รัชกาลที่ ๕ กับการต่างประเทศ

 
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาได้มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายกันมากขึ้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงพิจารณาเห็นว่า ราชการต่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงการต่างประเทศขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นครั้งแรก ในยุคนี้ได้มีผู้แทนต่างประเทศ ที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาอยู่ประจำในกรุงเทพฯ มาก เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๒๑ มีทูตประจำของออสเตรียและฮังการีมาอยู่เป็นคนแรก ทางฝ่ายไทยก็ส่งราชทูตไปประจำในยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำประเทศต่างๆในยุโรป มีสำนักประจำอยู่ในกรุงลอนดอน มีอำนาจเต็มทั่วยุโรป และต่อมาได้ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปนพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสองประเทศ
 
พอตโต ฟอน พิสมาร์ค นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนี
รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ณ เฟรดวิคส์ แคว้นรูห์ วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๑
 
การที่ไทยส่งเอกอัครราชทูตไปประจำอยู่ในต่างประเทศนั้นเป็นผลดี ทำให้ต่างประเทศได้รู้จักประเทศไทยได้ถูกต้องยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พยายามผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจ ได้เสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้ง มีความสนิทสนมกับพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ ๒ แห่งรัสเซีย และพระเจ้าไกเซอร์แห่งเยอรมัน ตลอดจนราชวงศ์ต่างๆ อีกมาก ในรัชกาลของพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศรวมเจ็ดครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปเอเชีย คือ ชวา มลายู สิงคโปร์ และอินเดีย
 
การที่เสด็จประพาสต่างประเทศนั้นทำให้ได้ทรงรู้เห็นแบบอย่างที่ดี นำมาปรับปรุงแก้ไขบ้านเมืองให้เจริญขึ้นมากมายหลายประการและเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีกับผู้นำของประเทศนั้นๆ อีกด้วย