สนามบินแห่งแรกในสยาม

สนามม้าราชกรีฑาสโมสรที่ถนนอังรีดูนังต์ นับเป็นสนามบินแห่งแรกของไทย ในสมัยใช้เครื่องบินแบบปีก ๒ ชั้น เรียกกันว่า “สนามบินสระปทุม”ต่ก็ใช้อยู่ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากคับแคบและมีความไม่เหมาะสมหลายอย่าง จึงต้องหาสถานที่ใหม่ ที่กว้างขวางกว่า นายพันโท พระเฉลิมอากาศ หัวหน้านักบินชุดแรกของกองทัพบกที่ไปเรียนมาจากฝรั่งเศส ได้รับมอบหน้าที่นี้ 
 
หลังจากใช้เครื่องบินแบบเบรกต์บินสำรวจแล้ว ก็พบว่าพื้นที่ที่ตอนเหนือของ   อำเภอบางเขนเป็นบริเวณที่เหมาะสม เพราะเป็นท้องทุ่งกว้างขวาง และเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ห่างจากสนามบินสระปทุมเพียง ๑๓ นาทีบิน หรือประมาณ ๒๒ กิโลเมตร มีรถไฟผ่าน ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดอนอีเหยี่ยว” เนื่องจากมีเหยี่ยวชุกชุม กรมเกียกกายทหารบกจึงเข้าปรับปรุงพื้นที่ให้เครื่องบินขึ้นลงได้ เรียกชื่อว่า “สนามบินดอนเมือง” จนในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  จึงนำเครื่องบิน ๓ ลำ บินจากสนามสระปทุมมาลงเป็นครั้งแรก
 

ภาพเขียนสนามม้าใช้เป็นสนามบิน
 
ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหมได้ตั้ง “กองบินทหารบก” ขึ้น และเข้าประจำที่สนามบินดอนเมือง เป็นรากฐานอันมั่นคงในกิจการของไทย แม้ต่อมากองบินทหารบกจะพัฒนาเป็นกรมอากาศยานทหารบก กรมทหารอากาศ จนแยกจากกองทัพบกมาเป็นกองทัพอากาศแล้วก็ตาม ก็ยังถือเอาวันที่ ๒๗ มีนาคม เป็นวันที่ระลึกของกองทัพอากาศ
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ กองทัพอากาศได้จัดตั้ง “กองการบินพลเรือน” ขึ้น ดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ จนในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมการบินพลเรือน” พร้อมปรับปรุงสนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติ  มีชื่อว่า  “ท่าอากาศยานดอนเมือง” จนในวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ”
 
เมื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”  เปิดในวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สนามบินดอนเมืองก็ตกอยู่ในความเงียบเหงา เมื่อเที่ยวบินพาณิชย์ ย้ายไปสุวรรณภูมิทั้งหมด แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ครม.ก็มีมติให้เปิดบริการที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง เมื่อพบว่าสุวรรณภูมิมีปัญหาหลายประการ และกลับมาใช้ชื่อ “ท่าอากาศยานดอนเมือง”  อีก ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
 
ประวัติศาสตร์ ที่สำคัญของสนามบินดอนเมืองอีกเรื่องหนึ่ง   ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการบินเลย  แต่เกี่ยวกับการเมือง เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุญาตให้สำนักนายกรัฐมนตรีเข้าใช้พื้นที่เป็นที่ทำงานของคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑  ถึง วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพราะถูก “คนเสื้อเหลือง” ยึดทำเนียบ รัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคมในรัฐบาลนายสมัคร  สุนทรเวช  จนรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งจึงสลายการชุมนุมซึ่งทำให้นายสมชาติ วงศ์สวัสดิ์ได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสเข้าไปเหยียบทำเนียบรัฐบาลเลย.