทั้งสองวัดคือซางตาครูสและคอนเซ็ปชัญ 
 
มาถึงสมัยคุณพ่อปัลเลอกัวซ์ (ค.ศ. 1836 – 1837) เจ้าอาวาสองค์ที่ 17 เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัด ได้สร้างวัดและบ้านพักพระสงฆ์เป็นอิฐทันที โดยมีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1836 ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ทำการเสกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1837 ในช่วงเวลานั้นเจ้าฟ้ามงกุฎได้มา ทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสวรวิหาร) ซึ่งอยู่ข้างๆวัดคอนเซ็ปชัญ พระองค์ท่านทรงทราบว่าคุณพ่อปัลเลอกัวซ์มีความรอบรู้หลายด้าน จึงทรงให้มหาดเล็กมาเชิญให้ไปสอนภาษาลาติน คุณพ่อได้ตอบรับและยังได้สอนวิชาอื่นๆของทางยุโรปให้อีกด้วย และคุณพ่อก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาบาลี สันสกฤตและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งจากพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน จากการพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กันนี้ ต่อมาได้กลายเป็นมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของทั้งสองจนตลอดชีวิต...
 
ในปี ค.ศ. 1837 คุณพ่อปัลเลอกัวซ์ได้รับมอบหมายให้ไปดูกลุ่มคริสตชนที่อยู่ห่างไกล คุณพ่อโกลเดต์จึงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ ในปี ค.ศ. 1837 – 1849 และในปี ค.ศ. 1838 คุณพ่อปัลเลอกัวซ์ก็ได้รับอภิเษกเป็นสังฆราชผู้ช่วยของพระสังฆราชกูร์เวอซี ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1849 ท่านถูกเนรเทศไปจากสยามพร้อมกับมิชชันนารีอีก 7 ท่าน ในปี ค.ศ. 1851 ท่านกลับมาและได้รับมอบหมายให้ไปดูแลวัดฟรังซิสเซเวียร์ ที่นั่นท่าน ได้ตั้งอารามภคินีรักไม้กางเขนขึ้น ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1858 ศพของท่านฝังอยู่ในวัดฟรังซิสเซเวียร์ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1849 – 1857 ก็มีเจ้าอาวาสแต่ไม่มีเหตุการณ์อะไร จนในปี ค.ศ. 1859 ท่านก็ปรับปรุงวัด โดยขยายหน้าต่างให้กว้างขึ้นและประดับด้วยกระจกหลากสีอันสวยงาม ท่านได้ก่อตั้งคณะ “แม่พระไถ่ทาส” เพื่อบำรุงศรัทธาและนำให้มีผู้กลับใจจำนวนมาก 
 
ในปี ค.ศ. 1871 ฯพณฯท่านดือปองด์ได้ตั้งท่านให้เป็นรองประมุขมิสซัง ท่านยังได้จัดสร้างหอระฆังและซื้อระฆัง 3 ใบ โดยได้รับการเสกจาก ฯพณฯท่านเวย์ วันพุธศักดิ์สิทธิ์ปี ค.ศ. 1886 คุณพ่อมาร์แตงติดเชื้ออหิวาต์และอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว จนเวลา 23.00 น. แพทย์ที่มาตรวจบอกว่าหมดหวัง พระคุณเจ้าจึงให้ท่านรับศีลทาสุดท้าย วันรุ่งขึ้น เวลา 11.20 น. ท่านก็มรณภาพ รวมอายุได้ 54 ปี พระคุณเจ้าเวย์พร้อมบรรดามิชชันนารีจากกรุงเทพฯและสัตบุรุษได้ทำพิธีฝังศพท่านอย่างเงียบๆในวัดคอนเซ็ปชัญ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 – 1904 มีพระสงฆ์มาดูแลหลายองค์แต่ไม่มีเหตุการณ์น่าสนใจ ในปี ค.ศ. 1904 – 1914 คุณพ่อกีญารต์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญแทนคุณพ่อฟ็อกที่อายุมากแล้ว ในปี ค.ศ. 1909 คุณพ่อมีส่วนสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองให้วัดต่างๆมีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ มีกำหนดข้อยกเว้นสำหรับที่ดินที่เรียกว่า “ที่ดินพระราชทาน” โดยเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดรังวัดที่ดินพระราชทานทั้งหมดใน ตำบลสามเสน เพื่อจะออกโฉนดที่ดินให้มิสซังโรมันคาทอลิกตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ให้เสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1904 ท่านก็พอใจกับการทำงานเรื่องนี้ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม และในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ พวกสัตบุรุษก็มารับศพท่านไปฝังที่วัดคอนเซ็ปชัญ
 
 
ตั้งแต่ ค.ศ. 1914 – 1924 มีเจ้าอาวาสวัดหรือผู้รักษาการในบางครั้ง จนถึงสมัยคุณพ่อฮุย (ค.ศ. 1924 – 1928) ท่านดูแล 2 วัด คือวัดบางเชือกหนัง และวัดคอนเซ็ปชัญด้วย คุณพ่อฮุยเป็นผู้ริเริ่มสร้างและเปิดโรงเรียนวัด เมื่อ ค.ศ. 1925 มีชื่อว่า “โรงเรียนแม่พระเดแมร์เซเด” ซึ่งเป็นภาษาลาตินแปลว่า “โรงเรียนแม่พระไถ่ทาส” เป็นชื่อสมาคม “แม่พระไถ่ทาส” ที่คุณพ่อมาร์แตงได้ตั้งขึ้นที่วัดคอนเซ็ปชัญ ตอนสงครามโลกโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนไทยานุศาสตร์” และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนคอนเซ็ปชัญคอนแวนต์” จนถึงปัจจุบัน คำว่า “คอนแวนต์” หายไปเหลือแต่ “โรงเรียนคอนเซ็ปชัญ” เฉยๆ สมัยคุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์ เป็นเจ้าอาวาสในระหว่าง เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 คุณพ่อตาปีที่วัดฟรังซิสเซเวียร์ มาช่วยดูแลวัดคอนเซ็ปชัญด้วย ที่สุดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1928 คุณพ่ออังเดร พลอย โรจนเสน ได้มารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านทำหน้าที่ดูแลสัตบุรุษด้วยความร้อนรน ในสมัยของท่านเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และมีกรณีพิพาทอินโดจีน เพราะคนไทยเริ่มเกลียดชาวฝรั่งเศสมิชชันนารี ในฐานะเป็นพวกเดียวกับศัตรูของชาวสยาม จึงเริ่มมีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ด้วย คุณพ่ออังเดรได้จัดประชุมหลายครั้งโดยมี “ผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนา” ซึ่งไม่ใช่มิสซังกรุงเทพฯเข้าประชุมด้วย ท่านกับพระสงฆ์ไทยและเด็กๆก็เข้าร่วมขบวนแห่โดยเข้าใจว่าเป็นการรักชาติ แต่กลับเป็นการเบียดเบียนศาสนาตาม นโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น เดือนตุลาคม ค.ศ. 1943 คุณพ่อได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดที่วัดหนองจอก
 
ฯพณฯท่านแปร์รอสจึงได้แต่งตั้งคุณพ่อมาร์แซล จงสวัสดิ์ อารีอร่ามให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดแทน ท่านมีนิสัยร่าเริงและชอบการร้องเพลง ชาวคอนเซ็ปชัญขึ้นชื่อลือนามในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็ได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อท่านนี้ด้วย นอกจากนี้คุณพ่อยังพิมพ์หนังสือบทขับละตินควบอักษรไทย ซึ่งเป็นประโยชน์กับพระสงฆ์เวลานั้นในพิธีกรรมเป็นอย่างมาก ในการจัดพิธีกรรมคุณพ่อเอาใจใส่เป็นอย่างดีจนพิธีกรรมมีความสง่างามน่าประทับใจ นอกจากนั้นคุณพ่อยังเป็นนักพัฒนาได้ลาดซีเมนต์หน้าวัดและถนนที่ผ่านหมู่บ้าน ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1959 เป็นวันเข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์ไทย เกิดอุบัติเหตุคุณพ่อถูกชนล้มกระแทกพื้นอย่างแรง คุณพ่อขอกลับบ้านไม่ยอมไปโรงพยาบาลไม่นานอาการทรุดหนัก ที่สุดวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1959 คุณพ่อก็มรณภาพ
 
ฯพณฯท่านโชแร็งพร้อมพระสงฆ์มากมายร่วมพิธีและบรรจุศพของท่านไว้กลางวัด ซึ่งบัดนี้ได้เก็บกระดูกของท่านขึ้นมาเพื่อบรรจุไว้ในที่เหมาะสมแล้ว หลังคุณพ่อมาร์แซลเสียชีวิต ฯพณฯท่านโชแร็งได้แต่งตั้งคุณพ่อวังกาแวร์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดองค์ที่ 34 แทน คุณพ่อรณรงค์ไม่อยากให้ใครใช้ชื่อ “วัดเขมร” แทน “วัดคอนเซ็ปชัญ” พยายามให้เรียกชื่อ “วัดคอนเซ็ปชัญ” แทนทำไงได้แม้ ปัจจุบันคนก็ยังรู้จัก วัดเขมร มากกว่า วัดคอนเซ็ปชัญอยู่ดี นอกจากนั้นคุณพ่อก็พยายามกำจัดการพนันในหมู่บ้านให้หมดไป ขนาดลงทุนปีนเข้าจับทางหน้าต่าง จนนักพนันหนีกันวุ่นวายเพราะออกทางหน้าต่างไม่ได้ ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน??? เขาเล่ามา คุณพ่อให้ความสำคัญเยาวชนต่างก็ดีใจที่คุณพ่อเห็นความสำคัญของพวกเขา เยาวชนได้แสดงออกในการแสดงละครเวที เช่น ละครคริสตมาส, โอกาสฉลองวัด 8 ธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่แม้คุณพ่อต้องเสียค่าใช้จ่ายมากแต่เพื่อให้สัตบุรุษเป็นคนดีแล้ว ท่านถือว่าได้ผลคุ้มค่าที่สุด ในปี ค.ศ. 1962 คุณพ่อวังกาแวร์ได้ไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส และคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตรได้มารักษาการแทนจนคุณพ่อกลับมา ท่านก็มีโครงการใหญ่นั่นคือ สร้างโรงเรียนหลังใหม่แทนอาคารไม้หลังเก่าที่ทรุดโทรม เพราะขณะนั้นโรงเรียนมีนักเรียนถึง 1000 คน ควรมีอาคารเรียนที่เหมาะสม ท่านได้รื้อบ้านพักพระสงฆ์หลังเก่าและสร้างอาคารเรียนใหม่แทน เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 1 หลัง อาคารเรียนไม้ 2 ชั้น 1 หลังและบ้านพักซิสเตอร์ 1 หลัง แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ เช้าวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1965 ก็มีการประกาศแต่งตั้งคุณพ่อเป็นสังฆราชของสังฆมณฑลนครราชสีมา
 
เมื่อคุณพ่อไปแล้ว ในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 ฯพณฯท่านยวง นิตโยได้แต่งตั้งคุณพ่อศวง ศุระศรางค์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 35 เมื่อคุณพ่อมารับหน้าที่ ก็ได้ดำเนินการสร้างอาคารเรียนต่อจนเสร็จและเสริมต่อเพื่อใช้เป็นบ้านพักพระสงฆ์ดังที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน และคุณพ่อยังสร้างอาคารไม้ 2 ชั้นต่อจากบ้านพักซิสเตอร์ เพื่อใช้ชั้นล่างเป็นโรงอาหารและชั้นบนเป็นหอพักนักเรียนประจำ คุณพ่อได้ทำงานอภิบาลสัตบุรุษเช่นกัน โดยเฉพาะได้ริเริ่มนำคณะ “วินเซนต์ เดอ ปอล” เข้ามาเพื่อสอนให้รู้จักเสียสละเพี่อคนยากจน กลุ่ม “เครดิตยูเนี่ยน” ที่คุณพ่อรักเป็นพิเศษจนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อสอนให้คนรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือกัน ในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1973 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเปโตร สามพราน
 
วันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1973 คุณพ่อวิศิษฐ์ หริพงษ์ ได้รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 36 คุณพ่อได้สร้างอาคารถาวรของ “สมาคมนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล” นอกนั้นได้ซ่อมแซมหลังคาวัดและปรับปรุงตัววัดให้เรียบร้อย ในปี ค.ศ. 1974 เป็นเวลาที่ชาวคอนเซ็ปชัญทุกคนต้องปลาบปลื้ม เมื่อมีการจัดฉลองกลุ่มคริสตชนวัดคอนเซ็ปชัญครบ 300 ปี คณะกรรมการวัดโดยการนำของคุณพ่อ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จเทพรัตนราชสุดา (ในขณะนั้น) พร้อมกันนั้นได้บูรณะหอนั่งว่าราชการที่เจ้าพระยาวิเศษสงครามรามภักดี ถวายให้วัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด และกำลังสร้างถ้ำแม่พระด้วยแต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ นอกนั้นยังได้พยายามดำเนินการจะทำถนนข้างวัดราชาธิวาสโดยทะลุออกถนนสามเสน แต่เผอิญมีอุปสรรคจึงยังไม่สำเร็จ ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1976 คุณพ่อได้รับอนุญาตให้ไปศึกษางานต่างประเทศและได้แต่งตั้งให้คุณพ่อวิจิตร ลิขิตธรรมมาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 37 ท่านได้ต่อเติมชั้น 4 และดาดฟ้าของโรงเรียนและบ้านพ่อ รวมถึงทำถ้ำแม่พระต่อจนแล้วเสร็จ นอกจากนั้นท่านได้เอาใจใส่งานอภิบาลสัตบุรุษและส่งเสริมความศรัทธาต่อแม่พระเป็นพิเศษ ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
 
และคุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 38 แทน คุณพ่อเปรียบดั่งบิดาผู้ใจดี ดูแลสัตบุรุษด้วยความรัก มีเมตตาช่วยเหลือ สนใจเด็กๆและเยาวชนให้มาวัด มาเรียนคำสอน บางครั้งก็ต้องลงโทษ โดยมุ่งหวังให้พวกเขาเป็นคริสตชนที่ดีได้ในอนาคต คุณพ่อยังได้ดำเนินการตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมกระแสเรียก” ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยงานของบ้านเณรสังฆมลฑลจนถึงปัจจุบันนี้, ฟื้นฟูเยาวชนทำให้มีผู้ช่วยงานของวัด, ฟื้นฟูกลุ่มแม่บ้าน, ริเริ่มนำคณะเทเรเซียนมาตั้งในวัด, ปรับปรุงคณะพลมารีและตั้งกลุ่มสวดเพื่อช่วยพลมารีอีกด้านหนึ่ง, ส่วนในงานพัฒนาคุณพ่อได้ทำหินล้างให้กับตัวอาคารของวัดทั้งภายในและภายนอก, บูรณะสุสานจัดให้มีระเบียบ และสร้างที่บรรจุศพ 3 ชั้น ทั้งด้านหลังและด้านข้างซ้ายตลอดแนว
 
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1985 – 1989 คุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 39 คุณพ่อได้ทำงานอภิบาลสัตบุรุษด้วยดี และได้ปรับปรุงหลังคาวัดด้านหลังจากตัวเหงาที่ทรุดโทรมมาเป็นหัวมังกรแทน และเปลี่ยนหลังคาวัดหลังเดิมใหม่ พร้อมกับบูรณะพิพิธภัณฑ์และถ้ำแม่พระ ตอนต้นปี ค.ศ. 1989 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ บริเวณบ้านเหนือติดกับริมน้ำและช่วงรอยต่อระหว่างเขตวัดฟรังซิสเซเวียร์และวัดคอนเซ็ปชัญกว่าจะดับได้ก็ไหม้บ้านชาวบ้านไปหลายสิบหลัง ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร คุณพ่อย้ายเสียก่อน
 
 
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 – 1994 คุณพ่อวรวุฒิ กิจสกุล มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 40 คุณพ่อพยายามปรับปรุงโรงเรียนซึ่งมีท่าทีว่านักเรียนเริ่มลดน้อยลง โดยปรับปรุงห้องเรียนด้วยประตูเลื่อนอลูมิเนียมที่สวยงามทั้งหมด จัดห้องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน จัดบริเวณโรงเรียนให้สวยงามและดูแลการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องวัดก็พยายามหาทางทำถนนเพื่อให้ออกไปทะลุทางศาลเจ้า แต่ติดเรื่องปัญหาที่ดินหลายจุดจนต้องยุติไว้ก่อน คุณพ่อได้ปรับปรุงวัดโดยทำช่องลมหน้าต่างเป็นกระจกแกะรูปเรื่องราวในพระวรสาร และทำพื้นหน้าวัดใหม่เปลี่ยนจากกระเบื้องว่าวเป็นหินขัดและปรับปรุงถ้ำแม่พระใหม่ด้วย นอกจากนั้นก็ได้ขอหินคลุกจากทางมิสซังฯมาปรับปรุงพื้นที่บริเวณบ้านเหนือที่ถูกไฟไหม้สมัยคุณพ่ออนันต์ และมีโครงการจะทำตึกที่อยู่อาศัยแต่ติดขัดเรื่องกฎหมายคณะปฏิวัติจึงได้หยุดดำเนินการไป
 
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 – 1999 คุณพ่อไพโรจน์ หอมจินดา มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 41   คุณพ่อพยายามหารายได้ให้โรงเรียนโดยหาเด็กจากต่างจังหวัดมาเป็นนักเรียนประจำ ในด้านงานอภิบาลคุณพ่อได้ดูแลสัตบุรุษดังเช่นนายชุมพาบาลที่ดี คุณพ่อได้ทำการบูรณะบุษบกใหม่และทำปรับปรุงทำสีถ้ำใหม่ แต่ก็มีเรื่องน่าเศร้าหลังจากที่คุณพ่อจากวัดคอนเซ็ปชัญไปแล้ว ในปี ค.ศ. 2007 คุณพ่อฉลองการบวชเป็นพระสงฆ์ครบ 25 ปี วันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 คุณพ่อได้ล้มป่วยลงและคุณหมอได้แจ้งว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณพ่อได้มรณภาพวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 และมีพิธีปลงศพและฝัง วันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน คุณพ่อถือว่าเป็นลูกวัดคอนเซ็ปชัญก็ได้ เพราะคุณพ่อล้างบาปและเคยอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญในวัยเด็ก
 
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 – 2004 คุณพ่อบัณฑิต ประจงกิจ มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 42 คุณพ่อมาอยู่ในช่วงที่โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนลดลงมาก เพื่อให้โรงเรียนยังดำเนินการต่อไปได้ จำเป็นต้องหยุดการสอนในระดับชั้นมัธยมต้น เปิดทำการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบกับมีการดำเนินการเรื่องที่ดินของวัดแต่มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจของสัตบุรุษ จึงหยุดดำเนินการไปก่อน คุณพ่อได้ทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษในเรื่องจิตวิญญาณเป็นส่วนใหญ่
 
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 – 2009 คุณพ่อกิตติศักดิ์ กาญจนธานินทร์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัด องค์ที่ 43 มาในช่วงเวลาที่โรงเรียนคอนเซ็ปชัญมีนักเรียนประมาณ 100 กว่าคน เพื่อให้การดำเนินการสามารถทำต่อไปได้คณะกรรมการสภาอภิบาลฯวัดจึงมีมติให้ อาจารย์แสงเดือน โพธิ์ไทร มาช่วยบริหารโรงเรียน ในปี ค.ศ. 2006 เพื่อจะช่วยประสานกับคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียนในส่วนที่ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้ไม่น้อยหน้าโรงเรียนอื่นๆ กลางปี ค.ศ. 2006 ฝ้าเพดานของวัดพังลงมา คุณพ่อได้ให้สภาอภิบาลฯไปพบพระคุณเจ้า พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เพื่อขออนุญาตรื้อเพดานเพื่อซ่อมแซมเพดานวัดใหม่ ประกอบกับ อาจารย์วัลลี บูรณพันธ์ ได้บริจาคเงินเพื่อช่วยในการบูรณะนี้ พระคุณเจ้า พระคาร์ดินัลได้เมตตากับชาวคอนเซ็ปชัญโดยอนุเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมวัดใหม่ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนหลังคาใหม่หมด รวมถึงล้างหินล้างภายใน – ภายนอก บูรณะภายในและภายนอกทั้งหมด เปลี่ยนหัวมังกรหลังวัดที่ทำสมัยคุณพ่ออนันต์ กลับมาเป็นตัวเหงาตามศิลปะช่างสิบหมู่ของไทยแบบดั้งเดิม รูปนักบุญในวัดได้ทำสีใหม่ทั้งหมด รวมถึงบุษบกก็ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่โดยสัตบุรุษภายในวัดได้บริจาคต่างหากรวมถึงการวาดภาพและปรับปรุงถ้ำแม่พระใหม่ด้วย งานอภิบาลก็จัดให้มีการสอนคำสอนผู้ใหญ่หลังมิสซาอาทิตย์สาย รณรงค์แจกพระวรสารตามโครงการส่งเสริมพระวาจาที่พระคาร์ดินัล ได้กรุณาจัดพิมพ์ให้ทุกครอบครัวในชุมชนของวัดทั่วทั้งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯของเรา ทั้งหมดนี้ต้องโมทนาคุณแด่พระเป็นเจ้าและพระแม่มารีย์ที่ได้เมตตาและอวยพรแก่ชุมชนคอนเซ็ปชัญ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบัดนี้ ขออุทิศคุณงามความดีทั้งหมดให้แก่บรรดามิชชันนารีทุกท่านที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อให้กับชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งหยาดเหงื่อแรงกายแรงใจ แม้กระทั่งชีวิตเพื่อความดีและความเชื่อของชุมชนแห่งนี้ด้วย ขอขอบคุณทุกๆท่านที่ได้มีส่วนช่วยให้การบูรณะและงานฉลองชุมชนครบ 333 ปีนี้ได้สำเร็จและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ขอพระเป็นเจ้าและแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลได้ตอบแทนน้ำใจดีของทุกๆท่านทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า และหวังว่าชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญจะรักษาสิ่งดีๆที่ได้รับมานี้ให้คงอยู่และสืบทอดต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
 
ปี ค.ศ. 2009-2014 คุณพ่อสุวนารถ  กวยมงคล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 44
ปี ค.ศ. 2014- 2021 คุณพ่อ มาโนช สมสุข ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 45
ปี ค.ศ. 2021 - ปัจจุบัน คุณพ่อ วิจิตต์ แสงหาญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส องค์ที่ 46
 
 
 ขอขอบพระคุณ
คุณพ่อยอแซฟ กิตติศักดิ์  กาญจนธานินทร์
อดีตเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ (ค.ศ. 2004 – 2009)
 
 แผนที่การเดินทาง