รายละเอียดบางประการเกี่ยวกับเมืองฮิสปาฮาม เมืองหลวงของอาณาจักรเปอร์เซีย

  • Print

เขียนโดย   บาทหลวง ฌอง เดอ บูรซ์ (Jean de Bourges)

 

การที่ได้พักอยู่ที่เมืองฮิสปาฮามเป็นเวลา ๓ เดือน ทำให้เราได้เรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเมืองหลวงในปัจจุบันของอาณาจักรเปอร์เซียอันโด่งดังได้ เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ละติจูด และเป็นถิ่นที่อยู่ของบรรดานักปราชญ์ที่เฉลียวฉลาดและบรรดาขุนนางมารยาทดีที่สุดของอาณาจักรแห่งนี้ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าอยู่เหนือชนชาติเอเชียทั้งหมด ไม่ว่าในเรื่องความสง่างามของเครื่องแต่งกายหรือความสุภาพในการพูดจา โดยปกติชาวเปอร์เซียชอบคบค้ากับชาวต่างชาติ แต่ที่สำคัญยิ่งคือ บุคคลที่มีลักษณะดีเลิศเพียบพร้อม เราสังเกตได้ว่าไม่มีสถานที่ใดในโลกที่ยกย่องวิชาความรู้เท่าดินแดนแห่งนี้อีกแล้ว ชาวเปอร์เซียได้นำศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ทั้งกับจิตใจ การงานและความหมั่นเพียรของตน เมื่อคนๆ หนึ่งศึกษาศาสตร์หนึ่งศาสตร์ใดเป็นพิเศษ เขาก็จะศึกษามันต่อไปให้ลึกซึ้งแน่นอนไปจนตลอดชีวิต แต่สิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขามีความสนใจอย่างแรงกล้าในการก้าวไปสู่ความสำเร็จก็คือ ในการทำตนให้มีความรู้แม่นยำและไม่ลืมศาสตร์นั้นเลย พวกเขาเชื่อว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดที่จะตั้งตนเป็นครูสั่งสอนผู้อื่น เมื่อมีชื่อเสียงของตนไม่มากพอที่จะดึงดูดผู้ฟังจำนวนหนึ่งได้ พวกเขาจะยอมจ่ายเงินซื้อความศรัทธาจากผู้ฟังเหล่านั้น การกระทำเช่นนี้จะทำให้พวกเขารู้   คำวินิจฉัยของผู้อื่นได้และโดยแน่ใจว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะได้มาซึ่งศาสตร์นั้นคือการสั่งสอนผู้อื่น มิใช่เป็นนิสัยโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้ชาวเปอร์เซียศึกษาหาความรู้ แต่เป็นเพราะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องในด้านนั้นๆ เพราะผู้ที่ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นผู้มีความรอบรู้ จะได้รับเกียรติยิ่งใหญ่และโดยทั่วไปแล้วกษัตริย์จะพระราชทานเบี้ยหวัดให้ สรุปได้ว่าการใฝ่รู้นั้นมีพลังอยู่ในตัวมากจนกระทั่งพวกเขาไม่อาจเบิกบานใจได้เลย อัครมหาเสนาบดีซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า อาธมาท์-โดเลท์  (Athemat-Dolet) ก็เช่นเดียวกัน เขาไม่อาจหาเวลาว่างจากการงานของเขาได้ เนื่องจากใช้เวลาทั้งหมดไปกับการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ การพักผ่อนธรรมดาของเขา คือ ควบคุมดูแลวิศวกรจำนวนมาก ทำการทดลองเครื่องจักรกลใหม่ๆ  ซึ้งล้วนประดิษฐ์ขึ้นจากความคิดของเขาเอง นอกจากนี้เขายังได้ให้ความสนใจในวิชาปรัชญา เทววิทยา และการขัดแย้งทางศาสนาไม่น้อย แม้แต่พระปิตุลาขององค์พระมหากษัตริย์ซึ่งพระเนตรบอด (พระอนุชาของกษัตริย์เปอร์เซียจะถูกควักลูกตาออกตามประเพณี เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อความวุ่นวายขึ้นในอาณาจักร) ก็ใช้ชีวิตอยู่กับการศึกษาค้นคว้า โดยเหตุที่ถูกลิดรอนแสงสว่างทางโลก พวกเขาจึงพยายามสร้างความรุ่งโรจน์ทางจิตใจขึ้น สิ่งที่น่าประหลาดที่สุดและทำให้เห็นพลังความเป็นอัจฉริยะของพวกเขาก็คือ ความเชี่ยวชาญในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้สายตา พวกเขาสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของท้องฟ้าและดาวพระเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งปั้นรูปทุกชนิดได้บนโต๊ะ โดยใช้ขี้ผึ้งอ่อนที่ตระเตรียมไว้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้กฎเรขาคณิต ซึ่งจำเป็นยิ่งในการคำนวณทางดาราศาสตร์ได้อย่างแคล่วคล่องเหลือเชื่อในการเขียนรูปต่างๆ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงจำนวนเลขตามที่ได้ยิน พวกเขาใช้ขี้ผึ้งอ่อนแท่งเล็กๆ หักงอสอดอยู่ระหว่างนิ้วแล้ววางมือลงบนโต๊ะ ส่วนการตรวจดูสิ่งที่ตนเขียนนั้น พวกเขาจะใช้นิ้วมือลบไล้บนตัวอักษรหรือรูปต่างๆ ที่นูนเด่นขึ้นมา ใครก็ตามที่รู้ถึงพลังแห่งจินตนาการอันแน่วแน่ที่มิใช่มาจากการเห็นด้วยตาจะเชื่อสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย

            นอกจากจะมีความคิดลึกซึ้งเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ แล้ว ชาวเปอร์เซียยังมีความแยบยลไม่น้อยในเรื่องกิจการค้า และรู้เรื่องความสลับซับซ้อนของราชสำนักดี เราอาจแน่ใจได้ว่าราชสำนัก เปอร์เซีย คือ ละครโรงหนึ่งที่เสนอบทละครต่างๆ มากมาย และเป็นแหล่งที่แสดงให้เห็นถึงศิลปยุคใหม่ๆ อันเป็นผลมาจากความดื่มด้ำล้ำลึก ซึ้งในแต่ละวันได้อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น พวกเขาแสดงความกระตือรือร้นมากที่จะรับฟัง ซึ่งต่างไปจากตุรกีคือ ถ้าเราถามชาวตุรกีเกี่ยวกับความเชื่อแล้ว พวกเขาก็ทำตนนิ่งเฉยหรือไม่ก็ข่มขู่ผู้ถามทันที ซึ่งต่างไปจากตุรกี คือ ถ้าเราถามชาวตุรกีเกี่ยวกับความเชื่อแล้ว พวกเขาจะทำตนนิ่งเฉยหรือไม่ก็ข่มขู่ผู้ถามถามทันที

          ในทางตรงกันข้ามชาวเปอร์เซียจะแสดงตนว่าพร้อมเสมอ ที่จะหารือกับท่านถึงเรื่องที่ยากที่สุดของศาสนา และพิสูจน์ให้ท่านเห็นความเชื่อถือของพวกเขาด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท พวกเขาจะตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับหลักความเชื่อสำคัญๆ ของพระศาสนา เราจะได้ตอบเหตุผลผิดๆ ทุกข้อที่จิตมนุษย์ชอบยืมมาใช้จากปรัชญาในทันทีที่พวกเขาต้องการตัดสินสิ่งที่มาจากพระเป็นเจ้า โดยใช้กฎแห่งความสามารถที่มีตามธรรมชาติของพระองค์

        ผู้ที่คิดจะโต้เถียงกับชาวเปอร์เซียจะต้องเก่งพอที่จะเอาตัวรอดได้ และไม่ควรเข้าร่วมโต้เถียงหากไม่เชี่ยวชาญการใช้ภาษาเพียงพอ นักปราชญ์อันตรายเหล่านี้จะใช้ความแยบยลนำคำตอบของเรา ซึ่งมักกำกวมในภาษาของพวกเขา อันเนื่องมาจากความหมายที่แตกต่างกันในด้านความคิดมาพูดให้คลุมเครือและแสดงการดูหมิ่นลบหลู่ศาสนาของเรา

           เมืองฮิสปาฮามมีอาณาเขตกว้างใหญ่เท่าๆ กับเมืองปัวติเย่ (Poitiers) เนื่องจากอากาศร้อนจึงมีสวนสาธารณะอยู่เต็มไปหมด และเป็นที่ซึ่งชาวเปอร์เซียทุกคนรู้สึกชื่นชมมาก เมื่อคำนวณสัดส่วนความกว้างใหญ่ของเมืองแล้ว เมืองฮิสปาฮามมีประชากรไม่หนาแน่นนัก มองดูจากภายนอก  มีลักษณะเป็นป่ามากกว่าเมือง เนื่องจากมีต้นไม้สูงที่แต่ละบ้านปลูกไว้กำบังแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรง และกันมิให้เพื่อนบ้านมองเห็น หลังคาบ้านแบนราบเช่นเดียวกับเฉลียงบ้านซึ่งมีไว้สำหรับเดินเล่นและรับอากาศบริสุทธิ์ บ้านก่อด้วยอิฐตากแดดจนแห้ง โครงสร้างของบ้านสวนงามและสร้างด้วยศิลปะน่าชมไม่น้อยทีเดียว ชาวเปอร์เซียระมัดระวังเรื่องการตกแต่งภายในบ้านเรือนมาก พวกเขามักจะทาเพดานจรดพื้นบ้านที่ปูด้วยพรมราคาแพงด้วยสีทอง

            ในเมืองฮิสปาฮามมีสิ่งสำคัญที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างประเทศได้มากคือจัตุรัสเลอกร องค์ เมอดอง (Le Grand Medan) ซึ่งมีพื้นที่ยาวเป็น ๑ เท่าของความกว้าง  ด้านหนึ่งเป็นพระราชวังของกษัตริย์ ซึ่งด้านหน้ามีปืนใหญ่ทำด้วยเหล็กหลอมตั้งเรียงรายอยู่มาก ตึกอื่นๆ ทุกตึกมีรูปทรงเดียวกันหมดและสร้างขึ้นอย่างดี ใต้ตึกเป็นศูนย์รวมบ้านช่างฝีมือทุกชนิดที่มีผลงานอันแสดงถึงความอ่อนโยนของชาวตะวันออกรวมทั้งชาวเปอร์เซียด้วย

            ตามย่านต่างๆ ของเมืองนี้ยังมีบ้านเรือนสวยงามอีกมาก โดยเฉพาะใจกลางย่านจะมีห้องใหญ่ลักษณะเป็นซุ้มโค้ง และมีหอกลมตรงกลางสำหรับเป็นที่สังสรรค์ สูบยาเส้น และฝึกปัญญาของพวกชนชั้นสูง พวกนี้มีวิชาสูบยาเส้นเฉพาะไม่เหมือนใคร อีกทั้งใช้กำจัดกลิ่นเหม็นได้ด้วย คือ ก่อนจะสูดควันเข้าไป  จะต้องใช้ควันนั้นผ่านน้ำจากท่อนไม้นี้เข้าไป เนื่องจากชาวเปอร์เซียเกือบทุกคนเป็นนักพูด หรือกวีและนักปราชญ์ ดังนั้น แต่ละคนจึงมักจะหาใครคนหนึ่งเสมอที่จะนำผลิตผลอันเกิดจากความคิดของตนมาแสดงต่อหน้าเพื่อนฝูง เขาจะรอฟังเรื่องราวที่ตนค้นพบจากผู้นั้น โดยเดินไปเดินมาอยู่กลางห้อง และแสดงโวหารเป็นบทกวีนิพนธ์ หรือสุนทรพจน์เกี่ยวกับดาราศาสตร์ คุณธรรมความดี การเมือง หรือศาสนา  หรือความเพียบพร้อมของพระเป็นเจ้าซึ่งชาวเปอร์เซียล้วนพูดถึงในลักษณะที่เลิศลอยมาก หลังจากการแสดงโวหารสิ้นสุดลง  ผู้ฟังมีสิทธิที่จะแสดงความรู้สึกส่วนตัวได้

           ข้าพเจ้าจะไม่บรรยายถึงเส้นทางสายเล็กๆ ที่เราพบระหว่างไปเมืองอีอุลฟา (Iulfa) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่แห่งหนึ่งของชนเผ่าอาร์มาเนียน ทุกคนที่เขียนถึงเมืองฮิสปาฮามอดที่จะกล่าวถึงเส้นทางสานนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะพูดเพียงว่าทางสายนี้ยาว ๒ ไมล์อิตาลี และกว้างเท่ากับ ๒/๓ ของจัตุรัสรัวแยล (Royale) ตลอดแนวมีต้นไม้สูง ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงาและให้อากาศสดชื่นอยู่เสมอ (ต้นไม้ชนิดนี้คือต้นเมเปิ้ล) มีอ่างน้ำพุและพระตำหนักของกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนหลวงอยู่เป็นระยะๆ ทางสายนี้ไปสุดตรงสะพานที่ยาวมาก ซึ่งสร้างไว้สวยงาม ใต้สะพานมีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งแม้จะมีน้ำน้อย แต่ก็ไม่มีการเติมน้ำให้เต็มท้องน้ำที่ถูกขุดขึ้น และมีการวางเรียงอิฐไว้อย่างเป็นระเบียบ ดังนั้นเมื่อน้ำไหลเข้ามาเต็มท้องน้ำทั้งหมดได้โดยที่ระดับน้ำจะเสมอกัน ทำให้แม่น้ำนี้ดูสวยงามและน่ารื่น รมย์

            ข้าพเจ้าจะพูดถึงสภาวะของพระศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ ของเราในเมืองฮิสปาฮามเพียงเล็กน้อย ที่นี่มีครอบครัวคาทอลิกอยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือ หรือพ่อค้าขายส่งสินค้าชาวต่างชาติ ระหว่างการเดินทาง เราไม่ได้พบเมืองใดเลยที่จัดตั้งโดยคณะมิชชันนารีที่ดีกว่า มีนักบวชคณะออกุสตินโปตุเกส คณะคาปูซีน คณะการ์แมส และคณะเยซูอิต ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่สืบเนื่องเป็นลำดับกันเมื่อ ๒-๓ ปีมาแล้ว  โดยกษัตริย์ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีอิสระเพียงพอ นักบวชคณะเยซูอิตซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองอีอุลฟา เมืองเล็กๆ อยู่ห่างจากฮิสปาฮาม ๑  ลิเยอ และมีชาวอาร์มาเนียอาศัยอยู่ทั้งหมด ทำการเปลี่ยนศาสนาชาวคริสต์ที่แยกไปนับถือศาสนาอื่นได้อย่างสะดวกสบายเป็นพิเศษ นับเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่เรามีเพียงแต่ทำได้ในเมืองฮิสปาฮามเท่านั้น แต่ยังขยายไปทั่วทั้งรัฐของเปอร์เซียด้วย อย่างไรก็ตามเราก็พบกับอุปสรรคบางประการ คือ การต่อต้านของผู้ที่ลุ่มหลงอยู่กับชีวิตที่เหลวแหลกและไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาสั่งสอนในทุกๆ เรื่องแม้ว่าจะชี้แนะให้เห็นถึงความหลงผิดนั้น แต่พวกเขาก็มักดื้อรั้นและไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนา เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ในการทำให้ผู้ที่นิยมยินดีกับชีวิตสุขสำราญมาเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา

       นับเป็นคุณประโยชน์และเกียรติแก่ศาสนาคาทอลิกยิ่ง ที่สามารถจัดส่งผู้เผยแพร่พระวรสารเข้ามาในเมืองหลวงของรัฐใหญ่เช่นนี้ได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงมีพระดำริให้จัดตั้งสังฆมณฑลแห่งบาบิโลนขึ้น ทำหน้าที่ปกครองเทียบสังฆมณฑลแห่งฮิสปาฮามไปจนกว่าจะมีการขยาย ตั้งให้เป็นสังฆมณฑลในภายหลัง โดยมีพระสังฆราชองค์หนึ่งประจำอยู่ในคณะมิชชันนารี เพื่อควบคุมการประกาศความรุ่งโรจน์ไปในบรรดาหมู่ชนผู้ชื่อถือแต่ความยิ่งใหญ่ของตนเอง

       สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมาแถบนี้ ควรทราบว่าขณะออกจากประกาศตุรกีนั้น เราได้หลุดพ้นจากสภาพการเป็นเชลยแล้ว เพราะขณะเข้าสู่อาณาจักรเปอร์เซีย เรามีอิสระที่จะแต่งกายตามแบบฝรั่งเศส ซึ่งแม้แต่หมวกเราก็สามารถใส่กันความร้อนได้ อีกประการหนึ่งคือต้องยึดเป็นคติพจน์ว่า เป็นการดีที่สุดที่จะเข้าไปทีละน้อยอย่างระมัดระวัง กินให้พออิ่มและอย่าเดิน เพราะถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนี้เราจะไม่อาจยังมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้จะต้องไม่ไว้วางใจพวกล่ามและคนรับใช้ของถิ่นนั้น  ซึ่งปกติมักจะขี้โกงและชอบคิดราคาของเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่ง หรือ ๑/๓ ของราคาจริง  ทางแก้ที่ดีที่สุดในกรณีนี้คือ อาศัยอยู่ตามบ้านมิชชันนารีคนใดคนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนใจบุญ และอัธยาศัยดี เราอาจขอร้องให้พวกเขาดูแลรักษาเสบียงที่จำเป็นในการเดินทางได้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำทองไปแลกในเปอร์เซีย เพราะจะได้ราคาต่ำ ปิสตอลสเปนแต่ละเหรียญจะทำให้เราขาดทุนไป ๒๐ ซอล  ๖  เดอนิเยร์  แต่ถ้าเป็นเหรียญเซอแกงเวนิสเราจะขยายทุนน้อยกว่า  จะเป็นการดีกว่าถ้าเรานำทองไปแลกที่เมืองบัฟฟอรา เพราะจะขาดทุกน้อยกว่า แต่ถ้าสามารถนำเงินเปียสต์เข้าไปได้ เราจะไม่ขาดทุนเลย ในทางตรงกันข้ามถ้าแลกเงินเปียสต์เป็นเงินเปอร์เซีย จะได้กำไรเล็กน้อย ถ้าต้องการแบ่งขยายเสบียงที่อยู่ในรูปของปะการังสีทับทิมหรืออำพันสีเหลืองสุก จะได้เงินพอสมควร ส่วนนาฬิกาดีๆ  เราสามารถขายได้ในราคาเท่าๆ กับในฝรั่งเศส  การค้าเล็กๆ  น้อยๆ  นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ได้เงินมาโดยง่ายเมื่อถึงคราวจำเป็น.

        จากหนังสือจดหมายเหตุการณ์เดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ
ประมุขมิสซัง สู่อาณาจักรโคจินจีน
กรมศิลปกรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓o