จดหมายของคุณพ่อโทมัส วัลกวาร์เนย์รา ถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ

 

จดหมายของคุณพ่อโทมัส วัลกวาร์เนย์รา

ถึง สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ


มาเก๊า- วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1673

 

กราบเรียน  บรรดาพระคาร์ดินัลที่เคารพอย่างสูง

การที่ (ข้าพเจ้า) ไม่ได้เขียนจนถึงเวลานี้มีสาเหตุไม่ใช่เพราะไม่มีเรื่องราวจะเขียนหรือเพราะขาดความไว้วางใจต่อสมณกระทรวงนี้ ท่านพระคาร์ดินัลที่เคารพยิ่ง แต่เพราะข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีของมิสซังได้มาถึงฯพณฯทั้งหลายแล้วจากหลายทาง โดยเฉพาะหลังจากที่พระสังฆราชและพระสงฆ์จากประเทศฝรั่งเศสได้มาถึงดินแดนทางภาคตะวันออกนี้ ท่านเหล่านี้ดูเหมือนจะมีความกระตือรือล้นอย่างมากในการเขียนจดหมาย (รายงานถึสมณกระทรวงที่กรุงโรม) แต่เนื่องจากว่า ข้าพเจ้าจับได้ว่าความกระตือรือล้นที่ว่านี้ดูจะ ผลีผลามไปหน่อย ที่พวกเขา (พระสังฆราชและพระสงฆ์ฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศ – ผู้แปล) รับเอาบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วน และรับคำบอกกล่าวจากผู้ที่ไม่สู้จะเห็นด้วยนักกับคณะของเราที่ทำงานในมิสซังแถบนี้ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องปกป้องชื่อเสียงของคณะของเรา และปกป้องคำสอนที่ถูกต้องที่สอนอยู่ในมิสซังเหล่านี้ที่บรรดาคุณพ่อของเราได้ตั้งขึ้น ข้าพเจ้ามีหน้าที่เช่นนี้จากตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรก ในฐานะผู้ตรวจการแขวงญี่ปุ่นนี้ และในฐานะรองเจ้าคณะแขวงจีน ซึ่งมีหน้าที่จะรายงานทุกสิ่งทุกอย่างต่อพระเป็นเจ้าและต่อมนุษย์เกี่ยวกับกลุ่มคริสตชนที่ตนได้รับมอบหมายให้ดูแล ตำแหน่งทีสอง ในฐานะผู้ทำงานมานานปีในราชอาณาจักรสยาม และอธิการของสำนักที่นั่น (คุณพ่อวัลกวาร์เนย์ราเข้ามาอยู่ในประเทศสยามตั้งแต่ปี 1665 เพื่อดูแลคริสตชนชาวญี่ปุ่นในค่ายของพวกเขา)
 
เกี่ยวกับเรื่องราวในสยาม ข้าพเจ้าขอเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าและกับพระสังฆราชแห่งเบริธ เมื่อท่านสังฆราชองค์นั้นมาถึงประเทศสยาม ข้าพเจ้าก็ได้ออกจากบ้านไปพบกับท่านในทันที ข้าพเจ้าอ้อนวอนท่านให้ไปที่วัดซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งได้วางรากฐาน และให้ไปพักที่บ้านพักของเรา หลังจากที่อ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน ท่านก็ทำตามคำขอร้องของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็มีความยินดีต้อนรับท่านเป็นเครื่องหมายแสดงความใจกว้าง แต่พอมาอยู่ได้สักหน่อย ท่านก็ย้ายจากบ้านของเราไปยังบ้านของคนหนึ่งโดยฉับพลัน ท่านได้แสดงความไม่พอใจอะไรไม่ทราบต่อการกระทำของพวกเรา และพยายามหนีให้ไกลที่สุดจากบ้านของเราไปอยู่ในค่ายของพวกโคชินจีน ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยไปสอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้ ในที่สุด พระสังฆราชแห่งเบริธก็ได้เกิดเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวและการทำงานของคณะ (เยซุอิต) ในดินแดนแถบนี้ ถึงกับได้ประณามวิธีการดำเนินชีวิต วิธีสอนและประกาศพระวรสารของเราอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณะ แต่ต่อมาเมื่อ พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส (พระสังฆราช ฟรังซัว ปัลลือ) ได้บังคับ ท่านก็ได้ถอนคำและขอโทษข้าพเจ้าสำหรับเรื่องราวทั้งหมด และต้องรับรองเรื่องต่างๆ เหล่านี้ในวัดของเรา เมื่อท่านได้มาโปรดศีลกำลังให้เด็กๆ ที่นั่น แต่หลังจากที่ พระสังฆราชปัลลือออกจากประเทศสยามไปแล้ว ท่านก็กลับไปมีลักษณะใจร้อนแบบเก่าอีก มาสอบสวนเกี่ยวกับพวกเราหลายเรื่อง โดยมีจิตใจชนิดที่ว่า   พระเป็นเจ้าทรงเป็นพยานและผู้ตัดสินได้ ท่านถือว่าทุกสิ่งเป็นจริงเป็นจังปะปนกันไปหมด ไม่ว่าคนเล่าจะเป็นคนหวังร้ายหรือเป็นมิตร เป็นคนโง่หรือฉลาด (ข้าพเจ้าขออ้างเอาพระเป็นเจ้าเป็นพยานอย่างเปิดเผย ใครๆ ก็รู้ว่าท่านทำเช่นนี้เป็นประจำ) ในบรรดาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ มีการใส่ความไม่ใช่เล็กน้อย หรือความผิดซึ่งท่านกล่าวหาพวกเราจากการที่มีบางคนมาฟ้องเป็นการเท็จ นั่นคือ การที่บรรดาคุณพ่อที่สำนักประเทศสยามนี้ทำการค้า ซึ่งเรื่องนี้ คุณพ่อเอมมานูเอล โรดริเกส เจ้าคณะแขวงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนหนักแน่นและมีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ทำการสอบสวนอย่างถี่ถ้วนแล้ว พบว่าไม่เป็นความจริงเลย แต่เนื่องจากความเท็จส่วนใหญ่มักจะมีอะไรที่เหมือนจริงอยู่บ้าง เรื่องนี้จึงเป็นการใส่ความกันเท่านั้น (เรื่องมีอยู่ว่า) มีพ่อค้าคนหนึ่งได้ถึงแก่กรรมไป โดยทำพินัยกรรมขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กำหนดให้บ้านที่พักของคณะของเราในประเทศสยาม เป็นทายาทรับมรดกของเขาเพื่อตั้งเป็นสำนักฝึกอบรมนักบวช แต่ทรัพย์สินที่เป็นมรดกทั้งหมดนี้ เป็นสินค้าที่ต้องรวบรวมจากท่าเรือต่างๆ ที่อยู่ห่างกันในภาคตะวันออกนี้ การติดตามเก็บหรือรวบรวมสินค้าเหล่านี้ และการขาย (เพราะสำนักนักบวชมิได้สร้างด้วยสินค้า แต่ด้วยเงินที่ได้มาจากสินค้าเหล่านี้) นี่แหละ ท่านสังฆราชแห่งเบริธ เรียกว่า “การค้าขาย” ถ้าการทำเช่นนี้เป็นการค้าขาย การที่ผู้หนึ่งละทิ้งเครื่องใช้ไม้สอยสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ เป็นมรดกไว้ให้แก่สำนักนักบวชหรืออารามแห่งใดแห่งหนึ่ง และข้าวของเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นประโยชน์สำหรับบรรดานักบวชได้ การที่จะขายสิ่งของเหล่านี้เปลี่ยนมาเป็นเงินทองซึ่งใช้ได้ตามสะดวก ก็เป็นสินค้าด้วยซิ ซึ่งเป็นความเท็จอย่างยิ่ง เพราะใครๆ เขาก็ทำกันทั่วไป และไม่มีใครข้องใจอะไร ทั้งในยุโรป และทุกแห่งทั่วโลก ข้าพเจ้าขอเสริมอีกว่า ในเมื่อข้าพเจ้าและผู้รอบรู้ทั้งหลาย   แม้กระทั้งผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายเพียงเล็กน้อย ก็ทราบดีว่ากองทุนของสำนักนักบวช อาราม หรือวัดใดวัดหนึ่ง จะเอาไปเสี่ยงกับการสูญเสียไม่ได้ แม้มีหวังจะมีกำไรบ้างก็ตาม จะเป็นไปได้อย่างไรที่ข้าพเจ้าจะเสี่ยงทำการค้า โดยหวังจะมีกำไรมาเพิ่มกองทุนของสำนักที่กรุงสยามนี้ในเมื่อธุรกิจการค้าทั้งหลายและโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกนี้ล้วนเสี่ยงอันตรายนานัปการ และผลที่จะออกมาก็ไม่แน่นอนเลย เเต่เพื่อจะเปลี่ยนเรื่องจากการค้าขายในกรุงสยามที่ไม่มีจริงนี้ ไปพูดถึงการค้าขายจริงๆ ของทั่วทั้งแขวง (ญี่ปุ่นและจีน) ข้าพเจ้าก็กล่าวว่านี่เป็นการป้องกันตัวจากการใส่ความทั้งหลายด้วย 
 
ไม่มีนักบวชของคณะของเราคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะอยู่ตามวิทยาลัย หรือในมิสซัง ไม่มีผู้ใหญ่ ผู้ตรวจการ เจ้าคณะแขวง หรืออธิการคนใด ทำการค้าใด นอกเหนือจากธุรกิจเกี่ยวกับวิญญาณเพื่อได้วิญญาณเหล่านั้นเป็นกำไรให้แก่พระคริสตเจ้า ซึ่งก็มีโทษหนักมากวางไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎนี้อยู่แล้ว เนื่องจากความจำเป็นตั้งแต่โบราณมาแล้ว โดยที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอนุญาตและรับรองรวมทั้งพระเจ้ากรุงสเปน ซึ่งเวลานั้นทรงครองประเทศโปรตุเกสด้วย (สมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้ากรุงสเปน)ได้กำหนดเงินจำนวนหนึ่งไว้ที่จำเป็นสำหรับจุนเจือผู้ทำงานในสวนองุ่นของพระเจ้า (ในงานพระศาสนา) มีแต่เหรียญเหรัญญิกประจำแขวงแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่จะจัดการทรัพย์สินจำนวนนี้ได้ ไม่ใช่อธิการบ้านหรือสำนัก แต่พวกเขาเหล่านี้เคยรับเงินใช้จ่ายประจำปีตามความจำเป็นของตนแต่ละแห่งจากเหรัญญิก เพราะฉะนั้น บรรดานักบวชทุกคนของเราในแขวงปกครองนี้ล้วนแต่ถือกฎเรื่องความยากจนไม่น้อยกว่าสมาชิกคนอื่นในทวีปยุโรปนอกจากว่าต้องทนความยากลำบากมากกว่า ซึ่งเป็นผลตามมาของการนี้ (คือการมาสู่ในแดนมิสซัง) นอกจากนี้แล้ว พวกเขาทุกคนไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและการค้าขายเลย
 
เมื่อกล่าวถึงคุณพ่อเหรัญญิก เราอาจถามได้ว่าการค้าขายหรือธุรกิจการค้าของท่านเป็นการค้าขายหรือธุรกิจการค้าจริงๆ ที่กฎหมายพระศาสนจักรห้ามไว้ และไม่เหมาะสมกับคนของพระศาสนจักรหรือนักบวชหรือไม่ ข้าพเจ้าขอตอบว่า “ไม่ใช่” ประการแรก เพราะ (การทำเช่นนั้น) ไม่ใช่สำหรับเพิ่มทรัพย์สินและไม่ใช่เพื่อหากำไร ให้เราได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะทุกๆ วันพวกเราก็มีความลำบากเนื่องจากความขัดสนสิ่งของต่างๆ อย่างมากเช่นเดียวกับคนอื่น ประการที่สอง เพราะว่าเมื่อต้องประสบกับความจำเป็น เราไม่สามารถพบเห็นวิธีอื่นใดเพื่อจุนเจือผู้ทำงานในมิสซังได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นเมื่อพระศาสนจักรในญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรือง เรื่องนี้ที่กรุงโรมบรรดานักเทววิทยาที่มีชื่อก็ได้ถกเถียงกันแล้วและประกาศว่าทำได้ ผู้ทำงานในสวนองุ่นของพระเจ้า (มิสซังในญี่ปุ่น) มีนักบวชของเราจำนวน 130 คนอยู่ในบ้านพัก 120 แห่ง และดูแลวัดถึง 150 แห่ง ได้มีความสำเร็จในด้านจิตใจเป็นอย่างมากตามที่เป็นที่รู้กันทั่วโลก ยังมีหนุ่มจากตระกูลสูงชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในสามเณราลัยด้วย บุคคลทั้งหมดนี้ทางคณะต้องเลี้ยงดูจากค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ที่รวบรวมได้จากประเทศญี่ปุ่น แต่ส่งมาจากที่อื่น เมื่อเห็นดังนี้ เจ้าเมืองมาเก๊า ซึ่งมีความร้อนรนประจำตัวที่จะเผยแพร่ความเชื่อ ได้ใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่ามีแต่โดยทำการค้าเท่านั้น จึงจะสามารถรวบรวมเงินค่าใช้จ่ายจำนวนนั้นได้ เขาจึงได้ให้อนุญาตแก่บรรดาคุณพ่อของแขวงของเขาที่จะค้าขายผ้าไหมจีนในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นจำนวน 50 หาบ ราคาหาบละ 140 เหรียญ (1 หาบ เท่ากับ 60 ก.ก.) นอกจากนั้น เขายังได้กำหนดไว้เพื่อผลประโยชน์ของบรรดามิชชันนารีของพระศาสนจักรที่นั้น (ญี่ปุ่น) ด้วยว่า ถ้ามีอะไรเหลือจากปริมาณสินค้าที่ขายไม่ได้ ก็ให้ถือว่าผ้าไหมของเราขายไปแล้ว เพื่อมิให้บรรดามิชชันนารีต้องขาดค่าเลี้ยงดูสำหรับปีนั้น และต้องสังเกตที่นี่ในขณะเดียวกันด้วยว่า สินค้าเหล่านี้ไม่ได้ขายหรือแลกเปลี่ยนตามเมืองท่าเหล่านี้โดยสมาชิกของคณะคนใดเลย แต่กระทำโดยพ่อค้าที่เป็นฆราวาส นอกจากอภิสิทธิ์ที่ได้รับจากเมืองมาเก๊านี้แล้ว ยังมี (อภิสิทธิ์) ที่ได้รับจาก พระสังฆราชฟรังซิส มาสกาเรเญส อุปราชแห่งอินเดียอีก และหลักฐานเรื่องราวทั้งหมดนี้มีเก็บรักษาไว้ในที่เก็บเอกสารทางราชการของเมืองนี้ 
 
สิ่งที่ช่วยสนับสนุนการกระทำของเราอย่างนี้มากที่สุด ก็คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 13 ได้ทรงตัดสินว่าเหตุผลการทำธุิรกิจของเราไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อ คุณพ่อ อเล็กซานเดอร์ วาลิญานุส (Alexander Valigmanus:1539 -1606) ผู้ตรวจการแขวงเหล่านี้ได้รายงานเรื่องทั้งหมดนี้ให้คุณพ่อเกลาดิโอ อากวาวีวา (Claudius  Aquaviva :1542-1615) อัคราธิการของคณะได้ทราบ และคุณพ่ออากวาวีวา ก็ได้อธิบายให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงทราบกฎหมายทั้งหมดเกี่ยวกับธุรกิจการค้านี้ รวมทั้งกรณีแวดล้อมต่างๆ ด้วย พระองค์ได้ทรงตอบว่า “ธุรกิจแบบนี้ไม่ต้องเรียกว่า เป็น “การค้าขาย” เพราะทำไปจากความจำเป็นในการเลี้ยงชีพเท่านั้น” เรื่องเหล่านี้ปรากฎชัดจากจดหมายของคุณพ่ออากวาวีวาเองถึงคุณพ่อผู้ตรวจการในแขวงเหล่านี้ เขียนจากกรงุโรมเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1582
 
ยังเป็นความจริงอีกว่า ในเมืองมาเก๊านี้ ซึ่งเป็นเมืองเดียวในปลายทวีปเอเชียนี้ อยู่ในปกครองของชาวโปรตุเกส ในเมืองนี้ไม่มีอะไรนอกจากกำแพงบ้าน กำแพงป้อม และกำแพงเมือง ไม่มีทุ่งนา ไม่มีชนบท ไม่มีที่ดินใหญ่ๆ แต่ของทุกอย่างต้องเอามาจากที่ห่างไกลทั้งสิ่น จึงไม่มีใครมีชีวิตอยู่ได้เว้นแต่จากการค้าขาย นักบวคณะนักบุญฟรังซิส 6 ท่านแทบจะไม่สามารถดำรงชีวิตความยากจนของตน อยู่ได้ด้วยเงินทองที่ขอมา ถ้ามีนักบวชจำนวนมากกว่านี้ก็ไม่สามารถอยู่ได้เลย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความจำเป็นที่ระบายสีแต่งเติมขึ้น แต่เป็นความจำเป็นจริงๆ ทีเดียว และยิ่งวันก็ยิ่งมีเรืออับปางเพิ่มขึ้น เเละสินค้าก็สูญเสียมากขึ้นด้วย
 
ในเมื่อเรื่องราวเป็นดังนี้ พระคาร์ดินัล ก็เห็นใคร่ครวญได้ว่า จะทำอย่างอื่นได้หรือไม่ ยังอาจจะมีหนทางแก้ไขเหลืออยู่อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือให้ส่งเงินมาจากยุโรปโดยวิธีการต่างๆ ให้ได้จำนวนมากเท่ากับจำนวนที่เมื่อคำนวญการสูญเสียจากเรืออับปางและอันตรายของสงครามเเล้ว เพียงพอสำหรับจุนเจือนักบวชในแขวง แต่นี่ก็ยังไม่พอ เพราะว่าบ่อยๆ เช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้และปีก่อน ไม่มีเรือลำใดเลยมาถึงที่นี่จะเป็นเพราะถูกทำลายจากการอับปาง หรือถูกขัดขวางจากสงครามหรือเรื่องอื่นๆ ถ้าบังเอิญเงินจำนวนใหญ่นั้นทั้งหมดจะมาถึงท่าเรือนี้ที่ห่างคนละซีกโลกกับทวีปยุโรป ดังที่เกิดขึ้นกับท่านสังฆราชแห่งเบริธในกรุงสยาม ซึ่งอยู่ใกล้กับยุโรปมากกว่าและสะดวกกว่า แต่เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ครั้งสองครั้ง นับเป็นโชคดีอย่างอัศจรรย์และนานๆ ครั้ง ดังที่คณะ (เยซุอิต) ที่นี่ประสบมากว่า 100 ปีแล้ว มีเรืออับปางมากกว่าการเดินทาง (ที่มาถึงโดยสวัสดิภาพ) มีการสูญเสียมากกว่าผลได้ และดังนี้ในการที่เรืออับปางครั้งหนึ่ง ค่าเลี้ยงดูสำหรับหลายปีก็จมลงไปในทะเลทั้งหมด
 
เพราะฉะนั้น ถ้าพระสังฆราชแห่งเบริธ มีความร้อนรนต่อพระเกียรติของพระเป็นเจ้า และต่อระเบียบวินัยของนักบวช ได้สังเกตเห็นความสุรุ่ยสุร่ายหรือความฟุ้งเฟ้ออะไรที่ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่พวกเรา นอกจากการค้าขายที่ทำเพราะความจำเป็น ดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ต้องบอกเตือนผู้ใหญ่ที่ปกครองให้ทราบ (ดังที่ท่านได้ยืนยันว่าได้ทำในจดหมายถึงคริสตชนในแคว้นตังเกี๋ย แต่ทว่าไม่ถูกต้อง และไม่ตรงกับความจริง เพราะท่านไม่เคยบอกกับผู้ตรวจการหรือเจ้าคณะแขวงเลย) ดังที่เมตตาธรรมที่ถูกต้องแนะให้ทำ ความสุรุ่ยสุร่ายและฟุ้งเฟ้ออันนี้เราไม่ปฏิเสธว่ามีอยู่ในตัวเหรัญญิกของแขวงปกครอง (คนหนึ่ง) ซึ่งเวลานั้นเป็นภราดาผู้ช่วย และไม่เพียงแต่พระสังฆราชแห่งเบริธเท่านั้นที่สังเกตเห็นและตำหนิ แต่ทว่าก่อนหน้านั้น เราเอง (ก็ได้สังเกตเห็นและตำหนิไปแล้ว) และได้มีจดหมายแจ้งให้คุณพ่อผู้ตรวจการก่อนหน้าข้าพเจ้า คือ คุณพ่อหลุยส์ เดอ กามา ก่อน แล้วยังได้เเจ้งให้คุณพ่ออัคราธิการทราบด้วยตามธรรมเนียมของคณะ เพราะฉะนั้น เมื่อภราดาผู้ช่วยคนนั้นถูกปลดจากหน้าที่แล้ว การสุรุ่ยสุร่ายทั้งหลายก็จบลง และผู้เข้ามารับตำแหน่งก็คือคุณพ่อที่มีชื่อเสียงด้านความหนักแน่น มีความรู้ดี และเป็นตัวอย่างที่ดี ท่านได้ทำหน้าที่เหรัญญิกด้วยความมัธยัสถ์อย่างยิ่ง โดยไม่ผิดใจใคร ยิ่งกว่านั้น ทุกคนก็มีความพอใจเห็นด้วยทั้งหมด
 
ขอพระเป็นเจ้าโปรดให้คณะของเราสามารถหาปัจจัยยังชีวิตเช่นนี้แก่ผู้ทำงานรับใช้พระวรสารได้เป็นเวลานาน เพื่อว่าสมาชิกในแต่ละแห่งจะสามารถถือความยากจนแบบนักบวชได้อย่างมีเกียรติและเคร่งครัด เพราะมิฉะนั้นแล้ว เราทราบได้จากประสบการณ์ว่าความยากจนเกินไปทำให้เกิดความสลวนมากเกินไปที่จะแสวงหาเงินทอง และสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้บางคนออกจากคณะนักบวชไป แต่ถ้าคณะนักบวชจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตให้แก่สมาชิกของตน นั่นคือ อาหารและเสื้อผ้า คณะก็สามารถและต้องบังคับให้สมาชิกปฏิบัติและรักษาความยากจนตามกฎและพระวินัยได้คณะของเราก็จัดหาและพยายามจัดหาให้กับสมาชิกในดินแดนแถบนี้เช่นเดียวกับในที่อื่นๆ อยู่แล้วในระหว่างนี้ ความขัดสนและการขาดแคลนอย่างอื่นที่หนักกว่าไม่ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจแม้แต่น้อย นั่นคือ (การขาดแคลน) คนงาน โดยเฉพาะในจักรวรรดิจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เมื่อพระจักรพรรดิได้ทรงประทานพระราชานุญาตให้บรรดาคุณพ่อกลับไปยังวัดของตนได้แล้ว ดินแดนเหล่านี้ก็มีทีท่าว่าจะบังเกิดผล เนื่องจากมีผู้เข้ามาเชื่อถือพระคริสตเจ้าทุกแห่งเป็นจำนวนมาก คละกันจากทุกชนชั้น และยังมีบางคนจากราชวงศ์ด้วย และองค์พระจักรพรรดิผู้เป็นประมุขก็ทรงพระกรุณาต่อกิจการของเราอย่างมาก พระองค์ทรงโปรดปรานคุณพ่อของเรา 6 องค์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ โดยทรงมีพระบัญชาสั่งให้เข้ามาอยู่ในราชสำนักโดยทุนส่วนพระองค์ และประทานพระเกียรติและอำนาจให้อย่างมากด้วย ซึ่งเป็นผลดีสำหรับความเชื่อ และเป็นประโยชน์สำหรับวิญญาณจำนวนมากที่พวกเขานำมาถวายพระเป็นเจ้าและพระศาสนจักรโรมันทุกๆ วัน
 
ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงเรียกคุณพ่อชาวโปรตุเกสองค์หนึ่ง  (คือคุณพ่อโทมัส เปเรร่า ท่านเกิดเมื่อปี 1645 มาถึงกรุงปักกิ่ง ปี 1672 และรับราชการในราชสำนักจีนเป็นเวล่นานถึง 36 ปี) ที่พระองค์ได้ทรงทราบเกี่ยวกับท่านถึงผลงานหลายอย่างในด้านคณิตศาสตร์ ที่ท่านได้ทำอย่างเฉลียวฉลาดและมีศิลป์ โดยทรงใช้สมาชิก 2 ท่านจากสภาคณิตศาสตร์ที่กรุงปักกิ่ง   ให้ไปยังมาเก๊าโดยเดินทางลัดเป็นระยะทางเกือบ 500 ลี้สเปน มาพาท่านไปยังราชสำนักปักกิ่งตามพระบัญชา  เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ค.ศ.1672 โดยที่ทั้งเมืองมาเก๊า และทั่วทั้งจักรวรรดิจีนก็ทราบดี และต่างก็พิศวงในการที่พระองค์ประทานความดีความชอบอย่างไม่เคยมีธรรมเนียมมาแต่ก่อนเช่นนี้ ให้แก่ชาวต่างประเทศที่ยังไม่มีใครในประเทศจีนรู้จัก จากการนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าคุณพ่อองค์นั้นได้เพิ่มความรักเเละผลประโยชน์ให้แก่นามคริสตังอย่างมากเพียงไร ในปัจจุบันนี้ ที่กรุงปักกิ่ง ในราชสำนักเองมีจำนวนคริสตังถึง 8000 คน พวกเราหวังว่าจำนวนยิ่งจะเพิ่มขึ้นทุกวัน 
 
ในแคว้นตังเกี๋ยและโคชินจีน คริสตศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนจากการเบียดเบียนของพระเจ้าแผ่นดินที่นั่น แต่ก็ได้บังเกิดผลอุดมสมบูรณ์พอใช้ได้ในระหว่างฤดูหนาวนี้ อาศัยการงานและความเอาใจใส่ของบรรดาคุณพ่อ (คณะเยซุอิต) ในแคว้นตัวเกี๋ย คุณพ่อของเรา 4 ท่าน ทำงานอยู่กับภราดาชาวตังเกี๋ยคนหนึ่ง ท่านหนึ่งในจำนวนนี้คือคุณพ่อมารีนี ได้รับเลือกจากพระเจ้ากรุง โปรตุเกสให้เป็นพระสังฆราชของจักรวรรดิจีนทั้งหมด ส่วนในโคชินจีนก็มีคุณพ่อ 3 ท่าน(ทำงานอยู่) โดยปลอมตัว
 
ข้าพเจ้าขอจบจดหมายที่นี่เพื่อมิให้เป็นการรบกวนต่อไป ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นในจดหมายประจำปี ที่ข้าพเจ้าเขียนถึง คุณพ่ออัคราธิการของเรา ในจดหมายนั้นบรรดาพระคาร์ดินัลจะสามารถทราบเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดนี้ได้โดยสะดวก ข้าพเจ้าขออ้อนวอนด้วยสิ้นสุดจิตใจ โดยเห็นแก่พระกรุณาของพระเยซูคริสตเจ้า ขอให้บรรดาพระคาร์ดินัลได้ช่วยคุ้มครองป้องกันสมาชิกของคณะต่ำต้อยของเราด้วย  เพื่อจะได้มีกำลังกายกำลังใจเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในการสู้รบเพื่อพระเจ้า และมีชัยต่อศัตรูของเราอย่างเด็ดขาด ข้าพเจ้าและเพื่อนนักบวชทุกคน ขอยืนยันว่าจะเคารพเชื่อฟังและรับใช้สมณกระทรวงของท่านตลอดไป
 
เขียนที่เมืองมาเก๊า วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1673
โทมัส วัลกวาร์เนย์รา 
ผู้รับใช้ผู้ต่ำต้อยของพระคุณเจ้าพระคาร์ดินัล 
และของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ.