แรกมีถนน

 
หลายคนยังคิดว่า  “ถนนเจริญกรุง” ที่ฝรั่งเรียกว่า “New Road” ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๔  แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นถนนสายแรกในสยาม แต่ความจริงมีถนนสายหนึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ แล้ว
 
แรกมีถนน
 
ทั้งนี้กงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศขอร้องว่าเรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยวและน้ำยังเชี่ยวมากในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะขนส่งสินค้าได้สะ ดวกรวดเร็วขึ้นมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นแม่กอง ขุดคลองแยกจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง แล้วนำดินขึ้นมาถมด้านเหนือของคลองเป็นถนนคู่ขนาดกันไปเรียกกันว่า  “คลองตรง” และ “ถนนตรง” แต่เมื่ออุตส่าห์ขุดให้จนแล้วเสร็จ ห้าง ร้านชาวยุโรปก็ไม่ได้ย้ายลงไปตามที่ขอ อ้างอีกว่าไกล คลองและถนนตรงนี้ ชาวบ้านเรียกว่า  “คลองหัวลำโพง” และ  “ถนนหัวลำโพง”
 
ต่อมาวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานชื่อใหม่ให้ถนนหัวลำโพงว่า “ถนนพระราม ๔” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนนี้
 
ส่วนถนนเจริญกรุงก็สร้างตามคำขอของฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ อีกเหมือนกัน เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสำหรับขี่รถม้าหรือนั่งรถม้าตาก อากาศ อ้างเหตุผลว่า  “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี้รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนื่องๆ” รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กอง ร่วมกับพระยาอินทราธิบดีสีหราช รองเมือง เป็นนายงาน สร้างถนนตั้งแต่คูเมืองชั้นใน ไปจนตกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม โดยมี นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ “อดีตอุปทูตอังก ฤษ ผู้หันมารับราชการไทย และเป็นต้นตระกูล “เศวตศิลา” เป็นผู้สำรวจและวางแนวถนน  เป็นถนนสายแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก เอาอิฐเรียงตะแคงปู ให้ตรงกลางนูนไม่เป็นที่ขังของน้ำฝน
 
เมื่อสร้างเสร็จยังไม่มีชื่อ ก็เรียกกันว่า  “ถนนใหม่” ส่วนช่วงปลายที่บางคอแหลมก็เรียกว่า “ถนนตก”  ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อ “ถนนบำรุงเมือง” และ “ถนนเฟื่องนคร” ที่โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน.