กษัตริย์ไทยองค์แรกที่เสด็จฯ ต่างประเทศ

  • Print
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ไหนเคยเสด็จฯต่างประเทศ แม้จะเคยมีความเชื่อกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเคยเสด็จฯเมืองจีน นำช่างทำถ้วยชามมาผลิตในเมืองไทย แต่ปัจจุบันก็เชื่อกันใหม่แล้วว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนกระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯต่างประเทศ
 
 
 
เมื่อขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์   อีกเช่นกันที่มีตำแหน่งนี้ สมเด็จเจ้าพระยาเป็นคนหนึ่งที่คบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ทราบความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของประเทศในเอเชีย ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก จึงมีความคิดว่าพระเจ้าอยู่หัว ควรจะถือโอกาสนี้เสด็จฯทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ได้รับอารยธรรมตะวันตกบ้าง จะได้เป็นประโยชน์เมื่อถึงเวลาทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง
  
เมื่อนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงยินดีและใคร่จะเสด็จฯ ยุโรป แต่สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าไกลเกินไป ต้องผ่านทะเลใหญ่หลายแห่ง เรือที่จะไปได้โดยปลอดภัยก็ไม่มี ครั้นจะให้เสด็จฯโดยเรือโดยสารอย่างสามัญชนก็จะเสียพระเกียรติ   จึงทูลเสนอให้ไปสิงคโปร์ในความปกครองของอังกฤษ และชวาในความปกครองของฮอลันดาก่อน ครั้งต่อไปจึงไปอินเดีย ครั้งแรกใช้เรือพิทยัมรณยุทธ ซึ่งเป็นเรือเหล็กที่เพิ่งสั่งต่อมาจากสกอตแลนด์ เป็นเรือพระที่นั่ง และมีเรือรบอีก ๒ ลำที่ต่อเองในกรุงเทพฯ เป็นเรือนำและตามเสด็จ
 
 
 
เรือพระที่นั่งออกจากท่าราชวรดิฐในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๓ และกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๕ เมษายนต่อมา
 
หลังจากเสด็จฯต่างประเทศครั้งนี้ แล้วได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักและระบอบการปกครองของไทยหลายอย่างซึ่งล้วนแล้ว แต่เป็น  “ความเจริญ” ตามแบบตะวันตก.