นามสกุลแรกของกรุงสยาม

ตั้งแต่โบราณมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ คนไทยเราไม่มีนามสกุลใช้  มีแต่ชื่อโดดๆ ทั้งชื่อก็ยังซ้ำกันมาก อย่าง อิน จัน  มั่น คง แดง ดำ ขาว เขียว เลยไม่รู้ว่าแดงไหน ดำไหน ด้วยเหตุนี้ ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ บังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นไป  ให้คนไทยต้องมีนามสกุล เพื่อสะดวกแก่การจดทะเบียน  คนเกิด  คนตาย และทำการสมรส ทรงชี้แจงถึงคุณประโยชน์ของการมีนามสกุลไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน” ว่า
 
สมุดทะเบียนนามสกุลพระราชทาน
 
“...การมีชื่อตระกูลเปนความสะดวกมาก อย่างต่ำๆ ที่ใครๆ ก็ย่อมจะมองเห็นได้ คือชื่อคนในทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปนกัน แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญกว่านั้น  คือ จะทำให้เรารู้จัก รำฤกถึงบรรพบุรุษของตนผู้ได้อุสาหก่อสร้างตัวมา  และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เปนเผ่าพันธุ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้ และการที่จะตั้งใจเช่นนี้ ถ้ามีชื่อที่ต้องรักษา มิให้เสื่อมทรามไปแล้วย่อมจะทำให้เปนเครื่องยึดเหนี่ยวหน่วงใจคนมิให้ตามใจตนไปฝ่ายเดียว จะถือว่า “ตัวใครก็ตัวใคร” ไม่ได้อีกต่อไป  จะต้องรักษาทั้งชื่อของตัวเองทั้งชื่อของตระกูลด้วยอีกส่วน ๑ ...”
 
ตอนให้ตั้งนามสกุลก็เป็นเรื่องโกลาหลไม่น้อย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าจะตั้งอย่างไร นายอำเภอและเจ้าเมืองจึงเป็นที่พึ่ง วันๆ ไม่ต้องทำอะไร  ได้แต่ตั้งนามสกุล ให้คนที่ไปหากันแน่น   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  ก็พระราชทานนามสกุลแก่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน  ดังที่ทรงบันทึกไว้ใน  “ทะเบียฬนามสกุล”  มีถึง ๖,๔๓๒ นามสกุล
 
นามสกุลหมายเลข ๑ ที่พระราชทาน คือ นามสกุล “สุขุม” พระราชทาน เมื่อ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ต้นสกุล คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)