คุณพ่อ ยัง ปิแอร์ มารแต็ง

  • Print
 
 
คุณพ่อ ยัง ปิแอร์ มาร์แต็ง

Jean-Pierre MARTIN

 
 
คุณพ่อ ยัง ปิแอร์ มารแต็ง  เกิดวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1832  ที่เมืองมงต์โมแรง แขวงโฮ๊ตกาโรน คุณพ่อเรียนจบชั้นมัธยมบ้านเณรที่เมืองมงต์เรโญ และเริ่มเรียนเทวศาสตร์ที่บ้านเณรใหญ่เมืองตูลูส คุณพ่อรับศีลโกนแล้วเมื่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1855 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1858  และถูกส่งไปมิสซังสยาม วันที่ 29 สิงหาคม ปีเดียวกัน 
 
ตอนปลายศตวรรษที่แล้ว กรุงสยามเกิดระส่ำระส่ายและทุกข์ระทมด้วยสงครามต่างๆ ที่ผ่านมา และตามด้วยกรุงศรีอยุธยาถูกทำลาย กลุ่มคริสตังทุกแห่งถูกกวาดล้างและกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทาง ยังเหลือแต่กลุ่มคริสตังที่จันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออกของอ่าวสยาม เนื่องจากกลุ่มคริสตังนี้อยู่ห่างไกลจึงรอดพ้นจากการถูกรบกวน  หลังจากสงครามต่างๆ สงบลง พวกคริสตังที่ยังมีเหลืออยู่จากวัดเก่าๆ ทั้งหลาย ไปลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ นครหลวงใหม่ และตั้งแต่นั้นมา งานแพร่ธรรมในกรุงสยามก็ถูกจำกัดขอบเขต เวลานั้น รัฐบาลผ่อนผันให้ทำการแพร่ธรรมได้ เพราะว่าเราเคยชินกับการดำรงชีวิตในสภาพแบบนี้มาแล้ว การที่จะออกนอกขอบเขตต้องได้รับหนังสืออนุญาตเสียก่อน  กระนั้นก็ดี เราต้องกลับมาแสดงตัวตามวันที่กำหนดไว้
 
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 15 ปีมาแล้ว มิชชันนารีหลายองค์สามารถออกไปยังสถานที่บางแห่งนอกขอบเขตโดยลักลอบอย่างระมัดระวังมาก และก็แอบจัดตั้งกลุ่มคริสตังชาวจีนขึ้นลับๆ ตามที่ต่างๆ การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ (ค.ศ.1852) เป็นการเริ่มศักราช แห่งการผ่อนผันอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุด ก็มีการเซ็นสนธิสัญญากันระหว่างกรุงสยามและฝรั่งเศสใน ปี ค.ศ. 1856  สภาพหลบๆ ซ่อนๆ ก็เป็นอันจบลง และที่สุด ก็สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเปิดเผย  ในสถานที่ที่จัดตั้งไว้อย่างลับๆ นั้น ต่อมาพระสังฆราชก็สามารถจัดส่งพวกมิชชันนารีไปอยู่ประจำตามวัด นี่แหละ คือ สิ่งที่เกิดขึ้น พระสงฆ์ทุกองค์พร้อมที่จะให้พระสังฆราชปัลเลอกัว  จัดส่งไปอยู่ตามเขตวัดต่างๆ  ตอนต้น ปี ค.ศ. 1859 เมื่อคุณพ่อมารแต็งมาถึงยังเหลือแต่วัดคอนเซ็ปชัญ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นมีพระสงฆ์พื้นเมืองชราและอาพาธองค์หนึ่งปกครองดูแลอยู่ เป็นที่จะต้องจัดให้มีพระสงฆ์ใหม่ไปประจำอยู่
 
ทันทีคุณพ่อมารแต็งได้รับความรักใคร่ชอบพอจากฝูงแกะที่คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแล คุณพ่อถือโอกาสปรับปรุงวัดบ้างนิดหน่อย เพื่อทำให้เหมาะสมเป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้ามากยิ่งขึ้น จัดทำหน้าต่างให้กว้างขึ้นและประดับด้วยกระจกหลากสีอันสวยงาม
 
ในขณะที่คริสตังบางคนของคุณพ่อไปทำการค้าขายในเขตต่างๆ ทางตะวันออกห่างจากกรุงเทพฯไปเป็นระยะ 5 หรือ 6 วันเดินทาง ก็ได้พวกชาวเขมรซึ่งอยากได้ยินเรื่องศาสนาคริสตัง เมื่อทราบข่าวนี้ คุณพ่อมารแต็งตัดสินใจไปประกาศพระวรสารให้ชาวเขมรเหล่านั้น คุณพ่อเดินทางไปพบพวกเขาบ่อยๆ และก็ยินดีที่ได้โปรดศีลล้างบาปให้คนจำนวนหนึ่ง คุณพ่อจัดสร้างวัดน้อยหลังหนึ่งที่หาดสะแก โดยให้อยู่ในอุปถัมภ์ของนักบุญอักแนส คุณพ่อปกครองวัดนี้ต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่พระสังฆราชเวย์ มอบหมายให้มิชชันนารีอีกองค์หนึ่งดูแล โดยหวังว่า มิชชันนารีองค์หนึ่งประจำอยู่ที่นั่น คงจะช่วยขยายพระราชัยของพระเป็นเจ้ากว้างขวางขึ้น
 
ปี ค.ศ. 1871  พระสังฆราชดือปองด์แต่งตั้งคุณพ่อมารแต็งเป็นรองประมุขมิสซัง และหลังจากที่ประมุขมิสซังถึงแก่มรณภาพลง คุณพ่อก็ทำหน้าที่ปกครองดูแลมิสซังสยาม จนถึงวันที่พระสังฆราชเวย์ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังในปี ค.ศ. 1875
 
พระสังฆราชเวย์ ไม่อยากสูญเสียความฉลาดปราชญ์เปรื่องของคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีความสามารถพอๆ  กับที่เป็นคนสุภาพถ่อมตนและไม่วางใจในตนเอง  จึงแต่งตั้งคุณพ่อเป็นรองประมุขมิสซัง
 
คุณพ่อมารแต็ง เป็นเสมือนบิดาที่แท้จริงสำหรับสัตบุรุษของคุณพ่อ เมื่อมีบางคนบังอาจพูดว่าร้ายแก่พวกสัตบุรุษของคุณพ่อต่อหน้า  คุณพ่อก็พูดแก้ตัวแทนอย่างรุนแรง คุณพ่อรู้จักลำดับญาติของทุกครอบครัวอย่างขึ้นใจ  เราพูดได้เลยว่าคุณพ่อได้รับผลตอบแทน นี่คือข้อพิสูจน์  วันหนึ่ง    คุณพ่อมารแต็งทราบข่าวว่าวัดน้อยของกลุ่มคริสตังใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในชนบท ถูกไฟใหม้วอดวายหมด  คุณพ่อต้องไปโปรดศีลกำลังที่นั่น  จึงแจ้งข่าวน่าเศร้านี้ให้พวกคริสตังของคุณพ่อทราบ  พร้อมกับบอกว่าคุณพ่อจะเดินทางไปในเย็นวันนั้นเอง หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน เมื่อถึงวัดที่ถูกไฟไหม้  คุณพ่อก็มอบเงินจำนวนหนึ่งที่พอสร้างวัดน้อยขึ้นมาใหม่ได้อย่างสบาย แก่มิชชันนารีประจำอยู่วัดนั้น เงินจำนวนนี้พวกสัตบุรุษของคุณพ่อมอบแก่คุณพ่อตอนออกเดินทางมา  สัตบุรุษสามารถไปขอคำปรึกษาหารือ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน คุณพ่อรับฟังพวกเขาด้วยความเพียรทน  ปลอบใจพวกเขา และพยายามหาทางแก้ไขให้หมดทุกปัญหา
 
ส่วนที่ได้รับเลือกให้ความสนใจเป็นพิเศษในกลุ่มคริสตังทั่วทุกแห่ง คือ พวกเด็กๆ    คุณพ่อมารแต็งก็เช่นกัน คุณพ่อทุ่มเทให้ความดูแลเอาใจใส่จนหมดใจ สร้างโรงเรียนให้เด็กๆ 2 แห่ง โรงเรียนหนึ่งสำหรับเด็กชาย อีกโรงเรียนหนึ่งสำหรับเด็กหญิงทุกๆ เดือนคุณพ่อฟังแก้บาปพวกเด็กนักเรียนทุกคน แปลกคำสอนให้พวกเขาเป็นประจำสม่ำเสมอ สัปดาห์ละครั้ง    บทเพลงของพิธีกรรมเป็นส่วนหนึ่งของตารางเรียนสำหรับเด็กชายในโรงเรียน คุณพ่อสามารถภูมิใจที่พวกเด็กๆ ของคุณพ่อเป็นที่เลื่องลือในการออกเสียงภาษาลาตินให้ถูกต้องและชัดเจนกว่าเด็กที่อื่นๆ
 
งานอีกอย่างหนึ่งของคุณพ่อมารแต็ง คือ มุ่งให้ความบรรเทาใจ อีกส่วนหนึ่งในกลุ่มคริสตังของคุณพ่อ สมาคมแม่พระไถ่ทาสได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยพวกคริสตังที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบากหรือตกเป็นทาส ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง อาศัยกิจศรัทธาอันนี้ ทำให้ครอบครัวจำนวนมากกลับมาที่วัด รักษาความเชื่อและคงความรอดไว้ได้ด้วย
 
ด้วยความเอาใจใส่ของคุณพ่อและอาศัยการเสียสละต่างๆที่พวกคริสตังสมัครใจทำตามแบบอย่างของคุณพ่อ วัดคอนเซ็ปชัญจึงได้มีหอระฆังงามๆ 3 ใบ  อุบัติเหตุอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างงานก่อสร้าง เกือบทำให้ล้มเลิกไปหมด  แต่เราก็หวนกลับมาลงมือทำการก่อสร้างต่อไปอย่างเสียสละ แล้ววันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1885  ระฆังซึ่งได้รับการเสกเมื่อไม่กี่วันก่อน โดย พระสังฆราชเวย์  ก็เริ่มตีเพลงแรกสรรเสริญและแสดงความรักต่อพระเป็นเจ้า
 
การที่คุณพ่อเป็นที่รักใคร่ของพวกคริสตังนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ แต่ละคนทราบว่าคุณพ่อทุ่มเททั้งกายใจสำหรับทุกคน และใจของคุณพ่อก็มอบให้แก่ทุกคน ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไม นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนอย่างสายฟ้าแลบจนคร่าชีวิตของคุณพ่อไป และความทุกข์โศกทั้งหลายแหล่ที่พวกคริสตังของคุณพ่อรู้สึก เมื่อข่าวร้ายนี้แพร่กระจายไปในค่ายวัดคอนเซ็ปชัญ
 
ครั้นถึงวันพุธศักดิ์สิทธิ์ ปี ค.ศ. 1886 ในวันนั้น คุณพ่อมารแต็ง ซึ่งรู้สึกไม่ค่อยสบายมาหลายวันแล้ว นั่งอยู่ที่ที่ฟังแก้บาปหลังมิสซา เหมือนเช่นเคย ในไม่ช้า คุณพ่อรู้สึกมีอาการขั้นแรกๆ ของอหิวาต์ แม้กระนั้นก็ดี คุณพ่อยังไม่อยากทอดทิ้งวัดไป  คุณพ่อซึ่งเป็นคนเคร่งครัดต่อหน้าที่ จึงทำงานต่อไปจนถึงเวลาเย็น เวลานั้น คุณพ่อรู้สึกหมดเรี่ยวแรง ดังนั้น คุณพ่อจึงยอมให้ไปบอกคุณพ่อแก็นตริก ซึ่งอยู่ที่วัดญวนห่างจากที่นั่น 5 นาที เมื่อคุณพ่อแก็นตริกมาถึง ก็สังเกต เห็นได้ทันทีว่าคุณพ่อมารแต็งเจ็บหนัก  คุณพ่อมารแต็งเป็นรองประมุขมิสซัง ขอแก้บาป กล่าวว่า  “ให้เราจัดการอะไรต่างๆ ให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด” คุณพ่อแก็นตริกเสนอให้คุณพ่อส่งข่าวให้พระสังฆราชทราบโดยด่วน คุณพ่อมารแต็งกลับไม่ค่อยอยากจะยอมให้ทำ   ด้วยเกรงว่าจะรบกวนพระสังฆราช
 
ด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย คุณพ่อชี้บอกสถานที่เก็บพินัยกรรม พร้อมทั้งขอร้องให้จัดส่งไปที่บ้านของคุณพ่อ
 
อนิจจา นายแพทย์ที่ได้รับเชิญให้มาดูอาการผู้ป่วยโดยด่วนนั้น ก็เพียงแต่สังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีหวังที่จะรอดได้น้อยมาก เวลา 11 โมงเย็น เมื่อพระสังฆราชเห็นว่า ยาต่างๆ ที่ให้ผู้ป่วยทานนั้นมิได้เกิดผลอะไรเลย และคาดว่าจะต้องถึงวาระสุดท้ายแล้ว  จึงเสนอให้คุณพ่อรับศีลทาสุดท้าย คุณพ่อก็เต็มใจรับ
 
เวลา 8 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น  สีหน้าของคุณพ่อขึ้นสีแกมม่วง แต่คุณพ่อก็ยังนอนสงบนิ่ง ที่สุดเวลา 11.20 น.  ขณะที่เพื่อนมิชชันนารีหลายองค์คุกเข่าลงอยู่ใกล้คุณพ่อ และเริ่มสวดบทภาวนาส่งวิญญาณอยู่นั้น คุณพ่อไม่กระสับกระส่าย และวิญญาณของคุณพ่อซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยการยอมสู้ทนและความสงบสุขต่อหน้านิรันดรภาพก็บินไปหาพระเป็นเจ้า รวมอายุได้ 54 ปี  และทำงานแพร่ธรรมได้ 28 ปี  
 
ด้วยว่ามีพิธีต่างๆ  ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และเนื่องจากโรคที่ทำให้ถึงแก่กรรม จึงจัดบรรจุศพคุณพ่อในวันนั้นเอง และวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เวลา 10 โมงเช้า  พระสังฆราชเวย์  ห้อมล้อมด้วยบรรดามิชชันนารีจากกรุงเทพฯ ชาวยุโรปจำนวนมาก และพวกสัตบุรุษหลากหลาย ทำให้พิธีฝังศพของคุณพ่ออย่างเงียบๆ ในวัดคอนเซ็ปชัญ ท่ามกลางเสียงร้องสะอึกสะอื้น ร้องไห้คร่ำครวญของบรรดาลูกๆ ของคุณพ่อ  คุณพ่อเป็นรองประมุขมิสซังของพระสังฆราชดือปองด์ และพระสังฆราชเวย์ อีกทั้งเป็นอธิการมิสซังกรุงสยามเป็นเวลาสองปีครึ่ง.