เมื่อสยามเริ่มบิน

 
ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๖ พี่น้องตระกูลไรท์ประสบความสำเร็จในการทดลองการบินเป็นครั้งแรก ซึ่งถือกันว่ามนุษย์เริ่มบินได้ในวันนั้น
 
ต่อมาในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ นายแวน เดอ บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง ของฝรั่งเศส บินจากไซ่ง่อนมาถึงกรุงเทพฯ และแสดงการบินให้ประชาชนชมที่สนามม้าสระปทุม โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้สำเร็จการศึกษาด้านโยธาธิการและวิศวกรรมมาจากอังกฤษ และเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกทรงสนพระทัย ผลัดกันขึ้นบินทั้ง ๒ พระองค์
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขึ้นประทับก่อน โดยกัปตันพาบินวนเหนือสนามราชกรีฑาสโมสร เป็นเวลา ๓ นาที ๔๕ วินาที ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นเครื่องบิน
 
จากการทดลองบินในวันนั้น พี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงเห็นว่าเครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกิจการทหารและพลเรือน ในปีนั้นเองจึงส่งนักบิน ๓ คนไปเรียนการบินที่ฝรั่งเส ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการบินในขณะนั้น
 
เมื่อนักบินทั้งสามกลับมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีก ๒ ชั้นซึ่งเป็นเครื่องบินที่นักบินไทยใช้ฝึกบินในฝรั่งเศสมา ๓ เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ซื้อให้อีก ๑ เครื่อง เครื่องเบรกเกต์ ๑ ใน ๔ นี้ที่มีชื่อว่า “ขัตติยะนารี” ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบินที่ก่อให้เกิดการบินขึ้นในสยาม ยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี 
  

เครื่องบินลำแรกที่มาแสดงในสยาม 
 
เมื่อซื้อเครื่องบินมาศึกษาได้ ๒ ปี ยังไม่ทันมีกองทัพอากาศไทย เราก็แสดงฝีมือทันที โดยในปีพ.ศ. ๒๔๕๘ กองโรงงานกรมการบินทหารบก ได้สั่งซื้อเครื่องเบรเกต์มา แล้วสร้างลำตัวและปีกเอง ใบพัดใช้ไม้โมกมัน สร้างเครื่องบินเองได้สำเร็จ
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พ.ท.หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูง กองโรงงาน กรมอากาศยาน ได้ออกแบบเครื่องบินเอง มีปีก ๒ ชั้น ให้กองโรงงานสร้างขึ้น ใช้เครื่องจูปีเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ความเร็ว ๑๕๗ ไมล์ต่อชั่วโมง  ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “บริพัตร” ตามพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์พินิต เสนาบดี
 
กระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ไทยออกแบบเอง บินไปโชว์ที่อินเดียและไซ่ง่อน ตามคำเชิญของรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศนั้น
 
ในพ.ศ. ๒๔๗๒ ไทยได้ออกแบบสร้างเครื่องบินขับไล่ออกมาอีกแบบ  ได้รับพระราชทานนามว่า “ประชาธิปก”
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบคอร์แซร์  ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบตรวจการณ์และทิ้งระเบิดของอเมริกามา ๑๒ เครื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็ขอซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเอง และสร้างเครื่องบินแบบนี้ขึ้นมาถึง ๑๕๐ เครื่อง
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่แบบฮอล์ ๓ จากอเมริกามาอีก ๑๒ เครื่อง พอปีต่อมาก็ขอซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเองอีกและสร้างฮอล์ค ๓ ขึ้นมา ๕๐ เครื่อง
 
ในยุคนั้นกองทัพไทยจึงมีเครื่องบินรบประจำการมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ไทยได้ทำสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย  จับคู่กับฝรั่งเศสเจ้าเวหาของยุโรปเสียด้วย ในสงครามอินโดจีน แม้ตอนนั้นเครื่องบินแบบโมรันของฝรั่งเศสจะมีสมรรถภาพเหนือกว่าเครื่องบินที่ไทยสร้างเองมาก แต่นักบินไทยก็สู้ด้วยใจ สร้างวีรกรรมไว้มาก
 
ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นตลอดชายฝั่งตะวันออกของไทย และส่งฝูงบินขึ้นโจมตีสนามบินวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรีอย่างกะทันหันเหมือนโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพของอเมริกาที่ฮาวาย นักบินไทยเอาฮอล์ค ๓ ขึ้นได้ ๓ เครื่องเท่านั้น เลยถูกฝูงบินขับไล่ฮาตะของญี่ปุ่นยิงร่วงหมดทั้ง ๓ เครื่อง
 
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้การสร้างเครื่องบินของไทยหยุดชะงักไป แม้จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ แต่ก็ตามใครไม่ทันแล้วปัจจุบัน ยังสร้างแต่เครื่องบินที่ใช้ฝึกบิน ส่วนเครื่องบินรบต้องซื้อเขาลูกเดียว
 
ปัจจุบัน คอร์แซร์กับฮอล์ค ๓ ในโลกยังเหลืออีกเพียงรุ่นละเครื่องเท่านั้น เปิดให้ชมที่พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ดอนเมือง รวมทั้ง “ขัตติยะนารี” แม้สถาบันสมิธแอนด์โซเนียลของสหรัฐ ซึ่งรวบรวมเครื่องบินไว้ทุกรุ่น แต่ยังขาดคอร์แซร์กับฮอล์ค พยายามขอซื้อ แต่กฎหมายก็ไม่ยอมให้ขายของหลวง สนใจก็ไปดูกันได้.