เริ่มกิจการไปรษณีย์และโทรเลข

 
การสื่อสารในสมัยโบราณ เมื่อจะส่งข่าวสารไปทางไกลก็จะเขียนหนังสือให้ “คนเร็ว” ถือไป จะเดิน หรือขี่ม้า ขี่ช้าง ลงเรือไปก็แล้วแต่กรณี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบรมวงศานุวงศ์ราว ๑๑ พระองค์ได้ทรงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Court และชื่อภาษาไทยว่า ข่าวราชการ จึงได้เริ่มมีคนส่งหนังสือคือ โปสต์แมน และมี “แสตมป์” ปิดจดหมายและหนังสือพิมพ์ขึ้น แต่แล้วก็เลิกไปเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๙
 

ตัวอย่างไปรษณียบัตรสมัย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 

เครื่องส่งโทรเลขระบบกระแสไฟสองทาง (Duplex System) 
รุ่นแรกๆ ที่ใช้รับส่งโทรเลขด้วยสัญญาณมอร์ส
  
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการไปรษณีย์มาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้นเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง เดิมเป็นของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) เพิ่งรื้อเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อทำสะพานพระปกเกล้าคู่กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า
 

บุรุษไปรษณีย์ไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในชุด
เครื่องแบบเสื้อราชปะแตนนุ่งผ้าโจงกระเบน
 
และใน พ.ศ. ๒๔๒๖ นี้ก็ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นด้วย (งานโทรเลขในประเทศไทย เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๘ สังกัดกรมกลาโหม) ได้เริ่มสร้างสายโดยใช้ลวดเหล็กอาบสังกะสี สายแรกที่สร้าง คือ สายบูรพา เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ จนถึงคลองกำปงปลักในจังหวัดพระตะบอง และต่อกับสายโทรเลขอินโดจีนเชื่อมโยงกับไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ ได้เปิดให้ประชาชนใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ และรวมเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑