เรื่องระทึกของราชทูตสยาม

 
สัมพันธไมตรีในเรื่องการค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศมีมานานแล้ว นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา...
 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน โดยมีการขุดพบเครื่องใช้ถ้วยชามของจีนสมัยเดียวกันกับสุโขทัย จากกรุตามวัดร้างโบราณในเมืองสุโขทัย
 
ตามบันทึกได้ปรากฏในจดหมายเหตุบ่งว่า  “พระเจ้าแผ่นดินไทยสมัยสุโขทัยพระองค์หนึ่งได้เสด็จฯ ไปเมืองจีน ในรัชสมัยพระเจ้าหงวนเสงฮ่องเต้ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๑๘๓๗ ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. ๑๘๔๓
 
 
การเข้าเฝ้าของคณะราชทูตสยาม เพื่อถวายเครื่องมงคล
 ราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแด่
จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟองเตนโบล
วันที่ ๒๗ ม.ย. ค.ส. ๑๘๖๑ เป็นภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส
 Le Monde illustre ฉบับวันที่ ๖ กรกฏาคม ปี ๑๘๖๑ 
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเสด็จฯ ไปนำช่างจีนเข้ามาทำเครื่องถ้วยชามสังคโลกในเมืองสุโขทัย
 
ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ เรื่องการพระราชไมตรีระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยาม ซึ่งหลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอสมุดวชิรญาณ แปลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากจดหมายเหตุหนังสือจีน ๓ เรื่องตามที่พระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ไต้เชงแผ่นดินเชียนหลง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุของเก่าในเมืองจีน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนมาถึงกรุงธนบุรี แล้วเรียบเรียงใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี
 
บันทึกดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นว่าไทยกับจีนมีสัมพันธไมตรีกันมาเนิ่นนานนับแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
 
ต่อมาได้มีการบันทึกการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายกันเนิ่นนานมาถึง พ.ศ.๒๓๙๔ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงส่งคณะราชทูตไปถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการแด่พระจักรพรรดิฮำฮง ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากเซียเผงฮ่องเต้ ผู้เป็นราชบิดา ณ กรุงปักกิ่ง
 
นับว่าการเดินทางของราชทูตแห่งกรุงสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งจารึกไว้อย่างน่าสนใจและน่าหาเหตุผลเพื่อศึกษา เพราะต้องใช้เวลาเดินทางอย่างระหกระเหินเนิ่นนานถึง ๒๑ เดือน กว่าจะเดินทางกลับมาถึงสยาม
 
คณะราชทูตยอดทรหดครั้งนี้ ได้แก่ “พระสวัสดิสุนทรอภัย” เป็นหัวหน้าคณะราชทูต “หลวงบวรเสน่หา” เป็นอุปทูต “หลวงพจนาพิมล” เป็นตรีทูต มีนายหนูกับนายแก้วเป็นล่าม พร้อมด้วยไพร่หลวงกลองชนะแตรสังข์ผู้ติดตามอีก ๑๐ คน
 
ในครั้งนั้น  ได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการลงเรือกำปั่นใบ ชื่อ “ราชรังสฤษดิ์” กับเรือ “สยามพิภพ” ออกเดินทางจากกรุงสยาม เมื่อเดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๙๔  ฝ่าคลื่นฝนลมไป ๑๘ วัน จึงถึงท่าเรือเมืองกว่างตุ้ง
 
ที่นั่น เจ้าเมืองกวางตุ้งพร้อมกรมการเมืองได้จัดการต้อนรับคณะทูตจากเมืองสยามอย่างดี มีการจัดขบวนแห่อัญเชิญพระราชสาส์น อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศ และได้มีสาส์นไปถึงกรุงปักกิ่งแจ้งให้ทราบเรื่องแล้ว ทางกรุงปักกิ่งได้ตอบรับมาว่าจะให้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาแน่นอน
 
คณะราชทูตต้องพักรออยู่ในเมืองกวางตุ้งกว่า ๔ เดือน จึงจะมีจดหมายจากกรุงปักกิ่งแจ้งมาว่าให้เดินทางเข้าสู่กรุงปักกิ่ง ซึ่งทางการเจ้าเมืองจีนได้จัดเรืออองเหลาขนาดใหญ่ ยาว ๘ วา กว้าง ๗ ศอก ถึง ๑๐ ลำ เป็นขบวนอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ มีเรือขุนนางจีน ๒ ลำนำหน้าและคุมท้ายขบวน ออกเดินทางจากเมืองกวางตุ้ง เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
 
เรือแล่นทวนน้ำผ่านหัวเมืองต่างๆไปจนถึงเมืองเชียงกวางฮู และเปลี่ยนลงเรืออองเหลากินน้ำตื้นขนาดเล็กรวม ๒๖ ลำเพื่อเดินทางต่อไปโดยแวะพักแรมตามเมืองรายทางเป็นระยะๆ จนลุถึงเมืองน้ำโยง สุดเขตแดนแขวงเมืองกวางตุ้ง คณะทูตต้องขึ้นจากเรือและพักที่เมืองนี้อีกระยะหนึ่ง โดยมีการต้อนรับอย่างสมเกียรติเช่นกัน
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
 
จากเมืองน้ำโยง ขบวนราชทูตกรุงสยามเคลื่อนข้ามภูเขาไปยังเมืองน่ำอั๋ง มณฑลกังไส โดยใช้ม้าและโคเป็นพาหนะ รอนแรมไปอย่างทรหดอดทนก่อนที่จะลงเรืออีกครั้ง และแล่นทวนน้ำไปอีก ๑๖ วัน จึงถึงเมืองกังไส ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพหนาวหนักพอดี คณะทูตต้องสวมเสื้อผ้าขนสัตว์ซึ่งทางเจ้าเมืองจัดหามาให้ และมีพิธีการต้อนรับอย่างใหญ่โตอีกครั้งหนึ่ง
 
การเดินทางจากเมืองกังไสไปยังกรุงปักกิ่ง ท่านราชทูตไทยถูกจัดให้นั่งเกี้ยวมีคนหาม มีขบวนม้าติดตามเป็นเกียรติยศ รอนแรมไปตามเส้น ทางซึ่งบางครั้งน้ำในลำธารกลายเป็นน้ำแข็ง   ปุยหิมะโปรยปรายลงมาตลอดเวลา   ทั้งยังต้องเดินทางผ่านและพักตามหัวเมืองต่างๆ ถึง ๑๗๒ หัวเมือง กระทั่งลุถึงกรุงปักกิ่ง
 
ในที่สุดคณะราชทูตไทยได้รับเชิญให้เข้าพักในกงก๊วนอย่างสมเกียรติจากนั้นจึงได้ทำพิธีอัญเชิญพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการ ไปมอบให้แก่ “หลีปุตา” ซึ่งเป็นเสนาบดีฝ่ายการต่างประเทศของจีน
 
ในวันรุ่งขึ้น ทุกคนก็ได้แต่งกายเต็มยศรับสิ่งของพระราชทานในเบื้องต้น โดยราชทูตได้รับหมวกแพรจุกพลอยสีเขียวกับแหวนหยกมูลค่า ๕๐๐ ตำลึงจีน อุปทูตได้รับหมวกแพรจุกพลอยสีเขียวกับแหวนหยกมูลค่า ๓๐๐ ตำลึงจีน ตรีทูตได้รับหมวกแพรพลอยสีขาวขุ่นกับแหวนหยกมูลค่า ๒๐๐ ตำลึงจีน นอกจากนั้นก็มีเสื้อขนสัตว์กันหนาว ถุงเท้า รองเท้า ครบทั่วทุกคน
 
คืนต่อมา เจ้าพนักงานได้พาคณะราชทูตซึ่งแต่งกายเต็มยศ  ฝ่าอากาศที่หนาวเหน็บไปยืนเฝ้ารอรับเสด็จองค์พระจักรพรรดิจีน ซึ่งเสด็จกลับจากทรงถือศีล ณ วัดประจำราชวงศ์ ด้วยขบวนแห่แหนอันมโหฬารตระการตา
 
มีทหารราชองครักษ์หลายเหล่า หลายพันคนนำหน้าและตามหลังขบวน ส่วนใกล้พระเกี้ยวอันเป็นที่ประทับนั้น ก็ห้อมล้อมด้วยขุนนางชั้นผู้ใหญ่และนายทหารยศสูง ในชุดเครื่องแบบเต็มยศละลานตา
 
เมื่อพระเกี้ยวของฮ่องเต้จวนจะถึงประตูวังที่คณะราชทูตยืนรอเฝ้ารับเสด็จอยู่ “หลีปูตา” ซึ่งเป็นเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศได้ขี่ม้าแซงพระเกี้ยวขึ้นมา แล้วลงจากหลังม้าคุกเข่าลงถวายบังคม ๓ ครั้ง  กราบทูลฮ่องเต้ถึงการที่ราชทูตกรุงสยามกับคณะ ได้มาคอยเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อยู่ ณ ที่นี้แล้ว
 
องค์ฮ่องเต้ได้มีรับสั่งให้หยุดพระเกี้ยว รูดพระวิสูตรออกมาทอดพระเนตรคณะทูตสยามซึ่งถวายบังคมพร้อมกัน ๓ ครั้งแล้วลุกขึ้นยืน ฮ่องเต้ทรงแย้มพระโอษฐ์ พลางมีพระราชดำรัสกับคณะทูต แล้วรับสั่งกับหลีปูตาว่า ให้ดูแลอำนวยการความสะดวกสบายแก่คณะทูตอย่างเต็มที่ ก่อนจะมีหมายกำหนดการให้เข้าเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนขบวนเสด็จเข้าวังไป
 
ขุนนางฝ่ายจีนซึ่งคอยให้การต้อนรับ ได้เล่าให้คณะราชทูตฟังว่าขบวนเสด็จฯ ที่ใช้คนนับหมื่นนี้เป็นแค่ขบวนธรรมดาเท่านั้น ถ้าเสด็จฯนับแส นหรือสองแสนคน ยิ่งใหญ่กว่านี้เป็นสิบเท่า
 
ขณะเดียวกัน ก็ทรงมีรับสั่งให้คณะทูตจากประเทศต่างๆ เข้าถวายพระราชสาส์นตามลำดับ โดยราชทูตจากกรุงสยามเข้าเฝ้าเป็นคณะที่ ๒ ฮ่องเต้ได้ทรงรินสุราพระราชทานเป็นเกียรติแก่ราชทูต ๑ ถ้วย  พร้อมกับตรัสถามถึงเรื่องต่างๆ ตามพิธีการ ก่อนจะพระราชทานเลี้ยงอาหารจีนซึ่งจัดอย่างหรูหราสมพระเกียรติ
 
พร้อมกันนั้น ได้มีรับสั่งให้จัดสิ่งของถวายเป็นพระราชบรรณาการแด่พระเจ้ากรุงสยาม คือ แพรเนื้อดีสีต่างๆ ๑๐๐ ม้วน เครื่องราชูปโภคอีก หลายอย่าง ส่วนพระมเหสีของฮ่องเต้นั้นก็ถวายแพรกิมต่วนเนื้อดี ๒๐ ม้วน แพรสี ๓๐ ม้วน มาถวายองค์พระราชินีกรุงสยามด้วย
 
คณะทูตประวัติศาสตร์จากกรุงสยามชุดนี้ ได้พำนักอยู่ ณ กรุงปักกิ่งเป็นเวลาเกือบ ๓ เดือนได้เข้าชมสถานที่สำคัญและศึกษาขนมธรรมเนียมความเป็นไปในเมืองจีนอย่างกว้างขวาง
 
กระทั่งการเตรียมการทุกอย่างพร้อมแล้ว จึงออกเดินทางจากกรุงปักกิ่ง โดยใช้เส้นทางใหม่ไม่ซ้ำกับขามา เนื่องจากองค์ฮ่องเต้มีพระประสงค์ จะให้คณะราชทูต ได้พบเห็นความเป็นอยู่ของชาวจีนในแต่ละมณฑลด้วยตาตัวเอง เพื่อจะได้นำกลับมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เมืองสยาม
 
แต่เหตุการณ์ในตอนขากลับนี้เอง ที่ทำให้คณะราชทูตกรุงสยามแทบจะเอาชีวิตไม่รอด เมื่อราชทูตเดินทางรอนแรม ๒ เดือน เมื่อเดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยขณะนั้นมีกองโจรใหญ่หลายร้อยคนได้วางแผนจะเข้าปล้นขบวนราชทูต  เพราะสืบรู้มาว่าในขบวนมีทรัพย์สินมีค่าที่ได้รับพระราชทานมามากมาย
 
การเดินทางกลับครั้งนี้ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายแต่แล้วก็เกิดเหตุร้ายในเช้าวันหนึ่ง เมื่องกองโจรซึ่งมีกำลังนับร้อยคนได้ลุยเข้ามาล้อมขบวนเดินทางของราชทูตสยามพร้อมอาวุธ ฆ่าฟันลูกหาบที่คุมเกวียนบรรทุกล้มตายและบาดเจ็บไปหลายคน
 
ส่วนคณะทูตไทยพยายามคุมเครื่องราชบรรณาการ แต่ต้านทานพวกโจรไม่ได้จึงต้องหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง โดยมีเพียงเสื้อผ้าติดกายเพียงชุดเดียวเท่านั้น ด้วยเห็นว่ากำลังน้อยกว่ากันมากนัก สู้ไปก็ตายเปล่าพวกโจรได้กวาดเอาเครื่องราชบรรณาการและทรัพย์สินมีค่าไป หมดสิ้น แต่ก็มิได้ติดตามทำร้ายคณะทูตแต่อย่างใด
 
หลังเหตุการณ์ระทึกขวัญคราวนั้น คณะราชทูตกรุงสยามใช้เวลาหลายวันกว่าจะรวมกลุ่มครบ และต้องเดินทางต่อโดยผ่านหัวเมืองต่างๆ กว่า ๒ เดือน จึงมาถึงเมืองกวางตุ้ง
 
และที่เมืองกวางตุ้งนี่เอง คณะราชทูตได้พบกับเรือของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งเสด็จไปราชการที่กวางตุ้งพอดี จึงเดินทางกลับถึงกรุงสยามโดยสวัสดิภาพ เมื่อวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมเวลาเดินทางมาราธอน ๑ ปี กับ ๙ เดือน
 
นับเป็นเหตุการณ์ทรหดของราชทูตกรุงสยาม ที่ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ทีเดียว...
                                                                                                             
ข้อมูลจากหนังสือบันทึกสยาม หน้า ๗-๑๓