องค์ที่ 157 สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเกรโกรี ที่ 7 (Pope St. Gregory VII ค.ศ.1073-1085)

 

สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเกรโกร ที่ 7

 (Pope St. Gregory VII ค.ศ. 1073-1085)
 
พระองค์เป็นผู้นำที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคกลาง และเป็นนักปฏิรูปที่สำคัญยิ่งในยุคนี้ ชื่อเดิมคือ ฮิลเดอแบรนด์ (Hildebrand) เกิดที่แคว้นทุสคานี มารดาเป็นผู้ที่ศรัทธา บิดาเป็นช่างไม้ ได้รับการศึกษาที่โรม เป็นต้นในเขตพระราชวังของพระสันตะปาปาคือ ลาเตรัน ท่านได้รับหน้าที่เป็นพระสงฆ์ดูแลวัดน้อยของพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 6 บทบาทของท่านเริ่มเด่นขึ้น เมื่อท่านเลือกที่จะติดตามพระสันตะปาปาเกรโกรี ตอนที่ถูกขับจากบัลลงก์ไปที่เมืองโคโลญน์ ในปี ค.ศ. 1046 เมื่อพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 6 สิ้นพระชนม์ ท่านฮิลเดอแบรนด์เลือกที่จะไปใช้ชีวิตในอารามเบเนดิกติน จนกระทั่งพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 9 ขอให้ท่านมารับใช้ในสันตะสำนัก โดยแต่งตั้งท่านให้เป็นรองสังฆานุกรและให้ดูแลด้านการคลังของสันตะสำนัก ภายหลังบทบาทของท่านก็ค่อยๆเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 9 พระสันตะปาปาวิกเตอร์ ที่ 2 พระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 2  และพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 2 ท่านฮิลเดอแบรนด์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งพระสันตะปาปาเรื่อยมาหลายครั้ง จนในที่สุดในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1073 หนึ่งวันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 2 ท่านก็ตัดสินใจยอมรับตำแหน่งและได้รับการอภิเษกในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1073 ตรงกับวันฉลองนักบุญเปโตรและเปาโล โดยเลือกใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 7 เพื่อระลึกถึงพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 1 (มหาสมณะ)
 
ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา รองสังฆานุกรฮิลเดอแบรนด์พยายามทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อปฏิรูปพระศาสนจักรจากความไม่ดีงามต่างๆ เช่น เรื่องการซื้อขายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องพรหมจรรย์และจริยวัตรของสงฆ์ (ท่านออกกฎให้พระสงฆ์จารีตโรมันถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต) และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของพระสงฆ์ที่ไม่ชอบท่าน ท่านเน้นการปฏิรูปต่อไปโดยส่งผู้แทนไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน เพื่อโน้มน้าวจิตใจบรรดาพระสังฆราชให้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปนี้ท่านใช้โอกาสมหาพรตทุกปี เรียกประชุมพระสงฆ์และพระสังฆราช อีกทั้งประณามความไม่ดีงามต่างๆ การประชุมที่เด่นก็คือ ในปี ค.ศ. 1075 ที่ท่านได้ประกาศว่าฆราวาสที่มายุ่งเกี่ยวกับกิจการสงฆ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (Lay Investiture)
 
(ขอกล่าวสักเล็กน้อยถึงการที่ฆราวาสเข้ามาก้าวก่ายกิจการพระศาสนจักร ยุคนั้นเป็นยุคที่สันตะสำนักต้องพึ่งอำนาจกษัตริย์และกองทหารอย่างมากยุคขุนนางกำลังเฟื่องฟู พวกขุนนางเหล่านี้จึงมีอำนาจเหนือพระสันตะปาปาและพระสังฆราช เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ การตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ส่วนใหญ่มักสรรหาจากบุคคลที่มีอำนาจ แท้จริงก็พยายามชูคนของตนขึ้นมา การซื้อขายตำแหน่งพระสังฆราชและการบวช รวมทั้งการแต่งตั้งจึงมีมลทิน เรื่องไม่ดีไม่งามต่างๆ ก็เกิดตามมา เช่น ปัญหาทางศีลธรรม พรหมจรรย์ของพระสงฆ์ การซื้อขายสิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากการที่ฆราวาสมายุ่งเกี่ยวกับกิจการสงฆ์มากเกินไปนั่นเอง การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะนั่นหมายถึง บรรดาขุนนางต่างๆ จะไม่ยอมง่ายๆ กระบวนการปฏิรูปจึงต้องใช้เวลานานหลายปี)
 
การประกาศให้ฆราวาสที่มายุ่งเกี่ยวกับกิจการสงฆ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 7 จึงเหมือนกับการเติมเชื้อไฟให้ลุกมากยิ่งขึ้น เกิดความขัดแย้งกับจักรพรรดิหนุ่มของเยอรมัน คือ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ไม่ยอมรับคำประกาศนี้ จักรพรรดิจึงเรียกประชุมสังคายนาที่เมืองเวิร์ม และที่ปีอาเซนซา ในปี ค.ศ. 1076 ประกาศถอดถอนพระสันตะปาปาเกรโกรที่ 7   จากตำแหน่ง  พระสันตะปาปาไม่ยอมอ่อนข้อและประกาศตัดพระเจ้าเฮนรีออกจากพระศาสนจักรทันทีจนกว่าจะกลับใจ ในปี ค.ศ. 1077 พระเจ้าเฮนรียอมโอนอ่อนตามและขอกลับใจต่อพระสันตะปาปายอมรับใช้โทษบาป โดยพระสันตะปาปาปล่อยให้พระเจ้าเฮนรีคุกเข่าตากหิมะใช้โทษบาปที่คาโนสซาอยู่ 3 วันก่อนจะอนุญาตให้เข้าพบและอภัยความผิด
 
ในปี ค.ศ. 1080 พระเจ้าเฮนรีลืมการสำนึกผิดของตัวเอง และก่อเหตุวุ่นวายกับพระสันตะปาปาอีก โดยตั้งพระสันตะปาปาซ้อนองค์ที่ 20 ขึ้นมาคือ พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 3 พระสันตะปาปาเกรโกรีประกาศตัดพระเจ้าเฮนรี ที่ 4 ออกจากพระศาสนจักรอีกเช่นเคย ความแข็งกร้าวของพระสันตะปาปานี้บรรดาพระคาร์ดินัลไม่เห็นด้วย และชาวเมืองก็เริ่มไม่สนับสนุนพระองค์ อันเป็นเหตุให้กองทหารของพระเจ้าเฮนรีบุกเข้ายึดพระราชวังลาเตรันในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1084 พระสันตะปาปารอดชีวิตจากความช่วยเหลือของพวกนอร์มัน ภายใต้การนำของโรเบิร์ต กิสการ์ แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้เบื้องหลัง เพราะเหล่าทหารได้บุกปล้นสะดมชาวเมือง เผาบ้านช่อง และวิหารต่างๆ
 
ภายหลังพวกทหารนอร์มันเองก็ได้ขับพระสันตะปาปาออกจากเมือง ท่านได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่อารามมอนเตกาสิโนและที่ซาเลโนด้วยความทุกข์ใจ ไม่นานพระองค์ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1085
 
คำพูดสุดท้ายของพระองค์คือ “เรารักในความยุติธรรม ดังนั้นเราจึงตายในแดนเนรเทศ”   พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 7 ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1728 โดยพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 13