โรงเรียนราษฎร์แห่งแรก

โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัลกาลที่ ๔  เมื่อมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ซื้อที่ดิน ๒ แปลง คือ ที่หลังวัดแจ้ง ตำบลกุฎีจีน กับตำบลสำเหร่ ซึ่งเป็นย่านฝรั่งในยุคนั้น และตั้งโรงเรียนขึ้นที่ตำบลกุฎีจีน อันเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน เปิดสอนวันแรกในวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยจ้างเด็กลูกจีนมาเรียนได้ ๘ คน ใช้ซินแสชาวจีนเป็นผู้สอน ต่อมาอีก ๔ ปี จึงมีเด็กไทยกลุ่มแรกมาสมัครเรียน
 
ร.ร. กรุงเทพคริสเตียนในปัจจุบัน
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ คณะมิชชันนารีเห็นว่ากิจการของโรงเรียนก้าวหน้าไปด้วยดี จึงย้ายมาซื้อที่แห่งใหม่ที่ถนนประมวญ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ ๕ พระราชทานเงินสมทบทุน ๒๐ ชั่ง และให้ชื่อโรงเรียนว่า “กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล”  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๘  จึงเปลี่ยนจาก ไฮสกูล เป็น คอลเลจ  ชื่อของโรงเรียนจึงเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย”  หรือ  “BANGKOK CHRISTIAN  COLLEGE”  (BCC) และได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลในปี พ.ศ. ๒๔๖๓  สมัยรัชกาลที่ ๖
 
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย   สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย บนเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ประกอบไปด้วยหอธรรม อาคารอารีย์ เสมประสาท อาคารสิรินาถ อาคารบีซีซี ๑๕๐ ปี สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอล  เปิดการเรียนการสอน  ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑  ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
 
ในพระราชวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน วิทยาลัย ได้สร้างอาคารศูนย์วิทยบริการซึ่งเป็นอาคารสูง ๑๖ ชั้น อันเป็นอาคารที่มีความทันสมัยทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานนามอาคารนี้ว่า  “อาคารสิรินาถ”