การเสียดินแดนของไทย

 
เมื่อดูแผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จะเห็นว่า ดินแดนไทยกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ายุคใดๆ ในประวัติศาสตร์ชาติไทยทีเดียว ทางใต้เราได้หัวเมืองมลายู มีไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปรัก (ตามเอกสารเขียนกันอยู่สามอย่าง เปรัค ตามที่ฝรั่งเขียน Perak ก็มี เขียนเประ และเปห์ระก็มี คำนี้แปลว่าเงิน) ทางทิศตะวันตกได้ตะนาวศรี  มะริด และทวาย ทางทิศเหนือ มีเมืองลื้อ  เมืองเขิน เมืองยอง เมืองเชียงตุง เชียงรุ้งในแคว้นสิบสองปันนา  ตลอดไปจนติดต่อกับจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้นครหลวงพระบาง แคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก ตลอดลงมาถึงนครเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์ ได้เขมรและเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) แต่แล้วดินแดนเหล่านี้ก็ได้หลุดลอยไปด้วยเหตุผลต่างๆ หลายครั้งหลายครา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
 
๑. เสียเกาะหมากหรือเกาะปีนัง (ส่วนหนึ่งของไทรบุรี) ให้แก่อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคมพ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชกาลที่ ๑ 
 
๒. เสียเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี ให้แก่พม่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๓๖ ในรัชกาลที่ ๑
 
๓. เสียดินแดนทางเหนือ คือ แสนหวี เชียงตุง และเมืองพงให้แก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ในรัชกาลที่ ๓ เพราะดูแลไม่ถึง
 
๔. เสียสิบสองปันนา เมืองเชียงรุ้ง ให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ในรัชกาลที่ ๔
 
๕. เสียแคว้นเขมรและเกาะอีกหกเกาะให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ ในรัชกาลที่ ๔
 
๖. เสียแคว้นสิบสองจุไทย (เมืองไล เมืองเชียงค้อ) ให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ในรัชกาลที่ ๕
 
แผนที่แสดงความเปลี่ยนแปลงแห่งพระราชอาณาเขตสยาม 
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ (จากหนังสือสยามรัฐพิพิธภัณฑ์) 
 
๗. เสียดินแดนที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ ประเทศลาวให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ในรัชกาลที่ ๕ และยังต้องเสียเงินค่าปรับอีก ๒ ล้านฟรังก์  และฝรั่งเศสยังส่งทหารมายึดจันทบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖   และถอนออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้มี การทำพิธีตั้งเสาธงใหม่สูง ๑๓ วา บนกลางป้อม และมีพิธีสงฆ์ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ เมื่อทหารฝรั่งเศสถอนจากเมืองจันทบุรี (กว่าจะออกไปหมดก็ยืดเยื้อถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘) แล้วก็เข้าปกครองเมืองตราดและเกาะต่างๆ ภายหลังรัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนดินแดนกันขึ้นอีกฉบับหนึ่งคือ รัฐบาลสยามยอมยกมณฑลบูรพาให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสคืนจังหวัดตราดกับเกาะต่างๆ ให้แก่สยาม ได้ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
 
๘. เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองมโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศสตามหนังสือสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ ในรัชกาลที่ ๕
 
๙. เสียเมืองศรีโสภณ เสียมราฐ และพระตะบอง ให้แก่ฝรั่งเศสตามหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนจังหวัดตราด เกาะกง ด่านซ้าย และให้อำนาจทางการศาลแก่ไทย
 
๑๐. เสียหัวเมืองประเทศราชมลายู คือ กลันตัน ไทรบุรี ปะลิสและตรังกานู ให้แก่อังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีผลบังคับให้ใช้ได้ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เพื่อแลกกับอำนาจศาลไทย
 
๑๑. ในรัชกาลปัจจุบัน ไทยต้องเสียเขาพระวิหารให้แก่เขมร  ตามคำพิพากษาของศาลโลก   เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ทั้งๆ ที่เขาพระวิหารอยู่ในเขตไทย
 
การที่ไทยต้องเสียดินแดนเหล่านี้ไป ส่วนใหญ่เป็นเพราะอิทธิพลของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมในสมัยนั้น ซึ่งได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชาติตะวันออกทั้งหมดเป็นเมืองขึ้นของตนไทยเราไม่มีกำลังมากพอที่จะรักษาดินแดนหัวเมืองประเทศราชโดยรอบ จึงจำเป็น ต้องเสียสละดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ของชาติเอาไว้ ทำให้ชาติไทยเรายังคงดำรงเอกราชมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้.