แรกมีหอสมุด

ในสมัยรัชกาลที่ ๑  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “หอพระมณเฑียรธรรม”  สำหรับเก็บหนังสือพระไตรปิฎกของหลวงขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๒  อยู่กลางสระน้ำในบริเวณที่ตั้งพระมณฑปของวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน แต่ถูกไหม้ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงให้ช่างวังหน้ามาสร้างหอสมุดหลังใหม่ถวาย หอพระมณเฑียรธรรมหลังใหม่นี้ อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และยังใช้เป็นที่เก็บหนังสือพระไตรปิฎกฉบับหลวงมาจนถึงปัจจุบัน 
 
 
 
ในพ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระราชมรดกที่ได้รับมาจากพระราชชนก สร้างหอพระสมุดแห่งใหม่ขึ้น เพื่อรวบรวมหนังสือไทย-เทศ ที่พิมพ์ในสมัยนั้น พระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ” ตามสมณนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช
 
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งหอสมุดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นที่รวบรวมหนังสือต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระราชทานนามว่า “หอสมุดศาสนสังคหะ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระชนกนาถในอภิลักขิตสมัย พระชนมพรรษาครบ ๑๐๐ ปี
 
หอสมุดทั้งสามนี้เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน จนกระทั่งในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้ง “หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” ขึ้น  โดยโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอสมุดศาสนสังคหะ เข้าเป็นหอเดียวกัน ทรงมุ่งหมายที่จะให้เป็นหอสมุดสาธารณะ หรือเป็นหอสมุดแห่งชาติ แต่หอสมุดนี้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่ตึกด้านประตูพิมานไชยศรีที่เรียกกันว่า  “หอคองคอเดีย”  หรือ “ศาลาสหทัยสมาคม” ไม่สะดวกที่ประชาชนจะเข้าไปค้นคว้าแสวงหาคว ามรู้ แต่ตลอดรัชกาลที่ ๕ ก็ยังหาที่เหมาะสมกว่าไม่ได้
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริว่าตึกใหญ่ริมถนนติดวัดมหาธาตุด้านสนามหลวง ซึ่งเรียกกันว่า “ตึกถาวรวัตถุ” นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แต่ค้างคามานาน ถ้าสร้างให้เสร็จก็จะเป็นสถานที่ร าชการสง่างามแก่พระนคร ทรงระลึกถึงหอสมุดสำหรับพระนครที่ยังหาสถานที่อาคารอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างต่อจนเสร็จพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของหอสมุดสำหรับพระนครต่อไป และได้ฤกษ์เปิดในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙
 
เมื่อหอสมุดสำหรับพระนครย้ายมาสถานที่ใหม่นี้ มีหนังสืออยู่ไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ เล่ม  ครั้นเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงดำรงตำแหน่งนายกหอสมุดสำหรับพระนคร จึงทรงปรับปรุง  โดยหาบรรณารักษ์ชาวต่างประเทศมาประจำ ทรงรวบรวมศิลาจารึก หนังสือโบราณ สมุดข่อย ตลอดจนทรงสั่งหนังสือต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนมีหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น  ๖๗๔,๖๖๔ เล่ม
 
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานหนังสือส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๖ ทั้งหมดให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดออกเป็น ๒ หอ คือ แยกหนังสือตัวเขียนหรือสมุดไทย หนังสือจารในใบลาน ศิลาจารึก ไปเก็บไว้ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หอสมุดเดิมเก็บรวบรวมเฉพาะหนังสือที่ตีพิมพ์เท่านั้น และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า “หอสมุดวชิราวุธ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
 
แต่เดิมหอสมุดสำหรับพระนครสังกัดกระทรวงธรรมการ ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๙  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสถาปนา “ราชบัณฑิตยสภา”  ขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้หอสมุดสำหรับพระนครเป็นส่วนหนึ่งของราชบัณฑิตยสภา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๗  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หอสมุ ดสำหรับพระนครจึงได้ชื่อใหม่ว่า  “หอสมุดแห่งชาติ”
 
ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ รัฐบาลได้ปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงธรรมการใหม่  โดยมีหอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยงานสังกัดกองวรรณคดีถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงมีพระราชกฤษฎีกา ตั้งกองหอสมุดแห่งชาติขึ้น สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ย้ายมาสร้างอาคารใหม่ที่บริเวณท่าวาสุกรี ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม
 
 ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับสำนัก สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.