สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระราชดำริว่า “เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก โดยเป็นที่แหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครข้างฝั่งตะวันออก แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกนั้นเสียแต่เป็นที่ลุ่ม เจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชมณเฑียรสถานเล่าก็ตั้งอยู่ในอุปจาร ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ”
 
การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสั่งให้ย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตก  ข้ามฟากมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกในทันทีที่ได้ราชสมบัตินั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คงจะไม่ได้ทรงพระราชดำริอย่างปัจจุบันทันด่วนเป็นแน่ คงจะได้เป็นปัญหาคิดแก้กันมาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะไม่เห็นชอบด้วย หรือคงจะผัดผ่อนหาโอกาสที่จะย้าย การจึงได้ค้างอยู่ และเมื่อคิดจะย้ายเมืองหลวงก็คงจะได้ทำการสำรวจชัยภูมิกันไว้บ้างแล้ว ฉะนั้นเมื่อสิ้นบุญพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้สั่งย้ายพระนครได้ทันที นี่แสดงว่าแผนการย้ายจะต้องมีอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นเลยจะย้ายกะทันหันได้ 
 
การสร้างพระนครใหม่ไม่ได้ทำคราวเดียวสำเร็จ เพราะในระหว่างนั้นบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ดังจะเห็นได้ว่าในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าก็ยกทัพมาทุกทาง หากแต่ไทยไปสกัดตีทัพหลวงของพม่าแตกเสียก่อน ข้าศึกจึงมิได้เข้ามาถึงพระนคร การสร้างพระนครในครั้งนั้นจึงทำเป็นสองระยะ คือระยะเบื้องต้นคงรักษากรุงธนบุรีเดิมเป็นที่มั่น เป็นแต่ย้ายพระราชวังกับสถานที่ต่างๆในรัฐบาลมาตั้งในกรุงธนบุรีทางฟากตะวันออก ต่อมาในระยะที่ ๒ จึงได้ขุดคูขยายเขตพระนครออกไปทางตะวันออกแต่ฝั่งเดียว แล้วรื้อกำแพงกรุงธนบุรีทางฟากตะวันตกเสีย คงรักษาแต่ที่ริมแม่น้ำเป็นเขื่อนหน้าพระนครที่สร้างใหม่
 
แผนที่เมืองบางกอกทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ โดย 
เดอ ลาลู แบร์ แนวสี่เหลี่ยมด้านซ้ายคือกำแพง
เมืองธนบุรี แม่น้ำกลางภาพคือแม่น้ำเจ้าพระยา
 
การสร้างเมืองใหม่หรือพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น  คงจะทำอย่างเร่งด่วนจริงๆ  เพราะหลังจาก เปลี่ยนแผ่นดินในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วก็ได้ดำรัสส่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นเป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออกในที่ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน การขนย้ายต้องทำกันอย่างกะทันหัน แต่เข้าใจว่าจะไม่ยาก เพราะบ้านเรือนในครั้งนั้นคงเป็นแบบโรงเรียนชนิดมุงจากมากกว่าอื่นเพียง ไม่กี่วันก็คงจะอพยพย้ายไปอยู่สำเพ็งและในบริเวณใกล้เคียงได้หมด เพราะในวันที่ ๒๑ เมษายนนั้นเองก็ได้ทำพิธียกหลักเมือง และในระหว่างนั้นก็คงจะเกลี่ยพื้นที่เตรียมสร้างที่ประทับ
 
ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ได้เริ่มจับการตั้งพระราชวังใหม่เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๒๕  แต่ยังมิทันก่อกำแพงเพียงแต่ล้อมด้วยระเนียดเท่านั้น ใช้เวลาก่อสร้าง  เดือนเศษ พระราชนิเวศมณเฑียรสถานชั่วคราวก็แล้วเสร็จ เพราะทำด้วยเครื่องไม้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป เริ่มแต่วันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ครั้นถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน ศกเดียวกันเวลา ๖ นาฬิกา ๒๔ นาที พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ข้ามฟากจากพระราชวังกรุงธนบุรีมาประทับ ณพระราชมณเฑียรสถานประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 
สิ่งสำคัญที่โปรดให้สร้างพร้อมกับสร้างพระนครก็คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้สร้างอยู่ ๒ ปี จึงได้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแห่จากวัดอรุณราชวรารามมาประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ (วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗) แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้นและได้พระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
 
ในระหว่างที่สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเอง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทขึ้น และทำพิ ธียกยอดพระมหาปราสาทเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๒๗ 
 
เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ดังกล่าวข้างต้นนั้นกำแพงเมืองยังไม่ได้สร้างครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๖ จึงได้โปรดให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง แล้วเกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น เมื่อเตรียมอิฐปูนพร้อมแล้วจึงโปรดให้เกณฑ์ ลาวเมืองเวียงจันทน์ ๕,๐๐๐ และมีตราให้หาผู้ว่าราชการหัวเมือง ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตกเข้ามาพร้อมกันในกรุง แล้วให้ปักปันหน้าที่ทั้งข้าราชการในกรุงและหัวเมืองให้ช่วยคุมไพร่ ช่วยกันขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครและสร้างป้อมไว้เป็นระยะห่างกัน ๑๐ เส้นบ้าง ไม่ถึง ๑๐ เส้นบ้าง
 
แผนที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ แสดงบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ คลองโอ่งอ่าง คลอง
 ผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค และถนนเจริญกรุงตัดใหม่  จากกำแพงพระนครถึงถนนตก
 
ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ การสร้างพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศสำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชดำริว่า เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๓๒๕ ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตามตำรา บัดนี้ได้ทรงสร้างพระนครและพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่แล้ว ควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี จึงโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
ครั้นเสร็จจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกๆอารามทั้งในกรุงและนอกกรุงขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกๆ ใบเสมา  เสมาละรูปรอบพระนคร พระราชทานเงินขอแรงให้ข้าราชการทำข้าว กระทงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งสิ้น แล้วให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยงยาจกวนิพกทั้งปวง แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์ตามวงกำแพงพระนคร ทิ้งทานต้นละชั่ง ๓ วัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้มีการมหรสพต่างๆ และมีละครผู้หญิงโรงใหญ่ เป็นการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยครบ ๓ วันเป็นกำหนด
 
ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวร รัตนโกสินทร มหินทรอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารวสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปลสร้อยที่ว่า บวรรัตนโกสินทร เป็นอมรรัตนโกสินทร นอกนั้นคงเดิม
 
                                                                                                             ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ รอยอดีต หน้า ๑๐ -๑๔