แรกมีศาสนาคริสต์ในสยาม

  • Print

โปรตุเกส เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกในย่านตะวันออก และทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๐๖๐ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จากนั้นก็เข้ามาค้าขายอยู่ในเมืองไทย 

ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีชาวโปรตุเกสนำปืนไฟมาเป็นทหารอาสาสงครามไทย-พม่าครั้งแรกที่เมืองเชียงกรานใน พ.ศ. ๒๐๘๑ แต่ในครั้งนั้นก็มีทหารโปรตุเกสถือปืนไฟมาในกองทัพพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ด้วยเช่นกัน
 
ด้วยความดีความชอบครั้งนี้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ดินตำบลบ้านดิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองตะเคียนให้พวกโปรตุเกสตั้งบ้านเรือนอาศัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อประกอบศาสนกิจได้ ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า “หมู่บ้านโปรตุเกส” ในปัจจุบัน
 
โบสถ์โปรตุเกสแห่งนี้ จึงถือได้ว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ลงรากปักฐานเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
 
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราว พ.ศ.๒๑๔๑ ฮอลันดาได้เข้ามาและในราวพ.ศ ๒๑๕๕ อังกฤษก็มาถึงทั้งฮอลันดาและอังกฤษนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่ตั้งขึ้นใหม่ และเป็นอริกับนิกายคาทอลิกในยุโรป ฮอลันดาและอังกฤษจึงร่วมกันชิงบ้านเมืองและธุรกิจของโปรตุเกสในภาคตะวันออกจนโปรตุเกสอ่อนกำลังลง
 
ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ฮอลันดาได้เข้าเป็นทหารอาสา มีความดีความชอบได้รับพระราชทานที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะ วันออก ใกล้ปากน้ำแม่เบี้ย ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าพวกฮอลันดาได้สร้างโบสถ์ขึ้น
 
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระสันตะปาปาได้ออกคำสั่งไปยังพระสังฆราชในฝรั่งเศส ให้มาเผยแผ่ศาสนาในตะวันออก และกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๒๐๕ ซึ่งบาทหลวงปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตหนึ่งในกลุ่มนี้ได้เขียนรายงานไปยังพระสังฆราชว่า
 
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าในโลกนี้จะหาเมืองไหนที่จะมีศาสนามากอย่าง และที่อนุญาตให้ปฏิบัติตามศาสนานั้นๆ ได้ เท่ากับเมืองไทยเห็นจะหาไม่ได้แล้ว พวกที่ไม่ได้ถือศาสนาคริสเตียนก็ดี พวกเข้ารีตก็ดี พวกมหะหมัดก็ดี ซึ่งแยกกันออกเป็นคณะเป็นหมู่ ก็ปฏิบัติการศาสนาตามลัทธิของตัวเองได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อห้ามปรามกีดขวางอย่างใดเลย พวกชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น มอญ เขมร แขกมะละกา ญวน จาม และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ ก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองไทย พวกเข้ารีตลัทธิคาทอลิกมีอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐คน คนเหล่านี้โดยมากเป็นชาวโปรตุเกสซึ่งได้ถูกไล่มาจากอินเดีย จึงได้หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่บ้านหนึ่งต่างหาก พวกโปรตุเกสเข้ารีตเหล่านี้ มีวัดเข้ารีตอยู่ ๒ วัด ๑ วัดนั้นอยู่ในความปกครองของบาทหลวงคณะเยซุอิต อีกวัด ๑ นั้นอยู่ในความดูแลของบาทหลวงคณะเซนต์โดมีนิก บาทหลวงทั้ง ๒ คณะนี้  และพวกเข้ารีตทั้งหลาย ก็ปฏิบัติการศาสนาได้ทุกอย่างดุจอยู่ในเมืองโกอาเหมือนกัน”
 
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นี้ บาทหลวงฝรั่งเศสมีบทบาททางการเมืองและการทูตของไทยมาก  นอกจากลงรากปักฐานนิกายโรมันคาทอลิกอย่างมั่นคงในเมืองไทยแล้ว ยังมีความพยายามอย่างยิ่งยวดจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่จะเปลี่ยนศาสนาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ได้แต่พระองค์ก็ทรงยึดมั่นในศาสนาของบรรพชน และไม่ทรงเห็นเหตุผลที่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น
 
 
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ศาสนาคริสต์ได้รับอนุญาตให้เผยแผ่ศาสนาได้ทั่วพระราชอาณาจักร   แม้จะชะงักไประยะหนึ่งในช่วงที่สมเด็จพระเพทราชาและพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ แต่ต่อมาเมืองไทยก็เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ในย่านอินโดจีน
 
ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์มีหลักฐานปรากฏชัดการเข้ามาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยคณะมิชชันนารีของฮอลันดา ได้ส่งศาสนาจารย์เฟร ดริค ออกัสตัส กุตสลาฟ ชาวเยอรมัน กับคณะมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ เข้ามาในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ต่อมาในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ ศาสนาจารย์คนสำคัญจากอเมริกันบอร์ดฯ เข้ามาถึงเมืองไทย คือนายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ หรือที่คนไทยยุคนั้นเรียกกันว่า “หมอปลัดเล”