วันนี้ในอดีต/เดือนสิงหาคม

  • Print
1 สิงหาคม พ.ศ.2445 : รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีไปปราบกบฎเงี้ยว
 
1 สิงหาคม พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกำลังไปปราบกบฎเงี้ยว ที่เมืองแพร่ ในมณฑลพายัพ ทั้งนี้ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นเทศาภิบาล ยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราช แล้วรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก เจ้าเมืองแพร่องค์เดิมคือ พระยาพิริยวิไชย จึงสูญเสียอำนาจไปเพราะอำนาจสิทธิ์ขาดตกเป็นของข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง อีกทั้งยังถูกตัดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานทั้งหลายรวมไปถึงชาวเมืองแพร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองแพร่นั้น เมื่อครั้งปฏิรูปการปกครองในปี 2442 พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ได้จัดการอย่างรุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ วันที่ 24 กรกฎาคม 2445 ชาว "เงี้ยว" (หรือชาวไทใหญ่ ชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในมณฑลพายัพมาช้านาน) ในเมืองแพร่นำโดย พะกาหม่อง และ สลาโปไชย พร้อมกำลังราว 40-50 นาย ได้ก่อความวุ่นวายขึ้น โดยบุกยึดสถานที่ราชการและปล้นเงินคลังของจังหวัด ตลอดจนปล่อยนักโทษในเรือนจำ ต่อมากำลังเพิ่มเป็นราว 300 นายเพราะชาวเมืองแพร่เข้ามาสนับสนุน สามารถยึดเมืองแพร่ได้ในวันที่ 25 กรกฎาคม จากนั้นก็ไปเชิญเจ้าเมืองแพร่องค์เดิมให้ปกครองบ้านเมืองต่อ และออกตามล่าข้าราชการคนนอกที่เข้ามาปกครองเมืองแพร่ สามารถจับตัวพระยาไชยบูรณ์ได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม และบังคับให้คืนเมืองแพร่ แต่พระยาไชยบูรณ์ปฏิเสธจึงถูกสำเร็จโทษพร้อมกับข้าราชการอีกหลายคน ความทราบถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพหลวงและกองทัพจากเมืองใกล้เคียงทำการปราบปรามพวกเงี้ยวได้อย่างราบคาบ โดยตั้งค่ายทัพที่บริเวณ "บ้านเด่นทัพชัย" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ตำบลเด่นชัย" ใน "อำเภอเด่นชัย" ปัจจุบัน เริ่มสอบสวนเอาความในวันที่ 20 สิงหาคม 2445 พบว่าเจ้าเมืองแพร่ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฎขึ้น แต่ครั้นจะจับกุมตัวสั่งประหารชีวิต ท่านก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางเหนือซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน จึงปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่ พระยาพิริยวิไชยจึงหลบหนีออกไป หลังหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย
1 สิงหาคม พ.ศ.2367 : รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
 
1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2367 พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ เจ้าจอมมารดาเรียม ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่างๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลายๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2393 สิริรวมพระชนมายุ 67 พรรษา ทรงครองราชย์นาน 27 ปี
1 สิงหาคม พ.ศ.2317 : โจเซฟ พริสต์ลีย์ ค้นพบธาตุออกซิเจน
 
1 สิงหาคม พ.ศ. 2317 โจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบธาตุออกซิเจน (oxygen : O2) ในอากาศ นับเป็นการค้นพบธาตุนี้เป็นครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) ช่วยตอกย้ำการค้นพบทั้งสองครั้งก่อนหน้านั้น โดยค้นพบธาตุชนิดนี้ในขณะที่กำลังทดลองเกี่ยวกับก๊าซต่างๆ เขาได้นำออกไซด์สีแดงของปรอทมาเผาให้สลายตัวแล้วเก็บก๊าซที่เกิดขึ้นเอาไว้ เขาพบว่าเมื่อนำสิ่งต่างๆ ที่ติดไฟได้มาใส่ในภาชนะที่มีก๊าซนี้อยู่จะติดไฟได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เขาเชื่อว่าก๊าซชนิดนี้จะต้องมีอยู่ในอากาศและจะต้องเป็นก๊าซที่จำเป็นในการหายใจของสิ่งมีชีวิตด้วย จากนั้นเขาได้นำหนูทดลองไปใส่ไว้ในครอบแก้วจนหมดสติ แล้วใส่ก๊าซที่เขาเตรียมได้เข้าไปปรากฏว่าหนูตัวนั้นกลับฟื้นขึ้นมา จากนั้นเขาได้ทดลองสูดก๊าซนี้เข้าไปจึงพบว่าก๊าซชนิดนี้ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น ตามประวัติศาสตร์ ธาตุออกซิเจนถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 โดย ไมเคิล เซนดิโวเกียส (Michael Sendivogius) นักเคมีและนักปรัชญาชาวโปแลนด์ ซึ่งได้บรรยายก๊าซที่เขาค้นพบไว้ว่าเป็น "สารหล่อเลี้ยงชีวิต" (the elixir of life) จากนั้นปี 2316 ธาตุชนิดนี้ก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดย คาร์ล เชเลอ (Carl Wilhelm Scheele) เภสัชกรชาวสวีเดน ส่วน อองตวน ลาวัวซีเอ (Antoine Lavoisier) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้วางรากฐานวิชาเคมีในปัจจุบันเองก็กำลังศึกษาทดลองธาตุชนิดนี้อยู่เหมือนกัน ปีต่อมาก็ออกซิเจนถูกค้นพบโดยพริสต์ลีย์ เขาเขียนรายงานการค้นพบก๊าซชนิดนี้ในวารสาร The Philosophical Transactions ในปี 2318 ส่วนเชเลอเผยแพร่การค้นพบในปี 2320 ดังนั้นทั้งพริสต์ลีย์ เชเลอร์รวมไปถึงลาวัวซีเอต่างก็อ้างว่าตนเป็นผู้ค้นพบ ส่วนชื่อ "ออกซิเจน" นั้นลาวัวซิเอเป็นผู้ตั้งจากรากศัพท์ภาษากรีกแปลว่า "ผู้สร้างกรด" (acid-former) เพราะเขาเข้าใจว่ากรดจะต้องมีออกซิเจนรวมอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ยังคงใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ออกซิเจนเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีสถานะเป็นก๊าซที่ไร้สีไร้กลิ่น เป็นธาตุที่มีมากเป็นอันดับที่ 2 ในโลก คือมากถึงร้อยละ 20.95 ของน้ำหนักของบรรยากาศ ประมาณร้อยละ 90 ของน้ำ และร้อยละ 50 ของเปลือกโลก เป็นธาตุที่จำเป็นในการหายใจของสัตว์ พืชสามารถสร้างออกซิเจนได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง

1 สิงหาคม พ.ศ.2484 : มีการผลิตรถจี๊ปขึ้นเป็นครั้งแรก
 
1 สิงหาคม พ.ศ. 2484 "รถจิป" (Jeep) ยานยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในตำนาน คันแรกถูกผลิตขึ้น เพื่อใช้เป็นยานยนต์อเนกประสงค์ในราชการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพเยอรมนีได้สร้างความเกรงขามด้วยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเป็นพาหนะ ดังนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น อเมริกาจึงพยายามสรรหาพาหนะเคลื่อนที่เร็วที่มีสมรรถนะดีกว่ามอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ในที่สุดจึงออกมามาเป็นรถจิป โดยชื่อ "จิป" (Jeep) สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "General Purpose (Vehicle)" เรียกย่อๆ ว่า "GP" ต่อมากร่อนเสียงเป็น "จิป" (Jeep) รถจิปคันแรกใช้ชื่อรุ่นว่า "Willys MB" ผลิตโดยบริษัท วิลลีส์ (Willys) และ ฟอร์ด (Ford Motor) ระหว่างปี 2484-2488 ขนาดยาว 333 ซม. กว้าง 157.5 ซม. น้ำหนักประมาณ 1 ตัน ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบขนาด 2,199 ซีซี. กำลัง 60 แรงม้า มี 4 เกียร์รวมเกียร์ถอยหลัง และเกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้ออีก 2 เกียร์ ผลิตทั้งหมดราว 650,000 คัน นับว่ารถยนต์รุ่นนี้ได้เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในสงคราม จากความแข็งแกร่งสามารถบุกตะลุยได้ดีในเส้นทางทุรกันดาร และผ่านการทดสอบจากสมรภูมิรบมาแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบรถจิปจึงถูกปรับปรุง พัฒนา ยานยนต์สำหรับประชาชนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในรหัสรุ่นว่า "CJ" ซึ่งย่อมาจาก "Civilian Jeep" จิปสำหรับพลเมืองรุ่นแรกคือ "CJ-2" ออกในปี 2487 ตามมาด้วย "CJ-2A", "CJ-3A", "CJ-4" จนถึง "CJ-10" ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายในรหัสนี้ ผลิตระหว่างปี 2524-2528 จากนั้นก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "Jeep Wrangler" ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา และยังคงผลิตมาถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้จิปยังผลิตรถชนิดอื่นๆ อีกด้วย ตั้งแต่รถตรวจการณ์หรูหราไปจนถึงรถกระบะและรถบรรทุก รถจิปได้กลายเป็นยานพาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ปัจจุบัน Jeep เป็นยี่ห้อรถยนต์ในเครือบริษัท Daimler-Chrysler ของเยรมนี-อเมริกา

2 สิงหาคม พ.ศ.2477 : อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นเป็นผู้นำของเยอรมนี
 
2 สิงหาคม พ.ศ. 2477 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ขึ้นเป็นผู้นำของเยอรมนี ฮิตเลอร์ขยับสถานะตนเองจากนายสิบในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามและต้องลงนามใน สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles) ซึ่งบังคับให้ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ถูกลดกำลังทหาร ประชาชนตกงาน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้เศรษฐกิจตกของประเทศตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ฮิตเลอร์เริ่มเรืองอำนาจเป็นหัวหน้าพรรคนาซี (NAZI) และเป็นผู้นำเยอรมนีในที่สุด ฮิตเลอร์จึงเริ่มสะสมอาวุธ สร้างกองกำลังทหาร ฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศครั้งใหญ่ จากนั้นก็เข้ายึดครองประเทศออสเตรียและเชกโกสโลวะเกีย และเคลื่อนทัพเข้าสู่โปแลนด์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2482 ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอมนี กลายเป็น สงครามโลกครั้งที่ 2 (2482-2488) จากนั้นฮิตเลอร์ได้นำกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะยึดครองยุโรปได้เกือบทั้งทวีป และใช้นโยบายด้านเชื้อชาติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปอย่างน้อย 11 ล้านคน เป็นชาวยิวประมาณ 6 ล้านคน ในช่วงท้ายของสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2488 ฮิตเลอร์จบชีวิตโดยการฆ่าตัวตายพร้อมภรรยา เอวา บราวน์ (Eva Braun) ในหลุมหลบภัยที่กรุงเบอร์ลินเพื่อหนีการถูกจับเป็นเชลย

2 สิงหาคม พ.ศ.2413 : ทาวเวอร์ ซับเวย์ รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการ
 
2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway) รถไฟใต้ดิน (Underground Tube Railway) สายแรกของโลก เปิดให้บริการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) มีสองสถานีคือ ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower hill) และ ไวน์ เลน (vine lane) รถไฟใต้ดินสายนี้ได้ชื่อมาจาก "หอคอยแห่งลอนดอน" (Tower of London) อุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead) ส่วนเปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow) และมีลูกชายของบาร์โลว์คือ ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์ (Peter W. Barlow Jr.) เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิกลึกประมาณ 18 เมตรใต้ผืนดิน ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ (cable car) ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที หลังจากเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือนก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคับแคบและไม่สะดวกของสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า ในที่สุด ทางการจึงปรับปรุงใหม่ นำลิฟท์มาแทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีผู้โดยสารกว่าสองหมื่นคนต่อสัปดาห์ ก่อนจะคลายความนิยมไปหลังจากมีการก่อสร้างสะพาน "ทาวเวอร์ บริดจ์" (Tower Bridge) ในปี 2437 เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินเหมือนรถไฟฟ้า ไม่นานก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานในปี 2441
2 สิงหาคม พ.ศ.2533 : วันเริ่มต้นของสงครามอ่าวเปอร์เซีย
 
2 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) เปิดฉากขึ้น เมื่อประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (Suddam Hussein) แห่งอิรักออกคำสั่งให้กองกำลังทหารประมาณ 122,000 นายพร้อมด้วยรถถังประมาณ 900 คันบุกยึดประเทศคูเวต (Kuwait) อย่างเงียบเชียบ เนื่องจากอิรักต้องการแหล่งน้ำมันของคูเวตและอ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก ซึ่งทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนมานาน จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์ประณามการรุกรานและประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิรัก พร้อมทั้งเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวตภายในวันที่ 15 มกราคม 2534 เมื่อครบกำหนดเส้นตาย จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกานำกองกำลังผสม 34 ชาติของสหประชาชาติ เปิดฉากโจมตีอิรักและคูเวตทางอากาศเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2534 กองกำลังพันธมิตรร่วมมือโจมตีอิรักอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธการ “พายุทะเลทราย” (Desert Storm) จากนั้นกองกำลังพันธมิตรได้เปิดฉากการโจมตีภาคพื้นดินต่ออิรักจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในวันที่ 12 เมษายน 2534 สงครามครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ฝ่ายอิรักเสียชีวิตประมาณ 200,000 ศพและบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ส่วนฝ่ายสหประชาชาติเสียชีวิตประมาณ 378 ศพและบาดเจ็บอีกประมาณ 1,000 คน
3 สิงหาคม พ.ศ.2035 : คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เริ่มออกเดินเรือเที่ยวแรกเพื่อค้นหาอินเดียและจีน
 
3 สิงหาคม พ.ศ. 2035 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวเจนัว (อิตาลี) เริ่มออกเดินเรือเที่ยวแรก เพื่อค้นหาอินเดียและจีน โดยมีลูกเรือ 90 คนกับเรือ 3 ลำได้แก่ "ซานตา มาเรีย" (Santa Maria), "พินตา" (Pinta) และ "ซาตา คลารา" (Santa Clara) โดยได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์สเปนคือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และ พระนางอิสซาเบลลา ที่ 1 (Isabella of Castile) ออกจากท่าเรือเมืองเปลูซ (Palos) ประเทศสเปน แล่นเรือไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค ไปถึง เกาะบาฮามา (The Bahamas) หมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันออกของอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2035 โดยที่โคลัมบัสคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา ฮิสปานิโอลา เปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด เวเนาซุเอลา และคอคอดปานามา โคลัมบัสเชื่อมาตลอดจนเสียชีวิตว่าเกาะบาฮามาที่เขาค้นพบนั้นคือทวีปเอเชีย แต่แท้จริงแล้วเป็นหมู่เกาะทางตะวันออกของทวีปอเมริกา ภายหลังจึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่โคลัมบัสมาถึงอเมริกาเป็น "วันโคลัมบัส" มีการเฉลิมฉลองกันในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตเคยเชื่อกันว่าโคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบอเมริกา แต่จริงๆ แล้ว เลฟ เอริคสัน (Leaf Erikson) ชาวไวกิ้งเคยเดินทางมาพบทวีปอเมริกาก่อนหน้านี้ และเคยมีนิคมชาวไวกิ้งทางตะวันออกของแคนาดาในศตวรรษที่ 11
3 สิงหาคม พ.ศ.2500 : มีการประกาศผลรางวัล ตุ๊กตาทอง เป็นครั้งแรก
 
3 สิงหาคม พ.ศ. 2500 มีการประกาศผล "รางวัลตุ๊กตาทอง" เป็นครั้งแรกที่เวทีลีลาศลุมพินีสถาน จัดโดยหอการค้ากรุงเทพฯ “ตุ๊กตาทอง” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานดีเด่นที่สุดในสาขาต่างๆ โดยเกิดจากการริเริ่มของ สงบ สวนสิริ หรือ "สันตศิริ" บรรณาธิการนิตยสาร "ตุ๊กตาทอง" โดยนักแสดงนำยอดเยี่ยมจะได้รับรางวัล "ละคอนรำ" เป็นตุ๊กตารูปนางละคอนรำ อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อรางวัลนี้ว่า "รางวัลตุ๊กตาทอง" ส่วนรางวัลอื่นๆ จะได้รับ "โล่สำเภาทอง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหอการค้ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน ในปีแรกมีภาพยนตร์ได้รับเสนอชื่อเข้าร่วมประกวดจำนวน 52 เรื่อง "รางวัลตุ๊กตาทอง" ดารานำยอดเยี่ยมฝ่ายชายได้แก่ ลือชัย นฤนาท จากภาพยนตร์เรื่อง "เล็บครุฑ" และดารานำยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงคือ วิไลวรรณ วัฒนพานิช จากภาพยนตร์เรื่อง "สาวเครือฟ้า" ส่วน "รางวัลสำเภาทอง" บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ประจิต จุลละพันธ์ จากภาพยนตร์เรือ่ง "สุภาพบุรุษเสือไทย"บทประพันธ์ยอดเยี่ยม ได้แก่ "เรียมเอง" จากภาพยนตร์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ได้แก่ วสันต์ สุนทรปักษิณ จากภาพยนตร์เรื่อง "ทางเปลี่ยว" และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง "เศรษฐีอนาถา" อำนวยการสร้างโดย สุริยน ไรวา ของ บริษัท เอส.อาร์ ฟิล์ม ต่อมาได้มีการออกแบบรางวัลขึ้นใหม่เป็นรูป "พระสุรัสวดี" ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้และภาษา จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "รางวัลพระสุรัสวดี" แต่สื่อมวลชน และประชาชน ยังคงนิยมเรียกว่า รางวัลตุ๊กตาทองมาตลอด พิธีมอบรางวัลตุ๊กตาทองจัดต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 8 (ปี 2509) ก็ได้หยุดการจัดงานเป็นเวลา 9 ปี และได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี 2517 คราวนี้จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นเจ้าภาพหลักจัดติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
4 สิงหาคม พ.ศ.2426 : รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์
 
4 สิงหาคม 2426 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์และเปิดทำการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า “ไปรษณียาคาร” ซึ่งเป็นตึกที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกในประเทศไทย
5 สิงหาคม พ.ศ.2345 : วันเกิด นีลส์ เฮนริก อาเบล นักคณิตศาสตร์ชาวนอร์เวย์
 
5 สิงหาคม พ.ศ. 2345 วันเกิดนีลส์ เฮนริก อาเบล (Niels Henrik Abel ค.ศ.1802-1829) นักคณิตศาสตร์ชาวนอร์เวย์ เกิดที่เมือง Findoe, Norway ประเทศนอรเว เป็นนักคณิตศาสตร์ มีผลงานในด้านพีชคณิตและการวิเคราะห์ เมื่ออายุประมาณ 19 ปี เขาพิสูจน์ได้ว่า สมการกำลังห้าที่มีตัวแปรตัวเดียวในรูปทั่วไป (ax5 + bx4 + cx3 + dx2 + ex + f = ๐ ) จะไม่สามารถหาคำตอบโดยวิธีพีชคณิตได้เสมอไปเหมือนสมการที่มีกำลังต่ำกว่าห้า นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ในด้านทฤษฎีของอนุกรมอนันต์ ฟังก์ชันอดิศัย กลุ่มจตุรงค์ และฟังก์ชันเชิงวงรี
6 สิงหาคม พ.ศ.2488 : สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกในสงครามโลกครั้งที่สอง
 
6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกในสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ที่เมือง ฮิโรชิมา (Hiroshima) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพบกที่สองของญี่ปุ่น เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress ชื่อ "Enola Gay" ซึ่งขับโดยพันโทพอล ทิบเบตส์ (Paul Tibbets) ระเบิดนิวเคลียร์ลูกนี้มีชื่อว่า "ลิตเติลบอย" (Little Boy) ซึ่งประกอบจากธาตุ "ยูเรเนียม-235" น้ำหนัก 60 กิโลกรัม มีอานุภาพทำลายล้างเท่ากับระเบิดทีเอ็นที (TNT) 13 กิโลตัน ส่งผลให้เมืองฮิโรชิมาทั้งเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 130,000 คน อีกสามวันต่อมาคือวันที่ 9 สิงหาคม สหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกคือ "แฟตแมน" (Fat Man) ถล่มเมือง นางาซากิ (Nagasaki) เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress ชื่อ "Bockscar" ขับโดย พันตรี ชาร์ลส์ สวีนีย์ (Charles W. Sweeney) เป็นระเบิดนิวเคลียร์ชนิดแกนพลูโตเนียม มีอานุภาพทำลายล้างเท่ากับระเบิดทีเอ็นที (TNT) 21 กิโลตัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 750,000 คน เมื่อสงครามสิ้นสุด ประมาณการว่ามีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคน ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีกจำนวนมาก กลายเป็นบาปตราใหญ่ที่สุดในใจของทั้งฝ่ายชนะและฝ่ายที่พ่ายแพ้สงครามมาจนทุกวันนี้
7 สิงหาคม พ.ศ.2463 : วันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
 
7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายรพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย สิ้นพระชนม์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงเป็นต้นตระกูล "รพีพัฒน์" ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2428 ร่วมกับ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์), กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) และ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช) ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 3 ปี ก่อนสอบเข้าเรียนนิติศาสตร์ที่สำนักไครส์เชิช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ตั้งแต่พระชันษาเพียง 18 ปี และเรียนจบได้เกียรตินิยมภายในเวลา 3 ปี หลังจากนั้นพระองค์จึงกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ทรงประกอบพระกรณียกิจที่เป็นคุณประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทยและศาลสถิตยุติธรรม ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทรงจัดตั้งศาลมณฑลและศาลจังหวัดทั่วประเทศ ทรงเป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย ประมวลขึ้นเป็น "กฎหมายอาญาฉบับ ร.ศ. 127" (พ.ศ. 2451) ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆ มากมาย ทรงตั้ง "โรงเรียนกฎหมาย" เปิดสอนวิชากฎหมาย โดยทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งเทียบได้กับศาลฎีกาในปัจจุบัน ในปี 2443 ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา และทรงดำรงตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ กรุงปรารีส ประเทศฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์ที่นั่น รวมพระชนมายุได้ 47 พรรษา ภายหลังทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และนักกฎหมายต่างถือกันว่าวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันรพี"
8 สิงหาคม พ.ศ.2510 : วันก่อตั้งสมาคมอาเซียน
 
8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 วันก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "สมาคมอาเซียน" (Association of Southeast Asian Nations - ASEAN) โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ได้ร่วมกันลงนามใน "คำประกาศอาเซียน" (ASEAN Declaration) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการครองชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ และความเจริญในทางเทคนิค วิชาการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ต่อมาได้รับประเทศสมาชิกเพิ่มเติมคือ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา รวมเป็น 10 ประเทศ ทั้งนี้อาเซียนมีจุดเริ่มต้นมาจาก สมาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาสา" (Association of Southest Asia - ASA) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2509 แต่ดำเนินมาได้ไม่นานก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากความผันผวนทางการเมือง ในที่สุดก็ยุบรวมเข้าเป็นสมาคมอาเซียน และดำเนินกิจกรรมมาจนถึงปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยให้ประตัวแทนของประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเลขาธิการของสมาคม ล่าสุดอาเซียนได้แต่งตั้งให้ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเลขาธิการคนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2551 ที่จะถึงนี้
8 สิงหาคม พ.ศ.2419 : โทมัส เอดิสัน ได้รับสิทธิบัตรเครื่องพิมพ์ปรุไข
 
8 สิงหาคม พ.ศ. 2419 โทมัส เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้รับสิทธิบัตร เครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไข หรือ เครื่องพิมพ์ปรุไข (mimeograph machine) ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์อัดสำเนาจากต้นฉบับที่เป็นรูปภาพและลายเส้น ช่วยให้สามารถทำสำเนาจากต้นฉบับได้จำนวนมากไม่จำกัด รวดเร็วและและประหยัดยิ่งขึ้น กว่าการใช้ฝีมือคนเป็นผู้ลอกเหมือนแต่เดิม โดยเอดิสันเรียกว่า "Autographic Printing" จากนั้นในปี 2427 อัลเบิร์ต ดิ๊ก (Albert Blake Dick) ได้รับอนุญาติในสิทธิบัตรชิ้นนี้แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "mimeograph" พร้อมกับก่อตั้งบริษัท A.B. Dick company เพื่อผลิตเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขออกจำหน่าย กลายเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากในสำนักงาน ในโรงเรียน และตามบ้านเรือนทั่วไป ในขณะเดียวกันที่อังกฤษและเยอรมนีก็ได้มีนักประดิษฐ์คิดค้นเครื่องอัดสำเนาในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น "Automatic Cyclostyle" และ "Stencil duplicators" ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา เครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขก็ถูกแทนที่ด้วย "เครื่องถ่ายเอกสาร" (Photocopy หรือ Xerox) แต่เครื่องเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขก็ถูกพัฒนาจนเป็นระบบอัตโนมัติ สามารถสร้างแม่พิมพ์และสั่งพิมพ์ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งนิยมใช้ในบางพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
9 สิงหาคม พ.ศ.2488 : สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่สอง
 
9 สิงหาคม 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ที่เมืองนางาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมี่สำคัญของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในเวลาต่อมา (นางาซากิ ถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองด้วยอานุภาพระเบิดปรมาณูชนิด พลูโตเนียม มีผู้เสียชีวิต 73,884 คน)
10 สิงหาคม พ.ศ.2534 : ยานอวกาศมาเจลแลนเดินทางเข้าใกล้ดาวศุกร์
 
10 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ยานอวกาศ มาเจลแลน (Magellan spacecraft) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าใกล้ ดาวศุกร์ (Venus) ยานอวกาศนี้ได้รับการตั้งชื่อจากนักสำรวจชาวโปรตุเกส เฟอร์ดินาน มาเจลแลน (Ferdinand Magellan) ยานอวกาศลำนี้ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยจรวดแอตแลนติส (Space Shuttle Atlantis STS-30) ที่ฐานอวกาศเคเนดีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 เข้าใกล้ดาวศุกร์มากที่สุดในระยะ 294 กิโลเมตร โคจรรอบดาวศุกร์ 3 ชั่วโมง 15 นาที และกลับมายังพื้นโลกในวันที่ 12 ตุลาคม 2537
10 สิงหาคม พ.ศ.2357 : วันเกิด อองรี เนสท์เล่ ผู้ก่อตั้งบริษัทเนสท์เล่
 
10 สิงหาคม พ.ศ. 2357 วันเกิดอองรี เนสท์เล่ (Henri Nestle’) นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้ง บริษัท เนสท์เล่ (Nestle’ S.A.) บริษัทเครือข่ายอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อเดิมคือ เฮนริค เนสเล (Heinrich Nestle) เกิดที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี บิดาทำธุรกิจช่างกระจก เขาเป็นเด็กฝึกงานที่ร้านขายยาอยู่ 4 ปีตั้งแต่อายุ 16-20 ปี อีกสามปีต่อมาเขาก็ได้รับใบอนุญาตในการทดลอง ออกใบสั่งยาและจำหน่ายยาได้ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองเววี (Vevey) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “อองรี” ปี 2386 เขาซื้อกิจการโรงงานผลิตน้ำมันจากต้นเรพ (Rapeseed) แล้วขยายกิจการผลิตน้ำมันถั่วสำหรับใช้ในตะเกียง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชู น้ำแร่ น้ำมะนาว แก๊สหุงต้มและปุ๋ยสำหรับพืช ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ยุโรปกำลังประสบกับปัญหาอัตราการเสียชีวิตของทารกค่อนข้างสูง เด็กทารก 1 ใน 5 ที่ไม่สามารถบริโภคน้ำนมแม่ได้ ต้องเสียชีวิตในช่วงขวบปีแรก เนื่องจากไม่มีอาหารทดแทนน้ำนมแม่ที่ดีเพียงพอ จนกระทั่งในปี 2410 เนสท์เล่ในวัย 53 ปีก็สามารถผลิตนมสำเร็จรูปสำหรับทารกเรียกว่า "ฟารีน แล็คเต" (Farine Lactee) โดยผสมนมวัวกับธัญพืช บรรจุอย่างสะอาดใช้ได้สะดวก นับว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้ช่วยชีวิตของทารกไว้ได้เป็นจำนวนมาก จากนั้นเขาก็ก่อตั้งบริษัทเนสท์เล่ขึ้นที่เมืองเววีย์ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปรังนกมีแม่นกคอยป้อนอาหารให้ลูกนก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูล “เนสท์เล่” ของเขา ซึ่งแปลว่า “รังนกเล็กๆ” จากนั้นก็ขยายกิจการไปทั่วยุโรป อเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเนสท์เล่ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารนานาชนิด มีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท และโรงงานผลิตอาหารมากกว่า 500 แห่งใน 60 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเววีย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2418 เขาขายกิจการบริษัทเนสท์เล่ แล้วไปใช้ชีวิตสงบๆ กับครอบครัวที่เมืองมงโตร สวิตเซอร์แลนด์ ใช้ชีวิตบั้นปลายทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2433
11 สิงหาคม พ.ศ.2518 : พระธาตุพนม ล้มพังทลายลงมา เนื่องจากฝนตกหนัก
 
11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนม ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ล้มพังทลายลงมา เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันประมาณหนึ่งสัปดาห์
12 สิงหาคม พ.ศ.2520 : ยานขนส่งอวกาศ สเปช ชัตเติล ทดลองบินในชั้นบรรยากาศเป็นครั้งแรก
 
12 สิงหาคม 2520 ยานขนส่งอวกาศสเปช ชัตเติล ทดลองบินในชั้นบรรยากาศเป็นครั้งแรก โดยเกาะติดไปกับเครื่องบินโบอิ้ง 747 จากนั้นจึงแยกตัวออกมา และสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย ในทะเลทรายโมฮาวี แคลิฟอร์เนีย
13 สิงหาคม พ.ศ.2504 : รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกสร้างกำแพงเบอร์ลิน
 
13 สิงหาคม 2504 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกสร้างรั้วลวดหนามและกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ขึ้นในกรุงเบอร์ลิน อดีตเมืองหลวงของเยอรมนี ทำให้ถูกแบ่งเป็นเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกกำแพงนี้นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นเส้นทางหนีของประชาชนจากเยอรมนีตะวันออกเพื่อแสวงหาอิสรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเยอมันตะวันตกแล้ว ยังเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายประเทศเสรีและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นอีกด้วย กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในปี พ.ศ. 2532 ก่อนจะมีการรวมฝั่งตะวันออกและตะวันตก เป็นประเทศเยอรมนี เดียวกันอีกครั้ง
14 สิงหาคม พ.ศ.2488 : สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ
 
14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปีที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตกว่าสองล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ “ข้อตกลงพอตสดัม” (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับนายพลโยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบานมิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย
14 สิงหาคม พ.ศ.2423 : มหาวิหารโคโลญจ์ ในเยอรมันสร้างสำเร็จ
 
14 สิงหาคม พ.ศ. 2423 มหาวิหารโคโลญจ์ (Cologne Cathedral หรือ Kolner Dom) สร้างสำเร็จพร้อมกับมีพีธีวางหลักหินบันทึกข้อมูลการก่อสร้าง (foundation stone) โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1791 แต่มีปัญหาให้ต้องหยุดพักการก่อสร้างไปบ้าง จึงต้องใช้เวลากว่าหกร้อยปีจึงสร้างเสร็จสมบูรณ์ มหาวิหารโคโลญเป็นศาสนสถานของคริสตศาสนาโรมันคาทอลิก นับเป็นวิหารที่ใหญ่และสูงที่สุดในโลกในสมัยนั้น (แม้ปัจจุบันก็ยังติดอันดับต้นๆ) ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ โกธิก (Gothic) เป็นหอคอยแฝดสูง 157 เมตร กว้าง 86 เมตร ยาว 144 เมตร สร้างเพื่ออุทิศให้ นักบุญปีเตอร์ (Saint Peter) และ พระนางมารี (Blessed Virgin Mary) ปัจจุบันมหาวิหารโคโลญนับจุดหมายสำคัญของเมืองโคโลญและประเทศเยอรมนี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกในปี 2536
15 สิงหาคม พ.ศ.2457 : เปิดใช้งานคลองปานามาเป็นครั้งแรก
 
15 สิงหาคม พ.ศ. 2457 คลองปานามา (Panama Canal) เปิดใช้งานเป็นครั้งแรก คลองแห่งนี้ถูกขุดบริเวณคอคอดปานามา ประเทศปานามาในทวีปอเมริกากลาง เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติกเข้าด้วยกัน คลองปานามาออกแบบแผนผังโดย เฟอร์ดินอง เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) ผู้ขุดคลองสุเอซ เริ่มขุดในปี 2423 โดยบริษัทรับเหมาของฝรั่งเศส แต่ระหว่างดำเนินการนั้น คนงานได้เสียชีวิตลงเรื่อยๆ จนถึงสองหมื่นคนจากโรคมาลาเรีย ไข้เหลืองและอุบัติเหตุอื่นๆ ต่อมาบริษัทอเมริกันได้เข้ามารับช่วงต่อจนสำเร็จ รวมมีผู้เสียชีวิตจาการขุดคลองนี้ราว 27,500 คน สิ้นเงินค่าสร้าง 700 ล้านปอนด์ คลองปานามามีความยาว 82 กิโลเมตร กว้าง 300-400 ฟุต ลึก 35-40 ฟุต ใช้เวลาแล่นเรือข้ามคลองประมาณ 9 ชั่วโมง ซึ่งได้ช่วยย่นระยะทางจากเดิมที่ต้องอ้อมแหลมเคป ฮอร์น (Cape Horn) ทางใต้สุดของอเมริกาใต้ถึง 15,700 กิโลเมตร มีเรือใช้เส้นทางนี้ประมาณ 12,000 ลำต่อปี ตั้งแต่เปิดใช้งานจนถึงปี 2545 มีเรือสินค้าใช้บริการแล้วกว่าแปดแสนลำ คลองปานามาได้มอบคืนให้กับประเทศปานามาวันที่ 31 ธันวาคม 2542
15 สิงหาคม พ.ศ.2442 : รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนราชดำเนิน
 
15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทำบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสำหรับเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต จึงพระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ “ราชดำเนินนอก”, “ราชดำเนินกลาง” และ “ราชดำเนินใน” ออกแบบและจัดสร้างโดย พระยาเทเวศวรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ถนนราชดำเนินนับเป็นถนนที่สวยงามเป็นศรีสง่าของบ้านเมืองตั้งแต่แรกก่อสร้างมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นถนนประวัติศาสตร์ของประชาชน ด้วยเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ หลายครั้งอาทิ “14 ตุลา 19” และ “พฤษภาทมิฬ 2535”
16 สิงหาคม พ.ศ.2488 : วันสันติภาพไทย
 
16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก ประกาศสันติภาพ ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากการประกาศสงครามครั้งนั้นเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประเทศไทยได้ตัดสินใจให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ เมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง ประเทศไทยไม่ปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านั้น และพร้อมที่จะจัดการส่งมอบคืนให้ดังเดิม ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ แต่ทูตไทยในสหรัฐอเมริกาคือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ผู้แทนไทยในอังกฤษไม่ยอมรับทราบในการกระทำของรัฐบาล จึงได้ร่วมมือกันตั้งเสรีไทยขึ้น โดยติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ในเมืองไทย เมื่อสงครามสงบลง การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นโมฆะ โดยสหรัฐอเมริการับรอง ต่อมาปี 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสันติภาพ”

18 สิงหาคม พ.ศ.2520 : เอแซฟ ฮอลล์ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ค้นพบโฟบอส
 
เอแซฟ ฮอลล์ (AAsaph Hall) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ค้นพบ “โฟบอส” (Phobos) ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวอังคาร ซึ่งเป็นดาวบริวารชั้นใน และมีวงโคจรใกล้กับดาวอังคารมากที่สุดคือประมาณ 6,000 กิโลเมตร ชื่อของดาวดวงนี้เป็นชื่อลูกชายของเทพเจ้า “Ares” หรือ “Mars” ของกรีก-โรมัน ส่วนดวงจันทร์บริวารอีกดวงของดาวอังคารได้แก่ดาว “ดีมอส” (Deimos)
18 สิงหาคม พ.ศ.2411 : เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่ปราณบุรีลงไปถึงชุมพร
 
เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่ปราณบุรีลงไปถึงชุมพร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิดครั้งนี้ได้ล่วงหน้า 2 ปี ได้อย่างถูกต้อง โดยใช้วิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ นับเป็นสัมฤทธิ์ผลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกของไทยที่ได้รับการยืนยันโดยประจักษ์พยานชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมสังเกตุการณ์ ณ บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกเท่าที่มีบันทึกไว้ในประเทศไทย แต่การเสร็จไปบ้านหว้ากอครั้งนั้นทำให้พระองค์ได้รับเชื้อมาลาเรีย จนเป็นเหตุให้เสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ภายหลังได้กำหนดวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย"
18 สิงหาคม พ.ศ.1770 : เจงกิสข่าน ผู้นำชนเผ่ามองโกลสิ้นพระชนม์
 
18 สิงหาคม พ.ศ. 1770 เจงกิสข่าน (Genghis Khan) ผู้นำชนเผ่ามองโกลสิ้นพระชนม์ ขณะกำลังสถาปนาจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกินเนื้อที่จากเกาหลีถึงทะเลดำ เจงกิสข่านหรือชื่อเดิม เตมูจิน เป็นขุนพลผู้รวบรวมกลุ่มชนเร่ร่อนเผ่าต่างๆ ของมองโกเลียในเอเชียกลางไว้ใต้อำนาจ จนได้สถาปนาจักรวรรดิมองโกลขึ้น และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจงกิสข่าน หรือจักรพรรดิแห่งมองโกเลีย เขารวบรวมชาวมองโกลเป็นปึกแผ่นและฝึกให้เป็นนักรบที่เก่งกาจ สร้างกองทัพอันเกรียงไกร นำทัพรุกรานดินแดนอันไพศาลของจีน เปอร์เซียและรัสเซีย ปัจจุบันเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการทหารที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
19 สิงหาคม พ.ศ.2503 : สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม สปุตนิก 5 ขึ้นสู่อวกาศ
 
19 สิงหาคม พ.ศ. 2503 สหภาพโซเวียต ส่งดาวเทียมสปุตนิก 5 (Sputnik 5) ขึ้นสู่อวกาศ โดยส่งสุนัขสองตัว คือ เบลกา (Belka) และสเตลกา (Strelka) พร้อมด้วยหนู 42 ตัว และพืชอีกจำนวนมาก ขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นเวลา 1 วัน ก่อนที่สัตว์ทั้งหมดกลับลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย
20 สิงหาคม พ.ศ.2284 : ไวตัส โจนาส แบริ่ง ค้นพบ อลาสกา (Alaska)
 
20 สิงหาคม พ.ศ. 2284 อลาสกา (Alaska) ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวรัสเซีย ไวตัส โจนาส แบริ่ง (vitus Jonas Bering) และทำให้ทะเลแถบนั้นเรียกว่าทะเลแบริ่ง หลังจากนั้นอลาสกาได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วหนึ่งกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมลรัฐที่กว้างที่สุดของอเมริกา คำว่า อลาสกา หรือ Alaska มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาท้องถิ่นคำว่า "Alyeska" ซึ่งแปลว่า "ดินแดนที่ยิ่งใหญ่"
21 สิงหาคม พ.ศ.2382 : วันเกิด อ็อตโต บาเช ศิลปินชาวเดนมาร์ก
 
21 สิงหาคม พ.ศ. 2382 วันเกิด อ็อตโต บาเช (Otto Bache) ศิลปินชาวเดนมาร์ก เกิดที่เมืองโรสไคลด์ (Roskilde) เริ่มฉายแววอัจฉริยะทางศิลปะตั้งแต่เด็กๆ ตอนสิบขวบเข้าเรียนศิลปะที่ The Royal Danish Academy of Fine Art แห่งเมืองโคเปนเฮเกน เป็นศิษย์อายุน้อยสุดของศิลปินใหญ่ วิลเฮล์ม มารสแตรนด์ (Wilhelm Marstrand) จากนั้นได้เดินทางท่องเที่ยวไปศึกษาศิลปะในดินแดนแห่งโลกศิลปะคือฝรั่งเศสและอิตาลีระหว่างปี 2409-2411 เขียนภาพแนวอัตนิยม บาเชเขียนภาพชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวได้อย่างมีชีวิตชีวา ในปี 2415 บาเชกลับมาทำงานศิลปะที่เดนมาร์กและได้เป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะแห่งเมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen Art Academy) จากนั้นได้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านศิลปะและเป็นเป็นผู้อำนวยการของสถาบันในปี 2448 ผลงานของบาเชหลากหลายมากมีทั้งภาพเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ภาพทิวทัศน์ สัตว์ และภาพเหมือน ผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ Le Billet-Doux, Et Kobbel Heste udenfor en Kro, Black and Tan Toy และ Spaniel Gordon Setter & Pug บาเชทำงานศิลปะจนกระทั้งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2470
21 สิงหาคม พ.ศ.2353 : เบนจามิน ทอมป์สัน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันเสียชีวิต
 
21 สิงหาคม พ.ศ. 2353 เบนจามิน ทอมป์สัน (Sir Benjamin Thompson, Count Rumford) นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เสียชีวิต ทอมป์สันเกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2296 ที่เมืองโวเบิร์น มลรัฐแมสซาชูเสตท์ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชาวนาที่ยากจน เริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียนชนบทและชอบวาดภาพมาก จนไม่มีใครคิดว่าเด็กชายทอมป์สันจะโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ตอนอายุ 13 ปีเขาทำงานเป็นพนักงานขายของในเมืองซาเล็ม ต่อมาได้สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วเริ่มทำงานเป็นครูที่เมืองคอนคอร์ด จากนั้นไม่นานก็แต่งงานกับหญิงม่ายผู้ร่ำรวย ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าสังคมและพบปะกับผู้คนมากขึ้น ในสมัยนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่นอไหวเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ แต่ทอมป์สันในวัย 23 ปีไม่เห็นด้วยจึงทิ้งครอบครัวย้ายไปยังกรุงลอนดอน ได้งานเป็นเลขานุการของจอร์จ เกอร์เมน (Lord George Germain) รัฐมนตรีกระทรวงอาณานิคม ระหว่างนี้ทอมป์สันได้เริ่มทำการทดลองทางกลศาสตร์ ผลงานชิ้นแรกของเขาชื่อ "Philosophical Transactions" ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2324 หลังจากอเมริกาประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ พระเจ้าจอร์จที่ 3 (George III) แห่งอังกฤษได้ทรงโปรดให้ทอมป์สันเป็น Count Rumford ทอมป์สันย้ายไปทำงานที่แคว้นบาวาเรียอยู่ 11 ปี จากนั้นก็ย้ายไปปารีส จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสทรงชื่นชมความสามารถของทอมป์สันมาก โดยเฉพาะทฤษฎียิงปืนใหญ่ จึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกต่างด้าวของสถาบัน French Institute ผลงานวิทยาศาสตร์ของทอมป์สันชิ้นสำคัญๆ ได้แก่ การค้นพบ "กระแสการพา" (convection current) ในของเหลวในยามของเหลวได้รับความร้อน และการค้นพบว่าพลังงานกลสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนได้ นอกจากนี้ Thompson ยังได้ออกแบบสร้าง photometer ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดกำลังส่องสว่างของหลอดไฟเครื่องแรกของโลกด้วย และเป็นคนที่คิดใช้คำว่า "แรงเทียน" (candle power) เพื่อบอกกำลังส่องสว่างของหลอดไฟ และยังได้พบอีกว่า น้ำบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส อีกทั้งเขายังเป็นผู้ประดิษฐ์กาต้มน้ำที่ใช้ความดัน หม้อต้มกาแฟชนิดหยด และเครื่องทำความร้อน (Heater) ทอมป์สันแต่งงานใหม่อีกครั้งที่ฝรั่งเศส แต่ชีวิตแต่งงานก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ด้วยความที่เป็นคนจริงจัง ไร้อารมณ์ขัน ชอบดูถูกคนอื่นและเห็นแก่ได้ เขาจึงไม่ค่อยมีเพื่อน บั้นปลายชีวิตจึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวจนกระทั่งจากโลกไป
21 สิงหาคม พ.ศ.2417 : รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย
 
21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย ร.ศ. 93 เพื่อให้ลูกทาสที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2411 มีอัตราค่าตัวใหม่ และลดเกษียณอายุค่าตัวลงทุกปี จนเจ้าตัวทาสสามารถจะไถ่ถอนตัวเองได้ จนเป็นไทแก่ตัวเมื่ออายุ 21 ปี อันเป็นการเริ่มดำเนินการเลิกทาสอย่างผ่อนปรน เพื่อให้กระทบกับนายเงินและทาสน้อยที่สุด
22 สิงหาคม พ.ศ.2503 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย สิ้นพระชนม์
 
22 สิงหาคม พ.ศ. 2503 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นักการเงินการคลังคนสำคัญของไทย สิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2442 พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และหม่อมส้วน ไชยันต์ ทรงสำเร็จการศึกษาจาก Ecole des Sciences Politiques กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้กลับเมืองไทย เริ่มดำรงตำแหน่งเลขานุการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ การงานก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ทรงเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพกร อธิบดีกรมศุลกากร ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรกเมื่อปี 2498 และทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 2491-2492 เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง ได้ทรงเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำนักงานธนาคารชาติไทย จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งต้องเผชิญปัญหาด้านการเงินการคลังในระหว่างสงคราม ตลอดจนการป้องกันภาวะเงินเฟ้อในประเทศ พระองค์จึงทรงเสนอวิธีการต่างๆ ต่อรัฐบาล จนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงได้
22 สิงหาคม พ.ศ.2454 : ภาพ โมนา ลิซา ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
 
22 สิงหาคม พ.ศ. 2454 โมนา ลิซา (Mona Lisa) ภาพจิตรกรรมชิ้นเอกของโลก ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภาพนี้เป็นภาพเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก วาดโดย ลีโอนาร์โด ดา วินชิ (Leonardo da Vinci) จิตรกรเอกของโลกชาวอิตาเลียน เป็นภาพวาดสีน้ำมัน สูง 77 เซนติเมตร กว้าง 53 เซนติเมตร ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) โดยขโมยชาวอิตาเลี่ยนได้ขโมยออกมา จากนั้นได้นำไปขายยังร้านค้าของเก่าที่เมืองฟลอเรนซ์ ภาพดังกล่าวได้กลับคืนมายังพิพิธภัณฑ์อีกครั้งในปี 2456 ปัจจุบันภาพนี้ได้ถูกดูแลรักษาอย่างดี ในตู้กระจกปรับอากาศกันกระสุน ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
22 สิงหาคม พ.ศ.2407 : วันก่อตั้งกาชาดสากล
 
22 สิงหาคม พ.ศ. 2407 วันก่อตั้งกาชาดสากล (Red Cross) โดยนักธุรกิจชาวสวิสเซอร์แลนด์ นาม อองรี ดูนังต์ (Henri Dunant) ในปีก่อนหน้านั้นเขาได้เสนอให้มีการก่อตั้งองค์กรกลางเพื่อดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม ปีถัดมาเขาได้ร่างสัญญาฉบับหนึ่งขึ้นเพื่อร่วมลงนามกับประเทศต่างๆ ในยุโรป 12 ประเทศ ต่อมาเรียกว่า "อนุสัญญาเจนิวา ฉบับที่ 1" และได้ร่วมก่อตั้งเป็นกาชาดสากล โดยใช้สัญลักษณ์กากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศบ้านเกิดของเขา
23 สิงหาคม พ.ศ.2509 : ยาน ลูนาร์ ออร์บิเตอร์ 1 ถ่ายภาพของโลกภาพแรก
 
23 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ลูนาร์ ออร์บิเตอร์ 1 (Lunar Orbiter 1) ยานอวกาศขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพของโลกภาพแรก ลูนาร์ ออร์บิเตอร์ 1 เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการลูนาร์ ออร์บิเตอร์” (Lunar Orbiter Program) ขององค์การนาซา โดยมีจุดประสงค์ที่จะเดินทางไปถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยเฉพาะส่วนที่ราบเรียบ และทดสอบการลงจอดบนผิวดวงจันทร์ สำหรับโครงการ “เซอร์เวเยอร์” และ “อพอลโล” ในอนาคต นาซาได้ส่งยานอวกาศลำนี้ขึ้นสู่สงโคจรเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2509 โดยกำหนดจุดหมายปลายทางการลงบนดวงจันทร์ครั้งแรกจำนวน 9 แห่ง และถ่ายภาพโลกและดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลกได้สำเร็จ ก่อนที่ยานจะหมดอายุในวันที่ 29 ตุลาคม 2509
23 สิงหาคม พ.ศ.2312 : วันเกิด จอร์จส์ คูวิเยร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส
 
23 สิงหาคม พ.ศ. 2312 วันเกิดจอร์จส์ คูวิเยร์ (Georges Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาและสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ในยุคต้นศตวรรษที่ 19 เป็นพี่ชายของเฟรเดริค กูวิเยร์ (Frederic Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาเช่นเดียวกัน จอร์จเกิดที่เมืองมงต์เบลีอาร์ด (Montbeliard) เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสตูตการ์ต (University of Stuttgart) ประเทศเยอรมนี เขาเริ่มสนใจเกี่ยวกับพืชและสัตว์โบราณ (palaeontology) ปี 2342 เข้าเป็นศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่ College de France โดยมุ่งศึกษาโครงสร้างของสัตว์จำพวกหอย (Mollusca) การเปรียบเทียบกายวิภาคของปลา และศึกษาซากฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน โดยเป็นผู้ศึกษาและจำแนกสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่สัตว์จำพวกหอยทาก ไปจนถึงฟอสซิลไดโนเสาร์ ผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่ "Regne animal distribue d’apres son organisation" ("The Animal Kingdom") คูวิเยอร์เสียชีวิตด้วยโรคอหิวา ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2375
24 สิงหาคม พ.ศ.2502 : วันก่อตั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
 
วันก่อตั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติ โดยการทำสัญญาร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม (Scandinavian Airlines System : SAS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจการบินระหว่างประเทศ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2503 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 70 และเอส เอ เอสถือหุ้นร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน เริ่มบินเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2503 ต่อมาในปี 2520 บริษัท เดินอากาศไทยได้ซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากเอส เอ เอส การบินไทยจึงเป็นของคนไทยมาตั้งแต่นั้น โดยมีบริษัท เดินอากาศไทยถือหุ้นร่วมกับกระทรวงการคลัง ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน เมื่อปี 2534 และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” ปัจจุบันการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินกิจการในด้านการบินพาณิชย์ในประเทศและระหว่างประเทศ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ การบินไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของเครือข่ายพันธมิตรสายการบิน สตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) มีฉายาว่า “เจ้าจำปี” การบินไทยได้ระดับความปลอดภัย A ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยที่สุด วัดจากสถิติสะสมตั้งแต่ปี 2513 การบินไทยถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรต่อเนื่องเรื่อยมา ทั้งยังได้รับการยกย่องในด้านความปลอดภัยและการบริการให้อยู่ในระดับสายการบินชั้นนำของโลกเสมอมา

27 สิงหาคม พ.ศ.2378 : หมอบรัดเลย์ เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 
27 สิงหาคม พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์ เริ่มการผ่าตัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยผ่าตัดก้อนเนื้อ (ฝีขนาดใหญ่เหนือคิ้วซ้าย) ที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งโดยไม่มียาสลบ เป็นการผ่าตัดก่อนหน้าจะมีการใช้ยาสลบอีเทอร์ครั้งแรกในประเทศไทยถึง 13 ปี (ยาสลบอีเทอร์ใช้ครั้งแรกในไทยโดยหมอเฮาส์ในปี พ.ศ. 2391) การผ่าตัดสำเร็จด้วยดีท่ามกลางการเฝ้าดูและให้กำลังใจของชาวบ้าน
28 สิงหาคม พ.ศ.2506 : มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวคำปราศรัยให้ชาวอเมริกันยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
 
28 สิงหาคม พ.ศ. 2506 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr) ผู้นำขบวนการสิทธิประชาชน เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่ชนผิวดำในอเมริกาโดยสันติวิธี นำฝูงชนราว 200,000 คน เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ลินคอล์น กรุงวอชิงตัน และได้กล่าวคำปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้ชาวอเมริกัน (ผิวขาว) ยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ต่อมากลายเป็นสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเรียกชื่อกันต่อมาว่า "I have a dream" (“ข้าพเจ้ามีความฝัน”) ในบางตอนกล่าวว่า "ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งลูกน้อยทั้งสี่จะได้เป็นสมาชิกของประชาชาติที่ประเมินค่าของคนจากคุณสมบัติ มิใช่จากสีผิว..."
28 สิงหาคม พ.ศ.2292 : วันเกิด โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน
 
28 สิงหาคม พ.ศ. 2292 วันเกิด โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาชาวเยอรมัน เกิดที่กรุงแฟรงเฟิร์ต ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจักวรรดิโรมัน เด็กชายเกอเธอได้รับการศึกษาวิชาสามัญและภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน และกรีก นอกจากนี้ยังได้เรียนเต้นรำ ฟันดาบและขี่ม้าอีกด้วย แต่เขาก็เกลียดการเข้าโบสถ์มาแต่ไหนแต่ไร ตอนแรกเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นจิตรกร ขณะเดียวกันก็สนใจวรรณคดีของ เฟรดริค คล็อพสตอค (Friedrich Gottlieb Klopstock) และ โฮเมอร์ (Homer) และการละครรวมทั้งหุ่นกระบอก ระหว่างปี 2308-2311 เขาเรียนกฎหมายที่เมืองไลป์ซิก และมักแอบเข้าฟังเลคเชอร์วิชาการเขียนบทกวีอยู่เสมอ เมื่อหลงรักหญิงสาวคนหนึ่งเขาจึงเขียนบทกวีที่ไพเราะและมีชีวิตชีวา จากนั้นก็หันมาสนใจงานวรรณกรรม จนการเรียนไม่ก้าวหน้าจึงถูกเรียกตัวกลับบ้าน ก่อนจะกลับไปเรียนอีกครั้งที่เมืองสตราเบิร์ก จบแล้วทำงานเป็นนักกฎหมายที่เมืองแฟรงเฟิร์ตบ้านเกิด แต่ไม่นานก็หันมาเขียนหนังสืออีกครั้ง ระหว่างปี 2329-2331 เขาเดินทางท่องเที่ยวยังแถบคาบสมุทรอิตาเลียน สองปีนี้เป็นช่วงที่เขาได้พัฒนาความคิดทั้งด้านศุนทรียศาสตร์และปรัชญา ต่อมาเขาได้ตีพิมพ์บันทึกการเดินทางในชื่อ "Italian Journey” จากนั้นก็เขียนหนังสืออย่างจริงจังมาตลอด จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่เมืองไวมาร์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2375 ผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ นิยายเรื่อง "Magnum opus", นิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่อง "The Sorrow of Young Werther” และบทละครเชิงปรัชญาเรื่อง "Faust” เกอเธ่มีความสามารถหลายด้านมาก ทั้ง เขียนบทกวี บทละคร นวนิยาย เป็นนักวิชาการวรรณกรรม ศิลปิน นักเทววิทยาที่ไม่เชื่อในพระเจ้า นักมนุษยนิยม และนักวิทยาศาสตร์ ผลงานวรรณกรรมช่วงแรก ๆ ของเกอเธ่จัดอยู่ในงานแนวโรแมนติก หลังท่องเที่ยวในอิตาลี เขาได้นำงานแนวคลาสสิกมาใช้ในงานเขียนช่วงหลังๆ เกอเธ่นับเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของวรรณคดีเยอรมัน วรรณคดีคลาสสิกใหม่ของยุโรปและโรมัน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 กับต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุค “แสงสว่างทางปัญญา” (Enlightenment) อิทธิพลของเขาได้ส่งผลอย่างกว้างขวางไปทั่วยุโรป ตั้งแต่อดีตตราบจนทุกวันนี้
29 สิงหาคม พ.ศ.2323 : วันเกิด ฌอง แอ็งกรส์ จิตรกรชาวฝรั่งเศส
 
29 สิงหาคม พ.ศ. 2323 วันเกิด ฌอง แอ็งกรส์ (Jean Auguste Dominique Ingres) จิตรกรชาวฝรั่งเศส สำนัก "นีโอ-คลาสสิค” (Neo-classic) เกิดที่เมืองมงโตบอง (Montauban) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส บิดาเป็นจิตรกรและช่างปั้น ตอนอายุ 11 ขวบเข้าศึกษาที่ Academy of Fine Arts ที่เมืองตูลูส (Toulouse) หลังจากนั้นแอ็งกรส์ได้เดินทางไปปารีสเพื่อเรียนกับ ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด (Jacques - Louis David) ในปี 2344 ภาพ "The Envoys from Agamemnon” ของเขาก็ได้รางวัล Grand Prix de Rome นอกจากนั้นเขาก็ได้วาดภาพเหมือนของจักรพรรดินโปเลียนไว้หลายภาพ พออายุ 26 ปีเขาก็เดินทางไปกรุงโรมเพื่อวาดภาพประวัติศาสตร์ เทพเจ้าและวาดภาพเหมือนเลี้ยงชีพ จากนั้นก็ย้ายไปยังกรุงฟลอเรนซ์ดำรงชีพด้วยการรับจ้างเขียนภาพเหมือน แอ็งกรส์เริ่มมีชื่อเสียงหลังจากภาพ “Vow of Louis Xll” ของเขาได้ถูกนำไปติดตั้งที่วิหารในเมืองบ้านเกิด จากนั้นก็ได้วาดภาพเชิงประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จอีกจำนวนมาก แอ็งกรส์มีชีวิตที่สุขสบายจนในวัย 54 ปี ภาพ "The Martydom of Saint Symphorian” ของเขาก็ถูกนักวิจารณ์อย่างรุนแรง เขาจึงย้ายไปอยู่ที่กรุงโรม ก่อนที่ชื่อเสียงในปารีสของเขาจะกลับมาอีกครั้งด้วยภาพ "Stratonice” อีกสี่ปีต่อมา ตอนวัย 82 ปีภาพเขียนชิ้นสำคัญที่สุดของเขาก็ได้รับการเผยแพร่สู่สาธรณชนคือ "The Turkish Bath” เป็นภาพหญิงเปลือยจำนวนมากในห้องอาบน้ำ แอ็งกรส์เขียนภาพนี้โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับตะวันออกกลางและจินตนาการ โดยไม่ได้ใช้แบบเลยสักคนเดียว สันนิษฐานว่าเขาใช้เวลาวาดภาพนี้ถึง 50 ปี ผู้คนต่างยกย่องกันว่าเป็นภาพเขียนที่สมบูรณ์และสมดุลย์มากที่สุด ภาพเหมือนของแอ็งกรส์มักจะได้รับคำวิจารณ์ว่าไม่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค เพราะเขาให้ความสำคัญกับความงามมากกว่า เช่นเดียวกับที่เขาไม่ชอบวิชาดนตรี แต่เขารักดนตรี แอ็งกรส์ทำงานศิลปะจนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 87 ปี คือเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2410
29 สิงหาคม พ.ศ.2175 : วันเกิด จอห์น ล็อค นักปรัชญาชาวอังกฤษ
 
29 สิงหาคม พ.ศ. 2175 วันเกิดจอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาชาวอังกฤษ หนึ่งในผู้ก่อตั้งปรัชญาสำนักประสบการณ์นิยม (Empiricism) เกิดที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต (Somerset) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ บิดาเป็นทนายความ ล็อคได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนของชนชั้นสูงที่กรุงลอนดอน และจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เริ่มทำงานวิจัยทางการแพทย์ร่วมทีมกับเอิร์ล แห่ง ชาฟท์สเบอรี (Anthony Ashley-Cooper, 1st Earl of Shaftesbury) เมื่อชาฟท์สเบอรีได้เป็น Lord Chancellor ก็ชักชวนล็อคมาทำงานการเมืองด้วย เขาจึงได้พัฒนาความคิดทางด้านปรัชญาการเมือง และเขียนบทความลงหนังสือในระยะนี้ โดยเฉพาะเรื่อง "สิทธิตามธรรมชาติ” (Natural Right) ของมนุษย์ ซึ่งล็อคเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเป็นคนดี มีความอิสระอย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ๆ จึงเกิดความขัดแย้งและวุ่นวาย มนุษย์จึงต้องทำ "สัญญาประชาคม“ (Social Contract) อันเป็นต้นกำเนิดของ "รัฐ", "กฎหมาย" และ "องค์อธิปัตย์" โดยยอมสละสิทธิตามธรรมชาติให้รัฐเป็นผู้ดูแล จัดระเบียบสังคมให้เรียบร้อย ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชน หากรัฐไม่ทำตามนั้น ประชาชนก็อาจเรียกคืนอำนาจได้ ล็อคเป็นนักปรัชญาคนสำคัญแห่งสำนัก “ประสบการณ์นิยม” หรือ "ประจักษ์นิยม” ซึ่งเชื่อว่า ความรู้ทุกอย่างจะต้องได้มาจากประสบการณ์ เขาบอกว่าจิตของเด็กเกิดใหม่เปรียบเสมือน “กระดาษที่ยังว่างเปล่า” ("blank slate" หรือ "tabula rasa") จนกว่าประสบการณ์จะได้บันทึกอะไรลงไป ความคิดของล็อคมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของ ญาณวิทยา (epistemology) ปรัชญาการเมือง (political philosophy) กฎหมาย การปฏิวัติอเมริกัน และเป็นพื้นฐานของกฎหมายอเมริกัน นับว่าล็อคเป็นนักปรัชญาที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ล็อคเสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2247
30 สิงหาคม พ.ศ.2340 : วันเกิด แมรี เชลลีย์ ผู้แต่งแฟรงเกนสไตน์
 
30 สิงหาคม พ.ศ. 2340 วันเกิด แมรี เชลลีย์ (Mary Wollstonecraft Godwin Shelley) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้สร้างตำนาน "แฟรงเกนสไตน์" (Frankenstein) แมรีเกิดที่กรุงลอนดอน เป็นลูกสาวของ แมรี วอลล์สโตนคราฟท์ (Mary Wollstonecraft) นักเขียนและนักปรัชญาเฟมินิสม์ชาวอังกฤษ ซึ่งเสียชีวิตหลังจากคลอดลูกสาวเพียง 10 วัน แมรีเริ่มเรียนหนังสือกับพ่อ ภายหลังจากพ่อแต่งงานใหม่ แมรีก็ถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เธอสนุกกับการเรียนหนังสือและการได้ใช้ชีวิตอยู่ห่างจากแม่เลี้ยงมาก เธอใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือในห้องสมุด พออายุ 15 ปีแมรีก็ถูกส่งตัวไปอยู่ที่สก็อตแลนด์ โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวเพื่อนของพ่อที่อบอุ่น ในปีนี้เองเธอได้พบกับกวี เพอร์ซี เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) ต่อมาทั้งสองก็สนิทสนมกันและออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ที่เธอเขียนนิยายเรื่องแรกคือ "Frankenstein, or The modern Prometheus” ขณะอายุเพียง 19 ปี (เขียนเสร็จในปี 2360) เป็นเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามสร้างอสุรกายครึ่งมนุษย์ขึ้นมา จนตัวเองถูกแฟรงเกนสไตน์ฆ่า หลังจากนั้นแฟรงเกนสไตน์ก็ฆ่าตัวตายตาม ต่อมานิยายเรื่องนี้ได้กลายเป็นผลงานที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดของเธอ หลังจากกลับอังกฤษ ทั้งสองแต่งงานกันในปี 2359 แม้อีกสิบปีต่อมาสามีจะเสียชีวิตแต่เธอก็ไม่แต่งงานใหม่อีกเลย ยังคงเขียนหนังสือต่อไป แมรีมีผลงานทั้งที่เป็นนวนิยาย, นิยายขนาดสั้น, บทละครอิงตำนานเทพเจ้า เรื่องสั้น บทความ หนังสือท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก แมรีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2394 ขณะอายุได้ 54 ปี
30 สิงหาคม พ.ศ.2291 : วันเกิด ฌาค-หลุยส์ ดาวิด จิตรกรชาวฝรั่งเศส
 
30 สิงหาคม พ.ศ. 2291 วันเกิด ฌาค-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้นำแห่งลัทธิ "นีโอ-คลาสสิก” (Neo-Classic) เกิดที่กรุงปารีส ตอน 9 ขวบพ่อของเขาเสียชีวิต แม่จึงส่งตัวเขาไปอยู่กับลุงผู้เป็นสถาปนิกที่ร่ำรวย เข้าเรียนที่ College des Quatre-Nations แต่เขามักจะแอบวาดรูประหว่างเรียนอยู่เสมอ ในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะเป็นจิตกร แต่แม่กับลุงอยากให้เป็นสถาปนิกมากว่า แต่ในที่สุดเขาก็ได้เรียนศิลปะกับ ฟรองซัวส์ บูเชอร์ (Francois Boucher) จิตรกรที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค ซึ่งเป็นญาติห่างๆ ของเขา และได้รับการสนับสนุนจากบูเชอร์มาตลอด ตอนอายุ 18 ปีบูเชอร์ก็ส่งเขาไปเรียนกับ โจเซฟ-มารี เวียง (Joseph - Marie Vien) จากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่ Royal Academy ในปี 2317 เขาก็ได้รับรางวัล Prix de Rome หลังจากที่พลาดรางวัลนี้ถึง 3 ครั้ง ดาวิดนำเงินรางวัลที่ได้ไปศึกษาประติมากรรมและจิตรกรรมที่ประเทศอิตาลี ระหว่างนี้เขาได้ดูงานศิลปะคลาสสิคชิ้นสำคัญๆ ในสมัยโรมัน และซากนครปอมเปอีที่เขาประทับใจมาก ที่อิตาลี ดาวิดหมดสมุดสเก็ทช์ไปถึง 12 เล่ม ช่วงเวลา 5 ปีในอิตาลีนี้ได้มีอิทธิพลต่องานเขาในเวลาต่อมา จากนั้นก็กลับไปทำงานศิลปะที่ปารีส แล้วภาพ "Oath of the Haratii” ของเขาก็ได้ออกแสดงครั้งแรกในปี 2324 ที่ Paris Salon ภาพนี้เป็นภาพของ ฝาแฝด 3 คนพี่น้องกล่าวคำสาบานต่อหน้าบิดาว่าจะซื่อสัตย์และยอมตายเพื่อชาติ จากนั้นเขาก็เขียนภาพที่มีแนวคิดทางการเมืองออกมาตลอด ด้วยความที่เกลียดระบอบกษัตริย์และต้องการโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นับว่าผลงานของเขาในช่วงนั้นมีส่วนปลุกเร้าชาวฝรั่งเศสออกมาโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเกิดการ "ปฏิวัติฝรั่งเศส” ในปี 2332 ดาวิดศรัทธาใน โรเบสปิแอร์ (Maximilien Robespierre) หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้ เมื่อ นโปเลียน (Napolean I) ครองอำนาจเป็นจักรพรรดิ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดาวิดเข้ามาเป็นจิตรกรประจำราชสำนัก ให้ดาวิดวาดภาพเผยแพร่ชื่อเสียงและพระบารมีของพระองค์ ผลงานชิ้นสำคัญในช่วงนั้นได้แก่ภาพราชาพิเษกของนโปเลียน "The Coronation of Napoleon" ดาวิดกลายเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาทิ แอ็งกรส์ (Jean Ingres) และ โกรส์ (Antoine-Jean Gros) ภายหลังจากนโปเลียนหมดอำนาจในปี 2358 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 (Louis XVII of France) กลับขึ้นมาครองอำนาจอีกครั้ง ดาวิดจึงต้องหลบหนีไปอยู่ที่บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม จนกระทั่งเสียชีวิต ในวันที่ 28 ธันวาคม 2368 ขณะอายุ 78 ปี

31 สิงหาคม พ.ศ.2450 : วันเกิด รามอน แมกไซไซ ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของฟิลิปปินส์
 
วันเกิด รามอน แมกไซไซ (Ramon del Fierro Magsaysay) ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของฟิลิปปินส์ เกิดที่จังหวัดแซมบาเลส (Zambales) ประเทศฟิลิปปินส์ในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา พ่อเป็นช่างเหล็กส่วนแม่เป็นครู แมกไซไซเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ภายหลังย้ายไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไปจบบริหารธุรกิจที่ Jose Rizal College เริ่มทำงานเป็นช่างเครื่องที่บริษัทขนส่งในเมืองมนิลา ในระยะแรกบริษัทขาดทุนจนเกือบจะล้มละลาย แต่แมกไซไซได้เสนอวิธีทำงานแบบใหม่และมาตรการป้องกันการคอรัปชั่น ส่งผลให้บริษัทเริ่มกลับมาได้กำไร ในที่สุดเขาก็ได้เป็นผู้จัดการทั่วไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นในฟิลิปปินส์ เขาได้เข้าร่วมในกองทัพจนกระทั่งสงครามสงบ อเมริกาคืนเอกราชให้ฟิลิปปินส์ และแต่งตั้งให้แมกไซไซเป็นผู้ว่าราชการแห่งเมืองแซมบาเลส จากนั้นเขาก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสองสมัย ในปี 2493 ประธานาธิบดีคิริโน (Elpidio Rivera Quirino) ก็ได้แต่ตั้งให้แมกไซไซเป็นเลขานุการของฝายป้องกันอาณาจักร (National Defense) และสามารถปราบปรามกองโจรก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ โดยการส่งทหารลงไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านในชนบท ในที่สุดก็ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2496 ดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 16 มีนาคม 2500 ปีต่อมาก็ได้มีการก่อตั้ง "มูลนิธิรางวัล รามอน แมกไซไซ" (Ramon Magsaysay Award Foundation) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ประธานาธิบดีรามอน ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อประชาธิปไตย และเป็นกองทุนของ "รางวัลรามอน แมกไซไซ" (Ramon Magsaysay Award) ให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม รางวัลแมกไซไซนี้เปรียบเสมือนกับรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขาได้แก่ บริการรัฐกิจ, บริการสาธารณะ, ผู้นำชุมชน, วารสารศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์, สันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ และ ผู้นำในภาวะฉุกเฉิน มีพิธีมอบรางวัลเป็นประจำในวันที่ 31 สิงหาคมของทุกปี ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
31 สิงหาคม พ.ศ.2440 : โทมัส อัลวา เอดิสัน จดสิทธิบัตรเครื่องฉายภาพยนตร์รุ่นแรกของโลก
 
31 สิงหาคม พ.ศ.2440 โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน จดสิทธิบัตรคิเนโตสโคป (kinetoscope) เครื่องฉายภาพยนตร์รุ่นแรกของโลก อีก 6 ปีต่อมาได้มีการใช้กล้องของเอดิสันถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรกคือ The Great Train Robbery ความยาวประมาณ 8 นาที ถ่ายภาพโดย เอ็ดวิน เอส. พอร์ทเตอร์ (Edwin S. Porter)