พระสังฆราชไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ

 
พระสังฆราช ไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ  เกิด 7 พฤษภาคม ค.ศ.1930 สัตบุรุษวัดหัวไผ่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี  มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 บิดาชื่อนายประภาษ มารดาชื่อนางม่วง ชัยเจริญ 
 
ชีวิตในวัยเด็ก
ท่านค่อนข้างเป็นเด็กฉลาด ระดับการเรียนของท่านก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ท่านเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะขี้อายและขี้กลัว ท่านมักจะเขินเมื่อมีผู้ใหญ่เข้ามาคุยด้วย แต่ท่านก็เป็นเด็กใจสู้ ท่านจะสู้ เมื่อถูกเพื่อนรังแก และท่านจะสู้อย่างเต็มที่ในสนามแข่งขันหรือสนามกีฬา ในวัยเด็กท่านเรียนที่โรงเรียนประชาสงเคราะห์ ที่หัวไผ่ เนื่องจากบิดาของท่านเป็นครูใหญ่อยู่ที่นั่น
 
การศึกษา  
ท่านเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาสงเคราะห์ จังหวัดชลบุรี ค.ศ. 1940 เข้าบ้านพระหฤทัย ศรีราชา เรียนอยู่ที่ศรีราชายังไม่ทันจบปี เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ต้องปิดบ้านเณรในฤดูหนาวปีนั้น โดยยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างที่เคว้งคว้างอยู่ที่ศรีราชานั่นเอง ได้รู้จักกับคุณพ่อ ปองกีโอเน พระสงฆ์ซาเลเซียน ซึ่งไปเฝ้าบ้านเณรศรีราชา และได้เรียกเด็กๆ บางคนไปอยู่กับท่านด้วย เคยได้ยินคนพูดว่า คุณพ่อซาเลเซียนเป็นคนใจดี รักเด็กๆ ดูเหมือนคุณพ่อได้มอบหน้าที่ให้สอนคำสอนแก่เด็กที่เล็กกว่า คงจะเป็นลูกของคนจีนที่เฝ้าบ้านเณรชื่อลูเกีย 
 
ในที่สุดพระสังฆราช เรอเน แปรรอส ได้ส่งเณรที่สมัครใจประมาณ 10 คน กว่าคน ไปเรียนต่อที่บ้านเณรของมิสซังราชบุรี ที่บางนกแขวก ซึ่งคุณพ่อซาเลเซียนเป็นผู้ดูแล
 
จากบ้านเณรศรีราชา มาอยู่บางนกแขวก ต้องไปเรียนซ้ำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อีก ที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ แม้จะขอร้องให้ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะเรียนมาเกือบจบปีแล้ว ก็ไม่เป็นผล จึงต้องน้อมรับด้วยน้ำตาฟูมฟายไปตามๆ กัน
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ขออนุญาต พระสังฆราช แจง เกิดสาว่าง เข้าคณะซาเลเซียน ท่านทักท้วงโดยอ้างว่า มิสซังมีพระสงฆ์น้อย แต่ที่สุดก็ให้ อนุญาต จึงไม่ย้ายกลับไปเรียนที่ศรีราชาพร้อมกับเพื่อนเณรมิสซังกรุงเทพฯ บางคนก็ตำหนิว่าเป็นคนทรยศ 
 
 
อยู่ที่บางนกแขวก 6 ปี (ค.ศ.1941-1947) เป็นระยะเวลาที่มีความสุขมาก เพราะอยู่ด้วยกันหลายคน โดยมีคุณพ่อย๊อบ การบินี เป็นอธิการ และต่อมาก็มีคุณพ่อโปรเวรา เป็นอธิการ ซึ่งได้ปั้นจิตใจให้มีความศรัทธาต่อแม่พระและรักชีวิตพระสงฆ์ 
 
จบชั้นมัธยมปีที่ 6  แล้ว ย้ายไปอยู่บ้านอบรมซาเลเซียนที่หัวหิน ซึ่งเปิดบ้านเณรเล็ก ในปี ค.ศ.1947 มีเณรรุ่นแรก 14 คน คุณพ่อฟรีเยรีโอ เป็นอธิการ พวกที่จบ ม.6 แล้วมี 5 คน ช่วยทำงานขนทราย ขนดิน ปลูกต้นไม้ ขนปุ๋ย จัดบริเวณบ้าน เป็นเวลาที่สนุกมากอีกระยะหนึ่ง พร้อมกับเรียนบ้างเล็กน้อย
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1948 ได้เข้าบำเพ็ญนวกภาพ พร้อมกับเพื่อนรวม 9 คน     เป็นนวกภาพแรกที่หัวหิน โดยมีคุณพ่อปองกีโอนเป็นนวกจารย์ คุณพ่อสนิท ลุลิตานนท์ เป็นผู้ช่วยนวกจารย์ เพื่อนร่วมนวกภาพรุ่นนี้มีเหลืออยู่ในปัจจุบันสองคน อีกคนหนึ่งคือคุณพ่อวีระ เจนผาสุก ในปี ค.ศ.1949 ได้ปฏิญาณเป็นนักบวชขณะที่ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต เป็นเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย จบนวกภาพแล้วได้เรียนต่อและฝึกงานที่บ้านเณร สอนเรียนที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย ต่อมาย้ายไปดูแลนักเรียนประจำที่ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย 
 
ในปี ค.ศ.1954 ได้ปฏิญาณตนตลอดชีพ โดยมีคุณพ่อซิยอตตี อัครธิการของคณะซาเลเซียน ซึ่งมาเยี่ยมแขวงไทย เป็นผู้รับการปฏิญาณ กันยายนน ค.ศ.1955 ท่านได้เดินทางไปศึกษาปรัชญาต่อที่ตุริน ด้วยความสนใจใฝ่หาความรู้  ได้โอกาสเรียนปรัชญาใหม่อีก 1 ปี พร้อมกับปริญญาตรีเป็นรางวัลจากผู้ใหญ่ ต่อจากนั้นได้เริ่มเรียนเทวศาสตร์ที่วิทยาลัยซาเลเซียน ตุริน 
 
รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ 
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1960 ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ โดย พระคาร์ดินัล ฟอสซาตี  แห่งอัครสังฆมณฑลตุริน พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น 49 คน พิธีบวชอันยืดยาวในสมัยนั้น มีขึ้นตั้งแต่เวลา 7.00 -12.00 น. หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์แล้วจึงได้ศึกษาต่อที่กรุงโรมอีกปีครึ้ง จึงกลับเมืองไทยในเดือน มีนาคม ค.ศ.1962 เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวยหลังจากที่กลับมา ต้องพักผ่อนรักษาตัวอยู่เกือบปี และหลังจากนั้นถูกส่งไปเรียนปรัชญาที่ฮ่องกงเป็นเวลา 1 ปี  กลับมาทำหน้าที่ดูแลเณรเล็กซาเลเซียนที่หัวหิน  พร้อมกับทำหน้าที่บริหารโรงเรียนหัวหินวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี  ชีวิตเริ่มหันเข็มไปทางด้านการอบรมอย่างแน่วแน่ ปี ค.ศ.1966 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร ที่หัวหิน เป็นอธิการซาเลเซียนคนไทยคนแรก ในปี ค.ศ.1968 ได้รับหน้าที่เป็นรองคณะแขวง ซาเลเซียนและอธิการสำนักงานซาเลเซียน อีก 2 ปี เนื่องจากอยู่ในบริเวณเดียวกันจึงได้รับหน้าที่บริหารโรงเรียนเซนต์ดอมินิก อีกตำแหน่งหนึ่งในปี ค.ศ.1970-1972 แล้วไปเป็นอธิการและบริหารโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่งอีก 2 ปี ค.ศ.1972-1974
 
กางเขนค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1976 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงคนไทยคนแรก ระยะนี้เป็นเวลาที่สามชิกคณะซาเลเซียนคนไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น บทบาทของสมาชิกกว้างไกลขึ้นจึงต้องมีการติดต่อประสานงานอย่างกว้างขวาง 
แบ่งปันช่วยเหลือกันทุกระดับทั้งกับคณะนักบวชต่างๆ และระหว่างคณะกับสังฆมณฑล เมื่อหมดวาระจากคณะแขวงแล้วก็ทำงานด้านเอกสาร การอบรมต่อไป 
 
ปี ค.ศ.1984 ได้รับหน้าที่เป็นอุปสังฆราช สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี พร้อมกับตำแหน่งอื่นๆ ต่อมาเพื่อแบ่งเบาภาระ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ในการปกครองสังฆมณฑล เช่น ประธานมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนา สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี อธิการสำนักงานฝึกธรรมดอมินิกซาวีโอ  อธิการโรง เรียนเทพมิตรศึกษา
 
ชีวิตของคุณพ่อวนเวียนอยู่ในระดับการอบรมต่างๆ บ้านเณรเล็กบ้านเณรใหญ่ของคณะ การศึกษาอบรมคณะของตนเองและคณะอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ คุณพ่อเป็นนักแปลด้วย แปลเอกสารต่างๆ ของคณะ และนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนสมาชิกอย่างชัดเจน เอกสารของพระศาสนจักรนำมาแบ่งปันกับนักบวช เป็นต้น คณะนักบวชหญิงที่ขอความร่วมมือจากคุณพ่อ คุณพ่อจะสอนด้วยความร้อยรน แบ่งปันอย่างซื่อๆ เป็นผู้อำนวยการการประชุมที่สามรถควบคุมสถานการณ์ และนำประเด็นต่างๆ ให้ดำเนินไปตรงจุดมุ่งหมายเสมอ ความคิดของพ่อแล่นตลอดเวลา บางครั้งก็ตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อบันทึกความคิดที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่คุณพ่อเป็นที่ปรึกษาสมัชชาของคณะต่างๆ พระวินัยบางข้อ คุณพ่อยกร่างให้เวลา 2.00 น. หรือ 4.00 น. ก็มี ถ้าคุณพ่ออยู่ที่สำนักงานแต่ละวัน มีงานที่คุณพ่อร่างขึ้นให้พนักงานพิมพ์ อะไรที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้า ความดีของพระศาสนจักรแล้ว คุณพ่อไม่เคยหยุดยั้ง มอง คิด ลงมือทำ ดำเนินต่อไป  
 
       
 
ตำแหน่งสุดท้ายที่คุณพ่อได้รับคือ อุปสังฆราช ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑล และประธานมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี คุณพ่อมักจะขับรถตู้ข้างรถมีป้ายชื่อตัวโต “มูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี” จากสุราษฎร์เข้ากรุงเทพฯ จากสุราษฎร์ไปวัดเล็กวัดน้อย บรรทุกข้าวของที่คนโน้นให้ คนนี้ฝาก เต็มทุกเที่ยว ทั้งขึ้นทั้งล่อง บริการทุกคนทุกวัดที่ผ่านไป คุณพ่อไปประชุมกับชาวบ้าน ไปเยี่ยมพระสงฆ์ สัตบุรุษ ตรวจเยี่ยมโครงการไปถวายมิสซาที่ขาดพระสงฆ์ ไม่มีหมู่บ้านใดที่คุณพ่อไม่ได้เข้าไป และยังนำผู้ร่วมงานจากศูนย์สังฆมณฑลไปปฏับัติงานด้วย คุณพ่อจึงรู้จักคนรู้จักงาน รู้จักพื้นที่ของสังฆมณฑลดีพอสมควร เมื่อได้รับตำแหน่งพระสังฆราช  
 
คุณพ่อจึงเห็นแนวทางที่จะปฏิบัติในสังฆมณฑลอย่างชัดเจน คุณพ่ออยากจะไปเยี่ยมสัตบุรุษทุกบ้าน ไปคุยกับเจ้าคณะที่มีสมาชิกทำงานในสังฆมณฑลอยากให้คณะต่างๆ ก้าวเข้ามาอีกก้าวหนึ่ง มิใช่เพียงเปิดกิจการของคณะะในสังฆมณฑลเท่านั้น แต่ทำงานของสังฆมณฑลด้วย
 
สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงแต่งตั้ง คุณพ่อไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ พระสงฆ์คณะซาเลเซียน อุปสังฆราชสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ของสังฆมณฑลสุราษฎรณ์ธานี สืบต่อจากพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ซึ่งลาเนื่องจากอายุมากแล้ว
 
พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ได้ประกาศข่าวการแต่งตั้งพระสังฆราชใหม่ ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1988 ณ อาสนวิหารราฟาแอล สุราษฎรณ์ธานี ต่อหน้าบรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษในสังฆมณฑลซึ่งถูกเรียกด่วนให้มาร่วมมิสซาวันฉลองแม่พระฟาติมา 
 
“ลูกๆ ที่รัก วันที่เรารอคอยมาถึงแล้ว” พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต กล่าวในการเริ่มพิธีมิสซา เวลา 6.30 น. “สมเด็จพระสันตะปาปา โปรดแต่งตั้งผู้นี้... ด้วยความตื้นตันใจ พระสังฆราช ผายมือไปทาง คุณพ่อประพนธ์ ชัยเจริญ “...ให้เป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีแทน...”
 
เสียงปรบมือดังขึ้นกราวใหญ่ เป็นการแสดงถึงความยินดี และการน้อมรับข่าวอันน่าชื่นชมนี้ตั้งแต่ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต มีอายุครบ 75 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1987  ท่านได้ยื่นการลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่กำลังสืบหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนท่านอยู่นั้น คุณพ่อประพนธ์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ดำเนินการแทนพระสังฆราชในหลายๆ ด้าน บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษ ก็ปักใจในคุณพ่ออยู่แล้ว เพียงแต่รอคอยว่าเมื่อไรจะประกาศสักสี 
 
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อมีโทรศัพท์ด่วนมาจากสถานทูตวาติกันประจำประเทศไทย ตามหาพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ซึ่งขณะนั้น ท่านไปร่วมฉลองอยู่ที่เบตง สื่อสารทางโทรศัพท์จากกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ-เบตง- เบตง-สุราษฎร์ธานี อย่างรีบเร่ง และคุณพ่อประพนธ์ หายตัวไปทันที กลุ่มนักบวชสุราษฎร์ธานี เริ่มตื่นเต้นกับเหตุการณ์เหล่านี้ และซักไซร์ไต่ถามคุณพ่อประพนธ์เมื่อท่านกลับมา แต่ก็ผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะไม่ได้วี่แววคืบ หน้าอะไรเลย วันฉลองวัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1988 มีสัตบุรุษมาร่วมฉลองมากมาย สมณทูตอยู่ในงานนั้นด้วย แต่ไม่มีข่าวอะไร ที่สุดศูนย์สังฆมณฑลเริ่มไหวตัว เมื่อพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต เรียกพระสงฆ์ นักบวชให้มาฉลองแม่พระฟาติมา ที่ศูนย์สังฆมณฑล และจัดเตรียมต้อนรับเป็นพิเศษ เราจึงรู้ว่าวันสำคัญมาถึงแล้ว
 
ผู้ที่รู้สึกตื่นตัน ภูมิใจ สมหวัง คลายกังวล และดีใจมากที่สุดก็คือ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ซึ่งได้ผู้สืบตำแหน่งที่ถูกใจ ใกล้ชิดและไว้วางใจอย่างเต็มที่
 
คุณพ่อประพนธ์ได้กล่าวตอบคำเทศน์ของพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ว่า
 
“วันนี้เป็นวันที่ท่านอยากเห็น อยากให้มาถึง แต่สำหรับพ่อไม่อยากให้มีวันนี้เลย เป็นวันที่รู้สึกอึดอัดใจ แต่เมื่อเป็นน้ำพระทัยของพระ พ่อก็ยินดีน้อมรับ ด้วยความเต็มใจ ด้วยความรู้สึกว่าขอมอบตัวไว้ในหัตถ์ของพระให้พระองค์นำไป” 
 
ค่ำวันนั้น คุณพ่อได้มาแบ่งปันกับซิสเตอร์ผู้รับใช้ฯ ถึงความรู้สึกต่างๆ ในวันนี้ ไปพบเลขาของสมณทูต ในวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม เพื่อจะให้คำตอบว่า รับหรือไม่รับ รู้สึกว่าไม่มีทางปฏิเสธได้เลย รู้น่ะรู้นานแล้ว แต่จะรับไม่รับนี่สิเป็นความรู้สึกใหม่ เมื่อรับแล้วก็ไม่วุ่นวานอะไร เห็นว่าเป็นน้ำพระทัยของพระ การที่รู้อยู่คนเดียวมันอึดอัดใจ วันนี้ประกาศแล้วทุกคนรับรู้ รับแบกภาระด้วยกันแล้ว ก็รู้สึกโล่งใจไปที่พ่อบอกตอนท้ายของมิสซาว่า ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องจะรับอภิเษก วันที่ 24 กันยายน  ก็เพื่อว่า หากใครขัดข้องหรือมีข้อเสนออื่น พ่อก็ยินดีพิจารณา แต่ไม่มีใครเสนออะไร ก็คงเป็นไปตามนั้น คือ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต จะเป็นผู้อภิเษก วันที่ 24 กันยายน ค.ศ.1988 และรุ่งขึ้นฉลองอาสนวิหารราฟาแอล 
 
พ่อก็อุ่นใจที่มีคนสนับสนุนและยินดีที่จะร่วมงานกันในสังฆมณฑล คิดว่างานในสังฆมณฑลก็คงจะก้าวต่อไปด้วยความร่วมมือของนักบวชทุกคณะและฆราวาสทุกฝ่าย
 
 
การปฏิบัติงาน/หน้าที่ประจำ
ค.ศ.1964 - 1966    เป็นผู้บริหารโรงเรียนโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย
ค.ศ.1966             ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร ที่หัวหิน ซึ่งเป็นอธิการคณะซาเลเซียนคนไทยคนแรก   
ค.ศ.1968             ได้รับหน้าที่เป็นรองเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนและอธิการสำนักงานซาเลเซียนอีก 2 ปี 
ค.ศ.1970 -1972    เป็นผู้บริหารโรงเรียนเซนต์ดอมินิก
ค.ศ.1972 -1974    เป็นอธิการและผู้บริหารโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย บ้านโป่ง 
ค.ศ.1974            ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนคนไทยคนแรก 
ค.ศ.1988            ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชใหม่ สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1988  
                          ณ อาสนวิหารราฟาแอล จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
พิธีอภิเษกพระสังฆราชใหม่
เย็นของวันที่ 23 กันยายน ก่อนวันอภิเษกพระสังฆราชใหม่ แห่งสังฆมณทลสุราษฎร์ธานี มีพิธีแห่สังฆราชใหม่ นำขบวนโดยดุริยางค์จากโรงเรียนแสงทองวิทยา หาดใหญ่ ตามด้วยนักเรียน ขบวนแห่มาสิ้นสุดอยู่หน้าอาสนวิหารราฟาแอล สุราษฎร์ธานี ท่ามกลางสัตบุรุษที่มาต้อนรับอย่างคับคั่ง พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต สวมกอดแสดงความยินดีและคล้องพวกมาลัยให้ พระสังฆราช ประพนธ์ ชัยเจริญ จากนั้นเป็นการรำอวยพรของนักเรียน และปิดท้ายด้วยการสวดทำวัตรเย็นในอาสนวิหาร
 
 
วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.1988  สัตบุรุษบางส่วนจากบริเวณใกล้เคียงทยอยสมทบกับสัตบุรุษส่วนใหญ่ที่เดินทางมาพักค้างคืนตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว บรรยากาศคึกคักเป็นกันเองมาก ปะรำพิธีตกแต่งอย่างสวยงาม เต็นท์ เก้าอี้ ทุกอย่างเตรียมพร้อม รอเวลา ครั้นประมาณเวลา 10.00 น. ขบวนแห่อันประกอบด้วยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู  พระสมณทูตอัลแบร์โต ตรีคาริโก พระสังฆราชจากสังฆมณฑลต่างๆ และบรรดาพระสงฆ์กว่า 50 องค์ ได้แห่เข้าปะรำพิธีเพื่อประกอบพิธีมหาบูชามิสซา โดยมีพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต  เป็นประธาน เมื่ออ่านพระวรสารจบแล้วเป็นพิธีอภิเษกพระสังฆราช เริ่มด้วยการขับบทเชิญพระจิต พิธีสอบถามและอ่านสารแต่งตั้ง พระสังฆาชผู้อภิเษก พระสังฆาช เปโตร คาเร็ตโต เป็นผู้กล่าวโอวาท แก่ผู้รับอภิเษกและสัตบุรุษ จากนั้นเป็นพิธีไต่ถามผู้รับอภิเษก บทเร้าวิงวอน นักบุญทั้งหลาย (ภาษาลาติน) จบแล้วพระสังฆราชทุกองค์ที่มาร่วมพิธีปกมือเหนือศีรษะผู้รับอภิเษก ผู้อภิเษกวางหนังสือพระวรสารบนศีรษะของผู้รับอภิเษกและสวดบทอภิเษกเจิมศีรษะผู้รับอภิเษกด้วยน้ำมันคริสมา มอบพระวรสาร แหวน (เป็นของพระ สังฆราช ปาซอตตี) หมวกสูง และไม้เท้าให้แก่ผู้รับอภิเษก จากนั้นผู้รับอภิเษกรับการสวมกอดแสดงความยินดีจากพระสังฆราชที่มาร่วมพิธีทุกองค์ ก่อนจะเริ่มพิธีมิสซาต่อในภาคบูชา 
 
หลังจบพิธี พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู และพระสมณทูตกล่าวแสดงความยินดีกับพระสังฆราชใหม่ จบแล้ว พระสังฆราชประพนธ์ ชัยเจริญ กล่าวตอบพร้อมกับย้ำว่า  “ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นพระเป็นเจ้าทำได้ทั้งสิ้น พระองค์ทำให้พ่อได้เข้าคณะซาเลเซียน ทำให้พ่อได้บวช และทำให้ได้เป็นสังฆราช ในวันนี้ พ่อจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและจะไม่จากสังฆมณฑลไปไหนอย่างแน่นอน” ต่อมาพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต อดีตประมุขสังฆณฑล  สุราษฎร์ธานี ได้กล่าวแสดงความยินดีและได้มอบสายประคำที่ท่านรักมากให้กับพระสังฆ ราชใหม่ พระสังฆราชประพนธ์ ชัยเจริญ จากนั้นผู้แทนคณะนักบวชต่างๆ และสัตบุรุษ คำนับพระสังฆราชใหม่ ก่อนจะแยกย้ายกันไปร่วมรับประทานอาหาร  
 
 
 
ตราประจำตำแหน่งพระสังฆราช
 ตรานี้หมายถึง 
อุดมการณ์ในชีวิต ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ทรงประสงค์สิ่งใดก็ไม่มีใครต่อต้านทัดทานได้ ความเชื่อมั่นดังกล่าว ยังให้เกิดความวางไว้ใจ มอบอุดมการณ์ชีวิตไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
 
อุดมการณ์ชีวิตของผู้ที่เป็นสงฆ์โดยทั่วไป คือการร่วมมือในการไถ่กู้มนุษยชาติของพระเยซูเจ้า ซึ่งถอดรูปออกมาเป็นไม้กางเขนที่พระองค์ทรงใช้ในการไถ่กู้มนุษย์ โดยเสด็จมารับชีวิตมนุษย์ อยู่ในโลกเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย มีพระนางมารีอาเป็นผู้ร่วมงานคนแรก ดังจะเห็นได้จากตัวอักษร M ที่รองกางเขนและทั้งสองพระองค์ได้ครอบครองโลกด้วยการไถ่กู้ของพระองค์
 
การร่วมมือในแผนการไถ่กู้มนุษยชาติที่พระสงฆ์กระทำนั้นมีลักษณะหลายประการ ประการหนึ่งซึ่งเป็นคติพจน์ของสงฆ์พระสังฆราชประพนธ์ คือ การเป็นพยานยืนยันถึงองค์ความสว่าง (ยน.17) ฉายแสงของพระเยซูคริสตเจ้าออกไปโดยรอบ 
 
ในการปกครองสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วย 15 จังหวัดทางภาคใต้นั้น พระสังฆ ราชประพนธ์ มีเจตนารมณ์ที่จะนำคริสตชนทั้ง 15 จังหวัด เป็นประดุจรัศมี 15 เส้นที่ฉายแสงของพระคริสตเจ้าไปในสังคมไทยอันมีลายไทยเป็นเครื่องหมาย
 
ในการดำเนินตามอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ พระสังฆราชต้องได้รับพลังความช่วยเหลือจากองค์ พระจิตเจ้า ในรูปนกพิราบ ซึ่งถ้าขาดพลังจากพระองค์ย่อมไม่สามารถทำอะไรได้เลย ตราทั้งครบนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ในชีวิตของพระสังฆราช
 
15 ปี  แห่งด้ามขวานทองในมือพ่อ                                
• ด้วยหัวใจของนักอบรม (อดีตนวกจารย์) 
• ด้วยหัวคิดของนักปกครอง (อดีตเจ้าคณะแขวง)
• ด้วยสมองของผู้แพร่ธรรม (ธรรมทูตจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้)
• ด้วยคุณธรรมของนักบวช (สงฆ์ซาเลเซียน)
• พ่อสานต่อภารกิจของ พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต (ค.ศ. 1988-2003)
• หลังจากได้แบ่งเบาภาระและสร้างความสัมพันธ์กับสัตบุรุษ (ค.ศ. 1984-1986)    
• ในฐานะอุปสังฆราชและอธิการบ้านเณรเล็ก
 
ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑล และประธานมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี 
 
• พ่อพร้อมที่จะรับใช้ในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้า
• พ่อพร้อมที่จะนำประชากรในฐานะนายชุมพาบาล
• คอยประสาน สนับสนุน ชี้แนะ ผู้ร่วมงานในสนามแพร่ธรรม
• คอยเร่งเร้าลูกๆ ให้กระตือรือร้นสู้ความสัมพันธ์กับพระและเพื่อนมนุษย์
• พ่อเป็นผู้จุดประกายแผนงานอภิบาลให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว
• พ่อเป็นผู้ส่องประทีปวิธีการอภิบาลให้ทุกคนมีส่วนร่วม
• พ่อเป็นผู้เขียน ผู้แปลเอกสารให้เรียนรู้ เป็นคู่มือในการทำงาน
• พ่อเป็นผู้อยู่เคียงข้าง ทำเป็นตัวอย่าง ทั้งการนำประชุม บันทึก ยกร่าง นำเสนอ
• พ่อคิด พ่อเขียน พ่อพูด พ่อทำ
• พ่อร้อนรน เร่งรัด รบเร้า ให้ลูกๆ เรียนรู้และลงมือปฏิบัติ
• พ่อกำด้ามขวานทองไทยไว้มั่น รู้ปัญหา รู้สถานการณ์ท้องถิ่น
• พ่อจับกระแส ติดตามความเคลื่อนไหวของพระศาสานจักรสากลและเอเชีย
• แม้สังฆมณฑลจะมีจุดอ่อน ทั้งในด้านทุนบุคลากรและทุนทรัพย์  มีอุปสรรคในด้านระยะทางและการกระจายตัวของคริสตชน
• แต่พ่อหยิบกลุ่มชนเล็กๆ นี้ขึ้นมากำไว้ในเมือ นวด ปั้น ปรุงแต่ง  ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน พันธกิจที่มุ่งมั่น เป้าหมายที่เป็นไปได้ 
• วัดใหญ่น้อยทั้ง 30 โรงเรียนทั้ง 23 แห่ง  จำนวนสัตบุรุษ ประมาณ 6,500 คน ประมาณ 40 กลุ่มย่อย
• หน่วยงานที่มีผู้รับผิดชอบ ไม่ถึง 10 หน่วยงาน พ่อบอกว่า เอาเท่าที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเรา
 
การเป็นพระศาสนจักรในแนวใหม่  พระศาสนจักรที่ทุกคนมีส่วนร่วมพระสงฆ์ นักบวชและฆราวาสร่วมมือกัน งานอภิบาล การแพร่ธรรมที่คำนึงถึงทุกมิติในชีวิต ทำให้พระวาจาเป็นชีวิตด้วยเลคซีโอดีวีนา อ่านพระคัมภีร์ ภาวนาและแบ่งปัน รับใช้ ช่วยเหลือ มีน้ำใจ ให้อภัยกัน นี่คือฝันที่ลูกรับรู้และจะร่วมกันสานฝันของพ่อต่อไป
 
ช่วงวาระสุดท้ายของพระสังฆราชไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ
วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2003
ท่านเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตลอดชีพและฉลองการปฏิญาณครบรอบ 60 ปี 50 ปี และ 25 ปี ของซิสเตอร์คณะผู้รับใช้ดวงหทัยของพระแม่มารีย์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมภาคค่ำกับบรรดาลูกๆ ผู้รับใช้ในการนำเสนอแสงเสียงอันตระการตา แสดงถึงการรวมพลังของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีกับคณะ ผู้รับใช้ฯ อย่างเข้มแข็ง ดูพ่อภูมิใจสุขใจ ท่ามกลางลูกสาว ลูกชาย เป็นอย่างยิ่ง
 
วันที่ 28 เมษายน – พฤษภาคม ค.ศ. 2003  
ท่านไปพักผ่อนกับลูกชายโดยเฉพาะ เดินทางกันตามสบายไปถึงเมืองลาว สนุกสนานกันเต็มที่ บางคนบอกว่าไม่เคยรู้สึกอิสระเช่นนี้มานาน แน่นอนความสัมพันธ์พ่อ-ลูก กระชับแน่นแฟ้นขึ้น และมีพลังที่จะเริ่มภารกิจแห่งงานอภิบาลต่อไป และสัญญาว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะพาพวกเราไปพักผ่อน ในต่างประเทศ (มารู้ในภายหลังว่า เป็นประเทศธิเบต)
 
วันที่ 6-9 พฤษภาคม ค.ศ. 2003  
ท่านเป็นประธานเปิดการสัมมนา “พระสงฆ์ในศหัสวรรษใหม่” ที่บ้านผู้หว่าน สามพราน แม้อุปสังฆราชและอธิการบ้านเณรเล็กไม่สามารถไปร่วมทีมได้ ท่านก็ยินดีทำหน้าที่แทน ร่วมการสัมมนาอย่างมีชีวิตชีวา ถามคำถาม ให้ข้อคิด เกี่ยวกับอบรมสามเณรแสงธรรมและพระสงฆ์ ท่านพูดคุยรับประทานอาหารอย่าร่าเริง ดูเหมือนท่านเป็นจุดเด่นในงาน เพราะตรงกับวันเกิดของท่านด้วย (7 พฤษภาคม) 
 
วันที่ 9-14 พฤษภาคม  ค.ศ. 2003 
ท่านและคนใกล้ชิดไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ อาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อน ชมดอกไม้ ไต่ภูเขา อย่างลืมอายุ ทุกคนสดชื่นกลับมา และชื่นชมในน้ำใจดีของท่าน
 
วันที่ 18 พฤษภาคม  ค.ศ. 2003 
ช่วงเช้าท่านขับรถไปเยี่ยมลูกๆ ที่อารามกาปูชิน พนม พร้อมทั้งนำแปลนวัดพนมที่จะปรับปรุงใหม่ไปให้ชมและสัญญาว่าถ้าปรับปรุงเสร็จแล้วจะมาเสก และทิ้งท้ายว่า จะมาพักเงียบๆ ที่นี่และเขียนพินัยกรรม
 
ช่วงเย็น ที่บ้านชุมพาบาล สุราษฎรณ์ธานี จัดฉลองพระเยซูเจ้านายชุมพาบาลที่ดี และสุขสันต์วันเกิด ปีที่ 73 ย้อนหลังแด่ท่าน มีพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษจากที่ต่างๆ มาร่วมบูชามิสซาขอบพระคุณกลางแจ้ง และรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน เป็นวันที่ท่านมีความสุขมาก ลูกๆ กล่าว ส่งความสุขด้วยความตื้นตัน จนกล่าวไม่จบ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในระหว่าง พ่อ ลูก ท่านเทศน์นานพอสมควรอย่างมีชีวิตชีวา ขอให้พระสงฆ์ ซิสเตอร์ทำงานอภิบาล โดยร่วมมือกับฆราวาสให้มากขึ้น สวดภาวนาส่วนตัวมากขึ้น และท่านได้ขอบคุณบุคคลต่างๆ ทั้งพระสงฆ์ ซิสเตอร์ และผู้มีพระคุณทั้งหลาย ที่ช่วยให้งานบ้านชุมพาบาลสำเร็จด้วยดีและย้ำให้ฆราวาสร่วมมือกับพระสงฆ์เพื่องานแพร่ธรรมและกิจการหลายอย่างที่ต้องร่วมมือกันโดยไม่มีเงื่อนไข การแสดง การพูดในวันนั้นช่างชุมชื่นใจกันทุกฝ่าย หลังจากเสร็จงาน ท่านเดินไปพูดคุยไต่ถามทุกๆ คนอย่างมีความสุข 
 
วันที่ 19 พฤษภาคม  ค.ศ. 2003 
เวลา 09.00 น. ท่านร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่และพระสงฆ์ที่ทำงานในศูนย์สังฆมณฑล เกี่ยวกับงานต่างๆ ในบ้านชุมพาบาล พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนบุคลากรในบางตำแหน่ง
เวลา 10.00 น. ประชุมกับพระสงฆ์พื้นเมือง เกี่ยวกับบุคลากร การแบ่งงาน ประเมินงานและวางโครงการต่างๆ เรารู้สึกได้ถึงความห่วงใยของท่าน ที่แนะนำ ถามไถ่ในทุกเรื่อง ให้กำลังใจทุกคน 
เวลา 12.15 น. ท่านร่วมรับประทานอาหารกับทุกคนที่บ้านชุมพาบาล ขอบคุณคุณพ่อบัญชา อภิชาติวรกุล ซึ่งย้ายไปทำงานที่ภูเก็ต ในบรรยากาศพ่อ-ลูก พี่-น้อง
เวลา 13.30 น. ท่านรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก คุณพ่อพรชัย เตชะพิทักษ์ธรรม เลขานุการของท่านจึงนำส่งโรงพยาบาลทักษิณ แพทย์นำท่านเข้ารักษา ในห้อง ICU
เวลา 14.00 น. คุณพ่อพรชัย โทรตาม คุณพ่อนที ให้มาดูอาการท่าน
เวลา 16.00 น. คณะสงฆ์ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ท่านบอกว่าพ่อไม่เป็นอะไรมาก แค่เจ็บ  หน้าอก พวกเราได้พูดคุยกับท่านเพียงเล็กน้อย เพราะต้องการให้ท่านพักผ่อนและได้ถามว่าท่านอยากทานอะไร ท่านบอกว่าขอเป็นซุปผักขม แพทย์แจ้งให้คุณพ่อนที อุปสังฆราช ทราบว่า ท่านมีอาการทาง การแพทย์เรียกว่า เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบและความดันโลหิตสูง แต่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า หัวใจวาย
เวลา 19.00 น. คุณแม่ลัดดา และ ซิสเตอร์นิลุบลมาเยี่ยม และนำซุปผักขมให้ท่าน ท่าน ทานได้ครึ่งถ้วย 
เวลา 20.00 น. คุณพ่อนทีไปเยี่ยมท่าน เห็นท่านหลับอยู่ เลยไม่รบกวน คืนนั้นท่าน พักผ่อนได้ตลอดคืน 
 
วันที่ 20 พฤษภาคม  ค.ศ. 2003  
เวลา 06.30 น. คุณพ่อนที ไปเยี่ยมคนเดียว ท่านยังนอนหลับอยู่
เวลา 08.00 น. แพทย์ทางโรคหัวใจโดยเฉพาะ มาตรวจอาการ แจ้งให้คุณพ่ออรรคเดช ทับปิง ทราบว่า ท่านมีอาการเส้นเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ มีกล้ามเนื้อ ของหัวใจบางส่วนตาย ต้องรอดูอาการ 48 ชั่วโมง แล้วจึงจะรักษาตาม อาการต่อไป ในระยะนี้อาจมีโรคแทรกซ้อนได้ 2 อย่าง น้ำท่วม หรือ หัวใจวายเฉียบพลัน
 
วันที่ 21 พฤษภาคม  ค.ศ. 2003 
9 ชั่วโมงสุดท้าย คุณพ่อนที เขียนไว้ในสมุดไว้อาลัยว่า
เวลา 13.00 น. พ่อยังคุยกับลูก ปรารถนาและพูดถึงงานต่างๆ ที่จะเป็นไปในอนาคต ด้วยระยะเวลานาน (ประมาณ 1 ชั่วโมง)
เวลา 17.00 น. ซิสเตอร์สุดาพร ซิสเตอร์ดรุณี ซิสเตอร์มาลี คุยกับพ่อด้วยความ สนุกสนาน พยายามห้ามไม่ให้ท่านคุย เพราะท่านจะเหนื่อย แต่ท่านก็ บอกว่า อย่าห้าม อยากจะพูด พร้อมกับบ่นว่าจะขอดื้อต่อหมอที่ให้ท่านพักผ่อน 1 เดือน
เวลา 18.00 น. ลูกๆ จากบ้านชุมพาบาลมาเยี่ยม ดูเหมือนว่าท่านกำลังคอย เพราะท่านยัง ไม่หลับ พอพวกเราเข้าไปท่านก็ยิ้มทักทาย ท่านคุยและทานข้าวต้มไปตั้งเยอะ ทุกคนกลัวท่านจะเหนื่อยจึงขอตัวกลับ
เวลา 19.30 น. ซิสเตอร์ประยงค์ศรี   ซิสเตอร์จรัสพรรณ และลูกก็มาคุยกับท่าน อยากให้ท่านพักผ่อน แต่ท่านก็อยากจะคุย ซิสเตอร์จรัสพรรณสัญญาว่าจะเอา สายประคำหยกมาฝาก เพราะมีสรรพคุณแก้โรคหัวใจ ท่านก็บอกว่าพรุ่งนี้เช้าเอามาให้ด้วยนะ
เวลา 20.30 น. แพทย์ขึ้นมาตรวจอาการท่าน แล้วบอกว่า พรุ่งนี้หัวใจไม่กระตุก จะอนุญาตให้ไปพักผ่อนห้องพิเศษได้ ท่านได้พูดคุยกับแพทย์อย่างกันเอง และมีความสุข 
เวลา 21.00 น. พยาบาลบอกว่า “ท่านหลับอย่างสนิท...”
เวลา 22.00 น. ท่านกระตุกมาครั้งหนึ่ง แล้วท่านก็ทิ้งเราให้เป็นลูกกำพร้า... 
 
 
พระสังฆราช ไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ ได้เสียชีวิตในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 เวลา 22.00 น. ที่โรงพยาบาลทักษิณ พิธีปลงศพ วัดแม่พระฟาติมา บ้านแสงอรุณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2003
 
ากหนังสือ อาลัยรัก 
 ฯพณฯ ไมเกิ้ล ประพนธ์ ชัยเจริญ ประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี (ค.ศ.1988-2003)