เครื่องบินและนักบินพลเรือนคนแรก

 
เมื่อ ๗๐-๘๐ ปีก่อนไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ผู้มีฉายาว่า “เลื่อนกระดูกเหล็ก”  นายเลื่อนเป็นคนเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕  ที่บ้านริมคลองรอบกรุง ย่านประตูสามยอด บิดามารดามีร้านขายเฟอร์นิเจอร์และมีโรงสีด้วยนายเลื่อนจึงสนใจเครื่องยนต์กลไกมาแต่เด็ก ส่วนฉายา "เลื่อนกระดูกเหล็ก” ก็เพราะเป็นนักบิดมอเตอร์ไซค์ชั้นแนวหน้าของยุค มีการประลองความเร็วกันเมื่อใด นายเลื่อนจะนำฮาร์เลย์เดวิดสันคู่ชีพลงชิงชัยด้วยทุกที และชนะทุกครั้งจนถ้วยเต็มบ้าน เพราะบิดอย่างไม่กลัวเจ็บกลัวตาย
 

นางสาวสยามหลังทำสาวใหม่
 
บิดาต้องการให้เรียนกฎหมาย  แต่นายเลื่อนไปเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่ใกล้จะจบติดดาว   พอดีมีประกาศรับสมัครทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ยุโรปนายเลื่อนจึงลาออก  สมัครไปรบด้วย
 
เมื่อสงครามสงบ ทางราชการให้ทหารอาสาที่สนใจเครื่องยนต์เรียนต่อที่ฝรั่งเศสได้ นายเลื่อน ฉวยโอกาสนี้ และสอบคัดเลือกได้เป็นอันดับ ๑  เข้าเรียนจนจบหลักสูตร
 
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๓  นายเลื่อนได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์  รัชกาลที่ ๗   ให้ไปเรียนวิชาการบินที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๓ ปี และระหว่างเรียนนายเลื่อนกระดูกเหล็กยังไปรับจ้างแสดงการบิดผาดโผนจนเป็นที่ชื่นชอบของคนดู ตระเวนไปแสดงใน หลายรัฐ จนสามารถเก็บเงินซื้อเครื่องบินแบบเดี่ยวกับที่ใช้แสดงกลับมาเมืองไทยด้วย ตั้งชื่อให้ว่า  “MISS SIAM” หรือ “นางสาวสยาม”  
 
เมื่อนายเลื่อนกลับมา ไทยเรามีกรมอากาศยานแล้ว ในสังกัดกองทัพบก และซื่อเครื่องบินจากฝรั่งเศสมา ๘ เครื่อง พร้อมส่งนักบินไปฝึกกับบริษัทผู้จำหน่ายมาครบจำนวน อีกทั้งนายเลื่อนไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงหางานนักบินทำไม่ได้
 
ด้วยเหตุนี้นายเลื่อนจึงหาทางโชว์ฝีมือให้ประจักษ์สักครั้ง นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ     ขอนำ “นางสาวสยาม” บินเบิกฟ้าจากสยามไปฮ่องกง ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ อนุญาต ทั้งรับสั่งว่าเป็นความคิดที่ดีมาก พร้อมพระราชทานพรให้นายเลื่อนด้วย
 
กระทรวงการต่างประเทศให้นายเลื่อนกำหนดแผนการบินว่าจะออกเดินทางเมื่อใด ผ่านไปทางไหน  เพื่อจะได้แจ้งให้ทูตสยามในเมืองต่างๆ อำนวยความสะดวก ซึ่งนายเลื่อนได้แจ้งว่าจะทำการบินในระยะทาง ๑,๔๐๐ ไมล์ ออกจากสนามบินดอนเมือง วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แวะไปตลอดทางตั้งแต่นครราชสีมาเป็นครั้งแรก ผ่านเวียดนาม จีน ถึงฮ่องกงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค้าง ๓ คืนแล้วบินกลับในเส้นทางเดิม กลับมาถึงดอนเมืองในวันที่ ๓ กรกฎาคม
 
การเดินทางไปในครั้งนี้ แม้ “นางสาวสยาม” จะมีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารอีก ๑ ที่  แต่ก็ไม่มีใครไปด้วย ทั้งยังไม่มีอาวุธ กล้องถ่ายภาพยนตร์ หรือภาพนิ่ง อันอาจจะใช้เป็นเครื่องมือจารกรรม เพื่อไม่ให้มีปัญหาจากหวาดระแวง
 
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นายเลื่อนได้รับการสนับสนุนจากสโมสรสามัคคีจีนสยาม เรี่ยไรจากสมาคมและมิตรสหาย มีตั้งแต่รายละ ๒๐๐ บาท จนถึง ๓ บาท  รวมกันได้ ๒,๔๗๐ บาท
 
ในระยะนั้นมีนักบินพลเรือนของชาติต่างๆ ในยุโรป พยายามสร้างเกียรติประวัติในการบินข้ามประเทศเช่นนี้ บ้างก็บินมาถึงจีน แต่หลายคน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตกในป่า ตกในทะเล  ผจญอุปสรรคกันต่างๆ  ซึ่งนายเลื่อนก็พบอุปสรรคเช่นกัน นอกจากเผชิญกับความแปรปรวนของอากาศแล้ว ที่รุนแรงที่สุดก็ตอนข้ามจากมาเก๊าไปฮ่องกง เรือรบจีนเกิดเข้าใจผิด ยิง  “นางสาวสยาม” ถูกลำตัวที่เป็นผ้าทะลุ เคราะห์ดีที่ไม่ถูกโครงเหล็กหรือตัวนักบินแต่ก็ต้องร่อนลงฉุกเฉินที่เกาะลองมูนจมลงไปในโคลนแต่นายเลื่อนกระดูกเหล็กถนัดด้านช่างอยู่แล้ว จึงซ่อมแซมจนบินต่อได้
 
ความสำเร็จของนายเลื่อน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยฟุ้งกระจายไปในนานาประเทศ แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ยังไม่มีแม้แต่กองทัพอากาศ แต่นักบินพลเรือนคนหนึ่งก็อาจหาญบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปอย่างโดยเดี่ยว จนประสบความสำเร็จ
 
จึงถือได้ว่า “นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย และ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ก็เป็นนักบินพลเรือนคนแรกของไทยด้วย
 
ต่อมานายเลื่อนเข้าทำงานกับบริษัท เดินอากาศ จำกัด   ไปเป็นนายสนามบินโคราช จนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โคราช ๔ สมัย เป็นรัฐมนตรี ลอยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมถึง ๖ รัฐบาล และได้รับพระราชทานยศเป็น นาวาอากาศเอก.