แรกบรรเลงเพลงชาติปัจจุบัน

ใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕  ตอนคณะราษฎรคบคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายเรือเอกหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) หนึ่งในคณะผู้ก่อการสายทหารเรือ ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติวาทยกร) ปลัดกองดนตรีฝรั่งหลวง ได้ขอร้องให้พระเจนช่วยแต่งเพลงชาติให้ใหม่ มีทำนองปลุกเร้าใจอย่างเพลง  “ลา มาร์เซเยล์” เพลงชาติของฝรั่งเศส
 
คำขอร้องของเพื่อนนี้ทำให้พระเจนดุริยางค์รู้สึกหนาวขึ้นมาทันทีเพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ชาวฝรั่งเศสร้องขณะเดินขบวนเข้าทำลายคุกบาสติลล์ ในการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ของฝรั่งเศส ขืนแต่งอาจหัวขาดได้ง่ายๆ ซึ่งพระเจนฯ ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวว่า
 
“...ข้าพเจ้าตอบไปว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่า  “สรรเสริญพระบารมี”  ของเรามีอยู่แล้ว แต่เขาไม่ยอม จะให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นใหม่ให้จงได้...
พระเจนดุริยางค์
 
...ข้าพเจ้าประวิงเวลาเรื่อยมา จงถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕  เพลงชาติที่เพื่อนทหารเรือของข้าพเจ้าต้องการก็ยังไม่อุบัติขึ้น
 
...หลังการปฏิวัติ ๕ วัน  เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นผู้ร่วมก่อการคนหนึ่งได้มาหาข้าพเจ้าที่สวนมิสกวัน แสดงความเสียใจที่มิได้เพลงชาติไปร้องในวันปฏิวัติ  จึงขอให้แต่งโดยด่วน การเมืองมาในรูปแบบนี้ข้าพเจ้าปฏิเสธไม่ได้ จึงขอเวลา ๗ วัน  และขอให้เขาปิดนามผู้แต่งด้วย
 
ระหว่าง ๗ วันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกกระวนกระวายเป็นอย่างยิ่ง เพลงจึงคิดไม่ออกเพราะสมองหงุดหงิด
 
เมื่อครบ ๗ วัน เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าออกจากบ้านขึ้นรถรางประจำสายสุริวงศ์  มาเปลี่ยนรถที่สี่แยก เอสเอบี. เพื่อต่อสายใบพร สี่เสาเทเวศร์
 
ขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่บนรถรางชั้น ๑ ทำนองเพลงก็บังเอิญปรากฏขึ้นมาในสมองข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน
 
ข้าพเจ้าลงมาจากรถ เมื่อถึงสวนมิสกวัน เข้าไปจดทำนองเพลงและทำสกอร์ทันที”
 
เมื่อทำนองเพลงชาติของพระเจนฯ มาถึงมือคณะราษฎร  จึงถูกนำไปบรรเลงในพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นรัฐสภาทันที แต่ที่พระเจนฯ ขอร้องไว้ไม่ให้เปิดเผยชื่อผู้แต่งไม่เป็นผล เพราะในวันรุ่งขึ้น นสพ.ศรีกรุงได้ลงข่าวชมเชยว่าไพเราะเหมาะสมจะใช้เป็นเพลงชาติพร้อมทั้งเปิดเผยชื่อผู้ประพันธ์เพลงด้วย
 
พระเจนฯ นั่งอ่านข่าวมาในรถรางก็หนาวขึ้นมาอีก และก็เป็นไปตามที่วิตก พอถึงที่ทำงานก็มีโทรศัพท์มาจากกระทรวงวังต้นสังกัด เรียกให้ไปรายงานตัว
 
ท่านเสนาบดีทำเอาพระเจนฯ หนาวสั่น เมื่อท่านถามว่า
 
“รู้หรือไม่...พระเจ้าแผ่นดินของเรายังอยู่”
 
ต่อมาในเดือนตุลาคม พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับชะตากรรมที่คาดว่าต้องมาจากการแต่งเพลงชาติ ถูกปลดออกจากราชการให้เป็นข้าราชการบำนาญ ด้วยเหตุผลว่ารับราชการมาครบ ๓๐ ปี ทั้งๆ ที่พระเจนฯ เพิ่งมีอายุ ๔๙ ปี มีเงินเดือน ๕๐๐ บาท
 
ผู้แต่งคำร้องเพลงชาติในทำนองของพระเจนดุริยางค์ ก็คือขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่ก็ถูกโจมตีใส่ไคล้กันอีก คณะราษฎรเลยตัดปัญหาโดยเปิดประกวดเนื้องร้องขึ้นใหม่  ผู้ชนะในครั้งนี้คือ นายฉันท์ ขำวิไล แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเนื้อเก่า บางครั้งก็เปิดต่อกันไปเลย จนคนฟังง่วง
 
ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นวันชาติ ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” เนื้อร้องเพลงชาติที่มีคำว่าสยามอยู่ด้ว ยจึงจำต้องเปลี่ยนใหม่ โดยยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ตามเดิม และได้เปิดการประกวดขึ้น คณะรัฐมนตรีชี้ขาดให้ใช้เนื้อร้องที่ส่งมาในนามกองทัพบก ซึ่งแต่งโดยพันเอกหลวงสารานุพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นต้นมา ซึ่งก็คือเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
หลวงสารานุประพันธ์ได้เล่าเบื้องหลังในการแต่งเพลงชาติไว้ว่า
 
“กว่าจะคิดคำร้องเสร็จ ต้องครุ่นคิดอยู่หลายคืน แต่งไว้ ๕ บทไม่ถูกใจเลย เมื่อนำไปให้คุณพระเจนดุริยางค์ตรวจ ท่านก็ไม่ชอบ หมดแรงแทบ จะวางปากกา ในที่สุดฉุกคิดได้ว่า เป็นชายชาติไทยไฉนจะยอมแพ้
 
ฮึดแก้อีกเป็นครั้งที่ ๕ จนหลายเที่ยวก็ยังยิ้มไม่ออก ปรับปรุงไปมา จนที่สุดทำร่างครั้งที่ ๖ ส่งเข้าประกวด”
 
คุณหลวงปลาบปลื้มมากที่เป็นผู้ชนะ ภูมิใจว่าเป็นผู้แต่งเพลงชาติ ท่านกล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า
 
“ฉันได้สั่งเสียบุตรธิดาของฉัน ในภายภาคหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียณอายุลาโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาสะขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้มาเปิดให้ฟังจนได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจอันไม่มีเวลาเสื่อมคลายจนสิ้นลมปราณ.”