บทที่ 2 : ภูมิหลังของประวัติศาสตร์มิสซังสยาม

ภูมิหลังของประวัติศาสตร์มิสซังสยาม
 
อันที่จริงเรื่องราวของสงฆ์คณะต่างๆ  ที่มีอยู่ในสยามจนถึงตอนนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น และควรแก่การศึกษา แต่เรื่องทั้งหมดนี้จำเป็นต้องทราบภูมิหลังเสียก่อน ดังนั้น เราจะหยุดเรื่องของสงฆ์คณะต่างๆ ไว้เพียงเท่านี้เพื่อมาเรียนรู้ถึงภูมิหลังเสียก่อน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนในการลำดับความคิด ภูมิหลังเหล่านี้ผูกพันไปมิใช่เฉพาะทางเอเชีย  แต่ต้องโยงกลับไปถึงยุโรปด้วย
 
นอกจากนี้ภูมิหลังของประวัติศาสตร์ ไทยเองก็มีความสำคัญไม่น้อย แต่สำหรับทางด้านประวัติศาสตร์ไทยนั้นจะไม่ขอกล่าวถึงมากนักเพื่อการแยกแยะเรื่องราวที่ชัดเจน ผู้ประสงค์จะเข้าใจให้ละเอียดมากกว่านี้ก็ขอให้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยนี้ไว้ด้วย  และเมื่อเราเรียนรู้ภูมิหลังเหล่านี้แล้ว เราจะทราบถึงบทบาทของสงฆ์คณะต่างๆ ในสยามต่อไป
 
1. การสังคายนาเตรนโต (ค.ศ. 1545-1563)
ศตวรรษที่ 16 เป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูปโดยแท้จริง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยหลายด้านทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในพระศาสนจักร ทั้งด้านความเชื่อและการปกครองของพระศาสนจักร เกิดมีแนวความคิดทางเทวศาสตร์และแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ขึ้นมา จนกระทั่งก่อให้เกิดมีการแยกตัวของลัทธิความเชื่อต่างๆ เช่น แองกลิกัน, ลูเธอราน, คาลวิน, ซวิงลี พระศาสนจักรคาทอลิกต้องหันมาปฏิรูปตัวเองด้านต่างๆ เพื่อปรับจุดอ่อนต่างๆ ของตน
 
จุดศูนย์กลางของการปฏิรูปพระศาสนจักรคาทอลิกในเวลานั้น อยู่ที่การสังคายนาที่เมืองเตรนโต ซึ่งถือเป็นเหมือนพลัง แนวโน้มพิเศษ และหลากหลายในการปฏิรูปด้านต่างๆ ของพระศาสนจักรเป็นการรวมเอาการตัดสินใจทั้งหมดทั้งด้านข้อคำสอน ระบบเทวศาสตร์ ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ และการอภิบาลวิญญาณ การสังคายนาที่เมืองเตรนโตเป็นพลังที่อยู่ภายในพระศาสนจักรมาเป็นเวลานานถึง 4 ศตวรรษทีเดียว เป็นจุดอ้างอิงถึงชีวิตพระศาสนจักรในแง่มุมต่างๆ เสมอมา แน่นอนที่สุด บรรดามิชชันนารีที่เข้ามาแพร่ธรรมตามที่ต่างๆ  ทั่วโลกต่างได้รับการอบรมและเตรียมตัวด้วยข้อคำสอนเหล่านี้ของสังคายนาที่เมืองเตรนโตนี้ด้วย เราจึงควรศึกษาถึงการสังคายนาเตรนโตนี้สักเล็กน้อย เพื่อจะได้ทราบว่าบรรดาธรรมทูตเหล่านี้มีอะไรที่ฝังแน่นในจิตใจ  และเขามีท่าทีอย่างไรกับศาสนาอื่นๆ ที่พวกเขาได้มาสัมผัสด้วย ผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการสังคายนานี้  อย่างละเอียดก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะมีหนังสือมากมายที่ศึกษาถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว
 
ก. จุดประสงค์ของการสังคายนาที่เตรนโต
 
1. ตัดสินใจลงโทษเฮเรติ๊ก
2. ปฏิรูปพระศาสนจักร
3. เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรต่อต้านอันตรายจากพวกเติร์ก
 
ข. ระยะเวลาของการสังคายนา
ด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการทำให้การสังคายนาต้องใช้ระยะถึง 3 ระยะด้วยกันดังนี้
1. ระยะเวลาที่หนึ่ง ตั้งแต่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1545 ถึง 2 เมษายน ค.ศ. 1547 ที่เมืองเตรนโตตั้งแต่ 21 เมษายน ค.ศ. 1547 ถึง 17 กันยายน ค.ศ. 1549 ที่เมืองโบโลญ
2. ระยะเวลาที่สอง ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1551 ถึง 28 เมษายน ค.ศ. 1552 ที่เมือง    เตรนโต
3. ระยะเวลาที่สาม ตั้งแต่ 18 มกราคม ค.ศ. 1562 ถึง 4 ธันวาคม ค.ศ. 1563 ที่เมืองเตรนโต
 
ค. สรุปข้อคำสอนและคำสั่ง (Docrine, Decree)  ของการสังคายนาที่เป็นประโยชน์
1. ศีลศักดิ์สิทธิ์มีทั้งหมด 7 ศีลเท่านั้น
2. ไม่ได้เกิดใหม่ด้วยน้ำและพระจิต ไม่ได้รับความรอด
3. เอกสารคำสั่งทางการที่ออกมา หลังจากได้ถกเถียงและประกาศแล้ว
 
* เกี่ยวกับข้อความเชื่อ สังคายนาที่เตรนโตกำหนดแหล่งต่างๆ ของการเปิดเผยของพระ (Revelation) กำหนดให้หนังสือพระคัมภีร์เป็นแหล่งของการเปิดเผยของพระและพระศาสนจักร มีสิทธิ์ในการตีความพระคัมภีร์ที่แท้จริงได้ ตัดสินลงโทษการตีความส่วนบุคคล ทั้งนี้มิใช่ต่อสู้กับแนวความคิดของพวก Protestants เท่านั้น  แต่ยังเป็นการต่อสู้กับข้อสงสัยต่างๆ ของอาจารย์ต่างๆ ฝ่ายคาทอลิกอีกด้วย
 
* เกี่ยวกับบาปกำเนิดและการตัดสินความรอด (Justification) เอกสารนี้สืบเนื่อง มาจากคำสอนของลูเธอร์และของพวก Anabaptists การออกเอกสารนี้พบกับความยากลำบากมาก ต้องประชุมขั้นแรกถึง 34 ครั้ง และขั้นที่สอง 61 ครั้งด้วยกัน  ในที่สุดก็ปฏิเสธคำสอนของลูเธอร์และของพวก Anabaptists รวมทั้งไม่ยอมรับความคิดเห็นของ Seripando ซึ่งมีแนวความคิดของ St.Augustine ที่ว่า ราคะตัณหานั้นเป็นบาปในตัวของมันเองและไม่ยอมที่จะให้คำจำกัดความเรื่องการปฏิสนธิของพระนางมารีอาซึ่ง Pacheco เป็นผู้เสนอด้วยเกี่ยวกับเรื่อง Justification สังคายนาบัญญัติว่า พระหรรษทานเป็นสิ่งแรกของขบวนการทั้งหมดของการตัดสินความรอด แต่มนุษย์มีอิสระที่จะร่วมมือกับพระหรรษทาน ยืนยันว่ามนุษย์สามารถทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยตนเอง มิใช่แต่เป็นได้โดยจากภายนอกเข้ามา ปฏิเสธข้อคำสอนที่ว่า ความเชื่อเท่านั้นช่วยให้รอดได้ นอกจากนี้ยังบัญญัติให้ถือพระบัญญัติต่างๆ และมีความพากเพียรอุตสาหะด้วย
 
* ให้คำจำกัดความข้อคำสอนเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ กำหนดให้มีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด 7 ศีล และผลของศีลศักดิ์สิทธิ์แบบ Ex opere operato ไม่ใช่มีผลแบบ Ex opere operantis เท่านั้น จำกัดความว่าศีลศักดิ์สิทธิ์นี้พระเป็นเจ้าเองเป็นผู้ตั้งขึ้น สังคายนาทำเช่นนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากหนังสือ De Captivitate Babylonica ของลูเธอร์ รวมทั้ง Confessio Augustana ซึ่งสังคายนาจำเป็นต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้แจ่มชัด 
 
* เกี่ยวกับการปฏิรูปพระศาสนจักร สังคายนาใช้เอกสารที่สำคัญๆ 2 ชิ้นด้วยกัน
 
1. เพื่อการประกาศพระวรสาร (Evangelization) สังคายนากำหนดให้มีการสอนพระคัมภีร์โดยบังคับให้สอนในอาสนวิหารต่างๆ ในวิทยาลัย ในอารามฤาษีและอารามนักบวชต่างๆ ในโรงเรียนระดับมัธยม พระสงฆ์ถูกบังคับให้เทศน์ในวันอาทิตย์ ในโอกาสฉลองอย่างสง่า และสังฆราชต้องเป็นผู้เทศน์ด้วยตนเอง รวมทั้งพวกพระสงฆ์และพวกที่ดูแลวิญญาณทั้งหลายด้วย มิฉะนั้นจะต้องถูกเตือนและถูกลงโทษตามกฎหมายพระศาสนจักร
 
2. เพื่อการอภิบาลสัตบุรุษ สังคายนาออกกฎบังคับให้บรรดาพระสังฆราชและผู้อภิบาลทุกคนที่เป็นเจ้าของ Benefices ต่างๆ ให้ประจำอยู่ในสังฆมณฑลและวัดของตน  มิฉะนั้นต้องถูกปรับเงินส่งให้สันตะสำนัก
 
3. Decree ที่สองของการปฏิรูปได้แก่ การห้ามมิให้บุคคลคนหนึ่งเป็นเจ้าของ Benefice มากกว่า 1 แห่ง เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิด Absentism ขึ้นมา
 
4. เรื่องของความเชื่อ ได้มีการถกเถียง พิจารณาและหาข้อสรุปได้รวดเร็วมาก เพราะได้มีการพิจารณาเรื่องนี้กันมาแล้วที่ Trento และ Bologna ดังนั้นจึงได้ออกเอกสารคำสั่ง (Decreee) เกี่ยวกับศีลมหาสนิท ว่าเป็นการประทับอยู่จริงๆ แบบ Transubstantiation รวมทั้งที่สักการะภายนอกของมิสซาให้คำจำกัดความ ข้อความเชื่อในกฎหมาย และเน้นด้านการอภิบาลในเรื่องนี้ด้วยเกี่ยวกับศีลอภัยบาปว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระที่ได้ตั้งขึ้น ธรรมชาติของศีลอภัยบาปได้แก่ การเป็นทุกข์เสียใจ การสารภาพบาป และการใช้โทษบาป ความหมายของการตัดสินและการยกบาป รวมทั้งเรื่องการสารภาพบาปส่วนตัวอีกด้วย เกี่ยวกับศีลเจิมสุดท้าย อธิบายความเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ พระเป็นผู้ตั้งขึ้น และผู้ประกอบพิธี ฯลฯ
 
5. การรับศีล 2 เพศ ในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้อย่างแจ้งชัด และมิได้บังคับให้รับศีล 2 เพศ โดยถือว่าเป็นกฎของพระเลย การรับศีลภายใต้เพศเดียวก็รับพระคริสตเจ้าทั้งครบ และเพียงพอโดยสมบูรณ์สำหรับความรอด ทั้งไม่สูญเสียพระหรรษทานที่จำเป็นประการใดเลย อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยให้การตัดสินใจอยู่ที่พระสันตะปาปาว่าให้ชาติใดรับศีล 2 เพศหรือไม่ เอกสารคำสั่งเรื่องนี้ ยังไปเกี่ยวข้องกับเรื่องศีลมหาสนิทที่พิจารณากันในระยะที่สองของการสังคายนาด้วย จึงปรากฎว่าเป็นการสังคายนาที่มีความต่อเนื่องกัน
 
6. มิสซา เอกสารคำสั่งให้คำจำกัดความว่าเป็น Representation และเป็นการระลึกถึงการถวายบูชาบนไม้กางเขน เป็นการถวายบูชาเดียวกันกับการที่พระคริสตเจ้ามอบพระองค์เป็นบูชา เป็นสงฆ์ ผิดกันแต่ว่าวิธีการถวายบูชาบนไม้กางเขนกับบนพระแท่นในมิสซาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อได้รับผลจากการถวายบูชาบนไม้กางเขนนี้ ทั้งสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย ดังนั้นเป็นการถวายบูชาที่แท้จริง ถวายแด่พระเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการให้เกียรติแก่บรรดานักบุญด้วย มิสซาส่วนตัวได้รับการรับรองเพราะมีความหมายส่วนรวม ผู้ถวายบูชาถวายมิสซาสำหรับทุกๆ คน การถวายมิสซาโดยใช้ภาษาท้องถิ่น ถูกตัดสินว่าไม่เหมาะสม แต่ย้ำว่าให้มีการอธิบาย สิ่งที่อ่านในมิสซาอยู่เสมอๆ ให้ใช้บท Canon ที่กำหนดไว้ กฎของการแต่งกาย การจัดเทียนบนแท่นและอื่นๆ
 
7. ศีลบวช ความเป็นสงฆ์ที่เห็นได้และทำหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ถูกแสดงอยู่ในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับการถวายบูชาของมิสซา ยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศีลบวชและมีฐานันดรศักดิ์พระสังฆราชนั้นอยู่เหนือพระสงฆ์ ส่วนหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงินจากศีลต่างๆ นั้นให้คงอยู่ต่อไป
 
8. ศีลแต่งงาน ยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ การลบล้างไม่ได้ของการแต่งงาน และอำนาจของพระศาสนจักรที่จะกำหนดข้อขัดขวางต่างๆ    ตัดสินลงโทษการสอนของพวก Protestants เช่น การแต่งงานของพระสงฆ์และนักบวช การแต่งงานทุกชนิดที่กระทำโดยไม่มีพระสงฆ์เจ้าวัด หรือผู้แทนเจ้าวัด พร้อมทั้งพยาน เป็นการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการแต่งงาน 2 ครั้ง ดังนั้นจึงมีการประกาศการแต่งงานล่วงหน้าก่อนพิธีแต่งงาน
 
9. พระคุณการุณ สังคายนายืนยันถึงอำนาจของพระศาสนจักรที่จะมอบพระคุณการุณ รวมทั้งประโยชน์ของการใช้ด้วย เวลาเดียวกันก็ตัดสินลงโทษข้อคำสอนที่สอนตรงข้ามเกี่ยวกับเรื่องไฟชำระ สังคายนาก็ยืนยันถึงความมีอยู่ของไฟชำระความช่วยเหลือของผู้เป็น และความช่วยเหลือของบูชามิสซา แต่ก็ห้ามการหาเงินและการยึดถือเรื่องนี้แบบซูแปร์ติซัง หรือสอนผิดๆ ให้แก่ประชาชน
 
10. เรียกร้องให้คณะสงฆ์ได้ตระเตรียมด้านการศึกษา ด้านศีลธรรม เพื่อศักดิ์ศรีของพระสงฆ์
 
11. พระสังฆราชต้องเอาใจใส่ในการปฏิรูปอารามนักบวชต่างๆ   โดยต้องออกเยี่ยม (Pastoral Visit) ประจำปี และต้องเรียกอธิการต่างๆ เพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีในฐานะที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากสันตะสำนัก พระคุณการุณมีแต่สังฆราชเท่านั้น ที่มอบให้ได้อารามนักบวชใดมอบพระคุณการุณเพื่อเงิน ต้องถูกยุบเลิกและสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆ
 
12. การเลือกบุคคลและระเบียบวินัยของคณะสงฆ์ ชีวิตของผู้อภิบาลต้องเป็นการสร้างชีวิตให้แก่ผู้มีความเชื่อ มีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อเลือกบุคคลที่เหมาะสมสำหรับ Benefi-ces ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังฆราชมีการเน้นเป็นพิเศษถึงความประพฤติทางศีลธรรม และความศรัทธาของพระสงฆ์
 
13. การอบรมคณะสงฆ์และการอยู่กับประชาชน เพื่อจะมีคณะสงฆ์ที่สมควร จำเป็นต้องมีการอบรมทางการศึกษา ศีลธรรม และศาสนาในทุกๆ สถาบัน ออกคำสั่งให้ทุก สังฆมณฑลมีบ้านเณร ผู้ที่จะบวชต้องผ่านการสอบที่เข้มข้นเสียก่อน ส่วนเรื่อง Residence ของพวกพระสังฆราชและพระคาร์ดินัล รวมทั้งเจ้าวัดต่างๆ ด้วยแม้จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นกฎของพระแต่ก็เป็นความจริงที่ว่าเป็นระเบียบของพระที่จะต้องเทศน์สอน และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ฝูงแกะของตน พวกเขาต้องถวายบูชาศีลมหาสนิท เอาใจใส่คนยากคนจนและผู้ต้องการความเชื่อ โดยเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ Residence   มีความจำเป็นมาก เช่น ในเทศกาล Advento  และมหาพรตและในวันฉลองสำคัญต่างๆ ตลอดปี  หากมีกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ไม่อาจอยู่ประจำที่ได้นี้ก็ต้องไม่เกิน 3 เดือน พระสงฆ์ทุกองค์ต้องสังกัดสังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่ง และอยู่ใต้อำนาจของพระสังฆราช
 
14. งานอภิบาล ประกาศยกเลิกผู้เป็นเจ้าของ Benefices เกินกว่า 1 แห่ง และขอให้พระสันตะปาปาเป็นแบบอย่างในการเลือกพระสันตะปาปาที่เหมาะสม รวมทั้งการเลือกพระสังฆราชที่เหมาะสมด้วย พระสังฆราชที่ได้รับการเลือกต้องจัดประชุม Diocesan Synod ปีละ 1 ครั้ง รวมถึงต้องเข้าร่วมประชุม Provincial Synod ซึ่งมี 3 ปีครั้ง ต้องทำ Pastoral Visit สังฆมณฑลของตนปีละครั้ง ต้องเป็นผู้เทศน์ทุกวันอาทิตย์และวันฉลองต่างๆ ต้องเอาใจใส่ดูแลการอบรมคำสอนให้แก่เด็กๆ สำหรับคริสตชน สังฆราชต้องอธิบายเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์และพิธีต่างๆ ของศีลศักดิ์สิทธิ์ และในกรณีที่มีประโยชน์ก็สามารถโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาท้องถิ่นได้
 
15. ข้อเรียกร้องสำหรับผู้อภิบาล ต้องมีการปฏิรูปเช่นเดียวกัน พระสังฆราชจะต้องมั่นใจว่าผู้จะบวชเป็นผู้มีกระแสเรียกที่แท้จริง มิใช่เข้ามาสู่ชีวิตสะดวกสบายหรือแสวงหาความร่ำรวยฟุ้งเฟ้อ แต่เพื่อทำทุกสิ่งเพื่อสิริโรจนาของพระ ผู้มีความเชื่อจะถูกสร้างขึ้นมาเป็นชีวิตแท้ เมื่อเขาเห็นว่าพวกผู้อภิบาลทำงานเพื่อความรอดของวิญญาณ พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตที่เหมาะสม ประพฤติตนเหมาะสมกับหน้าที่อภิบาลและมีชีวิตสุภาพ เรียบง่ายและศักดิ์สิทธิ์ ต้องละทิ้งญาติพี่น้อง ไม่เสริมความร่ำรวยให้แก่ญาติพี่น้องทุกคน แต่ช่วยเหลือคนยากคนจน สังคายนาขอร้องให้พระสังฆราชไม่ถวายตนเป็นผู้รับใช้ของบรรดาเจ้าครองนครทั้งหลาย แต่ให้เป็นผู้อภิบาลและบิดาซึ่งยังต้องให้ความเคารพต่ออำนาจบ้านเมือง
 
16. นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ของสังคายนา เช่น เรียกร้องให้ฆราวาสเคารพต่อสิทธิ์และเสรีภาพของพระศาสนจักร และขอให้คืนสิทธิ์ต่างๆ ที่ถูกยกเลิกไป นี่เป็นการปฏิรูปบรรดาฆราวาสโดยเฉพาะผู้เป็นนักปกครองทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้บรรดาเจ้าครองนครพากันต่อต้านด้วยทุกวิธีการ ทั้งๆ ที่เป็นที่รู้กันดีว่าพวกเขาชอบเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของพระศาสนจักร
 
ง. บทสรุปและการตีความการสังคายนาที่เตรนโต
ใน Session สุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1563 มีความต้องการที่จะขจัดความสงสัยกันว่าเอกสารคำสั่งต่างๆ ของสังคายนาในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นเอกสารที่ถูกต้องใช้ได้หรือไม่ และหลังจากที่ได้อ่านทุกฉบับอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทุกคนก็ให้การรับรองความเป็นหนึ่งเดียวของสังคายนา แม้ว่าจะแบ่งแยกออกถึง 2 ระยะเวลา ภายใต้พระสันตะปาปาถึง 3 องค์ ก็นับว่าก่อผลดีต่อพระศาสนจักร เอกสารคำสั่งทุกฉบับได้รับการลงนามจากทุกคนในที่ประชุม 215 คน แม้ผู้ที่มิได้มาร่วมก็ลงชื่อโดยไม่พูดอะไรเลย สังคายนาจึงขอให้พระสันตะปาปาลงนามในเอกสารคำสั่งทั้งหมด ซึ่งพระองค์ก็ให้การรับรองด้วยวาจาใน Consistory ของวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1564 แต่ Bull "Benedictus Deus" ออกมาช้าถึง 6 เดือน จึงถูกพิมพ์ประกาศ แม้จะใช้วันที่ของการประชุม Consistory ก็ตาม
 
เป็นอันว่าการสังคายนาที่เตรนโตจบลงแล้วโดยสมบูรณ์ เวลานี้เราจะหาข้อสรุปต่างๆ เพื่อการประเมินผลของการสังคายนา ซึ่งเราจะสามารถแยกแยะออกมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้
 
1. จุดประสงค์ของการสังคายนา สังคายนาครั้งนี้ถูกเรียกขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับเฮเรติ๊ก เพื่อการปฏิรูปพระศาสนจักรและความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชน เพื่อต่อสู้กับอันตรายของพวกเติร์ก จุดมุ่งหมายประการสุดท้ายนี้ไม่บรรลุความสำเร็จ เพราะว่าพวกเจ้าครองนครต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส และ Absburg ต่างก็ทำสงครามระหว่างพวกกันเอง เพื่อชิงความมีอำนาจเหนือยุโรป นอกจากนี้ในเอกสารเรียกการสังคายนา ก็มิได้บอกว่ามีจุดประสงค์เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร แต่ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ การเรียกสังคายนานี้กระทำกันช้าเกินไป เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้พระศาสนจักรยังคงแบ่งแยกกันอยู่
 
2. การสังคายนาแม้ว่าจะเรียกช้าเกินไป และยังมีการเตรียมตัวที่ไม่พร้อมพอ นอกจากนี้จำนวนผู้เข้าร่วมสังคายนาก็น้อยกว่าการสังคายนาที่สำคัญๆ ที่ผ่านมา เช่นที่ Nicia  แต่ในที่สุดก็สามารถพบความกลมกลืน และรายการประชุมต่างๆ ได้ การสังคายนาครั้งนี้จึงกลายเป็นการสังคายนาที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และนำผลที่สำคัญๆ ให้แก่พระศาสนจักรมิใช่น้อยเลย โดยเฉพาะพระศาสนจักรตะวันตกยังคงซื่อสัตย์ต่ออำนาจของนักบุญเปโตร
 
3. เกี่ยวกับข้อความเชื่อ การสังคายนา
 
* ตัดสินลงโทษเฮเรติ๊ก แต่ก็ไม่ได้แตะต้องผู้ก่อตั้งลัทธิเฮเรติ๊กเหล่านี้ ทั้งมิได้เอ่ยชื่อพวกเขาด้วย
 
* ให้คำจำกัดความที่แท้จริงของคำสอนคาทอลิก มิใช่เพื่อให้พวก Protestants กลับใจ แม้ว่าจะหวังอยู่เล็กน้อย แต่เพื่อขจัดความเชื่อที่กำลังสั่นคลอนไม่แน่ใจ ให้เกิดเป็นความเชื่อที่มั่นคง รวมทั้งขจัดข้อผิดพลาดอื่นๆ ด้วย น่าเสียดายที่การสังคายนาถูกปิดลงเร็วเกินไปหน่อย จนไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระคุณการุณ  พิธีของบรรดานักบุญ  พระธาตุ และการเคารพรูปภาพต่างๆ  ข้อคำสอนของการสังคายนามิได้ตั้งอยู่บนเทววิทยาของคนหนึ่งคนใด แต่นำมาจากแก่นแท้ของความเชื่อ เนื้อหาของข้อความเชื่อมุ่งไปสู่เรื่องสำคัญๆ 2 เรื่องด้วยกัน โดยใช้แหล่งความเชื่อ 3 แหล่งด้วยกันคือ การเปิดเผยของพระคัมภีร์ และขนบธรรมเนียมประเพณี
 
ก. เรื่องการตัดสินความรอด (Justification) สังคายนายืนยันข้อคำสอนเกี่ยวกับบาปกำเนิด ศีลล้างบาป ศีลเจิมคนป่วย พระคุณการุณ และไฟชำระ
 
ข. เรื่องการถวายบูชาของมิสซา สังคายนารวมถึงเรื่องศีลมหาสนิท การรับศีลมหาสนิทและศีลบวช ความศรัทธาต่อนักบุญ ต่อพระธาตุ ต่อรูปภาพต่างๆ นั้น ให้ถือว่าเกี่ยวเนื่องกับความศรัทธาแบบคริสตชน
 
* การสังคายนามิได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ Ecclesiology ทั้งๆ ที่เรื่องธรรมชาติของพระศาสนจักรนี้ได้รับการถกเถียงกันมายาวนานกว่า 2 ศตวรรษ และพวกผู้นำของ Protestants เองต่างก็สอนถึงเรื่องนี้ นอกจากนี้ในระหว่างวิกฤติการณ์ในระยะที่ 3 ของการสังคายนา อำนาจการสั่งสอน (Magisterium) และอำนาจหน้าที่ (Jurisdiction) ระหว่างพระสันตะปาปาและสังฆราชก็ถูกนำมาเป็นปัญหาด้วย แต่การสังคายนาก็มิได้มีข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แนวทางของพระสันตะปาปาไม่ต้องการให้สังคายนาพูดถึงเรื่องนี้ Ecclesiology ในการสังคายนาครั้งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาดังนี้ ความหมายของอำนาจสูงสุด ความหมายของการสังคายนาว่า สังคายนามีอำนาจมากกว่าพระสันตะปาปาหรือไม่ Ecclesiology ของบรรดาพระสังฆราชต่างๆ โดยเฉพาะจากสเปน ซึ่งยืนยันว่าการรวมกันของพระสังฆราชนั้นเป็นอำนาจสูงสุดได้ อย่างไรก็ตามสังคายนามิได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้เลย จึงกลายเป็นการพัฒนาเรื่องนี้สืบต่อมาจนถึงสังคายนาวาติกันที่ I และ II
 
4. เกี่ยวกับการปฏิรูปพระศาสนจักร นับว่าเป็นงานเอกของการสังคายนา เพราะจากเอกสารคำสั่งต่างๆ ที่ออกมานั้นนำผลไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างดี และการปฏิรูปนี้ก็กระทำกันอย่างจริงจัง แม้ว่าจะพบกับความยากลำบาก อุปสรรคต่างๆ และแม้ว่าจะช้าไปบ้าง แต่ก็ได้มีการพัฒนา ประยุกต์นำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าเกือบทุกส่วนของพระศาสนจักรได้รับการปฏิรูป ส่วน Curia นั้นก็ตกเป็นเรื่องของพระสันตะปาปาที่จะต้องทำการปฏิรูป
 
* หลักเกณฑ์พื้นฐานของการปฏิรูปได้แก่ "ความรอดของวิญญาณเป็นกฎหมายสูงสุด" ฐานันดรศักดิ์ต่างๆ ในพระศาสนจักรมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลวิญญาณ ดังนั้นจึงออกกฎบังคับให้ทุกฝ่ายมี Residence ทำงานอภิบาลเพื่อผู้มีความเชื่อ
 
* ภาพพจน์ของผู้มีความรับผิดชอบต่อชีวิตคริสตชนในสังฆมณฑล ชีวิตของอารามนักบวชต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการปฏิรูป แม้ได้รับการปฏิรูปแล้วก็ต้องติดตามผล นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นผู้แทนของสันตะสำนัก ยังต้องปกป้องอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา พระสังฆราชาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการประกาศพระวรสารเป็นพิเศษ เรื่องการทำ Pastoral Visit และร่วมประชุม Provincial Synod พระสังฆราชเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงสำหรับเตรียมตัวคณะสงฆ์ในอนาคตในบ้านเณร เช่นเดียวกับที่ต้องดูแลชีวิตของคณะสงฆ์ให้เหมาะสม พระสังฆราชสามารถมี Benefice เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังต้องดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สอดคล้องกับอุดมคติ  "Pastor Bonus"
 
* ภาพพจน์ของเจ้าอาวาส คือเป็นสงฆ์ผู้รับใช้ศักดิ์สิทธิ์ แสดงออกในการถวายบูชาศีลมหาสนิทและในศีลอภัยบาป  พระสงฆ์เป็นข้าบริการของพระ  มีหน้าที่รับผิดชอบผู้มีความเชื่อต่อหน้าพระ  ความประพฤติทางศีลธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ท่านต้องมีประสิทธิภาพในการเทศน์สอน
 
* คณะนักบวชใหม่ๆ ต้องมุ่งไปสู่การอภิบาลด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น อบรมเยาวชน อบรมวิทยาการให้แก่คณะสงฆ์และสังคม ปกป้องความเชื่อคาทอลิก หรือไม่ก็ประกาศแพร่ธรรมไปยังที่ต่างๆ
 
5. เกี่ยวกับการเป็นหนึ่งเดียวกับพวก Protestants
* สังคายนาไม่สามารถขัดขวางการแบ่งแยกทางพระศาสนจักรได้  เพราะการสังคายนาถูกเรียกช้าเกินไป แม้ว่าพวกเขาได้รับเชิญเข้าร่วมสังคายนา แต่การเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนแรกพวกเขาปฏิเสธ แต่ต่อมาก็ตอบรับ เมื่อตอบรับแล้วก็มีเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่อาจรับได้ ทำให้ต้องปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง เช่นเงื่อนไขเกี่ยวกับความหมายของการสังคายนาที่เปลี่ยนแปลงความหมายในสมัยเก่าอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การสังคายนาจึงตัดสินลงโทษความผิดพลาดของพวกเขา แต่ไม่ได้ตัดสินลงโทษบุคคล เพราะสังคายนาไม่ต้องการเป็นศาลตัดสินบุคคล
* ข้อคำสอนคาทอลิกที่สังคายนาจำกัดความไว้ ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดที่ไม่อาจรับได้อย่างชัดเจน แต่ก็เปิดทางกว้างไว้เพื่อให้ทั้งฝ่าย Protestants และฝ่ายคาทอลิกสามารถศึกษาต่อไปอย่างลึกซึ้งและสามารถร่วมมือกันพิจารณาและทำ Dialogue กันเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวต่อไปได้
 
2. สิทธิอุปถัมภ์ศาสนา (Padroado)
สิทธิพิเศษที่เรากำลังจะกล่าวถึงอยู่นี้ เราใช้คำเรียกทับศัพท์เพื่อให้ใช้กันอย่างถูกต้องและสากลแม้ว่าเราจะไม่เคยชินกับคำว่า "ปาโดรอาโด" มากนัก เวลานี้กำลังจะศึกษาเพื่อให้รู้ถึงที่มาและความเป็นมาของสิทธิพิเศษประการนี้ที่พระศาสนจักรมอบให้แก่ประเทศสเปนและโปรตุเกส สาเหตุอีกประการหนึ่งที่เราควรศึกษาถึงเรื่องนี้ก็คือ บรรดามิชชันนารีที่เข้ามาในสยามในศตวรรษที่ 16 และศตวรรษที่ 17 นั้น ต่างก็เป็นนักบวชที่มาจากมะละกา, กัว มาเก๊า และมะนิลา ซึ่งล้วนเป็นนักบวชที่ขึ้นอยู่กับสิทธิพิเศษนี้ทั้งสิ้น  และเมื่อบรรดามิชชันนารีเหล่านี้ต้องพบและอยู่ร่วมกับมิชชันนารีที่ทางสมณกระทรวงโปรปากันดา ฟีเด ส่งมา ได้แก่ มิชชันนารีของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ก็เท่ากับมีสองอำนาจที่อยู่ในที่เดียวกันปัญหาต่างๆย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเราจะศึกษากันต่อไป อันที่จริงการศึกษาถึงเรื่องนี้ไม่ยากนัก เพราะมีนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาถึงเรื่องนี้อยู่มากมายและมีงานเขียนหลายชิ้นที่ช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้น  เพียงแต่ว่าเป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น
 
ก. ความหมายและต้นกำเนิดของปาโดรอาโดความหมาย
ปาโดรอาโดไม่ใช่เป็นเพียงรูปแบบของผลประโยชน์ทางพระศาสนจักร และการอุปถัมภ์ศาสนาของกษัตริย์ แต่ยังหมายถึงสัญญาด้วย จึงไม่ใช่เฉพาะรูปแบบ (Form) แต่เป็นสัญญา (Contracts) ที่ทำขึ้นระหว่างพระศาสนจักรกับรัฐ เป็นดังรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสถาบันนี้ พระศาสนจักรเป็นสถาบันที่มีความสำคัญมากในยุโรป เพราะเหตุว่านับจากสมัยกลางมาจนถึงปี ค.ศ. 1415 ยุโรปและส่วนต่างๆ ของโลกได้รู้จักกับคริสตศาสนาแล้ว โดยเฉพาะยุโรปนั้นการแพร่ธรรมได้แผ่กว้างและขยายตัวออกไปทั่วทวีปทีเดียว และด้วยความเชื่อในคริสตศาสนานี้  พระสันตะปาปานั้นเป็นผู้มีอิทธิพลใหญ่หลวงแม้แต่ต่อผู้ปกครองรัฐ และประเทศต่างๆ เองก็ยังต้องเชื่อฟัง สัญญานี้จึงผูกมัดให้ผู้ปกครองรัฐที่ทำสัญญานี้มีบทบาทมากในการบริหารและสนับสนุนพระศาสนจักร
 
ในยุโรปเวลานั้นมีอยู่เพียง 2 ประเทศที่มีอำนาจยิ่งใหญ่มากได้แก่ ประเทศสเปนและโปรตุเกส ดังนั้นเมื่อทั้ง 2 ประเทศนี้ได้รับสิทธิพิเศษปาโดรอาโดแล้ว สิทธินี้ก็ขยายวงกว้างออกไปยังดินแดนอาณานิคมที่พวกเขาได้มาครอบครองด้วย และทั้งสองประเทศนี้ก็พยายามปกป้องสิทธิของตนอย่างเต็มที่
 
ต้นกำเนิด
 
ต้นกำเนิดนี้เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 อย่างด้วยกัน
 
1. การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และความเจริญก้าวหน้าทางการเดินเรือของสเปนและโปรตุเกสทำให้ปาโดรอาโดขยายวงกว้างออกไปยังดินแดนที่ค้นพบขึ้นใหม่ ในประเทศโปรตุเกสนั้นมีการก่อตั้งคณะแห่งพระคริสต์ (Order of Christ) ขึ้นมาโดยพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1319 โดยเป็นคณะทหารที่จะปกป้องพระศาสนจักรจากการรุกรานของมุสลิมที่กำลังขยายตัวเข้ามาสู่ยุโรป คณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลโดยกษัตริย์โปรตุเกสเองทีเดียวทำหน้าที่เป็นอธิการของคณะ ดังนั้น กษัตริย์โปรตุเกสจึงมีอำนาจมากทีเดียวในการปกครองดูแลอาณานิคมของตนทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย การเดินเรือของโปรตุเกสเริ่มต้นขึ้นโดยเจ้าชายเฮนรี ซึ่งได้รับสมญานามว่า "นักเดินเรือ" เป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ายอห์นที่ 1 กษัตริย์โปรตุเกส (ค.ศ. 1385-1433) เจ้าชายเฮนรีเดินเรือไปจนถึงเมืองเซวต้า (Ceuta) ซึ่งอยู่ในเมาริตาเนีย ชายฝั่งทะเลของทวีปอาฟริกาเหนือและยึดเมืองนี้ไว้ได้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1415 พระสันตะปาปาจึงทรงตั้งให้เซวต้าเป็นสังฆมณฑล ขึ้นอยู่กับสังฆมณฑลราคาในโปรตุเกสการเข้ายึดส่วนหนึ่งของอาฟริกานั้นเป็นผลดี เพราะเท่ากับเป็นการตัดกำลังพวกแขกมัวร์ (มุสลิม) ที่กำลังข่มขู่ยุโรปอยู่ อีกทั้งยังเป็นการแพร่ขยายพระศาสนาด้วย พระสันตะปาปาเริ่มให้อภิสิทธิ์แก่โปรตุเกสคืออำนาจในการปกครองเมืองและดินแดนที่ชนะมาได้ ทั้งเวลานั้นและในเวลาต่อๆไปด้วย โปรตุเกสจึงเริ่มต้นงานค้นพบดินแดนใหม่ทางการเดินเรือ เจ้าชายเฮนรีพยายามทำงานอย่างเต็มที่ที่จะนำคริสต์ศาสนาเข้าไปในมหาสมุทรอินเดีย
 
ประเทศสเปนเองก็กำลังขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ในเวลานั้น ความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่นของสเปนนั้น เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในระหว่าง ค.ศ.714 และ 732 พวกแขกมัวร์ได้เข้าครอบครองคาบสมุทรนี้อยู่นานทีเดียว  ในที่สุดอาณาจักรคริสเตียนที่เหลืออยู่ 2-3 แห่งทางภาคเหนือของคาบสมุทร ได้รวมตัวกันขับไล่ออกไป โดยมีอาณาจักรอารากอน และอาณาจักรคาสตีลเป็นแกนนำ ปี ค.ศ.1469 ดินแดนสเปนรวมเข้าเป็นรัฐเดียวโดยการอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าเฟอร์ดินันโด (Ferdinando) แห่งแคว้นอารากอน และพระนางอิสซาเบลลา (Isabella) แห่งแคว้นคาสตีล สเปนสามารถขับไล่แขกมัวร์ออกไปได้เมื่อยึดแคว้นกรานาดาได้ในปี ค.ศ. 1492 และที่สุดยังสามารถยึดโปรตุเกสได้ด้วยในปี ค.ศ. 1581   ความยิ่งใหญ่ของสเปนเริ่มขึ้นเมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาและยึดไว้ได้ในนามของประเทศสเปนในปี ค.ศ. 1492 พระเจ้าเฟอร์ดินัลโดและพระนางอิสซาเบลลาก็เรียกร้องและขอจากพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (ค.ศ. 1492-1503) ทันทีโดยขอเอกสาร (Bull)        เพื่อยืนยันถึงสิทธิที่ตนควรได้รับเช่นเดียวกับที่โปรตุเกสได้รับเหนือทวีปอาฟริกามาแล้ว  และนับจากนี้ไปมีสองสิ่งที่ควบคู่กันไปเสมอได้แก่
 
* การล่าอาณานิคม การสำรวจโลกใหม่อย่างจริงจังทั้งของโปรตุเกสและสเปน
 
* การขอสิทธิพิเศษ Padroado เหนือดินแดนใหม่ อำนาจในการปกครอง แพร่ธรรม ซึ่งสิทธิพิเศษมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม อยู่ตลอดเวลา
 
ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าสเปนกับโปรตุเกสจะเป็นมหาอำนาจในยุโรป แต่ต่างก็ต้องขออนุญาตจากพระสันตะปาปา เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อโดยแท้จริงว่า พระสันตะปาปาในฐานะเป็นผู้แทนพระคริสตเจ้าบนโลกนี้ มีอำนาจหน้าที่โดยสมบูรณ์ที่จะถอดถอนประเทศทั้งหลายของคนต่างศาสนา เพื่อประโยชน์สำหรับนักปกครองซึ่งถือศาสนาคริสต์ และในกรณีของพระเจ้าเฟอร์นันโดและพระนางอิสซาเบลลานี้ โรมถึงกับเรียกทั้งสองพระองค์นี้ว่า "คาทอลิกสุดๆ" (Catholicissimus) เลยทีเดียว
 
2. การรุกรานของพวกแขกมัวร์ หรือจะเรียกว่ามุสลิม หรือชาวเติร์กก็ได้ ซึ่งกำลังเป็นที่หวาดหวั่นของชาวยุโรป
ในศตวรรษที่ 14 และ 15 แขกมุสลิม หรือพวกเติร์ก (Turk) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรปและเมืองสำคัญเช่น Constantinople ถูกตีแตกในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 ชาวยุโรปและพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ ในยุโรปตอนนั้นก็มีเพียง 2 ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกส และสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปาที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้น บรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้นต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย จึงได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของโปรตุเกสและสเปน และมอบหมายให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อ ในลักษณะเช่นนี้ สิทธิพิเศษเหล่านี้ทำให้ประเทศโปรตุเกสและสเปน กุมบังเหียนการแพร่ธรรมเอาไว้ รวมทั้งยังประโยชน์ต่างๆ ด้วย
 
3. เอกสารมอบสิทธิพิเศษที่ออกโดยพระสันตะปาปาต่างๆ รายละเอียดจริงๆ ของสิทธิพิเศษเหล่านี้ก็มีอยู่ในเอกสารต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ต้นกำเนิดของสิทธิพิเศษนี้ที่แท้ได้แก่พระสันตะปาปา เราจะสรุปเอกสารต่างๆ และเนื้อหาที่สำคัญของเอกสารเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ทราบว่าโปรตุเกสและสเปนนั้นมีสิทธิพิเศษอะไรกันนัก
 
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1418 พระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 (ค.ศ. 1417-1431) เริ่มต้นมอบสิทธิพิเศษให้แก่ชาวโปรตุเกสโพ้นทะเลหลายข้อด้วยกันด้วยเอกสาร Bull"Sane Charissimus" วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1418 ตามมาด้วย Bull "Romanus Pontifex" วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1455 ของพระสันตะปาปานิโคลาสที่ 5 พระสันตะปาปากัลลิสต์ ที่ 3 ก็มอบ Bull "Inter Caetera" ลงวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1456 โดยทั้งหมดนี้มอบให้แก่เจ้าชายเฮนรี นักเดินเรือ
 
โปรดสังเกตดูว่าเอกสารทางการของพระศาสนจักรนั้น จะเรียกชื่อเอกสารโดยใช้คำแรกของเอกสารเป็นหลัก สิทธิพิเศษเหล่านี้ให้ไว้เพื่อความเชื่ออันได้แก่ เพื่อการกลับใจของชาวนิโกรอาฟริกัน นอกจากนี้เจ้าชายเฮนรียังได้รับสิทธิ์และอำนาจหลายประการจากกษัตริย์โปรตุเกสด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานด้านการเดินเรือตามแผนของเจ้าชายเฮนรีเอง หลังจากที่เจ้าชายเฮนรีสิ้นพระชนม์แล้วในปี ค.ศ. 1460 การสำรวจทางทะเลก็มีอยู่ประปรายและมีความสำคัญน้อย
 
พระสันตะปาปาซิกตุสที่ 4 (ค.ศ. 1471-1484) ได้สถาปนาสิทธิอุปถัมภ์ศาสนาปาโดรอาโดอีก ด้วยเอกสาร Bull "Clara  Devotionis" ลงวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1472 และได้ส่งจดหมายไปให้แก่อัครสังฆราชแห่ง Lisbon และสังฆราชแห่ง Lamego ให้สิทธิปาโดรอาโดในการตั้งสังฆมณฑลต่างๆ สร้างวัด และจัดหาบุคคลากรของพระศาสนจักร
 
นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งคือ Silva Rego ได้สรุปถึงสิทธิพิเศษต่างๆ เหล่านี้ของปาโดรอาโดไว้สั้นๆ ดังนี้
 
* การเดินเรือเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ๆ ถูกสงวนไว้เฉพาะนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อผลดีต่อผู้ที่ยังไม่เชื่อในพระศาสนาเอง
 
* ชาวโปรตุเกสเป็นผู้ปกครองที่แท้จริงของทะเล รวมทั้งแผ่นดินต่างๆ ที่จะค้นพบและยึดครอง นอกเหนือจากที่ค้นพบและยึดครองไว้แล้ว
 
* ชาวโปรตุเกสมีอำนาจในการเจรจาโดยตรงและอิสระกับผู้ที่ยังไม่เชื่อทั้งมวลรวมทั้งกับพวกมุสลิมด้วย
 
* กษัตริย์โปรตุเกสสามารถสร้างและก่อตั้งวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์, จัดตั้งและจัดหาคณะนักบวชสำหรับวัดวาอารามต่างๆ เหล่านั้น เพื่อโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การยกบาปยกเว้นเฉพาะกรณีที่พระสันตะปาปาสงวนไว้เท่านั้น
 
* ประเทศโปรตุเกสเป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง (Jurisdiction) แถบอินเดียตลอดไป
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าสิทธิพิเศษจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจในการแพร่ธรรมโดยตรงมีแต่ทางอ้อมเท่านั้น
 
พระเจ้ายอห์นที่ 2 (ค.ศ. 1481-1495) แห่งโปรตุเกสพยายามทำงานของเจ้าชายเฮนรีต่อไปด้วยความกระตือรือร้น แต่ในสมัยนี้เองสเปนกำลังเป็นมหาอำนาจคู่แข่งที่สำคัญมาก และเมื่อโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา สเปนก็เรียกร้องต่อพระสันตะปาปาถึงสิทธิพิเศษ Padroado เช่นเดียวกับที่โปรตุเกสได้รับ
 
พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 ออกเอกสาร Bull "Inter  Caetera" ลงวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1493  โดยกล่าวว่าหลังจากที่พระองค์ได้พิจารณาทุกอย่างโดยรอบคอบและอาศัยอำนาจของพระองค์ในฐานะผู้แทนพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงรับรองสิทธิอันชอบธรรมทุกประการในการปกครองดินแดนที่ถูกค้นพบขึ้นใหม่   และที่จะถูกค้นพบและยึดครองต่อไปของชาวสเปนในมหาสมุทรตะวันตก รวมทั้งสิทธิอำนาจในการปกครองของพระศาสนจักรตามที่ประเทศโปรตุเกสได้รับด้วย   และด้วยเอกสารฉบับนี้   พระสันตะปาปาพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความเข้าใจผิดระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสอง พระองค์จึงทรงลากเส้นแบ่งดินแดนในโลกใบนี้   โดยแยกเป็น 2 ฝั่ง   และกั้นเขตด้วยการลากเส้นสมมติจากขั้วโลกใต้ ผ่านราวๆ 100 ลีกตะวันตกของเกาะอาโซราช (Azores) และ Cape de Verd ซึ่งหมายความว่าทางซีกตะวันตกนั้นเป็นของสเปนและทางซีกตะวันออกเป็นของโปรตุเกส
 
หลังจากนี้พระสันตะปาปายังออกเอกสาร Bull "Piis Fidelium" ลงวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1493 มอบอำนาจในการแต่งตั้งมิชชันนารีเพื่อไปอินเดีย รวมทั้งสิทธิพิเศษอื่นๆ เหนือดินแดนและชนพื้นเมืองของดินแดนที่ค้นพบเอกสาร Bull "Inter Caetera" ลงวันที่ 28 มิถุนายน  ค.ศ. 1493  ได้ชี้แจงและขยายสิทธิพิเศษมากกว่าเดิม เอกสาร Bull "Eximiae Devotionis" ลงวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1493 ได้มอบอำนาจในการปกครองทางพระศาสนจักรเช่นเดียวกับที่โปรตุเกสได้รับ และเอกสาร Bull "Dudum Siquidem" ลงวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1493 ได้ประกาศยกเลิกอำนาจต่างๆ ที่มอบให้ไปแล้วและให้สิทธิพิเศษต่างๆ ใหม่ โดยครั้งนี้ให้สิทธิพิเศษแบบไม่จำกัดและไม่มีเงื่อนไข แต่กลับกว้างขวางกว่าเดิมด้วย
 
ทางฝ่ายประเทศโปรตุเกสเห็นว่าเส้นแบ่งโลกที่พระสันตะปาปากำหนดไว้นั้นนำผลประโยชน์ ให้แก่สเปนมากกว่าจึงร้องเรียนไปยังสันตะสำนักโดยเสนอให้เคลื่อนย้ายเส้นแบ่งจาก 100 ลีก ของหมู่เกาะอาโซราชให้เป็น 370 ลีก ในสนธิสัญญาที่กระทำด้วยกันที่โทรเดซิลลาช  ลงวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 เส้นแบ่งเขตแดนนี้ได้ถูกเปลี่ยนไปตามที่โปรตุเกสต้องการซึ่งหมายความว่าประเทศบราซิลนั้นอยู่ในสิทธิพิเศษของโปรตุเกส
 
ต่อมาพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 โดยเอกสาร Brief "CumSicut Magestas" ลงวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1500 ได้ยืนยันและประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ของพระศาสนจักรในดินแดนที่ค้นพบใหม่นี้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์โปรตุเกส อย่างไรก็ตาม จากเอกสารต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีการพูดถึงหมู่เกาะอันเดียวอย่างชัดเจนเลย ดังนั้นพระสันตะปาปาจูเลียร์ ที่ 2 (ค.ศ. 1503-1513)    ด้วยเอกสาร Bull "Universalis Ecclesiae" ลงวันที่ 28กรกฎาคม ค.ศ. 1508 ได้มอบให้ผู้ปกครองแห่งคาสตีลและจีออง มีสิทธิพิเศษในการที่จะอนุมัติการสร้างวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งเสนอชื่อบุคคลต่างๆ ที่จะรับหน้าที่อภิบาลอาสนวิหาร วัดวาอารามและสถาบันนักบวช และการเสนอชื่อเหล่านี้ต้องเสนอให้แก่พระสันตะปาปาและคณะพระสังฆราชในที่ประชุม Consistory
 
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 (ค.ศ. 1513-1521) ออกเอกสาร Bull "Dum Fidei Constantiam" ลงวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1514 คืนอำนาจของคณะแห่งพระคริสต์ให้แก่โปรตุเกส และเวลาเดียวกันนั้นด้วยเอกสาร Bull "Pro Excellinti  Praemanentia" ลงวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1514 ก็ได้ก่อตั้ง   สังฆมณฑล Funchal ในหมู่เกาะมาเคอีรา ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงรับรองถึงสิทธิปาโดรอาโดเหล่านี้อีก รวมทั้งได้ขยายสิทธิพิเศษนี้ไปยังดินแดนที่ยังไม่รู้จักอีกด้วย โดยอาศัยการออกเอกสารเหล่านี้
 
พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 3 (ค.ศ. 1534-1549) ด้วยเอกสาร Bull "Aequum Reputamus"   ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1534 ก่อตั้งสังฆมณฑลกัว ภายใต้การปกครองของกษัตริย์โปรตุเกส เอกสารนี้เองได้ให้คำจำกัดความของสิทธิพิเศษปาโดรอาโดไว้อย่างชัดเจนที่สุด ตามเอกสารนี้ให้สิทธิต่อกษัตริย์โปรตุเกส
 
* ในการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นพระสังฆราชต่อพระสันตะปาปา
* ผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้ปกครอง
* ผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ต่างๆ ของพระศาสนจักรส่วนกษัตริย์เองก็มีหน้าที่
* จัดเตรียมและจัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของสังฆมณฑล
* ค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ของพระศาสนจักร
* สร้างและซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ
* จัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับการถวายบูชาและพิธีกรรม
 
เวลานี้เราควรจะสรุปสักเล็กน้อยถึงหลักใหญ่ๆ ของสิทธิพิเศษเหล่านี้ เราต้องไม่ลืมด้วยว่าหลักการเหล่านี้ ประเทศโปรตุเกสและสเปนได้ออกระเบียบมากมายเอาไว้ด้วย เพื่อปกป้องสิทธิพิเศษของตน เช่น มิชชันนารีที่จะไปแพร่ธรรมยังดินแดนที่ค้นพบนั้นต้องได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ ต้องออกเดินทางที่เมืองท่าอะไร เป็นต้น รายละเอียดเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ  หลักใหญ่ๆ ของสิทธิพิเศษเราจะสรุปได้ดังนี้ โดยเราจะสรุปเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพิเศษปาโดรอาโดเท่านั้น เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเราโดยตรง ดังนี้ตามที่คุณพ่อโรแบรต์ คอสเต ได้จัดทำไว้แล้ว
 
ระบบของ "ปาโดรอาโด" หรือการปกครองของโปรตุเกส
1. อำนาจปกครองของกษัตริย์
กษัตริย์มีส่วนร่วมในกิจการเผยแพร่ศาสนา ฉะนั้น
 
ก. พระองค์เป็นผู้เสนอชื่อของผู้ที่จะเป็นสังฆราชในสังฆมณฑลต่างๆ ของอาณานิคม พระองค์แต่งตั้งเจ้าอาวาสโดยตรง สำหรับสังฆราชไม่ต้องการการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา เพราะพระสงฆ์จิตตาธิการของคณะ "กองพลของพระคริสต์" มีอภิสิทธิ์มอบอำนาจฝ่ายธรรมแก่พระสังฆราชองค์ใหม่
 
ข. กษัตริย์เป็นผู้ออกเงินเพื่อบำรุงวัดและอาราม
* พระองค์ให้เงินเลี้ยงพระสงฆ์และฆราวาสที่ทำงานเกี่ยวกับวัด
* พระองค์มีหน้าที่ซ่อมแซมวัดวาอาราม และสร้างใหม่เมื่อต้องการ
 
2. คำสอนสมัยนั้นเกี่ยวกับอำนาจฝ่ายธรรมของกษัตริย์
* สมัยนั้นถือว่า กษัตริย์มีส่วนในฝ่ายธรรมของพระศาสนจักร เพราะพระองค์ต้องรับผิดชอบในความรอดฝ่ายวิญญาณของไพร่พล
* พระองค์ทรงรับผิดชอบความเจริญของศาสนา และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระศาสนจักรในราชอาณาจักร
* พระสันตะปาปาได้ทรงมอบภาระหน้าที่การเผยแพร่ศาสนาและการจัดระเบียบการปกครองของพระศาสนจักรในประเทศที่ไม่อยู่ในยุโรปให้กษัตริย์
 
ในสมัยนั้น ทุกคนย่อมรับสิทธิ์การปกครองทางธรรมของกษัตริย์ เช่นตัวอย่าง นักบุญฟรังซิส ซาวีเอรี ท่านเขียนจดหมายทูลกษัตริย์ยวงที่ 3 กล้าติความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ ที่ล่าช้าในการจัดการเกี่ยวกับงานแพร่ธรรม (พ.ศ. 2092 / ค.ศ. 1549) ว่าดังนี้..."ข้าพเจ้าทราบทางประสบการณ์ว่า พระองค์ไม่มีความสามารถในการเผยแพร่ความเชื่อในประเทศอินเดีย    แต่พระองค์กลับมีความสามารถเพื่อกอบโกยสะสมทรัพย์สินฝ่ายโลกจากประเทศอินเดีย..."
 
3. ระเบียบของปาโดรอาโด
* ธรรมทูตที่ไปในดินแดนมิสซังต้องโดยสารทางเรือของโปรตุเกสประเทศเดียว
* ต้องออกเดินทางจากเมืองลิสบอนเมืองเดียว ฉะนั้นพระสงฆ์และนักบวชชาวโปรตุเกส หรือชาวต่างประเทศทั่วยุโรป ต้องไปรวมกันที่ลิสบอน ที่นั่นเจ้าหน้าที่โปรตุเกสตรวจคนที่จะออกเดินทางอย่างละเอียด (เกี่ยวกับอายุ สัญชาติ ยศ ตำแหน่ง...) คนต่างชาติต้องเรียนภาษาโปรตุเกส เพราะเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปใน
มิสซัง ชื่อของคนต่างชาติบางครั้งถูกตัดให้เป็นสำเนียงโปรตุเกส
* ธรรมทูตทุกคนต้องไปเฝ้าพระมหากษัตริย์และปฏิญาณตัวต่อพระองค์ สัญญาที่จะซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์โปรตุเกส
* ธรรมทูตเดินทางภายใต้การนำของพระสงฆ์ชาวโปรตุเกส
* เมื่อถึงเมืองกัว อุปราชจะตรวจตัวธรรมทูตอีกครั้ง
* ในมิสซัง ต้องทำงานภายใต้การปกครองของนักบวชโปรตุเกส
 
จุดอ่อนของการปกครองของโปรตุเกส
ประเทศโปรตุเกสเป็นประเทศเล็ก เมื่อนักเดินเรือเริ่มพบดินแดนใหม่ ในโปรตุเกสเองพลเมืองมีไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนคน ฉะนั้นโปรตุเกสประเทศเดียวไม่สามารถรับผิดชอบการเผยแพร่ศาสนาทั่วอาณานิคมของตน ฉะนั้นกษัตริย์จึงขอความช่วยเหลือจากคณะนักบวช ทั้งขอให้นักบวชเรียกสมาชิกของคณะที่เป็นชาวต่างประเทศมาช่วยด้วย จึงมีนักบวชชาวอิตาเลียน สเปน เยอรมัน ออสเตรีย โปแลนด์... ไปสมทบชาวโปรตุเกสเป็นธรรมทูตเป็นจำนวนมาก
 
* ในดินแดนมิสซัง เขาใช้ครูคำสอนช่วยสอนศาสนา แต่ไม่ส่งเสริมการบวชพระสงฆ์พื้นเมือง
* ตามธรรมดา ชาวโปรตุเกสยึดครองดินแดนทางชายทะเล ไม่นิยมเข้าไปลึกในแผ่นดินที่เป็นอาณานิคมของเขา
* ฉะนั้นโปรตุเกสไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการมากมายของประเทศมิสซังอันกว้างใหญ่เหลือเกิน
 
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับระบบปาโดรอาโด
1. น่าสังเกตว่า แม้ระยะเวลานั้นจะอยู่ในศตวรรษที่ 16 แล้วก็ตาม แต่ประเทศโปรตุเกสและสเปนยังคงยึดถือจิตตารมณ์ของสมัยกลางอยู่ นั่นคือการยึดติดอยู่กับสถาบันพระสันตะปาปา แทนที่จะยึดติดอยู่กับความโน้มเอียงไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจากสมัยกลางไปสู่สมัยใหม่ ตามที่มีอยู่ทั่วไปในยุโรปเวลานั้น ประเทศทั้งสองจึงกลายเป็นเสมือนเครื่องมือที่พระศาสนจักรใช้ในการขยายพระศาสนจักรไปสู่ดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่
 
2. การก่อตั้งระบบปาโดรอาโด ทำให้ประเทศสเปนและโปรตุเกสต้องรับหน้าที่ในการต่อสู้กับพวกแขกมัวร์มุสลิมที่กำลังคุกคามยุโรปในเวลานั้น  และด้วยการสำรวจดินแดนใหม่    พระศาสนจักรก็สามารถทำให้มีการกลับใจได้
 
3. ในปี ค.ศ. 1580 ประเทศโปรตุเกสตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนและเป็นอยู่เช่นนี้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1640 เมื่อมีการปฏิวัติกันขึ้นและที่สุดก็สถาปนาระบบพระมหากษัตริย์ปกครองโปรตุเกสต่อไป ในช่วงระยะเวลาที่โปรตุเกสอ่อนแอมากเช่นนี้เอง ก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นในพระศาสนจักร นั่นคือการก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อหรือ ที่รู้จักกันในนาม โปรปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) ทั้งนี้เป็นเพราะระบบปาโดรอาโดทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร เมื่อเป็นเช่นนี้ สิทธิพิเศษปาโดรอาโด กับบุคคลากรของโปรปากันดา ฟีเด ก็ต้องเผชิญหน้ากันในดินแดนที่ทั้งสองต้องทำงานร่วมกัน มิสซังสยามก็ไม่ได้รับการยกเว้น ดังที่เราจะศึกษาต่อไป
 
ข. การสถาปนาพระสังฆราชโปรตุเกสในเอเชีย
เราจะสามารถเห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของระบบปาโดรอาโดในเอเชียได้ก็ต้องดูจากสังฆมณฑลต่างๆ ที่พวกเขาได้ช่วยกันก่อตั้งขึ้นมา นับเป็นฐานกำลังที่สำคัญในการทำงานแพร่ธรรม ในสมัยนั้น เราจำเป็นต้องรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของระบบปาโดรอาโดนี้ได้ รวมทั้งเห็นอิทธิพลของชาวโปรตุเกสในดินแดนแถบเอเชียนี้ด้วย
 
1. กัว สังฆมณฑลแห่งแรกของตะวันออก
กัวเป็นแคว้นๆ หนึ่งของอินเดียปัจจุบันซึ่งมีจำนวนคริสตชนมาก บางครั้งถึงกับเรียกว่า โรมแห่งตะวันออก เพราะคริสตศาสนาที่นี่มีรูปแบบทางตะวันตกและเป็นรูปแบบของชีวิตประชาชนที่นี่ด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าเมืองกัวเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1510 จนถึงปี ค.ศ. 1961  นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าการที่โปรตุเกสเข้ามาสำรวจและยึดครองดินแดนทางตะวันออกนี้ จุดมุ่งหมายเอกนั้นมิใช่เพื่อก่อตั้งอาณานิคม แต่เพื่อควบคุมการค้าอันนำประโยชน์มาให้มากกว่า จึงจำต้องหาทำเลที่เหมาะๆ เพื่อยึดเป็นหัวหาดทางการค้าขายโดยให้ทำเลนั้นๆ ขึ้นตรงต่อการปกครองของกษัตริย์โปรตุเกส Albuquerque (ค.ศ. 1509-1515) เข้าใจความจำเป็นประการนี้ดีจึงออกแสวงหาและยึดครองสถานที่สำคัญๆ ในหมู่เกาะอินเดีย นั่นคือ เข้ายึดครองเมืองกัวในปี ค.ศ. 1510, มะละกาในปี ค.ศ. 1511, ออร์มุซ ในปี ค.ศ. 1515 รวมทั้ง Chaul, Damen, Diu และที่อื่นๆ ด้วย เมืองกัวได้กลายเป็นการครอบครองที่ใหญ่และสำคัญมากของโปรตุเกสในตะวันออก
 
พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7  สถาปนาเมืองกัวให้เป็นสังฆมณฑลในการประชุม Consistory วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1533 แต่ Bull ทางการนั้นออกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1534 ในสมัยพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 3 เพราะว่าพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7 สิ้นพระชนม์เสียก่อนในเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งพระสังฆราชแห่งเมืองกัวนั้นเริ่มขึ้นในปี 1538 และพระสังฆราชที่ได้รับการแต่งตั้งเริ่มมาประจำที่นี่ในปีต่อมา อำนาจที่แท้จริงในการปกครองดูแลเมืองกัวนั้นอยู่ภายใต้คณะแห่งพระคริสต์ นอกจากนี้ อาศัยธรรมนูญแห่งพระศาสนจักร (Apostolic Constitution) ชื่อ "Etsi SanctaetImmaculata" ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1558 ได้ยกสังฆมณฑลกัวให้เป็นอัครสังฆมณฑลโดยอาศัยเอกสาร Bull "Pro Excellenti Praeminentia" ลงวันที่เดียวกัน นอกจากนี้ เวลาเดียวกันพวกโปรตุเกสก็ขอพระสันตะปาปาก่อตั้งสังฆมณฑลใหม่ๆ ขึ้น เช่น Cochin, มะละกาให้เป็นสังฆมณฑลขึ้นกับอัครสังฆมณฑลกัวด้วย และพระสันตะปาปาก็ทรงเห็นด้วยและแต่งตั้งเป็นสังฆมณฑลตามที่พวกเขาเสนอมาโดยอาศัยเอกสาร Bull ฉบับเดียวกันนี้เองโดยพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 4
 
2. สังฆมณฑลมะละกา
หลังจาก Albuquerque ยึดครองมะละกาได้ในปี ค.ศ. 1511 ไม่นานนัก ท่านก็ได้สร้างป้อมปราการและวัดแห่งหนึ่งขึ้นชื่อว่าวัดแม่พระรับสาร วัดนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอัสสัมชัญมะละกาได้รับการยกขึ้นเป็นสังฆมณฑลโดยเอกสารลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1558 ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มะละกาจึงกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภูมิภาคนี้ จากมะละกานี่เองที่บรรดามิชชันนารีออกไปแพร่ธรรมยังกัมพูชา, สยาม, โคจินจีน, อินโดนีเซีย, โมลคคาส, โซลอร์, ติมอร์, จีน และญี่ปุ่นด้วย
 
อาศัย Brief "Multa Praeclara" ลงวันที่ 24 สิหาคม ค.ศ. 1838 โดยพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 16 (ค.ศ. 1831-1846) ได้ยกเลิกการเป็นสังฆมณฑล ต่อมาพระองค์ก็ได้จัดตั้งเป็น Apostate Vicariale เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1841 และมอบหมายให้สงฆ์คณะ M.E.P. เป็นผู้ดูแลแทน  ในที่สุดได้รับการยกขึ้นเป็นสังฆมณฑลอีกครั้งหนึ่งโดยพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1888 ต่อมาได้รับการยกขึ้นเป็นอัครสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1953 มะละกาถูกแบ่งออกเป็น 3 สังฆมณฑลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955 ได้แก่ อัครสังฆมณฑลมะละกา-สิงคโปร์, สังฆมณฑลกัวลาลัมเปอร์ และสังฆมณฑลปีนัง
 
3. สังฆมณฑลมาเก๊า
มาเก๊าได้รับการสถาปนาเป็นสังฆมณฑลโดยเอกสาร Bull "Super Specula" ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1576 โดยพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 13 โดยตั้งขึ้นเพื่อรับใช้คริสตชนแห่งจีนและญี่ปุ่น มาเก๊าได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่เมืองจีน มิชชันนารีที่ปรารถนาจะเข้าไปยังจีนและญี่ปุ่นจะมาที่นี่และพักอยู่จนกว่าจะสามารถเข้าประเทศนั้นๆ ได้ สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือในระหว่างปี ค.ศ. 1583-1632 มีแต่เพียงมิชชันารีคณะเยสุอิตเท่านั้นที่กำลังทำงานในจีนและญี่ปุ่น โดยมีวิทยาลัยของตนอยู่ที่มาเก๊านี้เอง ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่าพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 13 ได้ให้สิทธิพิเศษแก่คณะเยสุอิตเท่านั้นในการแพร่ธรรมในจีนและญี่ปุ่นโดยออกเอกสาร Brief "Ex Pastoral Officio" ลงวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1585 แต่ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1600 พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 8 เพิกถอนสิทธิพิเศษนี้โดยออกเอกสารธรรมนูญ "Onerosa Pastoralis" อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นก็มีสงฆ์ฟรังซิสกันบางคนเข้าไปทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
เป็นอันว่าจากระบบปาโดรอาโดนี้ อำนาจในการแพร่ธรรมจริงๆ ของพระศาสนจักรกลับไปตกอยู่ในมือของโปรตุเกสและสเปน ทำให้งานแพร่ธรรมไปปะปนกับการล่าอาณานิคมและการค้าหาผลประโยชน์ มิชชันนารีคณะต่างๆ ภายใต้ระบบนี้ก็ละเลยหน้าที่ในการแพร่ธรรมโดยที่พระศาสนจักรเองไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้เลย พระศาสนจักรจึงต้องการแก้ไขเรื่องนี้โดยพยายามนำเอาอำนาจในการแพร่ธรรมกลับคืนมา การสังคายนาที่เตรนโตก็ถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ด้วย
 
ดังนั้นหลังจากการสังคายนาสากลที่เมือง Trent ระหว่างปี ค.ศ. 1545-1563 ทางโรมเห็นว่าระบบนี้ไม่เหมาะสม และมีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการแพร่ธรรม จึงหาหนทางที่จะเอาอำนาจการแพร่ธรรมกลับคืนมา และเพื่อมิให้มีข้อบาดหมางกับทั้ง 2 ประเทศนั้นด้วย ก็ต้องหาทางออกที่เหมาะสมโดยการก่อตั้งสมณกระทรวงโปรปากันดา ฟีเด ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1622 เพื่อรับผิดชอบในการแพร่ธรรมในส่วนต่างๆ ของโลก บังเอิญในช่วงปี ค.ศ. 1622 นั้น ประเทศโปรตุเกสกำลังอยู่ในสภาพสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การที่โปรปากันดา ฟีเดจะทำอะไรสักอย่างเพื่อการแพร่ธรรม ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดเรื่องขึ้นได้ เพราะอาจจะไปล่วงล้ำสิทธิพิเศษต่างๆ  เหล่านั้น การแต่งตั้งพระสังฆราชปกติเป็นไปไม่ได้เพราะสิทธิพิเศษประการหนึ่ง แต่ไม่มีสิทธิพิเศษข้อใดขัดแย้งกับการส่งผู้แทนพระสันตะปาปาเข้ามาดูงานในเขตดินแดนเหล่านั้น รวมทั้งในเขตที่ยังไม่ถูกยึดครองโดยโปรตุเกสและสเปน ดังนั้นทางเดียวที่ทำได้คือ แต่งตั้งพระสังฆราชและมอบหมายให้เป็น Apostolic Vcar ดังกล่าว ถึงกระนั้นก็ดี ทั้งสองประเทศนั้นต่างก็ถือว่าบรรดามิชชันนารีของโปรปากันดา ฟีเด ได้เข้ามาล่วงล้ำสิทธิพิเศษของตน จึงไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชที่ถูกส่งมา เรื่องของเรื่องก็คือบรรดามิชชันนารีของปาโดรอาโด และของโปรปากันดา ฟีเด ก็ต้องทะเลาะกันและบาดหมางกันในทุกภาคของโลกก็ว่าได้
 
3. สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ (Propaganda Fide)
การก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การแพร่ธรรม เราเห็นแจ้งว่าระบบปาโดรอาโดนี้ ด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการช่วยพระศาสนจักรในการแพร่ธรรม ส่วนอีกด้านหนึ่งการแพร่ธรรมได้รับการกระทบกระเทือน เพราะเหตุว่าอาณานิคมของโปรตุเกสกว้างใหญ่ไพศาล กษัตริย์ไม่สามารถดูแลและช่วยคริสตังได้ทั่วถึง ปัญหาต่างๆ ก็ตามมาหลายอย่างด้วยกัน คุณพ่อกอสเตได้สรุปไว้ดังนี้
 
หลังสังคายนาเตรนโต พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 5 ได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ศาสนา ครั้งแรกมีพระคาร์ดินัล 4 องค์เป็นกรรมการ ต่อมาเพิ่มจำนวนถึง 11 องค์ (ปี ค.ศ. 1568) ต่อมาปี ค.ศ. 1622 พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 ได้ทรงสถาปนาสมณกระทรวงหนึ่งเรียกว่า สมณกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ เพื่อให้พระศาสนจักรเองได้รับอำนาจปกครองการเผยแพร่คืนมา มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะประเทศโปรตุเกสจะไม่ยอมสละอภิสิทธิ์ที่ได้รับจากพระสันตะ ปาปาองค์ก่อนๆ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในด้านนั้นอย่างครบถ้วน
 
สมณกระทรวงใหม่เริ่มทำงานโดยทำการสำรวจสืบสวน เพื่อทราบสภาพความเป็นอยู่ของการแพร่ธรรมในมิสซังถึง 3 ครั้ง (ปี ค.ศ. 1625, 1628, 1644) สมณกระทรวงได้รับคำตอบที่จะสรุปได้ดังต่อไปนี้
 
ในมิสซังมีการขัดแย้งกันระหว่างสังฆราชกับนักบวช และระหว่างนักบวชด้วยกัน, ธรรมทูตทำการค้าขาย, ธรรมทูตไม่เรียนภาษาของชาวบ้านในประเทศที่เขาแพร่ธรรม, เขตสังฆมณฑลกว้างเกินไป, ธรรมทูตไปยุ่งกับการเมือง, นักการเมืองไปยุ่งในงานแพร่ธรรมของธรรมทูต, ธรรมทูตไม่มีโครงการจะเตรียมคนพื้นเมืองให้บวชเป็นพระสงฆ์ หรือคัดค้านไม่ยอมให้คนพื้นเมืองบวชเป็นพระสงฆ์, พระสันตะปาปาไม่สามารถประกาศสมณสารในประเทศมิสซัง ถ้ากษัตริย์โปรตุเกสไม่ได้รับรองเสียก่อน
 
อันที่จริงปัญหาเหล่านี้มีมานานแล้ว    เพียงแต่สมณกระทรวงได้เริ่มสอบสวนและหาทางแก้ไขต่อมาเท่านั้น     เป็นอันว่าเราสามารถมองเห็นถึงความจำเป็นในอันที่จะต้องจัดตั้งสมณ กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อขึ้นแล้ว เรื่องการก่อตั้งอย่างละเอียดนั้นผู้สนใจสามารถหาศึกษาได้จากหนังสือหลายเล่มทีเดียว   และทั้งจากหอจดหมายเหตุของสมณกระทรวงเอง  ซึ่งผมขอสรุปให้ดังต่อไปนี้
 
พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 ก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1622 หน้าแรกของเอกสารแห่งสมณกระทรวง บันทึกไว้อย่างชัดเจนเป็นภาษาลาตินว่าดังนี้
 
"In Christi Nomine Amen Anno ab ejusdem Nativitate 1622, die 6 Januarii Acta Sacrae Congregationis Cardinatium de Propaganda Fide. Sub Gregorio XV Pontifice Maximo"
 
อย่างไรก็ตามเอกสาร Bull ซึ่งเป็นคำสั่งแต่งตั้งทางการออกมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1622 ธรรมนูญในการก่อตั้งนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า "Inscrutabili divinae Providentiae Arcano" งานที่พระสันตะปาปาทรงมอบหมายให้แก่สมณกระทรวงใหม่นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า ให้ทำทุกอย่างเพื่อช่วยการเผยแพร่ความเชื่อคาทอลิก สนามงานของสมณกระทรวงได้แก่ โลกทั้งโลก พระองค์ทรงจัดทำจดหมายเวียนไปยังบรรดาพระสังฆราชทั้งหลายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1623 กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ และทรงเสริมด้วยว่าสมณกระทรวงต้องนำเอาเหตุการณ์ 2 อย่างที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 16 ได้แก่ การค้นพบดินแดนใหม่ๆ ในโลก และการปฏิรูปของพวกโปรเตสตันท์ ให้ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เข้ามามีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรให้จงได้ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ที่จะต้องติดต่อกับพระศาสนจักรตะวันออกซึ่งแยกออกจากคาทอลิกไปแล้วด้วย
 
คำว่า Mission หรือที่เราเรียกกันว่า มิสซังนั้น ก็ถูกใช้โดยสมณกระทรวงตั้งแต่แรกๆ เลยทีเดียว เพราะคำๆ นี้หมายถึงการส่งออกไป การส่งออกไปนี้ได้แก่การส่งบรรดา "ผู้แทนพระสันตะปาปา" (Apostolic vicars) ออกไปทำงานในนามของพระสันตะปาปาโดยพยายามหลีกเลี่ยงกับสิทธิพิเศษของโปรตุเกสและสเปนด้วย แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ คุณพ่อกอสเตบรรยายไว้ว่า
 
วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1637 พระคาร์ดินัล Ingoli เลขาธิการของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้รับอนุญาตให้มีการอภิเษกพระสงฆ์ชาวอินเดียองค์หนึ่งอย่างลับๆ ชื่อ มาฮิว เดกาสโตร ให้เป็นพระสังฆราช ปีต่อมา ค.ศ. 1638 ท่านส่งสังฆราชใหม่นั้นไปปกครองสังฆมณฑลหนึ่งในอินเดียในนามของผู้แทนพระสันตะปาปา แต่อัครสังฆราชแห่งมาเก๊าไม่ยอมรับพระสังฆราชของสมณกระทรวง โดยอ้างสิทธิของปาโดรอาโด ในที่สุดพระสังฆราชชาวอินเดียนั้นต้องกลับกรุงโรมในปี ค.ศ. 1640
 
เราจะมาดูเรื่องราวของสมณกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสยาม ดังต่อไปนี้
 
ก. จุดมุ่งหมายของการส่งผู้แทนพระสันตะปาปา
การก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อมาจากความจำเป็นต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เป็นต้นว่าการ ตัดสินใจของสังคายนาที่เมืองเตรนโต การต้องการเอาอำนาจในการแพร่ธรรมกลับคืนมาสู่มือพระศาสนจักร การขจัดความไม่สะดวกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสิทธิพิเศษต่างๆ ที่โปรตุเกสและสเปนได้รับจากสิทธิพิเศษของปาโดรอาโด ประกอบกับเวลานั้นประเทศโปรตุเกสกำลังสูญเสียอำนาจของตนไปอันเนื่องมาจากมีคู่แข่งมากขึ้นทั้งจากอังกฤษ, ฮอลแลนด์, ฝรั่งเศส รวมทั้งสเปนก็เข้าครอบครองโปรตุเกสด้วย นอกจากนี้ประเทศโปรตุเกสเองก็ยังไม่สามารถบริหารงานแพร่ธรรมในดินแดนต่างๆ ที่ตนยึดครองอยู่อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
 
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า สมณกระทรวงจำเป็นต้องระมัดระวังที่จะไม่ล่วงล้ำสิทธิพิเศษของโปรตุเกส แต่งานแพร่ธรรมก็จำเป็นต้องเริ่มขึ้น จึงได้จัดส่ง Apostolic Vicar ไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก เราอาจจะแปลคำว่า Apostolic Vicar ได้ว่า "รองอัครสาวก" หรือ "ผู้แทนพระสันตะปาปา" โดยเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชของสังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่งหรือเมืองใดเมืองหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่าเป็น Titular Bishop in partibus infidelium ซึ่งหมายความว่าเป็นสังฆราช แต่ไม่ต้องประจำในท้องที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามตำแหน่ง แต่ให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระสันตะปาปา สมณกระทรวงยังคงยอมรับสิทธิพิเศษปาโดรอาโด  แต่เวลาเดียวกันก็ปฏิเสธอย่างแข็งขันในดินแดน     ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย คือ
 
* ในดินแดนซึ่งยังไม่เคยถูกโปรตุเกสครอบครองมาก่อน
* ในดินแดนซึ่งเคยถูกโปรตุเกสครอบครอง แต่ได้รับเสรีภาพแล้วโดยมีผู้ปกครองของตนเอง
* ในดินแดนที่ถูกยึดครองโดยชาวฮอลแลนด์ และชาวอังกฤษ
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากเรื่องนี้ได้แก่   สมณกระทรวงไม่เคยยอมรับเลยว่าขอบเขตของ    สังฆมณฑลมาเก๊าแผ่ขยายเข้าไปจนถึงประเทศจีนด้วย ตามที่ประเทศโปรตุเกสอ้างอยู่เสมอ เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสันตะปาปา Innocent XII สนับสนุนแนวทางของสมณกระทรวงและให้การรับรองด้วยพระองค์เอง ดังนั้นสมณกระทรวงจึงจัดส่งผู้แทนพระสันตะปาปาเข้าไปในดินแดนต่างๆ ดังกล่าวรวมทั้งจีนและอินโดจีนด้วย ผู้ที่จะเป็น Apostolic Vicars ก็ได้รับการเลือกมาจากพระสงฆ์พื้นเมือง (Diocesan Priests) หรือพระสงฆ์สังฆมณฑล หรือจากผู้ที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของปาโดรอาโด และจากอำนาจหน้าที่ของอธิการคณะนักบวชต่างๆ ด้วย และเพื่อมิให้เกิดปัญหากับปาโดรอาโด    ก็ได้ย้ำเตือนบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาเหล่านี้ให้ระวัง และให้ถือตามแนวทางต่างๆ ที่สมณกระทรวงให้ไว้ด้วย     ด้วยวิธีการนี้เท่านั้นการแพร่ธรรมได้กลับมาอยู่ในมือของพระสันตะปาปา อีกครั้งหนึ่ง
 
แน่นอนที่สุด กษัตริย์โปรตุเกสได้อ้างว่า การแต่งตั้งผู้แทนพระสันตะปาปาในลักษณะเช่นนี้เป็นการล่วงล้ำต่อสิทธิพิเศษของตน ในปี ค.ศ. 1680 สมณกระทรวงภายใต้การรับรองของพระสันตะปาปาได้ออกประกาศทางการส่งไปให้กษัตริย์โปรตุเกส ประกาศให้ทราบว่าการก่อตั้งสถาบันผู้แทนพระสันตะปาปานี้มิได้เป็นการล่วงล้ำปาโดรอาโดแต่ประการใดอีกทั้งยังไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของบรรดาพระสังฆราชซึ่งอยู่ภายใต้ระบบปาโดรอาโดอีกด้วย เพราะเหตุว่าผู้แทนพระสันตะปาปามิได้ถูกแต่งตั้งเข้าไปอยู่ในดินแดนที่โปรตุเกสครอบครองอยู่ อีกทั้งสิทธิพิเศษต่างๆ ของโปรตุเกสนั้นก็ยังอยู่ครบถ้วนทุกประการด้วย
 
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ สมณกระทรวงใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะประกาศให้กษัตริย์โปรตุเกสทราบอย่างเป็นทางการ ในระหว่างเวลาก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์บาดหมางกันระหว่าง 2 สถาบันนี้เกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ปลายๆ ศตวรรษที่ 16 และต้นๆ ศตวรรษที่ 17 ในดินแดนของปาโดรอาโดเองก็เกิดเหตุการณ์ไม่ดีอยู่หลายอย่างด้วย ได้แก่ ความบาดหมางระหว่างคณะนักบวชต่างๆ, พวกมิชชันนารีไม่เตรียมพระสงฆ์พื้นเมือง, ไม่ประยุกต์วัฒนธรรม สมณกระทรวงยังคงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยวางแผนและโครงการไว้หลายประการด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้งานแพร่ธรรมก้าวหน้า แม้ว่าสมณ กระทรวงมีข้อคำสอนหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องประยุกต์จารีตต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ อาจเป็นเพราะทฤษฎีของพวก Jansenism ยังมีอยู่ในพระศาสนจักรเวลานั้น และมีอิทธิพลอยู่ด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราน่าจะสนใจเวลานี้คือ สมณกระทรวงให้ข้อคำสอนอะไรแก่บรรดามิชชันนารีของตนบ้าง
 
ข. ข้อคำสอนของสมณกระทรวงต่อบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปา
สมณกระทรวงเห็นว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ การแสวงหาความคิดทั่วๆ ไปเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นงานที่พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 มอบหมาย จึงได้ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยังบรรดาสมณทูต, พระสังฆราช มหาอธิการของคณะนักบวชต่างๆ และขอคำแนะนำจากผู้มีความสันทัดในเรื่องนี้
 
ด้วย พระคาร์ดินัล Ingoli เลขาธิการของสมณ กระทรวงในเวลานั้น ได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ และได้แต่งเป็นบันทึกความทรงจำ (Memorandum) ขึ้นมา  3 เล่ม บรรยายเกี่ยวกับความยากลำบากต่างๆ ที่บรรดามิชชันนารี
 
ประสบในตะวันออกไกล และอินเดียตะวันตก พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นและทางแก้ไขต่างๆ เอาไว้ด้วย Ingoli เองเกิดมีความคิดด้านแพร่ธรรมอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยนั่นคือ อบรมและเตรียมคณะสงฆ์พื้นเมือง และจัดตั้งฐานันดรของพระศาสนจักรท้องถิ่นด้วย (Native Hierarchy)
 
แผนงานต่างๆ ของสมณกระทรวงตามที่มีอยู่ในกฤษฎีกาและข้อคำสั่งสอนต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในปีแรกๆ ของการก่อตั้ง รวมทั้งงานเขียนต่างๆ ของพระคาร์ดินัลอินโกลี ค่อยๆ ถูกจัดทำขึ้นมาโดยวางพื้นฐานอยู่บนแนวทางที่พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 มอบไว้ รวมทั้งบทประสบการณ์และบทสะท้อนของพระคาร์ดินัลอินโกลี เอกสารรูปแบบของเรื่องนี้ได้แก่ ข้อคำสอนที่มีชื่อเสียงมากซึ่งเราเรียกกันว่า "ข้อคำสั่งสอน ปี ค.ศ. 1659" มอบให้แก่บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาแห่งอินโดจีน มีชื่อว่า "Instructio Vicariorum Apostolicoum ad regna Sinarum Tonchini et Cocincinae proficiscentium 1659" ออกโดยสมณกระทรวง มอบให้ ฯพณฯ FranÇois Pallu พระสังฆราชแห่ง    เอลีโอโปลิศ, ฯพณฯ Pierre Lambert de la Motte พระสังฆราชแห่งเบริธ และ ฯพณฯ Ignatius Cotolendi พระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศ เราสามารถศึกษาเอกสารฉบับนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
 
1. ก่อนออกเดินทาง Antequam discedant    จุดสำคัญๆ ของคำสั่งสอนส่วนนี้ ได้แก่
 
ก. คุณสมบัติของผู้ที่จะร่วมงานและท่าทีของผู้แทนพระสันตะปาปาในการเลือกผู้ร่วมงานและเชื้อเชิญพวกเขาไปร่วมทำงาน มีดังต่อไปนี้
 
1. เป็นผู้มีความร้อนรนในทางศาสนา และความเลื่อมใสศรัทธาที่มาจากพระเป็นเจ้าพระองค์เอง
 
2. หลังจากพิจารณาบุคคลต่างๆ ที่มาสมัครด้วยความรอบคอบแล้ว ผู้แทนพระสันตะปาปาต้องเลือกผู้ที่มีอายุ และสุขภาพที่เหมาะสมกับงานที่ต้องพบกับความยากลำบากต่างๆ ได้
 
3. เลือกแล้วต้องส่งรายชื่อผู้มีคุณสมบัติที่ถูกเลือกเหล่านั้นให้แก่สมณทูตแห่งปารีสเพื่อให้สมณทูตลงชื่อบุคคลเหล่านั้นในจดหมายที่จะอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่คณะผู้แทนพระสันตะปาปาได้
 
ข. การติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้แทนพระสันตะปาปา สมณกระทรวง และสมณทูต ต่างกระทำด้วยความแน่นอนและปลอดภัย ทั้งวิธีการที่ใช้ รวมทั้งด้วยคนที่ไว้ใจได้ ซึ่งเต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่จะส่งจดหมายได้อย่างปลอดภัยเท่าที่สามารถเป็นไปได้
 
ก่อนที่จะจบส่วนนี้ สมณกระทรวงสั่งให้พวกเขารีบออกเดินทางโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้  และเดินทางอย่างลับที่สุดด้วย หลังจากข้อคำสั่งสอนเหล่านี้แล้วจากสมณทูต
 
2. ในระหว่างการเดินทาง In ipso intinere
เพื่อหลีกเลี่ยงแคว้นและสถานที่ต่างๆ ภายใต้การยึดครองของโปรตุเกส ทิศทางและเส้นทางซึ่งเขาใช้นั้นจะเป็นเส้นทางที่ผ่านซีเรียและเมโสโปเตเมีย ไม่ใช่เส้นทางที่ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก และแหลมกู๊ดโฮป นั่นหมายความว่าให้เดินทางผ่านเปอร์เซียและอาณาจักรมองโกล
 
ในระหว่างการเดินทาง พวกเขาต้องเขียนบรรยายการเดินทาง รวมทั้งบรรยายถึงแคว้นต่างๆ ที่พวกเขาผ่านไปด้วย ให้สังเกตสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการประกาศความเชื่อ นำความรอดสู่วิญญาณ และเพื่อสิริมงคลของพระเป็นเจ้า พวกเขาจะต้องสังเกตสภาพของคริสตศาสนาที่มีอยู่แล้วด้วยว่าเป็นอย่างไร สังเกตสภาพของมิสซังและมิชชันนารีต่างๆ ด้วย พวกเขาต้องเขียนสิ่งต่างๆ เหล่านี้และส่งกลับไปให้สมณกระทรวง
 
3. ภารกิจที่ต้องกระทำ In ipsa missione  เราสามารถสรุปส่วนสำคัญๆ ของส่วนนี้ได้ดังต่อไปนี้
 
ก. คณะสงฆ์พื้นเมืองต้องได้รับการก่อตั้งขึ้น และนี่ต้องถือว่าเป็นเหตุผลหลักของการเดินทางครั้งนี้
 
ข. มิชชันนารีถูกห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการค้าขายด้วย พวกเขาต้องอยู่ห่างๆ จากเรื่องต่างๆ ทางการเมืองและธุรกิจ และมิให้เข้ารับหน้าที่บริหารเรื่องราวทางบ้านเมือง สมณกระทรวงได้ห้ามเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังและเคร่งครัดเสมอมา และห้ามเช่นนี้ต่อไป หากว่ามีใครถลำเข้าไปสู่ความโง่เขลาชนิดนี้ เขาจะต้องถูกปลดออกจากหน้าที่โดยไม่ต้องลังเลเลย ให้ปลดและขับไล่ออกจากมิสซังเพื่อมิให้มีสิ่งใดถูกพิจารณาว่าเป็นผู้นำเอาความพินาศและเป็นการทำร้ายต่องานของพระผู้เป็นเจ้า
 
ค. การประยุกต์ต่างๆ ต้องถูกนำมาใช้กับวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องนี้ข้อคำสั่งสอนกล่าวว่า พวกเขาต้องไม่วิจารณ์การกระทำและการปฏิบัติใดๆ ของประชาชน ไม่ว่าในส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ พวกเขาต้องไม่ถกเถียงอย่างรุนแรงรวมทั้งต้องไม่ให้ความเห็นใดๆ ด้วย แต่พวกเขาต้องสอนความเชื่อซึ่งไม่โจมตีและทำร้ายพิธีการและประเพณีของชนชาติใดเลย เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะรักและให้คุณค่าต่อสิ่งที่เป็นของตนเองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชาติของตนเอง พวกเขาต้องพยายามแปลหนังสือต่างๆ ของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร และหนังสือชนิดต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นภาษาพื้นเมือง
 
ง. ต้องจัดตั้งการศึกษาทั้งทางศาสนาและทางวิทยาการ ต้องจัดตั้งโรงเรียนขึ้นทุกแห่งด้วยความเอาใจใส่อย่างที่สุด และด้วยความมานะอย่างที่สุด เพื่อบรรดาเยาวชนของแคว้นต่างๆ โดยไม่คิดเงินใดๆ ให้สอนภาษาลาตินและข้อคำสอนของคริสตศาสนาด้วย เพื่อว่าจะไม่มีคาทอลิกคนใดเลยจำต้องส่งบุตรหลานของตนไปรับการศึกษาประเภทอื่น เวลาเดียวกันบรรดามิชชันนารีต้องพยายามหากระแสเรียกทางศาสนาในท่ามกลางเยาวชนเหล่านั้น หากเห็นว่าเขามีความศรัทธาและใจกว้าง
 
ข้อคำสอนนี้ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาลาติน แน่นอนที่สุดบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปายึดถือแนวทางเหล่านี้ในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหามิใช่เกิดจากข้อคำสอนแต่เกิดจากการเผชิญหน้ากันกับระบบสิทธิพิเศษปาโดรอาโดร ซึ่งเราจะศึกษากันต่อไป
 
เกี่ยวกับเรื่องข้อคำสอนและทิศทางของศตวรรษที่ 17 นี้  มีบทความพิเศษบทหนึ่งของ คุณพ่อทวีศักดิ์ บุญสู่ ลงในอุดมศานต์รายเดือนของเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1992 หน้า 13-17 มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะได้อ้างถึงกระแสความคิดของลัทธิหนึ่งในยุโรปคือ ลัทธิแจน เซนนิสต์ (Jansenism) และทัศนะและท่าทีของพระศาสนจักรต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของศาสนาอื่นๆ  ที่มิใช่คริสตศาสนา  จึงขอคัดมาให้ศึกษากันด้วยดังนี้
 
กระแสความคิดแห่งความยิ่งใหญ่และเหนือกว่าคนอื่นของชาวตะวันตกได้แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางด้านเทวศาสตร์ของคริสตศาสนา เป็นต้นในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถึงไม่กี่สิบปีก่อนสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะลัทธิแจนเซนนิสต์  ที่แพร่หลายมากในสมัยนั้น ได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางเทวศาสตร์ของบรรดาธรรมทูตจำนวน  ไม่น้อยในแนวคิดที่ว่า "นอกพระศาสนจักรไม่มีความรอด" ดังนั้นจุดมุ่งหมายหลักของธรรมทูต    ในระยะนั้นจึงถือเอาการโปรดศีลล้างบาปเป็นหลัก เพราะถือเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะส่งมอบความรอดให้กับชนชาติที่นับถือศาสนาอื่นทั่วโลก (โรแบรต์ กอสเต, 2524: 47-48) 
 
กระนั้นก็ดีเมื่อพิจารณาดูท่าทีของคริสตศาสนาโดยหลักการแล้ว พบว่าพระศาสนจักร     โดยสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มีทัศนะในด้านบวกต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของศาสนาอื่นมาตั้งแต่ต้น ดังปรากฏในเอกสารคำแนะนำปี ค.ศ.1659 ที่มีใจความตอนหนึ่ง (J.Atitya, 1989 :145)  ดังนี้
 
"จงพยายามอย่าชักจูงประชาชนให้เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีและแนวปฏิบัติเว้นแต่สิ่งเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรมและหลักศาสนาจริงๆ อย่านำเอาสิ่งใดนอกจากความเชื่อมายังประเทศของเขา   ดังนั้นจึงไม่ต้องล้มล้างขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาติใดเลย เว้นแต่ว่าขนบธรรมเนียมนั้นจะเลวจริงๆ   แต่ความเชื่อย่อมคงความบริบูรณ์ของขนบธรรมเนียมประเพณี   นั้นไว้    เนื่องด้วยธรรมชาติมนุษย์ย่อมหวงแหนและเชิดชูธรรมเนียมประเพณีของชาติของตนมากกว่าชาติอื่น   คงไม่มีสาเหตุแห่งความเกลียดชัง   และความหมางเมินมากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมาช้านาน แล้วเอาขนบธรรมเนียมของชาติอื่นมาทดแทน ดังนั้นอย่าเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติของเขาให้เป็นแบบยุโรป แต่จงมีมานะเอาใจใส่ปรับตัวให้เข้ากับพวกเขาอย่างดี จงยกย่องสิ่งที่ควรยกย่องสรรเสริญ   ส่วนประเพณีที่ไม่ควรยกย่อง   จงอย่าด่วนประจบประแจงหรืออย่าด่วนตัดสินไป   หรือที่แน่นอนที่สุดจงอย่าด่วนประณาม แต่จงอดกลั้นด้วยความเงียบ   และไม่นานพวกเขาจะละทิ้งสิ่งเหล่านั้นมารับความจริง"
 
คำแนะนำปี ค.ศ.1659 นี้สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มีถึงพระสังฆราชในเขตมิสซัง (Vicar Apostolic) แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่เอกสารนี้ได้ถูกเก็บไว้เป็นความลับจนกระทั่ง 16 ปีต่อมาจึงได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนที่กรุงปารีสเป็นครั้งแรก    ปรากฏการณ์นี้นับเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจคาดคะเนได้ถึงแนวคิดทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตกที่เป็นธรรมทูตในสมัยนั้น   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอิทธิพลของลัทธิแจนเซนนิสต์ก็อาจเป็นได้
 
 
4. คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.)
เป็นคณะสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อมิสซังสยามมากที่สุด และเป็นผู้ริเริ่มรวมทั้งก่อตั้งมิสซังสยามขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ยังได้สร้างสรรค์มิสซังสยามในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบันนี้ บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาซึ่งเดินทางมายังตะวันออกไกลและอินโดจีนก็เป็นพระสังฆราชจากคณะนี้นั่นเอง ดังนั้นการเรียนรู้จักกับคณะสงฆ์นี้บ้างจะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์มิสซังสยามดีขึ้น
 
ผู้มีส่วนในการก่อตั้งคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.)
บุคคลแรกที่สมควรจะกล่าวถึงในหัวข้อนี้ได้แก่ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ (Alexandre de Rhodes) สงฆ์มิชชันนารีคณะเยสุอิต เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เดินทางมาทำงานแพร่ธรรมในหลายประเทศของตะวันออกไกล เช่น ประเทศจีน, โคจินจีน, ตังเกี๋ย, ญี่ปุ่น, มาเก๊า    การทำงานในประเทศเหล่านี้ประสบกับปัญหาหลายประการคือ ปัญหาการเบียดเบียนศาสนา, ปัญหาการขาดแคลนมิชชันนารี    และดูเหมือนว่าปัญหาการขาดแคลนมิชชันนารีจะยิ่งใหญ่กว่าปัญหาการเบียดเบียนด้วยซ้ำ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ เห็นว่าควรจะเสนอกรุงโรมให้ก่อตั้งสงฆ์พื้นเมืองเพื่อทำหน้าที่แพร่ธรรมในหมู่ประชาชนของตนได้ คุณพ่อจึงเดินทางไปกรุงโรมเพื่อขออนุญาตเรื่องนี้ พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 10 (Innocent X) และสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อปรอปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) เห็นด้วย และได้ออกกฤษฎีกาหลายฉบับมาแล้วเพื่อเร่งเร้าเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1630 และ 1633 จึงมีความประสงค์ที่จะแต่งตั้งคุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ ให้เป็นสังฆราช แต่คุณพ่อเห็นว่าควรจะหาพระสงฆ์ที่ฝรั่งเศสมากกว่า ท่านก็อายุมาก และเคยถูกเนรเทศมาจากดินแดนแถบนั้น แถมยังมีปัญหามาก่อนกับพวกปาโดรอาโด (Padroado คือสิทธิพิเศษผูกขาดซึ่งชาวโปรตุเกสและชาวสเปนได้รับจากพระสันตะปาปาในการที่ล่าอาณานิคม และแพร่ธรรมในดินแดนเหล่านั้น) ด้วย ท่านเดินทางไปปารีสในปี ค.ศ. 1652 มีเพื่อนพระสงฆ์เยสุอิตประมาณ 20 องค์ แสดงเจตจำนงที่จะร่วมเดินทางไปกับท่านที่ตะวันออกไกล บราเดอร์เยสุอิตชื่อ เอฟ. บาโกต์ (F. Bagot) ซึ่งเป็นหัวหน้าของสงฆ์ไม่สังกัดคณะใดอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสงฆ์เหล่านี้ต้องการถวายตนเพื่อทำงานต่างแดน ได้แจ้งให้ท่านทราบถึงเรื่องนี้ ท่านจึงตัดสินใจเสนอบางคนในกลุ่มนี้แก่กรุงโรมเพื่อแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชตามโครงการของท่าน แต่ข้อเสนอของท่านยังไม่ทันได้รับอนุมัติ ท่านก็ถูกส่งไปทำงานแพร่ธรรมที่เปอร์เซีย (Persia) ในปี ค.ศ. 1660 อันเป็นปีเดียวกับที่ ฯพณฯ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Lambert de La Motte) ออกเดินทางมุ่งสู่ตะวันออก
 
อีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการก่อตั้งคณะสงฆ์นี้ขึ้นมาได้แก่ ขุนนางผู้ดีชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งคือ ดัสเชส แห่งอัยกียอง (Duchess แห่ง Aiguiilon) หลานของพระคาร์ดินัล  รีเชอเลอ (Richelieu) ขุนนางผู้ดีผู้นี้ได้ยินถึงเรื่องแผนการและโครงการของคุณพ่อเดอโรดส์ ก็มีความปรารถนาที่จะใช้อิทธิพลของเธอเองช่วยให้โครงการนี้บรรลุผลสำเร็จ เธอเขียนจดหมายหลายฉบับไปกรุงโรม และยังได้เร่งเร้าและสนับสนุนคุณพ่อปัลลือ (M. Pallu) ให้ติดต่อกับพระคาร์ดินัลบาญี (Cardinal Bajny) ผู้ซึ่งเธอได้เขียนจดหมายหลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
นอกจากคุณพ่อปัลลือแล้ว ยังมีคุณพ่อลังแบรต์ (M. Lambert) และพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสหลายองค์ที่แสดงเจตจำนงต่อกรุงโรมเพื่อการทำงานด้านนี้ อาศัยเงินสนับสนุนจากขุนนางสตรีผู้นี้และสมบัติของคุณพ่อลังแบรต์ คณะสงฆ์คณะนี้จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นมา ที่สุดวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1658 พระสันตะปาปาได้ลงนามในใบแต่งตั้งพระสังฆราช 3 องค์ เพื่อไปแพร่ธรรมในเอเชีย ในนามของผู้แทนพระสันตะปาปาเป็นพระสังฆราช "in partibus infidelium"
 
คณะสงฆ์ M.E.P. จึงถือกำเนิดขึ้นมาและเป็นผู้นำพระวรสารไปยังมุมต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมาอย่างมีประสิทธิภาพ
 
จุดหมายปลายทางของการเดินทางมาตะวันออกไกลของ ฯพณฯ ลังแบรต์ และ ฯพณฯ    ปัลลือ ได้แก่ ประเทศจีน, โคจินจีน และตังเกี๋ย แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการเบียดเบียนศาสนาอยู่ ประเทศสยามเป็นประเทศที่สงบสุขและเอื้ออาทรแก่ศาสนาต่างๆ หลังจากที่พระสังฆราชและมิชชันนารีได้มองเห็นสถานการณ์ทั่วๆ ไปของประเทศสยาม และมองเห็นท่าทีที่เป็นมิตรของพระมหากษัตริย์แล้ว เห็นชัดว่าเป็นผลดีต่อการตั้งมั่นเพื่อใช้เป็นฐานในการเดินทางต่อไป เวลาเดียวกันก็เริ่มประกาศเทศนาสั่งสอนพระวรสารไปด้วย จึงตัดสินใจอยู่ที่อยุธยา ดังที่เราทราบกันมาบ้างแล้ว บรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสเหล่านี้ต้องต่อสู้และต้านทานอิทธิพลของบรรดามิชชันนารีของปาโดรอาโดในดินแดนแถบนี้
 
หลังจากที่เราได้ทราบถึงความเป็นมาและภูมิหลังของคริสตศาสนาในสยามมาพอสมควรแล้วต่อไปเราจะศึกษาถึงความเป็นไป  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยต่างๆ   ของอาณาจักรสยามนี้ ก่อนที่จะผ่านไป หลายคนคงจะต้องการบรรณานุกรมที่ได้ใช้อ้างอิงในบทนี้  หลายเล่มผมได้ระบุไว้ในเนื้อหาแล้ว ส่วนอีกจำนวนมากนั้นก็มาจากหนังสือต่างๆ ที่ผมได้ค้นคว้ามาแล้ว  และข้อมูลเหล่านี้ก็ผ่านการศึกษาของนักประวัติศาสตร์มาแล้วด้วย   ผู้สนใจอยากได้บรรณานุกรมก็ขอให้รอสักเล็กน้อย เพราะจะให้ไว้ในตอนสุดท้าย.