วันนี้ในอดีต/เดือนกันยายน

  • Print
1 กันยายน พ.ศ.2533 : สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยิงตัวตาย
 
สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยิงตัวตายในบ้านพักที่เขตฯ เพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า ในจดหมายฉบับสุดท้ายของเขาเขียนไว้ว่า "ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเองโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น" การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคมเพราะตอนที่สืบยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยเป็นผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อปกป้อง รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่า โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายใดๆ การเสียชีวิตของเขาได้ส่งผลให้ขบวนการสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยตื่นตัวขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันกับสืบได้ก่อตั้ง "มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ
1 กันยายน พ.ศ.2457 : มาธาร์ นกพิราบนักเดินทาง ตัวสุดท้ายของโลกเสียชีวิต
 
"มาธาร์" (Martha) นกพิราบนักเดินทาง หรือ นกพิราบพาสเซนเจอร์ [Passenger Pigeon (Ectopistes migratorius)] ตัวสุดท้ายของโลก เสียชีวิตในกรงขังที่สวนสัตว์ซินซินเนติ มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เดิมนกชนิดนี้มีจำนวนมาก อาศัยอยู่ทั่วไปในอเมริกา แคนาดา บางส่วนของแมกซิโกและคิวบา ชาวอินเดียนล่านกชนิดนี้เป็นอาหารมานานนม จนกระทั่งชาวผิวขาวอพยพเข้ามาในทวีป นกพิราบเริ่มจากถูกล่าเป็นอาหาร จนกลายเป็นล่าเพื่อเกมกีฬา และล่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด โดยใช้ปืนยิง ใช้กับดัก ดักด้วยตาข่าย จนถึงใช้แก๊สรม ทำให้นกพิราบชนิดนี้ค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนถึงปี 2423 บางรัฐถึงกับต้องออกกฎหมายห้ามล่านกพิราบชนิดนี้ แต่ก็ยังคงมีการแอบลักลอบอยู่นั่นเองในที่สุด นกพิราบพาสเซนเจอร์ในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกยิงตายที่ โอไฮโอ เมื่อปี 2443 แม้นกบางส่วนจะถูกเพาะเลี้ยงไว้ในกรงเพื่อทำการขยายพันธ์ แต่ในที่สุดนกพิราบนักเดินทางตัวสุดท้ายของโลกก็ต้องหยุดเดิน
1 กันยายน พ.ศ.2482 : สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรประเบิดขึ้น
 
สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในยุโรประเบิดขึ้นเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ละเมิด สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles) นำกองทัพเยอรมนีบุกประเทศโปแลนด์ เนื่องจากถูกปฏเสธที่จะยกเมืองดานซิก (Danzig) และฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) ให้เยอรมนี จากนั้นก็บุกประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยมีเจตจำนงที่จะลบล้างความอัปยศที่เยอรมันเคยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอมนีในวันที่ 3 กันยายน สงครามใหญ่จึงเริ่มขึ้นและขยายตัวออกไปทุกภาคพื้นทวีปอื่นๆ ในเอเชียเริ่มจากญี่ปุ่นบุกจีนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2480 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (Second Sino-Japanese War) ส่งผลให้จีนต้องยอมเข้ากับฝ่าย สัมพันธมิตร (Allies Power) ซึ่งประกอบด้วย สหภาพโซเวียต, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และจีน ส่วนญี่ปุ่นเข้าร่วมกับฝ่าย อักษะ (Axis Powers) ซึ่งประกอบด้วย นาซีเยรมนี, ฟาซิสม์อิตาลี และจักวรรดิญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยุติลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2488 เรียกว่า "วันวีเดย์" (Victory in Europe Day : V-E Day or VE Day) หลังจากฮิตเลอร์กระทำอัตวินิบาตกรรม และเยอรมันประกาศยอมแพ้ ส่วนสมรภูมิในเอเชียยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่14 –15 สิงหาคม 2488 ภายหลังจากอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ผลของสงครามครั้งนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดราว 60 ล้านคน ยังไม่นับผู้บาดเจ็บอีกมหาศาล นับเป็นสงครามขนาดใหญ่และก่อให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
1 กันยายน พ.ศ.2258 : พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เสด็จสวรรคต
 
1 กันยายน พ.ศ. 2258 พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV หรือ Louis-Dieudonné) เสด็จสวรรคต หลังจากครองราชนานถึง 72 ปี นานกว่ากษัติรย์องค์อื่นๆ ในยุโรป พระองค์เริ่มครองราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2186 เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 5 ชันษาเท่านั้น พระองค์ทรงสถาปนาระบอบราชาธิปไตยในฝรั่งเศส พระองค์ได้ทรงประกาศก่อนสิ้นพระทัยว่า "ข้าจะไปแล้ว แต่รัฐของข้าจะคงอยู่ตลอดไป"
4 กันยายน พ.ศ.2431 : จอร์จ อีสต์แมน จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โกดัก
 
4 กันยายน พ.ศ. 2431 จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "โกดัก" (Kodak) และในปีเดียวกันนี้เขาได้ประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปตัวแรก ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2427 เขาได้ประดิษฐ์ฟิล์มม้วน สิ่งประดิษฐ์ของเขาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อวงการถ่ายภาพ จากที่เคยเป็นเพียงงานอดิเรกราคาแพงของคนชั้นสูง ได้กลายมาเป็นงานอดิเรกที่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป ต่อมาปี 2435 เขาได้ก่อตั้งบริษัทอีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak Company) ขึ้นที่นิวยอร์ก เพื่อผลิตฟิล์มถ่ายภาพและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทุกวันนี้โกดักกำลังลดการผลิตฟิล์มลง หันไปพัฒนากล้องถ่ายภาพระบบดิจิทัลเช่นเดียวกับบริษัทฟิล์มยี่ห้ออื่นๆ
4 กันยายน พ.ศ.2351 : วันพระราชสมภพ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ ร.4 เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก
5 กันยายน พ.ศ.2540 : แม่ชีเทเรซา เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย
 
5 กันยายน พ.ศ. 2540 แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa) เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายที่นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ท่านเป็นแม่ชีนิกายโรมันคาทอลิกชาวแอลเบเนีย ซึ่งต่อมาได้โอนสัญชาติเป็นชาวอินเดีย ผู้อุทิศทั้งชีวิตในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และขาดโอกาสในอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งก่อตั้งองค์กรการกุศล มิชชันนารี ออฟ แชริตี้ กระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2522 การเสียชีวิตของแม่ชีเทเรซาได้สร้างความเศร้าโศกให้แก่ประชาชนทั่วโลกทุกชาติ ทุกศาสนา
6 กันยายน พ.ศ.2065 : เรือวิกตอเรีย เป็นเรือลำแรกที่เดินทางรอบโลกได้สำเร็จ
 
เรือวิกตอเรีย (Victoria) หนึ่งในคณะเรือ 5 ลำที่ออกไปสำรวจดินแดนตะวันออกร่วมกับ เฟอร์ดินนานด์ มาเจลแลน (Ferdinand Magellan) เดินทางกลับมาถึงสเปน เป็นเรือลำแรกที่เดินทางรอบโลกได้สำเร็จเรือลำนี้ควบคุมโดยกับตัน ฮวน เอลคาโน (Juan Sebastian Elcano) มีลูกเรือที่รอดชีวิตเพียง 17 คน เรือลำนี้ออกจากท่าเรือในปี 2062 พร้อมกับคณะเรือของมาเจลแลน เดินทางไปถึงประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2063 กองเรือสเปนได้รับการต้อนรับจากชาวพื้นเมืองอย่างดี แต่ในระหว่างนั้นกำลังมีสงครามอยู่กับเมืองลาปูลาปู (Lapu-Lapu City) มาเจลแลนและลูกเรือจึงอาสาเข้าไปช่วยเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ จนถูกชาวมัคตานสังหารเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2064 ลูกเรือที่เหลือรอดเพียง 18 คนจาก 265 คน จึงนำเรือวิกตอเรียเดินทางกลับสเปน และกลายเป็นเรือลำแรกที่เดินทางรอบโลก
6 กันยายน พ.ศ.2479 : เสือทัสมาเนียตัวสุดท้ายของโลกตาย
 
6 กันยายน พ.ศ. 2479 เสือทัสมาเนีย (Tasmania Tiger : Thylacine species) ตัวสุดท้ายของโลก ตายลงในกรงที่สวนสัตว์โฮบาร์ต ในทัสมาเนีย เสือทัสมาเนียหรือหมาป่าทัสมาเนียเป็นสัตว์นักล่าที่มีถุงใต้ท้องคล้ายจิงโจ้ เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในเกาะทัสมาเนีย ออสเตรเลีย ได้สูญพันธุ์เพราะการล่าและมนุษย์อพยพเข้าไปแย่งที่อยู่อาศัย ในขณะนี้กำลังมีการโคลนนิ่งเสือชนิดนี้ขึ้นมาใหม่
6 กันยายน พ.ศ.2435 : วันเกิดชิต บุรทัต กวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6
 
วันเกิด ชิต บุรทัต กวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้แต่ง "สามัคคีเภทคำฉันท์” เดิมชื่อ ชิต ชวางกูร เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของมหาชูและนางปริก เรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทัศน์และศึกษาการแต่งกลอนและภาษาบาลีจากบิดา หลังจากเรียนจบได้บวชเป็นสามเณรอยู่สองพรรษาแล้วสึกออกมาเป็นครู แต่เนื่องจากเป็นคนเที่ยวจัด บิดาเกรงว่าจะเสียคนจึงส่งไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดเป็นเวลาสามปี จากนั้นกลับมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วบวชเณรอีกเป็นครั้งที่ 2 ณ วัดเทพศิรินทราวาสและย้ายมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ชิตได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนัก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุจนถึงอายุ 21 ปีก็ได้ลาสิกขาออกมาเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมวัดอนงคารามเกือบหนึ่งปี ก่อนจะลาออกมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์จนตลอดชีวิต ชิตเป็นผู้เชี่ยวชาญการแต่งร้อยกรองตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ใน หนังสือพิมพ์ประตูใหม่ สุภาพบุรุษ พิมพ์ไทย และหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร และในช่วงที่บวชเป็นพระภิกษุก็ได้แต่งบทละครให้แก่คณะละครปราโมทัยอีกหลายเรื่อง ความสามารถในการแต่งร้อยกรองของชิต ทำให้ได้รับพระราชทานนามสกุล "บุรทัต" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องจากทรงพอพระราชหฤทัยบทกวีนิพนธ์ปลุกใจเรื่อง "ชาติปิยานุศร" นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงยกย่องชิตมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นสามเณร เนื่องจากชิตได้แต่งบทประพันธ์สรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็นพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลงานร้อยกรองของชิต บุรทัตมีเป็นจำนวนมาก ผลงานที่ทำให้มีชื่อเสียงคือ “สามัคคีเภทคำฉันท์” แต่งในปี 2457 ในขณะที่มีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น ผลงานของชิต บุรทัตแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามเนื้อหาได้ 5 ประเภท คือ สดุดี, ชาดก, คติคำสอน, ชมธรรมชาติ และเบ็ดเตล็ด ชิตใช้นามปากกาหลายนาม เช่น “เจ้าเงาะ”, “แมวคราว”, “เอกชน” และ “ช. บุรทัต” เป็นต้น ชิต บุรทัตถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2485 รวมอายุได้ 50 ปี นับเป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ถึง 4 แผ่นดิน
7 กันยายน พ.ศ.2445 : ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรกของไทย
 
7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรกของไทย เป็นธนบัตรหน้าเดียว มี 5 ราคา คือ 5,10,20,100 และ 1,000 บาท พิมพ์โดย บ. โทมัส เดอลารู แห่งอังกฤษ มีอักษรแจ้งมูลค่าเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ และมลายู
7 กันยายน พ.ศ.2541 : แลรี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ร่วมกันก่อตั้งบริษัทกูเกิล
 
แลรี เพจ (Larry Page) และ เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) สองนักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกันก่อตั้งบริษัท "กูเกิล" (Google Inc.) ที่โรงรถของเพื่อนในเมนโล พาร์ค (Menlo Park) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กูเกิลเป็นเว็บไซต์สำหรับค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เริ่มต้นมาจากโครงงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเพจและบริน การสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตใช้ชื่อเครื่องมือค้นหาว่า "BackRub" จากนั้นทั้งสองก็ทดสอบเครื่องมือโดยจะทะเบียนโดเมนเนมชื่อ "Google.com" เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 และก่อตั้งบริษัทในปีต่อมาด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นบริษัทก็ขยายตัวเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 ขยายกิจการจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลเป็น ค้นหาสถานที่หรือแผนที่ออนไลน์ใน "กูเกิลเอิร์ธ" (Google Earth) ค้นหาตำแหน่งดวงดาวใน "กูเกิลสกาย" (Google Sky) สำหรับรับส่งอีเมลใน "จีเมลล์" (Gmail) ค้นหาและอัพ-ดาวน์โหลดวิดีโอใน "กูเกิลวิดีโอ" (Google VDO) และในปี 2548 กูเกิลยังได้ซื้อกิจการของเว็บไซต์ YouTube.com เว็บไซต์สำหรับแชร์คลิพวิดีโอยอดนิยมของโลก ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมาเทนวิว แคลิฟอร์เนีย มีพนักงานประจำ 13,077 คน เมื่อปี 2549 ทำรายได้ถึง 10.604 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

7 กันยายน พ.ศ.2352 : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จสวรรคต
 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2279 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นบุตรคนที่ 4 ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาราชนก [หลวงพินิจอักษร (ทองดี)] กับพระอัครชายา (หยก) ทรงประสูติเป็นสามัญชนมีพระนามว่า "ทองด้วง" ประสูติที่กรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการและได้ดำรงตำแหน่ง "พระยายมราช" ภายหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี 2310 ทรงเข้าร่วมกับกองทัพกู้ชาติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยาจักรี" และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ" ภายหลังจากพระเจ้าตากสินฯ สถาปนากรุงธนบุรีจนเริ่มเป็นปึกแผ่นแล้ว ในปี 2324 ก็ได้เกิดการจลาจลคือ พระยาสรรค์ กับพวกได้ก่อกบฏยกพลเข้ามาในกรุงธนบุรี จับกุมพระเจ้าตากสินฯ และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่อื่นๆ เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งกำลังไปทำศึกที่เมืองเขมรได้ทราบข่าวก็ยกทัพกลับมาที่กรุงธนบุรี จับกุมตัวพระยาสรรค์ พระเจ้าตากสินฯ และข้าราชการฝ่ายที่คิดกบฎทั้งหมดนำไปสังหารและสำเร็จโทษ จากนั้นก็เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออก แล้วทรงสถาปนา "กรุงรัตนโกสินทร์" โดยทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายนปีเดียวกัน และทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ว่า "กรุงเทพมหานครฯ" ทรงครองราชย์จนเสด็จสวรรคตในปี 2352
8 กันยายน พ.ศ.2497 : มีการลงนามในสนธิสัญญา "ซีโต้"
 
8 กันยายน 2497 มีการลงนามในสนธิสัญญา "ซีโต้" (Southeast Asia Collective Defense Treaty หรือ Southeast Asia Treaty Organization -SEATO) องค์การนานาชาติเพื่อความร่วมมือในการป้องกันการรุกราน โดยเฉพาะจากคอมมิวนิสต์ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ลงนาม ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญามี 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2498 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของโลกได้เปลี่ยนไปมากทำให้องค์การซีโต้หมดความจำเป็น และได้ยุบเลิกไปเมื่อปี 2510
8 กันยายน พ.ศ.2482 : ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม เรื่องการเคารพธงชาติ
 
8 กันยายน 2482 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อให้คนไทยยืดถือและเป็นหลักปฏิบัติ คือเมื่อได้เห็นธงชาติขึ้น-ลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือได้อาณัติสัญญาณการชัดธงชาติขึ้นหรือลดธงลง เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญมา หรือเมื่อได้ยินเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธี งานสโมสรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในโรงมโหรสพ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม การแสดงความเคารพธงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้ปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

8 กันยายน พ.ศ.2047 : ประติมากรรมหินอ่อนเดวิด เปิดแสดงเป็นครั้งแรกที่กรุงฟลอเรนซ์
 
ประติมากรรมหินอ่อน เดวิด (David) ของ มิเคลันเจโล (Michelangelo Buonarroti) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวอิตาลี เปิดแสดงเป็นครั้งแรกที่กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ประติมากรรมเดวิดเป็นหินอ่อนแกะสลักรูป พระเจ้าเดวิด (King David) ตามตำนานในคำภีร์ไบเบิล ลักษณะเป็นชายหนุ่มยืนเปลือยกาย แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความงดงามของร่างกายมนุษย์ มีความสูง 5.17 เมตร หนักราว 6 ตัน มิเคลันเจโลแกะสลักระหว่างปี 2044-2047 โดยนำหินอ่อนสีขาวมาจากเมืองคาร์รารา (Carrara) แคว้นทัสคานีของอิตาลี ในคราวที่นำออกแดสงครั้งแรกเป็นที่ฮือฮาของชาวเมืองอย่างมาก ส่งผลให้ชื่อเสียงของมิเคลันเจโนโด่งดังไปทั่วอิตาลี ประติมากรรมเดวิดเป็นรูปปั้นนับเป็นผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะในยุค "ฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ” (Renaissance) เป็นหนึ่งในประติมากรรมชิ้นเอกสองชิ้นของมิเคลันเจโล อีกชิ้นหนึ่งคือประติมากรรม "ปิเอตา" (Pieta) ปัจจุบันประติมากรรมเดวิดตั้งแสดงอยู่ที่ The Accademia Gallery กรุงฟลอเร็นซ์ นอกจากนี้ยังมีรูปจำลองประติมากรรมเดวิดตั้งแสดงอยู่หลายประเทศ
8 กันยายน พ.ศ.2479 : เริ่มเปิดใช้ ถนนสุขุมวิทเป็นครั้งแรก
 
ถนนสุขุมวิท เริ่มเปิดใช้เป็นครั้งแรก ถนนสุขุมวิทเป็นทางหลวงหมายเลข 3 (กรุงเทพ – ตราด) เริ่มตั้งแต่เขตคลองเตยในกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราดเดิมชื่อว่า "ถนนกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ” เพราะถนนไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองสมุทรปราการ ต่อมา พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 [คนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา] ผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานสร้างทางหลวงขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกคือ "โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย" และได้ทุ่มเทในการก่อสร้างทางหลวงสายสำคัญของประเทศ โครงการนี้ถือเป็นแม่บทในการวางแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ ต่อมารัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ – ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493
10 กันยายน พ.ศ.2405 : วันประสูติของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชชนนี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า
 
10 กันยายน 2405 วันประสูติของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชชนนี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) ในรัชกาลที่ 8 และ 9 พระนามเดิม "พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา” ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง ทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา” เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษาก็ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 5 ดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8 ทรงเฉลิมพระนามขึ้นเป็น "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 8 พระองค์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญก็คือ ทรงร่วมก่อตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" หรือ "สภากาชาดไทย" ในปัจจุบัน โดยทรงดำรงตำแหน่งองค์ สถานายิกาพระองค์แรก เป็นเวลานานถึง 35 ปี นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระตำหนักที่อำเภอศรีราชาให้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ชลบุรี ชื่อว่า "โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา" ในปัจจุบัน เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2498 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ขณะพระชนมายุได้ 93 พรรษา
11 กันยายน พ.ศ.2544 : เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน
 
11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ "วินาศกรรม 11 กันยายน” หรือ “9/11” โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมาลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เพ็นตากอน (Pentagon) ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 3 พัน โดยเป็นผู้โดยสารลูกเรือรวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คนและตำรวจอีก 60 คน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้ออกมาแถลงการณ์ว่ามันเป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคนออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คนโดยมีโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-ไคดา (al-Qaeda) เป็นเบอร์หนึ่ง แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา หลังเหตุการณ์นี้สหรัฐฯ ได้พยายามกู้ศักดิ์ศรีของพญาอินทรีกลับคืนมาโดยการประกาศ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (The War on Terrorism) โดยประกาศกร้าวว่า “ทุกประเทศในทุกภูมิภาคของโลกต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกฝ่ายสหรัฐฯ หรือเลือกกลุ่มผู้ก่อการร้าย” และเริ่มสงครามครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21 โดยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีประเทศอัฟกานิสถานซึ่งเป็นแหล่งพำนักของบินลาเดน และโค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบินลาเดน สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมโจมตีสหรัฐฯ นักวิชาการวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลโจมตีชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งดำเนินการคว่ำบาตรต่ออิรักเป็นเวลาหลายปี ทำให้เด็กและคนแก่จำนวนมากต้องล้มตายเพราะขาดอาหารและยา อีกทั้งความโกรธแค้นที่สะสมมานาจากหลายกรณีสหรัฐฯ ใช้อำนาจบาทใหญ่รังแกชาวมุสลิมมาตลอดแต่ไม่ทราบว่าประธานาธิบดีบุชจะตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้หรือไม่
11 กันยายน พ.ศ.2359 : วันเกิด คาร์ล ไซส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเลนส์ถ่ายภาพ คาร์ล ไซส์
 
11 กันยายน พ.ศ. 2359 วันเกิด คาร์ล ไซส์ (Carl Zeiss) ช่างฝนเลนส์ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งบริษัท "Zeiss” ผู้ผลิตเลนส์คุณภาพสูง เกิดที่เมืองไวมาร์ เรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ มานุษยวิทยา เหมืองแร่ และวิชาเกี่ยวกับการมองเห็น (Optics) ที่มหาวิทยาลัยเจนา (Jena University) จากนั้นก็เริ่มเปิดร้านฝนเลนส์เล็กๆ รับจ้างทำเลนส์แว่นสายตา จากนั้นก็ทำเลนส์สำหรับกล้องจุลทรรศน์ ปี 2389 เขาร่วมกับ เอิร์นต์ แอ็บเบอ (Ernst Abbe) และ อ็อตโต ช็อทท์ สองนักฟิสิกส์และนักเคมีก่อตั้งบริษัท “Zeiss” ที่เมืองเจนา ประเทศเยอรมนี ปีต่อมาเขาก็สามารถผลิตกล้องจุลทรรศน์ได้ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากใช้งานสะดวกและมีคุณภาพสูง คาร์ล ไซส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2431 จากนั้นลูกชายของเขาก็เข้ามาบริหารต่อ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอเมริกันเข้ายึดครองเมืองเจนา เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือเยอรมันตะวันตกกับเยอรมันตะวันออก โรงงานของไซซ์ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองแห่งเช่นกัน คือในเยอรมนีตะวันออกถูกฝ่ายรัสเซียเข้ายึดและเปลี่ยนชื่อเป็น "ไซซ์ เจนา” (Zeiss Jena) หรือ "Carl Zeiss GmbH” ผลิตกล้องถ่ายภาพขนาด 35 มม. คุณภาพต่ำ ส่วนเจ้าของเดิมก็ไปตั้งโรงงานใหม่ในฝั่งเยอรมนีตะวันตก เรียกว่า "Carl Zeiss AG” ต่อมาในปี 2516 ได้เซนต์สัญญากับบริษัท "Kyocera” ของญี่ปุ่นผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพ "Yashica” ให้ใช้เลนส์ของคุณภาพสูงของไซส์ นอกจากเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพคุณภาพสูงแล้ว ไซส์ยังผลิตอุปกรณ์ทางด้านออปติคอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ กล้องดูนก เลนส์สำหรับกล้องวิดีโอ เลนส์สำหรับกล้องดิจิทัล เลนส์สำหรับกล้องบนมือถือ เลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม และอุปกรณ์การแพทย์ ปัจจุบันไซซ์ได้ผลิตเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพหลากหลายยี่ห้อเช่น คอนแท็กซ์ (Contax) ไลกา (Leica) โรไล (Rolei) โวกท์แลนเดอร์ (Voigtlander) ฮัสเซลบลัด (Hasselblad) โซนี (Sony) โคนิกา-มินอลตา (Konica-Minolta) นิคอน (Nikon) แคนนอน (Canon) เพ็นแท็กซ์ (Pentax) ฯลฯ
12 กันยายน พ.ศ.2548 : ฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ เปิดบริการวันแรก
 
12 กันยายน พ.ศ. 2548 ฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ รีสอร์ท (Hong Kong Disneyland Resort) เปิดบริการวันแรก สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสวนสนุกและสถานที่พักผ่อนแห่งที่ 5 ของเครือวอลท์ ดิสนีย์ และเป็นแห่งที่ 2 ของเอเชียต่อจาก โตเกียว ดิสนีย์แลนด์ รีสอร์ท (Tokyo Disney Resort) ของประเทศญี่ปุ่น สวนสนุกแห่งนี้ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะลันเตา (Lantau Island) บนชายหาดอ่าวเพนนีส์ (Penny’s Bay) สร้างขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างวอลท์ ดิสนีย์กับรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ภายในแบ่งการออกเป็น 2 ส่วน คือสวนสนุกและโรงแรม ประกอบด้วยสวนสนุกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Fantasy land, Adventure land และ Tomorrow land และโรงแรมอีก 2 แห่งคือ Disney Hollywood Hotel และ Hong Kong Disneyland Hotel ราคาตั๋วแบบตลอดวันประมาณ 295-350 เหรียญฮ่องกง ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยววันละปรมาณ 34,000 คน
12 กันยายน พ.ศ.2496 : นิกิตา ครุชอฟ รับตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียต
 
12 กันยายน พ.ศ. 2496 นิกิตา ครุชอฟ (Nikita Khrushchev) ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นเลขานุการคนที่ 1 ของ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต” (Communist Party of the Soviet Union) ซึ่งเปรียบเสมือนตำแหน่งผู้นำของประเทศ ภายหลังจาก โจเซฟ สตาลิน (Joshep Stalin) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นในปี 2499 เขาก็ทำให้โลกตะลึงด้วยการด้วยการประณามความเลวร้ายของสตาลิน ผู้ทำการปฏิวัติระบบนารวม (Commune) ให้ทรัพย์สินของทุกคนเป็นของส่วนรวม และะนำโซเวียตทำสงครามเย็น (Cold War) กับสหรัฐอเมริกาแม้ครุชอฟจะดำเนินนโยบายเน้นสันติภาพ และพยายามผ่อนคลายสงครามเย็น แต่เขาก็ดำเนินนโยบายทางการเมืองผิดพลาดหลายครั้ง อาทิ วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban missile crisis) ในปี 2506 ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาตึงเครียดขึ้นอีกครั้งนอกจากนี้เขายังส่งทหารเข้าไปยังโปแลนด์และฮังการีเพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ในที่สุดเขาก็ถูกสมาชิกกรรมการเมือง (Committee for State Security หรือ KGB) นำโดย เลโอนิด เบรซนอฟ (Leonid Brezhnev) เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2507 และขึ้นเป็นผู้นำแทน หลังจากนั้นครุชอฟได้ใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญในกรุงมอสโก และเสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2514
12 กันยายน พ.ศ.2152 : เฮนรี ฮัดสัน นักเดินเรือชาวอังกฤษค้นพบแม่น้ำในอเมริกาเหนือ
 
12 กันยายน พ.ศ. 2152 เฮนรี ฮัดสัน (Henry Hudson) นักเดินเรือชาวอังกฤษ ค้นพบ "แม่น้ำฮัดสัน" (Hudson River) ในทวีปอเมริกาเหนือ เดิมทีชาวอินเดียนเผ่า โมฮิแกนส์ (Mohicans) เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำ ฮัดสัน "มูเฮคันตุก” (Muhheakantuck) ฮัดสันเป็นนักสำรวจของบริษัทดัทช์ อีสต์ อินเดีย (Dutch East India Company) ได้แล่นเรือ "Half Moon” เพื่อค้นหาเส้นทางสู่ตะวันออกไกล โดยแล่นเรือผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกมาจนถึงทวีปอเมริกาเหนือและพบแม่น้ำสายนี้ และตั้งชื่อว่า "แม่น้ำมาริเทียส” (Mauritius River) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ให้การสนับสนุนการเดินเรือคือ เจ้าชายมาไรซ์ (Prince Maurice of Nassau) ในครั้งนั้นชาวอินเดียนได้ให้การต้อนรับนักสำรวจผิวขาวอย่างเป็นกันเองเหมือนพี่น้อง จากนั้นบริษัทของเนเธอร์แลนด์ก็ได้ส่งคนเข้ามาสำรวจ จนกระทั่งปี 2167 ชาวเนเธอร์แลนด์ก็ได้บีบบังคับซื้อเกาะแมนฮัตตันจากชาวพื้นเมืองและเปลี่ยนชื่อเป็น "นิวอัมส์เตอร์ดัม” (New Amsterdam) จากนั้นก็ได้สร้างเมืองท่าขึ้นที่ปากแม่น้ำ และขับไล่เจ้าของบ้านเดิมเข้าไปอยู่ในเขตสงวน ต่อมาปี 2007 ชาวอังกฤษได้ซื้อต่อและเปลี่ยนชื่อเป็น "นิวยอร์ก” (New York City) เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน
13 กันยายน พ.ศ.2528 : บริษัท นินเทนโด เปิดตัววิดิโอเกมซุปเปอร์มาริโอ
 
13 กันยายน พ.ศ. 2528 นินเทนโด (Nintendo) บริษัทเกมของญี่ปุ่นเปิดตัววิดิโอเกม “ซูเปอร์ มาริโอ” (Super Mario Bros.) สำหรับเครื่องเล่นวิดีโอเกมขนาด 8-Bits รุ่น Nintendo Entertainment System (NES) ต่อมาได้รับความนิยมอย่างสูง จนนินเทนโดต้องออกภาคต่อตามมาอีกหลายภาค และพัฒนาให้สามารถเล่นได้กับเครื่องเล่นเกมประเภทใหม่ๆ เช่นเกมบอย เพลย์สเตชัน หรือในคอมพิวเตอร์ เกมมาริโอนี้ออกแบบโดย ชิเกรุ มิยาโมโต (Shigeru Miyamoto) ส่วนภาคของเสียงออกแบบโดย โคจิ คอนโดะ (Koji Kondo) เป็นเกมประเภท “Platform game” คือแบ่งออกเป็นฐานต่างๆ จากง่ายไปยาก โดยมีตัวละครเอกเป็นช่างประปาชาวอิตาลีสองคนคือ “มาริโอ” (Mario) ชุดสีแดง และ “ลุยยี” (Luigi) ชุดสีเขียว ผูเล่นจะต้องพามาริโอหรือลุยยีฝ่าอาณาจักรเห็ด ดำน้ำ เหิรฟ้า ต่อสู้กับเต่าหนาม เต่าบิน มังกร ดอกไม้กินคน ปลาปักเป้า ฯลฯ เพื่อไปช่วยเหลือ เจ้าหญิงลูกท้อ (Princess Peach) แต่ละด่านจะยากขึ้นเรื่อยๆ เหล่าศัตรูก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน มาริโอนับเป็นวิดิโอเกมสุดฮิตที่เด็กๆ เกือบทุกคนทั่วโลกจะต้องเคยเล่น จนกลายเป็นวิดิโอเกมขายดีตลอดกาล

14 กันยายน พ.ศ.2503 : วันก่อตั้ง โอเปก หรือ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
 
14 กันยายน พ.ศ.2503 วันก่อตั้ง "โอเปก” หรือ “องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน” (OPEC-Organization of Petroleum Exporting Countries) โดยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศคือ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดิอาระเบีย และ เวเนซูเอลา ต่อมาได้มีสมาชิกเข้ามาเพิ่มตามลำดับได้แก่ กาตาร์, อินโดนีเซีย, ลิเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, แอลจีเรีย, ไนจีเรีย, เอกวาดอ (ถอนตัวในปี 2535) และสมาชิกล่าสุดเมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมาคือ แองโกลา รวมเป็น 12 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อเป็นตัวกลางประสานงานด้านนโยบายน้ำมันระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรักษาระดับราคาให้มีความเป็นธรรม และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศผู้ผลิตปิโตรเลียมการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตนำมันรายใหญ่ทำให้โอเปกสามารถกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันซึ่งจะมีผลต่อการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก โปเปกเป็นกลุ่มที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกคือ 41.7 % ของทั้งโลก (ปี 2548) รองลงมาคือกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ผลิตได้ประมาณ 14.8-23.8 % ของปริมาณน้ำมันดิบในโลก
14 กันยายน พ.ศ.2476 : วันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
 
14 กันยายน พ.ศ. 2476 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 35 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาวาด (กัลยาณมิตร) พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2424 ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นเสด็จไปศึกษาที่ยุโรป ทรงสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ ตรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ประเทศอังกฤษ วิชาทหารช่างที่ฝรั่งเศส และทรงศึกษาการสร้างทำนบและขุดคลองที่เนเธอร์แลนด์ เสด็จนิวัติพระนครในปี 2447 ทรงเข้ารับราชการทหาร ที่เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ในปี 2451 ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรก ทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารแผนใหม่โดยนำความรู้วิชาการทหารแผนใหม่จากตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารในประเทศ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมรถไฟสายเหนือและใต้เข้าด้วยกันเรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าบุรฉัตรฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในปี 2460 พระองค์เป็นผู้ทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงขยายเส้นทางเดินรถไฟสายต่างๆ ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งรถไฟไทย" นอกจากนี้ยังทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ ทรงเป็นผู้นำเครื่องจักรมาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและถ่ายหิน ทรงตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในปี 2473 อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงต้นสกุล "ฉัตรชัย” ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร การทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันที่ 14 กันยายนของทุกปีเป็น "วันบุรฉัตร" ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีในพื้นที่ของการรถไฟในปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานนามว่า "ถนนกำแพงเพชร” เพื่อระลึกถึงพระองค์
14 กันยายน พ.ศ.2066 : สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 สิ้นพระชนม์
 
14 กันยายน พ.ศ. 2066 สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 (Pope Adrian VI) สิ้นพระชนม์ พระองค์มีพระนามเดิมว่า เอเดรียน ฟลอริสซ์ โบเยนส์ (Adrian Florisz Boeyens) ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2002 ที่เมืองยูเทรคท์ (Utrecht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน เข้าเรียนวิชาปรัชญา เทววิทยาและกฎหมายศาสนาจากมหาวิทยาลัยเลอเวน (Catholic University of Leuven) จนจบปริญาเอกเทววิทยาในปี 2034 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ของ พระจักรพรรดิ ชาร์ลส์ที่ 5 แห่งโรมัน (Emperor Charles V) และทรงได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2065 ขณะมีพระชนได้ 65 พรรษา ในสมัยนั้นคริตศาสนานิกายโรมันคาธอลิกกำลังเสื่อม เนื่องจากพระผู้ใหญ่หลายคนต่างหมกมุ่นอยู่กับพิธีกรรม ขายใบไถ่บาป และใช้ชีวิตหรูหรา จนนิกายโปรเตสแตนท์กำลังมีผู้คนให้ความเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้รับตำแหน่งพระองค์ก็ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะปฏิรูปศาสนา โดยการปรับปรุงนิกายคอทอลิกให้เคร่งครัด น่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น เช่นการพยายามยกเลิกการขายใบไถ่บาป พระองค์มีความเคร่งศาสนามาก และทรงมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านนิกายโปรเตสแตนท์ พระองค์ทรงไม่โปรดความฟุ่มเฟือยและสิ่งสนุกสนาน ศิลปินและนักดนตรีในกรุงโรมจึงไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างที่เคยเป็นมา จึงพากันย้ายออกไปเกือบหมด ส่งผลให้วัฒนธรรมการดนตรีและศิลปะของสันตสำนักตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งสันตปาปาพระองค์พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิก แต่เนื่องจากดำรงค์ตำแหน่งได้เพียงปีเดียวก็ทรงสิ้นพระชนม์ จึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก
15 กันยายน พ.ศ.2378 : ชาลส์ ดาร์วิน เดินทางถึงหมู่เกาะกาลาปาโกส
 
15 กันยายน 2378 ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เดินทางด้วยเรือบีเกิล (HMS Beagle) ถึงหมู่เกาะกาลาปาโกส สถานที่ที่เขาเริ่มเก็บข้อมูลโดยใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ แต่ได้ช่วยย้ำ "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" โดยเขาได้เขียนอธิบายทฤษฎีนี้ไว้ในหนังสือสุดคลาสสิคชื่อ "the Origin of Sprcies" (พ.ศ. 2402) ว่าด้วยการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ โดยการเลือกสรรของธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้าอย่างที่คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นการท้าทายคริสตจักรเป็นอย่างมาก
16 กันยายน พ.ศ.2530 : วันโอโซน (Ozone Day)
 
16 กันยายน 2530 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันนี้ของทุกปีเป็น "วันโอโซน" (Ozone Day)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศปฏิบัติต่ออนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อช่วยกันลดใช้สาร CFC และสาร Halon ซึ่งเป็นตัวทำลายบรรยากาศโอโซนในชั้นบรรยากาศ

16 กันยายน พ.ศ.2465 : รัชกาลที่ 6 พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ
 
16 กันยายน 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอกกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทานและกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

17 กันยายน พ.ศ.2330 : ผู้แทนจาก 12 มลรัฐ ร่วมลงนามใน รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา
 
17 กันยายน พ.ศ. 2330 ผู้แทนจาก 12 มลรัฐ มาร่วมลงนามใน "รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา” (United States Constitution) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เวลาร่างประมาณ 4 เดือน โดยได้พื้นฐานแนวคิดมาจากนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสและสวิสได้แก่ มองเตสกิเออ (Montesquieu) และ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เมื่อลงนามรับรองเสร็จแล้ว ผู้แทนของแต่ละรัฐก็จึงนำร่างรัฐธรรมนูญกลับไปให้สภานิติบัญญัติในรัฐของตนให้สัตยาบัน รัฐธรรมนูญแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากกฎหมายที่ออกโดยสถานิติบัญญัติของรัฐขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะเป็นโมฆะทันที รัฐธรรมนูญของอเมริกานับเป็นฉบับแรกของโลกที่ใช้คำเรียกตัวเองว่าเป็น "รัฐธรรมนูญ” (Constitution) และเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) ที่ยังใช้บังคับอยู่ยาวนาน และเก่าแก่ที่สุดในโลก นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 200 กว่าปีมาแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 27 ครั้งเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญอื่นๆ ทั่วโลก สาเหตุที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกายั่งยืนคงทน เป็นเพราะเขียนขึ้นมาอย่างเรียบง่าย ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย กำหนดเพียงหลักการกว้างๆ โดยเปิดช่องเอาไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามสมควร ความยืดหยุ่นนี่เองคือความแข็งแกร่งข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้
17 กันยายน พ.ศ.2403 : มีการออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป
 
17 กันยายน พ.ศ. 2403 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป ให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนผลิตโดยเครื่องจักรออกใช้แทนเงินพดด้วง มีลักษณะเป็นเหรียญตราพระมหามงกุฎ พระแสงจักร ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย
18 กันยายน พ.ศ.2362 : วันเกิด ฌอง เลอง ฟูโกต์ นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส
 
18 กันยายน พ.ศ. 2362 วันเกิด ฌอง เลอง ฟูโกต์ (Jean Bernard Leon Foucault) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ผู้พิสูจน์ให้โลกรู้ว่าโลกหมุนรอบตัวเอง ฟูโกต์เกิดที่กรุงปารีส บิดาเป็นพ่อค้าหนังสือ เขาเป็นเด็กขี้โรคและมีปัญหาทางสายตา จึงไม่ชอบไปโรงเรียน แม่ของเขาจึงต้องสอนหนังสือให้ที่บ้าน เขาเรียนแพทย์ได้ไม่นานก็ย้ายไปเรียนฟิสิกส์แต่ก็เรียนไม่จบ เพราะมัวแต่หลงไหลการประดิษฐ์ทดลอง เขาได้ช่วย ดาแกร์ (Louis Daguerre) คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพด้วยอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ช่วย อาร์มองด์ ฟิโซ (Armand Fizeau) วัดความเร็วแสงได้เท่ากับ 298,000 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งแตกต่างจากค่าปัจจุบันเพียง 0.6 % เท่านั้นเอง และยังได้พบอีกว่า แสงเคลื่อนที่ในน้ำได้ช้ากว่าในอากาศ การทดลองของฟูโกต์จึงช่วยสนับสนุนความคิดที่ว่าแสงเป็นคลื่นมิใช่เป็นอนุภาค ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือการพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่าโลกหมุนรอบตัวเอง โดยใช้ลูกตุ้มแขวนจากเพดานสูง พร้อมทั้งเชิญทักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสให้มาเป็นสักขีพยานการทดลองครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่ถ่ายภาพจุดบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) ได้ ในบั้นปลายชีวิตเขาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาตและเสียชีวิตในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2411 รวมอายุได้ 49 ปี
18 กันยายน พ.ศ.2505 : ผืนป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
 
18 กันยายน พ.ศ. 2505 ผืนป่าเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็น "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย อทช.เขาใหญ่มีพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี ประกอบด้วยป่าหลายประเภท ทั้งป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และป่าที่กำลังฟื้นตัวหลังถูกทำลาย ในอดีตป่าผืนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพญาไฟ มีการสำรวจพบพืชพรรณ 2,000-2,500 ชนิด นก 340 ชนิด ผีเสื้อ 189 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง กระทิง ชะนี เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ผืนป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำและลำธารใหญ่น้อยหลายสาย มีน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง น้ำตกเหวนรก น้ำตกผากล้วยไม้ ฯลฯ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขตร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 คณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นบัญชีเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นับเป็นแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ปัจจุบันมีนักท่องเทียวปีละประมาณ 1.25 ล้านคน ในสมัยหนึ่งรัฐบาลจึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขาใหญ่จนเลยเถิด ขนาดอนุญาติให้สร้างโรงแรม รีสอร์ท ที่พักอยู่กลาง อทช.เขาใหญ่ แต่ในที่สุด รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนได้สั่งให้รื้อถอนโรงแรมและที่พักเหล่านั้นออก ล่าสุดรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ กำลังเร่งแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนอีกครั้ง โดยการเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ เอาผืนป่าในอุทยานมาก่อให้เกิดมูลค่า ด้วยการแบ่งพื้นที่ในอุทยานเป็นเขตบริการและเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเช่าอุทยานเพื่อทำรีสอร์ท โรงแรม หรือธุรกิจท่องเที่ยวได้
19 กันยายน พ.ศ.2403 : รัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์
 
19 กันยายน พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ หลังจากทิ้งรกร้างมานาน
19 กันยายน พ.ศ.2417 : รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดประพาสพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก
 
19 กันยายน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยามคือ "มิวเซียมหลวง" (Royal Museum) ให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก สิ่งของที่นำมาแสดงมีทั้งโบราณวัตถุและศิลปวัถุที่ทรงรวบรวมไว้ มีทั้งสัตว์สตัฟ เครื่องอาวุธโบราณ เครื่องทรง และสิ่งของพระมหากษัตริย์นำมาเปิดให้ประชาชนเข้าชมทั้งนี้กิจการพิพิธภัณฑ์ของสยามเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทรงริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่พระที่นั่งราชฤดี แล้วทรงย้ายไปที่ "พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ ในพระบรมมหาราชวังเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้เมื่อครั้งทรงผนวจและเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ แต่ยังมิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ก็ได้ทรงเปิดมิวเซียมหลวงให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกในการเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา ต่อมาในปี 2430 ทรงย้ายมิวเซียมหลวงไปอยู่ตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งเป็นบริเวณ "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร” ปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2538 คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น "วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
20 กันยายน พ.ศ.2489 : มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ขึ้นเป็นครั้งแรก
 
20 กันยายน พ.ศ. 2489 เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) หนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองคานส์ ตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส โดย ฌอง ซาอี (Jean Zay) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส (Mostra de Venise) ในช่วงทศวรรษที่ 1930s กำลังถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสม์ของอิตาลี จึงจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของฝรั่งเศสขึ้นมาบ้างในที่สุดก็เลือกเมืองคานส์ซึ่งเป็นเมืองพักตากอากาศที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส โดยมี หลุยส์ ลูมิแยร์ (Louis Lumiere) เป็นประธานคนแรกในปี 2482 แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน จึงต้องยุติไว้ หลังจากสงครามสงบแล้วจึงรื้อโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้งในปี 2489 โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่บ่อนกาสิโนเก่าแก่ที่เมืองคานส์ จากนั้นก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนกันยายน ในปี 2494 เทศกาลได้เลื่อนมาเป็นเดือนพฤษภาคม ปัจจุบันจัดที่อาคาร Palais des Festivals et des Congres เมืองคานส์ มีภาพยนต์เข้าฉายที่เทศกาลนี้แล้วกว่า 3 หมื่นเรื่อง ภายในงานมีการประกวดภาพยนตร์ และตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ รวมไปถึงนิทรรศการและงานเสวนาด้านภาพยนตร์ แต่ละปีจะมีการมอบรางวัลใหญ่ได้แก่ รางวัล “Palme d’Or” (Golden Palm) นอกจากนี้ยังมีรางวัล “Grand Prix”, “Best Actress”, “Best Actor”, “Best Director”, “Best Screenplay”, “Jury Prize” และ “Best Short Film” ภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวที่ได้รางวัลจากเมืองคานส์ได้แก่ "สัตว์ประหลาด” (Tropical Malady) ผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัล “Jury Prize" เมื่อปี 2547
20 กันยายน พ.ศ.2468 : วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
 
20 กันยายน พ.ศ. 2468 วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประสูติที่เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมันนี ขณะที่พระราชบิดาทรงศึกษาวิชาการทหารเรืออยู่ที่นั่น ทรงมีพระนามเดิมว่า "หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล” เสด็จกลับประเทศไทยครั้งแรกตอนพระชนมายุได้ 3 พรรษา ทรงประทับที่วังศระปทุม ในระหว่างนั้นพระราชบิดาทรงพระประชวรและเสด็จทิวงคต พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีมาตั้งแต่นั้น ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พระราชชนนีทรงนำพระราชโอรสไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้เข้าศึกษาต่อที่นั่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 โดยมิได้มอบหมายให้เจ้านายพระองค์ใดสืบรัชทายาท คณะรัฐมนตรีจึงกราบบังคมทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลให้ขึ้นครองราชย์ ขณะที่ทรงพำนักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทรงมีพระชันษาเพียง 9 พรรษา ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2477 ว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ภายหลังจากเจ้าพระยาพิชเยนฯ ถึงแก่กรรม ก็ได้แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกระทั่งเสด็จกลับประเทศไทย ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จนิวัติพระนคร 2 ครั้ง จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงจึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และทรงเริ่มปฏิบัติภาระกิจครั้งแรก โดยการเสด็จพระราชดำเนินประพาสสำเพ็ง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวจีนกับชาวไทย จากนั้นก็ทรงปฏิบัติภาระกิจครั้งสุดท้ายโดยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเกษตรกรที่บางเขน ก่อนที่จะทรงเตรียมตัวกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ด้วยสาเหตุทรงต้องพระแสงปืน ณ ห้องพระบรรทม ที่พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ขณะพระชนมายุเพียง 21 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 12 ปี แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นาน แต่ประชาชนชาวไทยต่างก็รักและเคารพพระองค์ในฐานะกษัตริย์ผู้รักประชาธิปไตยพระองค์หนึ่งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มิถุนายน 2489
20 กันยายน พ.ศ.2396 : วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
20 กันยายน พ.ศ. 2396 วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ทรงมีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชวรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร" ขึ้นครองราชย์ภายหลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ก่อนจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา เมื่อเริ่มรัชกาลจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนกระทั่งทรงมีพระชนมายุถึง 18 พรรษาจึงมีพระราชอำนาจเต็ม พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้ทันสมัยขึ้น ทรงผนึกแผ่นดินล้านนา ทรงออกพระราชบัญญัติให้เลิกทาส ในยุคนั้นประเทศตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคม พระองค์ได้เสด็จไปต่างประเทศเพื่อทอดพระเนตรความเจริญในประเทศตะวันตก แล้วนำกลับมาพัฒนาบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็เสด็จประพาสต้น เพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร นอกจากนี้ยังทรงบำรุงความผาสุขของประชาชน โดยทรงริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เช่น การรถไฟ ไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โรงพยาบาล การศึกษา ศาสนา และทรงส่งเจ้านายหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรปเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ ทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมทั้งหมด 92 พระองค์ ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ การพัฒนาของพระองค์ส่งผลให้สยามเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันปิยมหาราช" รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ขณะพระชนมายุได้ 58 พรรษา ทรงครองราชย์นาน 42 ปี
21 กันยายน พ.ศ.2409 : วันเกิด เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์
 
21 กันยายน พ.ศ. 2409 วันเกิด เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ หรือ "เอช. จี. เวลส์” (Herbert George Wells หรือ H. G. Wells) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์” ร่วมกับ จูล เวิร์น (Jules Gabriel Verne) เกิดที่เมืองบรอมลีย์ (Bromley) ในมณฑลเคนต์ (Kent) ทางตอนใต้ของอังกฤษ ครอบครัวเปิดร้านขายของชำเล็กๆ เวลส์จึงต้องทำงานไปพร้อมกับเรียนหนังสือ เขาเรียนจบคณะสัตวิทยาจาก University of London External Programme เมื่อเรียนจบใหม่ๆ เขายังไม่มีรายได้ จึงต้องไปอาศัยอยู่กับป้า ทำให้ตกหลุมรักลูกพี่ลูกน้องของตัวเองจนได้แต่งงานกันในที่สุด แต่อยู่ด้วยกันไปกี่ปีก็ทิ้งไปมีคนใหม่ ด้วยเป็นคนเจ้าชู้ จากนั้นก็เริ่มเขียนหนังสือนิยายที่อิงหลังการทางวิทยาศาสตร์ และบทความส่งไปตามนิตยสารและหนังสือพิมพ์เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากนิยายเรื่อง "Anticipations” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2444 ผลงานในช่วงแรกๆ ของเขาเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซีต่อมาก็พัฒนาเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกในอุดมคติ เช่น "The Time Machine”, “The Invisible Man”, “The War of the Worlds” และ “The First Men in the Moon” นอกจากนี้ยังเขียนเรื่องสั้นไว้จำนวนหนึ่ง เรื่องที่มีชื่อเสียงคือ "The Country of the Blind" เมื่อเขาเริ่มพบว่ามนุษย์ใช้อำนาจของวิทยาศาสตร์ไปในทางหายนะ ผลงานระยะหลังๆ ของเขาจึงเริ่มเผยให้เห็นด้านมืดของวิทยาศาสตร์ และถึงเวลาที่ธรรมชาติจะตอบแทนมนุษย์บ้าง เช่น "The Shape of Things to Come” และ “The Sleeper Awakes” เขามีความคิดเชิงสังคมนิยม ผลงานบางเรื่องจึงเป็นนิยายวิทยาศาสตร์เชิงสังคมนิยม เช่น "The Island of Doctor Moreau” ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาเกิดความรู้สึกท้อแท้หมดหวังกับอนาคตของมนุษยชาติ เขาป่วยและเสียชีวิตในลอนดอนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2489 ขณะอายุ 80 ปี
21 กันยายน พ.ศ.2480 : นิยายเรื่อง ฮอบบิท วางแผงเป็นครั้งแรก
 
21 กันยายน พ.ศ. 2480 "เดอะ ฮอบบิท” (The Hobbit) หนังสือนวนิยายแฟนตาซีของ เจ. อาร์. อาร์. โทคคีน (J. R. R. Tolkien) วางแผงเป็นครั้งแรก หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์แห่งวงแหวน "The Lord of the Ring” เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของ "ฮอบบิท” ที่ชื่อ บิลโบ แบ๊กกินส์ (Bilbo Baggins) ที่ออกเดินทางไปค้นหาสมบัติยังดินแดนตะวันออกใน "มิดเดิล-เอิร์ธ” (Middle-Earth) กับเพื่อนๆ คนแคระและพ่อมด "แกนดัล์ฟ” (Gandalf) จนกระทั่งได้ครอบครองแหวน… ในหนังสือเล่มนี้มีภาพประกอบที่โทลคีนวาดด้วยตัวเอง นิยายชุดนี้ของโทลคีนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วเกาะอังกฤษ ผลงานของโทลคีนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมักจะเป็นเรื่องราวผจญภัยแฟนตาซี ซึ่งเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความรู้ทางภาษาศาสตร์ วรรณคดีโบราณของอังกฤษ-เยอรมัน และตำนานเทพปกรณัมของนอร์ส (Norse) ประสบการณ์บวกกับจินตนาการ และทัศนคติต่อโลกและมนุษย์ อาทิ ความรักในธรรมชาติ กิเลสตัณหาของมนุษย์ การแย่งชิงอำนาจของมนุษย์, ความคิดต่อต้านอุตสาหกรรม ซึ่งเขาซ่อนไว้ระหว่างบรรทัดได้อย่างแนบเนียน เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งแฟนตาซีสมัยใหม่ระดับสูง” (father of the modern high fantasy genre)
21 กันยายน พ.ศ.2529 : องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันนี้เป็น วันสันติภาพสากล
 
21 กันยายน พ.ศ. 2529 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันนี้เป็น "วันสันติภาพสากล" (The International Day of Peace) เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานสหประชาชาติ ชุมชน และองค์กรอิสระ ให้เฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก
22 กันยายน พ.ศ.2431 : กรุงเทพฯ เริ่มเปิดบริการรถรางเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย
 
22 กันยายน พ.ศ. 2431 กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเปิดบริการรถราง เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดยขณะนั้นยังใช้ม้า 8 ตัว แยกเป็น 2 พวงพวงละ 4 ตัว ลากรถให้วิ่งไปตามราง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นใช้กำลังไฟฟ้าใน พ.ศ. 2437 ถือว่าประเทศไทยมีรถรางไฟฟ้าวิ่งก่อนหน้าประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายเมืองในยุโรป
22 กันยายน พ.ศ.2405 : ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาส
 
22 กันยายน พ.ศ. 2405 หลังจากเหตุการณ์การรบอย่างนองเลือดที่สุดของสงครามกลางเมืองอเมริกันที่เมืองแอนติแตม ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้ประกาศเลิกทาสโดยให้ทาสในเขตแดนที่เป็นกบฎ 11 มลรัฐภาคใต้ เป็นอิสระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2406 เป็นต้นไป
23 กันยายน พ.ศ.2482 : ซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรียเสียชีวิต
 
23 กันยายน พ.ศ.2482 ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรียผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) เสียชีวิต เขาเชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรมคือ สัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) เขาเป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ และสร้างทฤษฎีนี้ขึ้น
23 กันยายน พ.ศ.2479 : รัฐบาลไทยได้ตั้งหน่วย ยุวชนทหาร
 
23 กันยายน พ.ศ.2479 รัฐบาลไทยได้ตั้งหน่วยยุวชนทหาร เพื่อฟื้นฟูกองกำลังกึ่งทหารขึ้น โดยฝึกวิชาทหารให้แก่นักเรียนนิสิตนักศึกษา ซึ่งกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบ มีแผนกที่ 6 ในกรมจเรทหารบก มีหน้าที่ฝึกวิชาทหารให้แก่ยุวชนทหาร ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมยุวชนทหาร เมื่อปี พ.ศ.2480 ต่อมาหน่วยนี้ถูกยุบเลิกไป เมื่อปี พ.ศ. 2488
23 กันยายน พ.ศ.2389 : มีการค้นพบ ดาวเนปจูน หรือ ดาวเกตุ
 
23 กันยายน พ.ศ. 2389 มีการค้นพบ ดาวเนปจูน (Neptune) หรือ ดาวเกตุ ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ของระบบสุริยะจักรวาล โดย เออเบน เลอแวริเยร์ (Urbain Le Verrier) จอห์น เคาช์ (John Couch Adams) โจฮานน์ จี. กอลเล (Jahann Gottfried Galle) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรังเศศ อังกฤษ และเยอรมันตามลำดับ ดาวเนปจูนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50,538 กิโลเมตร มีมวล 17.2 เท่าของมวลของโลก ใช้เวลาหมุนครบรอบตัวเอง 16 ชั่วโมง มีองค์ประกอบหลักของบรรยากาศบริเวณผิวนอกเป็นก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเธน ในชั้นบรรยากาศมีกระแสลมที่รุนแรงมากคือ 2,500กม./ชม. อุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -220 องศาเซลเซียส เนื่องจากอยู่ไกลดวงอาทิตย์มาก แต่แกนกลางภายในของดาวเนปจูน ประกอบด้วยหินและก๊าซร้อนประมาณ 7,000 องศาเซลเซียส
24 กันยายน พ.ศ.2516 : สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เริ่มเปิดการจราจรเป็นวันแรก
 
24 กันยายน พ.ศ. 2516 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เริ่มเปิดการจราจรเป็นวันแรก สะพานแห่งนี้สร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อเขตพระนครกับเขตบางพลัด กทม. เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2514 โดยความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในการออกแบบและให้เงินช่วยเหลือ ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท OBAYACHI-GUMI CO.,LTD. และ บริษัท SUMITOMO CONSTRUCTION CO.,LTD. เป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทาง กว้าง 26.60 เมตร ยาว 622 เมตร สูง 11.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 117,631,024.98 บาท ได้รับพระราชทานนามว่า "สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพื้นที่ของสะพานฝั่งพระนครเคยเป็นเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล
24 กันยายน พ.ศ.2491 : วันก่อตั้งบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์
 
24 กันยายน พ.ศ. 2491 วันก่อตั้งบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) บริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย โซอิชิโร ฮอนดะ (Soichiro Honda) วิศวกรชาวญี่ปุ่น บริษัทแห่งนี้ผลิตรถยนต์, รถบรรทุก, รถจักรยานยนต์, หุ่นยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมหนักอีกหลายประเภท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ฮอนด้าเริ่มรุกตลาดโลกโดยการผลิตจักรยานยนต์ และเริ่มประสบความสำเร็จจากรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ซึ่งเริ่มออกขายในปี 2515 และฮอนด้าแอคคอร์ด ในปี 2519 ต่อมาในปี 2529 ฮอนด้าได้สร้างยี่ห้อใหม่ในสหรัฐอเมริกา คือ "แอคิวร่า" (Acura) ซึ่งเป็นยี่ห้อรถญี่ปุ่นรายแรกที่ไปเปิดรถยี่ห้อใหม่ในอเมริกา
24 กันยายน พ.ศ.2472 : สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทิวงคต
 
24 กันยายน พ.ศ. 2472 "วันมหิดล" สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทิวงคตด้วยโรคตับอักเสบ ที่โรงพยาบาลศิริราช พระชนมายุ 38 ชันษา พระนามเดิมคือ "สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช" พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนมักคุ้นเคยกับพระนาม "กรมหลวงสงขลานครินทร์" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล" ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2494 ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้วันนี้เป็น "วันมหิดล"
25 กันยายน พ.ศ.2541 : วันสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 
25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มีสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย คำขวัญประจำมหาวิทยาลัยคือ "การดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่สุด" ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือดอกหอมนวล หรือดอกลำดวน สีประจำมหาวิทยาลัยคือสีแดง-ทอง เปิดสอน 8 คณะ ระดับปริญญาตรี โท เอก
25 กันยายน พ.ศ.2473 : วันเกิด สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งของไทย
 
25 กันยายน พ.ศ. 2473 วันเกิด สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย เดิมชื่อลำดวน สมบัติเจริญ เกิดที่สุพรรณบุรี เริ่มหลงใหลการร้องเพลงมาตั้งแต่วัยรุ่น ตอนที่เป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ เขามักจะร้องเพลงให้เพื่อน ๆ ทหารฟัง เมื่อมีงานสังสรรค์เขาก็จะขึ้นร้องเพลงอยู่เสมอ จนที่สุดเขาก็ได้ย้ายเข้าไปประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ และเพลง "น้ำตาสาวเวียง" เพลงแรกของเขาได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปี 2496 เขามักจะมีเทคนิคในการดึงดูดใจผู้ชมคือ ทั้งร้อง ทั้งเล่นตลก เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม เพลงที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือเพลง "ลืมไม่ลง" แม้ชีวิตนักร้องเพลงลูกทุ่งของเขาจะมีอายุเพียง 15 ปี แต่ผลงานของเขาได้ทำให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
26 กันยายน พ.ศ.2418 : คอต หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทยออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์
 
26 กันยายน พ.ศ. 2418 คอต (COURT) หนังสือพิมพ์รายงานข่าวของทางราชการ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ โดยมี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นองค์บรรณาธิการ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ข่าวราชการ ในปี 2419
26 กันยายน พ.ศ.2123 : เซอร์ฟรานซิส เดรก นักเดินเรือชาวอังกฤษแล่นเรือรอบโลกสำเร็จ
 
26 กันยายน พ.ศ. 2123 เซอร์ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) นักสำรวจและเดินเรือชาวอังกฤษ สามารถแล่นเรือได้รอบโลกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2120 เขาได้ออกเดินทางพร้อมกับเรือ 5 ลำสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านช่องแคบแมกเจลแลนด์ แต่หลังจากที่เรือหลายลำได้รับความเสียหายจนเหลือแต่ลำของเขาเพียงลำเดียว ที่ชื่อว่า โกลเด็นไฮนด์ (The Golden Hind) เขาแล่นข้ามหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงเกาะเปลิว แล้วจึงเดินทางกลับอังกฤษผ่านแหลมกู๊ดโฮป นับเป็นนักเดินเรือชาวอังกฤษคณะแรกที่เดินทางรอบโลกได้สำเร็จ ต่อมาในปี 2128 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน หรือ เซอร์ (Sir)
27 กันยายน พ.ศ.2230 : คณะราชทูตฝรั่งเศส ชุดที่สอง มาถึงประเทศไทย
 
27 กันยายน พ.ศ. 2230 คณะราชทูตไทยโดย ออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยคณะราชทูตฝรั่งเศส ชุดที่สองมี ม. เดอลาลูแบร์ เป็นหัวหน้า มาถึงประเทศไทย
27 กันยายน พ.ศ.2133 : พระสันตะปาปา เออร์บัน ที่ 7 เสียชีวิต
 
27 กันยายน พ.ศ. 2133 พระสันตะปาปาเออร์บัน ที่ 7 (Pope Urban VII) เสียชีวิตหลังจากทรงได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสันตะปาปาเพียง 13 วัน นับเป็นพระสันตปาปาที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์
27 กันยายน พ.ศ.2448 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับสมการก้องโลก E=mc2
 
27 กันยายน พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง "Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content?” ("จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ”) ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก E=mc2 สมการนี้แสดงความสัมพัทธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวลเพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำสู่ผลที่ว่าไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" (theory of relativity) แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลกด้วยผลงานเด่นๆ 3 ผลงานในปีนี้ คือ “ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก” (Photoelectric Effect) “การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน” (Brownian Motion) และ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ” (special relativity) แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้ ต่อมาได้มีการประกาศให้ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น "ปีฟิสิกส์โลก” (World Year of Physics 2005) และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษปีมหัศจรรย์ไอน์สไตน์
28 กันยายน พ.ศ.2438 : หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศสเสียชีวิต
 
28 กันยายน พ.ศ. 2438 หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส เสียชีวิต ปาสเตอร์เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2365 ที่เมืองโดล รัฐจูรา แต่ไปเติบโตที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbois) บิดาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโปเลียน ตอนเด็กๆ เขาเคยสนใจศิลปะ ต่อมาก็หันมาสนใจเคมี และสำเร็จการศึกษาวิชาเคมีจากมหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasbourg University) จากนั้นก็เริ่มงานเป็นนักเคมีในห้องทดลอง ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา และสร้างคุณประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน คือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในอดีตเป็นโรคที่สามารถคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เขายังค้นพบวัคซีนอีกหลายชนิด ได้แก่ อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ ในปี 2405 เขาได้ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ พาสเจอร์ไรซ์เซชัน (pasteurization) เป็นครั้งแรก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการถนอมอาหารเป็นอย่างมาก ต่อมาเขาได้ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่างๆ จนสามารถค้นพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นครังแรกในปี 2428 นอกจากนี้ยังพบวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์อีกด้วย ต่อมาในปี 2430 เขาก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก (ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” เป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย) ทุกวันนี้สถาบันปาสเตอร์ยังคงเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในโลก คณะวิจัยที่นี่เป็นคณะแรกๆ ที่ค้นพบเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
28 กันยายน พ.ศ.2460 : พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460
 
28 กันยายน พ.ศ. 2460 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศไทยออกประกาศ "พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460" แก้ไขลักษณะธงชาติจากธงช้างที่เริ่มใช้เมื่อปี 2459 ให้เป็นธงไตรรงค์ ซึ่งใช้เป็นธงชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้
29 กันยายน พ.ศ.2061 : วันเกิด จาโคโป โรบัสตี จิตรกรคนสุดท้ายแห่งยุคเรอเนซองส์
 
วันเกิด จาโคโป โรบัสตี (Jacopo Robusti) หรือ "ตินโตเร็ตโต" (Tintoretto) จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายแห่งยุคเรอเนซองส์ เกิดที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรคนหัวปีในจำนวนพี่น้อง 21 คน บิดาเป็นช่างย้อมผ้า ซึ่งภาษาอิตาเลียนเรียกว่า "tintore" เด็กชายโรบัสตีจึงมีชื่อเล่นว่า "Tintoretto" ซึ่งแปลว่า “บุตรของช่างย้อมผ้า” เขาชอบวาดรูปโดยขีดเขียนผนังบ้านมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 12 ขวบบิดาพาไปฝึกงานกับ ติเตียน (Titian) จิตรกรใหญ่แห่งเมืองเวนิซ แต่เรียนได้เพียง 10 วันก็ถูกไล่ออก หลายคนคิดว่าคงเป็นเพราะติเตียนในวัย 56 ปีรู้สึกริษยาความสามารถของตินโตเร็ตโต แต่บางคนก็คิดว่า ฝีมือตินโตเร็ตโตแสดงความเป็นอิสระที่ไม่ต้องการครูใด ๆ มาสอน ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ฝึกฝนวาดภาพโดยการศึกษาผลงานของมิเกลันเจโลและติเตียน เขามีคติว่า “จงใช้สีเยี่ยงติเตียน และจงวาดลายเส้นเยี่ยงมิเกลันเจโล” ("Michelangelo’s design and Titian’s color") ภายหลังฝีมือของเขาแก่กล้าเทียบเท่าติเตียน ในบั้นปลายชีวิตจิตรกรร่วมรุ่นต่างก็ยกย่องให้เขาเป็น "มิเกลันเจโลแห่งเวนิซ" เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 3237 ขณะอายุได้ 70 ปีผลงานของตินโตเร็ตโตส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนา เทพนิยาย ภาพพอร์เทรต และภาพสเก็ตช์ ผลงานชิ้นสำคัญเป็นภาพขนาดใหญ่คือ "The Last Supper”, “The Washing of the Feet”, “The Abduction of the Body of St. Mark"
30 กันยายน พ.ศ.2511 : วันสุดท้ายของการเดินรถรางสายรอบเมืองของกรุงเทพฯ
 
วันสุดท้ายของการเดินรถรางสายรอบเมือง ซึ่งเป็นรถรางสายสุดท้ายของกรุงเทพฯ