ภาคสอง : ตอบโต้ข้อแย้งที่นักบวชพ่อค้ายกมาอ้าง

 
ผู้มีความกระตือรือร้นทั้งในเรื่องวิญญาณ ทั้งในเรื่องสินค้าดูเหมือนว่าจะทำธุรกิจโดยมีมโนธรรมเป็นปรกติ ถ้าได้มีรูปแบบหรือสีอื่นมาปิดยังความโลภของตนเอาไว้ พวกนี้จึงใช้สติปัญญาความสามารถของตนในการค้าหาทางออกและคำแก้ตัว ที่พวกเขาพยายามจะใช้ป้องกันตนเองสู้กับความจริง อย่างกับว่าเราอาจจะเยาะเย้ยพระเป็นเจ้าได้เหมือนทำกับมนุษย์อย่างนั้นแหละ ถึงกระนั้นก็ดี เพื่อมิให้พวกนั้นคิดว่าในคดีจบลงแล้วตรงนี้ ตนยังมีเหตุผลลมๆ แล้งๆ ว่าจะป้องกันตัวได้ยังเหลืออยู่อีก จึงจะไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ถ้า ณ ที่นี้เราจะตอบโต้ทุกเหตุผลที่พวกนี้เคยยกมาใช้ป้องกันธุรกิจของตน แต่เพื่อที่จะรักษาลำดับขั้นตอนในการตอบโต้ ก่อนอื่นเราเริ่มจากข้อความที่ขัดกับคำสอนที่เพิ่งกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้โดยทั่วไป แล้วนั้นจึงจะไปตอบโต้ข้อแย้งที่ขัดกับสารตราของพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 โดยเฉพาะ 
 
ตอนที่หนึ่ง – ตอบโต้ข้อแย้งโดยทั่วไป
 
ข้อโต้แย้งประการที่หนึ่ง
ได้มาจากความจำเป็นต้องทำธุรกิจการค้า นักบวชผู้ทำการค้าคิดว่า (เหตุผลข้อนี้) เป็นกำแพงป้องกันแข็งแรงที่สุด นั่นคือ พวกเขาอ้างว่า ถ้าทำธุรกิจการค้าไม่ได้แล้ว ตนจะขาดปัจจัยที่จำเป็นสำหรับดำรงชีพโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงคิดตามเหตุผลว่า กฎหมายของมนุษย์หรือของพระศาสนจักรย่อมไม่บังคับ ถ้าหากว่าเมื่อถือตามกฎหมายดังกล่าว ก็น่ากลัวว่าเราจะต้องตายหรือได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะฉะนั้น กฎหมายเหล่านี้จึงไม่บังคับให้พวกเราต้องถือด้วย แต่กำแพงป้องกันอันนี้ก็ถูกทลายลงด้วยเครื่องทำลายชนิดต่างๆ ก่อนอื่นหมด ข้าพเจ้าขอตอบว่า การเรียกความกระหายอยากได้เงินทองว่าเป็นความจำเป็นนั้น เป็นความโลภแท้ๆ นั่นเอง ถ้าบรรพชิตมีความพอใจในน้อยสิ่ง ความต้องการของเขาก็จะได้รับการตอบสนองได้โดยไม่ต้องพึ่งธุรกิจการค้า แต่ถ้าเขาแสวงหาความสะดวกสบายและมี่คนรับใช้จำนวนมากในบ้านของพระเป็นเจ้าแล้ว ก็ไม่เป็นการถูกต้องที่เขาจะใช้ข้ออ้างถึงความจำเป็นมาป้องกันตัวสู้กับกฎหมายของพระศาสนจักร เราก็เห็นอยู่มิใช่หรือว่า มีคนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นบรรพชิตและนักบวช ซึ่งไม่ขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นสำหรับดำรงชีพแต่อย่างใดเลย แม้ว่าเขาจะละเว้นไม่ทำธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น และต้องเชื่อว่าพระเป็นเจ้าจะประทานความช่วยเหลือมาให้ผู้ที่เรียกร้องหาพระองค์ไม่หยุดยั้ง นักบุญเยโรมได้เขียนถึงยุสตาคีอุม (Eustachium : 370-419) ว่า “พระเจ้าจะไม่ปล่อยให้ผู้ชอบธรรมอดอยากตาย ท่านประกาศก เอลียาห์ก็มีอีกานำอาหารมาเลี้ยง และแม่หม้ายที่เมืองศะเรฟัตกับลูกๆ ที่เกือบจะตายตอนกลางคืน ก็ยังเอาอาหารมาให้ประกาศก (เอลียาห์) รับประทานก่อนที่ตนจะกินเอง และผู้ที่มาขออาหารกิน กลับมาเลี้ยงนางด้วยวิธีน่าพิศวง” จงอ่านข้อความจากพระคัมภีร์เถิด (พระเจ้า)  ผู้ทรงเลี้ยงดูนกกา จะทรงละเลยไม่เลี้ยงบรรพชิตละหรือ? และผู้ที่ได้ทรงสัญญาจะประทานร้อยเท่าให้แก่นักบวชในชีวิตนี้ จะทรงปฏิเสธไม่ยอมให้อาหารแก่เขาเชียวหรือ? 
 
2) ในกฎวินัยทั่วไป (Examen generale) นักบุญอิกญาซิโอต้องการให้พวกลูกๆ ของท่านไปขอทานในกรณีจำเป็น เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องการให้พวกเขาไปทำธุรกิจการค้าให้เป็นที่สะดุดในมิสซัง ดังนั้นคุณพ่ออริบาเดเนย์รา (Ribadeneira :1526-1611) เมื่อพูดถึงคำปฏิญาณถือความยากจน จึงกล่าวว่า “ถ้าพระเป็นเจ้าทรงปรารถนาจะทดลองพวกเราให้ยากจนถึงขั้นขาดแคลน จนกระทั่งว่าเราไม่มีหนทางอื่นสำหรับช่วยชีวิตเหลืออยู่นอกจากไปรับจ้างแล้ว (ซึ่งก็ไม่น่าเชื่ออย่างแน่นอน) เวลานั้นละก็เราคงจะต้องหาวิธีการอื่นที่เหมาะสมสอดคล้องกับคณะของเรา ไม่ใช่ที่ขัดแย้ง” อะไรเล่าที่คิดว่าจะขัดแย้งกับคณะของเรามากกว่าการค้า?
 
3) ในกฎหมายพระศาสนจักร หมวด 88 ซึ่งสั่งให้บรรพชิตปลีกตัวจากความพยายามหรือความปรารถนาจะทำธุรกิจการค้าใดๆ ก็มีข้อความเสริมเข้าไปว่า “เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพราะสาเหตุความจำเป็นอย่างที่คนอื่นอ้าง ไม่ใช่เพราะสาเหตุที่จะได้กำไรเอามาช่วยคนยากจน” ยิ่งกว่านั้น พระสันตะปาปายังไม่อยากให้บรรพชิตทำการค้าขายไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ นักบวชพ่อค้าเอ๋ย เวลานี้เจ้าจะเอาข้อแก้ตัวหรือเหตุผลเรื่องความจำเป็นอันใดมาโต้แย้งข้าพเจ้าเล่า?
 
4) สุดท้าย แม้ว่าในกฎธรรมชาติและกฎของพระเจ้าจะไม่บังคับ ถ้าการถือตามกฎนั้นมีผลเสียหายใหญ่หลวง และมีอันตรายถึงแก่ชีวิดได้ ถึงกระนั้น ตามที่ท่านเอสโกบาร์ และ เลมัน ได้สอนไว้ว่า (คำถามที่ว่า) “บางครั้งมนุษย์มีอำนาจสั่งให้ทำหรือห้ามไม่ให้กระทำกิจการใดที่อาจจะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ไหม? (คำตอบคือ สั่งหรือห้ามได้) ถ้าการถือตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้นหวังว่าจะมีประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับรัฐ หรือถ้าหากไม่ถือตามกฎหมายนั้นแล้ว เป็นที่น่ากลัวว่าจะเกิดผลร้ายมากกว่าอันตรายถึงแก่ชีวิตส่วนตัว”และพระสังฆราชอาเบลลี (Abelly:1603-1691) พระสังฆราชแห่งโรเดนซ์ในปัจจุบันในหนังสือเกี่ยวกับกฎหมาย ตอนที่ 4 มีคำถามว่า กฎหมายของมนุษย์ ที่บังคับโดยคาดโทษเป็นบาปหนักนั้น บังคับให้ถือตามในกรณีที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือไม่ ท่านเห็นว่าต้องแยกเป็นกรณีไป ท่านกล่าวว่า“ก) หรือว่ากฎหมายนั้นอาจจะมีลักษณะว่าการถือตามมีผลดีเป็นส่วนตัวของผู้ถือกฎหมายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น กฎเรื่องการจำศีลอดอาหาร การร่วมมิสซา ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ แม้ว่ากฎหมายจะบังคับโดยคาดโทษเป็นบาปหนัก แต่ก็ไม่บังคับโดยต้องเสี่ยงว่าจะต้องเสียชีวิตหรือสุขภาพ หรือเสี่ยงกับความเสียหายหรือความลำบากอย่างหนัก เพราะขณะนั้นไม่เห็นมีเหตุผลว่าทำไมผู้ออกกฎจะต้องการบังคับให้ถือตามกฎหมายของตน โดยต้องได้รับความเสียหายและอันตรายเช่นนั้น แม้ว่าท่านผู้รู้มักจะมีข้อแม้จำกัดว่า “ขอเพียงว่าไม่มีการไม่เคารพกฎหมาย หรือไม่เป็นที่สะดุด ใหญ่หลวงเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎหมาย” ดังนั้น นักบุญออกัสตินจึงกล่าวว่า “อดอาหารตายดีกว่ากินเนื้อที่บูชาเทวรูปแล้ว นั่นคือในกรณีที่มีการเป็นตัวอย่างไม่ดี หรือเป็นการลบหลู่เหยียบย่ำศาสนา”ข) หรือว่ากฎหมายที่มนุษย์ออกนั้นมีลักษณะจำเป็นเพื่อป้องกันผลประโยชน์ส่วนรวม อย่างที่ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายนี้จะเกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมเป็นส่วนรวม ในกรณีเช่นนี้ คนเราต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ แม้จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตด้วย เพราะว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ตามเหตุผลที่ถูกต้อง ต้องมาทีหลังผลประโยชน์ส่วนรวม” 
 
บัดนี้ นักบวชพ่อค้าเอ๋ย จงใคร่ครวญข้าพเจ้าดูซิว่า คำสอนนี้มีผลตามมาอย่างไรบ้าง กฎหมายพระศาสนจักรที่ห้ามบรรพชิตและนักบวชมิให้ทำธุรกิจการค้าใดๆ นั้น บังคับโดยคาดโทษเป็นบาปหนัก เพราะกฎหมายดังกล่าวคาดโทษบัพพาชณียกรรมไว้ต่อสู้ผู้ฝ่าฝืนด้วย นอกจากนั้น การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ยังนำความเสื่อมเสียและตัวอย่างไม่ดีอย่างหนัก มาให้พระศาสนจักร ดังนั้น จึงยังคับแม้จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้ามีอันจะเป็นไปว่า (ถ้าเป็นจริงเราก็ไม่ต้องรู้สึกถึงพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าอีกต่อไป) ท่านต้อง (เลือกเอาว่าจะต้อง) ทำธุรกิจการค้าหรือว่าจะต้องอดตายแล้ว ก็น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะยอมอดตายแต่ไม่ทำธุรกิจการค้า เพื่อมิให้เกิดมีตัวอย่างไม่ดีและผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจากธุรกิจการค้าของท่าน
 
ข้อโต้แย้งประการที่สอง
เอามาจากความเห็นของเลมัน, ฟิลลิอชชี และคนอื่นที่คิดว่าบรรพชิตที่มีความจำเป็นก็ทำการค้าได้ไม่ผิด ดังนั้น นักบวชพ่อค้าจึงคิดตามเหตุผลดังนี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่นับถือทั่วไปคิดว่าทำได้ไม่ผิด ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ อันว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่นับถือทั่วไปคิดว่า บรรพชิตที่มีความจำเป็นทำการค้าได้ไม่ผิด เพราะฉะนั้น บรรพชิตจึงทำการค้าได้ไม่ผิด. แต่คำแก้ตัวเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก
 
ประการแรก บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บรรพชิตทำการค้าโดนตนเองไม่ได้เลย ไม่ว่าในกรณีใดๆ แล้วทำไมบรรพลิตและนักบวชจึงทำการค้าโดยตนเองเล่า? เท่านี้ยังไม่พอ เขายังทำการค้าสำหรับผู้อื่น และเป็นตัวแทนทำกิจการที่เกี่ยวข้องกับชาวโลกด้วย 
 
ประการที่สอง ผู้เชี่ยวชาญพวกเดียวกันคิดว่า บรรพชิตมีอนุญาตให้ทำธุรกิจการค้าได้เมื่อมีความจำเป็น ขอแต่ให้ทำธุรกิจการค้าโดยอาศัยผู้อื่น และหลีกเลี่ยงเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้การค้าของบรรพชิตไม่เป็นบาป ท่านเหล่านี้วางเงื่อนไข 3 ประการดังต่อไปนี้ 
 
1) การค้าของบรรพชิตต้องกระทำโดยอาศัยผู้อื่น
 
2) ในกรณีที่มีความจำเป็น และ
 
3) ไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น (ไม่เป็นที่สะดุดต่อผู้อื่น)
 
นักบวชพ่อค้าเอ๋ย บัดนี้จงคิดถึงเงื่อนไขทั้งสามนี้เถิด และดูซิว่าเงื่อนไขเหล่านี้มีอยู่ควบคู่กับธุรกิจการค้าของท่านหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่เถียงเรื่องความจำเป็น เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าไม่ถามเรื่องการทำธุรกิจโดยทางผู้อื่น เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าท่านเองเป็นผู้กระทำการค้าอันน่าละอายนั่น ยังเหลือเรื่องการเป็นตัวอย่างไม่ดี ซึ่งก็ยังไม่สามารถออกไปพ้นจากธุรกิจการค้าของท่านได้ ไม่ว่าท่านจะทำธุรกิจนั้นด้วยตัวเองหรืออาศัยผู้อื่น เพราะว่าการค้าของท่านนั้นทำร้ายจิตใจอย่างหนักมิใช่แต่จิตใจของคาทอลิกหรือโปรแตสตันท์ แต่ของคนต่างศาสนาด้วย และเป็นโอกาสให้มีการกล่าวร้ายและความเสียหายฝ่ายจิตใจแก่คนเป็นอันมาก เพราะมิใช่แต่ผู้ทำการค้าเท่านั้นที่เสียชื่อ แต่ทว่าคณะนักบวชและพระศาสนจักรด้วยตนเองเสียชื่อเสียงอย่างมากจากการนี้ 
 
ประการที่สาม สิ่งใดๆ ไม่ว่าที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเคยสอนเรื่องบรรพชิตที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับธุรกิจการค้า บัดนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าบรรพชิตหรือนักบวชจะทำธุรกิจการค้าโดยตนเองหรือโดยผู้อื่นก็มาได้ เนื่องจากว่า สำนักที่กรุงโรมได้กล่าวประณามลงโทษบรรพชิตหรือนักบวชที่ทำธุรกิจการค้าเช่นนี้ไว้รุนแรงที่สุดแบบนี้แล้ว
 
ข้อโต้แย้งประการที่สาม 
ได้มาจากยากอบ มาร์ติน ชาวโปรตุเกส (Jacobus Martinus Lusitanus) ซึ่งในงานเขียนเรื่องความยุติธรรมและกฎหมาย สอนว่า ธุรกิจการค้ามีอยู่ 3 ชนิด ชนิดแรกคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่อเจือจุนครอบครัวและชีวิต ชนิดที่สองคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ซื้อมาจากที่อื่น แต่ได้ใช้ความสามารถของตนเปลี่ยนสภาพ (ของสิ่งของนั้น) เป็นอย่างอื่น ชนิดที่สามคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ซื้อมาจากที่อื่นเช่นกัน แต่ไม่ได้เปลี่ยนสภาพ (สิ่งของนั้น) เป็นอย่างอื่น ทุกคนยอมรับว่าการทำธุรกิจวิธีแรกและวิธีที่สองเป็นการดี แต่การแลกเปลี่ยนวิธีที่สาม เนื่องจากทำขึ้นเพื่อหากำไร เป็นสิ่งต้องห้าม เป็นบาปหนักสำหรับบรรพชิตที่เป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ หรือสังฆานุกร และสำหรับนักบวช แม้จะไม่อยู่ในฐานะทั้งสามนี้ก็ตาม จากข้อความตอนนี้ บรรดานักบวชพ่อค้าขอยืมแนวคิดตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ “การทำธุรกิจการค้าสำหรับจุนเจือครอบครัวและชีวิตเป็นการกระทำอันน่าชม อันว่าธุรกิจการค้าของเราก็ทำขึ้นเพื่อจุนเจือครอบครัวและชีวิตเพราะ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งดีงาม และความคิดนี้ยังรับการสนับสนุนจากความคิดของนักบุญโทมัส (สังเขปเทววิทยา, ส่วนหลังของภาค 2, ปัญหา77 ประเด็น 4 ในตัวบท) ซึ่งแยกธุรกิจการค้าเป็น 2 ชนิด ท่านกล่าวว่า “ในเรื่องธุรกิจการค้าเราต้องเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนสิ่งของ การแลกเปลี่ยนมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกเป็นการแลกเปลี่ยนตามธรรมชาติและความจำเป็น คือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ เพื่อสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต และการกระทำเช่นนี้เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลบ้าน การแลกเปลี่ยนอย่างที่สองเป็นการแลกเปลี่ยนเงินทองกับเงินทอง ไม่ใช่เพื่อสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต แต่เพื่อหากำไร และนี่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับพ่อค้า การแลกเปลี่ยนอย่างแรกเป็นการกระทำที่น่าชมเพราะตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติ แต่อย่างที่สองเป็นการกระทำน่าตำหนิเพราะโดยตัวเองเป็นการตอบสนองความต้องการอยากได้กำไร แม้ว่าธุรกิจการค้านี้อาจทำโดยสุจริตและถูกต้อง นั่นคือมีจุดประสงค์เพื่อจุนเจือบ้าน (นักบวช) หรือผู้ขัดสน หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จากข้อความของนักบุญโทมัสตอนนี้ บรรดานักบวชพ่อค้าหยิบยกข้อพิสูจน์ดังนี้ ธุรกิจการค้าอันนั้นทำได้โดยไม่ผิด ถ้าทำโดยมีผลกำไรพอสมควร และผลกำไรนั้นมีจุดประสงค์สำหรับจุนเจือบ้าน (นักบวช) อันว่าธุรกิจการค้าของเราทำไปเพื่อ เพราะฉะนั้นจึงทำได้โดยไม่ผิด แต่ก็เป็นการง่ายที่จะชี้ให้เห็นจุดอ่อนของข้อพิสูจน์นี้
 
ก่อนอื่น เกี่ยวกับคำสอนของยากอบ มาร์ติน ข้าพเจ้ายินดียอมรับ แต่คู่ความของข้าพเจ้ายังไม่ได้ความบรรเทาใจที่เขาแสวงหานั้นหรอก ธุรกิจการค้าตามความหมายแรก นั่นคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของเพื่อจุนเจือครอบครัวและชีวิต เช่นเมื่อคนหนึ่งใช้เงินหรือสิ่งอื่นซื้อปลาหรือข้าวสำหรับจุนเจือชีวิตหรือครอบครัวก็เป็นการกระทำน่าชม และอาจเรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อจัดการในบ้าน แต่ไม่เป็นธุรกิจการค้าแท้ๆ ที่เรากำลังจะพิจารณากันอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้นประโยคใหญ่ของตรรกบท (Syllogism) อาจจะแยกได้ดังนี้ธุรกิจการค้าทุกอย่างที่ทำขึ้นเพื่อจุนเจือครอบครัวและชีวิตเป็นการกระทำที่น่าชม เราไม่ปฏิเสธข้อนี้ แต่นักบวชพ่อค้าได้อะไรจากนี้สำหรับป้องกันตัวเล่า?
 
เกี่ยวกับถ้อยคำของนักบุญโทมัส ข้าพเจ้ายอมรับว่าในตัวเองแล้ว ธุรกิจการค้าที่ทำไปเพื่อผลกำไรแต่พอควร เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ผิด และกำนั้นมีจุดประสงค์สุจริต เช่น เพื่อจุนเจือบ้าน (นักบวช) ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมว่า ธุรกิจการค้าอาจเป็นสิ่งต้องห้ามโดยบังเอิญ ถ้าหากว่าผู้ปกครองได้สั่งห้ามไว้ เพราะตามที่ทุกคนทราบแล้ว การกระทำบางอย่างเป็นที่ห้ามเพราะเป็นสิ่งชั่ว และการกระทำบางอย่างเป็นสิ่งชั่วเพราะมีข้อห้ามไว้ให้ทำ เพราะฉะนั้น ธุรกิจการค้าแท้ๆ ในตัวเอง ไม่เป็นการผิดสำหรับชาวโลก แต่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบรรพชิต กฎหมายพระศาสนจักรห้ามไว้ ไม่ใช่สำหรับชาวโลก แต่สำหรับบรรพชิต และคาดโทษบาปหนักไว้ด้วย คำตอบนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากคำยืนยันของนักบุญโทมัส ตามที่ได้ยกมากล่าวไว้แล้ว ซึ่งท่านแยกแยะให้เห็นธุรกิจการค้า 2 อย่าง อย่างหนึ่งเป็นธุรกิจการค้าไม่แท้ หรือเป็น (การค้า) ธรรมชาติ ส่วนอีกอย่างหนึ่งเป็นธุรกิจการค้าแท้ หรือเพื่อหากำไร เกี่ยวกับอย่างแรก นักบุญโทมัสไม่กล่าวว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบรรพชิต แต่ท่านพูดถึงอย่างที่สองที่ทำให้เกิดผลกำไร แม้ว่าผลกำไรนั้นมีพอประมาณและมุ่งสำหรับจุนเจือบ้านและชีวิต ท่านกล่าวว่า ธุรกิจการค้าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งชั่ว (ในตัวเอง) แต่เพราะมีรูปความชั่วแฝงอยู่ จะเป็นผลกำไรทางโลก หรือเพราะมันทำให้เหินห่างจากเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ
 
ข้อโต้แย้งประการที่สี่
ได้มาจากผู้ที่คิดว่างานแพร่ธรรมในดินแดนทางตะวันออก จะคงอยู่และธำรงรักษาไว้ไม่ได้ถ้าไม่มีธุรกิจการค้าของบรรดานักบวชพยุงไว้ เพราะถ้าบรรดานักบวชไม่ทำการค้า พวกเขาก็จะไม่มีปัจจัยที่จำเป็นสำหรับผูกมิตรกับพวกเจ้านาย และถ้าพวกเจ้านายเหล่านี้ไม่โปรดแล้ว ก็จะหวังผลอะไรจากการแพร่ธรรมไม่ได้ อนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่ากฎเกณฑ์ของพระศาสนจักรจะบังคับโดยที่อาจจะเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อวิญญาณในงานแพร่ธรรม แต่ทว่าข้อสรุปนี้มีควันมากกว่าแก่น
 
1) ขอให้ตัดทอนจำนวนคนรับใช้และนักบวชที่เกิดจำเป็นออกไปเสีย เพื่อให้เงินที่ใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ถูกรวบรวมมาใช้ในการบำรุงรักษางานแพร่ธรรม แล้วขอให้ฟังพระวรสารที่เตือนว่า “ก่อนอื่นต้องแสวงหาพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงเพิ่มเสริมสิ่งอื่นๆ ให้” (ลก12.31) การที่เรืออัปปางหลายครั้ง การเสื่อมเสียชื่อเสียงนานัปการที่ได้เกิดขึ้นในดินแดนทางตะวันออกนี้มาจากไหนกัน ถ้าไม่ใช่จกการเหยียดหยามพระวรสารเป็นประจำทุกวัน? นั่นคือ บรรดานักบวชแสวงหาทรัพย์สินของโลกก่อนอื่น แล้วจึงแสวงหาพระอาณาจักรสวรรค์และความรอดของวิญญาณ และผู้ที่ควรเป็นผู้ประกาศสอนกฎหมายของพระเป็นเจ้าก็กลายเป็นพ่อค้าไป โดยที่บรรดาเทวดาเองก็ยังประหลาดใจ 
 
2) แม้เราจะยอมรับว่า นักบวชพ่อค้าสามารถนำโลกทั้งโลกเข้ามาในหนทางแห่งความรอดได้ก็จริง, นักบวชอยากจะเป็นพ่อค้า และพินาศไปตลอดนิรันดรเพื่อทำให้ผู้อื่นรอดเชียวหรือ? นี่เป็นความตาบอดใหญ่หลวงอย่างแน่นอน ไม่ใช่ความรัก เพราะเราต้องไม่ทำความชั่วเพื่อจะได้ความดีจากการทำชั่วนั้น แม้ว่าธุรกิจการค้าของนักบวชพ่อค้าไม่เป็นเครื่องมือเพื่อธำรงรักษางานแพร่ธรรมเท่ากับที่เป็นอุปสรรค นั่นคือ ตัวอย่างไม่ดีที่เกิดขึ้นจากมิชชันนารีพ่อค้าย่อมไม่เสริมสร้างเพื่อนมนุษย์ แต่กลับทำให้เขาสับสนและออกห่างจากความเลื่อมใสศรัทธาไป ผู้ที่ถือว่าการค้าดีกว่าพระวรสาร ก็ไม่ประกาศพระวรสารอย่างได้ผล เขาจะชักชวนคนโลภให้มีความยากจนดูถูกทรัพย์สินได้อย่างไร ถ้าเขาเองแสวงหาความร่ำรวย? ท่านจะกล่าวว่า วิญญาณของคนต่างศาสนาจำนวนมากจะพินาศไป ถ้าบรรดานักบวชพ่อค้าไม่ช่วยเหลือ ถ้าจะให้ข้าพเจ้ายอมรับอย่างที่ท่านว่า ก็จงแสดงให้เห็นซิว่าการค้าของนักบวชมิชชันนารี เป็นเครื่องมือที่พระเป็นเจ้าหรือพระศาสนจักรกำหนดไว้สำหรับได้มาซึ่งความรอดของวิญญาณเสียก่อน
 
แน่นอน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นทั้งในพระคัมภีร์ ทั้งในข้อกำหนดของพระสังคายนา ทั้งในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ว่าบรรดามิชชันนารีได้ใช้วิธีนี้นำนานาชาติมารับความเชื่อ ท่านอัครสาวกเปาโลไม่ได้เลือกเอาวิธีนี้มาใช้สำหรับทำให้นานาชาติกลับใจ ท่านเองทำงานด้วยมือ ก็ไม่ได้คิดว่าต้องใช้วิธีนี้เพื่อนำชาวเอเชียเข้ามาหาพระคริสตเจ้า ท่านคงยินดีที่จะอดตายมากกว่าจะทำงานโดยมีผู้สงสัยแม้สักเล็กน้อยว่าท่านเป็นพ่อค้า ในที่สุดนักบุญอิกญาซิโอ เมื่อกล่าวในกฎเกณฑ์ของงานแพร่ธรรม ว่ามีวิธีการมากมายสำหรับช่วยวิญญาณ ทั้งวิธีการฝ่ายกายและฝ่ายจิตใจ ก็มิได้กล่าวถึงการค้าเลย ดังนั้น ถ้าหากว่า ทั้งพระวจนะของพระเป็นเจ้า ทั้งตัวอย่างของบรรดานักบุญไม่อนุญาตให้ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้าเพื่อจะนำวิญญาณมาให้พระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องแสวงหาวิธีการอื่นที่จะใช้นำดินแดนของผู้ไม่มีความเชื่อเข้ามารับความเชื่อ
  
ตอนที่สองพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อความที่นำมาแย้งสารตรา 
ของพระสันตะปาปาอูร์บัน (ที่ 8) นั้น ใช้ไม่ได้
เกี่ยวกับสารตราที่ว่านี้ มีข้อโต้แย้งทั้งจากผู้ที่ไม่ยอมรับสารตรา ทั้งจากผู้ที่ยอมรับ แต่จะเป็นการง่ายมากที่จะทำให้ทุกคนที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมมีความพอใจ
 
ข้อโต้แย้งประการแรก
ได้มาจากผู้ที่คิดว่าสารตราของพระสันตะปาปาอูร์บัน (ที่ 8) นี้ยังไม่ได้มีการประกาศและยอมรับ ดังนั้นตนจึงไม่มีพันธะจะต้องปฏิบัติตาม (สารตรานี้)ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยหลักการที่ว่าไม่มีใครต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่ตนยังไม่รู้ ในเมื่อสารตรานี้ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับนักบวชพ่อค้าหลายคน เพราะฉะนั้น เขาเหล่านั้นจึงไม่มีพันธะจะต้องปฏิบัติตาม เพราะว่า หรือว่าเขายังไม่รู้กฎหมายนั้น หรือเพียงแต่สงสัยเท่านั้น แต่ข้อโต้แย้งประการนี้ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ตอน ก็ตอบโต้ได้โดยง่าย
 
ประการแรก เกี่ยวกับการประกาศสารตราฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอตอบพร้อมกับท่านเอสโกบาร์ (ผลงาน 1, ปัญหา 1, บทที่ 12, ข้อ 105) ว่าข้อกำหนดของพระสันตะปาปานั้นประกาศที่กรุงโรม ก็เพียงพอแล้ว ผู้เขียนท่านนี้กล่าวไว้ในที่เดียวกัน (บทที่ 3 เรื่องกฎหมายพระสันตะปาปา)ว่า“สำหรับ การประกาศกฎหมายนั้นเป็นการเพียงพอแล้ว ที่กฎหมายนั้นออกในสำนักงานกลางที่กรุงโรม (Curia Romana) เพื่อให้พันธะที่จะต้องถือกฎหมายนั้นครอบคลุมไปทั่วทุกแห่ง เท่าที่ปฏิบัติกันมา มีข้อกำหนด ให้กฎหมายของพระสันตะปาปาได้รับการประกาศในสำนักงานกลางที่กรุงโรมเท่านั้น” ในบทที่ 12 ต่อปัญหาที่ว่ากฎหมายของพระสันตะปาปา เพื่อจะมีผลบังคับใช้ทั่วโลก ต้องมีการประกาศไปทั่วโลกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า กฎหมายที่ยกเลิกสัญญาไม่มีผลบังคับ (ถ้าเพียงแต่ประกาศที่กรุงโรม) แต่ข้อกำหนดใหม่ๆ อย่างอื่นมีผลบังคับทันทีที่มีการประกาศที่กรุงโรม  เพราะฉะนั้นพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 4 ในสารตราของพระองค์จึงบังคับ(คริสตชน)ทั่วโลกถือตาม(ข้อกำหนดของ)พระสังคายนาที่เมืองเตร็นท์หลังจากการประกาศที่กรุงโรม พระสังฆราชอาแบ็ลลี (Abelly)(ในตอนที่ 3 เกี่ยวกับกฎหมาย) ถามว่ากฎหมายเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เมื่อไหร่ ท่านตอบว่า “ถ้าเป็นปัญหาเรื่องผลบังคับทั่วไป ซึ่งกฎหมายของมนุษย์ย่อมมีอยู่กับตัวเสมอในฐานะที่เป็นกฎหมายก็ต้องกล่าวว่ากฎหมายเริ่มมีผลบังคับเมื่อถือได้ว่าได้ประกาศอย่างเพียงพอและถูกต้องแล้ว เมื่อได้รับประกาศในสำนักงานกลางของเจ้านายนั้นๆ แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื่องผลบังคับของรายละเอียดข้อใดข้อหนึ่ง สำหรับปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ก็ต้องกล่าวว่า สำหรับการนี้ต้องให้กฎหมายนั้นเป็นที่รู้หรืออาจเป็นที่รู้ได้แก่ (ผู้เกี่ยวข้อง)คนนั้น มิฉะนั้นแล้ว ตราบใดที่ (ผู้เกี่ยวข้อง)ยังไม่ทราบว่ากฎหมายเช่นนั้นได้ออกมาแล้วโดยที่มิใช่ความผิดของตัว เขาก็ไม่มีพันธะอันใดเลยที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้น และถ้าเขาฝ่าฝืนกฎหมาย เขาก็ไม่ทำผิด” แต่ทว่า เป็นที่แจ้งชัดว่าสารตราของพระสันตะปาปาอูร์บัน (ที่ 8) ได้ประกาศแล้วที่กรุงโรมและในที่อื่นๆ ยังมีอะไรขาดอยู่อีกเล่าสำหรับการประกาศที่ถูกต้องอย่างแท้จริง? 
 
2) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับสารตรานี้ หลายคนกล่าวว่ากฎหมายนี้ไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน แต่มีอำนาจบังคับอำนาจอันชอบธรรมของผู้ออกกฎหมาย แม้ว่าความเห็นของทุกคนจะต้องยอมรับว่า ผู้อยู่ให้บังคับที่ไม่ยอมรับกฎหมายที่ยุติธรรมของผู้ปกครอง ย่อมมีความผิด แต่ขอเราฟัง (ความเห็น) ของท่านเอสโกบาร์ (ผลงานที่ 1, ปัญหา 1, บทที่ 3, ข้อ 2) ท่านกล่าวว่า “กฎหมายได้ชื่อว่าเป็นที่ยอมรับแล้ว เมื่อหมู่คณะส่วนใหญ่ปฏิบัติสิ่งที่กฎหมายนั้นบังคับ หรือยอมรับกฎหมายนั้นด้วยคำพูดหรือข้อเขียนหรืออย่างน้อยโดยไม่คัดค้าน ถึงกระนั้นผู้ปกครองที่ยังชอบธรรมยังสามารถออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ที่มีผลบังคับใช้อยู่ใต้ปกครองที่กระด้างกระเดื่อง ทั้งนี้โดยไม่ขึ้นกับการยอมรับ (กฎหมาย) ของพวกนี้ด้วย มิฉะนั้นแล้วความเจ็บปวดของประชาชนก็คงจะมีความรุนแรงมากกว่าความสามารถของผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนนายแพทย์ที่จะเยียวยา
 
บัดนี้ ขอให้เรากลับมาพูดถึงสารตราของพระสันตะปาปาอูร์บัน (ที่ 8 ) อีกครั้งหนึ่ง สารตราฉบับนี้ออกไปเมื่อปี ค.ศ. 1633 และเป็นที่ยอมรับในราชอาณาจักรต่างๆ ของสเปน ในสมัยที่โปรตุเกสยังอยู่ในปกครองของสเปน เพราะฉะนั้นมีอุปสรรคใดเล่าที่สารตราฉบับนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับในราชอาณาจักรโปรตุเกสด้วย หรือถ้าหากว่าสารตราฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในบรรดาราชอาณาจักรโปรตุเกส ทำไมท่านกวินตัดเวนา ชาวโปรตุเกสจึงอ้างถึง (สารตรา) ฉบับนี้ในหนังสือ Singularibus ของท่าน เพื่อพิสูจน์ว่าการค้าใดๆ ไม่ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับนักบวช ในฐานะบาปหนักด้วยเล่า 
 
3) ที่สุด ในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่ทราบถึงสารตราฉบับนี้ ข้าพเจ้าเกรงว่า ประโยคในพระคัมภีร์ข้อนี้จะตกใส่นักบวชพ่อค้าเอาด้วย คือประโยคที่ว่า “เขาไม่อยากเข้าใจสำหรับการกระทำการดี” นี่เป็นความไม่รู้ที่นักเทววิทยาจริยะเรียกว่า “จงใจ” (affectata) ซึ่งไม่สามารถลดหย่อนความผิด (ของจำเลย) ให้พ้นจากเป็นบาปได้ ท่านมาร์ติน เดอ อัสปีลกูเอตา (นักกฎหมายมีชื่อชาวนาวาร์ 1492 -1586) ในหนังสือบทที่ 23 ข้อ 45 กล่าวว่า “ความไม่รู้ที่จงใจ หรืออยากไม่รู้นี้มีขึ้นเมื่อผู้หนึ่งไม่รู้สิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ เพราะเขาไม่ต้องการจะรู้ เพื่อจะได้ทำบาปได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่มีมโนธรรมติเตียน หรือเพราะสาเหตุอื่นที่ไม่ถูกต้อง ความไม่รู้เช่นนี้ไม่ลดหย่อยความผิดหรือทำบาปให้เบาลง แต่จะยิ่งเพิ่ม (ความผิด) ให้หนักขึ้นอีก เพราะมีสัญลักษณ์ของความปรารถนาทำผิดด้วย” ท่านเลมันกล่าวไว้ในหนังสือเล่ม 1 ภาค 2 บทที่ 4 ข้อ 5 “ความไม่รู้ที่จงใจมีขึ้นเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งจงใจต้องหารจะไม่รู้ และไม่แสวงหาความจริง หรือว่าเนื่องจากเกียจคร้านที่จะเรียนรู้ หรือว่าเพื่อสามารถหาข้อแก้ตัว หรือเพื่อทำบาปไปได้สะดวกขึ้นจากความไม่รู้ว่ามีกฎห้ามไว้” จากข้อความดังกล่าวจึงพออนุมานว่าเขาเหล่านี้ไม่สามารถพ้นจากบาปไปได้ คือผู้ที่ๆ ไม่รู้สิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ และผู้ที่ไม่รู้จักสารตรา (ของพระสันตะปาปาฉบับนี้) เพราะว่าเขาต้องการจะไม่รู้ บรรดานักบวชพ่อค้าไม่สามารถพ้นจากความผิดไปได้ ถ้าเขากล่าวว่า เขาไม่รู้เรื่อง หรือสงสับเกี่ยวกับสารตราฉบับนี้ เพราะสารตราฉบับนี้ออกมาตั้ง 30 ปีแล้วจึงมีผลบังคับใช้พวกเขาหลังเวลาระยะหนึ่ง ซึ่งเมื่อพ้นไปแล้ว เขาจะไม่รู้ไม่ได้เลย ถ้าเขายังสงสัยเกี่ยวกับสารตราฉบับนี้อยู่อีก ขณะที่มโนธรรมของเขายังสงสัยอยู่นี้ เขาทำการค้าไม่ได้ เพราะพวกเขายังมีพันธะให้ใช้ความเอาใจใส่แสวงหาความจริงอีกด้วย อย่างที่ท่านเอสโกบาร์สอนไว้ใน ปัญหา 3 บทที่ 5 “ผู้ที่ทำกิจการโดยที่ยังสงสัยว่ากิจการนั้นทำได้หรือไม่ในขณะนี้ เขาก็ผิดนั้นคือมีบาปแบบเดียวชนิดเดียวกับเรื่องที่เขาสงสัยอยู่นั้น เพราะผู้ที่ทำกิจการโดยสองจิตสองใจ ก็วางตัวในอันตรายที่จะทำผิด”
 
ข้อโต้แย้งประการที่สอง
ได้มาจากผู้ที่คิดว่า พระสันตะปาปาอูร์บัน หรือพระสันตะปาปาองค์ต่อๆ มา ได้อนุญาตให้แก่แขวงที่ญี่ปุ่นทำการค้าได้เพื่อประโยชน์ต่องานแพร่ธรรม และสารตราของพระสันตะปาปาอูร์บันฉบับนี้ไม่ได้ยกเลิกอภิสิทธิ์ที่คณะเยซุอิตเคยมีเพื่อทำการค้า แต่ความเข้าในผิดประการนี้ ข้าพเจ้ายังสามารถลบล้างได้โดยคำพูดไม่กี่คำ
 
ประการแรก ไม่มีอภิสิทธิ์หรือข้อยกเว้นใดเลยเกี่ยวกับสารตราฉบับนี้ ในเมื่ออัคราธิการของคณะเยซุอิต เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ห้ามนักบวชทุกคน อาศัยอำนาจเรียกร้องความนบนอบเชื่อฟัง ไม่ให้ทำธุรกิจการค้า นอกจากนั้น พระสันตะปาปาหลายพระองค์ได้เคยบ่นอยู่บ่อยๆ เรื่องพ่อค้าของคณะ (เยซุอิต) จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า (พระสันตะปาปาเหล่านี้) ได้รับรองอภิสิทธิ์ของคณะ (เยซุอิต)  มีผู้กล่าวว่าพระสันตะปาปาส่งเรือบรรทุกสินค้าไปที่นั่นได้ แต่ใครจะว่าอะไรเกี่ยวกับอภิสิทธิ์นั้น ก็เป็นที่แน่ชัดมาแต่ต้นว่าไม่มีเรือของคณะลำใดแล่นใบไปที่นั่น ดังนั้น คณะจะมีอภิสิทธิ์ข้ออ้างอันใดเล่าที่จะอนุญาตให้ส่งเรื่อไปยังแคว้นอื่นๆ และทำการค้าที่น่ารังเกียจยิ่งนี้มรที่ต่างๆ หลายแห่ง
 
2) การกล่าวว่า ในสารตราไม่มีการยกเลิกอภิสิทธิ์ (ที่เคยให้ไว้แล้ว) นั้น ก็ไม่เป็นความจริงอีก จนดูเป็นเรื่องแปลกที่ผู้อ่านสารตรานี้แล้วจะนำมาแย้งได้ จงมองดูตอนปลายของข้อกำหนดของพระสันตะปาปาแล้วท่านจะเห็นอย่างชัดแจ้งว่า พระสันตะปาปาอูร์ยันได้ทรงยกเลิกอภิสิทธิ์และอนุญาตทั้งสิ้นที่ตรงกันข้ามกับข้อกำหนดนี้โดยสิ้นเชิง
 
ข้อโต้แย้งประการที่สาม
มักจะถูกยกมาอ้างโดยผู้ที่ต้องการปัดท่าทีความไม่เชื่อฟังและความผิดออกไปให้พ้นจากตัว แม้จะยอมรับว่าธุรกิจที่ตนทำธุรกิจการค้า และนี่เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ยังกล่าวว่าตนกระทำได้โดยผู้ใหญ่อนุญาตให้ทำ และทำไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัว แต่ในนามของคณะหรือของเพื่อคนใดคนหนึ่ง พวกเขาต้องสมมุตว่าผู้ใหญ่ของตนคงไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลและพระวินัยของคณะแต่ทว่าการเลี่ยงอันนี้ไม่มีอะไรนอกจากเงาของการป้องกันตัว (นั่นคือ ป้องกันตัวไม่ได้ - ผู้แปล)
 
ประการแรก ใครเล่าจะเชื่อว่าผู้ใหญ่ของคณะอยากทำผิด โดยเฉพาะในเรื่องหนักเช่นนี้ โดยขัดกับสารตราจองพระสันตะปาปา ที่สั่งกำชับผู้ใหญ่ทุกคนอย่างเคร่งครัดโดยกำหนดโทษถึงบัพพาชนียกรรม ถอนสิทธิออกเสียงและรับเลือกตั้ง และไร้ความสามารถที่จะรับหน้าที่หรือตำแหน่งใดๆ เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้เอาใจใส่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว และจะได้ดำเนินการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษที่กำหนดไว้
 
2) บรรดาผู้ใหญ่มิใช่แต่ไม่ยอมอนุญาตเช่นรี้เท่านั้น แต่ยังเคยใช้อำนาจความนบนอบห้ามอยู่บ่อยๆ ไม่ให้นักบวชทุกคนทำการค้าอีกด้วย และดังนี้ พวกนักบวชพ่อค้าจะคุยโวว่าตนได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ให้ทำการค้าได้อย่างไรเล่า?
 
3) นอกจากนั้น ประมุขผู้ปกครองยังไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อยู่ใต้บังคับมากกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่ได้ เขาเองก็ไม่มีอำนาจทำธุรกิจการค้า เพราะต้องเชื่อฟังอำนาจและคำสั่งของพระสันตะปาปา เพราะฉะนั้น เขาจะให้อำนาจนั้นแก่ผู้อยู่ใต้อำนาจไม่ได้ และถ้าหากเขาได้มอบอำนาจไป อำนาจนั้นก็คงเป็นการไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นจึงมีการกล่าวไว้ใน   พระวินัย ภาค 9 บทที่ 3 ข้อ 9 ว่า “อัคราธิการมีอำนาจทุกอย่างในดินแดนมิสซัง กระนั้นก็ดี อำนาจเหล่านี้ต้องไม่ขัดกับคำสั่งจากสันตะสำนักแต่อย่างใด”
 
4) ถ้าเป็นความจริงว่าไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดของคณะ (เยซุอิต) สามารถอนุญาตทำธุรกิจการค้าได้ ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงแน่นอน ถ้าหากผู้ใหญ่ให้อนุญาตเช่นนี้ละก็ จะสามารถสมมุติได้อย่างไรกันว่าท่านกระทำตามเหตุผลและกฎเกณฑ์ของคณะ? ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะสั่งให้นักบวชคนหนึ่งทำการค้า นักบวชผู้นั้นก็คงจะไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งนี้ เพราะนักบุญอิกยาซิโอสอนไว้ว่า เป็นการผิดที่จะเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่สั่งให้ทำในสิ่งที่เป็นบาปชัดเจน
 
ข้อโต้แย้งประการที่สี่
ผู้ยกมาอ้างคือพวกที่คิดว่าตนมีอนุญาตให้ตีความสารตราได้ เพราะฉะนั้นจึงเสนอการตีความต่างๆ เพื่อจะได้พ้นจากพันธะความนบนอบเชื่อฟังที่ตนต้องมีต่อพระสันตะปาปา พวกนี้กล่าวว่าสารตราลงโทษเฉพาะนักบวชที่ทำธุรกิจการค้าอย่างเปิดเผยและอื้อฉาวเท่านั้น ส่วนตนเองนั้นก็หลีกเลี่ยงการอื้อฉาวได้ เพราะทำการค้าโดยใช้คนรับใช้หรือเพื่อสูง และทำเวลากลางคืน แต่ทว่าการเลี่ยงอย่างนี้และที่คล้ายๆ กัน น่าจะตอบโต้ได้ไม่ใช่อาศัยคำพูดเท่านั้น แต่น่าตะใช้หวายโบยเสียด้วย
 
ประการแรก “ไม่มีสิ่งใดที่ปิดอยู่ ที่จะไม่ถูกเปิดเผย” และสิ่งที่พวกพ่อค้าเหล่านี้คิดว่าซ่อนอยู่ในความมืด ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนกล่าวถึงพลางหัวเราะเยาะและดูถูกอย่างมาก 
 
2) ถ้าหากว่าการตีความกฎหมายทำได้ตามใจ ผู้ออกกฎหมายก็จะสูญเสียผลงานของตนและกฎบัญญัติทั้งของมนุษย์และของพระเป็นเจ้าก็จะถูกละเมิดโดยไม่มีบาป เพราะจะเป็นการง่ายมากที่จะเลี่ยงกฎหมาย และใช้การตีความที่อ่อนปรับกฎเหล่านี้เข้ากับความต้องการของตน
 
3) ในที่สุด ไม่ใช่ใครก็ได้ทีอนุญาตให้สามารถตีความสารตราของพระสันตะปาปาได้ เพราะมีคำกล่าวว่า “ถ้าหากมีการถกเถียงกันเกิดขึ้นระหว่างนักบวชคณะดังกล่าว (ซึ่งขอพระเป็นเจ้าโปรดอย่าให้เกิดขึ้นเลย) ก็ให้พระสังฆราชของสถานที่ดังกล่าวซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้แทนสันตะสำนัก ตัดสินชี้ขาดปัญหาขัดแย้งดังกล่าว ถ้าหากมีปัญหาหนักขึ้นกว่านี้เกิดขึ้น ก็ให้พระสังฆราชนั้นนำเรื่องขึ้นมาหาเราหรือพระสันตะปาปาผู้สืบตำแหน่งของเราโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ปรึกษาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จัดให้มีการตัดสินและออกข้อกำหนดที่ควรจะทำในเรื่องนี้ต่อไป.
 
สรุป
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นที่แน่ชัดว่า ไม่มีนักบวชคณะเยซุอิตคนใดสามารถทำธุรกิจการค้าหรือเข้าไปพัวพันกับธุรกิจทางโลกได้ ไม่ว่าด้วยตัวเอง หรือโดยผู้อื่น ไม่ว่าในนามของตัวเองหรือของคณะ ไม่ว่าโดยวิธีหรือข้ออ้างอันใด และเขาผู้นั้นซึ่งทำกิจการอันไม่สมควรนี้ไม่สามารถแก้ตัวจากความผิดหนักยิ่งได้ แน่นอนทีเดียว เป็นการกระทำที่อื้อฉาวมากที่จะเห็นพระสงฆ์และนักบวชในแดนมิสซังจำนวนมาก อย่างนี้มีความสนใจน้อยมากเกี่ยวกับพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า แต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องไร้สาระและผลกำไรทางโลกเช่นนี้ จนกระทั่งเราอาจจะกล่าวถึงคนใดคนหนึ่งในจำนวนพวกเหล่านี้โดยไม่ร้องไห้ไม่ได้ อย่างที่ครั้งหนึ่งนักบุญเบอร์นารด์ได้เขียนถึงเฮนรี อัครสังฆราชแก่งเมืองซังส์ (Sens) ที่ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลกที่เปื้อนหมองว่า “ท่านพระสงฆ์ ของพระเป็นเจ้า ท่านทำดังนี้เพื่อทำความพอใจให้ใครกัน? ให้ชาวโลกหรือให้พระเป็นเจ้าพอใจ? ถ้าทำให้โลกพอใจ ก็เป็นพระสงฆ์ทำไม? ถ้าทำให้พระเป็นเจ้าพอพระทัน ทำไมพระสงฆ์จึงทำตัวเหมือนประชาชนเท่าไปเล่า” ท่านนักบวชพ่อค้าทั้งหลาย บัดนี้ พวกท่านคนไหนเป็นนักบวชพ่อค้าบ้างเล่า? จนถึงบัดนี้ พวกท่านได้ผลประโยชน์อะไรจากธุรกิจการค้าบ้างเล่า? การค้าของท่านได้บังเอิญเกิดวิญญาณให้แก่พระคริสตเจ้ามากเท่าไรแล้ว? นักบุญออกัสติน ครั้งหนึ่งได้พูดถึงผู้ทีประหารพระคริสตเจ้า กล่าวว่า “พวกนี้กลัวว่าจะสูญเสียสมบัติทางโลก ไม่คิดถึงชีวิตนิรันดร และดังนี้ก็สูญเสียไปทั้งสองอย่าง” จริงอยู่ต้องกลัวว่าข้อความที่เหมือนกันเช่นนี้จะกล่าวได้ถึงหลายคนที่ทำงานในสวนองุ่นของพระเจ้า พวกเขากลัวจะสูญเสียทรัพย์สินทางโลก และไม่คิดถึงความรอดของวิญญาณ และดังนี้เขาก็สูญเสียทั้งสองอย่าง “พระเจ้าทรงง้างคันธนูของพระองค์อย่างศัตรู” อยู่แล้ว และทรงยอมให้วิญญาณและมิสซังจำนวนมากเสียไปเป็นโทษความโลภของพวกท่านแล้ว แต่บัดนี้ พวกท่านจงรับคำแนะนำทีดีกว่าเถิด และอย่ายึดความจริงของพระเป็นเจ้าในความยุติธรรมไว้เลย พระเป็นเจ้าได้ทรงแกพวกท่านไว้ไม่ใช่สำหรับทำการค้าขาย แต่สำหรับพระวรสาร ในที่สุดตั้งแต่บัดนี้ไป พวกท่านจงแสดงตัวเป็นผู้กระทำสิ่งที่ผู้ประกาศพระวนสารต้องทำ โดยที่สวรรค์ปรบมือให้ด้วยความชื่นชมยินดีเถิด.