เสรีภาพทางศาสนา

ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมมือกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นพุทธมามกะ แต่แทบทุกพระองค์ก็มิได้ทรงกีดกันศาสนาอื่นเลย ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง อุปถัมภ์ศาสนาอื่นในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกตามสมควรด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีขันติธรรมทางศาสนาอย่างยิ่ง ถึงกับให้มิชชันนารีอเมริกันเข้าไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาในวัดบวรนิเวศวิหารได้ พระองค์ทรงประกาศให้เสรีภาพแก่ราษฎรในการนับถือศาสนา พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามลัทธิธรรมเนียมของตนได้โดยเสรี และทรงอุปถัมภ์บำรุงทั้งพระญวน พระจีนที่นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานด้วย มิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์แต่ประการใดและเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงละคร
เรื่องกุศโลบาย เป็นคาร์ดินัล คาสาโน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างมัสยิดอิสลาม และพระราชทานที่ดินติดต่อกับมัสยิดนั้น เพื่อเป็นที่สร้างโรงเรียนสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่นักสอนคริสต์ศาสนาทั้งโปรเตสแตนต์และคาทอลิก เพื่อสร้างและบำรุงอุดหนุนการจัดตั้งโรงเรียนและพระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ของสภาคริสตจักรริมถนนสาทร พระราชทานเงินอุดหนุนแก่โรงพยาบาลของคณะมิชชันนารีหลายแห่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ราษฎร เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆหนังสือพิมพ์ดีทรอย์ในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการศาสนาในเมืองไทยตอนหนึ่งว่า “ในประเทศสยามมีการให้เสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง นักสอนศาสนาชาวต่างประเทศได้รับความคุ้มครองและได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร” การให้เสรีภาพทางศาสนาของไทยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองของนักล่าอาณานิคมเป็นอย่างมากในสมัยนั้น

ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ รอยอดีต หน้า ๖๘-๖๙