แรกมีพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

 
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของมาดามทุสโซที่กรุงลอนดอนนั้น นับเป็นสิ่งแปลกมหัศจรรย์มาก สามารถนำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นคนแล้วสามารถตกแต่งจนเหมือนคนจริงมากที่สุด มีชื่อเสียงร่ำลือไปทั่วโลก จนเปิดสาขาไปในอีกหลายประเทศ คนไทยเราจำนวนไม่น้อยที่ไปชมมา เอามาร่ำลือด้วยความชื่นชม และพูดวิจารณ์กันทั่วไปว่า เมืองไทยเราไม่อาจทำแบบนี้ได้ นอกจากฝีมือแล้ว อากาศร้อนของเมืองไทยยังทำให้ขี้ผึ้งไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ ต้องไหลย้อยไปด้วยความร้อน
 
แต่ก็มีคนไทยบางคนไม่ได้สรุปง่ายๆ แบบนั้น คิดว่าฝีมือด้านงานศิลปะของไทยก็ไม่แพ้ชาติไหนๆ ในโลก ส่วนที่ขี้ผึ้งไม่คงทนต่ออากาศร้อน ก็อาจใช้วัสดุอื่นแทนได้ คนที่คิดอย่างนี้มี อาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ผู้คร่ำหวอดงานประติมากรรมมานานอยู่ด้วยคนหนึ่ง จึงทุ่มเทคิดค้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดก็ค้นพบว่าไฟเบอร์กลาสเหมาะสมกับการปั้นหุ่นมากกว่าขี้ผึ้งเสียอีก เพราะนอกจากจะมีความคงทนถาวรกว่าแล้ว ยังให้ความรู้สึกที่นิ่มนวล ละเอียดอ่อนกว่าขี้ผึ้ง
 
และด้วยความศรัทธาต่ออริยสงฆ์ผู้เป็นปูชนนียบุคคลที่เคารพนับถือของชาวพุทธ ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ อาจารย์ดวงแก้ว จึงเริ่มต้นที่หุ้นของ พระสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ ใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๗
 
 

ร. ๕ เลิกทาส ของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
 
เมื่อผลงานออกมาได้ผลตามที่หวัง ต่างลงความเห็นกันว่าน่าจะเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้   จึงวางโครงการจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย”   บนเนื้อที่ ๑๒ ไร่   ริมถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เขตจังหวัดนครปฐม ขณะที่ลงมือก่อสร้างตัวเอาคาร กลุ่มผู้ร่วมงาน ของอาจารย์ดวงแก้วก็สร้างหุ่นขี้ผึ้งอื่นๆ ด้วยวิธีเดียวกันต่อไปเรื่อยๆ จนได้ ๓๗ รูปแล้ว จึงกำหนดเปิดแสดง ทูลเชิญสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งแห่งแรกของไทย  ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒  
 
คนไทยที่ไปชมหุ่นขี้ผึ้งในต่างประเทศมาแล้ว รวมทั้งชาวต่างชาติที่มาชม ต่างยอมรับว่าหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของไทย มีรายละเอียดที่เหมือนกว่า แม้แต่ก้มลงมองจนชิดก็ยังไม่สามารถจับผิดได้
 
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ในเนื้อที่ ๔๕ ไร่ ใช้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งสยาม” โดยกลุ่มพี่น้องที่ลงทุนในพิพิธภัณฑ์ขี้ผึ้งแห่งแรกเช่นกัน ซึ่งทำธุรกิจหล่อพระพุทธรูปมานาน และใช้ไฟเบอร์กลาสเป็นอุปกรณ์เช่นเดียวกัน แต่นำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ผู้ชมสามารถชมทั้งสองแห่งได้โดยไม่เบื่อ
 
ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ” ต้นตำรับหุ่นขี้ผึ้งของโลก ก็ได้แถลงเปิดตัวในไทยที่ศูนย์การค้าสยามดัสคัฟเวอรี่ เป็นแห่งที่ 3 ของเอเชียรองจากฮ่องกงและเซี้ยงไฮ้ มีหุ่นบุคคลที่มีชื่อเสียง ๗๐ รูปรวมทั้งดารายอดนิยมและนักการเมืองของไทย แบ่งหมวดหมู่ ๑๐ ห้อง แต่ราคาค่าชมสูงกว่าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยมาก.