วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งเหรียญอัศจรรย์ (โรงหมู)

  • Print
 
 
ตั้งอยู่เลขที่ 399  ถนนอาจณรงค์    แขวงคลองเตย  
เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ  10110
โทร. 0-2671-8242   FAX: 0-2249-4900
 
ปีค.ศ. 1952 คุณพ่อมอริส ยอลี ได้รับแต่งตั้งเป็นจิตตาธิการของคณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ คุณพ่อได้สังเกตว่ามีคริสตชนบางคนมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ที่อารามด้วยความศรัทธา ท่านจึงได้สนทนากับพวกเขาทราบว่า มีคริสตชนหลายครอบครัวย้ายมาจากวัดพระคริสตประจักษ์ (เกาะใหญ่) วัดนักบุญยอแซฟ (วัดอยุธยา) วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (วัดสามเสน) เพื่อทำงานในโรงฆ่าสัตว์ตอนกลางคืนที่บริเวณชุมชนโรงหมู  
 
คุณพ่อยอลีจึงได้ไปเยี่ยมเยียนพวกเขา พบว่ามีคริสตชนอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน ปลูกเพิง พักพิงอยู่ตามริมคลองและใต้สะพานติดกับคลังน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  คริสตชนเหล่านี้เป็นคนยากจน แต่ศรัทธายึดมั่นในพระเจ้า ท่านจึงสงสารและเห็นว่าเพิงของนายทองอยู่ สุขสุทอง ดีกว่าของคนอื่นๆ ท่านจึงได้รายงานให้พระสังฆราชหลุยส์ โชแรงทราบ และขออนุญาตใช้ที่พักของนายทองอยู่ เป็นสถานที่ถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกบ่ายวันอาทิตย์ และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้กับคริสตชนที่นี่ (โดยจดทะเบียนศีลศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่อารามภคินีพระหฤทัยฯ)
 
ต่อมาคุณพ่อยอลี เห็นว่าเพิงอาศัยของนายทองอยู่เล็กไป ทำให้คริสตชนบางส่วนต้องอยู่ข้างนอก คุณพ่อจึงได้ขอบริจาคเงินจากคริสตชนที่วัดนักบุญยอแซฟ (วัดตรอกจันทน์) และวัดเซนต์หลุยส์ ได้ประมาณเจ็ดพันกว่าบาท แล้วจึงสร้างวัดน้อยใต้สะพานใกล้กับเพิงของนายทองอยู่ และนำรูปแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์จากประเทศฝรั่งเศสมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ได้เชิญพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง มาประกอบพิธีเสกวัดใหม่นี้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 โดยตั้งชื่อวัดใหม่นี้ว่า “วัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์”
 
ในปี ค.ศ. 1962 ทางคลังน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องการปรับปรุงสะพานใหม่จึงได้ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่ใต้สะพานย้ายออกไปอยู่ที่อื่น คุณพ่อยอลีจึงได้ติดต่อซื้อบ้านของนายสกล สุขสุทธิ ซึ่งอยู่เลยสะพานไปหลังทางรถไฟลึกเข้าไปประมาณ 300-400 เมตร เป็นบ้านไม้สองชั้น อยู่กลางทุ่ง (ทำให้ผู้คนเรียกวัดนี้ว่า “วัดกลางทุ่ง”) ส่วนนายสกล สุขสุทธิ เมื่อขายบ้านให้คุณพ่อยอลีแล้วก็ย้ายไปปลูกบ้านอยู่ในชุมชนโรงหมู คุณพ่อและสัตบุรุษช่วยกันดัดแปลง และขยายบ้านหลังนี้ให้เหมาะที่จะใช้เป็นวัด โดยชั้นบนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม ส่วนชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียนคำสอน และทำซุ้มเพื่อประดิษฐานรูปแม่พระเหรียญอัศจรรย์ที่ย้ายมาจากวัดที่ระเบียงชั้นสอง และมีคนเขียนข้อความไว้ที่ซุ้มนี้ว่า “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” และต่อมาบริเวณทุ่งที่วัดตั้งอยู่นี้ได้มีผู้คนอพยพมาอยู่กันมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนแออัดหรือสลัมคลองเตย
 
หลังจาก คุณพ่อยอลี ได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำที่อื่นแล้ว คุณพ่อที่ได้รับแต่งตั้งเป็นจิตตาธิการของภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ ได้มาดูแลวัดนี้ จนถึงสมัยคุณพ่อวิลเลียม ตัน และทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯได้ขอให้พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่มาดูแลวัดนี้ต่อไป จึงทำให้คุณพ่อที่ประจำอยู่วัดพระมหาไถ่ผลัดเปลี่ยนกันมาถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณที่วัดนี้
 
ประมาณปี ค.ศ. 1971 คุณพ่อเอ็ดดี้ ได้เปิดทะเบียนศีลศักดิ์สิทธิ์ของวัดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากวัดนี้มีจำนวนคริสตชนมากขึ้น และคุณพ่อเคนได้ขอให้ภคินีคณะพระกุมารเยซูมาช่วยสอนคำสอน สอนเด็ก และดูแลการเรียนของเด็กนักเรียนยากจนในวันอาทิตย์
 

บ้านนายทองอยู่ สถานทำมิสซาแห่งแรก

ฉลองวัดโรงหมูในบริเวณโรงงานฆ่าสัตว์
ซึ่งเป็นสถานที่ทำมิสซาชั่วคราว
โดยคุณพ่อยอลี ได้ประกอบพิธีร่วม
กับพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู


โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์สถานที่ทำมิสซา ปัจจุบัน

  

 
ปี ค.ศ. 1972 คุณพ่อโจเซฟ เอช. ไมเออร์ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เมื่อคุณพ่อมาที่วัดนี้ได้เห็นสัตบุรุษที่มี ความยากจน แต่เป็นผู้มีน้ำใจดี มีความกระตือรือร้นและศรัทธา ทำให้คุณพ่อมีความสงสาร จึงได้ทุ่มเทและทำงานเพื่อคนยากจนมากยิ่งขึ้น และได้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลหรือศูนย์เมอร์ซี่ โดยเริ่มที่พระรามสี่ เพื่อช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่ชุนชนแออัดคลองเตยนี้
 
ปี ค.ศ. 1974 การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ขอเวนคืนที่ดินในบริเวณชุมชนแออัดหรือสลัมคลองเตย เพื่อเปิดเป็นทางให้รถบรรทุกสินค้าใช้เข้าท่าเรือไปรับและส่งสินค้า คุณพ่อจึงต้องย้ายไปใช้บ้านของนายสกล สุขสุทธิ ในชุมชนโรงหมู เป็นที่ถวายมิสซาชั่วคราว และขอซื้อบ้านของนายยอด สุขสุศิลป์ (บิดาคุณพ่อศุภศิลป์) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านนายสกล สุขสุทธิ เป็นบ้านพักคุณพ่อ และมองหาที่ดินสำหรับสร้างวัดใหม่ ติดต่อขอที่ดินว่างเปล่าติดถนนอาจณรงค์ ที่ดินแปลงนี้เคยใช้เป็นที่เล่นงิ้วแก้บนประจำปีของมูลนิธิร่วมกตัญญู จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในนามมูลนิธิพระกุมารเยซู เพื่อสร้างเป็นโรงเรียน เมื่อได้รับอนุมัติจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้เริ่มก่อสร้างเป็นอาคารเรียนเรือนไม้ 2 ชั้น เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1975 โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กร MISSIO ประเทศเยอรมัน สร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน ค.ศ. 1975 พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ตั้งชื่อโรงเรียนที่สร้างใหม่นี้ว่า “โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์” และขอให้คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ  ส่งซิสเตอร์มาเป็นผู้บริหารโรงเรียน ทางคณะภคินีฯ จึงได้ส่งซิสเตอร์ปาตรีส (ซิสเตอร์สุวรรณรัตน์ ทรงศักดิ์ศรี) มาเป็นผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการ เปิดทำการสอนวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1978 ในเบื้องต้น สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่อนุญาตให้เปิดโรงเรียนเนื่องจากมีพื้นที่ไม่ถึง 2 ไร่ ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงติดต่อของโอนกิจการของโรงเรียนดรุณวัฒนา (สามเสน) มาเป็นของโรงเรียนแห่งนี้ แล้วขออนุญาตเปิดโรงเรียนใหม่โดยใช้ชื่อโรงเรียนดรุณวัฒนา เมื่อได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการสอนได้แล้ว ก็เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนดรุณวัฒนากลับมาเป็นโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ดังเดิม และได้ใช้บริเวณชั้นสองของตัวอาคารเรียนส่วนหนึ่งเป็นวัดเพื่อประกอบศาสนพิธี ในวันที่จะทำพิธีเสกและเปิดวัดใหม่นี้สัตบุรุษของวัดช่วยกันจัดหาพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า รูปนักบุญเทเรซา และนำรูปแม่พระเหรียญอัศจรรย์จากวัดเดิมมาประดิษฐานที่วัดใหม่นี้ และได้ให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งเหรียญอัศจรรย์” ตามเจตนาของคุณพ่อมอรีส ยอลี ผู้ก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ จัดฉลองทุกวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระเหรียญอัศจรรย์ สัตบุรุษที่วัดนี้มีความศรัทธาต่อพระรูปแม่พระองค์นี้มาก เล่ากันว่ารูปแม่พระองค์นี้เมื่ออยู่วัดกลางทุ่งก็เคยปรากฏกายไล่คนที่หลบมาเสพยาเสพติดที่วัด เนื่องจากตอนกลางคืนวัดจะถูกปิด และไม่มีคนเฝ้า และยังได้ทำอัศจรรย์ เมื่อครั้งที่วัดหลังปัจจุบันนี้ถูกไฟไหม้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 ประมาณตี 2 ได้เกิดไฟไหม้บ้านเรือนบริเวณโรงเรียน ไฟไหม้ลุกลามบริเวณโรงอาหารทั้งหมด  ส่วนตัววัดเมื่อไฟได้ลุกไหม้มาถึงตัวอาคารด้านพระแท่น ก็เกิดลมพัดให้ไฟหมุนไปทางอื่นและดับในทันที จึงทำให้วัดพ้นจากถูกไฟไหม้ 
 
คุณพ่อไมเออร์จึงทำหนังสือขออนุญาตจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยสร้างโรงอาหารใหม่แทน อาคารที่ถูกไฟไหม้ เมื่อได้รับอนุญาตคุณพ่อจึงได้ดำเนินการรื้อถอนและสร้างใหม่ แล้วเสร็จ ประมาณเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1983 และยังได้ขออนุญาตจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยปรับปรุงบริเวณบ้านเรือนที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งชาวบ้านได้ย้ายออกไปแล้ว สร้างเป็นลานเด็กเล่น
 


วัดหลังที่ 2 อยู่ในบริเวณข้างสะพานสามทหาร คลองเตย

วัดหลังที่ 3 “วัดกลางทุ่ง”เป็นที่คุณพ่อไมเออร์ได้เริ่มงานอย่างจริงจัง
 
 
คุณพ่อไมเออร์ รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
"เบญจมาภรณ์ช้างเผือก"
 
ปี ค.ศ. 1986 คุณพ่อมอรีส ยอลี ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นจิตตาธิการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้สั่งทำรูปแม่พระเหรียญอัศจรรย์ด้วยไม้สักจากเชียงใหม่ และนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดนี้มาจนทุกวันนี้
 
ปี ค.ศ. 1997 คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์ ได้รับหน้าที่อภิบาลผู้เดินทางทะเล และเป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์แทนคุณพ่อไมเออร์ ซึ่งมีภาระงานของมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลหรือศูนย์เมอร์ซี่มากขึ้น คุณพ่อชัชวาลได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานเขตคลองเตยให้ใช้สถานที่ด้านหลังโรงเรียนเพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนและเป็นสถานที่ให้เด็กเล่นกีฬา ออกกำลังกาย
 
ปี ค.ศ. 1999 คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัด คุณพ่อได้ปรับเปลี่ยนบริเวณโรงอาหารและบริเวณด้านหน้าอาคารเรียนโดยทำหลังคาโครงเหล็กแผ่นกันแดดและฝน
 
ปี ค.ศ. 2004คุณพ่อยอห์นบัปติส บุญเสริม เนื่องพลี ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ปรับปรุงเวทีให้สามารถใช้งานได้อย่างสวยงาม และปรับปรุงอาคารเรียนชั้นสองในส่วนที่เป็นวัดใหม่ให้สวยงามและแข็งแรงมั่นคง พร้อมทั้งปรับปรุงห้องด้านหลังวัดให้เป็นห้องพักพระสงฆ์
 
ปี ค.ศ. 2006 คุณพ่อยอแซฟ อนุชา ชาวแพรกน้อย ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้สร้างถ้ำแม่พระที่บริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน และจัดทำซุ้มแม่พระไว้ที่หน้าโรงเรียน
 
ปี ค.ศ. 2009 คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ปรับปรุงสนามเด็กเล่นด้านหลังโรงเรียนโดยทำหลังคาโครงเหล็กคลุมสนามเด็กเล่น
 
ปี ค.ศ. 2014 คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อนุรัตน์ ณ สงขลา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
 
ปี ค.ศ. 2015 อัครสังฆมณฑลส่งช่างเข้ามาซ่อมแซมโรงเรียนบางส่วน 
ฉลองวัดปีนี้ ได้จัดขึ้นพร้อมกับการฉลอง 50 ปี ชีวิตสงฆ์ ของคุณพ่อ โจเซฟ เอช ไมเออร์
 
ปี ค.ศ. 2016 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ซ่อมแซมปรับปรุงวัดใหม่ ปรับด้านหลังโรงเรียนเป็นห้องเก็บของ ปรับปรุงห้องน้ำของโรงเรียน และใต้บันไดขึ้นวัดใหม่ จัดปรับปรุงระบบน้ำประปา
 
ฉลองวัดปี ค.ศ. 2016 ได้เชิญพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์  โกวิทวาณิช มาร่วมฉลองวัดภายใน และเชิญพระคาร์ดินัลลงเยี่ยมชุมชน
 
ปี ค.ศ. 2016 ทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนคลองเตย ขอบข่ายงาน 4 ด้าน
1. ด้านส่งเสริมให้กำลังใจ
2. ด้านส่งเสริมทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน
3. ด้านส่งเสริมสุขภาพอนามัย
4. ด้านส่งเสริมความเป็นอยู่ด้านอาชีพ
 
ปี ค.ศ. 2017 สังฆมณฑลได้จัดสร้างหลังคาคลุมสนามชุมชนโรงหมูด้านหลังโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันฉลองวัดวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2017 โดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช และตัวแทนจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับตัวแทนสำนักงานเขตคลองเตยเป็นประธาน
 
ปี ค.ศ. 2018 การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้บันทึกข้อตกลงกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  เพื่อพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีผลกระทบต่อวัดด้วย  คือ การท่าเรือฯ ต้องขอคืนการใช้พื้นที่ของวัด ทางวัดจึงต้องติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้
 
ปี ค.ศ. 2020  
วันที่ 29 มกราคม  กรรมการบอร์ดการท่าเรือมีมติให้โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ใช้พื้นที่ลานจอดรถ สร้างโรงเรียนใหม่ อนุมัติให้ใช้พื้นที่ 10 ปี โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ทำพิธีลงนามรับมอบพื้นที่ วันที่ 21 มกราคม 2021 โดยคุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี เป็นผู้ลงนามแทน
 
ปี ค.ศ. 2022

- วันที่ 15 พฤษภาคม ตามประกาศโยกย้ายพระสงฆ์เจ้าอาวาส คุณพ่อพรชัย แก้วแหวน เข้ารับหน้าที่และถวายมิสซาแรกในนามเจ้าอาวาสวัด แทนคุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา

- วันที่ 9 กรกฎาคม กิจกรรมแสวงบุญและร่วมทำบุญ กิจกรรมพาสัตบุรุษวัด และเยาวชนของวัดร่วมกับผู้มีจิตอาสา พากันไปจัดกิจกรรมนันทนาการ และเลี้ยงอาหารให้กับเด็กๆ ณ ศูนย์คอมมูนิต้าอินคอนโทรล

- วันที่ 22 กันยายน ได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากคุณพิมลี่พาย ที่ช่วยบริจาคค่าเทอมหนึ่งเทอมของนักเรียนทั้งโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ ซึ่ง ณ เวลานั้นมีเด็กนักเรียนอยู่ 360 คน และได้รับการบริจาคพัดลมในห้องเรียนทั้งหมด 12 ห้อง เป็นจำนวน 40 ตัว

- ช่วงวันที่ 9-21 ตุลาคม จัดกิจกรรมเสริมศรัทธา ออกสวดสายประคำในแต่ละบ้านในชุมชนวัด

-  ช่วงวันที่ 17-21 ตุลาคม จัดกิจกรรมคำสอนพิเศษ ให้กับเด็กคริสตังค์ เพื่อใช้เวลาปิดเทอมฟื้นฟูชีวิตพระ และไปพักผ่อนร่วมกันที่ชายทะเลบางแสน ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม

- วันที่ 6 พฤศจิกายน จัดกิจกรรมสวดภาวนาอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับของแต่ละครอบครัวรวมกัน เนื่องจากที่วัดไม่มีสุสาน และเป็นเดือนภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ โดยขอให้แต่ละครอบครัวส่งรูปของญาติที่ล่วงลับไปแล้วมาที่วัด และนำมาจัดทำเป็นรูปใน Power Point และนำเทียนมาจุดพร้อมกัน

- วันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. จัดฉลองวัดแบบเปิดให้เข้าร่วมได้หลังจากพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยปีนี้ มีคุณพ่อพระสงฆ์บวชใหม่ มาเป็นประธานมิสซาฉลองวัด มีพี่น้องสัตบุรุษมาร่วมฉลองมากเป็นพิเศษ ประมาณ 400 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากอารามพระหฤทัยฯ และน้องผู้ฝึกหัดมาร่วมและมาช่วยขับร้องบทเพลงฉลองวัด ร่วมกับเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์

- ในวันฉลองวัด- ฉลองภายใน มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. คุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา (อดีตเจ้าอาวาสคนล่าสุด) ให้เกียรติมาเป็นประธานในมิสซา

- ช่วงวันที่ 4-22 ธันวาคม จัดกิจกรรมเสริมศรัทธาออกสวดและอวยพรพระกุมารส่งความสุขช่วงวันคริสมาสและปีใหม่ให้กับพี่น้องในแต่ละหมู่บ้านในชุมชนวัด

- วันที่ 31 ธันวาคม จัดกิจกรรม ร่วมบูชามิสซาและตั้งศีลฯ - ภาวนา- อวยพรรับพรจากศีลมหาสนิท โอกาสส่งท้ายปีใหม่ และก้าวเข้าสู่ปีใหม่ด้วย

- พร้อมกันนี้ เนื่องจากพี่น้องชาวไทยได้รับข่าวเศร้า กับพระอาการประชวรหนักและกระทันหันของ “พระองค์ภาฯ” ทางกรมศาสนาได้ประสานและใช้พื้นที่ของวัดเป็นตัวแทนในการจัดกิจกรรมภาวนาในนามของพี่น้องคาทอลิกไทย เพื่อสวดภาวนาขอพระพรของพระช่วยให้พระองค์พ้นจากพระอาการประชวรวิกฤตในครั้งนี้ด้วย และทางกรมศาสนาได้จัดส่งผู้แทนจากกรมศาสนามาร่วมในพิธีภาวนาพิเศษในครั้งนี้ด้วย

 
 
รายชื่อเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส
 
1. คุณพ่อโมรีส ยอลี                                      เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ปี ค.ศ. 1955-1963
2. คุณพ่อทองดี กฤษเจริญ                              ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1963
3. คุณพ่อมิแชล สมจีน  ศรีประยูร                      ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1963 -1968
4. คุณพ่อฟอร์แต็ง                                         ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1969
5. คุณพ่อวิลเลี่ยม ตัน                                    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1969 -1973
6. คุณพ่อเอ็ดดี้ (คณะพระมหาไถ่)                    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1973- 1974
7. คุณพ่อเคน (คณะพระมหาไถ่)                      ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1973-1974
8. คุณพ่อโจเซฟ เอช ไมเออร์ (คณะพระมหาไถ่)  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1974-1999 
9. คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์                   ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1999-2004
10. คุณพ่อยอห์น บุญเสริม  เนื่องพลี                 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2004-2006
11. คุณพ่อยอแซฟ อนุชา ชาวแพรกน้อย            ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2006-2009
12. คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล          ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2009-2014
13. คุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา                          ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2014-2022
14. คุณพ่อพรชัย แก้วแหวน                           ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2022-ปัจจุบัน
 
 
 
 แผนที่การเดินทาง