แสดงสินค้าไทยในต่างประเทศครั้งแรก

การนำสินค้าไทยไปจัดงานแสดงในต่างประเทศนั้น เป็นวิธีการที่ได้รับการส่งเสริมในขณะนี้ เพราะเป็นการนำสินค้าไทยไปเสนอถึงผู้บริโภค ในต่างประเทศโดยตรง ทำให้รู้จักและติดใจสินค้าไทย ผลไม้ไทยและสินค้า OTOP ในปัจจุบัน จึงโกอินเตอร์ด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงทำเมื่อกว่า ๑๓๐ ปีที่แล้ว
 
ทั้งนี้ใน ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้มีงานแสดงสินค้าหัตถกรรมนานาชาติที่ชังป์ เดอ มารส์ ประเทศฝรั่งเศสและไทยได้รับเชิญไปร่วมเช่นเดียวกับหลายชาติในเอเชีย และได้รับความสำเร็จอย่างสูง  ซึ่งนายเอเตียน กาลลัวร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเกิดสนใจร้านของประเทศสยามเป็นพิเศษ จึงเขียนเรื่องที่ไปชมงานนี้ไว้ ซึ่งกรมศิลปากรได้นำมาจัดพิมพ์ โดยให้ สันต์ ท. โกมลบุตร เป็นผู้แปล
 
นายเอเตียนเล่าไว้ว่า
“พอเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมขึ้นที่ ชังป์ เดอ มารส์ ได้ไม่ทันไร บรรดาผู้ซื้อทั้งหลาย  ก็พากันเบียดเสียดเยียดยัดกันแน่นอยู่ ณ ที่ตั้งแสดงของประเทศสยาม ซึ่งอันที่จริงแล้วที่นั่นก็ไม่ต้องเกรงว่าจะได้พบเห็นแต่ผลิตกรรมที่ทำขึ้นด้วยฝีมือหยาบๆ หรือว่าเป็นผลิตกรรมที่ทำเทียมขึ้นอย่างแนบเนียน หากแต่จะเห็นตะวันออกไกลแท้ๆ นั่นเทียว...”
 
นายเอเตียนได้กล่าวสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไว้ว่า
“พระราชดำริที่ว่า งานมหกรรมตั้งแสดงซึ่งประเทศของพระองค์ได้รับการนับเนื่องเข้าเป็นคู่แข่งของประเทศทั้งหมดทั่วโลกเช่นนี้ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นพระองค์จึงทรงเอาพระทัยใส่เลือกเฟ้นสิ่งของที่สมควรส่งมาด้วยพระองค์เองทีเดียว ทรงกำหนดให้ยกย้ายสังหาริมทรัพย์ส่วนพระองค์บางชิ้นเป็นการชั่วคราว จากพระราชฐานส่งมาตั้งแสดงในงานมหกรรมนี้ ไม่มีสิ่งใดที่พระองค์ผู้ทรงรู้คุณค่าอย่างแตกฉานนี้จะทรงหลงลืม  พระองค์ได้ทรงเลือกเฟ้นส่งศิลปวัตถุและอุตสาหกรรมอันเป็นงานฝีมือแห่งประชาราษฎร์ของพระองค์มา เพื่อเป็นการประจักษ์ถึงความสามารถในการประดิษฐ์แห่งช่างฝีมือของชาติ...”
 
นายเอเตียนเล่าว่า สิ่งที่โดดเด่นอยู่ในร้านราชอาณาจักรสยามนั้นก็คือ
“...พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งทรงสวมพระมาลามียอดแหลม พระภูษาที่ทรงประดิษฐ์ด้วยทองคำและอัญมณี เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้เข้าชม จนดูมีชีวิตชีวาประหนึ่งพระองค์ทรงปรากฏพระวรกายจริงๆ อยู่ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย เมื่อได้ทรงประสบกับความประทับตาประทับใจของบุคคลทั่วไปเข้าเช่นนี้ พระองค์ก็ย่อมจะทรงมีพระราชดำรัสประกาศกล่าวว่า เป็นบำเหน็จอันสูงส่งที่พระองค์ทรงได้รับ เนื่องจากความกระตือรือร้นสนพระทัยส่งผลิตภัณฑ์มาตั้งแสดงในครั้งนี้เป็นแน่แท้...”
 
ผลิตภัณฑ์เพื่อขาย ๔๗๐ ชิ้นนั้น นายเอเตียนบรรยายไว้ว่า นอกจากเครื่องเงิน ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับมุกอันงามระยับไปด้วยการฝังพลอยแล้ว ก็มีเครื่องใช้ที่เป็นงานศิลปะต่างๆ เช่น พวกโถ คนโท ป้านชา ถาด พาน เครื่องดนตรี ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการล่าสัตว์และการประมง แต่สินค้าที่ขายดีกลับเป็นย่ามไหม ตาลปัตรพัดยศ จีวรสำหรับพระเถระ เสื้อนอกปักด้วยทองแล่ง และผ้าซิ่นเชิงปักเงินแล่ง ซึ่งชาวยุโรปเห็นเป็นของแปลก
 
นายเอเตียนยังชมไปถึงเพลงที่เปิดในร้านสยามด้วยว่า
“ทำนองเพลงของสยามนั้นนิ่มนวล แจ่มใส น่าจับใจ กล่อมอารมณ์ หรือชวนให้ฝันหวาน ลางทีก็ชวนให้ใจอ่อนอย่างถึงที่สุด ดนตรีของสยามนั้นเป็นศิลปะโดยแท้ เป็นศิลปะที่มีความสำรวมและมีจิตใจสูงส่ง จะเปรียบกันไม่ได้เลยกับเสียงดนตรีซ้ำซากของดนตรีชาติอื่นในบูรพทิศ”
 
นี่คือความสำเร็จของไทย ในการเข้าร่วมแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติครั้งแรก ที่ยุโรปในปี พ.ศ. ๒๔๒๐