แรกมีมหาวิทยาลัย

  • Print
ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยขึ้นและพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เริ่มมาจากสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง  “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน”  ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่จบจากโรงเรียนนี้จะได้รับการถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมต่างๆ ต่อไป ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนนามเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก”
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ทรงมีพระราชดำริที่จะผลิตข้าราชการไปรับราชการในกระทรวงอื่นๆ อีก  ไม่เฉพาะแต่กระทรวงมหาดไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓  ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น   “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยใช้เงินที่เหลือมาจากเงินที่ราษฎรบริจาคสร้างพระบรมรูปทรงม้า  มาเป็นทุนของโรงเรียน สถานที่ตั้ง คือ วังวินด์เซอร์ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อน (บริเวณสนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน) โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่ ๑,๓๐๙  ไร่เป็นเขตโรงเรียน  และแบ่งการศึกษาเป็น ๕ โรงเรียนย่อย คือ 
 
๑. โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ 
๒. โรงเรียนคุรุศึกษา
๓. โรงเรียนแพทยาลัย
๔. โรงเรียนเนติศึกษา
๕. โรงเรียนยันตรศึกษา
 
ซึ่งทั้ง ๕ โรงเรียนนี้  เปรียบเสมือนเป็น ๕ คณะเช่นในปัจจุบัน 
 
จุฬาลงกรณ์ในอดีต
 
ต่อมาทรงพระราชดำริขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ นี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะผู้ที่มุ่งรับราชการเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะศึกษาชั้นสูงทั่วไปก็เข้าศึกษาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทางมหวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
 
ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงพระราชนิพนธ์เพลงพระราชทานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๑
 
ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงนำต้นจามจุรี ๕ ต้นจากวังไกลกังวล มาพระราชทานให้จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง พร้อมมีพระราชดำรัสว่า “ขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล” ซึ่งต้นจามจุรีมีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ  มาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยา
 
ศาสตราจารย์  ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  ได้เสนอว่า ชื่อของมหาวิทยาลัย คือ พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งมีพระราชสมภพในวันอังคาร และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ จึงควรอัญเชิญสีประจำพระองค์มาเป็นสีประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัยเพื่อเป็นสิริมงคล.