เปิดตำนานห้างหรู ณ บางกอก

  • Print
 
ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยาม ณ เวลานั้น มีห้างขายของหรูหราที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น ห้างแบดแมน ห้างเอส.เอ.บี. ห้างบี.กริมแอนโก ห้าง F.Grahlert & Co., Jewellers. ห้างสิทธิภัณฑ์ ห้างยอนแซมสัน
 
ปัจจุบันในไทยเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหรามากมาย มีสินค้าให้เลือกจับจ่ายได้ทั้งของไทยและของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแพรพรรณ น้ำหอม เครื่องใช้ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์หรูหรามากมาย ที่สามารถหาซื้อของทั้งหมดที่กล่าวมานั้นได้ภายในห้างเดียว แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยาม ณ เวลานั้นจะมีห้างขายของหรูหราที่นำเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ ถ้ามี มีห้างอะไรบ้าง แล้วห้างไหนขายอะไรบ้าง วันนี้ Sense & Scene ขอเป็นนักสืบประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น ไปคอยสืบเสาะหาภาพ ที่ตั้งและประวัติของห้างหรูหราในยุคนั้นมาบอกกล่าวเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ให้ท่านได้เพลิดเพลินนึกย้อนอดีตผ่านกาลเวลาไปกับพวกเรา
 
มาเริ่มย้อนอดีตผ่านเวลากันที่ห้างกลุ่มแรก ห้างขายสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประเภทสินค้าหรูหรา มียี่ห้อ ณ เวลานั้นคือ ห้างแบดแมน, เอส.เอ.บี. และ บี.กริมแอนโก สินค้าของทั้งสามห้างนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ และเป็นสินค้าที่มีราคาแพงด้วยกันทั้งสิ้น
 
ห้างแบดแมน
มีชื่อเต็มๆ ว่า ห้างแบดแมน แอนด์กำปะนี (Harry A. Badman and Go.,) สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) นับว่าเป็นห้างฝรั่งรุ่นแรกๆ ของไทย เดิมที “ห้างแบดแมน” ตั้งอยู่ที่หัวมุมกระทรวงมหาดไทย ถนนบำรุงเมือง ก่อนจะย้ายมาตั้งอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา หัวถนนราชดำเนินกลาง
 
 
สำหรับ “ห้างแบดแมน” เริ่มกิจการเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ (ร.ศ. ๙๗) เป็นห้างขายของจากต่างประเทศ คล้ายๆ ห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน และเล่าลือกันว่างห้างแบดแมนมีความหรูหรามาก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำมาขาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของฝรั่งทันสมัย เช่น สุรา ยารักษาโรค และพืชไร่ที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ห้างแบดแมนจึงกลายเป็นห้างที่เจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์เข้ามาซื้อสินค้ากันมาก เมื่อห้างแบดแมนได้ปิดกิจการลงแล้วได้ใช้เป็นตึกกรมโฆษณาการในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๕๐๔ (ร.ศ. ๑๕๓-๑๗๙) จึงได้รื้อและสร้างอาคารพาณิชย์ดังเช่นในปัจจุบัน
 
ห้าง เอส.เอ.บี.
ห้างสัญชาติเบลเยียม  เป็นห้างแรกที่จำหน่ายสินค้าจากยุโรป คำว่า S.A.B. (Societe Anonyme Belge.) มาจากชื่อเต็มๆ ของบริษัทนี้ คือ Societe Anonyme Belge pour le commerce et L’Industrie au Siam (บริษัทเบลเยี่ยมเพื่อการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมในสยาม จำกัดมหาชน) ตั้งอยู่บริเวณแยก S.A.B. บริเวณที่ถนนวรจักรตัดกับถนนเจริญกรุง
 
 
ห้างนี้แรกเดิมทีเปิดเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายอะไหล่รถยนต์และสินค้านำเข้าหรูหรา เป็นห้างขายนาฬิกานำเข้าจากยุโรป เช่น ยี่ห้อ Rolex, Tudor หรือแม้แต่ปากกา Sheaffer และสินค้าราคาแพงอื่นๆ ซึ่งได้มีหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อทรงเลือกซื้อสินค้าดังเช่น พระกลด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวังรื่นฤดี ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบันนี้หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าได้เข้ามาทำการแทน หลังจากที่บริษัท S.A.B. ย้ายออกไป
 
ห้าง บี.กริมแอนโก
ห้างบี.กริมแอนโก (ตึกแรก) ตั้งอยู่มุมถนนเจริญกรุง-ถนนมหาไชยเชิงสะพานดำรงสถิตย์ (สะพานเหล็กบน) หรือสามยอด สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ (ร.ศ. ๒๓๐) และต่อมาตึกนี้ได้เป็นที่ทำการบริษัทไฟฟ้าสยาม คอร์เปอร์เรชั่น ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นตึกที่ทำการบริษัท ไทยนิมพานิช
 
เมื่อย้ายที่ทำการจากตึกแรกแล้วก็ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานภาณุพันธุ์ บริเวณเดียวใกล้กันกับวังบูรพาภิรมย์ในอดีต
 
 
ธุรกิจของห้าง บี.กริม เจริญรุดหน้าไปอย่างมากในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวใน พ.ศ. ๒๔๖๐ (ร.ศ. ๑๓๕) เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อสงครามสงบ เปิดห้างใหม่อีกครั้งโดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชอนุญาตให้สร้างสำนักงานใหม่ ณ ถนนมหาดไทย
 
ห้าง บี.กริมยังได้ขยายกิจการเพิ่มเติมนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาจำหน่าย เช่น ขวดยา นาฬิกา กระบี่ แว่นตา โคมไฟ เตียง หรือแม้แต่กระเบื้อง ที่ใช้สร้างวัดพระแก้วมรกตและวัดอรุณฯ ซึ่งสินค้าทั้งหมดแม้จะไม่ได้ผลิตโดย บี.กริม แต่สินค้าทุกชิ้นต้องติดตราสินค้า บี.กริม ไม่เว้นแม้แต่นาฬิกาโรเล็กซ์ยี่ห้อดัง ขณะที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี บี.กริม ต้องหยุดกิจการอีกครั้งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๘ (ร.ศ. ๑๖๓) ในปัจจุบัน บี.กริมแอนโก ได้ขยายกิจการจากจุดเริ่มต้นธุรกิจร้านขายยาขยายออกไปสู่อุตสาหกรรม คมนาคม อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ เครื่องปรับอากาศ และธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องสำอาง รวมไปถึงธุรกิจพลังงานอีกด้วย
 
ห้างสิทธิภัณฑ์
เมื่อพูดถึงเครื่องเพชรเครื่องพลอย ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องประดับที่วงสังคมชั้นสูงของสยามในสมัยนั้นนิยมประดับกันเป็นอย่างมาก ก็ต้องนึกถึงห้างสิทธิภัณฑ์ และห้าง F. Grahlert & C., Jewellers ซึ่งทั้งสองห้างนี้มีความเก่าแก่ และมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
 
 
เป็นห้างชั้นนำของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร บริเวณซอยพญาศรี ภายในร้านมีทั้งเครื่องประดับเพชรพลอยและของกินของใช้ นอกจากจำหน่ายสินค้าทั่วไปแล้ว ยังรับตกแต่งบ้านเรือนด้วย ซึ่งยุคนั้นเป็นที่นิยมของเจ้านายและขุนนางอย่างมาก ปัจจุบันตึกของห้างนี้ยังคงอยู่และใช้เป็นที่ทำการห้าง John’s Gems Brother Ltd.
 
ห้างเกรเล็ต
ห้างสัญญาชาติเยอรมันนี้ เป็นห้างทองหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งอยู่บนถนนตะนาวทำเครื่องทอง เครื่องลงยาแบบฝรั่งที่มีฝีมือจนได้รับพระราชทานตราครุฑไว้ติดหน้าร้านอีกด้วย ตรอกที่อยู่ข้างๆ ร้าน Grahlert นั้นได้เรียกติดปากกันว่า “ตรอกกัมปนี” ซึ่งในปัจจุบันได้ชื่อเป็นทางการว่า “ตรอกช่างทอง” ส่วนสถานที่ตั้งร้าน Grahlert นั้นได้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ไปแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อสมัยอดีต ทำให้ตึกเหล่านี้เสียหายไปหมดทั้งสิ้น
 
 
อาคารห้างยอนแซมสัน
ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณที่ใช้กันในราชสำนักและวงสังคมชั้นสูงของชาวสยามในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการแต่งกายครั้งสำคัญของชาวสยาม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการแต่งกายของชาวตะวันตก ทั้งเจ้านายในราชสำนักรวมไปถึงลูกผู้ดีมีตระกูล ล้วนเลือกใช้ผ้าลูกไม้แพรพรรณราคาแพงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้สามารถหาซื้อรวมถึงตัดชุดได้ที่ ห้างยอนแซมสัน
 
ห้างยอนแซมสัน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๔) ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ แรกเริ่มเดิมทีตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์เชิงสะพานอุบลรัตน์ ดำเนินธุรกิจขายผ้าฝรั่งและตัดชุดสูทสากลที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หัวถนนหลานหลวง
 
 
เปิดให้เช่าเป็นห้างยอนแซมสันจนเลิกกิจการ อาคารหลังนี้จึงเปลี่ยนเป็น “ห้างสุธาดิลก” ขายเครื่องก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๗๖ (ร.ศ.๑๕๑) กรมโยธาเทศบาลจึงเช่าอาคารใช้เป็นที่ทำการของกรมจนกระทั่งกรมนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโยธาธิการ และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน
 
ความหรูหราของห้างยอนแซมสันนี้จะเห็นได้จาก นิราศถ้ำจอมพลของคุณหญิงเขื่อนเพ็ชร์เสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ บันทึกเรื่องเมื่อครั้งที่ท่านผู้แต่งเดินทางไปท่องเที่ยวที่ถ้ำจอมพล จังหวัดราชบุรี ในการเดินทางครั้งนี้ท่านได้เริ่มเดินทางจากบ้าน ผ่านถนนราชดำเนิน ถนนพระสุเมรุ ไปทางตลิ่งชัน ออกนครปฐม และดินทางไปจังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านได้เล่าเมื่อผ่านห้างยอนแซมสัน ไว้ความว่า
 
“...เห็นห้างยอนแซมสันฉันหวั่นเหลือ ก่อนขายเสื้อแพรผ้าราคาสูง เขาซื้อแต่งแข่งขันกันจรุง ใครจะจูงฉันซื้อหรือให้ปัน...”
 
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านก็คงจะได้พบกับคำตอบของคำถามที่เราได้ตั้งต้นค้นหากันมาแล้วว่า ห้างเก่าในสมัยก่อนนั้นก็มีเสน่ห์น่าสนใจ และมีเรื่องราวที่สะท้อนค่านิยม ความคิด ของคนในยุคสมัยนั้นดังเช่นห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่ได้สะท้อนภาพของคนในยุคปัจจุบันได้ดีทีเดียว
 
ข้อมูลจากหนังสือเซนส์แอนด์ซีน หน้า 108-115