25 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน

  • Print
บาทหลวงสุรชัย  ชุ่มศรีพันธุ์
 
คำนำ
ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศไทย และนครรัฐวาติกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1969 โดยทางฝ่ายรัฐบาลไทยมี นายจิตติ สุจริตกุล ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Delegate) ฯพณฯ อัครสังฆราช ยัง ยาโดต์ (Jean Jadot) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 แล้ว ทั้งสองได้ลงนามร่วมกันในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ 
 
ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการนี้ทำให้สถานะของผู้แทนพระสันตะปาปาเปลี่ยนไป คือจากตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปา หรือ Apostolic Delegate มาเป็นตำแหน่ง Apostolic Pro-nuncio โดย ฯพณฯ อัครสังฆราชยัง ยาโดต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น Pro-nuncio องค์แรกประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1969 และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางการทูตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจากสถานะ Pro-nuncio มาเป็นตำแหน่ง Nuncio ในปี ค.ศ. 1993 โดยมี ฯพณฯ อัครสังฆราช ลุยจี แบรสซาน เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์แรกเมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม ค.ศ. 1993
 
สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานทูตวาติกันประจำประเทศไทยมองเห็น ความสำคัญของความสัมพันธ์นี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดเฉลิมฉลองขึ้นในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์ มิใช่เพราะความสัมพันธ์นี้มีมาเพียง 25 ปี แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์นี้มีมานานย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์   เริ่มต้นตั้งแต่พระสมณสาสน์ฉบับแรกของสมเด็จพระสันตะปาปา
 
เคลเมนต์ ที่ 9 ลงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1669 ถึงสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา และมีความสัมพันธ์กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าระหว่างทั้งสองรัฐ เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน และเพิ่มพูนความร่วมมือต่อกัน เพื่อความดีของทั้งสองรัฐ และเพื่อความดีของปวงชนชาวไทยทั้งมวล
 
I. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
1. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์(Historical Background)
การเผยแพร่คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเริ่มต้นพร้อมกับการเข้ามา ของชาวโปรตุเกสในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 ซึ่งอุปราชแห่งกษัตริย์โปรตุเกส ชื่อ อัลโฟโซ ดาลบูเคอร์ก เข้ายึดครองเกาะมะละกา และได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ชาวโปรตุเกสนับถือคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ดังนั้นความสัมพันธ์ทางการค้าและการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมต้องนำเอาคริสตศาสนาเข้ามาปฎิบัติในหมู่ชาวโปรตุเกสด้วย แต่ก็ยังไม่ปรากฎหลักฐานชี้ชัดเลยว่ามีมิชชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนาเข้ามาทำงานในประเทศไทย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1567 ก็ปรากฎหลักฐานว่ามิชชันนารีคณะโดมินิกันซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส 2 องค์ คือ บาทหลวงเยโรนิโม ดา ครู้ส และบาทหลวงเซบาสติอาว ดา กันโต เข้ามาทำหน้าที่ดูแลวิญญาณของชาวโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยา  ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีการสนทนาธรรมกับชาวไทยในเวลานั้น
 
ต่อมาก็เริ่มมีมิชชันนารีคณะต่างๆ เข้ามาในประเทศสยาม เช่น คณะฟรังซิสกันเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1582, คณะเยสุอิตเริ่มเข้ามาในปี ค.ศ. 1607, คณะเอากุสติเนียนเข้ามาในปี ค.ศ. 1677 คณะนักบวชเหล่านี้เป็นคนมาจากหลายชาติในยุโรป เช่น เป็นชาวโปรตุเกสบ้าง ชาวสเปนบ้าง ชาวอิตาเลียนบ้าง ชาวโปแลนด์บ้าง ถึงแม้จะมาจากหลายชาติแต่ก็ต้องเข้ามาในนามของกษัตริย์โปรตุเกส แม้เป็นเรื่องศาสนาโดยตรงก็ตาม ทั้งนี้เพราะบรรดาพระสันตะปาปาหลายองค์ในอดีต ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ได้มอบสิทธิพิเศษในการประกาศพระศาสนาในดินแดนที่ค้นพบใหม่ให้แก่โปรตุเกสในซีกโลกตะวันออก และมอบสิทธิพิเศษเช่นเดียวกันนี้ให้แก่ประเทศสเปนในซีกโลกตะวันตก สิทธิพิเศษนี้มีอยู่หลายๆ ประการทีเดียวที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกาศศาสนา เราเรียกสิทธิพิเศษนี้ว่า "ปาโดรอาโด" (Padroado) หรือ "สิทธิอุปถัมภ์ศาสนา" เนื่องจากเวลานั้นในยุโรปมีโปรตุเกสและสเปนเป็นประเทศมหาอำนาจ 
 
ในปี ค.ศ. 1622 ทางกรุงโรมได้ก่อตั้งสมณกระทรวงใหม่ขึ้นมามีชื่อว่า "สมณกระทรวง เผยแพร่ความเชื่อ" (Propaganda Fide) และในปี ค.ศ. 1660 คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสคณะแรกซึ่งเป็นสมาชิกของสมณกระทรวงใหม่นี้คือ "คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส" หรือเรียกย่อๆ ว่า M.E.P. ได้ออกเดินทางมาตะวันออกไกลตามคำสั่งของสมณกระทรวงฯ โดยมีพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นผู้นำคณะ ในที่สุดก็เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 กลุ่มที่สองนำโดยพระสังฆราชฟรังซัว ปัลลือ พร้อมกับคณะสงฆ์และฆราวาสรวมอีก 6 คน เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1664 การที่สมเด็จพระสันตะปาปาโดยผ่านทางสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ส่งมิชชันนารีของพระองค์มาทำงานในภูมิภาคนี้ ทางโปรตุเกสถือว่าขัดต่อสิทธิอุปถัมภ์ศาสนาที่ตนได้รับมา มิชชันนารีของทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในประเทศสยามเวลานั้นก็มีความขัดแย้งกัน และเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจกัน ดังนั้นพระสังฆราชปัลลือจึงเดินทางกลับไปยุโรป และไปถึงกรุงโรมในปี ค.ศ. 1667 จากจุดนี้เองความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาและพระมหากษัตริย์ไทยก็ได้เริ่มขึ้น
 
II. ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปา และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 
2.1 สมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9
การเดินทางไปกรุงโรมของพระสังฆราชปัลลือครั้งนี้ ท่านได้เสนอเรื่องราวหลายเรื่องให้แก่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เป็นต้นว่าชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยืนยันอำนาจของตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปา หรือ Apostolic Vicar เพื่อให้มิชชันนารีชาวโปรตุเกสยอมรับ รวมทั้งขยายอำนาจของผู้แทนพระสันตะปาปาในเรื่องคริสตศาสนาในแผ่นดินสยามด้วย 
 
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่จะตั้งกฎเกณฑ์ และระเบียบสำหรับพระศาสนจักรในตะวันออกไกล พร้อมทั้งขอให้สมณกระทรวงฯ รับรองหนังสือคู่มือมิชชันนารีที่ท่านได้นำมาเสนอด้วย ในปี ค.ศ. 1667 นั้นเอง พระสังฆราชปัลลือเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และได้กราบบังคมทูลถวายสมุดรายงาน โดยขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดตั้งบริษัทอินเดียตะวัน ออกในสยาม ทั้งนี้เพื่อสัมพันธไมตรีที่จะมีต่อกันระหว่างประเทศทั้งสอง อีกทั้งจะทำให้การประกาศพระศาสนาในประเทศสยามนั้นมั่นคงขึ้นด้วย
 
ในปี ค.ศ. 1668 พระสังฆราชปัลลือเดินทางกลับไปที่กรุงโรม เพื่อขอให้สันตะสำนักรับรองคณะนักบวชที่ท่านได้ตั้งขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ท่านได้รับอนุมัติหลายอย่างจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่  9  เรื่องที่สำคัญๆ  มีดังนี้
 
1. Bull สมณโองการชื่อ Sollicitudo Pastoralis ลงวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1669 ยืนยันถึงคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปา ห้ามบรรดามิชชันนารียุ่งเกี่ยวเรื่องการค้าขาย
2. สมณสาร Speculatores ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 ให้อำนาจต่อผู้แทนพระสันตะปาปาเหนือชาวคาทอลิกในดินแดนสยาม
3. อำนาจเหนือมิสซังสยามตกอยู่แก่ผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาองค์ใหม่
4. มีอำนาจยกเว้นเรื่องการแต่งงานได้ 
 
ก่อนเดินทางออกจากฝรั่งเศสเพื่อกลับมาตะวันออกไกลในปี ค.ศ. 1670 ท่านได้รับพระราชสาสน์ 2 ฉบับ จากพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 หนึ่งฉบับ และจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์  ที่ 9 อีกหนึ่งฉบับ เพื่อนำมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ พระสังฆราชปัลลือเดินทางกลับมาถึง กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1673 พร้อมกับพระราชสาสน์ทั้งสองฉบับและเครื่องราชบรรณาการเพื่อนำมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ที่กรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชปัลลือและพระ สังฆราชลังแบรต์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนพระสันตะปาปา ผู้จะมีอำนาจเหนือชาวคาทอลิกในมิสซังสยาม การเลือกตั้งและการรับรองจากกรุงโรมต้องใช้เวลานาน ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาองค์แรกของสยาม ได้แก่ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน กว่าจะได้รับการอภิเษกก็ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 
 
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบว่า พระสังฆราชชาวฝรั่งเศสจะนำพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 อีกทั้งเครื่องราชบรรณาการต่างๆ มาถวาย พระองค์ทรงพอพระทัยในข่าวนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอย่างสง่า
เกี่ยวกับเรื่องการเข้าเฝ้านี้ ได้มีการเจรจากันยืดเยื้อนานถึง 4 เดือน ว่าจะเข้าเฝ้าตามประเพณีไทยหรือประเพณียุโรป ในที่สุดสมเด็จพระนารายณ์ทรงตัดสินให้มีการยกเว้นข้อปฏิบัติ บางประการของราชประเพณีไทย โดยอนุญาตให้ปฏิบัติตามราชประเพณียุโรป การเข้าเฝ้าครั้งนี้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1673 จากบันทึกของบรรดามิชชันนารีสมัยนั้นซึ่งบรรยายการเข้าเฝ้าครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด บาทหลวงอาเดรียง โลเนย์ (Adrien Launay) ได้นำมาเขียนไว้ในหนังสือของท่านชื่อ "Siam et les Missionnaires Franais" และกรมศิลปากรได้ให้จัดแปลโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทุมรัตน์ วงศ์ดนตรี ใช้ชื่อหนังสือว่า "สยามและคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส" บรรยายการเข้าเฝ้าไว้ดังนี้
 
"การเข้าเฝ้าครั้งนี้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 1673 ก่อนวันกำหนด พระสังฆราชลาโน และคณะมิชชันนารีทุกท่านที่อยู่ในกรุงสยามและชาวฝรั่งเศสอีก 7 คน ได้นำพระราชสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 และของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ไปยังพระตำหนักแห่งหนึ่งที่จัดไว้เป็นพิเศษสำหรับรับพระราชสาสน์ของกษัตริย์ต่างชาติ มีขุนนางนำพระราชสาสน์นั้นไปวางแยกไว้ในพานทองและนำไปยังท้องพระโรงที่มีบรรดาข้าราชบริพารเข้าเฝ้าอยู่เป็นจำนวนมาก
 
พระสังฆราชลาโนทำหน้าที่แปลพระราชสาสน์ทั้งสองฉบับต่อหน้าเหล่าข้าราชบริพาร ต่อมาขุนนางสองคนได้นำพระราชสาสน์นี้ไปวางไว้บนบัลลังก์อย่างนบนอบ โดยมีทหารกองเกียรติยศ 2 แถวติดตามไป มุ่งตรงสู่พระตำหนักของสมเด็จพระนารายณ์
 
รุ่งขึ้นเวลาประมาณ 5 นาฬิกา มีเรือประดับด้วยริ้วธงพร้อมด้วยฝีพาย 50 คน และติดตามด้วยเรือลำเล็กอีก 4 ลำ คอยรับพระสังฆราชทั้งสองไปยังที่พำนัก พระสังฆราชแต่งกายเต็มยศ ขณะที่ผ่านเขตพระราชฐานทั้ง 4 ด้าน ปรากฏว่ามีเหล่าทหารพร้อมอาวุธและบรรดาขุนนางในชุดข้าราชการคอยอยู่เนืองแน่น และท่ามกลางเสียงดนตรีประโคม ได้แก่ ขลุ่ย กลอง แตร และโทน พระสังฆราชทั้งสองเข้ามายังศาลาแห่งหนึ่งที่ประดับด้วยแผ่นทองแดงชุบทองคำ สมเด็จพระนารายณ์เสด็จพระราชดำเนินมาในทันทีด้วยฉลองพระองค์ผ้าไหมสีเหลืองและแดง ปักทองแวววาวด้วยเพชรนิลจินดา พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ ในขณะที่เจ้าพระยาพระคลังและขุนนางชั้นสูงกราบถวายความจงรักภักดี "โดยสวมหมวกประจำชาติรูปร่างเหมือนก้อนน้ำตาลประดับด้วยทองคำ" 
 
หลังจากที่พระสังฆราชปัลลือและพระสังฆราชลาโนน้อมตัวลง 3 ครั้ง เป็นการถวายความเคารพ และนั่งอยู่เบื้องพระพักตร์ของสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ก็มีการอ่านพระสมณสาสน์ ของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 พระสมณสาสน์ฉบับนี้ต้นฉบับเป็นภาษาลาติน แต่ไม่สามารถค้นพบต้นฉบับที่ถูกส่งมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ได้ คงจะถูกทำลายในตอนเสียกรุงครั้งที่สอง
 
อย่างไรก็ตาม ทางสันตะสำนักยังได้จัดทำบันทึกความจำ (Minute) ของพระสมณสาสน์ ฉบับนี้ไว้ และบาทหลวงอาเดรียง โลเนย์ ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในหนังสือที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว เนื้อความของพระสมณสาสน์ฉบับนี้เขียนเป็นภาษาไทยดังต่อไปนี้
 
"ทูลพระองค์ผู้เป็นแสงสว่างแห่งพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า
หม่อมฉันรับทราบด้วยความปีติยินดีว่า ราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งอุดมด้วยความร่ำรวยและเกียรติยศอยู่มิได้ขาดนั้น มีความรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นอย่างที่มิเคยเป็นมาก่อน ในรัชสมัยของพระองค์ สิ่งที่ทำให้หม่อมฉันประทับใจมากกว่านั้นก็คือ พระเมตตากรุณา ความยุติธรรม และความร่มเย็นอื่นๆ ที่พระองค์ทรงมีต่อคณะมิชชันนารีผู้ปฏิบัติและสั่งสอนกฎบัญญัติแท้จริงของศาสนาคาทอลิก และความศรัทธาที่มั่นคงให้แก่ข้าแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความยุติธรรมทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมอบให้เป็นพิเศษด้วยเกียรติยศ อันได้แก่ความยิ่งใหญ่แห่งพลังและอำนาจ ความเปี่ยมล้นด้วยปัญญา ความรอบรู้ของรัฐบาล และคุณลักษณะอื่นๆ ของการเป็นผู้ยิ่งใหญ่นับพันประการของพระองค์จึงได้แพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรป แต่ไม่มีใครในกรุงโรมแห่งนี้ที่ยกย่องพระองค์เทียบเท่าพระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส หรือท่านปัลลือ จากการบอกเล่าของพระสังฆราชปัลลือทำให้หม่อมฉันทราบว่าพระองค์ได้พระราชทานที่ดินและวัสดุสำหรับสร้างอาคารและโบสถ์ให้พระสังฆราชแห่งเบริธ สหายที่น่านับถือของหม่อมฉันด้วยพระเมตตาพิเศษ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ก็คือ ความโอบอ้อมอารีของพระองค์ซึ่งคณะมิชชันนารีที่ทำงานมาเป็นเวลานานในราชอาณาจักรของพระองค์ มิเคยได้รับมาก่อน พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิสผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญูและมีความตั้งใจจริงในการสอนศาสนา ได้ร้องขอกลับคืนยังราชอาณาจักรของพระองค์อีก หม่อมฉันจึงอนุญาตด้วยความเต็มใจ นอกจากนี้พระองค์คงจะไม่ทรงรังเกียจในการที่หม่อมฉันจะขอร้องให้พระองค์ทรงปกป้องและช่วยให้พระสังฆราชทั้งสองพ้นจากความเกลียดชังของกลุ่มคนที่ใจร้ายและดูถูก โดยอาศัยพระบรมเดชานุภาพ ความยุติธรรม และพระเมตตาจิตของพระองค์ พระสังฆราชปัลลือจะทูลถวายเครื่องบรรณาการของหม่อมฉัน แม้ว่าสิ่งนั้นจะมิมีค่ามากมาย แต่หม่อมฉันขอให้พระองค์ทรงรับไว้เพื่อพิสูจน์ถึงความหวังดี และการยกย่องอย่างสูงที่หม่อมฉันมีต่อพระองค์ พระสังฆราชจะทูลพระองค์ว่าหม่อมฉันได้สวดภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืน ต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจ และในขณะนี้หม่อมฉันก็ได้ส่งคำสวดอ้อนวอนจากหัวใจ เพื่อรับแสงสว่างแห่งความเป็นจริงมาสู่พระองค์ ด้วยความดีงามและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า
และด้วยวิธีนี้ พระผู้เป็นเจ้าจะนำพระองค์ไปเสวยสุขชั่วนิรันดรบนสวรรค์ หลังจากที่เสวยราชย์อยู่บนโลกนี้มาเป็นเวลานาน" 
 
พระสมณสาสน์ฉบับนี้ลงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1669
 
สำหรับพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ฉบับนี้ สมเด็จพระนารายณ์มิได้ทรงมีพระราชสาสน์ตอบแต่ประการใด เพียงแต่มีพระราชดำรัสชื่นชมต่อสัมพันธภาพนี้ และตั้งพระทัยจะให้ความคุ้มครองมิชชันนารี สมเด็จพระนารายณ์ยังมีความสนพระทัยที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปามากขึ้นด้วย เมื่อทรงเรียกคณะมิชชันนารีเข้าเฝ้าอีกสองครั้งที่พระตำหนักเมืองละโว้
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ทรงสิ้นพระชนม์ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1669 นั้นเอง ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 10 (29 เมษายน ค.ศ. 1670 - 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1676) นี้เอง ที่พิธีกราบบังคมทูลถวายพระสมณสาสน์ต่อสมเด็จพระนารายณ์ได้บังเกิดขึ้น เหตุการณ์และรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีนี้มีบันทึกไว้อย่างละเอียด รวมทั้งมีบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากการเข้าเฝ้าครั้งนั้นด้วย บันทึกทั้งสองเรื่องนี้ถูกส่งไปที่กรุงโรม จากการศึกษาบันทึกฉบับนี้ สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะส่งคณะทูตจากสยามไปยุโรปในปีต่อไป อันได้แก่ปี ค.ศ. 1674 และการที่บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดที่พระราชวังลพบุรี หรือละโว้นั้น ก็เพื่อทราบถึงการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนารายณ์ก็มิได้ตัดสินพระทัยเรื่องนี้ แต่ได้มีพระราชดำรัสถามถึงเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปา ความกว้างใหญ่ของรัฐ รวมทั้งได้มีพระราชดำรัสถามถึงภารกิจต่างๆ ของบรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาด้วย  
 
2.2 สมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11
ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาและสมเด็จพระนารายณ์เริ่มขึ้นในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 (21 กันยายน ค.ศ. 1676 - 12 สิงหาคม ค.ศ. 1689) และเริ่มต้นมาจากพระสังฆราชปัลลือเช่นเดียวกัน
 
พระสังฆราชปัลลือออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศจีน ตามตำแหน่งที่ท่านได้รับมอบหมายมา ประมาณกลางปี ค.ศ. 1674 แต่โชคร้ายที่เรือของท่านถูกพายุ ทำให้ต้องไปขึ้นที่ชายฝั่งเมืองมนิลา พวกสเปนที่ยึดถือสิทธิอุปถัมภ์ศาสนา (Padroado) จับกุมท่านและส่งตัวท่านไปเมืองแมดริด เมืองหลวงของสเปน โดยผ่านทางประเทศเม็กซิโก รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ขอให้เมืองแมดริดปล่อยตัวท่าน ซึ่งทางประเทศสเปนก็อนุมัติเรื่องนี้ทันที สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ได้ส่งพระสมณสาสน์ขอบคุณไปยังกษัตริย์แห่งสเปนในเรื่องนี้ด้วย 
 
พระสังฆราชปัลลือออกจากเมืองแมดริดในปี ค.ศ. 1677 ไปที่กรุงโรมเพื่อขออำนาจบางประการในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมิชชันนารีภายใต้สิทธิอุปถัมภ์ศาสนาของโปรตุเกส และมิชชันนารีของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ
 
การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่กรุงโรมเป็นไปด้วยดี เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา ก่อนที่ท่านจะออกจากกรุงโรม สมเด็จพระสันตะปาปาได้ส่งพระสมณสาสน์สั้นๆ ฉบับหนึ่งฝากท่านนำมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ที่กรุงสยามพร้อมกับเครื่องบรรณาการหลายชิ้น พระสมณสาสน์ฉบับนี้ลงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1679 จากนั้นพระสังฆราชปัลลือจึงออกจากกรุงโรม เดินทางไปยังกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1680 และได้รับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 มาถวายสมเด็จ พระนารายณ์ด้วย
 
พระสังฆราชปัลลือเดินทางกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาในตอนค่ำของวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1682 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบว่าพระสังฆราชปัลลือได้นำพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 มาถวาย พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ พระองค์ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง และพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะมิชชันนารีเข้าเฝ้า ได้จัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติเช่นเดียวกับปี ค.ศ. 1673 
 
เช่นเดียวกับพระสมณสาสน์ฉบับแรกที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมณสาสน์ฉบับนี้เขียนเป็นภาษาลาติน มีเนื้อความขอบพระทัยในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีต่อบรรดาคริสตชนในกรุงสยาม ต้นฉบับของพระสมณสาสน์ฉบับนี้คงสูญหายไปพร้อมกับการทำลายกรุงศรีอยุธยาของพม่า รวมทั้งเครื่องบรรณาการต่างๆ เหล่านั้นด้วย ได้แก่ กระจก, ดอกไม้, รูปภาพพระยาสามองค์, พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์, ไม้กางเขนปรากฏแก่จักรพรรดิคอนสแตนติน, สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอทรงหยุดยั้งอัตติลา, พระคริสตเจ้ากับหญิงชาวสะมาเรีย
 
อันที่จริงก่อนหน้าที่พระสังฆราชปัลลือจะเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1682 นี้ สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงส่งคณะทูตสยามคณะแรกเดินทางไปยุโรปแล้ว โดยมี
1. ออกญาพระพิพัฒน์ราชไมตรี เป็นราชทูต
2. ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร เป็นอุปทูต
3. ออกขุนนครวิชัย เป็นตรีทูต
4. บาทหลวงเกม (Gaymes) เป็นล่าม
 
นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามอีกราว 20 คน คณะทูตออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1680 ใช้เวลาเดินทาง 17 วัน ก็มาถึงเมืองบันตัม และใช้เวลารอคอยเรือเพื่อจะเดินทางไปฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 6 เดือน ที่สุดปลายเดือนสิงหาคม คณะทูตลงเรือโซเลย ดอเรียง (Soleil d'Orient) เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะมาดากัสการ์ เรือได้อับปางพินาศหมดสิ้นทั้งคนบนเรือและข้าวของ 
 
คณะทูตได้นำพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14, สมเด็จพระสันตะปาปา กับเจ้านายและเสนาบดีอีกหลายคน จุดประสงค์ของคณะทูตชุดนี้ก็คือ
 
1. เพื่อทราบถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศฝรั่งเศสเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศจีน
2. เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และสมเด็จพระสันตะปาปา และเพื่อถ่วงดุลย์อำนาจของฮอลันดา
3. เพื่อให้ประเทศฝรั่งเศสจัดส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีต่อกัน
 
พระราชสาสน์ทั้งสองฉบับนี้สมเด็จพระนาราณ์ทรงแต่งด้วยพระองค์เอง ใช้สำนวนโบราณ และถูกส่งมาให้พระสังฆราชลาโนแปลทั้งสองฉบับ ซึ่งท่านได้แปลเป็นสำนวนที่ไพเราะตามภาษาไทย ทั้งๆ ที่มีคำบาลีแทรกอยู่มากมายหลายคำ คำแปลนั้นได้แปลคำต่อคำอย่างถูกต้องที่สุด ไม่มีการเพิ่มเติมหรือตัดทอนแต่อย่างใด ทั้งนี้ด้วยความสามารถและความชำนาญในด้านภาษาไทยและบาลีของพระสังฆราชลาโน ซึ่งท่านศึกษาจนแตกฉาน เมื่อแปลเสร็จแล้วเจ้าพนักงานได้จารึกพระราชสาสน์ภาษาไทยลงในแผ่นทองคำหนาเท่าเหรียญเงิน ยาวฟุตกว่า กว้างประมาณ 8 นิ้ว พระราชสาสน์สำหรับถวายพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 จารึกลงบนแผ่นทองคำ บรรจุในกล่องที่ทำด้วยทองคำ ส่วนพระราชสาสน์ที่ส่งไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาจารึกลงบนแผ่นทองคำ แต่บรรจุลงในกล่องที่ทำด้วยไม้จันทน์ เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นนักพรต ถ้าส่งกล่องทองคำไปถวายจะเป็นการไม่เหมาะ ดังนั้นพระสังฆราชและบรรดามิชชันนารีจึงได้ตกลงใจเลือกเอากล่องที่ทำด้วยไม้แทนกล่องที่ทำด้วยทองคำ
 
พร้อมกับพระราชสาสน์ทั้งสองฉบับนี้สมเด็จพระนารายณ์ยังได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปด้วย โดยมีบัญชีรายชื่อสิ่งของติดไปกับพระราชสาสน์ เนื่องจากพระราชสาสน์ฉบับจริงเป็นทองคำ ตราที่ประทับจะไม่ติดกับทองคำ ดังนั้นมิชชันนารีจึงแนะนำให้ประทับพระราชลัญจกร  ลงบนพระราชสาสน์ฉบับแปล และม้วนรวมไปกับฉบับจริง
 
พระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ฉบับนี้สูญหายไปพร้อมกับเรืออับปาง แต่ทางหอจดหมายเหตุของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสยังคงเก็บรักษาสำเนาภาษาฝรั่งเศสเอาไว้ เข้าใจว่าพระสังฆราชลาโนเป็นผู้ส่งสำเนาไป บาทหลวงอาเดรียง โลเนย์ ได้นำมาพิมพ์เผยแพร่ และนายอรุณ อมาตยกุล ได้จัดแปลเป็นภาษาไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพนำมาลงไว้ในประชุมพงศาวดาร เล่ม 18 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31) พระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 เขียนในปี ค.ศ. 1680 มีใจความดังนี้
 
"พระราชสาสน์ของพระเจ้าแผ่นดินอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงสยาม มายังท่านสันตปาปา ผู้เป็นยอดและเป็นบิดาของบรรดาคริสตศาสนิกชน และเป็นผู้บำรุงศาสนาให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาล ทั้งเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาให้บรรดาคริสตศาสนิกชนให้ถาวร  และปฏิบัติตามศาสนาและครองยุติธรรม ทั้งเป็นผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทั่วไปเคารพนับถือไปหามาสู่อยู่เนืองๆ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีวาสนาและกำลังมาก และเป็นเจ้านายที่มีความปราถนาและพยายามจะแผ่ไมตรีไปตามประเทศต่างๆ ในโลกนี้ให้ทั่วถ้วน เพื่อจะได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดมีขึ้นในบ้านเมืองเหล่านั้น เพราะเหตุฉะนี้ เมื่อท่านสันตปาปาได้จัดให้ดอมฟรังซัวสังฆราชถือสาสน์มายังเรา เราจึงมีความยินดียิ่งนัก และเมื่อได้ทราบข้อความตามสาสน์ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อความอันไพเราะนั้นแล้ว ใจของเราจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดี เพราะฉะนั้นเราจึงได้ตกลงให้ผู้มีชื่อเชิญพระราชสาสน์ของเรามายังท่านสันตปาปากับทั้งสิ่งของบรรณาการ เพื่อเป็นเครื่องสมานความรักใคร่ในระหว่างตัวเรากับท่านสันตปาปา และจะได้เป็นไมตรีอันหนึ่งอันเดียวกันชั่วกัลปวสาน
 
เมื่อราชทูตของเราได้กระทำการต่างๆ ตามที่เราสั่งไว้เป็นการเสร็จแล้ว ขอให้ท่านสั่งให้กลับมา เพื่อราชทูตจะได้นำข่าวของสันตปาปามารายงานต่อเรา ซึ่งจะเป็นข่าวที่เราจะยินดีเป็นอันมาก กับข้าพเจ้าขอให้ท่านสันตปาปาได้ส่งทูตมายังข้าพเจ้าด้วย และขอให้ราชทูตของเราทั้งสองฝ่ายได้ไปมามิได้ขาด เพื่อไมตรีอันดีอันมีค่าจะได้ติดต่อกันชั่วกาลนาน
 
ในที่สุดข้าพเจ้าหวังใจว่า ท่านสันตปาปาจะได้รับความดีความงามจากพระราชบัญญัติของศาสนาคริสเตียน และขอให้ท่านสันตะปาปามีอายุยืนยาวไปหลายปีและประกอบไปด้วยบุญกุศล และความสุขทุกประการ" 
 
พระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ปี ค.ศ. 1687
เป็นที่น่าแปลกใจว่าพระสมณสาสน์ฉบับนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ส่งมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ เขียนเป็นภาษาลาตินลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687 แต่ไม่มีหนังสือทางประวัติศาสตร์เล่มใดอ้างถึงพระสมณสาสน์ฉบับนี้เลย
 
ทางกรุงโรมยังคงเก็บรักษาบันทึกความจำ (Minute) ของพระสมณสาสน์ฉบับนี้ไว้  แต่เราไม่ทราบว่าพระสมณสาสน์ฉบับนี้ถูกส่งมาโดยผ่านทางผู้ใด และมาถึงกรุงสยามหรือไม่ สำหรับต้นฉบับนั้นก็คงจะเหมือนกับต้นฉบับอื่นๆ ก่อนหน้านี้คือ ได้ถูกทำลายหรือสูญหายไปในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่า ต่อไปนี้จะเป็นการสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นไปของพระสมณสาสน์ฉบับนี้
 
ข้อสันนิษฐานที่หนึ่ง
สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งคณะทูตสยามคณะที่สาม เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูตจากฝรั่งเศสคณะแรกที่นำโดย เชอวาลิเยร์ เดอ โชม็องต์ (Chevalier de Chaument) คณะทูตสยามคณะนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้ปรากฏแก่สายตาชาวฝรั่งเศสไม่น้อยเลย คณะทูตชุดนี้ประ กอบไปด้วย
1. ออกพระวิสูตรสุนทร (โกษา ปาน) เป็นราชทูต
2. ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต
3. ออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต
4. บาทหลวง เดอ ลีออง (De Lionne) เป็นล่ามและที่ปรึกษา
 
และผู้ติดตามประมาณ 30 คน ในจำนวนนี้มีบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ และสามเณรอันโตนิโอ ปินโต เดินทางไปด้วย ออกเดินทางกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 1685 เดินทางถึงเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1686 และออกเดินทางจากเมืองเบรสต์กลับถึงกรุงสยามวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1687 มาถึงปากน้ำวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1687 พร้อมกับคณะทูตชุดที่สองของฝรั่งเศส
 
สามเณรอันโตนิโอ ปินโต เป็นบุตรชายของชาวโปรตุเกสกับหญิงชาวสยาม ได้มีโอกาส บรรยายหัวข้อทางเทวศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอรบอร์น และได้มีการบรรยายอีกครั้งหนึ่งในห้องของศาลฝ่ายศาสนาที่วิหารนอเตรอ-ดาม (Notre-Dame) ในกรุงปารีสด้วย 
 
นอกจากนี้สามเณรอันโตนิโอ ปินโต ยังได้ถูกส่งไปกรุงโรมเพื่อศึกษาต่อ และมีโอกาส บรรยายหัวข้อทางเทวศาสตร์ต่อหน้าสมเด็จพระสันตะปาปาและคณะพระคาร์ดินัล สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ทรงสนพระทัยในตัวสามเณรคนนี้มาก ถึงกับกล่าวว่าสามเณรผู้นี้สามารถเป็นผู้สืบต่อตำแหน่ง Vicaire Apostolique ได้ 
 
เป็นไปได้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะถือโอกาสนี้ทรงฝากพระสมณสาสน์ฉบับหนึ่งมากับบรรดามิชชันนารีที่เดินทางมากรุงโรมครั้งนี้ เพื่อมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ด้วย เพราะวันเวลาต่างๆ ในเอกสารล้วนสอดคล้องกัน
 
- วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1686 ข่าวการแสดงหัวข้อทางเทวศาสตร์ของสามเณรอันโต
นิโอ ปินโต ที่กรุงปารีส
- จากนั้นอันโตนิโอ ปินโต เดินทางไปแสดงหัวข้อทางเทวศาสตร์ที่กรุงโรม
- พระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687
- คณะทูตเดินทางออกจากเมืองเบรสต์ วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1687
 
ข้อสันนิษฐานที่สอง
สมเด็จพระนารายณ์ทรงแสดงพระราชประสงค์จะส่งราชทูตไปยังสันตะสำนักที่กรุงโรม แต่หลังจากที่ลังเลพระทัยอยู่เป็นเวลานาน พระองค์ก็เพียงแต่ขอร้องอับเบ เดอ ชัวซี ให้กล่าวคำถวายพระพรแด่สมเด็จพระสันตะปาปา และนำเครื่องราชบรรณาการบางอย่างไปถวาย
 
แต่อับเบ เดอ ชัวซี จะไม่เป็นผู้ทำภารกิจนี้ เพราะฟอลคอนได้ขอร้องให้บาทหลวงตาชารด์เป็นผู้ทำแทน เรือฝรั่งเศสพร้อมที่จะออกเดินทางจากกรุงสยามในราวกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 1685 
 
เป็นที่ทราบกันว่า บาทหลวงตาชารด์มีแนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่พระนารายณ์ทรงเปลี่ยนศาสนา แม้จะเป็นความเข้าใจที่ผิดก็ตาม เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระสมณสาสน์ฉบับนี้ด้วย เพราะเนื้อความของพระสมณสาสน์ฉบับนี้กล่าวว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระทัยยินดียิ่งนักที่ได้รับทราบจากจดหมายของพระสังฆราชแบร์นาดีโน (Bernadino) ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระทัยใส่ในคริสตศาสนา จึงถือโอกาสนี้ส่งพระสมณสาสน์มาชักชวนพระองค์ มีความเป็นไปได้หลายทางที่พระสมณสาสน์ฉบับนี้จะถูกส่งมาโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้คือ
1. ฝากส่งมากับบาทหลวงตาชารด์
2. ฝากส่งมากับคณะทูตชุดที่สองของฝรั่งเศส ซึ่งนำโดย เดอ ลา ลูแบร์ (de la 
Loub่re)
3. ฝากส่งมาพร้อมกับมิชชันนารีที่เดินทางกลับมาประเทศสยาม
 
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกล่าวถึงพระสมณสาสน์ฉบับนี้ในเอกสารใดๆ เลย ทั้งไม่มีเรื่องเล่าอันใดเลยว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงรับพระสมณสาสน์ฉบับนี้โดยผ่านทางผู้ใด ยังคงเป็นปริศนาให้ศึกษากันต่อไป
 
คณะทูตสยามที่กรุงโรม ปี ค.ศ. 1688
คณะทูตชุดนี้ออกเดินทางวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1688 ถึงเมืองเบรสต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1688 คณะทูตชุดนี้ประกอบไปด้วย
1. บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ เป็นราชทูตพิเศษ
2. ขุนนางชาวสยาม 3 คน ได้แก่
- ออกขุนชำนาญใจจง
- ออกขุนวิเศษภูบาล
- ออกหมื่นพิพิธราชา
3. ครูสอนคำสอนชาวตังเกี๋ย 2 คน ได้แก่ Michel Foghanlin และ Dionisio Li-njain และผู้แปล (ล่าม) ชาวตังเกี๋ยชื่อ Antonio Van Kiet
4. เด็กชาวสยาม 5 คน เพื่อไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยที่กรุงปารีส 
 
เนื่องด้วยพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ไม่สามารถพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าได้ก่อนวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1688 และคณะทูตสยามมีหมายกำหนดการที่จะไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาที่กรุงโรมด้วย ดังนั้นคณะทูตจึงได้รับคำแนะนำให้เดินทางไปกรุงโรมก่อนโดยเดินทางออกจากกรุงปารีสวันที่ 5 พฤศจิกายน มาถึงเมืองท่า Civitavecchia วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1688 และวันที่ 23 ธันวาคม ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงให้การต้อนรับคณะทูตชุดนี้อย่างสมเกียรติ ทั้งนี้เพราะถือว่าการที่พระเจ้ากรุงสยามผู้มีอาณาเขตไพศาลที่สุด และมีทรัพย์สมบัติมากมาย ได้ส่งคณะทูตมานั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญซึ่งเชิดชูเกียรติของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ด้วย 
 
การต้อนรับคณะทูตครั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงทำอย่างสมเกียรติที่สุด ได้ทรงรับรองและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดเวลาที่คณะทูตชุดนี้อยู่ที่กรุงโรม  พระคาร์ดินัลชีโบ เลขานุการสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้แสดงไมตรีจิตอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และเดินทางออกไปต้อนรับคณะทูตด้วยตนเอง
 
การเข้าเฝ้าในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงยกเว้นการจูบพระบาทแก่คณะทูต เนื่องด้วยการกระทำอันนั้นเป็นกิจการของผู้ถือคริสตศาสนา ทำให้ขุนนางชาวสยามพอใจมาก พิธีการต่างๆ และการแต่งกายของผู้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งนั้นได้ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด บาทหลวงตาชารด์เป็นผู้กล่าวนำ ภายหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาได้มีพระราชดำรัสตอบแล้ว บาทหลวงตาชารด์ได้เชิญพระราชสาสน์ออกจากหีบทองลงยาราชาวดี ซึ่งราชทูตประคองอยู่ คลี่ออกแล้วถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปา พระราชสาสน์เป็นแผ่นทองนพคุณม้วน ขนาดโตเท่าฝ่ามือ และยาวประมาณสามฝ่ามือ นอกจากนั้นบาทหลวงตาชารด์ยังได้ถวายคำแปลพระราชสาสน์เป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งเขียนลงบนกระดาษจีน แล้วแปลเป็นภาษาอิตาเลียน  พระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ฉบับนี้มีข้อความแปลเป็นภาษาไทยแล้วดังนี้
 
"สมเด็จพระเจ้าศรีอยุธยา ผู้ใหญ่ทูลท่านอินโนเซนต ที่ 11 พระบิดาผู้ประกอบด้วยบุญบารมีอย่างยิ่ง ตั้งแต่มงคลสมัยที่ข้าพเจ้าได้ครองราชสมบัติเป็นต้นมา การรู้จักกับเจ้านายผู้เป็นใหญ่ในประเทศยุโรปทั้งหลาย และเจริญทางไมตรีกับเจ้านายเหล่านั้นได้เป็นธุระสำคัญของข้าพเจ้า เพื่อจะได้รับความรู้อันจะเป็นแสงสว่างส่องทางปฏิบัติของข้าพเจ้า
 
ท่านได้สอดส่องและประสิทธิ์ให้ตามความประสงค์ของข้าพเจ้านี้เสียก่อนแล้ว ด้วยได้ประทานศุภอักษรมาทาง ต.ฟรานซิส ปัลลุ บิชอบ เมืองเฮเลียวโปลิซ ศุภอักษรนั้นมาพร้อมกับเครื่องบรรณาการอันสมแก่ยศของท่านผู้สูงศักดิ์ และข้าพเจ้าก็ได้รับไว้แล้วด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
 
ต่อมาไม่ช้า ข้าพเจ้าได้ส่งทูตให้นำจดหมายและบรรณาการไปคำนับท่าน เพื่อ เจริญทางไมตรีระหว่างเราทั้งสอง ให้สนิทสนมดุจดังแผ่นทองอันได้ขัดมันอย่างดีแล้วนั้น แต่ว่าตั้งแต่วันที่ทูตออกไป มาจนบัดนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับข่าวของทูตอย่างใดเลย จึงต้องส่งบาทหลวงตาชาแห่งสมาคมเยซูเป็นทูตพิเศษของข้าพเจ้ามายังท่านเพื่อเจริญทางไมตรีระหว่างท่านและข้าพเจ้า ดังที่สั่งให้ทูตคนก่อนไปจัดการ และให้นำข่าวเรื่องความสุขสำราญของท่านกลับมาโดยด่วน บาทหลวงตาชาจะได้แจ้งแก่ท่านแน่นอนว่า ฝ่ายข้าพเจ้าจะให้อารักขาแก่พวกบาทหลวงทั้งหลาย พร้อมทั้งพวกคริสตศาสนิกชน ไม่ว่าประชาราษฎรของข้าพเจ้าเอง หรือผู้อื่นซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดินของข้าพเจ้า หรือประเทศฝ่ายตะวันออกประเทศอื่น และช่วยเหลือคนเหล่านั้นตามความต้องการ ในเมื่อเขาบอกมาให้ข้าพเจ้าทราบความประสงค์ หรือมีเหตุการณ์ควรช่วยเหลือได้ ขอให้วางใจในข้าพเจ้า ถึงข้าพเจ้าเองก็อยากได้รับหน้าที่อย่างนั้นด้วย บาทหลวงตาชานี้แหละจะได้แจ้งแก่ท่านถึงวิธีอื่นๆ ซึ่งมุ่งต่อประโยชน์อันเดียวกัน ตามที่ข้าพเจ้าได้สั่งเขาไว้ ขอให้ท่านเชื่อเรื่องราวซึ่งข้าพเจ้าได้สั่งบาทหลวงตาชาให้ทูลและรับบรรณาการซึ่งบาทหลวงตาชาจะนำไปยังท่านเป็นมัดจำ แสดงถึงความไมตรีอันจริงใจของข้าพเจ้า อันจะดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน ขอให้พระเป็นเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งจงป้องกันรักษาท่านไว้ เพื่อจะได้บริหารศาสนจักรของพระองค์ และเพื่อให้ท่านได้แลเห็นศาสนจักรนั้นเจริญอย่างยิ่งแผ่ไปทุกภาคทั่วไปในโลก นี่เป็นความปราถนาแท้จริงของข้าพเจ้า ผู้เป็นเพื่อนรักใคร่ที่สุดและดีที่สุดของท่าน ดังนี้" 
 
หลังจากการอ่านพระราชสาสน์จบแล้ว บาทหลวงตาชารด์ได้เชิญเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนารายณ์ไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา ต่อมาเป็นการแสดงความเคารพของบรรดาขุนนางสยามตามประเพณีของคนไทยทุกประการ หลังจากการเข้าเฝ้าแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงโปรดให้นำคณะทูตซึ่งยังคงพักอยู่ในกรุงโรมไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เช่น วัด วิหาร หอสมุดวาติกัน ซึ่งสร้างความประทับใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่คณะทูตสยาม
 
ในโอกาสเดียวกันนี้ บาทหลวงตาชารด์ได้ถวายจดหมายฉบับหนึ่งรวมทั้งรายงานฉบับหนึ่งซึ่งรายงานถึงเรื่องความเป็นไปของคริสตศาสนาในประเทศสยาม และประเทศใกล้เคียง (Memorandum) ของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน จดหมายและรายงานฉบับนี้เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสลงวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1688 ฟอลคอนได้ส่งให้บาทหลวงตาชารด์ที่สันดอนปากแม่น้ำ 
 
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ พระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ จดหมายของคอนสแตนติน ฟอลคอน รวมทั้ง Memorandum ด้วย ต่างก็กล่าวถึงบทบาทของบาทหลวงตาชารด์ว่าจะเป็นผู้กราบทูลเรื่องราวต่างๆ แด่สมเด็จพระสันตะปาปา รวมทั้งมอบความวางใจทั้งหมดแก่บาทหลวงในการทำหน้าที่ครั้งสำคัญนี้ด้วย บาทหลวงตาชารด์ได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตพิเศษ (Extraordinary Envoy) ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมิใช่น้อย ทั้งนี้อาจจะมีเหตุผลบางประการคือ
 
1. บาทหลวงตาชารด์เป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ที่มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนักฝรั่งเศส
2. บาทหลวงตาชารด์เป็นชาวฝรั่งเศส และคอนสแตนติน ฟอลคอน หวังว่าบาทหลวงตาชารด์จะสามารถทำงานได้ผล
3. เป็นอิทธิพลของคอนสแตนติน ฟอลคอน ทางการเมืองในเวลานั้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส 
 
นอกจากนี้ฟอลคอนยังได้เขียนจดหมายถึงพระคาร์ดินัลที่กรุงโรมลงวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1688 เป็นภาษาโปรตุเกส  เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ในงานเขียนของฟอลคอนจะเป็นเรื่องความสำคัญของมิตรภาพระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับประเทศในยุโรปรวมทั้งวาติกันด้วย ที่มีต่อคริสตชนในประเทศสยาม และรายงานเรื่องราวทางศาสนาที่เกิดขึ้นในสยามต่อสมเด็จพระสันตะปาปาและคณะพระคาร์ดินัล
 
เหตุการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่บาทหลวงตาชารด์และคณะทูตสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาที่กรุงโรมในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 นั้น ที่ประเทศสยาม พระเพทราชาได้ทรงทำรัฐประหารและสถาปนาราชวงศ์ใหม่ปกครองประเทศ สยามตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1688 แล้ว โดยที่ข่าวนี้ยังไปไม่ถึงขุนนางชาวสยามและคณะทูตทางกรุงโรมเลย
 
จากบันทึกเรื่องราวการเข้าเฝ้า บาทหลวงตาชารด์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมกับครูสอนคำสอนชาวตังเกี๋ย 3 คน ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1688 ด้วยเหตุว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงสนพระทัยในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตังเกี๋ยเวลานั้น  และในที่สุดสมเด็จ พระสันตะปาปาทรงโปรดให้คณะทูตสยามเข้าเฝ้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1689 เพื่อกราบทูลลา  คณะทูตออกจากกรุงโรมเดินทางต่อไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1689 ในการเข้าเฝ้าครั้งสุดท้ายนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงฝากพระสมณสาสน์ 3 ฉบับ ไปกับบาทหลวงตาชารด์ พระสมณสาสน์ฉบับแรกเพื่อกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์ พระสมณสาสน์ฉบับนี้เขียนในแผ่นหนัง บรรจุในหีบทองคำ กว้าง 4 นิ้ว ยาวครึ่งฝ่ามือ ข้างหนึ่งประทับตราของสมเด็จพระสันตะปาปา และอีกข้างหนึ่งจารึกเป็นตัวอักษรว่า INNOCENTIUS UNDECIMUS PON. MAX. AN. XIII หีบนี้บรรจุในถุงกำมะหยี่สีแดงเข้ม ด้านข้างมีเส้นไหมทอง 8 ขีด
 
พระสมณสาสน์ฉบับที่สองส่งไปให้คอนสแตนติน ฟอลคอน เขียนบนแผ่นหนัง ใส่ในถุงผ้าแพรดอกปักไหมทองตามรอยเย็บ และพระสมณสาสน์ฉบับที่สามเป็นพระสมณสาสน์ตอบคริสตศาสนิกชนชาวตังเกี๋ย นอกจากพระสมณสาสน์แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปายังได้จัดส่งเครื่องบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ด้วยดังนี้
 
1. เหรียญทอง 1 เหรียญ มีลักษณะนูน ด้านหนึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา อีกด้านหนึ่งเป็นรูปคนกำลังทำทานแก่เด็ก 2 คน และมีคำจารึกว่า NON QUAERIT QUAE SUA SUNT (เขาไม่หาประโยชน์ของตนเอง) ทั้งสองด้านของเหรียญฝังเพชร
 
2. กล้องส่องทางไกลทำด้วยแก้ว พร้อมทั้งขาตั้ง ตัวกล้องยาว 30 ฝ่ามือ กล้องนี้ทำที่กรุงโรมโดยช่างผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเวลานั้น 
 
นอกจากนี้ยังมีรายการสิ่งของต่างๆ ที่ประทานให้แก่คอนสแตนติน ฟอลคอน รวมทั้งสิ่งของที่ประทานให้แก่บาทหลวงตาชารด์และคณะทูตสยามด้วย เกี่ยวกับเรื่องพระสมณสาสน์ทั้ง 3 ฉบับนั้น ทางหอจดหมายเหตุวาติกันเก็บรักษาบันทึกความจำของพระสมณสาสน์ไว้ และได้มีผู้สนใจศึกษานำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษจากต้นฉบับภาษาลาติน  พระสมณสาสน์ทั้งหมดนี้ลงวันที่ 7 มกราคม 1689 อันเป็นวันซึ่งคณะทูตเดินทางออกจากกรุงโรมไปฝรั่งเศส
 
ข้อความในพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาถึงสมเด็จพระนารายณ์นี้ กล่าว ถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้ากรุงสยามที่มีต่อคริสตศาสนาและผู้ถือคริสตศาสนาในกรุงสยาม ในการที่พระเจ้ากรุงสยามมีความชื่นชมต่อคณะสงฆ์คาทอลิก ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้บาทหลวงตาชารด์เป็นราชทูตพิเศษ อีกทั้งพระองค์ยังปกป้องคริสตศาสนาด้วยดี สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงปรารถนาจะภาวนา เพื่อขอให้พระเจ้ากรุงสยามได้รับแสงสว่างจากพระเป็นเจ้าในการดำเนินพระชนม์ชีพต่อไป
 
เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่ง พระสมณสาสน์ฉบับนี้ได้ถูกนำขึ้นกราบบังคมทูลในอีกหลายปีต่อมาโดยบาทหลวงตาชารด์ ทั้งนี้เป็นเพราะข่าวการทำรัฐประหารโดยพระเพทราชานั้นไปถึงฝรั่งเศสราวปลายปี ค.ศ. 1689 สถานการณ์ครั้งนั้นทำให้บาทหลวงตาชารด์และคณะทูตสยามไม่สามารถเดินทางกลับประเทศสยามได้ แต่บาทหลวงตาชารด์ได้ใช้ความพยายามทุกอย่างในการติดต่อกับประเทศสยามทั้งจากฝ่ายประมุขมิสซัง และจากฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังของประเทศสยาม
 
จนกระทั่งมาประสบผลสำเร็จในการเข้าเฝ้าพระเพทราชาเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1699 แต่ในครั้งนี้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายบาทหลวงมิได้กล่าวถึงพระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 เลยจนคำเดียว และพระสมณสาสน์ฉบับนี้บาทหลวงตาชารด์ก็ได้เชิญมาด้วยเหมือนกัน  เนื่องจากว่าเวลานั้นประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้ขาดความสัมพันธ์กันชั่วระยะเวลาหนึ่งปัญหาที่สำคัญในเวลานั้นจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฝรั่งเศสโดยตรงมากกว่า
ในโอกาสที่คณะทูตพิเศษของสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาที่กรุงโรมทั้ง 2 ครั้งคือในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 และในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1689 ซึ่งทางสันตะสำนักถือเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง จึงได้ทำเหรียญทองที่ระลึก 2 เหรียญด้วยกัน ทั้ง 2 เหรียญ ด้านหนึ่งเป็นรูปคณะทูตสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา และอีกด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปสมเด็จพระสันตะปาปา 
 
นอกจากเหรียญทั้งสองเหรียญนี้แล้ว  สมเด็จพระสันตะปาปายังทรงโปรดให้ศิลปิน Carlo Maratta   ที่มีชื่อเสียงโด่งดังวาดภาพเหมือนของบาทหลวงตาชารด์ ทูตสยามทั้ง 3 คน และครูสอนคำสอนชาวตังเกี๋ย 3 คน ที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเอาไว้ด้วย
 
ภาพเหล่านี้ต่อมาตกเป็นสมบัติของครอบครัว W.J.R. Dreesmann Puk ซึ่งได้นำมาถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวาติกัน 
 
III. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
 
1. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ (Historical Background)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และนครรัฐวาติกันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศพระศาสนาในประเทศไทย ในเวลาเดียวกันความสัมพันธ์นี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส
 
นับตั้งแต่พระเพทราชาทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 1688 เป็นต้นมา ท่าทีของคนไทยและราชสำนักไทยที่มีต่อฝรั่งเศสก็แสดงออกมาในทางลบมากกว่าทางบวก นั่นคือคนไทยมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์และต่อต้านชาวฝรั่งเศส ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสต้องหยุดชะงักลง แม้ว่าจะมีความพยายามอยู่บ้างที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์นี้ขึ้นมาอีกด้วยเหตุผลบางประการทางการเมือง แต่ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การขยายอำนาจของฮอลแลนด์, ท่าทีของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ที่มีต่อชาวสยาม เป็นต้น 
 
ท่าทีต่อต้านชาวฝรั่งเศสนี้มีผลมาถึงคริสตศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาของบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสในสยามเวลานั้นด้วย เรื่องนี้พบได้หลังจากที่พระเพทราชาทรงทำรัฐประหารแล้ว ได้มีคำสั่งให้จับกุมพวกมิชชันนารี รวมทั้งยึดทรัพย์สมบัติของพวกเขาด้วย แน่นอนที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้การประกาศพระศาสนาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ (ค.ศ. 1709-1733) ยังห้ามการประกาศพระศาสนาแก่คนไทย, มอญ และลาวอีกด้วย
 
สถานการณ์ของคริสตศาสนาในสยามจนถึงปี ค.ศ. 1749 ก็ยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกัน จนกระทั่งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1767 
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินแม้จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคริสตศาสนาอยู่มาก จนมีคริสตังจำนวนหนึ่งเข้ารับราชการในสมัยของพระองค์ แต่ต่อมาพระองค์ทรงกริ้วข้าราชการคริสตัง เนื่องจากไม่ยอมกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระองค์จึงทรงเนรเทศบรรดามิชชันนารีทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1779 
 
อันที่จริงสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระทัยเมตตากรุณาต่อคริสตชนมาก่อน โดยเฉพาะ ต่อชาวโปรตุเกส ได้ทรงพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกสทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้เป็นที่พักอาศัยและปลูกสร้างวัด บาทหลวงกอรร์ (Corre) ซึ่งเป็นผู้นำคริสตชนในเวลานั้นตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า "ค่ายซางตาครู้ส" เพื่อระลึกถึงวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1769 อันเป็นวันที่ได้รับพระราชทานที่ดินซึ่งตรงกับวันฉลองเทิดทูนมหากางเขน และต่อมาท่านได้สร้างวัดน้อยชั่วคราวขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 
 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์ (ค.ศ. 1782-1809) เป็นระยะเวลาเดียวกับที่ประเทศอังกฤษกำลังแผ่ขยายอำนาจมาทางอินเดีย ในประเทศฝรั่งเศสก็เกิดมีการปฏิวัติ เกิดสงครามของนโปเลียน และการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก ประเทศไทยเองก็ต้องทำสงครามกับพม่า ต้องปราบความไม่สงบที่เกิดขึ้นทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ ในเวลาเดียวกันก็ต้องรักษาสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้าน
 
ดังนั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1782 แล้ว พระองค์ยังทรงเชื้อเชิญบรรดามิชชันนารีที่ถูกขับไล่ออกนอกราชอาณาจักรในสมัยพระเจ้าตากสินให้กลับเข้ามาดังเดิม ทั้งนี้เพื่อรื้อฟื้นสัมพันธภาพกับประเทศฝรั่งเศสและทรงมีพระราชประสงค์จะทำการค้าขายกับฝรั่งเศสเหมือนดังที่เคยเป็นมาก่อน
 
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระราชทานที่ดินอีกผืนหนึ่งให้แก่ชาวโปรตุเกส ได้แก่ "โรซารี" ในปี ค.ศ. 1786 เนื่องจากชาวโปรตุเกสได้ให้ความช่วยเหลือในการสู้รบกับกษัตริย์พม่า ที่ดินผืนนี้ถูกเรียกว่า "โรซารี" นั่นคือ "ค่ายแม่พระลูกประคำ" ซึ่งมีชื่อตามชื่อรูปแม่พระลูกประคำที่พวกเขานำมาจากอยุธยา และได้สร้างวัดบนที่ดินผืนนี้ วัดนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1787 
 
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้แก่ การพิมพ์หนังสือ "ปุจฉาวิสัชนา" ของพระสังฆราชปัลเลอกัว (Pallegoix) ในปี ค.ศ. 1846 และการเนรเทศมิชชันนารี 8 องค์ ออกจากสยาม เนื่องจากบรรดามิชชันนารีเหล่านี้ได้แนะนำต่อพระสังฆราชปัลเลอกัวว่า อย่าให้ความร่วมมือต่อพิธีทางศาสนาบางอย่างในปี ค.ศ. 1849
 
จากเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยกรุงธนบุรี และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เราจะสามารถสรุปความสัมพันธ์ได้ดังนี้
 
1. ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกันยังไม่เกิดขึ้น เนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองของประเทศไทยในสมัยนั้น รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อคริสตศาสนาในประเทศไทยด้วย
2. ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในเวลานั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับพระสังฆราช ประมุขมิสซัง หรือผู้แทนพระสันตะปาปา
3. เหตุการณ์ทางศาสนาบางอย่างที่เกิดขึ้น เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความสัมพันธ์
 
 
2. ความสัมพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 4
เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส ได้ทรงรู้จักและสนิทสนมกับบาทหลวงปัลเลอกัวเป็นอย่างดี และด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนี้เอง ที่ทำให้มีการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
 
ในโอกาสที่พระสังฆราชปัลเลอกัวจะเดินทางกลับไปเยี่ยมประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของท่านคือประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งเป็นปีที่สองแห่งการครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสังฆราชปัลเลอกัวได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลลา และท่านได้กราบบังคมทูลว่าหากมีโอกาสจะแวะไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย  ข่าวนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยิ่งนัก เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยระลึกถึงความสัมพันธ์ที่ได้เคยมีต่อกันในอดีต นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เนื่องจากพระสังฆราชปัลเลอกัวจะออกเดินทางในวันนั้นเอง พระสังฆราชจึงกราบบังคมทูลว่าหากพระองค์จะทรงฝากพระราชหัตถเลขาไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา ก็ขอให้ทรงปฏิบัติในเวลานั้นเลย
 
ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระอักษรเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปา พระราชสาสน์ฉบับนี้เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง ลงวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1852 แล้วประทับตราประจำพระองค์
 
พระราชสาสน์ฉบับนี้นับเป็นพระราชสาสน์ฉบับแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้มีการติดต่อกับสันตะสำนักแห่งกรุงโรม หลังจากทิ้งระยะห่างจากการติดต่อครั้งสุดท้ายคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1689 ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 รวมระยะเวลาได้ 163 ปี
 
พระราชสาสน์ฉบับนี้พระสังฆราชปัลเลอกัวนำไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1846
 
เรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ เนื้อหาในพระราชสาสน์ฉบับนี้
 
1. พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำภาษาลาตินเรียกสมเด็จพระสันตะปาปาว่า "Pio Sancto Papa" ในพระราชสาสน์ฉบับภาษาอังกฤษ แสดงถึงพระปรีชาสามารถอย่างโดดเด่นของพระองค์ทางด้านภาษา
 
2. พระองค์ทรงพระอักษรหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และได้ทรงทราบข่าวคราวเกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอยู่เสมอ ทรงทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 16 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 หรือ ค.ศ. 1847 ในขณะที่พระองค์ยังมิได้ขึ้นครองราชย์
 
3. จุดประสงค์ของพระราชสาสน์ฉบับนี้ได้แก่
- ถวายความเคารพมายังสมเด็จพระสันตะปาปาโดยผ่านทางพระสังฆราชปัลเลอ กัว ผู้ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของพระองค์
 
- เพื่อให้คำยืนยันว่า พระองค์จะทรงปกป้องคริสตศาสนารวมทั้งผู้เลื่อมใสศรัทธาในคริสตศาสนาในประเทศสยาม แม้พระองค์จะเป็นพุทธมามกะที่ศรัทธาก็ตาม
 
- เวลาเดียวกัน การที่พระองค์ทรงแสดงน้ำพระทัยเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่ม ความสัมพันธ์ใหม่กับกรุงโรม หรือให้ความอุปถัมภ์คริสตศานา ก็ขออย่าได้พิจารณาว่าพระองค์จะทรงกลับใจมานับถือคริสตศาสนา แม้พระองค์จะทรงพระอักษรมากมาย ทั้งพระคัมภีร์ และหนังสือเทวศาสตร์ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาอังกฤษ พระองค์ทรงยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ขออย่าให้กิจการเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเลย 
 
พระราชสาสน์ต้นฉบับยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุวาติกัน และทางวาติกันยังได้จัดทำคำแปลเป็นภาษาอิตาเลียนควบคู่กันด้วย พระสังฆราชปัลเลอกัวได้นำเด็กไทย 2 คน เดินทางไปด้วย คนหนึ่งมีบิดามารดาเป็นชาวญวนชื่อยอแซฟ ชม อีกคนหนึ่งมีบิดามารดาเป็นชาวไทยชื่อ แก้ว ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1853 ได้รับศีลล้างบาปที่วัดแซงต์ซุลปีส ในกรุงปารีส ได้รับชื่อใหม่ว่า ฟรังซิส แก้ว ทั้งสองคนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา และได้เขียนจดหมายถวายสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นภาษาไทย ซึ่งทางหอจดหมายเหตุวาติกันก็ได้เก็บรักษาไว้ในหมวดเดียวกันนี้ พร้อมทั้งได้จัดแปลเป็นภาษาลาตินควบคู่ไปด้วย
 
สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ได้ทรงมีพระสมณสาสน์ตอบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาษาลาติน ลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1852 โดยทรงฝากพระสังฆราชปัลเลอกัวนำมาถวาย พระสังฆราชปัลเลอกัวได้ส่งพระสมณสาสน์ฉบับนี้มาจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพราะท่านยังคงพักอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อไป ดังที่บระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสไว้ในพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งว่า
 
"ท่านบาทหลวงบาปติศบิจฉบ ได้ฝากพระสมณสาสน์ของท่านผู้บิดาบริสุทธมาแต่กรุงปารีส แผ่นดินฝรั่งเศส ฉบับหนึ่งลงวันที่ 20 เดือนเดเสมเบอร์ คริสตศักราช 1852 ฉบับหนึ่งภายหลังเมื่อบาทหลวงบาปติศบิจฉบกลับมาถึงกรุงเทพมหานครนี้ ได้ยื่นพระสมณสาสน์ของท่านผู้บิดาบริสุทธ เปนหนังสือคู่เหมือนกันกับฉบับก่อนอีกครั้งหนึ่ง พระสมณสาสน์ทั้งสองฉบับนั้นเขียนในภาษาลาติน มีคำแปลเปนภาษาอังกฤษกำกับมาด้วยเหมือนกัน ได้อ่านทราบความแล้วก็มีความยินดียิ่งนัก" 
 
เช่นกัน ในพระสมณสาสน์ฉบับนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติปกครองประเทศสยาม พร้อมทั้งแสดงความขอบพระทัยต่อพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคริสตชนในพระราชอาณาจักร พร้อมทั้งทรงปกป้องคริสตศาสนาเป็นอย่างดี  
 
พระราชสาสน์ฉบับที่สองถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ปี ค.ศ. 1861
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้นำการปรับปรุงประเทศตามแบบอย่างชาวตะวันตกมาใช้ ทรงรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลย์อำนาจของประเทศต่างๆ ที่กำลังมีอิทธิพลอยู่ในซีกโลกตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์
ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งคณะราชทูตไปฝรั่งเศสเพื่อ เจริญสัมพันธไมตรีในปี ค.ศ. 1861 นำโดย พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เอกอัครราชทูต พระองค์ได้ทรงส่งพระราชสาสน์ฉบับหนึ่งโดยทรงฝากคณะราชทูตชุดนั้นนำไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการบางอย่างด้วย คณะราชทูตได้เข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียน ที่ 3 ณ พระราชวังฤดูร้อนฟองแตนโบล (Fontaine Bleau) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1861 และได้ถวายพระราชสาสน์ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ 34 ชนิดด้วย 
 
คณะราชทูตได้ติดต่อไปยังกรุงโรมเพื่อขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมทั้งแจ้งความประสงค์จะถวายพระราชสาสน์ รวมทั้งเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผ่านทางสมณทูตวาติกันที่กรุงปารีส
 
สมณทูตวาติกันที่กรุงปารีสได้มีจดหมาย 2 ฉบับ เพื่อขอทราบความเป็นไปได้ในการขอเข้าเฝ้าจากพระคาร์ดินัล อันโตเนลลี (Antonelli) ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐวาติกันอยู่ในเวลานั้น คือจดหมายลงวันที่ 30 มิถุนายน และจดหมายลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1861 พร้อมทั้งชี้แจงด้วยว่าได้ปรึกษากับอธิการใหญ่ของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสแล้ว มีความเห็นว่าการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาของคณะราชทูตครั้งนี้จะมีผลดีต่อพระศาสนาด้วย 
 
ทางสันตะสำนักได้มีคำตอบกลับมายังสมณทูตที่กรุงปารีสว่ามีความยินดีที่จะต้อนรับคณะราชทูต และเชื่อด้วยว่าจะเป็นผลดีต่อพระศาสนา อีกทั้งทางวาติกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ของคณะราชทูตชุดนี้ตั้งแต่เดินทางมาถึงเมืองท่า Civitavecchia เลยทีเดียว ขอให้ทางสมณทูตแจ้งรายละเอียดของการเดินทาง ทางสมณทูตได้แจ้งเรื่องนี้พร้อมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางของคณะราชทูตมาที่กรุงโรม หากว่าคณะราชทูตจะไม่เดินทางไปลอนดอน การเดินทางไปกรุงโรมก็จะไม่ล่าช้า ซึ่งทางเลขาธิการรัฐก็ได้ตอบยืนยันเกี่ยวกับการต้อนรับคณะราชทูตครั้งนี้
 
จดหมายของสมณทูตแห่งกรุงปารีสลงวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1861 แจ้งมายังเลขาธิ การรัฐวาติกันว่า คณะราชทูตจะเดินทางออกจากกรุงปารีสวันที่ 25 กันยายน และจะถึงเมือง Civitavecchia ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1861 แต่ก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะคณะราชทูตเปลี่ยนหมายกำหนดการได้เอง คณะราชทูตจะหยุดที่เมืองลีอองและจะถึงเมืองมารเซยประมาณวันที่ 26 หรือ 27 กันยายน จากนั้นก็คงจะถึงเมือง Civitavecchia ปลายเดือนกันยายน หรือไม่ก็ในวันที่ 1 ตุลาคม นอกจากนี้มิชชันนารีซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามในคณะราชทูตยังได้ยืนยันด้วยว่าคณะราชทูตจะอยู่ในกรุงโรมไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งทางเลขาธิการรัฐก็ตอบกลับมาว่าวันที่ 28 กันยายน คณะราชทูตจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ 
 
คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือมารเซยด้วยเรือ "Asmod้e" เวลาบ่ายโมงของวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1861 มุ่งหน้าสู่เมือง Civitavecchia  เลขาธิการรัฐได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังผู้แทนพระสันตะปาปาที่เมือง Civitavecchia ให้ต้อนรับและนำคณะราชทูตซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 20 คน มายังกรุงโรม และเมื่อมาถึงแล้วแจ้งให้ท่านทราบด้วย คณะราชทูตเดินทางมาถึงเมือง Civitavecchia เวลาเช้า 8.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1861 ซึ่งผู้แทนพระสันตะปาปาที่เมืองนี้ได้ส่งโทรเลขถึงเลขาธิการรัฐ และได้เขียนรายงานการต้อนรับคณะราชทูตลงวันที่ 1 
ตุลาคม ค.ศ. 1861 อีกด้วย 
 
คณะราชทูตประกอบไปด้วย
1. พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) บุตรสมเด็จพระยาองค์น้อย
2. เจ้าหมื่นไววรนาถ บุตรท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
3. พระยาณรงค์วิชิต บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ 
 
คณะราชทูตชุดนี้ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ได้ถวายพระราช สาสน์และเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1861 พระราชสาสน์ฉบับนี้เป็นภาษาไทย และมีคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลด้วยพระองค์เอง ซองพระราชสาสน์ฉบับนี้ทำด้วยกระดาษแข็ง ภายในซองเป็นสีแดง จ่าหน้าซองเป็นภาษาไทยทั้งด้านบนและกลางซองเป็นภาษาอังกฤษด้วยลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้านหนึ่งของซองประทับด้วยตราครุฑแบบโบราณ ต้นฉบับและซองบรรจุพระราชสาสน์ฉบับนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดวาติกัน  ทางสันตะสำนักโดยหอจดหมายเหตุวาติกันได้จัดแปลเป็นภาษาอิตาเลียนทั้งหมด 13 หน้าด้วยกัน 
 
สรุปเนื้อความแห่งพระราชสาสน์ฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้
1. พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามทุกพระองค์ ทรงเป็นมิตรที่ดีต่อคริสตศาสนา แม้จะมีความเชื่อต่างจากพุทธศาสนาก็ตาม พระองค์ทรงเชื่อว่าทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสวงหาและดำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนเอง
 
2. เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนกระทั่งถึง
 
พระราชสาสน์ฉบับที่แล้ว ที่พระสังฆราชปัลเลอกัวเป็นผู้จัดส่งมากราบบังคมทูลพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงมีพระทัยชื่นชมต่อฉากกรอบไม้ปิดทอง มีลายประดับด้วยกรวดแก้ว (Mosaic) เป็นรูป Pantheon ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงจัดส่งมาถวายพระองค์โดยผ่านทางพระสังฆราชปัลเลอกัวด้วย
 
3. พระราชประสงค์ที่จะให้คณะราชทูตมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาในพระนามของพระองค์ เพื่อถวายพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่
ก. กรรไกรสำหรับตัดผมคร่ำทอง 1 เล่ม
ข. ขันล้างหน้ามีพานรอง กับถาดรองน้ำล้างหน้า 1 สำรับ ทำด้วยเงินกาไหล่ทองถมด้วยน้ำยาดำ ฝีมือช่างไทย
ค. พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เอง 1 รูป 
4. ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี
 
พระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9
ลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1861
สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ทรงมีพระสมณสาสน์ตอบกลับมายังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1861 เป็นภาษาลาติน ต้นฉบับคงจะถูกเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่ยังหาไม่พบ มีแต่บันทึกความจำของพระสมณสาสน์ฉบับนี้เท่านั้น 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงขอบพระทัยในการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งคณะราชทูตทั้ง 3 ท่าน พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้พระองค์ทรงมีความปลื้มปีติยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกป้องและให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา และมีน้ำพระทัยอารีต่อคริสตชนในราชอาณาจักรของพระองค์
 
ที่สุดได้กล่าวถึงพระสมณสาสน์ฉบับแรกของพระองค์ลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1852 และกล่าวถึงพระสังฆราชปัลเลอกัวในการทำหน้าที่ของท่านในอาณาจักรสยาม สุดท้ายได้กราบบังคมทูลว่าพระองค์ได้จัดส่งพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องบรรณาการมาถวายเช่นเดียวกัน
 
 
3. ความสัมพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติระหว่างปี ค.ศ. 1868-1910 พระองค์ทรงเป็นผู้ปฏิรูปแผ่นดินในทุกๆ ด้านจนได้รับพระนามว่า "มหาราช" ในการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ม.จ.ปฤษฎางค์ ชุมสาย) เป็นผู้แทนพิเศษ (Extraordinary Envoy) มาเจรจาและลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศในยุโรป ระหว่างปี ค.ศ. 1880-1886
 
ในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1884 จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1884 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ประทับอยู่ในกรุงโรมเพื่อรอลงพระนามในข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศอิตาลีในระหว่างระยะเวลานี้เองที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระประสงค์จะขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาโดยถือว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นบุคคลพิเศษ ผู้สามารถครอบครองหัวใจและวิญญาณของบรรดาคาทอลิกทั่วโลก หลังจากความลังเลใจอันเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านความเหมาะสม นั่นคือทางวาติกันรู้สึกไม่สะดวกที่จะต้อนรับแขกของรัฐบาลอิตาลี ขณะเดียวกันพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงรู้สึกกลัวว่าจะกระทบกระเทือนใจกันกับรัฐบาลอิตาลี เมื่อสอบถามจนรอบคอบแล้ว การนัดหมายให้มีการเข้าเฝ้าก็เกิดขึ้น การเข้าเฝ้าครั้งนั้นมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1884 ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 20 นาที
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 (ค.ศ. 1878-1903) ทรงมีพระปฏิสันถารกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินของไทย ที่ได้ทรงปกป้องคริสตศาสนา รวมทั้งทรงให้เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปายังได้ฝากขอบพระทัยไปยังพระเจ้าแผ่นดิน และยังได้ทรงมีพระปฏิสันถารเกี่ยวกับปัญหาที่พวกคาทอลิกอาจจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตรัสตอบว่าบรรดามิชชันนารีเป็นผู้ทรงคุณธรรม มุ่งมั่นแต่ความดี และให้การศึกษาแก่ประชาชน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย นอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงคุณงามความดีของพระสังฆราชปัลเลอกัวอีกด้วย 
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระพาสยุโรป 2 ครั้ง และทั้งสองครั้งนี้ พระองค์ได้เสด็จประพาสประเทศอิตาลีด้วย แต่มีเพียงครั้งแรกคือในปี ค.ศ. 1897 เท่านั้นที่พระองค์เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13  ในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนี้ พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณได้เสด็จมาร่วมด้วย และได้ทรงมีหนังสือฉบับหนึ่งไปยังพระคาร์ดินัล รัมโปลลา (Rampolla) ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐวาติกัน ลงวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 เขียนจากเมืองเจนีวา เป็นภาษาฝรั่งเศส มีใจความว่า พระองค์ทรงโสมนัสที่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 มีพระดำรัสตอบรับการเข้าเฝ้าด้วยความยินดียิ่ง ซึ่งกำหนดไว้ราวต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1897 และในตอนบ่ายของวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน ก็จะเสด็จจาก Grand Hotel เพื่อมาที่กรุงวาติกัน คณะผู้ติดตามประกอบไปด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย, พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช 
 
จากจดหมายฉบับนี้ทำให้เราทราบว่า การนัดหมายและการตอบรับเรื่องการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เวลาเดียวกันทางวาติกันเองก็มีการติดต่อและเตรียมการเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 มีพระประสงค์ที่จะทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย สถานการณ์ของคาทอลิกในประเทศไทย รวมทั้งทรงขอความเห็นด้วยว่าพระองค์ควรจะทรงมีพระปฏิสันถารกับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไร เพื่อจะเป็นผลดีต่อคาทอลิกในประเทศไทย รายงานนี้พระองค์ทรงขอจากสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อโดยผ่านทางเลขานุการของรัฐวาติกัน 
 
ทางเลขานุการสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้จัดทำรายงานสั้นๆ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ทางศาสนาในประเทศไทยส่งมายังเลขานุการรัฐวาติกันวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1897  ในรายงานสั้นเพื่อจำ (Pro-Memoria) ที่จัดส่งมาถวายสมเด็จพระสันตะปาปานี้ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคริสตศาสนาในประเทศไทยอย่างสั้นๆ ตั้งแต่ครั้งการเข้ามาของโปรตุเกส การแต่งตั้งพระสังฆราชลังแบรต์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนกระทั่งการเสียกรุงแก่พม่าและการกอบกู้อิสรภาพโดยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ประเทศไทยเป็นประเทศในอินโดจีนที่มิได้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด เป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา คริสตศาสนาในประเทศเจริญทีละเล็กทีละน้อย และเจริญขึ้นอย่างน่าสังเกตในสมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ปัจจุบัน (ในเวลานั้น) มีจำนวนคาทอลิกราว 24,000 คน จากประชากร 8 ล้านคน ฝ่ายคาทอลิกมีสถาบันหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมาก ในที่สุดสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การพบปะครั้งนี้ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระสันตะปาปา จะช่วยให้คาทอลิกในประเทศไทยพบกับเสรีภาพทางศาสนาอย่างสมบูรณ์ 
 
ในวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถม้าพระที่นั่งพร้อมกับคณะ รวมรถม้าทั้งหมด 4 คันด้วยกัน เสด็จมาถึงกรุงวาติกัน เจ้าหน้าที่ชั้นสูงทั้งหมดของกรุงวาติกันเฝ้าฯ รับเสด็จ และเวลา 17.15 น. เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจนกระทั่งถึงเวลา 17.30 น. หลังจากนั้นเวลา 18.00 น. พระคาร์ดินัลรัมโปลลา เลขานุการรัฐวาติกันเข้าเฝ้าถวายคำนับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการถวายตอบแทนการเข้าเฝ้าครั้งนี้ที่ Grand Hotel  บ่ายวันรุ่งขึ้นเวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วาติกัน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Comm. Galli รับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ และนำเสด็จพระราชดำเนินชม
 
ในเย็นวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายนนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของวาติกันหลายท่านด้วยกัน รายชื่อและชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุวาติกัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานให้ในวันนั้น มีดังต่อไปนี้
 
1. มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
2. ตริยาภรณ์ช้างเผือก 
3. มหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.)
4. ประถมาภรณ์มงกุฏไทย
5. ตริตาภรณ์มงกุฏไทย 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงโรมโดยรถไฟพระที่นั่งในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1897
 
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงชื่นชมต่อการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระประสงค์จะถวายของที่ระลึก จึงทรงโปรดให้เลขานุการรัฐเขียนจดหมายถึงพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณว่า สมเด็จพระสันตะปาปามีพระประสงค์จะถวายของที่ระลึก อันได้แก่ แผ่นจิตรกรรมทำด้วยศิลปะ Mosaic เลียนแบบการตกแต่งภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร นอกจากนี้สมเด็จพระสันตะปาปายังประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังต่อไปนี้
 
1. Grand Cross of the Order of Pius IX
แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย
แก่ พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณ
แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช
 
2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆ แก่ผู้ตามเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา 
นอกจากนี้ในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1897 เลขานุการรัฐวาติกันได้มีจดหมายสั้นๆ ไปยังสมณทูตที่กรุงปารีสว่า หากมีโอกาสเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ขอให้กราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ในพระนามของสมเด็จพระสันตะปาปาว่า พระองค์ทรงชื่นชมต่อการเข้าเฝ้าครั้งนี้มาก และจะทรงระลึกถึงเรื่องนี้เสมอ
 
วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1897 มีจดหมายจากที่ปรึกษาคณะทูตไทยที่กรุงปารีสมายัง เลขาธิการรัฐวาติกัน แจ้งให้ทราบว่าพระมหากษัตริย์ไทยต้องพระราชประสงค์ในพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ก่อนที่จะเสด็จออกจากยุโรป และวันที่ 6 ตุลาคมปีเดียวกัน ทางกรุงวาติกันแจ้งมาทางสถานสมณทูตที่กรุงปารีสว่า พระบรมฉายาลักษณ์พร้อมลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ถูกส่งมาแล้วโดยทางรถไฟ ขอให้สมณทูตจัดการส่งไปให้แก่คณะทูตไทยประจำกรุงปารีส เพื่อดำเนินการส่งไปถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทย ตามที่พระองค์ต้องพระราชประสงค์ด้วย วันที่ 7 ตุลาคม ทางกรุงวาติกันมีจดหมายแจ้งมายัง Corragioni d'Orelli ที่ปรึกษาคณะทูตไทยประจำกรุงปารีสว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่ส่งมานี้เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ดีที่สุดของสมเด็จพระสันตะปาปา และพระองค์ได้ทรงลงลายพระหัตถ์ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นขอให้นำขึ้นถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทยด้วย
 
จดหมายของสมณทูตที่กรุงปารีสแจ้งมายังเลขาธิการรัฐวาติกันลงวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1897 ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ส่งมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย มาถึงเมื่อวันพุธตอนเช้า และเวลา 18.00 น. ก็จัดส่งไปให้แก่ที่ปรึกษาคณะทูตไทยประจำกรุงปารีส เพราะได้รับข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พระมหากษัตริย์ไทยจะเสด็จออกจากกรุงปารีสในวันรุ่งขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่งต่อของถวายที่มีค่านี้ และได้ส่ง D'Orelli มาที่สถานสมณทูตเพื่อแสดงความขอบพระทัยต่อสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย พระองค์มีพระบรมราชโองการให้ทำกรอบที่สง่างามที่สุด และให้ตั้งไว้ในท้องพระโรงของพระราชวัง 
 
หลังจากการเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาและเสด็จเช้าชมพิพิธภัณฑ์วาติกันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน ค.ศ. 1897 แล้ว เลขาธิการรัฐวาติกันได้ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นล่ามผู้ตามเสด็จในระหว่างเสด็จเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ให้เขียนรายงานส่งมายังเลขาธิการรัฐ ในรายงานฉบับนี้ผู้เขียนได้เล่าถึงพระราชดำรัสบางตอน เช่น ครั้นเสด็จผ่านภาพแสดงแผนที่โลก พระองค์มีพระราชดำรัสว่า
 
"เป็นเวลานานมาแล้ว ที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรคาทอลิก และสันตะสำนัก ตั้งแต่ครั้งเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ทรงดำรงตำแหน่งปกครองอยู่ ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย และข้าพเจ้าได้เรียนรู้และชื่นชม และให้คุณค่าต่อสถาบันพระสันตะปาปาที่ยิ่งใหญ่นี้ เนื่องเพราะมีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่เหนือโลกทั้งโลก ทั้งนี้เพื่อคุณงามความดีของมนุษยชาติ และเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ทรงได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ข้าพเจ้าก็มีความประสงค์จะรู้จักกับพระองค์ และดังนี้ข้าพเจ้าได้อ่านทุกอย่างที่มี เกี่ยวกับบุคลิกของพระองค์ ชีวิต งานของพระองค์ และอื่นๆ ยิ่งข้าพเจ้าอ่านมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มพูนความต้องการที่จะได้พบสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นการส่วนพระองค์มากขึ้นเท่านั้นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ เมื่อวานนี้ข้าพเจ้าได้รับความพึงพอใจมากที่สุด และข้าพเจ้าต้องกล่าวว่า ความเป็นจริงที่ได้พบเห็นนี้อยู่เหนือกว่าที่ข้าพเจ้าได้เคยจินตนาการไว้มากนัก ข้าพเจ้าจะไม่ลืมการเข้าเฝ้าที่น่าประทับใจนี้เลย"
 
นอกจากนี้เมื่อเสด็จเยี่ยมชมเสร็จสิ้นแล้ว ยังมีพระราชดำรัสฝากไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย พระราชดำรัสมีว่าดังนี้
 
"ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านช่วยนำความเคารพ และความขอบพระคุณของข้าพเจ้าไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย กราบบังคมทูลพระองค์ว่า หลายปีมาแล้วที่ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์โดยผ่านทางหนังสือ ข้าพเจ้าปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระองค์ และเวลานี้ข้าพเจ้ามีความสุขใจมาก ความปรารถนานั้นเป็นความจริงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานอนุญาตให้เข้าเฝ้า และจะจดจำไว้ในหัวใจ (พระองค์เอามือแนบพระทัย) ถึงความทรงจำเกี่ยวกับการเยี่ยมเยือนครั้งนี้ กรุณากราบบังคมทูลสมเด็จพระสันตะปาปาแทนข้าพเจ้าด้วย"  
 
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นความจริงทีเดียว เพราะเมื่อหลายปีผ่านไป พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังสยามเวลานั้น ได้เขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ลงวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1903 นั่นคือเกือบ 6 ปี หลังจากการเสด็จเข้าเฝ้าครั้งนั้น พระสังฆราชกราบบังคมทูลสมเด็จพระสันตะปาปาว่า การเข้าเฝ้าครั้งนั้นเป็นที่ประทับพระราชหฤทัยอยู่มาก เมื่อพระองค์เสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารต่อหน้าบรรดามิชชันนารี ต่อหน้าข้าราชสำนัก บรรดาเจ้าฟ้า และขุนนางทั้งหลายเกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปาว่า
 
"ข้าพเจ้าได้พบพระมหากษัตริย์ และจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่มากมาย แต่ไม่มีใครเลยที่งามสง่า น่าเคารพรัก เปี่ยมด้วยคุณงามความดี เท่าเสมอกับบิดาแห่งคริสตชนทั้งมวลในโลก"  
 
พระสมณทูตประจำกรุงแมดริด เมืองหลวงของประเทศสเปน เขียนจดหมายถึงเลขานุการรัฐวาติกันลงวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1897 ว่าที่กรุงแมดริด พระมหากษัตริย์ไทยยังมีพระราชดำรัสถามถึงสมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมทั้งยังทรงแสดงความขอบพระทัยในเรื่องพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ได้รับมาแล้ว
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จกลับมาประพาสประเทศอิตาลีอีกครั้งหนึ่งในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1897 และเช้าวันที่ 29 ตุลาคม ก่อนที่จะเสด็จไปยังเมืองเนเปิลส์ในคืนนั้น พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมชมมหาวิหารนักบุญเปโตรอีกครั้งหนึ่ง ทางสันตะสำนักได้มอบหมายให้พระสังฆราชผู้หนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลมหาวิหารเป็นผู้รับเสด็จและนำเสด็จเยี่ยมชม ในรายงานของพระสังฆราชองค์นี้เล่าว่า เมื่อท่านได้เข้าเฝ้า พระมหากษัตริย์ไทยมีพระราชดำรัสถามข่าวของสมเด็จพระสันตะปาปาในทันที และทรงฝากความปรารถนาดีไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย การเสด็จเยี่ยมชมมหาวิหารนักบุญเปโตรครั้งนี้ พระองค์ได้เสด็จขึ้นเยี่ยมชมถึงชั้นสูงสุดของโดมมหาวิหาร ตึกวังสมเด็จพระสันตะปาปา และสวนวาติกันด้วย 
 
ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1903 คณะพระคาร์ดินัลที่กรุงโรมเขียนจดหมายฉบับหนึ่งมากราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ไทยว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 สวรรคตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1903 เวลาบ่าย 4 โมง พร้อมทั้งกราบบังคมทูลด้วยว่า จะมีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หลังจากพิธีปลงศพผ่านพ้นไปแล้ว 9 วัน ข่าวอันน่าเศร้านี้คงทำให้พระองค์โทมนัสเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จดหมายฉบับนี้เขียนเป็นภาษาลาติน พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษวโรปการทรงโปรดให้หมอแฟรงเฟิตเตอ (Frankfurter) แปลเป็นภาษาอังกฤษถวาย พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าไม่ต้องตอบจด หมายของพระคาร์ดินัลเพราะได้ส่งโทรเลขไปแล้วและถ้าจะตอบจะต้องตอบไปถึงโป๊ปปีโอ ที่ 10 
 
พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 10 ทรงมีพระสมณสาสน์มากราบบังคมทูลถึงเรื่องการได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพื่อสัมพันธภาพอันดีต่อกันดังที่เคยเป็นมา พระสมณสาสน์ฉบับนี้ลงวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1903 และหมอแฟรงเฟิตเตอเป็นผู้แปลจากภาษาลาตินเป็นภาษาอังกฤษถวาย
 
วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1903 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราช  สาสน์ตอบกลับไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 10 พระราชสาสน์ฉบับร่างของพระราชสาสน์ฉบับนี้ที่ยังคงเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่จริงใจระหว่างประเทศทั้งสอง พระราชสาสน์ฉบับร่างนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีรับสั่งให้แปลเป็นภาษาไทย 
 
4. ความสัมพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 7
ในระหว่างรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (ค.ศ. 1925-1935) และอยู่ในช่วงสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 11 (ค.ศ. 1922-1939) มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น ซึ่งแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประเทศไทยและกรุงโรม ดังนี้
 
ก. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้เสด็จประพาสยุโรปและอิตาลีด้วย ที่สำคัญยิ่งก็คือ พระองค์ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 11 ในปี ค.ศ. 1930 และได้เสด็จเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของกรุงโรมอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิหารนักบุญเปโตร ปราสาท Castel d'Angelo และโบราณสถานแห่งกรุงโรม เพราะพระองค์ทรงสนพระทัยในศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับการเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาในครั้งนี้ได้ 
 
ข. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปในระหว่างปี ค.ศ. 1934 แท้ที่จริงพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปรับการผ่าตัดพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และทรงถือพระราชโอกาสเสด็จประพาสต่างประเทศด้วย เพราะในขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยยังไม่เรียบร้อย
 
ในการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งนี้ ยังมิได้ทรงสละราชสมบัติ พระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยเรือพระที่นั่งของชาติเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1934 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ และข้าราชบริพารตามเสด็จอีกไม่กี่คน 
 
ในระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 1934 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี พระองค์และคณะผู้ติดตามได้เสด็จเยี่ยมอนุสาวรีย์กษัตริย์อิตาเลียน Vittore Emmanuele II 
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับนักเรียนคาทอลิก (สามเณร) ไทยที่กรุงโรม และ 3 คนในจำนวนนักเรียนเหล่านั้น ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) คือพระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต ประมุขมิสซังท่าแร่-หนองแสง, พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ประมุขมิสซังจันทบุรี และพระสังฆราชยวง นิตโย พระสังฆราชเกียรตินามแห่งออบบา (Obba) ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 6 ให้ดำรงตำแหน่งอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ ฯพณฯ อดีตอัครสังฆราชยวง นิตโย
 
ในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1934 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ทางศาสนา และสถาปัตยกรรมโรมันโบราณที่เรียกว่ากาตากอมบ์ (Catacomb) นั่นคือกาตากอมบ์กัลลิสโต (Callisto) ซึ่งเป็นกาตากอมบ์ที่มีชื่อเสียงมาก มีคณะสงฆ์ซาเลเซียนเป็นผู้ดูแล กาตากอมบ์แห่งนี้เป็นสถานที่ฝังพระศพของบรรดาพระสันตะปาปาในตอนต้นของศตวรรษที่ 3 รวมทั้งบรรดาคริสตชนที่เสียชีวิตจากการเบียดเบียนศาสนาในสมัยอาณาจักรโรมันอันรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ลึกลับในสมัยนั้นของคริสตชน เนื่องมาจากต้องหลบหนีจากพวกทหารโรมัน พวกเขาจึงได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการสวดภาวนาและประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกด้วย
 
สามเณรไทยคณะซาเลเซียนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกรโกเรียนที่กรุงโรมในเวลานั้นชื่อ กิมไทย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บาทหลวงบุญไทย สิงเสน่ห์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้ถวายการบรรยายและนำเสด็จชมสถานที่ ผู้อำนวยการกาตากอมบ์ยังได้ถวายของที่ระลึกจากกาตากอมบ์ เป็นรูปนักบุญเซซีลีอาและภาพ ที่นำมาจากจิตรกรรมฝาผนัง เป็นรูปนายชุมพาบาลที่ดี ซึ่งเพิ่งพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1934 นั้นเอง พระมหากษัตริย์ทรงแสดงออกซึ่งความพอพระทัย และประทับพระราชหฤทัยในการนำเสด็จเข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ 
 
ในวันพุธที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1934 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ และคณะผู้ตามเสด็จ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของวาติกันได้รับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ 
 
เหตุการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จร่วมในพิธีสถาปนาบาทหลวงยอห์น บอสโก ผู้ก่อตั้งคณะซาเลเซียน เป็นนักบุญ (Canonization) เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1934  นอกจากนี้พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะบาทหลวงซาเลเซียนที่กรุงโรมเป็นการพิเศษอีกด้วย 
 
5. ความสัมพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติในระหว่างปี ค.ศ. 1934-1946 นั่นคือในระหว่างสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา 2 องค์ คือ สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 11 (ค.ศ. 1922-1939) และสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 (ค.ศ. 1939-1958)
 
จากกองจดหมายเหตุสำนักราชเลขาธิการ ได้เก็บรักษาพระสมณสาสน์ฉบับหนึ่งของสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 ในปี ค.ศ. 1939 ไว้ พระสมณสาสน์ฉบับนี้ส่งมาเพื่อกราบบังคมทูลเกี่ยวกับเรื่องการได้รับเลือกตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาของพระองค์ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยังได้บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จคืนสู่ประเทศไทยครั้งที่สอง  และทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าในระหว่างสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งสอง (ค.ศ. 1939-1945) ศาสนาโรมันคาทอลิกได้รับความเดือดร้อนมิใช่น้อย
 
พระองค์มีพระราชประสงค์จะแสดงพระมหากรุณาธิคุณต่อศาสนาโรมันคาทอลิกเป็นพิเศษ ได้มีพระบรมราชโองการให้พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็นผู้ทรงติดต่อกับฝ่ายมิสซังโรมันคาทอลิกในกรุงเทพฯ แจ้งให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาเยี่ยมพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเวลานั้น ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นการส่วนพระองค์ จากจดหมายเหตุประจำวันส่วนตัวของบาทหลวงมอรีส ยอลี ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมไว้ดังนี้
 
"วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 1946 (2489) เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรม มหาราชวัง เวลา 16.30 น. โดยรถยนต์พระที่นั่ง (ของพระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ถึงบริเวณอาสนวิหารเวลา 16.45 น. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) มีผู้ตามเสด็จคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้เฝ้าฯ รับเสด็จมีสัตบุรุษคริสตังจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเรียนหญิงชายกำลังเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จหน้าลานอาสนวิหาร ฯพณฯ พระสังฆราชแปร์รอส      ในชุดประจำตำแหน่งสีม่วง รับเสด็จยังรถยนต์พระที่นั่ง นำเสด็จพระราชดำเนินประทับหน้าโบสถ์อัสสัมชัญ พระสังฆราชได้กราบบังคมทูลอย่างสั้นๆ แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเยือน และพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบพอสมควร (ระหว่างนั้นพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอดเวลา)
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระหัตถ์สัมผัสแก่พระสงฆ์ทุกองค์ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ (เช่น บาทหลวงแปรูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหาร, บาทหลวงโชแรง ที่คุ้นเคยกับพระองค์เจ้าธานีนิวัติ, บาทหลวงยอลี, บาทหลวงอาทานาส ปลัดชาวไทย) ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ภายในอาสนวิหารสักพักหนึ่ง แล้วก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้น บาทหลวงโชแรงได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย
 
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมครั้งนี้ มิได้กระทำอย่างเป็นทางการ พระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบสากลธรรมดา พระสนับเพลายาวสีขาว ทรงฉลองพระบาท มิได้ทรงพระ มาลาหรือแม้แต่ถุงรองพระบาทเลย..." 
 
IV รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสวยราชสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งครองราชย์นานที่สุดด้วยเดชะพระบารมี ทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่แซ่ซ้องต่อเหล่าประชากรของพระองค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1996 ประเทศไทยพร้อมใจกันจัดพระราชพิธียิ่งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ปกครองดูแลประเทศไทยมาเป็นเวลา 50 พรรษา
 
ในระหว่างรัชสมัยนี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และเป็นไปด้วยมิตรภาพ ดังปรากฏจากเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาหลายองค์เข้ามามีส่วนในความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ได้แก่
1. สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 (ค.ศ. 1939-1958)
2. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 (ค.ศ. 1958-1963)
3. สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 (ค.ศ. 1963-1978)
4. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 (ค.ศ. 1978)
5. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 (ค.ศ. 1978 - 2005)
 
1. ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หลังจากได้เดินทางไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ในเอเชีย อเมริกา และยุโรปแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางมาที่ประเทศอิตาลี และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนค.ศ. 1955 ในนครรัฐวาติกัน
 
ประเทศไทยเวลานั้นมิได้ใช้ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชอีกต่อไป แต่ใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย การที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขนครรัฐวาติกัน อันเป็นนครรัฐทางศาสนาเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความประทับใจต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม และผู้ติดตามมิใช่น้อยเลย  
 
สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 สวรรคตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1958 พระศาสนจักรในประเทศไทยได้จัดพิธีถวายบูชามิสซาอย่างมโหฬารขึ้นวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ เวลา 9.30 น. เพื่ออุทิศแด่ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปา พิธีในวันนั้นเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ มีพระสังฆราชยอห์น กอร์ดอน ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศไทย (เวลานั้นยังมิได้มีตำแหน่งพระสมณทูตในประเทศไทย) เป็นประธานและผู้ถวายบูชามิสซา นอกจากนี้มีพระสังฆราช 5 องค์จากมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย พร้อมกับพระสงฆ์ นักบวชคณะต่างๆ ภราดา ภคินี และมวลสัตบุรุษจำนวนมากมาร่วมในพิธีนี้
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลโท หลวงสุรณรงค์ เป็นผู้แทนพระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระองค์เจ้าธานีนิวัติ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพิธีมหาบูชามิสซาด้วย
 
เป็นที่น่าสังเกตว่ามีพระภิกษุจำนวน 5 รูป เข้าร่วมในพิธีมหาบูชามิสซาในวันนั้นด้วย และหนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ พระพิมลธรรมสังฆมนตรี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 ที่กรุงโรมมาแล้วก่อนที่พระองค์จะสวรรคตไม่นาน  การแสดงออกซึ่งความเศร้าโศรกเสียใจในการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปาในครั้งนี้ของทุกฝ่าย ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสัมพันธภาพฉันพี่น้อง เป็นสัมพันธภาพแห่งความรักและความเข้าใจอันดีต่อกันทั้งทางฝ่ายบ้านเมืองและทางฝ่ายศาสนา
 
2. ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23
เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งและน่าประทับใจที่สุด อันสืบเนื่องมาจากสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างทั้งสองประเทศนี้ ได้แก่ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน และเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยคณะผู้ติดตาม
 
ในวันนั้นเอง ทางสันตะสำนักได้เขียนรายงานเกี่ยวกับการพบปะอันสำคัญยิ่งนี้ไว้ และได้บรรยายถึงคณะผู้ติดตามด้วยว่าประกอบไปด้วยผู้ใดบ้าง สมเด็จพระสันตะปาปาและพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฏิสันถารต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 20 นาที จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำเสด็จทั้งสองพระองค์ และคณะผู้ตามเสด็จ ไปยังหอสมุดวาติกันที่มีชื่อเสียง และก่อนที่จะจบการเข้าเฝ้าครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำ ฯพณฯ นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งผู้ตามเสด็จคนอื่นๆ ด้วย ต่อสมเด็จพระสันตะปาปา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอบพระทัยสมเด็จพระสันตะปาปา
 
สมเด็จพระสันตะปาปาถวายของที่ระลึกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เอง พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ ใส่กรอบเงิน นอกจากนี้ยังมีเหรียญทองขนาดใหญ่ 1 เหรียญ, หนังสือที่มีค่ามากของบาทหลวง d'Elia 1 เล่ม ชื่อหนังสือแปลเป็นภาษาไทยว่า "แผนที่โลกของบาทหลวง Matteo Ricci" (Il Mappamondo del Padre Matteo Ricci) พร้อมทั้งคำบรรยายทางภูมิศาสตร์ของตะวันออกไกลในระหว่างปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 17, หนังสือที่ระลึก "ห้องต่างๆ ของราฟาแอลโล" (Le Stanze di Rafaello)  ทั้งหมดนี้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระองค์ถวายรูปทำด้วย Mosaic แท้ๆ เป็นรูปกระเช้าดอกไม้เลียนแบบจาก Mosaic ของโรมันซึ่งเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน, งานสะสมเหรียญตราของนครรัฐวาติกัน 1 ชุด พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 สำหรับ ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประทานเหรียญทอง 1 เหรียญ และสำหรับบุคคลในคณะผู้ตามเสด็จคนอื่นๆ พระองค์ทรงประทานเหรียญเงิน
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเช่นเดียวกัน เป็นงานศิลปะชิ้นเอกของนักศิลปินคนไทย เป็นโต๊ะทรงพระอักษรขนาดใหญ่ แกะสลักเคลือบทองและสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นสุดการเข้าเฝ้าครั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงฝากความปรารถนาดีและพระพรมายังพระโอรสและพระธิดาทุกพระองค์ด้วย  สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงมีพระดำรัสแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวันนั้นว่าดังนี้
 
"ข้าพเจ้ารู้สึกปีติซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ในการเสด็จมาเยือนของพระองค์ เป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้แสดงความรู้สึกหวังดีเป็นพิเศษต่อประชากรแห่งประเทศไทย
 
ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริบูรณ์ด้วยความงามตามธรรมชาติ อีกทั้งเพียบพร้อมไปด้วยขนบประเพณีอันสูงศักดิ์มาแต่กาลนาน รัฐบาลและประชากรชาวไทยได้เพียรพิทักษ์รักษามรดกอันแสนประเสริฐนี้ไว้ด้วยความหวงแหน และมุ่งนำประเทศชาติให้พัฒนาการในด้านต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ จึงได้บรรลุถึงผลอันสมควรแก่การสรรเสริญ เป็นต้นในวงการสังคมและการศึกษา
 
บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษชาวคาทอลิกผู้เป็นบุตรของข้าพเจ้า ต่างใฝ่ใจที่จะได้มีส่วนช่วยเหลือในการนี้ ด้วยกิจการอันเกิดผลรุ่งเรืองและมากมายหลายชนิดด้วยกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสุขศาลา เพื่อแสดงให้ปรากฏว่าตนเองก็กระหายที่จะทำงานเช่นบุตรผู้ซื่อสัตย์ เพื่อความเจริญวัฒนาและความรุ่งเรืองของปิตุ ภูมิของตนในโลกนี้ และเพราะความเสียสละอันไม่เห็นแก่ตัวนี้ จึงทำให้เขาเหล่านี้ได้รับความเคารพยกย่องและเห็นใจ อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
 
ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะกราบบังคมทูลเฉพาะพระพักตร์พระองค์ว่า คาทอลิกได้รับการเคารพและเสรีภาพ ซึ่งเป็นผลของการมองเห็นอนาคตอันเฉียบแหลมแห่งข้อกำหนดกฎหมาย และความหวังดีอันน่าชมของบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐ
 
กุศลกรรมนี้นับเป็นขนบประเพณีมาแต่โบราณกาลแล้ว ทั้งนี้เนื่องด้วยตั้งแต่ ค.ศ.  1688 แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ได้ทรงมีพระสมณสาสน์ถึงพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม แสดงความขอบพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้พระราชทานความคุ้มครองเป็นอย่างดีแก่มิสซังคาทอลิก
 
ในโอกาสที่คณะทูตไทยได้มากรุงโรม และสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ให้การต้อนรับอย่างดีที่สุด ได้แสดงความเอาพระทัยใส่ต่อบรรดาผู้ร่วมชาติของพระองค์ด้วยการติดตามดูแลและพระราชทานของที่ระลึกต่างๆ
 
พระองค์ทั้งสองทรงตระหนักแก่พระทัยแล้วว่า ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศแปลกหน้าของรัฐวาติกัน สำหรับข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ามีความรู้สึกต่อประเทศไทยเช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ผู้ล่วงลับไปแล้ว และข้าพเจ้ารู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่งที่จะยืนยันแสดงความหวังดีนี้ต่อพระองค์ ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดประทานพระพรอันอุดมแด่ประเทศชาติอันสูงศักดิ์นี้ แด่บรรดาผู้นำชาติ และเป็นต้นแด่พระองค์และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ด้วย" 
 
ข้อความข้างบนนี้เป็นข้อความที่มีคุณค่ายิ่ง จึงได้นำมาลงไว้ให้ได้อ่านกัน เพราะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน้าที่ของคริสตชนในการรับใช้บ้านเมือง และสัมพันธภาพที่ดีต่อกันตั้งแต่อดีตกาลระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน
 
ในวโรกาสแห่งการเสด็จเยือนนี้เอง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงถวายเครื่อง ราชอิสริยาภรณ์ Great Collar of The Pian Order แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย 
 
วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1963 เป็นวันที่พระศาสนจักรต้องสูญเสียบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ไปอีก 1 ท่าน ข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ได้ออกสารเวียนให้ทุกวัดตีระฆังและสวดภาวนาอุทิศแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นพิเศษ และวันพุธที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1963 กำหนดให้เป็นวันถวายมิสซาอย่างสง่าอุทิศแด่สมเด็จพระสันตะปาปา มีพระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวชจำนวนมากมาร่วมในพิธี โดยมี อัครสังฆราช ยอห์น กอร์ดอน ผู้แทนพระสันตะปาปาเป็นเจ้าภาพ
 
ทางฝ่ายบ้านเมืองมี พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ เป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภ ประธานองคมนตรี, ข้าราชการฝ่ายบ้านเมือง และคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยนี้ เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช อีกทั้งนายฟุ้ง ศรีวิจารณ์ อธิบดีกรมศาสนา ได้มีสารร่วมไว้อาลัยส่งมายังพระอัครสังฆราช ยอห์น กอร์ดอนด้วย  นับเป็นการแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจและการมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอีกครั้งหนึ่งที่สมควรแก่การจดจำ
 
3. ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6
เช่นเดียวกันในสมณสมัยนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีกับพุทธศาสนาในประเทศยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงโปรดให้พระสังฆราชเปโตร คาแร็ตโต พระสังฆราชและคณะพระภิกษุทางฝ่ายพุทธศาสนา ได้เข้าเฝ้าที่วาติกันในปี ค.ศ. 1972 นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้ ฯพณฯ นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเฝ้าเช่นเดียวกัน 
 
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน ได้เกิดขึ้นในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 นี้เอง ก่อนหน้านี้พระองค์ได้ทรงโปรดให้สถาปนาพระฐานานุกรม (Hierarchy) พระศาสนจักรในประเทศไทย ยกฐานะจากมิสซังขึ้นเป็นสังฆมณฑลรวม 8 สังฆมณฑล โดยมี 2 อัครสังฆมณฑล คือ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 ในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต มีความเป็นมาก่อนหน้านี้เป็นลำดับแล้วคือ
 
- วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1957 สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 ทรงมีพระสมณโอง การ (Bulla) "Expedit et Romanorum" ก่อตั้งสถาบันผู้แทนสันตะปาปาในประเทศไทย 
 
- วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957 สมเด็จพระสันตะปาปปีอุส ที่ 12 ทรงมีพระสมณโองการ (Bulla) "Gravissimum Supremi" ผนวกความรับผิดชอบของผู้แทนพระสันตะปาปาในประเทศไทยออกไปถึงแหลมมะละกา
 
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1958 ผู้แทนพระสันตะปาปาองค์แรก ได้แก่ ฯพณฯ อัครสังฆ ราช ยอห์น กอร์ดอน เดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อประจำหน้าที่ โดยมีพระสังฆราชโชแรง, พระสังฆราชคาแร็ตโต, พระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี พร้อมทั้งคณะสงฆ์ และนักบวชจำนวนหนึ่ง ไปรับที่สนามบินดอนเมือง ฯพณฯ ยอห์น กอร์ดอน เดินทางมาถึงเวลา 4.00 น. ของวันนั้น และพำนักอยู่ที่บ้านพักของพระสังฆราชโชแรง  
 
- วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1969 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจิตติ สุจริตกุล กับพระอัครสังฆราชยัง ยาโดต์ ผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Delegate) ในเวลานั้น ทำพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกัน ในระดับสถานเอกอัครราชทูตนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  
 
แต่อย่างไรก็ตาม พระสมณโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ลงวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1969 (Bulla ชื่อ Instans illa) ได้ก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตวาติกันประจำประเทศไทยแล้ว 
 
- วันที่ 16 ตุลาคม 1969 ฯพณฯ ยัง ยาโดต์ กราบบังคมทูลถวายหนังสือสารตราตั้ง แต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวาติกันประจำประเทศไทยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความสัมพันธ์ทางการทูตในลักษณะนี้ก็เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
 
4. ในสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2
สมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 มีระยะเวลาสั้นมากคือเพียง 33 วันเท่านั้น ในระหว่างสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 มีเหตุการณ์สำคัญหลายประการเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีพระทัยเปิดกว้าง และพยายามต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ทรงมีมานะในงานอภิบาลดูแลบรรดาคริสตชนตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งทรงต้อนรับบรรดาผู้ทรงเกียรติจากประเทศต่างๆ และบรรดาคริสตชนจากทั่วโลกอยู่เสมอมิได้ขาด ในโลกแห่งการถ่ายทอดข้อมูลและข่าวสารดังเช่นในสมัยปัจจุบันนี้ ทำให้เราสามารถรับรู้เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสำหรับความสัมพันธ์กับประเทศไทย มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจควรบันทึกไว้อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ ดังนี้
 
- วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศแต่งตั้งพระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังมณฑลกรุงเทพฯ เป็นพระคาร์ดินัล ก่อนหน้านี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงส่งพระสมณสาสน์แจ้งล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1982 และจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 เวลา 12.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมีพระบรมราชโองการให้หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ ส่งพระราชดำรัสแสดงความยินดีและทรงชื่นชมในการที่ ฯพณฯ ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นเกียรติอย่างสูงแก่บรรดาคริสตศาสนิกชนชาวไทย นอกจากนี้ยังมีสารแสดงความยินดีจาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และจากรัฐมนตรีหลายท่านอีกด้วย 
 
- ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทย ได้เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้นจึงเสด็จเข้าเยี่ยมสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ต่อจากนั้นเสด็จไปยังสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีมหาบูชามิสซาสำหรับคริสตศาสนิกชนชาวไทย และประทานรางวัลให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านโทรทัศน์ประจำ ปี ค.ศ. 1983
 
วันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปยังศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แล้วจึงเสด็จไปประกอบพิธีมหาบูชามิสซา และทรงเป็นประธานในพิธีบวชพระสงฆ์คาทอลิกใหม่จำนวน 23 องค์ พร้อมกับทรงปิดปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเทศไทย ณ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้นได้เสด็จไปในงานสโมสรสันนิบาต ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
ต่อมาได้เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถนนสาธรใต้ เพื่อประสาทพรแก่ผู้ป่วย และเสวยพระกายาหารค่ำ จบแล้วเสด็จไปสนามบินดอนเมืองเพื่อเสด็จกลับกรุงโรม
 
การเสด็จมาเยือนประเทศไทย และมีโอกาสเข้าเยี่ยมประมุขสูงสุดของประเทศ รวมทั้งมีโอกาสเข้าเยี่ยมประมุขสูงสุดทางพุทธศาสนา ได้พบเห็นสถานการณ์ต่างๆ และความเป็นไปของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยครั้งนี้ ได้สร้างความประทับพระราชหฤทัยแด่สมเด็จพระสันตะปาปาอย่างมิอาจลืมเลือนได้ 
 
- วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1985 เวลา 10.20 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 พร้อมด้วยคณะผู้ติดตาม 
 
- วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอฟ์น ปอล ที่ 2 ณ พระราชวังวาติกัน พร้อมด้วยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ผู้ตามเสด็จ 
 
บทส่งท้าย
คริสตศาสนาเข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ กับการเข้าของชาวโปรตุเกสนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 เป็นต้นมา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ มิชชันนารีคณะโดมินิกัน 2 องค์แรก เข้ามาในประเทศสยามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1567 หลังจากนั้นก็มีมิชชันนารีคณะอื่นๆ เดินทางเข้ามาอยู่เป็นระยะ คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) นำโดยพระสังฆราชที่มีตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1662 และคณะสงฆ์คณะนี้ก็ทำงานในประเทศสยามสืบต่อมาจนทุกวันนี้
 
ปี ค.ศ. 1669 นับเป็นปีที่มีความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์คือ
 
1. สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ทรงประกาศให้ประเทศสยามมีฐานะเป็นดินแดนมิสซัง
 
2. สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 ทรงมีพระสมณสาสน์ฉบับแรกมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
 
จึงอาจเรียกได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองมีมาแล้วตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็นระยะเวลานานถึง 325 ปี แม้ว่าจะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาเป็นระยะเวลาเพียง 25 ปีเท่านั้นก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าตอนนี้เป็นสื่อแห่งความเข้าใจ ความร่วมมือ ความภูมิใจ เป็นระยะเวลาที่ร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะทางด้านจิตใจแก่ปวงชนชาวไทย เท่าที่คริสตศาสนาจะสามารถรับใช้ได้ในพระนามขององค์พระเยซูคริสตเจ้า อีกทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยอันกว้างขวางของพระมหากษัตริย์ไทยและรัฐบาลไทย ที่ให้เสรีภาพในการนำธรรมะประจำใจเข้ามาสู่ชีวิตของชนชาวไทย
 
ซึ่งสอดคล้องต่อพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 ดังนี้
 
"ข้าพเจ้าถือว่าการเยี่ยมเยือนครั้งนี้ เป็นการเชิดชูความสัมพันธ์อันยืนนานและเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกัน การมายังประเทศไทยครั้งนี้ถือว่า ได้รับพระราชทานเกียรติให้ได้มีโอกาสเยี่ยมตอบการที่สมเด็จบรมบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยือนสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาก่อนหน้าข้าพเจ้าเมื่อคริสตศักราช 1960
 
ข้าพเจ้าทราบดีว่า การพำนักในประเทศไทยครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นแต่ก็จะเป็นการให้โอกาสได้ประสบด้วยตนเองถึงคุณค่าอันหยั่งลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของชีวิตทางสังคมและทางวัฒนธรรม อีกทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย การได้อาคันตุกะของประเทศซึ่งยึดถือว่าเสรีภาพเป็นคุณลักษณะอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของประชากรนั้น คือเกียรติอันยิ่งใหญ่โดยแน่แท้ในโลกปัจจุ บันของเรานี้
 
ประวัติความเป็นไทของประเทศไทย และจิตตารมณ์โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอันเลี่ยงชื่อของประเทศไทย เป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างลึกซึ้งของครอบครัวมนุษยชาติในอันที่จะเจริญชีวิตอยู่ในสันติสุข ในความสามัคคีกลม เกลียว และในความเป็นพี่น้อง โดยเฉพาะการที่สมเด็จพระบรมบพิตรทรงเคารพสิทธิของมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางศาสนานั้น นำเกียรติอย่างไพศาลมาสู่ประเทศของสมเด็จบรมบพิตร
 
การเยี่ยมเยือนของข้าพเจ้ามุ่งแสดงออกซึ่งความรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของข้าพเจ้าเองเป็นส่วนตัว และของพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก อีกทั้งรู้สึกขอบคุณรัฐบาล ตลอดจนประชาชนแห่งดินแดนอันทรงเกียรตินี้ ที่ได้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นจากประเทศใกล้เคียง ความเมตตากรุณาที่มีต่อประชาชนผู้ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานนั้น เป็นสิ่งที่โน้มน้าวข้าพเจ้าให้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้าในประเทศไทย และมีส่วนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการพำนักอยู่ในแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ของท่าน อบอุ่นเสมือนหนึ่งอยู่ในบ้านของตนเอง
ข้าพเจ้าขอพระพรพิเศษของพระเป็นเจ้า ถวายแด่สมเด็จบรมบพิตร และบรรดาประชากรผู้เป็นที่รักของสมเด็จบรมบพิตรทั่วทุกท่าน."